fbpx
ในวันที่ ‘คน’ สู้กับ ‘ยักษ์’ : กฎหมาย Class Action กับความยุติธรรมที่ใครก็เอื้อมถึง

ในวันที่ ‘คน’ สู้กับ ‘ยักษ์’ : กฎหมาย Class Action กับความยุติธรรมที่ใครก็เอื้อมถึง

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

แต่ไหนแต่ไรมา ถ้าจะลองเปรียบเทียบศึกระหว่างผู้บริโภคอย่างเราๆ กับผู้ให้บริการ บริษัท หรือองค์กรใหญ่ๆ ที่แอบใช้เล่ห์กลหลบหลีกทางกฎหมายจนประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม คงไม่ใช่ศึกของคู่กรณีตัวเท่ากันที่มาต่อสู้ภายใต้กฎหมายเดียวกันแน่ๆ

จะเรียกว่าเป็นศึกแบบทอมแอนด์เจอร์รี่ก็ยังไม่ใช่ ถ้าให้เป็น ‘ช้างกับมด’ ดูจะเหมาะสมกว่า

จริงอยู่ หากเรารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบแบบไม่สมเหตุสมผล หรือคู่กรณีทำผิดสัญญา ประชาชนก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้

แต่ที่เราบอกว่านี่คือศึกระหว่างช้างกับมด ก็เพราะในบางกรณี ค่าเสียหายที่ถูกกระทำอาจจะเป็นจำนวนเล็กน้อย (เช่นการคิดค่าบริการผิดพลาดเป็นจำนวนเงิน 300 บาท แต่บริษัทดึงดันไม่ยอมคืนเงินให้) จนคิดๆ ดูแล้วก็ ‘ช่างมัน’ หรือ ‘ทำบุญ’ ไปเสียดีกว่าต้องมาจ้างทนาย ลางานไปขึ้นศาล หรือในบางเคสอาจเป็นกรณีที่ใหญ่และส่งผลต่อการใช้ชีวิต อย่างการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน แต่คนอื่นในหมู่บ้านเลือกที่จะ ‘ทนๆ ไป’ หรือ ‘ย้ายออก’ เพราะกลัวว่าฟ้องไปแล้วจะสู้ทนายของอีกฝ่ายไม่ได้

แล้วเราคนเดียวจะสู้ไหวเหรอ…

 

หากยังจำกันได้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทเคเบิลทีวีใหญ่ของไทยเจ้าหนึ่งเพิ่งมีกรณียกเลิกช่องรายการหลักที่เป็นช่องดึงดูดให้สมาชิกสมัครใช้บริการระดับสูง แต่แจ้งข่าวล่วงหน้าก่อนจะระงับสัญญาณช่องเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ทั้งที่ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 กำหนดไว้ว่าต้องบอกก่อนล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน

กรณีอย่างนี้ ถึงจะมีช่องใหม่มาทดแทน แต่สมาชิกจำนวนหนึ่งในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกว่า 600,000 คน อาจมองว่าเป็นกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ ‘มด’ ที่ต้องยอมให้กับการทำผิดกฎอย่างชัดเจนของ ‘ช้าง’ จนต้องการฟ้องร้องเพื่อการเยียวยาที่เป็นธรรม

แต่กรณีอย่างนี้ (และในอนาคตหากมีกรณีคล้ายกัน) จำเป็นต้องฟ้องเป็นรายๆ ไปเหมือนที่เคยเป็นมา ยุ่งยากจนรู้สึกว่า ‘เอาวะ ช่างมันเถอะ’ หรือเปล่า?

คำตอบคือ ไม่จำเป็น!

เพราะประเทศไทยเพิ่งจะนำเอาหลักการพิจารณาความด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือเรียกแบบสั้นๆ ว่า ‘คดี Class Action’ มาบังคับใช้ (อันที่จริงจะใช้คำว่า ‘เพิ่ง’ ก็ผิดไปหน่อย เพราะประกาศใช้เป็นกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว) เครื่องมือนี้จะช่วยให้เหล่ามดทั้งหลายมารวมพลังกันต่อสู้กับช้างได้ง่าย สะดวก และได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

 

การดำเนินคดีแบบ Class Action มีที่มาที่ไปอย่างไร?

คงต้องย้อนกลับไปถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในอังกฤษ ที่การฟ้องร้องแบบกลุ่มเป็นเรื่องปกติสามัญเมื่อเกิดคดีความระหว่างคู่กรณีกับชาวบ้านตามหมู่บ้านหรือในเมือง ในกรณีที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบไปหมดทั่วกัน  การฟ้องแบบกลุ่มกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติก็ด้วยข้อจำกัดทางการเดินทางและการสื่อสาร ที่ทำให้การฟ้องเป็นรายๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้ (ลองจินตนาการชาวบ้านขี่ม้าเข้าเมืองเป็นร้อยเพื่อฟ้องคดีเป็นรายๆ คงวุ่นวายน่าดู)

แต่เมื่อเวลาผ่านไป อะไรๆ ก็พัฒนาขึ้น ในศตวรรษที่ 18 การฟ้องคดีแบบกลุ่มก็ถูกแทนที่ด้วยการฟ้องแบบเดี่ยว การพิจารณาคดีกลุ่มในสายตาของรัฐแลดูยุ่งยากเกินไป พระราชบัญญัติต่างๆ จึงถูกตราขึ้นจากรัฐบาลเพื่อลดจำนวนการฟ้องกลุ่ม จนวิธีพิจารณาคดีแบบนี้ล้มหายตายจากไปจากอังกฤษตั้งแต่ปี 1850 เป็นต้นมา

โชคยังดีที่มรดกการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้รับการสืบทอดมาจนถึงสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นคริสต์ศักราช 1800 และได้รับการพัฒนา เขียนบทบัญญัติต่างๆ เช่นให้มีตัวแทนในการฟ้องร้องได้หากจำนวนผู้เสียหายจากกรณีเดียวกันมีมากพอ หรือกำหนดให้โจทก์แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมาขึ้นศาล แต่ให้มีตัวแทนมาดำเนินคดีความได้ การพัฒนาของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ที่ทำให้ความยุติธรรมได้รับการบังคับใช้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องสิทธิโดยพลเมืองสหรัฐ โดยเฉพาะในวงการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและวงการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม

และที่สำคัญที่สุดคือการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ที่ต่อกรกับกลุ่มผู้ประกอบการได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ จนทำให้บริษัทที่เคยมองว่าตัวเองเป็นยักษ์ใหญ่ ต้องระมัดระวัง ปรับปรุงการดำเนินกิจการไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชนตัวเล็กๆ เหมือนที่เคยเป็นมา

 

สำหรับในประเทศไทย การฟ้องคดีแบบ Class Action ถูกตราขึ้นเป็นกฎหมาย โดยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558

สาระสำคัญของคดี Class Action ที่ประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันฟ้องร้องได้คือคดีนั้นจะต้องเป็นหนึ่งในสามประเภทที่เข้าพวก นั่นคือ ไม่เป็นคดีละเมิด ก็ต้องเป็นคดีผิดสัญญา หรือจะเป็นคดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ อย่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม (น้ำมันไหลลงทะเลจนชาวบ้านเดือดร้อน) การคุ้มครองผู้บริโภค (ยกเลิกช่องเคเบิลทีวีโดยไม่แจ้งบอกสมาชิก) กฎหมายแรงงาน (นายจ้างเลิกจ้างพนักงานทั้งบริษัทแบบไม่บอกล่วงหน้า) ฯลฯ

ที่จริงแล้วก่อนหน้าที่กฎหมายการฟ้องแบบ Class Action จะถูกบังคับใช้ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของไทยก็มีการเปิดช่องให้ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบคล้ายๆ กันสามารถฟ้องร่วมกันได้ เช่นในมาตรา 59 ที่ให้ผู้เสียหายหลายคนเข้าเป็นคู่ความร่วมได้ มาตรา 57 ที่ว่าด้วยการร้องสอดหากไม่ได้มาฟ้องเองตั้งแต่แรก หรือจะเป็นการมอบอำนาจให้มีตัวแทนมาฟ้องร้องคดีแทนก็ตาม

ทั้งสามวิธีที่เคยมีอยู่ ดูเผินๆ เหมือนจะคล้ายกับการฟ้องแบบ Class Action แต่ถ้าดูในรายละเอียด ผู้เสียหายแต่ละคนยังต้องพิจารณาคดีแยกไปแบบเดี่ยวๆ ในกรณีร้องสอด ก็ต้องรอศาลพิจารณาคุณสมบัติว่าจะทำได้ไหม หรือการมอบอำนาจ ถ้ามีผู้เสียหายร้อยคน ก็ต้องดำเนินการมอบอำนาจทีละคน ทำให้ในทางปฏิบัติจริง ยุ่งยากเกินไป

แต่ในการฟ้องแบบ Class Action การพิจารณาของศาลว่าจะรวบเป็นการฟ้องแบบกลุ่มหรือไม่จะเกิดขึ้นก่อนการสืบพยานและดำเนินคดี ถ้าผู้เสียหายที่มีลักษณะความเสียหายแบบเดียวกันสามารถแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีลักษณะเฉพาะร่วมกัน สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อฟ้องได้มากพอ จนการแยกกันฟ้องเดี่ยวๆ จะยุ่งยากเกินไปและอาจเป็นธรรมน้อยกว่า ศาลก็จะอนุญาตให้เริ่มตั้งทนายของกลุ่ม ตั้งตัวแทนกลุ่มที่จะมาดำเนินการแทนทุกคน และเริ่มดำเนินคดีในศาลได้เลย

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการฟ้องแบบ Class Action คือในบางครั้ง แม้ว่าผู้เสียหายหลายคนจะได้รับความเสียหายแตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็นคนที่มีสิทธิที่เกิดจากข้อเท็จจริงและกฎหมายอย่างเดียวกัน ก็เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกันได้ เช่นถ้ารถเมล์คันหนึ่งโดนชน คนที่เป็นผู้เสียหายที่รวมกลุ่มกันฟ้องคนขับชนได้สามารถเป็นได้ทั้งคนขับ เจ้าของรถ และผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บก็ได้ โดยการพิจารณาและเยียวยาความเสียหายสามารถแบ่งสมาชิกเป็นกลุ่มย่อยได้ เพราะแต่ละกลุ่มอาจได้รับค่าเสียหายต่างกัน

ที่สำคัญ เมื่อเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก วิธีการพิจารณาคดีของศาลจึงต้องพิจารณาหาข้อตัดสินแบบเชิงรุก นั่นคือจากที่ศาลจะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามที่ผู้เสียหายและคู่กรณีมาเสนอและตัดสิน ในคดี Class Action ศาลสามารถใช้ระบบไต่สวนมาพิจารณา และมีอำนาจในการเรียกหาข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายเพิ่มได้

นอกจากนี้ คดี Class Action ยังมีแรงจูงใจให้ทนายความฝ่ายกลุ่มผู้เสียหายเป็นเงินรางวัล (ที่ฝ่ายคู่กรณีจะต้องจ่ายถ้าแพ้คดี) เนื่องจากการติดต่อประสานงานลูกความที่มีเยอะ และยังต้องรักษาผลประโยชน์ให้คนจำนวนมากด้วย

จากข้อดีทั้งหมดที่ว่ามา ทั้งความง่ายในการดำเนินคดี แรงจูงใจที่ให้ผู้เสียหายไม่ต้องรู้สึก ‘ช่างมัน’ กับความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ การฟ้องแบบ Class Action จึงเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของกฎหมายไทยที่ช่วยให้ผู้เสียหายได้รับความยุติธรรมที่มีทั้งประสิทธิภาพและความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง

 

ที่ผ่านมา เวลาเราได้ยินคำว่า ‘สตาร์ทอัพ’ ภาพที่เรานึกถึงคือธุรกิจที่นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้ชีวิตของผู้คนสะดวกสบายขึ้น จะเรียกรถ สั่งของ หางานให้ชาวฟรีแลนซ์ ลงทุน หรืออื่นๆ ทว่าสิ่งที่ดูห่างไกลแต่จริงๆ แล้วใกล้ตัวอย่าง ‘กฎหมาย’ กลับไม่เคยมีใครคิดมาก่อนว่าสามารถมาเป็นแนวคิดสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพได้

แต่เมื่อกฎหมาย Class Action ประกาศใช้มาแล้วเป็นเวลาร่วมสองปี โดยหลักการพื้นฐานของมันที่เป็นการควบรวมปัญหาฟ้องร้องของประชาชนจำนวนมาก ที่รวมตัวกันเพื่อหาตัวแทนไปฟ้องแบบกลุ่ม จัดหาทนายความ เรื่องแบบนี้ คิดดูดีๆ ก็สามารถเอาเทคโนโลยีมาจัดการปัญหาได้ไม่ต่างกัน

จากเคสของเคเบิลทีวีรายใหญ่ที่ยกเลิกช่องรายการโดยไม่บอกล่วงหน้า จึงเป็นจุดเริ่มต้นเคสแรกของ ฟ้องได้ สตาร์ทอัพกฎหมายรายแรกของไทยที่นำหลักกฎหมาย Class Action มาปรับใช้ เป็นตัวกลางที่รวบรวมผู้เสียหายจากกรณีต่างๆ หากเคสนั้นมีจำนวนผู้เสียหายมากพอ ก็จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่อาจได้รับความเสียหายเหมือนๆ กันมาลงชื่อ จากนั้นทางเว็บไซต์ก็จะจัดหาทนายความเพื่อฟ้องคดีต่อศาลต่อไป

จนถึง ณ ขณะนี้ จำนวนผู้เสียหายจากกรณีเคเบิลทีวีที่เป็นข่าวใหญ่มีจำนวนผู้เสียหายมาลงชื่อรวมกลุ่มฟ้องแล้วถึง 1,390 คน!

นี่จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า เมื่อกฎหมายได้รับการปรับปรุง แก้ไขให้เข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบันของสังคม แก้ไขให้ความยุติธรรมเข้าถึงประชาชนตัวเล็กๆ อย่างเท่าเทียม และง่ายดายมากขึ้น เมื่อมันมารวมกับเทคโนโลยีในยุคสมัยปัจจุบันที่ทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น ความยุติธรรมก็เป็นเรื่องใกล้เอื้อมถึงมากขึ้น

จากที่เป็นเพียงศึกของ ‘ช้าง’ กับ ‘มด’ ในอดีต  มันอาจกลายเป็นการเรียกหาความยุติธรรมทางกฎหมาย

จาก ‘คน’ ตัวเล็กที่มีสิทธิ์และอำนาจพอๆ กับ ‘ยักษ์’ ตัวใหญ่ในอีกไม่ไกล

 

อ่านเพิ่มเติม

เว็บไซต์ Class Action Lawsuit Center

จิรดา จงจักรพันธ์. 2558. การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตามข้อเสนอร่างแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่ง. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw).

ภูมินทร์ บุตรอิน และ อานันท์ กระบวนศรี. 2557. บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (การดำเนินคดีแบบกลุ่ม). โครงการ ThaiLawWatch สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

Kaewta Ketbungkan. 2017. “Go to battle with class-action lawsuit startup ‘Fongdi'”. Khaosod English, 10 January 2017.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save