fbpx

เยอรมนีตะวันตก-ตะวันออก และ เวียดนามเหนือ-ใต้: ความทรงจำอันขมขื่น เมื่ออุดมการณ์แยกเราออกจากกัน

ประเทศเวียดนามถูกแยกออกเป็นส่วนเหนือและส่วนใต้ในปี 1950-1970 ส่วนการปกครองก็ถูกแยกออกเป็นสองระบอบคือ คอมมิวนิสต์และระบอบลูกผสม (บางช่วงเป็นประชาธิปไตย บางช่วงเป็นเผด็จการ) ด้วยระบอบการปกครองที่แตกต่างกันระหว่างเวียดนามเหนือและใต้ กับการพร่ำสอนระหว่างคนรุ่นสู่รุ่น ส่งผลให้ความคิดความอ่านของคนเวียดนามในสองส่วนยังมีความแตกต่างกัน อย่างน้อยที่สุดก็เรื่องสำเนียงการใช้ภาษาและวิถีการใช้ชีวิต

ขณะเดียวกันประเทศเยอรมนีก็ถูกแยกออกเป็นสองประเทศตั้งแต่ปี 1949 หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเยอรมนีแบ่งออกเป็นสองระบบคือระบอบคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออก และประชาธิปไตยในเยอรมนีตะวันตก จนกระทั่งรวมชาติในปี 1990

เยอรมนีกับเวียดนามมีความเหมือนในความต่าง คือทั้งสองประเทศผ่านประสบการณ์การรวมประเทศจากระบอบที่แตกต่าง ขณะเดียวกันแนวคิดของชาวเวียดนามพลัดถิ่นจากทางใต้ที่กระเซ็นกระสายไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ต่างก็รู้สึกไม่ยุติธรรมกับการรวมประเทศ เช่นเดียวกับชาวเยอรมันตะวันออกที่รู้สึกเหมือนถูกผลักเป็นพลเมืองชั้นสองหลังรวมประเทศ

ชาวเวียดนามโพ้นทะเลในดินแดนยุโรป

ย้อนกลับไปราวปี 1970 นายวิลลี่ บรันด์ (Willy Brandt) นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตะวันตกเสนอนโยบายตะวันออกใหม่ หรือ ‘นอยเออ ออสต์โพลิทิก’ (Neue Ostpolitik) เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ กระชับความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต และหาทางหยุดวิกฤตสงครามเวียดนาม[1]

ในปี 1975 ประเทศเยอรมนีตะวันตกตัดสินใจรับผู้อพยพจากเวียดนามใต้เป็นจำนวนกว่า 35,000 คน[2] จากนั้นในปี 1978 หรือประมาณสามปีหลังจากเหตุการณ์ไซง่อนแตก (Fall of Saigon) ก็เกิดเหตุการณ์ผู้อพยพทางเรือ (Boat People) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชาวเวียดนามใต้หลบลี้หนีภัยออกนอกประเทศทางทะเลหลังไม่ทนต่อระบอบใหม่ เหล่าผู้ลี้ภัยต้องประสบกับเหตุการณ์เรือแตกทำให้ชาวเวียดนามใต้หลายคนเสียชีวิต และจำนานมากลอยคออยู่กลางทะเลจีนใต้ เยอรมนีตะวันตกคือหนึ่งในหลายประเทศพันธมิตรที่ส่งความช่วยเหลือโดยส่งเรือที่ชื่อว่า Cap Anamur ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามที่ลอยคออยู่กลางทะเล

งานของ Bösch และ Phi[3] ระบุไว้ว่าผู้อพยพชาวเวียดนามใต้ไปในเยอรมนีตะวันตกได้รับความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ชาวเวียดนามใต้ยังมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าผู้อพยพผลัดถิ่นจากภูมิภาคอื่น เนื่องจากภาพจำที่ว่าชาวเอเชียเป็นกลุ่มคนที่ทำงานหนักและขยัน นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกยังหยิบยื่นความช่วยเหลือต่างๆ อย่างการสนับสนุนค่าเล่าเรียนให้กับลูกหลานผู้ลี้ภัย โครงการฝึกงานให้กับผู้ลี้ภัย รวมไปถึงโครงการทางวัฒนธรรมสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่กระนั้นก็ตาม ชาวเวียดนามใต้พลัดถิ่นก็มีปัญหาหลักคือภาษากับการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ เนื่องจากชาวเวียดนามใต้คุ้นชินกับภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสมากกว่า

ส่วนพื้นที่ที่ชาวเวียดนามใต้อยู่จะกระจัดกระจายไปตามรัฐต่างๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรและศักยภาพทางเศรษฐกิจของรัฐนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนีตะวันตก

ไม่ใช่แค่เยอรมนีตะวันตกเท่านั้นที่รับชาวเวียดนามเข้าไป แต่เยอรมนีตะวันออกก็รับชาวเวียดเข้าไปเช่นกัน โดยรับชาวเวียดนามเหนือเข้าล็อตแรกราว 75,000 คน[4] แต่ไม่ใช่ด้วยเงื่อนไขรับผู้อพยพ แต่เป็นเหตุผลด้านการแลกเปลี่ยนระบอบทางการเมือง และในฐานะแรงงานรับเหมาระหว่างสมาชิกกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งในขั้นแรกเยอรมนีตะวันออกหยิบยื่นข้อเสนอในการฝึกทักษะแรงงานในโรงงาน โรงเรียนของพรรคคอมมิวนิสต์ และองค์กรต่างๆ ของรัฐ รวมไปถึงมหาวิทยาลัย[5] นอกจากเยอรมนีแล้ว เวียดนามเหนือยังได้รับข้อเสนอในลักษณะเช่นเดียวกันนี้กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ อย่างสหภาพโซเวียต บัลแกเรีย และเชคโกสโลวาเกีย[6] 

อย่างไรก็ตามชาวเวียดนามเหนือก็ประสบปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคมเยอรมันเช่นกัน เนื่องจากชาวเยอรมันตะวันออกน้อยคนนักที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสกับชาวเวียดนามเหนือได้ ซึ่งปัญหาเรื่องภาษาอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวเวียดนามเหนือกระจุกตัวกันมากกว่า โดยพื้นที่ที่ชาวเวียดนามเหนืออยู่มากที่สุดคือเบอร์ลินตะวันออก และเมืองไลป์ซิก (Leipzig) รัฐซัคเซน (Sachsen) ในเยอรมนีฝั่งตะวันออก

หลังจากปี 1990 ซึ่งเป็นปีแห่งการรวมชาติเยอรมนี โรงงานที่เดิมเคยเป็นของรัฐบาลเยอมนีตะวันออกหลายแห่งปิดตัวลง ส่งผลให้ชาวเวียดนามเหนือที่เป็นแรงงานรับเหมาถูกลอยคอ รัฐบาลเยอรมนีในช่วงปี 1990-1995 จึงออกมาตรการให้คนเวียดนามกลับถิ่นฐานบ้านเกิดโดยสมัครใจแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ชาวเวียดนามเหนือหลายคนที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานก็เลือกที่จะทำงานใต้ดิน อย่างการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนจากรัสเซีย[7]

การรวมประเทศของเยอรมนีกลายเป็นการเปิดพื้นที่ผจัญหน้ากันระหว่างคนจากสองขั้วที่มีความคิดความอ่านต่างกันอย่างถึงที่สุด

การขัดเกลาทางสังคมสู่ความขัดแย้งในความทรงจำ

การขัดเกลาเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้สมาชิกในรัฐ หรือสังคมนั้นๆ มีโลกทัศน์ ชุดความคิด คุณค่าทางอุดมการณ์การเมืองและคุณค่าในความเป็นสมาชิกแห่งรัฐ หรือสังคมนั้นๆ ให้เป็นไปตามทัศนคติที่ผู้มีอำนาจต้องการและยากที่จะลืม

หลังสงครามโลกในปี 1945 จินตกรรมเรื่องชาติของเวียดนามถูกสร้างขึ้นอย่างจริงจัง หลังจากที่โฮ จิ มินห์ วีรบุรุษของชาวเวียดนามทำสงครามเพื่อเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส จนกระทั่งบรรลุข้อตกลงการประชุมที่เจนีวาในปี 1945 ที่กำหนดเส้นขนานที่ 17 เป็นตัวแบ่งระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้

ช่วงเวลานั้นเองที่แนวคิดเรื่องความเป็นชาติของทั้งสองเวียดกำลังก่อตัวขึ้นท่ามกลางการขับเคี่ยวระหว่างโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐในเวียดนามเหนือได้วางรากฐานการขัดเกลา รวมไปถึงการเรียนการสอนที่อิงกับอุดมการณ์สังคมนิยม คอมมิวนิสต์บวกชาตินิยมเข้าไป ขณะเดียวกันทางซีกใต้ก็สอนแนวคิดตามหลักเสรีนิยม

การขัดเกลาที่แตกต่างกันระหว่างเหนือและใต้ทำให้เกิดกระแสการอพยพหนีตายของชาวเวียดนามใต้ที่มีฐานความคิดต่างกับชาวเวียดนามเหนือ ผนวกกับภาวะความไม่แน่นอนต่อชีวิตส่งผลให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งในความทรงจำของบรรดาผู้อพยพยังจดจำภาพผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ถูกจำคุก ต่อต้าน ข่มขืน และประหารชีวิตในช่วงที่เวียดนามใต้ล่มสลาย[8] ส่วนแนวคิดจากทางเหนือจะเป็นทิศทางถึงการปลดปล่อยจากจักรวรรดินิยม และมองกลุ่มคนที่ต่อต้านการปลดปล่อยเป็นปรปักษ์ต่อคณะปลดปล่อยจากฝั่งเหนือ

ทั้งนี้แนวคิดของระหว่างชาวเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ในยุคนั้นจึงเต็มไปด้วยคำศัพท์คู่ตรงข้ามทางการเมืองมากมาย[9] [10] ไม่ว่าจะเป็นคำว่า พวกคอมมิวนิสต์/พวกต่อต้าน นักปฏิวัติ/นักต้านการปฏิวัติ หรือกระทั่งผู้ปกป้อง/ผู้รุกราน คำศัพท์เหล่านี้ติดในชุดความคิดของชาวเวียดนามเหนือและชาวเวียดนามใต้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปด้วย

ชุดความคิดและความรู้สึก

แนวคิดการมองความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ผ่านภูมิประวัติศาตร์อย่างที่ Will Nguyen[11] พูดถึงลักษณะความแตกต่างระหว่างคนเหนือและคนใต้ในเชิงพื้นที่ กล่าวคือทางตอนใต้ของเวียดนามเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันหลากหลายแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมจาม (อิสลาม) และเขมร (ฮินดู-พราหมณ์) รวมไปถึงเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ในปี 1862

นอกจากนี้พื้นที่ทางตอนใต้ยังเป็นดินแดนเกษตรกรรมอันกว้างใหญ่บริเวณปากแม่น้ำโขง ขณะที่บริเวณภาคเหนือเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมเวียดนามที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากจีน ทั้งยังเป็นพื้นที่เหมาะกับการทำกสิกรรม แต่กระนั้นก็ตามเวียดนามตอนเหนือเคยประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเนื่องมาจากสภาพอากาศที่รุนแรงในช่วงมรสุม

สภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันของเหนือและใต้สะท้อนไปถึงลักษณะนิสัย และเป็นเบ้าหลอมอัตลักษณ์ของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ แต่การมองประวัติศาสตร์ผ่านพื้นที่ส่งผลกระทบถึงความคิดของผู้คนอาจจะไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดของความขัดแย้งที่มีขึ้นในทัศนคติของชาวเวียดนาม แต่การขัดเกลาที่เกิดขึ้นจากรัฐสมัยใหม่และการรวมประเทศแบบหักดิบต่างหากที่ส่งผลกระทบถึงทัศคติที่ร้าวลึก

ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ขมขื่นสำหรับชาวใต้ และการขัดเกลาที่ชาวเหนือได้รับกระทบไปถึงความสัมพันธ์ต่อระหว่างชาวเวียดนามที่เข้ามาลงหลักปักฐานในเยอรมนี รวมไปถึงภาษา สำเนียงที่แตกต่าง กลายเป็นเครื่องมือชี้วัดพื้นเพของครอบครัวและมักไม่ค่อยคลุกคลีกับชาวเวียดนามต่างภูมิภาค เนื่องจากภาพลักษณ์ที่ชาวเหนือและชาวใต้จดจำกันนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

บทสัมภาษณ์จาก Tri Tran[12] ชาวเวียดนามใต้และเป็นหนึ่งในผู้อพยพทางเรือที่สะท้อนถึงความรู้สึกประหม่า หวาดกลัวเมื่อถูกชาวเวียดนามเหนือเรียกว่า “สหาย” และเธอบอกในบทสัมภาษณ์ว่า “พวกเราพูดภาษาเดียวกัน แต่แตกต่างกันทางความคิด พวกเราไม่ใช่พวกเดียวกัน พวกเราต่างกัน” ขณะเดียวกัน Le Duc Duong[13] ชาวเวียดนามเหนือที่บอกว่าตนไม่ค่อยสบายใจที่คนเวียดนามใต้ชอบชวนคุยเรื่องการเมือง

Duong Thu Hang ชาวเวียดนามเหนือรุ่นสองที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีบอกกับผู้เขียนว่า พ่อของเธอย้ายมาอยู่ที่เมืองไลป์ซิก ช่วงประมาณปี 1989 ส่วนแม่ของเธอย้ายตามมาในปี 1994 ก่อนครอบรัวของเธอจะย้ายไปเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ฝั่งตะวันตกในภายหลัง

Hang บอกด้วยว่าเมื่อสมัยเด็กๆ แม่ของเธอไม่อนุญาตให้มีเพื่อนชาวเวียดนามใต้ โดยให้เหตุผลว่าคนใต้เป็นพวกคนง่ายๆ ไม่ค่อยจริงจังกับชีวิต และเสแสร้ง

ประสบการณ์จาก Hang อาจจะสะท้อนความคิดของชาวเวียดนามในเยอรมนีได้ส่วนหนึ่ง แต่แนวคิดของคนใต้รุ่นที่เติบโตมากกับสงครามเย็นที่ค่อนข้างเป็นลบต่อคนเหนือได้ติดกับชุดความคิดของคนใต้ไปทุกที่ ทั้งในเวียดนาม เยอรมนี หรือกระทั่งไต้หวัน

Tran Nam Phuong นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติ ไต้หวัน ซึ่งมีพื้นเพจากทางตอนใต้ของเวียดนามอธิบายภาพลักษณ์ทั่วไปของคนเหนือว่าค่อนข้างเป็นพวกอนุรักษนิยมและล้าสมัย นอกจากนี้ Phuong ยังเล่าให้ฟังถึงญาติของตนที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ซึ่งไม่ยอมคบค้ากับคนเวียดนามจากฝั่งเหนือโดยให้เหตุผลว่าคนเหนือว่าเป็นพวกหยิ่งยโส  

นอกจากนี้อธิบายคำว่า Bắc kỳ[14] ซึ่งแปลว่า ‘ภาคเหนือ’ ในภาษาเวียดนามยังเป็นคำสบถ (ขึ้นอยู่กับบริบท) สำหรับชาวใต้อีกด้วย

กรณีของเวียดนามเหนือและใต้ได้สะท้อนออกมาผ่านชุดความคิดที่ขัดแย้งกัน ทั้งในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง เรื่อยไปถึงภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ของคนที่มาจากท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนกรณีของเยอรมนีในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง แต่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับเวียดนาม กล่าวคือรัฐประชาธิปไตยกลืนเอารัฐคอมมิวนิสต์เข้าไปเป็นประเทศเดียวกัน ที่แม้ว่ากำแพงเบอร์ลินจะถล่มไปแล้ว แต่กำแพงทางความคิดและความรู้สึกยังมีความแตกต่าง

สำหรับเยอรมนีที่มีดัชนีชี้วัดคือตัวผลการเลือกตั้งในช่วงเดือนกันยายน 2021 ชาวเยอรมันตะวันออกส่วนหนึ่งเทคะแนนให้กับพรรคทางเลือกสำหรับเยอรมนี หรือ อาเอฟเด (Alternative Fuer Deutschland (AfD))  และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมนี (Sozialdemokratische Partei Deutschlands (SPD))

การเกิดขึ้นของพรรคอาเอฟเดเป็นที่จับตามองมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2013 และได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับสามครั้นเลือกตั้งทั่วไปในปี 2017 เนื่องจากนโยบายพรรคที่ชัดเจนในการต่อต้านคนต่างชาติและสร้างงานให้ชาวเยอรมัน ซึ่งโดนใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งในฝั่งตะวันออก

นอกจากนี้ความแตกต่างในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างตะวันออกและตะวันตกยังเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดที่บ่งบอกอย่างมีนัยสำคัญว่าฝั่งตะวันออกถูกทอดทิ้ง รวมถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงและเอียงขวาจัดท่ามกลางชาวเยอรมันตะวันออก ยังบ่งชี้ถึงมรดกความทรงจำความยากไร้แสนเข็ญในช่วงคอมมิวนิสต์ หันกลับไปหาความเป็นชาตินิยมรุนแรง

ผู้เขียนมองว่าผลการเลือกตั้งสะท้อนถึงความน้อยเนื้อต่ำใจของชาวตะวันออกที่มีความรู้สึกเหมือนถูกผลักให้เป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศตัวเองและเริ่มไม่เชื่อในรัฐบาลของตัวเอง ชาวตะวันออกยังรู้สึกด้วยว่าพื้นที่ของพวกเขากลายเป็นหนึ่งในอาณานิคมของฝั่งตะวันตก[15] อีกทั้งยังไม่รู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมชาติฝั่งตะวันตก

สภาวะจำยอม

สงครามเวียดนาม หรือสงครามอเมริกันตามที่ชาวเวียดนามเรียกได้จบลงไปแล้วร่วมสามทศวรรษ แต่มรดกแห่งสงครามเย็นยังคงมีให้เห็นอยู่ผ่านชุดความคิดที่มีผลมาจากความทรงจำและส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น ความรู้สึกของคนในรัฐที่ถูกบังคับให้รวมกัน สะท้อนให้เห็นถึงความน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่สะท้อนผ่านความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนร่วมชาติ

ความทรงจำอันแสนเข็ญกลายเป็นสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกและจำยอมฝืนทน ซึ่งตราตรึงอยู่ในใจคนวัยที่ต้องประสบพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงจากประวัติศาสตร์อันไร้หนทางหวนคืน อย่างชาวเวียดนามใต้ที่ไม่อาจจะเอาประเทศเสรีนิยมกลับมาได้

ในประเด็นนี้ Nguyen Cong Tung นักวิจัยหลังปริญญาเอก ของสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในไต้หวันกล่าวกับผู้เขียนไว้ว่า หากภาพประวัติศาสตร์เปลี่ยนจากเวียดนามเหนือเป็นเวียดนามใต้ที่ควบรวมประเทศ บัดนี้เวียดนามอาจจะเป็นหนึ่งในเสือเศรษฐกิจเอเชียก็เป็นได้ เช่นเดียวกับ Phuong ที่สะท้อนคำพูดจากญาติว่า ถ้าสหรัฐฯ ยังสนับสนุนเวียดนามใต้ ชีวิตความเป็นอยู่อาจจะดีขึ้นกว่านี้

การรวมประเทศที่ปกครองในระบบที่แตกต่างกันจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ ซึ่งมีผลมจากการขัดเกลา การสร้างโลกทัศน์และคุณค่าในวิธีที่แตกต่างกัน ซึ่งในประวัติศาสตร์ได้สะท้อนแล้วว่าการรวมประเทศนำไปสู่ความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ของคนในประเทศนั้นๆ การรวมประเทศระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตก หรือกระทั่งกรณีฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่

ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากบางประเทศอย่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ หรือจีนกับไต้หวัน หากการเมืองผกผันจนมีการรวมประเทศกันก็คงหนีไม่พ้นฉากแห่งความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ที่จะปรากฏขึ้น ทั้งยังมีเรื่องภาพลักษณ์ที่เต็มไปด้วยความทรงจำอันขัดแย้งระหว่างคนจากสองพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นมาในอดีต

ตัวอย่างของคนเวียดนามเหนือ-ใต้ เยอรมนีตะวันตก-ตะวันออก สะท้อนให้เห็นว่าจะมีฝ่ายหนึ่งที่ตกต้องเป็นฝ่ายจำยอมภายใต้การปกครองของคนกลุ่มหนึ่ง และต้องใช้เวลากว่าหลายทศวรรษในการขัดเกลาจนกว่าสมาชิกใหม่ในชาติจะมีจินตกรรมร่วมกัน อีกหนึ่งทางเลือกคือรัฐหรือสังคมนั้นๆ จะต้องเปิดโอกาสและพื้นที่ให้สมาชิกรัฐจากอีกฝั่งหนึ่งมามีบทบาทในการตัดสินใจร่วมมากขึ้น มิเช่นนั้นความขัดแย้งในความทรงจำและความคิดก็จะไม่มีทางได้รับการแก้ไข


[1] Juneau, Jean-Francois (2011). The Limits of Linkage: The Nixon Administration and Willy Brandt’s Ostpolitik. 1969-72, The international History Review, 33(2), 277-297

[2] Deutsche Welle(2004). Berlin’s Vietnamese Wall, https://www.dw.com/en/berlins-vietnamese-wall/a-1408694, retrieved 13.02.2022

[3] Frank Bösch & Phi Hong Su (2021). Competing contexts of reception in refugee and immigrant incorporation: Vietnamese in West and East Germany, Journal of Ethnic and Migration Studies. 47(21). 4853-4871,

[4] Ibid., 3

[5] Huewelmeier, Gertrud (2017). Socialist Cosmopolitans in Postsocialist Europe: Transnational Ties among Vietnamese in the Cold War Period and Thereafter. Journal of Vietnamese Studies. 12(1):126-153

[6] Schewenkel, Christina (2014). Rethinking Asian Mobilities. Critical Asian Studies. 46(2): 235-258

[7] Phi Hong Su (2017). There’s No Solidarity. Journal of Vietnamese Studies. 12(1). Special issue: Vietnamese in Central Europe: An Unintended (WINTER 2017). 73-100

[8] Smith, Tong-Jin (Oct, 2014). LASTING DIVIDE: In Berlin’s Vietnamese Community, Bridging the North-South Gap. https://www.handelsblatt.com/english/lasting-divide-in-berlins-vietnamese-community-bridging-the-north-south-gap/23613306.html?ticket=ST-12777333-NueGclvkvQqou9b4ICTf-ap3. Retrieved 13.02.2022

[9] Schwenkel, Christina (2008). Exhibiting War, Reconciling Pasts: Photographic Representation and Transnational Commemoration in Contemporary Vietnam. Journal of Vietnamese Studies. 3(1). 36-77.

[10] Cannon, Alexander M. (2012). Introduction: Epic Directions for the Study of the Vietnamese Diaspora. Journal of Vietnamese Studies.  3. 1-6.

[11] Nguyen, Will (2018). Identities Clash in Vietnam’s North and South. https://international.thenewslens.com/article/95172. Retrieved on 13.02.2022

[12] Ibid., 2

[13] Ibid.,2

[14] Ibid.,8

[15] Deutsche Welle (2017). East Germans still victims of ‘cultural colonialism’ by the West. https://www.dw.com/en/east-germans-still-victims-of-cultural-colonialism-by-the-west/a-41199804. Retrieved 14.02.2022

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save