fbpx

ขวบปีในการต่อต้านรัฐประหารพม่า: มุมมองทางทหารและสงคราม

กองบัญชาการทหารภาคย่างกุ้งของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้เปิดฉากโจมตีเป้าหมาย 24 จุด ทั่วกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2022 ในวันครบรอบปีของการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งของอองซาน ซูจี การปฏิบัติการภายใต้ชื่อ ‘ปันวาอ่อง’ (Pyan Hlwa Aung) นั้นเป็นการโจมตีด้วยอาวุธปืนและระเบิดใน 11 อำเภอในย่างกุ้งเมืองหลวงเก่ารวมทั้งซันจวง อินเส่ง ดารา หล่าย ทายา และเลกู พุ่งเป้าไปที่ป้อมทหาร-ตำรวจ สถานที่ทำการของรัฐ สถานีควบคุมกล้องวงจรปิด เพื่อก่อกวนและสร้างความเสียหายให้แก่รัฐบาลทหารเป็นหลัก

นักสู้ของกลุ่มรายหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาได้ระเบิดป้อมทหารของกองพันทหารราบ 532 ซึ่งอยู่บนถนนสายย่างกุ้ง-ปะเตง เมื่อตอนเช้าตรู่ 5 นาฬิกา[1] ใกล้เคียงกับเวลาที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่าก่อการรัฐประหารเมื่อ 1 ปีก่อน

การรัฐประหารปลุกให้ประชาชนพม่า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จำนวนมากลุกขึ้นต่อต้านอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองพม่า ไม่ใช่แค่การออกมาเดินขบวนประท้วงแสดงความไม่พอใจเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่คนหลายหมู่เหล่าได้รวมตัวกันเป็นขบวนการ มีองค์กรจัดตั้งทางการเมืองและประการสำคัญประกาศว่า มีกองกำลังที่มีการจัดการแบบกองทหารและต้องการพัฒนาไปเป็นกองทัพแห่งสหพันธรัฐเพื่อทดแทนกองทัพแห่งชาติพม่าในปัจจุบันที่รู้จักกันดีในชื่อภาษาพม่าว่า ‘ตัดมาดอว์’ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เพื่อต่อสู้ปลดปล่อยพม่าให้เป็นเอกราชจากอังกฤษและป้องกันประเทศนับแต่นั้นมา

ประชาชนชาวพม่าและสื่อมวลชนมักเรียกการลุกฮือเพื่อต่อต้านตัดมาดอว์หลายครั้งหลายคราในอดีตว่าเป็นการปฏิวัติ เช่น การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ (Saffron Revolution) คือการลุกฮือของพระสงฆ์เมื่อปี 2007-2008 แต่การลุกฮือทุกครั้งมักมีลักษณะแบบเป็นไปเอง (spontaneous) ตามธรรมชาติที่ประชาชนต้องการปลดปล่อยความคับข้องใจต่อการปกครองของกองทัพพม่า อาจจะมีการรวมกันเป็นกลุ่มก้อนบ้าง แต่ไม่ได้มีการจัดตั้งที่เข้มแข็งและมักจบลงหลังจากการปราบปรามที่รุนแรง

การลุกฮือของประชาชนพม่า เพื่อต่อต้านการรัฐประหารในขณะนี้ที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ’ (Spring Revolution) นั้นในช่วง 2-3 เดือนแรกก็มีลักษณะแบบเป็นไปเองตามธรรมชาติเหมือนที่เคยเป็น เมื่อประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมกันเรียกตัวเองว่า ‘ขบวนการอารยะขัดขืน’ (Civil Disobedience Movement) ใช้แนวทางสันติอหิงสาในการต่อต้านการรัฐประหารด้วยเทคนิคใหม่ๆ เช่น การผละงานประท้วง การบอยคอตสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ พากันแห่ไปถอนเงินเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้ระบบการเงินของประเทศ และใช้โชเซียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายพื้นที่ทางการเมือง แต่การประท้วงที่สงบสันติเกิดขึ้นได้ไม่กี่วัน ตัดมาดอว์ทำการปราบปรามอย่างรุนแรงและสังหารผู้ประท้วงคนแรกเป็นหญิงสาวอายุ 20 ปีชื่อ เมี๊ยะ ทวย ทวย คาย ระหว่างการประท้วงที่เมืองหลวงเนปิดอว์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์

จากนั้นความรุนแรงก็ลุกลามไปทั่วประเทศ ประชาชนผู้ประท้วงเริ่มหยิบฉวยอะไรได้หรือไม่ก็ประดิษฐ์ขึ้นเช่นปืนล่าสัตว์ ก็ใช้มันเป็นอาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจ แต่เหตุการณ์ที่ชักพาไปสู่การจับอาวุธขึ้นสู้จริงๆ เกิดขึ้นต้นเดือนเมษายนเมื่อประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธโจมตีและสังหารตำรวจ 5 คน ในหมู่บ้านนันปาโลนเมืองตามูในเขตสกายทางตอนเหนือของประเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นมาการต่อสู้ด้วยอาวุธก็ขยายตัวมากขึ้น ผู้ประท้วงรวมกันจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธในชื่อต่างๆ หลากหลาย เปิดฉากโจมตีก่อกวนสร้างความปั่นป่วนให้กองทัพแห่งชาติได้มาก

การต่อสู้ด้วยอาวุธไม่ใช่สิ่งใหม่ในประวัติศาสตร์พม่า กลุ่มชาติพันธุ์จับอาวุธขึ้นสู้เพื่อสิทธิอัตวินิจฉัย (Self-determination) มาตั้งแต่พม่าได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1948 มาจนถึงปัจจุบันก็ยังเอาชนะกันไม่ได้ และดูเหมือนว่าสงครามกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์นี่เองที่เป็นข้ออ้างสำคัญให้กองทัพควบคุมการเมืองการปกครองประเทศได้ตลอดมา แต่การต่อสู้ด้วยอาวุธที่จะพูดถึงต่อไปนี้มีลักษณะแตกต่างออกไป เพราะเกิดขึ้นในหมู่คนเชื้อสายพม่า มีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมพม่าจากการครอบงำของทหาร แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมีการประสานสมทบกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยซึ่งบทความนี้ต้องการที่จะโต้แย้งว่า ลักษณะและเป้าหมายของการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ มีความแตกต่างกันจนอาจจะไม่สามารถหาเอกภาพในการต่อสู้ได้ จึงเป็นการยากที่จะบรรลุเป้าหมาย

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน: กองทัพปลดแอก?   

ท่ามกลางสถานการณ์ที่คุกรุ่น การปราบปรามประชาชนดำเนินไปอย่างรุนแรงและกว้างขวาง นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ได้รวมตัวกันในรูปของคณะกรรมการผู้แทนสภาปิดองซูลุทตอว์ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw) ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government – NUG) เมื่อกลางเดือนเมษายน 2021 เพื่อให้เป็นหน่วยการเมืองในการนำการต่อสู้กับตัดมาดอว์และให้เป็นรัฐบาลคู่ขนานไปกับสภาทหารที่รู้จักกันในชื่อ ‘สภาบริหารแห่งรัฐ’ (State administration Council – SAC)

โครงสร้างของสภาเอกภาพแห่งชาตินั้นคล้ายๆ กับรัฐบาลทั่วไป มีอู วิน มินต์ (U Win Myint) อดีตประธานาธิบดีในรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปเป็นประธานาธิบดี แต่เนื่องจากตัวเขาถูกคุมขัง จึงได้เลือกดูวา ลาชิ ลา (Duwa Lashi La) นักการเมืองและนักกฎหมายชาวคะฉิ่น ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี อองซาน ซูจี ผู้นำที่แท้จริงของรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counsellor) ตำแหน่งลอยที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับบทบาทที่แท้จริงในรัฐบาล แต่ซูจีทำหน้าที่นี้ไม่ได้อีกเช่นกันเพราะยังถูกคุมขังและดำเนินคดีโดยคณะทหาร

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีคือ มาน วิน คาย ตัน (Mahn Winn Khaing Thann) ชาวกะเหรี่ยง จากภาคอิรวดี แต่โลกภายนอกยังค่อยรู้จักเขาและไม่รู้ว่าเขาทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไร นอกจากนี้องค์ประกอบในรัฐบาลมีทั้งหมด 9 กระทรวง คนทั่วไปอาจจะได้เห็นบทบาทของรัฐมนตรีบางคนออกให้สัมภาษณ์สื่อทั้งในภาษาพม่าและภาษาอื่นอยู่บ้าง เช่น นายแพทย์ ซา ซ่า นักกิจกรรมด้านมนุษยธรรม เชื้อสายชิน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือต่างประเทศ ที่ออกสื่อและปรากฏตัวในการรณรงค์หาการรับรองให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติบ่อยกว่าเพื่อน จนคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่คนที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลนี้คือ ดอว์ ซาน มา อ่อง อดีตนักกิจกรรมนักศึกษารุ่นปี 1988 นั้นไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งยังไม่ค่อยแน่ชัดว่ากระทรวงต่างประเทศและกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศแบ่งงานกันอย่างไร

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติประกาศจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force – PDF) ขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2021 อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีอู เย มน นักการเมืองรุ่น 1988 เป็นรัฐมนตรี กองกำลังพิทักษ์ประชาชนมีเป้าประสงค์สำคัญในการพัฒนาไปสู่ความเป็นกองทัพสหพันธรัฐ คือเป็นกองทัพแห่งชาติเพื่อทดแทนตัดมาดอว์ แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นคงจะอีกยาวนาน เฉพาะหน้านี้กองกำลังดังกล่าวมีภาระที่จะต้องก่อร่างสร้างตัว เสริมความเข้มแข็ง วางยุทธศาสตร์ตั้งรับที่เหมาะสมและแสวงหาพันธมิตรในการต่อสู้เสียก่อน

หลังจากมีคลิปวิดีโอเปิดตัวกองกำลังพิทักษ์ประชาชนเผยแพร่ตามสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2021 แล้ว รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติใช้เวลาอีกหลายเดือนในการระดมพลเข้าฝึกเพื่อเป็นทหารในกองกำลังพิทักษ์ประชาชน โดยคนที่สมัครเข้าเป็นทหารส่วนใหญ่คือประชาชนทั่วไปที่มีความคับแค้นใจจากการรัฐประหารและการปราบปรามของตัดมาดอว์ในช่วงเวลาก่อนหน้า อีกส่วนหนึ่งคือทหารและตำรวจที่แปรพักตร์ออกมาร่วมกับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยหรือมีแหล่งใดสามารถระบุได้ว่า กองกำลังพิทักษ์ประชาชนมีจำนวนเท่าใด ข้อมูลเท่าที่มีการเปิดเผยก็เพียงข่าวว่าเยาวชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มติดอาวุธและไปขอรับการฝึกจากกลุ่มชาติพันธ์ุที่สำคัญที่คือกองพลที่ 5 และ 6 ของกองทัพกอทูเลของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง

ประธานาธิบดี ดูวา ลาซิ ลา ประกาศสงครามต่อต้านตัดมาดอว์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2021 เรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปร่วมกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติจับอาวุธขึ้นสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารของกองกำลังพิทักษ์ประชาชนและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่วันเสียงปืนแตกของพม่าไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับฝ่ายต่อต้านแต่อย่างใดเลย ตรงกันข้าม ตัดมาดอว์เปิดฉากถล่มโจมตีหมู่บ้านในเขตมะกวย (Magway) ทางตอนเหนือของประเทศ เมื่อกลางเดือนกันยายน ทำให้ฝ่ายต่อต้านซึ่งเป็นเยาวชนไร้ประสบการณ์ในการรบเสียชีวิตไปถึง 18 คน รวมทั้งพลเรือนไร้อาวุธที่ไม่ได้ตั้งใจจะต่อสู้ทหารตัดมาดอว์[2]

หลังจากนั้นอีกเกือบ 2 เดือน จึงมีข่าวว่ากองกำลังพิทักษ์ประชาชนทำการปรับโครงสร้างการบังคับบัญชาอยู่ในรูปของคณะกรรมการกลางเพื่อบัญชาการและประสานงาน (Central Command and Coordination Committee) โดยคณะกรรมการดังกล่าวซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยองค์ประกอบว่ามีใครบ้างและทำหน้าที่อะไร แต่จะทำหน้าที่ในการบังคับบัญชากองกำลังที่อยู่ตามภาคต่างๆ 5 ภาคคือ เหนือ กลาง ใต้ ตะวันออก และภาคตะวันตก[3] และภายใต้กองบัญชาการภาคมีกองบัญชาการเขตต่างๆ อยู่อีกจำนวนหนึ่ง เท่าที่พอสืบค้นได้จะมีกองบัญชาการในเขตมัณฑะเลย์ พะโค สกาย มะกวย ย่างกุ้ง ผสมกับกองกำลังในท้องถิ่นที่อยู่เขตอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์เช่น ชิน และ กะเหรี่ยง อีกจำนวนหนึ่ง

การปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังพิทักษ์ประชาชนในเขตย่างกุ้งระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สะท้อนสภาพการณ์ของกองกำลังที่จัดกันเป็นกลุ่มๆ ในชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น กองกำลังจรยุทธพลเมือง (Civil Guerrilla Force) กองทัพสหพันธ์ย่างกุ้ง (Yangon Federal Army) กองกำลังนกฟินิกซ์เมือง (Urban Phoenix Force) เปลวไฟปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ (Spring Revolution Flames) ทุกกลุ่มดูเหมือนจะมีความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ บางครั้งแต่ละกลุ่มปฏิบัติการโดยลำพัง บางครั้งทำพร้อมกันโดยการประสานงานกัน บางครั้งบางกลุ่มก็ร่วมกันปฏิบัติการ โดยใช้ยุทธวิธีโจมตีก่อกวน สร้างความปั่นป่วนให้กับระบบการปกครองและการบริหารงานของสภาบริหารแห่งรัฐเป็นสำคัญ แต่ทั้งหมดก็ประกาศว่าการปฏิบัติการต่างๆ นั้นเชื่อมโยงกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน[4]

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการในช่วงใกล้ขวบปีของการรัฐประหารและการต่อสู้นั้นแสดงให้เห็นว่าปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ เริ่มมีเป้าหมายของการทำสงครามปลดปล่อยและยึดครองพื้นที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น กองกำลังพิทักษ์ประชาชนในเมืองปินเลบู ในเขตสกาย ประกาศเมื่อต้นเดือนมกราคมปีนี้ว่าสามารถปลดปล่อยพื้นที่บางส่วนในเมืองนั้นได้แล้ว และกำลังเริ่มจัดตั้งกลไกบริหารในเขตยึดครอง เรียกว่าคณะกรรมการบริหารงานประชาชน โดยจะเริ่มงานทางด้านความมั่นคงและสาธารณสุขซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนก่อน อย่างไรก็ตามโฆษกของกองกำลังกล่าวว่า รัฐบาลทหารยังครอบครองพื้นที่ในเมืองและในรัศมีโดยรอบ 8 กิโลเมตร นอกนั้นถือว่าอยู่ในการยึดครองของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน และยังได้ประกาศว่า การตัดไม้และทำเหมืองแร่ในเขตยึดครองจะต้องได้รับอนุญาตและจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ[5]

แน่นอนว่ารัฐบาลทหารตอบโต้สถานการณ์อย่างรุนแรง การเผาทำลายหมู่บ้านที่เชื่อว่าให้การสนับสนุนกองกำลังฝ่ายต่อต้าน และสังหารประชาชนด้วยความเหี้ยมโหดและป่าเถื่อนเกิดขึ้นเป็นประจำนับแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา แต่อำนาจปกครองท้องถิ่นยอมรับว่า ตัดมาดอว์สูญเสียการควบคุมพื้นที่ 6 ใน 25 เมืองในเขตมะกวย อำนาจการปกครองถิ่นและที่ทำการของรัฐบาลหลายแห่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้วนับแต่กองกำลังพิทักษ์ประชาชนบุกโจมตีและยึดครองเมืองหลายเมืองเอาไว้ได้[6] เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายเมืองในเขตตอนบนของประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งในมะกวยและสกาย พากันเริ่มทยอยละทิ้งหน้าที่หรือไม่ก็ลากลับภูมิลำเนาโดยไม่มีกำหนดกลับเข้าทำงาน

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลมากพอจะสามารถระบุได้ชัดเจนนักว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังพิทักษ์ประชาชนจะสามารถปกป้องเขตยึดครองหรือรุกคืบไปได้มากกว่านี้อีกหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญทางทหารที่คุ้นเคยกับการสู้รบในพม่ามานานปีเห็นว่า กองกำลังพิทักษ์ประชาชนเพิ่งจะเริ่มต้นขั้นพื้นฐานของสงครามจรยุทธ อีกทั้งยังขาดยุทธศาสตร์ที่ดีในการจัดทัพและการสู้รบ[7]

กองกำลังจรยุทธอาจจะมีความสามารถในการยึดครองพื้นที่ได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อการสร้างฐานที่มั่นมากกว่าจะเข้าปกครองหรือบริหาร เพราะถ้าจะบริหารและให้บริการทางด้านความมั่นคงแก่ประชาชนได้ กำลังทหารจะต้องเข้มแข็งพอ และต้องเป็นกองทหารในแบบที่มีทักษะในการป้องกัน (defense) ไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกยึดคืนได้โดยง่าย

ยิ่งไปกว่านั้น ตัดมาดอว์ยังควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางและภาคใต้ได้อยู่ ในขณะที่กองกำลังพิทักษ์ประชาชนต้องการกำลังพล และอาวุธมากกว่าที่มีอยู่อีกหลายเท่าตัวจึงจะสามารถพัฒนากำลังทางทหารให้ทัดเทียมพอจะต่อสู้กับตัดมาดอว์ซึ่งกำลังอยู่ประมาณ 350,000-400,000 นาย กำลังสำรอง และอาสาสมัครติดอาวุธอีกนับแสน พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีแสนยานุภาพมากกว่า เฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีทางอากาศซึ่งกำลังสร้างความหวั่นไหวให้กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนและพลเรือนอยู่ในขณะนี้

         กลุ่มชาติพันธุ์: พันธมิตรที่ไร้เอกภาพ

สงครามจรยุทธไม่ใช่สิ่งใหม่ในพม่า ตัดมาดอว์ทำสงครามแบบนี้กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์มาหลายทศวรรษแล้วนับแต่ได้เอกราชในปี 1948 จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเอาชนะกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ว่ากลุ่มคอมมิวนิสต์จะสลายตัวไปแต่ก็เป็นเพียงในนาม กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งก็คืออดีตคอมมิวนิสต์ แต่หลายกลุ่มไม่ได้เลื่อมใสลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ทั้งหมดนั้นมีองค์กรทางการเมืองและกองกำลังติดอาวุธอยู่ในเขตยึดครองของตัวเอง ทำการสู้รบ สงบศึกและสู้รบ สลับผลัดเปลี่ยนกันมานาน

สัญญาสงบศึกแห่งชาติฉบับล่าสุดริเริ่มในสมัยรัฐบาลพลเอกเต็ง เส่ง ต่อเนื่องถึงรัฐบาลอองซาน ซูจี มีกลุ่มชาติพันธุ์ 10 จาก 15 กลุ่มตัดสินใจร่วมลงนามและได้เริ่มเจรจรทางการเมืองกัน แต่ยังไม่ทันจะได้พัฒนาไปถึงไหน ก็เกิดรัฐประหารเสียก่อน หลายกลุ่มพากันประกาศว่าสัญญาสงบศึกฉบับนั้นคงจะถูกฉีกไปแล้วจึงต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับตัดมาดอว์อีกครั้งหนึ่ง การประกาศเช่นนั้นทำให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังพิทักษ์ประชาชนมีความหวังอย่างมากว่าจะอาศัยความร่วมมือและโดยเฉพาะกองกำลังที่มีทักษะในทางยุทธวิธีในการต่อสู้ปลดปล่อยพม่าจากการครอบงำของตัดมาดอว์และสร้างกองทัพแห่งสหพันธรัฐที่แท้จริงขึ้นมา

ในประเทศพม่ามีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 25 กลุ่ม ขนาดไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 100 คนไปจนถึง 30,000 คน อาวุธส่วนใหญ่เป็นปืนเล็กยาวประเภท AK 47 หรือ M 16 บ้างแล้วแต่กลุ่มใดจะมีเส้นสายหาอาวุธได้จากตลาดมืดแหล่งใดที่อยู่รอบพม่า เช่น ไทย จีน อินเดีย และบังคลาเทศ นอกนั้นก็มีเครื่องยิงลูกระเบิด M 79 จรวดแบบประทับบ่า RPG ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า บางกลุ่มเช่น ว้า อาจจะมีขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่า (Man Portable Air Defense System—MANPADS) ใช้กันแล้ว[8]

แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะต่อสู้กับตัดมาดอว์ เหมือนกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกกลุ่มมีเป้าหมายทางการเมืองแบบเดียวกัน ในขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติมีเป้าหมายสูงสุดไปสู่การเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย แต่กลุ่มชาติพันธุ์อาจจะต้องการแค่อำนาจปกครองตนเองในเขตยึดครองเล็กๆ ของพวกเขาเท่านั้น

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์แล้ว สถานการณ์ของกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธ์ุมีความซับซ้อนและลื่นไหลมาก บางกลุ่มประกาศเข้าร่วมกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและต้องการช่วยกองกำลังพิทักษ์ประชาชนสู้รบกับตัดมาดอว์ บางกลุ่มก็เพียงแค่ต้องการป้องกันอาณาเขตของตนเอง ในขณะที่บางกลุ่มก็คิดขยายอาณาเขตและหลายกลุ่มก็ยังสงวนท่าที โดยจุดยืนและท่าทีของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายเหล่านั้นสามารถแยกแยะเป็นกลุ่มได้ดังต่อไปนี้

1.กลุ่มที่อยู่แนวหน้า คือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (National Karen Union – KNU) และองค์คะฉิ่นอิสระ (Kachin Independent Organization) ที่ประกาศสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและให้การสนับสนุน พร้อมทั้งช่วยฝึกยุทธวิธีให้กองกำลังพิทักษ์ประชาชนตั้งแต่ต้น เพราะประชาชนในเขตยึดครองคือในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะฉิ่น ซึ่งเคยอยู่กันโดยสันติมาระยะหนึ่งในช่วงรัฐบาลเต็ง เส่งถึงรัฐบาลซูจีในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องการเห็นตัดมาดอว์ควบคุมประเทศอีกต่อไป จึงพากันเรียกร้องให้ต่อสู้กับกองทัพพม่าอีกครั้ง แต่ทั้งสองกลุ่มก็ยังไม่ได้เข้าร่วมสงครามเต็มตัว ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการตั้งรับอยู่ในที่ตั้งเมื่อตัดมาดอว์เป็นฝ่ายที่รุกเข้าไปในเขตยึดครอง เช่น การปะทะที่เลเกก่อในรัฐกะเหรี่ยงเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา[9]

2.กลุ่มที่ถูกบีบให้ต้องหวนคืนสู่การสู้รบอีกครั้ง คือคะยาและชิน ในกรณีของคะยาในรัฐคะยาทางตะวันออกของประเทศตรงกันข้ามกับแม่ฮ่องสอนของไทยนั้น ต้องพากันจับอาวุธต่อสู้อีกครั้ง เพราะโดนตัดมาดอว์เปิดฉากโจมตีทางอากาศในเดือนมิถุนายน[10] จึงรวมตัวกันใช้ชื่อว่า ‘กองกำลังป้องกันตนเองชนชาติคะยา’ (Karenni Nationalities Defense Force) ความจริงชาวคะยาก็เคยได้ต่อสู้กับตัดมาดอว์มาก่อนภายใต้การนำของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะยา (Karenni National Progressive Party – KNPP) และกองกำลังของกลุ่มนี้คือกองทัพคะยา (Karenni Army) แต่ก็ว่างเว้นจากการต่อสู้มานานมากแล้ว และชาวคะยาที่รวมตัวกันขึ้นมาใหม่เป็นกองกำลังป้องกันตนเองนั้นไม่มีอาวุธที่ทันสมัยจะต่อสู้กับตัดมาดอว์เลยด้วยซ้ำไป ส่วนใหญ่ก็หยิบฉวยปืนและเครื่องมือล่าสัตว์มาเป็นอาวุธ[11] และปฏิบัติการแยกเป็นอิสระจากกองทัพคะยา ไม่ได้อยู่ภายใต้การนำของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะยา โอกาสที่กองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติจะพึ่งพิงกำลังจากกลุ่มนี้คงจะลำบาก

แต่กลุ่มชินอาจจะต่างออกไป แนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front – CNF) กลุ่มติดอาวุธกลุ่มเล็กๆ ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐชินทางตอนเหนือของประเทศ เป็นกลุ่มแรกที่ประกาศร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน มีบทบาทสำคัญในการช่วยฝึกทหารของกองกำลังที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการรัฐประหารคือ กองกำลังป้องกันตนเองของดินแดนชิน (Chin Land Defense Force) เนื่องจากทั้งสองกลุ่มมีขนาดเล็กและอาวุธไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งจึงต้องกลายเป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ชินแบ่งพื้นที่กันดูแล โดย CNF ดูแลพื้นที่ด้านเหนือ ส่วนกลุ่มหลังดูแลทางด้านใต้ และพวกเขาอาศัยความจัดเจนในพื้นที่ในการต่อสู้ตัดมาดอว์[12] ถ้าตัดมาดอว์ไม่โหมโจมตีอาจจะพอรักษาฐานที่มั่นของตัวเองไว้ได้ แต่คงจะไม่ไปไกลถึงขั้นเป็นฝ่ายรุก

3.กลุ่มที่สงบชั่วคราวรอดูสถานการณ์ ได้แก่กองทัพอาระกัน แต่เดิมกลุ่มนี้เคยต่อสู้กับตัดมาดอว์ร่วมกับกองทัพคะฉิ่นอิสระในพื้นที่รัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือของประเทศเมื่อปี 2012 ต่อมาก็ร่วมมือกับกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army) ของกลุ่มโกกั้งต่อสู้กับตัดมาดอว์ในเขตรัฐฉาน ก่อนที่จะเปิดศึกด้วยตัวเองในรัฐยะไข่

กลุ่มนี้ไม่ได้เข้าร่วมสัญญาสงบศึกแห่งชาติสมัยเต็ง เส่ง แต่มีข่าวว่าแอบตกลงหยุดยิงกับตัดมาดอว์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ก่อนที่ทางตัดมาดอว์จะปลดกลุ่มนี้ออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้ายเป็นการแลกเปลี่ยน[13]

หลังการรัฐประหารกองทัพอาระกันดูเหมือนจะตั้งอยู่ในความสงบ ในขณะที่ชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เคลื่อนไหวหรือไม่ก็โดนโจมตีจากตัดมาดอว์อย่างหนักหน่วง อย่างไรก็ตาม กองทัพอาระกันยังคงรักษามิตรภาพกับกลุ่มพันธมิตรชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ต่อสู้กับตัดมาดอว์มาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Brotherhood Alliance และพันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliance) เป็นสมาชิกกรรมาธิการเจรจาและหารือสหพันธการเมือง (Federal Political Negotiation and Consultative Committee) อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มอื่นๆ ในภาคตะวันออกของประเทศไม่ว่าจะเป็นสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะยา สภาฟื้นฟูรัฐฉาน กองทัพอาระกันซึ่งอ้างว่าสะสมกำลังพลมาตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2009 ได้มากถึง 30,000 คน ถ้าหากต้องเปิดศึกกับตัดมาดอว์อีกครั้งก็นับว่าน่าเกรงขามไม่น้อย แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีความร่วมมือที่มีนัยสำคัญใดๆ กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ[14]

4.กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มมีท่าทีค่อนข้างคลุมเครือ ต่อกองกำลังพิทักษ์ประชาชนและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ในขณะที่ถือโอกาสช่วงสถานการณ์ชุลมุน ต่อสู้กันเองเพื่อปกป้องหรือขยายอาณาเขต กองกำลังชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army—UWSA) ที่เลื่องชื่อ และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตาอั้ง (Ta’ang National Liberation Army) ของชาวปะหล่องกำลังร่วมมือกับพรรครัฐฉานก้าวหน้า (Shan State Progress Party) ของชาวไทใหญ่ต่อสู้กับสภาฟื้นฟูรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State) ซึ่งก็เป็นไทใหญ่ เพื่อขยายอาณาเขตของพวกตน

สถานะล่าสุดกลุ่มตาอั้งสามารถประกาศชัยชนะยึดครองพื้นที่บางส่วนในรัฐฉานตอนเหนือและขับไล่สภาฟื้นฟูรัฐฉานให้ลงไปตั้งมั่นอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน[15] สภาฟื้นฟูรัฐฉานของเจ้ายอดศึกดูเหมือนจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่อย่างมาก เพราะถูกโจมตีจากหลายด้าน รายงานข่าวอีกแหล่งหนึ่งว่าเจ้ายอดศึกได้สูญเสียพื้นที่ยึดครองทางภาคเหนือของรัฐฉานไปหมดแล้ว[16]

5.กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์โกกั้ง ภายใต้การนำของกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่านั้นต่อสู้กับตัดมาดอว์อย่างรุนแรงในช่วงขวบปีที่ผ่านมา จนถึงสิ้นปีที่แล้วมีการปะทะกันมากถึง 126 ครั้งในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน[17] แต่ไม่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์หรือแสดงความสนใจจะร่วมมือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติซึ่งมีศัตรูร่วมกันแต่อย่างใด

         สรุป

มีเหตุผลหลายอย่างที่จะสนับสนุนว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธของประชาชนชาวพม่าในคราวนี้อาจจะไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลเท่าใดนัก

ประการแรก รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังพิทักษ์ประชาชนยังไม่มีทิศทางและยุทธศาสตร์ที่แจ่มชัดในการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อปลดปล่อยพม่าจากการครอบงำของตัดมาดอว์ แม้จะได้ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการพัฒนากองกำลังแบบจรยุทธให้เป็นกองทัพในแบบ แต่ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งบอกชัดเจนว่าจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร

การสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกองทัพหลัก (Conventional army) จากภายนอกนั้นจะมาจากไหนและอย่างไร เท่าที่ตรวจสอบข้อมูล แม้ว่าประเทศตะวันตกหลายประเทศเช่นสหรัฐฯ จะแสดงความสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติอยู่บ้าง แต่กองทัพจากประเทศเหล่านั้นคงไม่เลือกที่จะสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธหรือทุ่มเทงบประมาณเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ตรงกันข้าม จีนและรัสเซียหรือแม้แต่อินเดีย ยังให้การสนับสนุนทางอาวุธกับตัดมาดอว์อยู่ไม่ขาด

ประการที่สอง ในทางทฤษฎีแล้ว ยุทธศาสตร์การแสวงหาการสนับสนุนจากมวลชนและบ่อนเซาะความมั่นคงของตัดมาดอว์ ซึ่งแน่นอนว่าถูกเกลียดชังจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้ระบบของตัดมาดอว์พังจากข้างในนั้นอาจจะถูกต้อง แต่มันจะได้ผลก็ต่อเมื่อประสานสมทบกับการรุกคืบอย่างมีนัยสำคัญของกองกำลังจรยุทธ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังเร็วเกินไปที่กองกำลังพิทักษ์ประชาชนจะดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก การยึดครองพื้นที่เช่นในเขตสกายดังที่ได้กล่าวมาแล้วอาจจะเสี่ยงต่อการถูกตีโต้และทำลายได้ง่ายๆ เพราะกองกำลังพิทักษ์ประชาชนอาจจะป้องกันเมืองนั้นไม่ได้นานนัก

ประการที่สาม การแสวงหาความร่วมมือกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์และสร้างเอกภาพในการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพวกเขาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่า แม้จะมีศัตรูร่วมกันแต่เป้าหมายในการต่อสู้นั้นแตกต่างกันมาก กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีแนวคิดที่จะปลดปล่อยพม่าจากตัดมาดอว์ พวกเขาเพียงต้องการอำนาจในการปกครองตนเองในพื้นที่ยึดครองของพวกเขา หรือเป้าหมายสูงสุดของบางกลุ่มอาจจะต้องการหนีไปจากการปกครองของชาวพม่า (ไม่ว่าในรูปแบบใด) เพราะประวัติศาสตร์ได้บอกให้พวกเขารู้แล้วว่า พม่าก็คือพม่า ไม่ว่าจะสวมเครื่องแบบอะไร อองซาน ซูจี และพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ในสมัยเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้เห็นอกเห็นใจกลุ่มชาติพันธุ์สักเท่าใด จึงดูเป็นการเสแสร้งมากที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติจะแสดงการเอาอกเอาใจกลุ่มชาติพันธุ์ในเวลาที่ยากลำบากและต้องการความช่วยเหลือ

ตารางแสดงกำลังทหารของฝ่ายต่อต้านตัดมาดอว์กลุ่มสำคัญ

กองกำลังฐานที่มั่นจำนวน
กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force)ย่างกุ้ง, มัณฑะเลย์, พะโค, สกาย, มะกวยไม่มีข้อมูล
พรรคปลดปล่อยอาระกัน (The Arakan Liberation Party)รัฐยะไข่ตอนเหนือ100
แนวร่วมแห่งชาติชิน (The Chin National Front)ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐชิน2,000
กองกำลังป้องกันตนเองของดินแดนชิน (Chin Land Defense Force)ทางใต้ของรัฐชิน1,000
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Union)รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และ เขตตะนาวศรี5,000
สภาฟื้นฟูรัฐฉาน (The Restoration Council of Shan State)ตอนใต้ของรัฐฉาน8,000
กองทัพอาระกัน (Arakan Army)รัฐยะไข่2,000 (อ้างว่ามี 30,000)
กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง (Ta’ang National Liberation Army)ตอนเหนือของรัฐฉาน4,500
กองทัพพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (Myanmar National Democracy Alliance Army)เขตโกกั้งและตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน3,000
กองทัพแห่งสหรัฐว้า (United Wa State Army)เขตปกครองพิเศษว้า และตะวันออกของรัฐฉาน30,000
พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะยา (Karenni National Progressive Party)รัฐคะยา600
กองกำลังป้องกันตนเองชนชาติคะยา (Karenni Nationalities Defense Force)รัฐคะยาไม่มีข้อมูล

ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน


[1] “NUG forces carry out bomb attacks across Yangon on coup anniversary” Myanmar Now 2 February 2022 (https://www.myanmar-now.org/en/news/nugs-forces-carry-out-bomb-attacks-across-yangon-on-coup-anniversary)

[2] “At least 18 locals, including unarmed civilians, killed in Magway Region” Myanmar Now 13 September 2021 (https://www.myanmar-now.org/en/news/at-least-18-locals-including-unarmed-civilians-killed-in-magway-region)

[3] “NUG establishes ‘chain of command’ in fight against regime” Myanmar Now 28 October 2021 (https://www.myanmar-now.org/en/news/nug-establishes-chain-of-command-in-fight-against-regime)

[4] “Yangon resistance forces lead lethal attack on Dagon Seikkan police station” DVB 22 December 2021 (http://english.dvb.no/dagon-seikkan-pdf-attack/) และ “Yangon resistance fighters set up attacks on Myanmar junta” Irrawaddy 7 January 2022 (https://www.irrawaddy.com/news/burma/yangon-resistance-fighters-step-up-attacks-on-myanmar-junta.html)

[5] “PDF forms civilian administration in Sagaing Region” BNI 7 January 2022 (https://www.bnionline.net/en/news/pdf-forms-civilian-administration-sagaing-region)

[6] “Myanmar Junta security minister admits defeat across region” The Irrawaddy 25 January 2022 (https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-junta-security-minister-admits-defeat-across-region.html)

[7] Tin Htet Paing “Myanmar’s PDF in phase one of revolutionary war” Myanmar Now 29 January 2022 (https://www.myanmar-now.org/en/news/myanmars-pdfs-in-phase-one-of-revolutionary-war)

[8] Anthony Davis “China mobile missile on the loose in Myanmar” Asia Times 28 November 2019 (https://asiatimes.com/2019/11/chinas-mobile-missiles-on-the-loose-in-myanmar/)

[9] International Crisis Group “Myanmar’s coup shakes up its ethnic conflict” Asia Report no. 319 12 January 2022

[10] Emily Fishbien, Nu Nu Lusan and Zau Myet Awng “Village empty, civilian armed group rise in eastern Myanmar” Al Jazeera 7 June 2121 (https://www.aljazeera.com/news/2021/6/7/civilians-have-become-hostages-myanmars-kayah-state-faces-gro)

[11] Bertil Lintner “Military coup renews rebellions in Kayah and Chin States” The Irrawaddy 28 June 2021 (https://www.irrawaddy.com/opinion/guest-column/military-coup-renews-rebellions-in-myanmars-kayah-and-chin-states.html)

[12] Khin Ye Ye Zaw “Chin resistance forces brace for a major escalation of conflict” Myanmar Now 18 January 2022 (https://www.myanmar-now.org/en/news/chin-resistance-forces-brace-for-a-major-escalation-of-conflict)

[13] Myanmar military removes rebel Arakan Army from terrorist list 11 March 2021 (https://www.aljazeera.com/news/2021/3/11/myanmar-junta-removes-rakhine-rebels-from-terrorist-list)

[14] Bertil Lintner “Rebel yell: Arakan leader (Maj. General Twan Mrat Naing) speaks to Asia Times” Asia Times 18 January 2022 (https://asiatimes.com/2022/01/rebel-yell-arakan-army-leader-speaks-to-asia-times/)  

[15] “Rising dragon: TNLA declares victory in northern Shan” Frontier 4 February 2022 (https://www.frontiermyanmar.net/en/rising-dragon-tnla-declares-victory-in-northern-shan/?fbclid=IwAR02Ou77CIZGRhbgsKv7O5ElQvGOJW3pWFtJe56bZajomTy1Zt-2xr4RfxQ)

[16] “Myanmar’s most powerful ethnic armed group ready to fight rival” Irrawaddy 24 January 2022

[17] “Kokang armed group reports escalating fighting with Myanmar junta” Irrawaddy 2 December 2021 (https://www.irrawaddy.com/news/burma/kokang-armed-group-reports-escalating-fighting-with-myanmar-junta.html)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save