fbpx
72 ชั่วโมงก่อนการมีตัวตน: เมื่อเด็กหนึ่งคนเกิดในไทย

72 ชั่วโมงก่อนการมีตัวตน: เมื่อเด็กหนึ่งคนเกิดในไทย

รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์ เรื่องและภาพ

 

– 1 –

 

คุณเป็นอะไรกับเขา เป็นนายจ้างเขาเหรอ ไม่รู้จักแล้วมาช่วยทำไม คุณทำงานอะไร…”

สารพัดคำถามจากนายทะเบียนราษฎรที่ถาโถมเข้ามาระหว่างที่ฉันนั่งประจันหน้าอยู่ด้วย แต่ละคำถามทำให้นึกถึงวันที่ย่อตัวมุดกำแพงสังกะสีเข้าไปในบริเวณแคมป์คนงานก่อสร้างหลังรั้วใกล้สวนของพ่อที่ใช้น้ำบ่อเดียวกันมาร่วมปี

2-3 เดือนที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ต้องตกงานและกลับไปบ้านเกิดเพราะพิษไวรัสโควิด-19 จำนวนผู้เดือดร้อนเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด

ขณะที่คนงานก่อสร้างแถวบ้านฉันยังขายแรงงานกันปกติราวกับไวรัสร้ายไม่รู้จักพวกเขา-เข้าไม่ถึงพื้นที่แห่งนี้ ไม่มีใครต้องกักตัว เพราะไม่มีใครได้หยุดงาน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะมีชีวิตได้อย่างเสรี

เด็กน้อยวัยสองเดือนนอนดูดนมแม่อย่างสบายใจโดยไม่รู้ว่าคนรอบตัวเธอกำลังร้อนใจไม่ต่างไปจากความร้อนกลางเมษายนที่แผ่คลุมไปทั่วห้องพักสังกะสีแคบๆ ในแคมป์คนงาน แม้ว่าดวงอาทิตย์จะลับขอบหลังคาไซต์งานหมู่บ้านจัดสรรไปสักพักแล้วก็ตาม

ไม่ได้แจ้งเกิดค่ะ ที่โรงพยาบาลบอกว่าพ่อแม่เด็กไม่มีพาสปอร์ต” ฝน หญิงสาวชาวมอญที่อ่านเขียนภาษาไทยได้ อาสารับหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องแรงงานข้ามชาติในแคมป์คนงานก่อสร้างเล่าถึงสาเหตุที่ทารกน้อยยังไม่ได้รับการแจ้งเกิด

สักพักเดียว ชายหนุ่มหญิงสาวหุ้มห่อด้วยเสื้อผ้าแขนขายาวขาเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบสีและฝุ่นปูน กำลังแบกอุปกรณ์เครื่องมือก่อสร้าง กระติกน้ำ และพัดลม ทยอยเดินกลับที่พักเมื่อถึงเวลาเลิกงาน

สวนทางกับฉันที่กำลังแบกความหวังของครอบครัวแม่ลูกอ่อนชาวมอญออกจากแคมป์คนงาน เพราะไปตกปากรับคำว่าจะอาสาช่วยดำเนินการแจ้งเกิดให้เด็กคนนั้น

สิ่งแรกที่ฉันทำคือตั้งหลักแล้วปรึกษานักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

 

 

– 2 –

 

การมีเด็กข้ามชาติเกิดในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ละปีมีเด็กข้ามชาตินับพันคนได้ลืมตาดูโลกอยู่ในประเทศที่พ่อแม่ย้ายถิ่นฐานมาขายแรงงาน

แต่แม้เป็นปัญหาเก่า ก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่เคยถูกสะสาง เมื่อยังมีเด็กหลายคนตกหล่นเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเขาควรได้รับอย่างเรื่องการจดทะเบียนการเกิด

เมื่อพวกเขาถูกละเลยในการแจ้งเกิด ก็ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และเมื่อไม่มีเอกสารระบุตัวตน สิ่งที่ตามมาก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ สูงขึ้นไปด้วย

เบสท์ – บุษยาภา ศรีสมพงษ์ นักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ก่อตั้งเพจ SHero เพื่อยุติวัฒนธรรมความรุนแรงในครอบครัว และเป็นผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการจดทะเบียนการเกิดให้เด็กน้อยชาวมอญ เล่าว่าแต่ก่อนประเทศไทยโดนกดดันเรื่องปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติเยอะ รัฐไทยเลยผลักดันเรื่องสิทธิของคนไร้รัฐไร้สัญชาติโดยเจาะไปที่กลุ่มเด็กก่อน

“เด็กทุกคนที่เกิดในไทยต้องมีใบเกิด เด็กชายขอบต้องขอสัญชาติได้ถ้าอยู่ในเงื่อนไข และสามารถเข้าถึงการศึกษาได้

นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้จัดทำ คู่มือการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลแม่สอดเพื่อการจดทะเบียนการเกิด เมื่อปี 2561 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลแม่สอดและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการเคลื่อนย้ายถิ่น (International Organization for Migration – IOM) ด้วย

การมีเอกสารที่นอกจากระบุตัวตนได้แล้ว มันยังมาพร้อมกับสิทธิอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องสุขภาพ ถ้าสมมติพ่อแม่ที่มีบัตรประชาชน 089 หลักแรกเป็นเลข 0 หลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 89 ก็จะได้รับสิทธิ ท99 คือกองทุนสุขภาพของกลุ่มบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติหรือบุคคลที่มีปัญหาสถานะ เด็กที่เกิดมาก็จะได้รับสิทธิตามพ่อแม่ด้วย”

บุษยาภาบอกอีกว่า พอเด็กมีเอกสารระบุตัวตน เขาก็สามารถเข้าโรงเรียนได้ง่ายกว่าการไม่มีเอกสาร การมีเอกสารถือเป็นความปลอดภัย ความมั่นคงทั้งต่อตัวเขาเองและต่อสาธารณะด้วย เพราะหากว่าเกิดอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุขึ้นมา คนที่ระบุตัวตนไม่ได้จะสืบข้อเท็จจริงยาก

แม้ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)) ข้อ 24, อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child : CRC)) ข้อที่ 7, และอนุสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติโดยให้เด็กแรกเกิดทุกคนมีสิทธิการจดทะเบียน มีชื่อ และได้รับสัญชาติจากรัฐ

หรือในพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) .. 2562 ฉบับล่าสุดก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อ “…ให้นายทะเบียนสามารถดําเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอํานวยความเป็นธรรมและอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชนยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับการจัดการประชากรของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกในประชาคมอาเซียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกำหนดสิทธิในการยื่นคําร้องขอมีสัญชาติไทยของเด็กและบุคคลตามมาตรา ๑๙ มาตรา ๑๙/ ๑ มาตรา ๑๙/ ๓ และมาตรา ๓๗ ซึ่งจะเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็กที่ไร้รากเหง้าที่ไร้รัฐและไร้สัญชาติในประเทศไทยให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและหลักสิทธิมนุษยชน แล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังพบปัญหาของการเข้าถึงสิทธิในเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กข้ามชาติทั้งที่พ่อแม่มีเอกสารและไม่มีเอกสาร

หากดูสถิติจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย เดือนมีนาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,814,481 คน แบ่งเป็นแรงงาน 4 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนามถึง 2,551,246 คน (เทียบกับเดือนมกราคมก่อนที่จะมีแรงงานทยอยเดินทางกลับบ้านเกิดเนื่องจากใบอนุญาตทำงานใกล้หมดอายุและสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีจำนวน 2,990,777 คน แบ่งเป็นแรงงาน 4 สัญชาติถึง 2,715,474 คน) และตัวเลขนี้เป็นเพียงจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียนมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

องค์การยูนิเซฟประเทศไทยคาดการณ์ว่ายังมีอีกกว่า 1 ล้านคนที่ไม่ได้ลงทะเบียน และเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ติดตามหรือแม่และเด็กนั่นเอง

อาจนับได้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่เข้าถึงความคุ้มครองทางสุขภาพ การศึกษา และความคุ้มครองอื่นๆ ในระดับต่ำ เพราะไม่มีสถานะทางกฎหมาย โดยเฉพาะลูกหลานของแรงงานข้ามชาตินั้นอาจมีมากถึง 7-10% จากแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 4 ล้านคน และในจำนวนนั้นมีเด็กแรกเกิดเพียงประมาณ 540,000 คน ที่ได้รับการแจ้งเกิด นับตั้งแต่ปี 2551-2562

ชายแดนแม่สอดเป็นอีกเคสพื้นที่คลาสสิกของปัญหาการแจ้งเกิด บุษยาภาเล่าถึงปัญหาจากพื้นที่ดังกล่าวว่าสำหรับแรงงานข้ามชาติที่อยากจดทะเบียนเกิดให้กับบุตรหลานนั้นมี 3 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือภาษาและการสื่อสารที่ไม่เข้าใจ

“เริ่มตั้งแต่ไม่รู้ว่าต้องไปรับเอกสารที่ไหนยังไง หากได้เอกสารมาก็ไม่สามารถอ่านได้ ทำให้ไปแจ้งช้าเกินกำหนด และบางครั้งก็ถูกเจ้าหน้าที่ดุ เมื่อเจอแบบนี้บ่อยๆ เขาก็จะไม่อยากดำเนินเรื่องต่อ”

เรื่องที่สองคือความปลอดภัยในการเดินทาง บุษยาภาบอกว่าที่แม่สอดมีด่านตรวจเยอะมาก แรงงานบางคนมีเอกสารถูกต้องก็ยังถูกแสวงหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ ทำให้พวกเขากลัวการเดินทางไปไหนไกลๆ โดยเฉพาะการไปเทศบาลหรืออำเภอก็ยิ่งไม่กล้าไป

และเรื่องที่สามคือค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งการรักษาพยาบาลและค่าเดินทาง ประเด็นนี้เมื่อมีคลินิกกฎหมายฯ รวมถึงมีองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่คอยช่วยเหลือก็ทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าถึงสิทธิมากขึ้น  

ต่างกับพื้นที่ห่างไกลชายแดนและไม่ใช่จังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอาศัยอยู่เยอะอย่างหัวเมืองธุรกิจ ทำให้ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเล็กๆ ที่ยังคงมีแรงงานข้ามชาติหมุนเวียนเข้าออกบ้างอย่างเช่นที่เด็กหญิงชาวมอญเพิ่งถือกำเนิดขึ้นจึงอาจถูกละเลยไป

 

 

– 3

 

เมื่อโรงพยาบาลแจ้งว่าไม่สามารถไปทำเรื่องแจ้งเกิดได้ เพราะพ่อแม่เด็กไม่มีเอกสารอนุญาตเข้าเมืองถูกกฎหมาย ครอบครัวของมง-แรงงานข้ามชาติจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศเมียนมา เลยได้รับมาแต่สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กสีชมพู แต่ไม่ได้นำหนังสือรับรองการเกิดหรือใบทร. 1/1 ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญในการแจ้งเกิดเด็กกลับมาด้วย

ในกระบวนการนี้ ฉันจึงต้องกลับไปโรงพยาบาลใหม่เพื่อตั้งต้นนับหนึ่งอีกครั้งในการขอใบทร. 1/1

วันแรกที่ไปติดต่อกับโรงพยาบาลเพื่อนำใบคำร้องขอเอกสารกลับมาให้แม่ของเด็กเซ็นชื่อ ทางพยาบาลย้ำกับฉันว่าเอาหนังสือรับรองการเกิดไปก็แจ้งเกิดไม่ได้ ถ้าพ่อแม่เด็กไม่มีเอกสารถูกต้อง

วันที่สองเมื่อนำคำร้องไปยื่นขอการตั้งชื่อเด็กเป็นภาษาไทยที่ไม่ขัดกับระเบียบการตั้งชื่อใดๆ ก็ดูเป็นปัญหาหยุมหยิมเพียงเหตุผลว่าเด็กไม่ใช่คนไทย จะตั้งชื่อเป็นภาษาไทยไม่ได้

แต่เมื่อฉันเช็ค คู่มือการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลแม่สอดเพื่อการจดทะเบียนเกิด อย่างถี่ถ้วนแล้วพบว่าทำได้ ไม่มีข้อห้ามใดในการใช้ชื่อเป็นภาษาไทย จึงได้ยืนยันกลับไปตามเจตนารมณ์เดิม แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่จะเตือนว่า “เดี๋ยวก็ต้องกลับมาแก้ชื่อใหม่อยู่ดี เพราะทางเทศบาลไม่ให้ใช้ชื่อภาษาไทย”

ในใจฉันได้แต่ภาวนาว่า “ไม่กลับมาแล้ว”

 

 

– 4

 

มีเวลาตั้งนานก่อนจะคลอด ทำไมไม่ไปทำบัตรให้ถูกต้องก่อน กฎหมายบอกว่าทำได้ แต่คีย์ข้อมูลให้ไม่ได้ ไปทำบัตรให้ถูกต้องก่อนดีกว่านะ แล้วค่อยมาแจ้ง ตม.ก็มาตั้งสำนักงานที่นี่แล้ว อ้างไม่ได้แล้วนะว่าอยู่ไกล” นายทะเบียนราษฎรบอกกับฉันในแรกพบ หลังจากฉันพยายามยื่นแจ้งเกิดให้ครอบครัวชาวมอญ

ทั้งๆ ที่มีระเบียบเรื่องการแจ้งเกิดตามหนังสือของสำนักทะเบียนกลางบอกชัดเจนว่านายทะเบียนผู้รับแจ้งสามารถรับแจ้งการเกิดและการออกสูติบัตรให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในราชอาณาจักรไม่ว่าบิดามารดาของเด็กที่เกิดจะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือเป็นคนหลบหนีเข้าเมือง

แม้จะใช้เวลาเทียวไปมาระหว่างโรงพยาบาล เทศบาล และแคมป์คนงานอยู่หลายวัน ผ่านการปรึกษานักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาแล้วหลายครั้ง

และถึงจะเตรียมเอกสารทุกอย่างพร้อม แต่การดำเนินเรื่องแจ้งเกิดก็ยังมีอุปสรรค

วันที่ฉันเข้าไปคุยเรื่องการใส่ชื่อเด็กลงในทะเบียนบ้านกลางตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฉบับล่าสุด นายทะเบียนก็ยังพยายามให้ฉันไปขอเอกสารจากนายจ้างของพ่อแม่เด็ก เพื่อเอาชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านของนายจ้างตามระเบียบฉบับเดิมแทน

ประเด็นนี้ บุษยาภาบอกว่าแม้จะมีการปรับกฎหมายใหม่ให้ง่ายขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่ง่าย

“แม้กฎหมายใหม่จะให้เห็นแก่ประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ แต่ระบบการคีย์ข้อมูลในไทยยังเป็นปัญหามาก ที่ควรเปลี่ยนคือซอฟต์แวร์ มีตัวเลือกให้กรอกมากขึ้น สมมติพ่อแม่เด็กเป็นแรงงานที่จดทะเบียนกับนายจ้าง ชื่อเขาก็จะไปอยู่ในทะเบียนบ้านนายจ้าง ถ้าเป็นแต่ก่อน เจ้าบ้านต้องยินยอมด้วย ข้อท้าทายคือนายจ้างบางคนไม่ให้ความร่วมมือ ถ้านายจ้างไม่อยากให้เอาชื่อเด็กเข้าบ้าน ก็ต้องเข้าส่วนกลางได้

ตอนที่ฉันถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้ชื่อภาษาไทยในการแจ้งเกิด ตามที่พยาบาลได้เตือนไว้ล่วงหน้า นายทะเบียนก็อ้างว่าจะมีความยุ่งยากในการข้ามแดน

ตามกฎหมายสามารถทำได้ไม่ใช่เหรอคะ ฉันพยายามหยิบยกกฎหมายมาชี้แจงเหตุผล เพื่อที่จะได้ไม่ต้องย้อนกลับไปโรงพยาบาลอีก เราเจรจากันอยู่นานกว่านายทะเบียนจะหันกลับไปคีย์ข้อมูลให้

 

 

– 5

 

คุณเป็นอะไรกับเขา เป็นนายจ้างเขาเหรอ

เปล่าค่ะ ไม่รู้จักกัน

อ้าว ไม่รู้จักแล้วมาช่วยเขาทำไม คุณทำงานอะไร

สารพัดคำถามที่ถาโถมเข้ามาระหว่างนั่งประจันหน้ากับนายทะเบียนราษฎร สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เด็กแรกเกิดจะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ไม่ได้มีข้อจำกัดเพียงแค่เรื่องค่าใช้จ่าย กำแพงภาษา และความเข้าใจทางกฎหมาย

กว่าสองชั่วโมงการพูดคุยกับนายทะเบียนในวันที่สาม เรายังต้องเจออุปสรรคของระบบการทำงานของราชการ การประสานงานระหว่างหน่วยงาน และความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้วย

“ทำไมการได้สูติบัตรสักใบ สำหรับลูกแรงงานข้ามชาติถึงไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย” ความรู้สึกแรกของฉันวาบขึ้นมา ก่อนเปลี่ยนเป็นความดีใจเมื่อเด็กน้อยของครอบครัวชาวมอญได้แจ้งเกิดมีตัวตนสำเร็จ

คงไม่ต่างกันกับความรู้สึกของโซ-พ่อของเด็ก ที่รับใบเกิดของลูกไปพร้อมรอยยิ้มปิติขณะมองไปยังภาพถ่ายของภรรยาและลูกที่รอฟังข่าวดีอยู่ในแคมป์คนงาน

พ้นไปจากสูติบัตรที่พวกเขาได้รับแล้ว ฉันคิดถึงคำที่บุษยาภาบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชายขอบ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนกฎหมายแล้วจะจบ แต่ต้องล้างทั้งระบบ จะทำยังไงให้เจ้าหน้าที่เลิกมองคนกลุ่มนี้เหมือนเป็นปรสิต และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ไม่รู้จักแล้วมาช่วยเขาทำไม?

72 ชั่วโมงที่ผ่านมาอาจไม่ใช่คำตอบ วันเวลาที่เหลือจากนี้ต่างหาก

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save