fbpx

เด็กไม่ใช่อนาคต แต่เด็กคือปัจจุบัน: พาสังคมก้าวพ้นชราธิปไตยผ่านจินตนาการพลเมือง

‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ ประโยคที่ทุกคนต่างถูกผู้ใหญ่กรอกหูแต่เด็ก

คำว่า ‘อนาคต’ นี่แหละที่ทำให้หลายครั้งเยาวชนออกมาสะท้อนความคิดของพวกเขา เพื่อหวังว่าอนาคตที่พวกเขาเป็นเจ้าของจะเป็นไปดั่งที่พวกเขาจินตนาการ ในใจลึกๆ หวังว่าผู้ใหญ่จะเข้าใจและรับฟังเขาอย่างที่บอกว่าพวกเขาคือ ‘อนาคต’

แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเยาวชนออกมาเรียกร้องด้วยสันติวิธี สิ่งที่พวกเขาได้รับกลับเป็น ‘การไม่รับฟัง’ , ‘การมองว่าไร้สาระ’ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใหญ่ยังเลือกใช้ ‘การกดปราบด้วยความรุนแรง’ สภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดแค่สังคมไทย แต่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้เยาวชนต่างสิ้นหวังในระบอบการเมืองและอนาคตของประเทศ หลายคนจึงต้องการ ‘ย้ายประเทศ’ เพื่อไปหาดินแดนที่โอกาสและความฝันของพวกเขาจะได้เบ่งบาน

นับเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราอาจจะเสียมันสมองแห่งอนาคตไปบ้าง แต่สภาวะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะทุกวันนี้ระบอบการเมืองของประเทศไทยราวกับเป็นระบอบ ‘ชราธิปไตย – ของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่’ ภายใต้ระบอบนี้เยาวชนไม่สามารถมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายและสังคมแห่งอนาคต ว่าพวกเขาอยากเห็นประเทศนี้เดินไปในทิศทางไหน หากผู้ใหญ่มองว่าเด็กคืออนาคตของชาติ คำถามคือนโยบายในปัจจุบันสอดคล้องกับอนาคตที่พวกเขาต้องการและเป็นเจ้าของจริงหรือ?

หนึ่งในเยาวชนอย่าง เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 ที่ออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตของเขา แต่ถูกรัฐไทยใช้ความรุนแรงกดปราบและนิติสงครามในการกดกั้นความคิด ชวนมองนัยยะของประโยค ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ ว่าเด็กต้องแบกความคาดหวังของสังคม ต้องเป็นอนาคตของอะไรสักอย่าง แต่ผู้ใหญ่มักมองว่าเป็นอนาคตที่ ‘รอได้’ แปลว่าหากเยาวชนพูดตอนนี้ยังไม่ต้องฟังได้ เพราะเสียงเยาวชนคือเสียงที่ต้องรอให้วันเวลาอันเหมาะสมมาถึงเสียก่อน

ในความจริงแล้ว เด็กไม่ได้เป็นเพียงเสียงของอนาคตที่ต้องรอให้มาถึงแล้วจึงฟังพวกเขา แต่เด็กเป็นเสียงแห่งปัจจุบันด้วย ดังนั้นการรับฟังเสียงของเยาวชนจึงเป็นประเด็นที่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยควรสนใจ  

แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่? – ที่ผู้ใหญ่จะเปิดหูและเปิดใจรับฟังความคิดของเยาวชน มอบโอกาสพวกเขาสำหรับการออกแบบนโยบายเพื่ออนาคตของประเทศ…

ในห้วงยามที่เยาวชนบางส่วนไม่สามารถจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่านี้ได้ แนวคิดหนึ่งจึงเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือฟื้นฟูความหวังของเยาวชนว่า ‘พวกเขาสามารถจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่าโดยไม่ยึดติดกับความจริง’ นั่นคือแนวคิด ‘จินตนาการพลเมือง’ (Civic Imagination) 

‘จินตนาการพลเมือง’ คือจินตนาการอันไร้ขอบเขต

แนวคิดจินตนาการพลเมือง (Civic Imagination) ได้รับการศึกษา พัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้ภายใต้โครงการ Civic Imagination Project ณ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California – USC) โดย Henry Jenkins (นักวิชาการด้านการมีส่วนร่วมเชิงวัฒนธรรม) และกลุ่ม Civic Paths (การรวมตัวของนักวิชาการ ศิลปิน และนักเคลื่อนไหวทางสังคม) แนวคิดนี้ถือกำเนิดท่ามกลางบริบทของการเมืองสหรัฐอเมริกาที่แตกเป็นสองขั้วและสร้างความสิ้นหวังแก่ประชาชนอย่างมาก พวกเขาจึงพยายามคิดค้นเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสร้างทางออกใหม่ๆ ผ่านการหยิบยกเครื่องมือที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ไม่เป็นการเมือง โดยแนวคิด Civic Imagination เลือกใช้วัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) เข้ามาเป็นตัวประสานระหว่างจินตนาการกับการเมือง เพื่อสร้างบทสนทนาถึงอนาคตที่พาสังคมหลุดออกจากหล่มไร้หวังนี้ ทั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการเชื่อว่า จินตนาการพลเมืองจะช่วยฟื้นฟูความหวังและต่อเติมจินตนาการอนาคตของผู้คนได้ แม้จินตนาการพลเมือง หรือ Civic Imagination จะเป็นเพียงเครื่องมือในการศึกษาวิจัย แต่ลักษณะสำคัญที่การศึกษานี้ต้องการ คือ ‘การเวิร์คชอป’ ที่มีรูปแบบหลากหลาย และเพื่อจุดประกายจินตนาการให้พลเมืองผ่านวัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) 

กระบวนการสำคัญ คือการให้ผู้เข้าร่วมสามารถจินตนาการถึงอนาคตโดยไร้ข้อจำกัด อาจจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝันและไร้สาระราวกับพาผู้เข้าร่วมนี้หลีกหนีจากโลกอันสิ้นหวังนี้ แต่จินตนาการพลเมืองเปิดโอกาสให้ผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งที่มาและประสบการณ์ได้มาแลกเปลี่ยนและก่อรูปจินตนาการถึงอนาคตที่ปรารถนาร่วมกัน อีกทั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่ออำนวยให้เกิดการพูดคุยถึงจินตนาการและความหวัง

แม้บริบทการก่อรูปแนวคิดดังกล่าวจะเกิดท่ามกลางการเมืองสหรัฐอเมริกา  แต่สังคมและการเมืองไทยต่างมีจุดร่วมสำคัญคือ ‘ความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่’ ราวกับเป็นบรรยากาศร่วมสำคัญของยุคสมัย จึงน่าสนใจหากนำมาสำรวจถึงหน้าตาของสังคมที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยต้องการว่าจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) จึงได้หยิบยกแนวคิดดังกล่าวมาทดลองใช้กับเยาวชนไทย ผ่านโครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (Thai Youth Civic Imagination Project)

จินตนาการพลเมืองกับสังคมไทย

คือการจินตนาการไร้ขอบที่มีกรอบ

สรัช สินธุประมา หนึ่งในนักวิจัยโครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (Thai Youth Civic Imagination Project) ชวนมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่า พวกเรากำลังอยู่ในสภาวะสิ้นหวัง ทั้งจากการลุกขึ้นมาของเยาวชนหลายมุมโลกทั้งฮ่องกง พม่า อิหร่าน กระทั่งไทย นั้นแทบไม่สัมฤทธิ์ผล กล่าวคือคนรุ่นใหม่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมิติอำนาจหรือสถาบันการเมืองได้ การนำเครื่องมืออย่างจินตนาการพลเมืองเข้ามาปรับใช้นั้น ในมุมหนึ่งคือความพยายามทำให้เยาวชนไม่ต้องติดหล่มเงื่อนไขที่พวกเขาทำไม่ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือการใช้กลไกทางการเมือง แต่เริ่มต้นแลกเปลี่ยนจากอะไรที่เป็นไปไม่ได้ก่อน หลังจากนั้นจึงต่อยอดว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

ทั้งนี้ สรัชคิดว่าจินตนาการพลเมืองจะสร้างความหวังให้กับเยาวชน เพราะหากเราติดอยู่ในความเป็นจริง เยาวชนก็จะไม่มีความหวังอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้คำตอบที่ได้จากการเวิร์กชอปอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจน แต่จะทำให้ความหวังของเยาวชนเดินต่อไปได้

จินตนาการพลเมืองเป็นเครื่องมือที่ชวนเยาวชนมาใช้จินตนาการร่วมกัน และเห็นว่าการจินตนาการถึงอนาคตไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มิติของความเป็นพลเมืองนั้นคือจินตนาการของทุกคนสามารถมารวมกันได้ ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต่างมาจากหลายส่วนทั่วประเทศ ย่อมหมายถึงมาจากคนละภูมิภาค คนละสังคม คนละวัฒนธรรม แต่ใช่ว่าทุกคนจะไม่มีจุดร่วมกันเลย พวกเขาเสพวัฒนธรรมนิยม (pop culture) เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ ที่เยาวชนทั่วโลกเสพ นอกจากนี้ในปัจจุบัน ผู้เสพสื่อบันเทิงเหล่านี้ยังมีวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (participatory culture) หรือมีการรวมตัวเป็นแฟนคลับอีกด้วย

เมื่อก่อนผู้คนอาจจะรวมตัวเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน หรือมีลักษณะองค์กรทางสังคมร่วมกัน แต่ทุกวันนี้ เราเกิดการรวมตัวกันเพราะชอบภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ติดตามศิลปินคนเดียวกัน การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่นำมาใช้หรือผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ดังนั้นวัฒนธรรมนิยมจึงมีศักยภาพสูงมากในการรวมกลุ่มคน ผู้วิจัยจึงหยิบเครื่องมือดังกล่าวมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในโครงการสำหรับเยาวชน

โครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (Thai Youth Civic Imagination Project) เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งนำเวิร์กชอปจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับเยาวชนไทยหลากหลายกลุ่ม ผ่านการชวนให้เยาวชนคิดถึงประเทศไทยในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยให้คิดถึงสิ่งที่อยากให้เป็น และโลกที่อยากเห็น ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ สรัชเล่าว่า แม้ผู้วิจัยบอกเยาวชนว่าพวกเขาสามารถจินตนาการโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงเลย แต่พวกเขาก็ไม่สามารถหลุดไปจากโลกแห่งความจริงได้อย่างสิ้นเชิง เพราะต่างมีประเด็นที่ติดค้างอยู่ในใจพวกเขาอยู่ หากสรุปง่ายๆ คือเยาวชนส่วนใหญ่นั้นอยากเห็นโลกที่ ‘คนเท่ากัน’ ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทั้งหมดนี้คิดจากโลกที่พวกเขาเจอทั้งสิ้น 

นอกจากนี้ สรัชยังเล่าว่าอนาคตของเยาวชนนั้นต่างมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับพื้นเพของเยาวชนที่เข้าร่วม เช่น กลุ่มเด็กในเมืองกับเด็กในต่างจังหวัดมีอนาคตที่พวกเขาสร้างไม่เหมือนกัน สำหรับเด็กในเมือง หากพูดถึงอนาคต สิ่งที่พวกเขาเห็นคือโลกแห่งอนาคต แต่เด็กต่างจังหวัด อนาคตของพวกเขาเพียงต้องการขนส่งสาธารณะ เพราะที่ผ่านมาปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ ย่อมส่งผลต่อการกำหนดทัศนียภาพอนาคตของเยาวชน สำหรับเด็กเมือง อนาคตของพวกเขาคือโลกแห่งแฟนตาซี แต่สำหรับคนต่างจังหวัดนั้น การมีขนส่งมวลชนก็นับว่าเป็นเรื่องแฟนตาซีมากที่สุดแล้วอย่างหนึ่ง

สุดท้ายแล้วกิจกรรมลักษณะดังกล่าวสามารถสร้างกระบวนการการมีส่วนรวมของเยาวชน กล่าวคือเพียงทุกคนมีตัวละครของตนเองและสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโลกนี้ตามที่จินตนาการได้ จากเดิมที่ไม่มีช่องทางในโลกความเป็นจริงจนอาจทำให้เยาวชนไม่รู้สึกศรัทธาหรือมีความหวังในกระบวนการทางการเมือง

จินตนาการเยาวชนไทย

คือการเอาชนะเผด็จการความเป็นไปได้

‘Doraemon in the Multiverse’

ประเทศไทย พ.ศ. 2615 เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีการขนส่งทางอากาศที่ทัน สมัย สะดวกสบาย และไม่ก่อมลภาวะ แต่ลอร์ด เวเดอร์ (จาก Star Wars) จอมเผด็จการได้สั่งห้ามไม่ให้คนทั่วไปใช้งานมีแต่คนรวยและทหารเท่านั้นที่ใช้ยานเหล่านี้ได้ สองฮีโร่จากต่างโลกคือ ดร.สเตรนจ์ และโดราเอมอน จึงได้เปิดประตูมิติมาช่วยเหลือคนไทย เปิดฉากต่อสู้กับลอร์ด เวเดอร์จนได้ชัยชนะ ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ทำใหทุกคนสามารถเข้าถึงอากาศยานได้ และนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมไทย

‘Doraemon in the Multiverse’ – คือหนึ่งในเรื่องเล่าของเยาวชนในโครงการ หลายคนอาจจะมองว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแต่งเรื่องของเด็กที่ไร้สาระ และเป็นไปไม่ได้

สิ่งน่าสนใจคือภายในงานวิจัยชิ้นนี้ได้เสนอคำว่า ‘เผด็จการความเป็นไปได้’ (the tyranny of the possible) หมายถึง เสียงภายในตัวเราที่จำกัดความสามารถในการสร้างจินตนาการแห่งอนาคต เพราะติดอยู่กับความเป็นไปได้ บนเงื่อนไขและสถานการณ์ที่พบเจอ เผด็จการความเป็นไปได้นี้เองเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้ผู้คนมองไปยังอนาคตและพูดว่า ‘อะไรก็เป็นไปได้’ 

อาจกล่าวได้ว่าเผด็จการความเป็นไปได้นั้นเป็นเผด็จการที่น่ากลัวที่สุด เพราะมันเข้าไปทำงานถึงระดับความคิดจนเราไม่สามารถสร้างจินตนาการหรือทางออกใหม่ๆ ได้เลย

แต่จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่เยาวชนมาร่วมกันออกแบบมีความพยายามจะเอาชนะเผด็จการความเป็นไปได้ และสะท้อนความคับแค้นใจของเขา ทั้งเรื่องของการคมนาคมที่มีปัญหา ปัญหาการเมืองที่เราตกอยู่ในระบอบอำนาจนิยม และการปฎิรูปกองทัพ ผ่านวัฒนธรรมนิยมอย่างลอร์ด เวเดอร์ ดร.สเตรนจ์ และโดราเอมอน

จินตนาการพลเมืองจึงนับเป็นกระบวนการทำงานเชิงพลเมืองที่วิเศษยิ่ง ในแง่หนึ่ง การมาร่วมกันออกแบบเรื่องราวในโครงการนี้ ยังสะท้อนให้เยาวชนเห็นถึงการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งอยู่เสมอ สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือการหาวิธีจัดสรรทรัพยากรให้ผู้ร่วมสังคมนั้นพอใจกันทุกคน และสามารถตอบโจทย์กับปัญหาในปัจจุบันได้ โครงการนี้ทำให้เราเห็นว่า คนรุ่นใหม่มีความสนใจแทบทุกเรื่องทั้งมิติของสาธารณสุข การขนส่งมวลชน ความเท่าเทียมการศึกษา

พวกเขาล้วนแต่มีความปรารถนาที่อยากจะเห็นสังคมที่ดีขึ้น และอาจจะตรงข้ามกับที่ทุกคนมองว่าพวกเขาสิ้นหวัง – เปล่าเลย พวกเขายังมีความหวัง และมีเยอะมาก มากพอที่จะร่วมกันออกแบบสังคมในอนาคตที่เต็มไปด้วยเรื่องความท้าทายใหม่ๆ ร่วมกันหาทางออกใหม่ที่ไม่เคยมีใครจินตนาการถึง

แต่ก่อนอื่นใด ขอทุกคนจงฟังเสียงพวกเขาอย่างเปิดรับและเปิดใจ

หมายเหตุ – ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save