fbpx

เมื่อรัฐไม่ลงทุน ประชาชนต้องลงแรง : ดาต้าภาคประชาชนยุคโควิด

วิกฤตการณ์ขนาดใหญ่อย่างโควิด-19 นอกจากจะพลิกชีวิตคนจำนวนมากแล้ว ยังพลิกให้เห็นปัญหามากมายที่ถูกซ่อนอยู่ใต้ฉากหน้าที่ว่า ‘พร้อม’ ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการรวมศูนย์แต่ไร้ประสิทธิภาพ โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปราะบาง ความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก และระบบการเมืองที่อ่อนแอ 

กระทั่งในระบบสาธารณสุขไทยที่นับว่าแข็งแกร่ง จนเป็นกรณีศึกษาให้หลายประเทศทั่วโลก เมื่อเจอวิกฤตใหญ่เช่นนี้ ก็เผยความเปราะบาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศเรา ‘ขาด’ โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรจำเป็นอะไรบ้าง อาทิ เตียงโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ วัคซีนที่เพียงพอ หรือผู้นำที่มีความสามารถ (ซึ่งคงไม่ต้องรอให้โควิดมาบอก)

นอกจากสิ่งที่จำต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน เราอาจจะกำลังขาดทรัพยากรสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากในการรับมือกับวิกฤต นั่นก็คือ ‘ข้อมูล’ ที่ไม่ใช่ ‘ข้อมูลที่ดีเพราะว่ามี’ แต่ต้องเป็นข้อมูลที่ทันเวลา มีคุณภาพ เปิดสู่สาธารณะ แยกย่อย และพร้อมใช้งานได้จริง [1]

ดาต้าที่ดี คือดาต้าที่มี?

ไฮไลต์ของการแถลงข่าวโดยศบค.ที่คนส่วนใหญ่จับตาดูทุกวัน คงหนีไม่พ้นการอัพเดทตัวเลขรายงานสถานการณ์โควิด-19 ทั้งยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยอดผู้ป่วยสะสม ยอดผู้เสียชีวิต ยอดการฉีดวัคซีน และอีกหลายๆ ยอด ไม่ว่าตัวเลขจะดีจะร้ายอย่างไร อย่างน้อยเราก็อาจรู้สึกอุ่นใจว่า รัฐไทยติดตามสถานการณ์ได้ดีระดับหนึ่ง จนอาจเผลอคิดไปว่า ‘ข้อมูลที่ดีคือข้อมูลที่มี’ แต่ด้วยการทำงานที่เกี่ยวข้องอยู่กับการสื่อสารข้อมูล ผู้เขียนจึงมีโอกาสร่วมงานกับสำนักข่าวแห่งหนึ่งในการติดตามข้อมูลการฉีดวัคซีนของไทยรายวันตั้งแต่เริ่มฉีดเข็มแรก จึงได้พบว่า ข้อมูลที่มี…ไม่ได้ดีกับเราเสมอไป

ผู้เขียนและทีมบรรณาธิการช่วยกันติดต่อขอข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำตอบที่ได้กลับมาจากเจ้าหน้าที่ ช้าบ้างเร็วบ้าง คือ “มีค่ะ/ครับ” พร้อมกับกรุณาส่งไฟล์ภาพ (.jpeg) สรุปยอดตัวเลขแบบที่เราเห็นกันตามโซเชียลมีเดียมาให้บ้าง หรือกรุณาส่งไฟล์พรีเซนเทชั่น (.pdf) ของศบค.มาให้ทุกวันบ้าง อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณอย่างยิ่ง หากแต่ แม้จะ ‘มี’ ข้อมูล แต่อยู่ในรูปแบบเอาไปใช้งานต่อได้ลำบากเหลือเกิน ถ้าจะเอาไปคำนวณต่อก็ต้องกรอกข้อมูลเหล่านี้ลงสเปรดชีทเอาเอง 

เมื่อถามหาข้อมูลแบบที่เครื่อง (คอมพิวเตอร์) อ่านได้ (machine readable data) คำตอบที่ได้รับชวนให้ท้อแท้ว่า “พี่ก็ได้ข้อมูลจากต้นทางมาแบบนี้แหละ” (แปลว่าเวลาจะใช้งาน ทุกคนก็ต้องเอาไปกรอกมือกันเองทุกวันสินะ) ส่วนแดชบอร์ดและฐานข้อมูล API ที่ศบค.เคยแถลงให้ดีใจเล่นว่ามี ก็ปิดไว้ให้เข้าถึงเฉพาะภายในเท่านั้น ด้วยความใจร้อนของทีมงานที่รอการตอบรับการขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการไม่ไหว จึงจนใจนั่งกรอกข้อมูลกันเอง แต่แล้วก็เจอปัญหาตามมามากมาย เช่น ข้อมูลไม่ตรงกัน ข้อมูลมีไม่ครบ หรืออยู่ๆ ดีก็เปลี่ยนหัวข้อการรายงานไปจนทำให้ข้อมูลไม่ต่อเนื่องบ้าง

ในระหว่างที่จัดการข้อมูลเปิดแบบครึ่งๆ กลางๆ และไม่ได้คิดเผื่อให้ใครเอาไปใช้ต่อนี้ ผู้เขียนก็ได้แต่ภาวนาว่า ‘ท่านๆ ทั้งหลาย’ ที่ต้องใช้ข้อมูลตัดสินใจเรื่องสำคัญทางนโยบาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของคนทั้งประเทศ จะไม่ต้องเจอสถานการณ์เช่นนี้ และที่ต้องภาวนาให้หนักกว่าคือ หวังว่ารัฐไทยจะรู้ตัวและไม่หลอกตัวเองว่าเรามีข้อมูลที่ ‘พร้อม’ แล้ว 

รู้ตัวช้า…ว่าดาต้าไม่พร้อม

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ไม่ใช่แค่รัฐไทยเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะ ‘รู้ตัวช้า’ ว่าดาต้าไม่พร้อม ซึ่งสะท้อนปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของประเทศที่มักถูกละเลย ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลมากกว่าเรา

ในสหรัฐอเมริกา ช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 (มี.ค. – พ.ค. 2020) รัฐบาลกลางไม่มีข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อรวมของประเทศอย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละมลรัฐแยกกันเก็บข้อมูลตามยถากรรม ซึ่งใช้วิธีการและรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่ต้องเก็บใหม่แบบนี้เท่านั้น ข้อมูลพื้นฐานด้านสาธารณสุขบางอย่างก็ไม่มีเหมือนกัน อเล็กซิส ซี. เมดริเกิล นักข่าว The Atlantic เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ในช่วงต้นของวิกฤต แม้กระทั่งข้อมูลว่าในประเทศมีโรงพยาบาลทั้งหมดกี่แห่ง ยังหาไม่ได้เลย” [2]

ในสหราชอาณาจักร ข้อมูลอาจมี แต่กลับหายไปเฉยๆ เพราะความผิดพลาดในการจัดการข้อมูล ย้อนกลับไปต้นเดือน ต.ค. 2020 ข้อมูลของผู้ยืนยันติดเชื้อโควิดกว่า 16,000 ราย หายไปจากฐานข้อมูลรัฐ เพียงเพราะเจ้าหน้าที่ดันไปใช้โปรแกรม Mirosoft Excel เวอร์ชั่นเก่า ทำให้แถวข้อมูลไม่พอรองรับเคส! [3] ข้อมูลที่หายไปไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มีนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่านี่เป็นเรื่องบาดตายได้เลยทีเดียว เพราะทำให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนเรื่องการติดเชื้อตามที่ควรเป็น โดยคาดว่าอาจหมายถึงยอดการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นกว่า 125,000 ราย และผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 ราย [4]

เหตุการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นความไม่สมบูรณ์ของทั้งข้อมูลและการจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะที่ไหน แต่วิกฤตคือช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ วิกฤตโควิด-19 เร่งเร้าให้เราต้องแก้ปัญหาอย่างฉับไว ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือการลุกขึ้นมาจัดการดาต้าโดยภาคประชาชน เพื่อแก้อาการรู้ตัวช้าแล้วยังจะขยับช้าของรัฐ

ผู้เขียนขอหยิบตัวอย่าง ‘ดาต้าโดยภาคประชาชน’ ที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง ตัวอย่างเหล่านี้คือความสงสัยใคร่รู้และอดรนทนไม่ได้ของประชาชน ที่ระเบิดออกมาเป็นการร่วมกันลงแรงทำ ตอบโจทย์ความจำเป็นยามวิกฤตได้รวดเร็ว ช่วยตรวจสอบภาครัฐ และบางครั้งก็เป็นบันไดก้าวแรกให้รัฐนำไปพัฒนาต่อได้ด้วยซ้ำ

The Covid Tracking Project – สหรัฐอเมริกา

กลางดึกของคืนวันที่ 4 มี.ค. 2020 โรบินสัน เมเยอร์ และ อเล็กซิส ซี. เมดริเกิล สองนักข่าวจาก The Atlantic ริเริ่มโปรเจกต์ The Covid Tracking (covidtracking.com) ขึ้นด้วยการส่งอีเมล์ไปหาเจ้าหน้าที่ทุกมลรัฐในสหรัฐฯ เพื่อถามคำถามแสนธรรมดาว่า “ที่รัฐของคุณมีคนได้รับการตรวจเชื้อไปแล้วเท่าไหร่”  

ในตอนนั้น ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ ยังต่ำมาก ประมาณ 150 รายเท่านั้น (มีผู้เสียชีวิต 11 ราย) ประชาชนกำลังเริ่มสนใจติตามสถานการณ์ แต่แล้วอยู่ๆ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) กลับหยุดรายงานตัวเลขการตรวจเชื้อไปซะเฉยๆ ผ่านไปหลายวันข้อมูลก็ยังไม่มา เมเยอร์และเมดริเกิลจึงไม่ทน 

The Covid Tracking ได้สำนักข่าว The Atlantic เป็นเจ้าภาพ โดยโปรเจกต์นี้เปิดรับอาสาสมัครจากทั่วประเทศ และได้อาสาสมัครหลากหลายมาก ทั้งโปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล บรรณารักษ์ นักเรียนม.ปลาย หรืออดีตผู้จัดการโรงแรม รวมกันเกือบ 300 คน มาช่วยกันรวบรวมข้อมูลการจัดการโควิด-19 จากทุกมลรัฐ เช่น ข้อมูลตรวจเชื้อ การติดเชื้อ การเข้ารักษา การเสียชีวิต การติดตามข้อมูลตามเชื้อชาติ และข้อมูลสถานดูแลผู้สูงอายุ

ภาพจาก US All Key Metrics

โปรเจกต์นี้ทำงานต่อเนื่องมาประมาณ 1 ปี และยุติการอัพเดทข้อมูลไปเมื่อต้นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เมื่อรัฐบาลสามารถผลิตและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเดียวกับที่พวกเขาทำได้เสียที ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อมูล กราฟิก และการวิเคราะห์ข้อมูล จากโปรเจกต์ถูกนำไปใช้โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการระบาด ก่อนที่ CDC จะปล่อยแดชบอร์ดของตัวเองออกมาในเดือน พ.ค. 2020

ภาพจาก US All Key Metrics

The Covid Tracking เขียนทิ้งท้ายไว้ก่อนยุติโปรเจกต์ไว้ว่า เป้าหมายแท้จริงที่ทำให้พวกเขาต้องลุกขึ้นมาทำ คือต้องการให้ประชาชนรู้ว่า ข้อมูลที่สมบูรณ์แบบ เรียลไทม์ ไร้รอย อาจไม่มีอยู่จริงโดยเฉพาะในยามวิกฤต และรัฐควรได้สติรับรู้ถึงความไม่สมบูรณ์นี้ด้วย จะได้ตัดสินใจบนฐานความเป็นจริงได้จริงๆ 

ไขปริศนาตัวเลขผู้เสียชีวิต – เม็กซิโก [5]

รอลิแอน เดสเปเก้ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์วัย 31 ปี เกิดความสงสัยว่าทำไมตัวเลขการรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเม็กซิโกซิตี ถึงต่ำเตี้ยจนน่าประหลาด ทั้งที่โรงพยาบาลในเมืองล้นไปด้วยผู้ป่วยโควิด เธอจึงลองค้นใบมรณะบัตรจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และขอร้องให้ มาริโอ ซาบาลา เพื่อนเนิร์ดคณิตศาสตร์ช่วยดึงข้อมูลออกมาให้ 

ในประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนมากๆ หลักพันหลักหมื่น การยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตจริงทำได้ยาก และอาจมีความล่าช้าในการรายงาน หลายประเทศจึงใช้วิธีประมาณ ‘การเสียชีวิตส่วนเกิน’ (excess mortality) แทน ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบยอดการเสียชีวิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 กับยอดการเสียชีวิตก่อนหน้านั้นหนึ่งปี เดสเปเก้และซาบาลา จึงใช้วิธีนี้ในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของตัวเลขทางจากรัฐ

เพียง 5 วันหลังจากเริ่มขุดข้อมูล ทั้งคู่พบว่า ยอดการเสียชีวิตส่วนเกินจากโควิด-19 ตั้งแต่ ม.ค. – พ.ค. 2020 สูงถึง 8,072 ราย ในขณะที่รัฐประกาศตัวเลขทางการเพียง 1,832 รายเท่านั้น พวกเขาจึงรวบรวมข้อมูลส่งให้บรรณาธิการนิตยสาร Nexos ซึ่งรีบตีพิมพ์ข้อมูลที่ได้มานี้ในทันที จนสร้างความตื่นตัวและการตั้งคำถามในสังคมอย่างกว้างขวาง ภายหลังจากที่ข้อมูลถูกตีพิมพ์ออกมาได้เพียง 2 เดือน ทางการเม็กซิโกซิตีได้ออกรายงานสรุปภาพรวมโควิด-19 ครั้งแรกออกมา ผลปรากฎว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่ทางการยืนยันแตกต่างจากที่เดสเปเก้และซาบาลาคำนวณไว้ไม่ถึง 2% เท่านั้น

แม้ในเวลาต่อมา ทั้งคู่จะต้องเจอกับอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล อย่างการติด captcha ในเว็บไซต์ทะเบียนราษฎร์เพื่อกันการใช้บอทช่วยดึงข้อมูล แต่พวกเขาก็ยังพยายามดึงข้อมูลด้วยมือออกมาเรื่อยๆ ต่อเนื่องกว่า 10 เดือน จนได้ยอดรวมการเสียชีวิตส่วนเกิน 83,235 ราย ตั้งแต่ ม.ค. 2020 จนถึง ก.พ. 2021 ซึ่งมากกว่าตัวเลขทางการที่รัฐรับรองเกินกว่า 2 เท่า

ความพยายามของพวกเขาทำให้ในที่สุด ทางการเม็กซิโกซิตีประกาศให้คำมั่นสัญญาว่าจะอัพเดทข้อมูลเป็นรายสัปดาห์สู่สาธารณะ แม้ภายหลังทั้งคู่จะต้องช้ำใจอีกครั้ง เมื่อพบว่าคำสัญญานั้นอยู่ได้ไม่นาน และข้อมูลใบมรณะบัตรไม่สามารถเข้าถึงทางออนไลน์ได้อีกต่อไป

การเคลื่อนไหวภาคประชาชนอื่นๆ ในการจัดการดาต้า

นอกจากการลงมือรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเอง หรือการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลภาครัฐแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการจัดการกับข้อมูลอีกหลายรูปแบบ ที่ช่วยให้ภาครัฐรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดีขึ้น 

Opensafely – สหราชอาณาจักร
คณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ร่วมกับระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) พัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นภายในเวลาเพียง 42 วัน เพื่อรวบรวมประวัติคนไข้และข้อมูลอื่นๆ จากระบบสาธารณสุข และเปิดให้นักวิจัย รวมไปถึงแพทย์สามารถดึงข้อมูลไปใช้วิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ โดยไม่ลืมว่าข้อมูลที่แชร์ผ่านแพลตฟอร์มต้องไม่สามารถระบุตัวตนคนไข้ได้

U.S. Digital Response – สหรัฐอเมริกา
คนทำงานสายเทคโนโลยีทั่วอเมริกากว่า 6,800 คน ทั้งโค้ดเดอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักวิจัย รวมตัวกันในนาม U.S. Digital Response เสนอตัวช่วยรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางรับมือปัญหาโควิด-19 ด้วยความสามารถที่พวกเขาถนัด เช่น ช่วยรัฐบาลเพนซิลเวเนียทำแดชบอร์ดติดตามจำนวนเตียงและเครื่องช่วยหายใจที่ยังว่างอยู่ และช่วยรัฐบาลเท็กซัสทำเว็บไซต์พัฒนาระบบจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ให้กับคนว่างงาน เป็นต้น 

Instant Mask Map – ไต้หวัน
โฮเวิร์ด วู วิศวกรซอฟต์แวร์วัย 35 ปี รวบรวมข้อมูล crowdsourcing ร้านสะดวกซื้อที่ยังมีหน้ากากอนามัยขายอยู่ จากไลน์ (LINE) ในช่วงที่ชาวไต้หวันเริ่มตื่นตัวเรื่องโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2020 เขาเชื่อมโยงข้อมูลที่รวบรวมได้ กับ โลเคชั่นใน Google Map พัฒนาออกมาเป็นเว็บไซต์ที่บอกตำแหน่งและสต๊อกหน้ากากอนามัยในแต่ละจุด และเปิดให้ทุกคนร่วมกันแชร์ข้อมูลได้ ต่อมา ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ได้พัฒนา Instant Mask Map ต่อยอดจากไอเดียของวู โดยใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ เกี่ยวกับการกระจายหน้ากากอนามัยโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อให้ข้อมูลแม่นยำและเข้าถึงง่ายมากขึ้น [6]

ภาพจาก Instant Mask Map

Covidtraker by 5Lab – ประเทศไทย
ประมาณเดือนมีนาคม ปี 2020 บริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์  5lab พัฒนาเว็บไซต์ Covid Tracker แผนที่แบบอินเตอร์แอคทีฟ รวบรวมข้อมูลข่าวสารให้ผู้ใช้งานติดตามสถานะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ในพื้นที่ว่าจุดไหนมีข่าวผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต หรือข่าวให้เฝ้าระวังอะไรบ้าง เว็บไซต์นี้ดำเนินการมาได้เกือบ 1 ปี ก่อนต้องยุติลงเนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกินกว่าจะติดตามไหว

ข้อมูลไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ของมันต้องมี (ในยามวิกฤต)

อย่างที่ได้กล่าวไป การขาดข้อมูลเป็นเพียงเบื้องหน้าของปัญหา สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ ‘การขาดโครงสร้างพื้นฐานข้อมูล’

ในหลายประเทศ การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลของรัฐมักถูกมองข้าม เพราะถูกจัดให้เป็นเรื่องที่รอได้ไม่เร่งด่วน เมื่อเทียบกับโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ เช่น สาธารณสุข หรือสาธารณูปโภค แต่การเผชิญวิกฤตใหญ่อย่างโควิดในตอนนี้ทำให้เรารู้แล้วว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่รอได้อีกต่อไป และยังเรียกสติให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเราหลอกตัวเองกันแค่ไหนว่าข้อมูล ‘พร้อม’ 

เมเยอร์และเมดริเกิล ได้สรุปบทเรียนที่น่าสนใจจากประสบการณ์การทำ the Covid Tracking Project รวมทั้งการเกิดขึ้นของดาต้าภาคประชาชนทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นพลังและข้อจำกัดของข้อมูลในยามวิกฤต (และในยามปกติ) 3 ข้อ ดังนี้ [7]

1. ข้อมูลต้องถูกสร้างขึ้น มันไม่มีอยู่เอง – ข้อมูลมีความจำเป็นในการวางแผนและตัดสินใจของรัฐ โดยเฉพาะในยามวิกฤต  แต่ปัญหาคือ ‘ข้อมูล’ มักถูกสันนิษฐานว่ามีอยู่แล้วทั้งที่ไม่มี แม้แต่ในประเทศโลกที่หนึ่ง ซึ่งจริงจังกับการพัฒนาโมเดลและเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ๆ ก็ไม่มีข้อมูลให้ไปวิเคราะห์ ดังนั้นก่อนจะคิดไปถึงการวางแผนและตัดสินใจด้วยข้อมูล รัฐต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลเสียก่อน เพื่อให้มีข้อมูลที่พร้อมนำไปใช้เมื่อถึงเวลาต้องใช้

2. ข้อมูลคือ ‘ภาพนิ่ง’ อย่ามองเป็น ‘หน้าต่าง’ – ข้อมูลคือภาพนิ่ง ที่สะท้อนความจริง ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ในสถานการณ์ที่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้อมูลแบบเรียลไทม์ไม่เคยมีอยู่จริง การรวบรวมและรายงานข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ดังนั้น การตีความข้อมูลอาจเกิดความคลาดเคลื่อนและส่งผลต่อการตัดสินใจรับมือเชิงนโยบายได้

3. จะใช้ข้อมูล ต้องเข้าใจที่มาของข้อมูลก่อน – เมเยอร์และเมดริเกิลให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ข้อมูลถูกให้ค่ามากเกินตัว ว่าเป็นความจริงที่ถูกวัดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เสมอ แต่จริงๆ แล้วในหลายกรณีข้อมูลที่เรามี คือการรวมกันของข้อสรุปเชิงคุณภาพ (qualitative conclusion) ที่วัดออกมาเป็นตัวเลขได้ มันจึงอาจไม่จริงแท้แน่นอนเสมอไป ดังนั้น หากเราไม่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ที่มา จุดอ่อน และวิธีการเก็บข้อมูลนั้นๆ ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและการตัดสินใจที่ผิดได้

วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อมูลและการจัดการข้อมูลที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน การขาดข้อมูลในยามวิกฤตทำให้เราต้องสู้กับภัยร้ายแบบตาบอด เมื่อวิกฤติใหม่มาถึงในวันหน้า เราคงต้องการข้อมูลชุดใหม่เพื่อรับมือกับปัญหาที่ต่างไปจากเดิม แต่การมีโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่ดี จะช่วยให้เราไม่ต้องตาบอดอยู่นานแบบในตอนนี้

และท้ายที่สุดแล้ว การเปิดโอกาสให้เอกชนหรือภาคประชาชนตั้งคำถามและเข้าถึงข้อมูลรัฐได้ เพื่อช่วยจัดการและสร้างข้อมูล ‘ทางเลือก’ อาจนำพาเราไปพบทางออก ที่ดีกว่าการปิดประตูใส่หน้าแล้วบอกว่าทุกอย่าง ‘พร้อม’ แล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save