fbpx
City of Ghosts : ความจริงเป็นสิ่งไม่ ‘ตาย’?

City of Ghosts : ความจริงเป็นสิ่งไม่ ‘ตาย’?

6,559 กิโลเมตรห่างออกไป

สำหรับหลายคน เมืองเล็กๆ ในประเทศซีเรียอย่าง ร็อกเกาะฮ์ (Raqqa) คงไม่ใช่เมืองในฝันของนักเดินทางไม่ว่าจะสายลุยหรือสายเก๋ เพราะตั้งแต่การลุกฮือขึ้นมาของประชาชนชาวซีเรียและเพื่อนบ้านใกล้เคียงในตะวันออกกลาง (หรือที่ผ่านหูผ่านตาในชื่อเหตุการณ์ Arab Spring) เพื่อปลดแอกตัวเองออกจากผู้นำเผด็จการ พื้นที่แห่งนี้ก็เข้าปกคลุมไปด้วยอนธการแห่งความรุนแรงจาก ISIS กลุ่มก่อการร้ายที่เราคุ้นหูมากที่สุดในยุคนี้

จากเมืองที่มีความหวังของประชาชนเป็นน้ำหล่อเลี้ยง ร็อกเกาะฮ์กลายสภาพเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคราบเลืือดจากชีวิตมากมายที่ต้องสูญเสียไป เพียงเพราะความเชื่อของพวกเขาไม่ตรงกับกลุ่มคนที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ จนต้องพยายามหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอน

ในโลกมืดสนิทที่ไม่แม้แต่จะมีใครกล้าเดินเข้าไปดูว่าเกิดอะไรในนั้น ยังมีแสงสว่างจากคนกลุ่มเล็กๆ ในร็อกเกาะฮ์ที่เชื่อว่า ‘ความจริง’ เท่านั้นที่จะต่อสู้กับอาวุธของฝ่ายตรงข้ามได้

City of Ghosts ภาพยนตร์สารคดีโดย Matthew Heineman ผู้กำกับหนุ่มชาวอเมริกัน คือภาพเคลื่อนไหวบันทึกเรื่องราวของกลุ่มหนุ่มสาวชาวซีเรีย ที่มารวมตัวกันทำสื่อของตัวเองในชื่อ Raqqa Is Being Slaughtered Silently (RBSS) ช่องทางการสื่อสารความเป็นไปเดียวของร็อกเกาะฮ์ภายใต้การยึดครองของ ISIS เพื่อออกมาให้โลกได้เห็น

 

YouTube video

 

เราเคยพูดถึงความจริงจังของ ISIS ในการบริหารจัดการสื่อโฆษณาชวนเชื่อแขนงต่างๆ เพื่อสื่อสารให้โลกเห็นความดีงามของโลกที่ปกครองโดยพวกเขา และเชื้อเชิญให้คนจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาเป็นพวกเดียวกัน และทำสงครามกับศาสนากับคนที่ไม่เชื่อและไม่เข้าร่วมรัฐอิสลามที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แต่ไม่มีใครเคยได้เห็นความเป็นไปที่แท้จริงนอกจากฉากหน้าที่จัดไว้อย่างสวยหรู จนกระทั่งกลุ่ม RBSS เริ่มเผยแพร่ภาพข่าว และเหตุการณ์ความสยดสยองที่เกิดขึ้นกลางเมือง โลกถึงเริ่มรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในเมืองนี้กันแน่

และแน่นอน ราคาที่ต้องจ่ายของอุดมการณ์ครั้งนี้คือ ‘ความตาย’

ตลอดระยะเวลาชั่วโมงครึ่งของสารคดีเรื่องนี้ สิ่งที่เราได้เห็นคือการทำงานของกลุ่มนักข่าวพลเมืองที่เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อเผยแพร่ความจริงให้โลกได้ขยายผลต่อ จากครั้งแรกที่แอบทำสมัยยังอยู่ในเมือง จน ISIS เริ่มระแคะระคายและจับได้ว่าพวกเขาเป็นใคร แต่ละคนก็ต้องพยายามหลบหนีไปจาก ‘บ้านเกิด’ ของตัวเอง

 

 

จากที่เล่าประวัติของกลุ่มในช่วงแรกๆ โทนก็เปลี่ยนมาเป็นหนังทริลเลอร์แบบที่ไม่ต้องบิลด์อารมณ์ด้วยบทเพลงระทึกใจ มีแต่เพียง ‘ภาพ’ ความโหดของเหตุการณ์จริง (ซึ่งเราต้องเตือนไว้ก่อนว่าไม่มีการเซ็นเซอร์ใดๆ ทั้งสิ้น) และบรรยากาศที่แม้จะไม่มีอะไร แต่ก็รู้สึกเสียวสันหลังแทนพวกเขาอยู่ตลอดเวลาที่กล้องกำลังบันทึกเรื่องราวของพวกเขาเพื่อถ่ายทอดออกมาบนหน้าจอ

ทีมงานตั้งต้นของ RBSS ย้ายออกจากร็อกเกาะฮ์ แต่ยังมีทีมข่าวภาคสนามที่ลงพื้นที่แอบถ่ายภาพ บันทึกวิดีโอ ถ่ายทอดเรื่องราวความรุนแรง อดอยากแร้นแค้น ซากบ้านเมืองปรักหักพังอย่างที่สื่อ Al Hayat ของ ISIS ไม่ได้ – และไม่อยาก – นำเสนอ สถานะผู้ปกครองพร้อมอาวุธครบครัน กับฝ่ายต่อต้านเพียงไม่กี่สิบคนที่มีอาวุธในมือเพียงกล้องและสัญญาณอินเทอร์เน็ต กลายเป็นเกมแมวจับหนูที่มีเป้าหมายของแมวคือการ ‘ปิดปาก’ ให้ความจริงที่สื่อออกไปให้โลกรู้เหลือเพียง ‘ชุดเดียว’

เรารู้กันดีว่าผู้ชนะคือผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์ และการต่อสู้กับอำนาจของคนที่กำลังกุมข้อมูลข่าวสารอย่างเบ็ดเสร็จไม่ได้ง่ายและจบแฮปปี้เอนด์ดิ้งอย่างหนังฮีโร่ในฮอลลีวู้ด

ชะตากรรมของทุกคนในกลุ่ม RBSS ที่เราได้เห็นในหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน เหตุการณ์ที่ได้เห็นสะกิดคำถามขึ้นมาในใจเราว่า – อะไรกันที่ทำให้พวกเขายืนยันที่จะเดินหน้าทำสิ่งเหล่านี้ต่อไป

คำตอบที่ได้คงเป็นคำว่า ‘บ้าน’ ที่พวกเขาอยากจะกลับไปใช้ชีวิตด้วยเสรีภาพอย่างที่เคย

 

 

8,598 กิโลเมตรห่างออกไป

แต่คำว่าบ้านที่ว่า กลับห่างไกลออกไปเรื่อยๆ สำหรับทุกคนใน RBSS

จริงอยู่ที่บางส่วนยังคงอยู่ที่บ้านในร็อกเกาะฮ์ แต่ก็ด้วยความหวาดระแวงว่าความตายอาจคืบคลานเข้ามาถึงตัวได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง คำว่าบ้านของพวกเขาคงไม่ได้หมายถึงบ้านในเวลาที่ ISIS ยังคงปกครองอยู่

ในขณะที่อีกส่วนหนึ่ง, เช่นเดียวกับหลายคนที่ลี้ภัยจากซีเรีย หนทางรอดของพวกเขาคือการข้ามน้ำข้ามทะเลมายังทวีปยุโรป เพื่อหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า และรอเวลาให้บ้านของพวกเขากลับมาสงบสุขเหมือนอย่างในความทรงจำของตัวเองอีกครั้ง

ประเทศเยอรมนี คือปลายทางของชาวซีเรียที่ใหญ่ที่สุด ด้วยตัวเลขกว่า 450,000 คน (นับจากปี 2010 – 2016) ซึ่งมากที่สุดในทวีปยุโรป จึงไม่แปลกที่หลายๆ คน รวมถึงกลุ่ม RBSS บางส่วนจะลี้ภัยมาที่ดินแดนแห่งนี้ ในหนังเองก็มีการตัดสลับไปมาระหว่างซีเรีย ตุรกี และสถานที่ไม่เปิดเผยในเยอรมนีด้วยเช่นกัน

และอย่างที่รู้กัน ปัญหาผู้ลี้ภัย การข้ามดินแดนและเปิดรับชาวซีเรียเข้ามายังประเทศก็ใช่จะเป็นที่ถูกใจของชาวยุโรปหลายคน ด้วยปัญหาก่อการร้ายในยุโรปที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนเราแทบจะรู้สึกว่าเป็นเรื่อง ‘ที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นปกติ’ รวมไปถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจและเงินงบประมาณสนับสนุนผู้ลี้ภัย ทำให้ส่วนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เล่าเรื่องการเผชิญหน้าระหว่างชาวซีเรีย (และกลุ่ม RBSS ที่ลี้ภัยข้ามมา) กับเจ้าบ้านบางส่วนที่ไม่พอใจกับการเข้ามาของเพื่อนร่วมโลกที่กำลังเผชิญชะตากรรมอย่างที่พวกเขาอาจไม่เข้าใจ

‘ไม่รักชาติก็ออกไป’ ‘FUCK REFUGEES’ และอีกหลายคำปราศรัยกับหลายสัญลักษณ์ต่อต้าน ชวนให้เรานึกไปถึงเสี้ยวหนึ่งของบทเพลง Imagine ของ John Lennon ที่เขาเคยร้องเอาไว้ว่า

Imagine there’s no countries. It isn’t hard to do. Nothing to kill or die for, and no religion too.

ก็จริงอยู่, ด้วยภาวะแรงกดดันต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในโลกความเป็นจริง การจะอิมแมจิ้นโลกอย่างที่จอห์นว่าเอาไว้คงเป็นไปได้ยาก และในสายตาของคนที่คิดว่าผู้ลี้ภัยไม่ควรจะเข้ามาอยู่ในบ้านของเรา ก็คงมองคนที่สนับสนุนว่ากำลังเต้นระบำดีดกีตาร์ร้องเพลงนี้อยู่ในดงดอกไม้จนไม่มองโลกจริงๆ

แต่ในวันที่บ้านของ ‘เพื่อนร่วมโลก’ กำลังมีปัญหา และมองกันด้วยมนุษยธรรมก่อนตัวเลขเศรษฐกิจ

การเปิดบ้านของตัวเองให้เขาพักพิงเสียหน่อย คงไม่ใช่เรื่องยากอะไรนัก

 

0 กิโลเมตรห่างออกไป

การต่อสู้ของกลุ่ม Raqqa Is Being Slaughtered Silently ใน City of Ghost ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการไม่ยอมจำนนกับอำนาจ ยอมเสี่ยงชีวิตกับความตายจากการเปิดเผยความจริงให้โลกได้เห็น เกิดขึ้นได้จริงๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘นี่คือสิ่งที่ทำให้บ้านของพวกเขากลับคืนมาได้’

ชวนให้ย้อนคิดถึงในดินแดนสมมติสักที่ไม่ใกล้ไม่ไกล ที่อาจเป็นบ้านของเรา และของใครอีกหลายคน

เรากำลังใช้ชีวิตอยู่อย่างชาชินในความจริงที่ถูกครอบงำ สร้างขึ้นด้วยอำนาจบางอย่าง และในขณะเดียวกัน – อาจเป็นในโลกคู่ขนาน – ใครอีกหลายคนก็พยายามต่อสู้กับความจริงแบบปลอมๆ นั้น เพื่อจะบอกให้โลกภายนอกได้รู้ว่า ‘บ้าน’ ของเขาและของเรา กำลังถูกทำอะไรอยู่บ้าง

แม้ความรุนแรงจะไม่อาจไปเทียบได้กับที่ร็อกเกาะฮ์ หรือความกล้าหาญของกลุ่ม RBSS แต่เราเชื่อว่าหากทุกคนเห็นว่าที่นี่คือบ้าน และอยากให้บ้านของเรากลับมาเป็น ‘ของเรา’ อย่างเดิม –

‘ความจริง’ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ตายจากไป

แม้อาวุธไหนจะพยายามเข่นฆ่ามันให้สูญสิ้นก็ตาม

 

ติดตามรอบฉายและงานเสวนาประกอบการฉายภาพยนตร์ได้ที่ Documentary Club

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save