fbpx
อนาคตเมือง

เมืองเสี่ยง

ชีวิตคือความเสี่ยง

ความเสี่ยงสำหรับมนุษย์แต่ละคนเกิดขึ้นมาพร้อมกับลมหายใจแรกและหมดสิ้นไปกับลมหายใจสุดท้าย และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตลอดช่วงชีวิต ความเสี่ยงเพียงปรับเปลี่ยนรูปแบบและระดับขึ้นลงตามสถานการณ์ เงื่อนไข การตัดสินใจและความสามารถในการจัดการความเสี่ยงของแต่ละคน ในทำนองเดียวกัน เมืองทุกแห่งก็มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่ความเสี่ยงจะกลายเป็นความเสียหายต่อผู้คนและทรัพย์สินหรือไม่และเท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงของเมืองแต่ละแห่ง

โลกในยุคสมัยไหนก็ย่อมมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น แต่ความเสี่ยงในโลกปัจจุบันดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ด้วยสาเหตุปัจจัยหลายประการที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน นอกจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยังจนเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสภาพภูมิอากาศแล้ว การเชื่อมต่อกันอย่างแทบแยกไม่ออกของระบบสารสนเทศ เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เสี้ยวเล็กๆ แห่งหนึ่งบนโลกสามารถส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อผู้คนทั้งโลกได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาคือโรคระบาดโควิด-19 และเหตุการณ์เรือสินค้าของบริษัท Evergreen เกยตื้นและขวางทางเดินเรือในคลองสุเอซ

ในแง่มุมหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคมได้ยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับคนจำนวนมากให้ดีขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์ด้านการค้า การผลิตและการลงทุนทำให้คนมีรายได้และความมั่งคั่งมากขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากกว่าเดิม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศทำผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ที่เปิดกว้างไปทั่วโลก การขยายระบบการขนส่งและเดินทางทำให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์ร่วมกับผู้คนและวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและในวงกว้างก็เพิ่มความเสี่ยงสำหรับคนจำนวนมากไปพร้อมกัน  เนื่องจากแต่ละคนมีทรัพยากรและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ความสามารถในการจัดการความเสี่ยงของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งอาจสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือคว้าโอกาสใหม่ๆ จากการเปลี่ยนแปลงได้ คนอีกจำนวนมากอาจต้องประสบกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นก็ได้  

ความเสี่ยงกับความไม่แน่นอน

ความเสี่ยงคือความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์หรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างอาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีความไม่แน่นอนทั้งในเชิงรูปแบบ ระดับและเวลาที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น และผลกระทบที่เหตุการณ์นั้นจะมีต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งอื่นๆ ที่มนุษย์ให้ความสำคัญ

ส่วนความไม่แน่นอนนั้นเกิดจากความไม่รู้ ไม่มีข้อมูล หรือมีข้อมูลไม่สมบูรณ์เกี่ยวเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับผู้คนในเมืองมีทุกประเภทและทุกระดับ นับตั้งแต่ความเสี่ยงในระดับปัจเจกและครัวเรือน เช่น ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านการดำรงชีพและทำมาหากิน และด้านสุขภาพและสุขอนามัย ไปจนถึงความเสี่ยงระดับองค์กรและสังคมทั้งระดับประเทศและระดับโลก เช่น ความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัท ด้านการคลังของรัฐบาล ด้านภัยพิบัติของโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการก่อการร้ายของประเทศ กล่าวได้ว่า ในโลกปัจจุบันที่มีความผันผวน (volatile) ไม่แน่นอน (uncertain) ซับซ้อน (complex) และคลุมเครือ (ambiguous) ความเสี่ยงดูเหมือนเพิ่มขึ้นทุกที่ ไม่ว่าจะมองไปในมิติ ระดับ หรือระนาบไหนก็ตาม 

แต่ความเสี่ยงไม่ได้มีเพียงแง่ลบที่เกิดจากปัจจัยคุกคามเท่านั้น การคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง ตัวอย่างที่เห็นได้ในระดับปัจเจก เช่น การเลือกเรียนภาษาไพทอน (Python) อาจล้าสมัยในอีก 10 ปีข้างหน้าก็จริง แต่ก็ถือเป็นการลงทุนลงแรงเพื่อความรู้และทักษะใหม่ที่เปิดโอกาสการทำงานในยุคนี้ ส่วนตัวอย่างในระดับเมือง ได้แก่ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things – IOT) อาจยังมีความเสี่ยงในด้านความเสถียรและความปลอดภัย และยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ก็มีศักยภาพสูงและถือเป็นโอกาสสำคัญในการประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมืองให้ดียิ่งขึ้น

การจัดการกับความเสี่ยงที่ประสบความสำเร็จจึงไม่ได้เกิดจากการปล่อยสถานการณ์ไปเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร การตัดสินใจไม่ทำอะไรเลยเพราะกลัวความเสี่ยง อาจสูญเสียโอกาสและเพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งกว่าการเลือกดำเนินการบางอย่างก็ได้ การจัดการความเสี่ยงจึงไม่ใช่เพียงแค่การเลี่ยงเหตุการณ์หรือปัจจัยที่อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์เท่านั้น แต่รวมไปถึงประเมินข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก เพื่อตัดสินใจดำเนินการต่อไป

ในการนี้ การคาดการณ์และวางแผนอย่างเป็นระบบถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการจัดการความเสี่ยง ไม่เพียงเฉพาะการตระหนักถึงความเสี่ยงที่อยู่ตรงหน้า แต่ต้องมองข้ามและไปให้ไกลกว่าแนวโน้มปัจจุบันด้วยการกวาดสัญญาณและการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดมุมมองในการประเมินความเสี่ยงที่กว้างและไกลมากไปกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเป้าหมายระยะสั้น

แนวทางการจัดการกับความเสี่ยงเริ่มจากการลดความไม่แน่นอน โดยเริ่มจากการวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น ความเข้าใจที่ได้จากการคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงดังกล่าว ถือเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการวางแผนและดำเนินมาตรการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งมุ่งลดความเป็นไปได้ในการเกิดเหตุการณ์และระดับความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เป็นต้นตอของความเสี่ยงบางประการอาจไม่สามารถกำจัดหรือป้องกันได้ทั้งหมด แนวทางการจัดการความเสี่ยงจึงต้องมีทั้งการเตรียมมาตรการฟื้นฟูจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ไปจนถึงแนวทางการปรับตัวระยะยาว ตัวอย่างเช่น การสร้างกำแพงสูงริมแม่น้ำอาจช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่เกินกว่าที่กำแพงจะป้องกันได้ การจัดการความเสี่ยงจึงต้องครอบคลุมแนวทางการฟื้นฟูอาคารสถานที่และสิ่งอื่นๆ ที่อาจได้รับความเสียหาย รวมถึงมาตรการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาคารและการใช้ประโยชน์ที่ดินริมแม่น้ำ เป็นต้น

สถาบันกับความเสี่ยง

มนุษย์แต่ละคนประสบความเสี่ยงในรูปแบบและระดับที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังมีความสามารถในการจัดการความเสี่ยงไม่เท่ากัน ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงหลายประเภทก็เป็นความเสี่ยงเชิงระบบในระดับที่สูงเกินกว่าที่ขีดความสามารถของแต่ละคนจะรับมือและจัดการได้ มนุษย์เราจึงมักต้องพึ่งสถาบัน (institutions) หรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับต่างๆ เพื่อรับมือและจัดการกับความเสี่ยง สถาบันที่ว่านี้มีทั้งแบบที่เป็นทางการ เช่น กฎระเบียบและองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเป็นกิจจะลักษณะ และแบบไม่เป็นทางการ เช่น ธรรมเนียมปฏิบัติและการรวมกลุ่มเฉพาะกิจของคนในชุมชน เป็นต้น

สมาชิกในสถาบันครอบครัวเป็นคนกลุ่มแรกที่สามารถช่วยได้ในการจัดการความเสี่ยงที่เกินความสามารถของแต่ละคน นับตั้งแต่การปกป้องจากภัยอันตรายต่างๆ การดูแลกันเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ไปจนถึงการส่งเสียให้ลูกหลานและพี่น้องให้เรียนหนังสือ และการช่วยเหลือด้านการเงินในยามคับขัน  ตัวอย่างเหล่านี้ถือเป็นการจัดการความเสี่ยงร่วมกันในระดับครัวเรือนที่ไม่ได้ผ่านกลไกตลาด

กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงเชิงระบบหลายรูปแบบมักเกินขีดความสามารถของครัวเรือนที่จะรับมือ โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนและด้อยโอกาส สถาบันทางสังคมระดับชุมชนที่มักเป็นการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการจึงมีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ การลงแขกของชุมชนเกษตรกรรมในอดีต การช่วยกันยกกระสอบทรายโดยคนในละแวกบ้านช่วงน้ำท่วม และการร่วมลงขันเพื่อซ่อมถนนในซอยและจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย ล้วนเป็นตัวอย่างของการจัดการความเสี่ยงร่วมกันของคนในชุมชน ดังนั้น ในสังคมเมืองที่ความเป็นชุมชนได้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนบ้านเป็นคนแปลกหน้า สถาบันทางสังคมที่รองรับความเสี่ยงเชิงระบบก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือสร้างขึ้นใหม่

ในหลายกรณี สถาบันทางการเงินก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการความเสี่ยงของปัจเจกบุคคล เครื่องมือทางการเงินนับตั้งแต่การออมเงินและการกู้ยืมเงินกับธนาคารและสหกรณ์ออมทรัพย์ ไปจนถึงการซื้อประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ และประกันชีวิตในรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งแหล่งกู้เงินนอกระบบ ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการจัดการความเสี่ยงทั้งเชิงปัจเจกและเชิงระบบ

สำหรับความเสี่ยงเชิงระบบที่มีขอบเขตพื้นที่กว้างกว่าระดับชุมชน รัฐในฐานะที่เป็นสถาบันทางการมักมีเครื่องมือและความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงมากกว่าครัวเรือนและชุมชน นับตั้งแต่การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงกับบุคคลและครัวเรือนที่มีความเสี่ยงสูง การจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานและจัดหาบริการพื้นฐานที่จำเป็น ไปจนถึงการกำหนกฎระเบียบและการดำเนินนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม รัฐในที่นี้ครอบคลุมทั้งหน่วยงานของรัฐบาลกลางไปจนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยหน่วยงานแต่ละระดับมีความสามารถและความเหมาะสมในการจัดการกับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน เช่น การวางแผนเพื่อป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วมจำเป็นต้องใช้มาตรการของรัฐที่ครอบคลุมระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เนื่องจากปัญหาน้ำมีสาเหตุและผลกระทบเกินกว่าขอบเขตชุมชน

กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงบางรูปแบบก็ยังเกินขอบขอบเขตพรมแดนและขีดความสามารถของแต่ละประเทศ อาทิ ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ข้ามพรมแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ปัญหาเชิงระบบเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งกลไกระดับนานาชาติในการร่วมมือเพื่อรับมือและป้องกันความเสี่ยงร่วมกัน

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการจัดการความเสี่ยงในทุกระดับคือการลดความไม่แน่นอนด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยง ทั้งสาเหตุ เงื่อนไขและผลลัพธ์ สำหรับในระดับบุคคลและครัวเรือน การค้นหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เป็นพื้นฐานของวิธีการป้องกันและเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยง ส่วนในระดับชุมชน องค์กรและรัฐบาล การศึกษาภาพอนาคตถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายที่กำหนดแนวทางการลดและรับมือกับความเสี่ยงเชิงระบบ และเพื่อการฟื้นตัวจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

แนวโน้มใหม่ ความเสี่ยงใหม่

ด้วยเมืองเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เมืองจึงเป็นจุดรับโอกาสและความเสี่ยงไปพร้อมกัน ทั้งความเสี่ยงในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นตามเทคโนโลยีและปัจจัยอื่นที่เปลี่ยนไป  ยิ่งการเชื่อมต่อระหว่างระบบต่างๆ ในโลกเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ความเสี่ยงของเมืองก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ตามสมมติฐานนี้ เมืองขนาดใหญ่และมีความเชื่อมต่อมากกับโลกภายนอกดังเช่นมหานครกรุงเทพ ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าเมืองขนาดเล็กดังเช่นอุทัยธานี กระนั้นก็ตาม ถ้าเมืองใหญ่มีการจัดการความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือไว้ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงก็อาจน้อยกว่าเมืองเล็กที่ขาดการจัดการความเสี่ยงก็ได้

ในชุดโครงการวิจัยประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะวิจัย 9 กลุ่มจากหลายสถาบันได้วิเคราะห์แนวโน้มและภาพอนาคตการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ทั้งที่เป็นแนวโน้มใหญ่หรือเมกะเทรนด์ที่ทราบกันอยู่ทั่วไป และแนวโน้มใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มความสำคัญในอนาคต การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีนัยไม่เพียงเฉพาะในด้านความเสี่ยงระดับปัจเจก ครัวเรือนและสังคมโดยรวม แต่ในหลายกรณีสามารถปรับเป็นโอกาสในการพัฒนาได้เช่นกัน ในที่นี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างบางประเด็นที่คิดว่าเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการวางนโยบายพัฒนาเมืองของประเทศไทย

ในด้านประชากร จำนวนคนเมืองที่เพิ่มมากขึ้นและสูงวัยมากขึ้นคือแนวโน้มหลักที่เป็นพื้นฐานของนโยบายสาธารณะในปัจจุบันอยู่แล้ว  แต่บางแนวโน้มยังจำเป็นต้องวิเคราะห์และพิจารณาในด้านนโยบายเพิ่มเติม เช่น แนวโน้มการอยู่คนเดียวของคนไทย จากการคาดประมาณโดยคณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ในปีพ.ศ. 2583 ประเทศไทยจะมีครัวเรือนคนเดียวของวัยแรงงานสูงถึงร้อยละ 13.39 และครัวเรือนคนเดียวของผู้สูงอายุถึงประมาณร้อยละ 14.47  ในสังคมที่คนจำนวนมากอยู่คนเดียว มาตรการและนโยบายการพัฒนาเมืองย่อมแตกต่างจากยุคที่ครัวเรือนมีขนาดใหญ่กว่า ไม่ว่าจะในด้านที่อยู่อาศัย ด้านการเดินทาง ด้านสาธารณสุข และด้านสวัสดิการสังคมอื่นๆ

ขนาดครัวเรือนที่เล็กลงและการอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น จะมีผลต่อปัจเจกในการรับมือกับความเสี่ยงในการเศรษฐกิจ ยิ่งในสังคมอายุยืน ถ้าผู้สูงอายุไม่มีเงินออมและทรัพย์สินเก็บไว้เพียงพอ และไม่สามารถพึ่งลูกหลานได้เหมือนแต่เดิม ความเสี่ยงด้านการเงินและด้านสุขภาพทั้งกายและใจก็ย่อมเพิ่มมากขึ้น ในทำนองเดียวกัน ในกรณีที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวในห้องขนาดเล็กในคอนโดมิเนียมที่มีอายุมากขึ้น ความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อร่างกายอ่อนแอลง รวมถึงการเตรียมเงินทุนสำหรับการซ่อมแซมอาคารที่เก่าลงไป จะกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบที่จำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการของรัฐเข้ามาช่วยเหลือและเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า

อีกตัวอย่างหนึ่งของความเสี่ยงรูปแบบใหม่มาพร้อมกับการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต จากงานวิจัยของมูลนิธิ คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม พบว่า ตามแนวโน้มที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมแทบทุกอย่างจะต้องพึ่งเครื่องมือดิจิทัล การโจมตีทางไซเบอร์ถือเป็นภัยคุกคามแบบใหม่ ซึ่งมีตั้งแต่การเจาะระบบ การสอดแนมและดักรับข้อมูล การโจมตีระบบสารสนเทศ ไปจนถึงการเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์  ภัยคุกคามทางไซเบอร์นี้มีนัยสำคัญอย่างมาก ไม่เพียงเฉพาะกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป แต่ครอบคลุมไปถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศในอนาคต

ในระดับเมือง ยิ่งโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตมีการเชื่อมต่อและบริหารจัดการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นเท่านั้น เพราะผู้ก่อการร้ายสามารถโจมตีระบบไฟฟ้า ประปา ขนส่ง และสาธารณสุขจากที่ไหนในโลกก็ได้ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต และสามารถล้วงข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างละเอียดและครอบคลุม ความเสี่ยงทางไซเบอร์ของโครงสร้างพื้นฐานในเมืองถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่จำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือและเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ปัจจุบัน

การวางแผนนโยบายสาธารณะของประเทศไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการเมือง ยังไม่ค่อยได้ใช้กรอบแนวคิดด้านการจัดการความเสี่ยงเท่าใดนัก เท่าที่มีอยู่โดยมากก็มักจำกัดอยู่ในเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหลัก แต่ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเมืองมีอยู่มากในทุกด้านและมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กระบวนทัศน์ในการวางแผนพัฒนาเมืองและการวิจัยในด้านนี้จึงต้องให้ความสำคัญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save