fbpx
คน-เมือง 2020 digital edition : จากกระแสแห่งอนาคต สู่ความปกติใหม่ (?) ในยุคโรคระบาด

คน-เมือง 2020 digital edition : จากกระแสแห่งอนาคต สู่ความปกติใหม่ (?) ในยุคโรคระบาด

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ในปี 2019 หนึ่งในภาพแห่งอนาคตที่ค่อยๆ ย่างก้าวเข้ามาสู่ชีวิตของผู้คนโดยไม่รู้ตัวคือ โลกแห่ง ‘Internet Of Things’ เทคโนโลยีการเชื่อมต่อล้ำยุคค่อยๆ ช่วยให้มนุษย์ทลายเพดานของพื้นที่และเวลา (space and time) ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

และแล้วเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกในปี 2020 ไม่ว่าจะเป็นการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมได้พาชีวิตคนเมืองมหาศาลเข้าสู่ยุค ‘The Great Digital Migration’ ชนิดที่เรียกได้ว่า ‘มาก่อนกาล’ จนเมืองแทบจะว่างเปล่า

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนเมืองทุกคนที่จะกลายเป็นพลเมืองโลกดิจิทัลได้ทันที

นอกจากความว่างเปล่าแล้ว อาการป่วยไข้ของ ‘ความเป็นเมือง’ ที่ไม่สามารถโอบรับคนเมืองทุกคนให้สุขสำราญกับความมั่งคั่งที่เมืองสัญญาไว้ได้อย่างเสมอหน้าได้ก็ยังกำเริบอย่างหนัก – ทั้งในโลกจริงและโลกดิจิทัล

ในโอกาสเปิดปี 2021 101 ชวนมองย้อน ‘ความเป็นเมือง’ และ ‘ชีวิตคนเมือง’ ที่ผ่านมาในปี 2020 ว่าต้องเผชิญกับมรสุมอะไรบ้าง และอะไรคือเค้าลางของอนาคตคน-เมืองที่กำลังจะผ่านเข้ามาในปี 2021 – และในอนาคต

 

เมืองหลังโรคระบาด

 

‘เมือง’ นับว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนและความเจริญรุ่งเรืองในโลกยุคสมัยใหม่มาเป็นเวลากว่าหลายร้อยปี ภาพเมืองร้างเปล่าเปลี่ยว ปราศจากสุ้มเสียงของผู้คนอาจเป็นภาพที่ยากเกินกว่าจะจินตนาการถึงได้ในทศวรรษนี้ โดยเฉพาะในหลายมหานครที่แทบไม่เคยหลับใหลแม้ตะวันลาลับ แต่ภาพที่ยากจินตนาการ กลับกลายเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า ‘อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็น’ เมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทุกสารทิศทั่วโลกในปี 2020 จนต้อง ‘ล็อกดาวน์’ กันตั้งแต่อู่ฮั่น นิวยอร์ก ยันแบงค็อก อาคารสำนักงาน โรงเรียน สวนสาธารณะเงียบสงัด ท้องถนนและขนส่งสาธารณะร้างไร้ผู้คน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคาร โรงภาพยนตร์ ฟิตเนสต่างต้องแขวนป้าย ‘ปิด’ หนีโรคไปตามๆ กัน บ้านกลายเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อที่คนใช้ชีวิตตลอด 24/7 หรือไม่เช่นนั้น ประชากรส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะกลับถิ่นเดิมของตน

ทุกคนบนโลก ณ ขณะนี้คือประจักษ์พยานว่า โรคระบาดกำลังเปลี่ยนเมืองและความเป็นเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ เมืองใหญ่จะอยู่รอดหลังโรคระบาดผ่านพ้นหรือโรยราเพราะซมพิษไข้? ชนบทจะกลายเป็นความห่างไกลโรคระบาดที่น่าถวิลหาหรือไม่?

ในบทความ ‘หลังโรคระบาดจากไป จะเห็นอะไร’ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์มองอนาคตว่า กระแสที่ผู้คนต่างพากันเข้ามาใช้ชีวิตกันในเมืองกำลังจะเปลี่ยนทิศ เมื่อเมืองใหญ่ที่ผู้คนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นกลายเป็นจุดหลักของการระบาด การทำงานเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งและใช้ชีวิตอยู่ในมหานครอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป แต่เมืองขนาดย่อมลงมาหรือชนบทห่างไกลต่างหากที่จะกลายเป็นอนาคตใหม่ของผู้คน กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ โลกและไทยกำลังเผชิญกับกระแสทวนกลับของการกลายเป็นเมือง (de-Urbanization)

หากมอง ‘เมือง’ ผ่านเพียงแค่สายตาว่าอยู่ใกล้หรือห่างไกลศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ หรือมองแค่ว่ามีผู้คนขวักไขว่หรือไม่ ก็อาจจะจริงบางส่วนที่มหานครกำลังจะแหลกสลายและแตกกระจาย แต่ถ้ามองว่า เมืองคือ ‘ไลฟ์สไตล์’ ไม่ใช่สถานที่ การล็อกดาวน์หนีไวรัสก็ไม่อาจหยุด ‘เมือง’ ให้เจริญเติบโตได้

ในสายตาของ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ทั่วทุกมุมโลกกำลังกลายเป็นเมืองทั้งหมดแล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางทุ่งนาหรือหุบเขา ก็แทบจะไม่มีที่ไหนที่มีความเป็นชนบทหลงเหลืออยู่ กระแสโลกาภิวัตน์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แทรกซึมไปแทบจะทั่วทุกแห่งหนด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีดิจิทัล การเติบโตขึ้นของแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียค่อยๆ เชื่อมต่อและส่งต่อ ‘ความเป็นเมือง’ ไปแทบจะทุกแห่งหนอย่างไร้พรมแดน เปลี่ยนชีวิตผู้คนที่แม้จะอยู่ห่างไกลให้ใช้ชีวิตแบบ ‘คนเมือง’ ได้ ไม่ว่าจะทำงาน ประชุม เรียนหนังสือ สอนหนังสือ ซื้อขายของ ชมภาพยนตร์ ดูซีรีส์ ดูคอนเสิร์ตหรือติดต่อสื่อสาร พบปะพูดคุย ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในพื้นที่เมืองที่ขนัดแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาและอาคารคอนกรีตสูงเสียดฟ้าเท่านั้นอีกต่อไป แต่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ได้ ‘เสมือน’ อาศัยอยู่ในเมือง ฉากทัศน์เช่นนี้เกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกามาพักใหญ่แล้วก่อนการระบาด

ส่วนในไทย นี่คือวิถีเมืองที่เรียกว่า ‘New Normal’ เมื่อโรคร้ายมาเยือนจนเมืองเงียบสงัด ซึ่งฟังดูแล้วอาจชวนคิดได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน แต่ที่จริงแล้ว การเชื่อมต่อความเป็นเมืองในโลกดิจิทัลอาจเป็นเพียงแค่ ‘Old Normal’ ของบางคนที่ถูกเร่งเครื่องชนิดที่เรียกว่าติดเทอร์โบ ดังที่อภิวัฒน์ระบุไว้ในบทความ ‘เมืองหลังโรคระบาด’

“ก่อนหน้าที่โรคระบาดปะทุขึ้นมา คนจำนวนมากก็ใช้โทรศัพท์มือถือและใช้เวลาบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียหลายชั่วโมงต่อวันอยู่แล้ว การซื้อของออนไลน์และซื้ออาหารผ่านแอปพลิเคชันก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่อะไร เศรษฐกิจฐานแพลตฟอร์มก็กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนเมืองมาได้ระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน”

อีกทั้งกลุ่มคนอย่าง ‘ดิจิทัลนอแมด’ (digital nomad) ซึ่งประกอบอาชีพประเภทที่เน้นใช้ความคิด สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานอย่างสถาปนิก นักออกแบบ นักเขียน หรือนักแปล ก็อาจทำงานจากทางไกลเป็นปกติตั้งแต่ก่อนล็อกดาวน์ แต่ในบทสัมภาษณ์ ‘อนาคต ‘เมือง’ หลังโรคระบาด’ อภิวัฒน์เล่าว่า โรคระบาดเร่งให้กลุ่มคนทำงานนั่งติดออฟฟิศก็ต้อง ‘Work From Home’ แล้วเช่นกัน

“งานวิจัยที่ทำอยู่เรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น กลุ่มคนล้ำสมัย (maverick) เรายังสามารถแบ่งกลุ่มคนเป็นอีกสองกลุ่มคือ คนชายขอบ (the marginal) และคนมวลชน (the mass) พวกล้ำสมัยเราเห็นอยู่แล้วละ แต่โรคระบาดอาจเป็นตัวเร่งให้กลุ่มมวลชนเข้าสู่กระบวนการนี้มากขึ้น เพราะบริษัทเริ่มเห็นแล้วว่า การทำงานจากบ้านสามารถทำได้ คนก็ปรับตัวและเริ่มเคยชิน”

ฉะนั้น โรคระบาดเพียงแค่หยุดชะงักความมีชีวิตชีวา ความมั่งคั่ง และการพบปะระหว่างผู้คนในพื้นที่เมืองเท่านั้น ส่วนความเป็นเมือง และวิถีคนเมืองก็เพียงแค่ขยายพื้นที่ไปอยู่บนโลกดิจิทัลอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

แต่ทั้งนี้ ก็ยังอาจบอกไม่ได้เช่นกันว่านี่จะกลายเป็นความปกติใหม่ถาวรของเมืองอย่างที่หลายคนคาดการณ์และคาดหวังไว้ เพราะในอนาคตเมื่อเชื้อหยุดแพร่ระบาด หรือผู้คนเริ่มทยอยรับวัคซีนจนครบ ความเสี่ยงในการติดเชื้อลดลง มองออกไปนอกหน้าต่าง เมืองก็ยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่ได้หายไปไหน รอให้ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

“โรคระบาดไม่ได้ทำให้โครงสร้างและพื้นที่กายภาพของเมืองเปลี่ยนไปเหมือนในกรณีของสงคราม ตึกรามบ้านช่อง ถนน ระบบรถไฟฟ้า รถเมล์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ก็ยังคงเป็นแบบเดิม ห้างร้านต่างๆ ยังคงกระจุกตัวอยู่ตามย่านและแหล่งเดิม เพียงรอเวลาให้ผู้คนในเมืองกลับมาใช้ประโยชน์เหมือนก่อนหน้านี้”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงล็อกดาวน์ระหว่างรอเมืองเปิดอีกครั้ง ไม่ใช่คนเมืองทุกคนที่จะทำมาหากินและใช้ชีวิตบนเมืองดิจิทัลได้ เพราะชีวิตเมืองของพวกเขายังต้องอาศัยพื้นที่เมืองและคนเมืองเพื่อให้ชีวิตต่อไปได้

“คนรวยและคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งจะปรับพฤติกรรมเข้าสู่ New Normal ด้วยการใช้ชีวิตออนไลน์และรักษาระยะห่างทางกายภาพได้ กูรูการตลาดและธุรกิจต่างๆ จะสร้างภาพที่ทำให้เราหลงเชื่อว่า ชีวิตเมืองได้ฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพปกติ และในหลายด้านได้ปรับเข้าสู่สภาพปกติใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งเป็นแนวทางปกติของการทำธุรกิจ แต่สำหรับคนด้อยโอกาสที่ยังต้องใช้ชีวิตออฟไลน์อย่างแออัดภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบเดิม จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า New Normal จะมีก็แต่เพียง ‘Worse Old Normal’ เท่านั้น”

แม้เทคโนโลยีจะขยายเขตแดนของเมืองไปสู่โลกดิจิทัลแล้วก็ตาม แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมก็ยังไม่หายจากเมืองไปไหน ซ้ำร้าย ยังคงถูกซ้ำเติม ณ ชายขอบแห่งเมืองดิจิทัล เฉกเช่นเดียวกับ ณ ชายขอบของมหานครที่ไม่ได้หายไปไหน

 

The Great Lockdown – The Great Digital Migration : ชีวิตคนเมืองยุคดิจิทัล

 

แม้ว่าจะมี ‘คนล้ำสมัย’ จำนวนหนึ่งที่ล่วงหน้าเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองดิจิทัลจนเคยชินก่อนแล้ว แต่เมื่อวิกฤตร่างกายเรียกร้องที่เว้นว่าง ให้ห่างห่างจากกันและกัน ชีวิตของ ‘มวลชน’ (-ชั้นกลาง) ที่จู่ๆ ต้องอพยพไปอยู่บนโลกดิจิทัล กักตัวอยู่แต่ในบ้าน แล้วเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นเมืองขนาดย่อมๆ ที่มีทั้งที่ทำงาน โรงเรียน ร้านอาหาร ร้านค้า โรงภาพยนตร์ และอื่นๆ ก็อาจไม่ได้สะดวกสบายไปทั้งหมดอย่างที่หลายคนเคยจินตนาการไว้ แต่กลับต้องเผชิญต่อความคาดไม่ถึงที่น่าอึดอัดใจไม่น้อยเช่นกัน

รชพร ชูช่วย อธิบายว่าเหตุที่หลายคนรู้สึกเช่นนี้เพราะ เมื่อต้องอยู่บ้านตลอดเวลา เราจะเริ่มมองเห็นรายละเอียดของบ้านในมุมที่ไม่เคยมองมาก่อน และอาจค้นพบว่าการออกแบบหรือของใช้บางอย่างไม่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต-คุณภาพการทำงานที่ดี และที่ยิ่งไปกว่านั้น คำตอบของโจทย์เหล่านี้อยู่ในเมืองที่ถูกปิดไป

“ที่พักอาศัยในเมืองใหญ่และชานเมืองรอบเมืองใหญ่ต่างกับที่อยู่อาศัยในชนบทมาก เพราะสามารถใช้พื้นที่หรือการบริการนอกบ้านในการดำรงชีวิตได้อย่างไม่ยากนัก หลายพื้นที่ถูกลดทอนหรือหายจากบ้านไป เช่น ไม่ต้องมีพื้นที่ผลิตหรือถนอมอาหาร เพราะสามารถซื้อหาได้จากตลาดและหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ต้องมีครัวที่ทำอาหารจริงจังได้ เพราะมีร้านอาหารมาแทนที่ ห้องนั่งเล่นรับแขก มีร้านกาแฟ บาร์ มาแทนที่ กิจกรรมบางอย่างอย่างเช่น การซักผ้ารีดผ้า การออกกำลังกาย การเลี้ยงเด็ก ก็มีบริการต่างๆ มารองรับเช่นกัน ที่พักอาศัยในเมืองใหญ่จึงเป็นบ้านที่ออกแบบมาให้อยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากเลิกงานประจำวัน หากพื้นที่ในบ้านไม่รองรับต่อกิจกรรมใดๆ ก็มักมีพื้นที่นอกบ้านให้ใช้เสมอ ขนาดของห้องชุดในตึกสูงในท้องตลาดเล็กลงไปเรื่อยๆ จนไม่แน่ใจว่าจะอยู่กันได้อย่างไร แต่เมื่อเห็นร้านกาแฟในย่านคอนโดฯ ขนาดใหญ่แต่ห้องชุดแต่ละห้องมีขนาดเล็กๆ มีคนนั่งกันเต็มในช่วงกลางวันของวันหยุด ก็เข้าใจได้ว่าพื้นที่ในห้องคอนโดฯ เล็กๆ อาจจะไม่เอื้อให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้นอกจากการนอนในตอนกลางคืนเท่านั้นจริงๆ”

 

งาน

ช่วงล็อกดาวน์ (และหลังล็อกดาวน์ในบางครั้ง) นอกเหนือไปจากการส่งอีเมล์หรือส่งรายงาน โลกการทำงานหมุนต่อไปได้เพราะโปรแกรม Video Conference อย่าง FaceTime, Line, FB Messenger, WhatsApp, Skype, Google Hangouts, Microsoft Teams แต่ที่ดูเหมือนว่าจะมาแรงที่สุดคือ Zoom

การได้นั่งทำงานที่บ้านอาจเคยเป็นเหมือนสวรรค์ เพราะทำให้คนเมืองได้เวลาว่างที่เคยเสียไปกับการเดินทางบนถนนกลับคืนมา แต่ก็ต้องแลกมากับอีกปัญหาใหม่ที่ตามมาเมื่อพบว่าสภาพแวดล้อมของบ้านไม่เอื้อให้ทำงานได้อย่างสุขใจนัก

“ชนชั้นกลางที่พอจะทำงานจากที่บ้านได้ส่วนมากเริ่มค้นพบว่า บ้านของตนอาจจะไม่ได้เหมาะกับการ ‘อยู่อาศัย’ เสียทีเดียว สำหรับบางคนการใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงในพื้นที่ขนาดเล็กมากอย่างห้องชุดไม่ถึง 30 ตารางเมตร เป็นเวลาหลายๆ วัน ไม่ได้ไปไหนและต้องทำงานไปด้วยอาจจะกลายเป็นความเครียดที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือถ้าต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในพื้นที่เล็กๆ เช่นนี้ ก็อาจจะเกิดการทะเลาะวิวาทได้โดยง่าย บางกรณีพื้นที่ไม่เล็ก แต่ไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นสัดส่วนเพื่อรองรับการทำงานจากบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากในบ้านมีเด็กเล็กที่ต้องการการดูแล ก็ทำให้การทำงานยากขึ้นไปอีก ลามไปถึงความขัดข้องที่เกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่ร่วมกันแบบที่ไม่เคยใช้มาก่อนกับสมาชิกในบ้าน” รชพรกล่าว

อีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนรู้สึกได้คือ การมีปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการคุยงานตัวต่อตัวได้ เพราะการระดมสมองใช้ความคิดสร้างสรรค์ การถกเถียงเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา หรือการเจรจาต่อรอง ต้องอาศัยการสื่อสารผ่านภาษากายด้วย รวมทั้งการพบปะกันยังช่วยให้รักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนในออฟฟิศ สื่อสารเข้าใจเรื่องงานได้ง่ายขึ้น

เรื่องน่ากังวลอีกอย่างหนึ่งคือ การเอางานเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยที่บ้านอาจทำให้เส้นแบ่งของชีวิตพร่าเลือน จนสมดุลของ work-life balance เสียไป อย่างที่ ตฤณ ไอยรา บอก เพราะเมื่อเราเชื่อมชีวิตไว้กับอินเทอร์เน็ตเกือบตลอดเวลา งานอาจเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้จากเดิมที่เวลาทำงานแบบ ‘from 9 to 5’ ตีกรอบไม่ให้งานหลุดรอดมาในเวลาส่วนตัวได้ หรือในทางกลับกัน เรื่องในบ้านก็อาจขอแบ่งเวลางานไปเช่นเดียวกัน

แม้จะยังไม่ปลอดภัย 100% แต่เมื่อโรคระบาดเริ่มเบาบางลง เราจึงเห็นชีวิตการทำงานของคนเมืองที่เป็นแบบลูกผสม (Hybrid) ที่มีทั้งการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และการทำงานที่ออฟฟิศร่วมกันอย่างยืดหยุ่น

 

เรียน

การเรียนออนไลน์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างๆ มีมาสักพักใหญ่แล้ว มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งโลกต้องมีหลักสูตรออนไลน์แบบจริงบ้างเล่นบ้างกันถ้วนหน้า แต่ไม่ได้เป็นที่แพร่หลายหรือได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากความเชื่อที่ว่าการเรียนการสอนแบบเจอตัวกันต้องดีกว่า

แต่เมื่อทุกมหาวิทยาลัยต้องย้ายขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์เข้าจริง พอนักศึกษา (จำต้อง) ลองเรียนออนไลน์จากที่บ้าน ก็อาจพบว่าไม่ได้เลวร้ายเสมอไป หากเป็นวิชาบรรยายที่มีนักศึกษาจำนวนมากและความยาวของเนื้อหาและเวลาพักถูกแบ่งอย่างเหมาะสม การเรียนออนไลน์กลับช่วยให้เรียนได้มีประสิทธิภาพและมีสมาธิจดจ่อได้ดีมากกว่าการเรียนในชั้นเรียน ที่สำคัญ ยังทำสิ่งที่ไม่มีทางทำได้ในชั้นเรียนปกติเลยคือ กรอเทปย้อนกลับไปฟังซ้ำเวลาไม่เข้าใจหรือเผลอหลับไป

แต่ในบางชั้นเรียนที่ต้องมีการพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้หรือต้องลงมือปฏิบัติจริง การเรียนออนไลน์ก็สร้างความอึดอัดให้กับนักศึกษาจนถึงขั้นเป็นอุปสรรคการเรียนรู้เสียด้วยซ้ำ แน่นอนว่านักศึกษาแพทย์คงไม่สามารถเรียนผ่าตัดที่บ้านได้ นักศึกษาพละคงเรียนวิธีสอนว่ายน้ำไม่ได้ถ้าสระว่ายน้ำยังปิดอยู่ นักศึกษาสถาปัตย์คงเรียนเขียนแบบได้ไม่สะดวกเพราะไม่มีใครให้ฟีดแบกทันที นักศึกษาอักษรศาสตร์คงไม่สามารถฝึกภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว หรือนักศึกษาสายสังคมศาสตร์คงไม่สามารถเปิดประเด็นอภิปรายถกเถียงได้อย่างสะดวกนักในวันที่มหาวิทยาลัยปิด

ถ้าไม่นับว่าสมดุลระหว่างเรียนออนไลน์-ออฟไลน์ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เป็นใจและอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมก็นับว่าเป็นอีกความยากลำบากหนึ่งของการเรียนในยุคโรคระบาด

 

เล่น

เมื่อเวลาว่างของคนเมืองเพิ่มขึ้น กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจกลายเป็นสิ่งเติมเต็มเวลาว่างให้หมดวัน ตั้งแต่กลับไปดูภาพยนตร์หรือซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ที่ดองไว้ในวันโรงภาพยนตร์ปิด หรือแม้กระทั่งยกอะไรที่ไม่น่าจะทำบนอินเทอร์เน็ตได้มาไว้บนโลกออนไลน์แก้ขัดรอวันเปิดเมือง อาทิ ดื่มสังสรรค์ออนไลน์ คอนเสิร์ตและอีเวนท์ออนไลน์ หรือหอศิลป์ในเกมออนไลน์ยอดฮิตอย่าง Animal Crossing

 

ชีวิตมนุษย์ชายขอบ ‘เมือง

 

ในยุคโรคระบาดที่การเว้นระยะห่างทางสังคมคือหนทางรอดจนกว่าจะทุกคนจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ทุกคนที่มีต้นทุนจะพอจ่ายสำหรับการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ แทบจะเป็นไปไม่ได้เสียด้วยซ้ำ หรือหากเป็นไปได้ ก็ต้องอยู่ในห้องเช่าแคบๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแออัดที่มีไว้เพียงนอนเรียงๆ กันพอให้มีแรงออกไปกัดฟันสู้งานต่อ (ซึ่งการอยู่กันอย่างเบียดเสียดก็เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่-ติดเชื้ออีก) มีคนเมืองจำนวนหนึ่งที่ต้องยอมเอาสุขภาพเข้าเสี่ยง เพื่อให้ยังมีเงินทองหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดรอวันเปิดเมือง – หรืออาจเพียงแค่ให้อยู่รอดเพื่อกลับไปดิ้นรนอีกครั้งในเมืองใหญ่

สำหรับพวกเขาเหล่านี้ เมืองที่ไร้ชีวิต ถนนที่ว่างเปล่าไม่ใช่ภาพที่น่ายินดีเท่าไหร่นัก เพราะความพลุกพล่านของมหานครเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง

ในสารคดี ‘ราษฎร์ลำเค็ญบนราชดำเนิน’ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาเราลงไปเดินสำรวจถนนราชดำเนิน ถนนข้าวสาร และถนนรามบุตรี สิ่งที่เกิดขึ้นบนถนนสามเส้นนี้ในวันเมืองปิด อาจเรียกได้ว่าเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นทั่วมุมเมือง

สมหมาย (นามสมมติ) คือชายคนหนึ่งที่เดินอย่างไร้จุดหมายบนถนนราชดำเนิน เพราะเขาไม่มีที่ให้ไป ไม่มีข้าวให้กิน ไม่มีน้ำให้ดื่ม ไม่มีงานให้ทำอีกต่อไป

“งานฉันน่ะอยู่ที่บางบอน ฉันทำงานก่อสร้าง พอโควิดมาเขาก็ไม่จ้าง ฉันไม่มีค่าห้อง เลยมานอนแถวนี้ ปัญหาหลักคือไม่มีข้าวกิน เลยต้องมากินข้าวที่นี่ ฉันได้เงินเป็นรายวัน พอเขาปิด เราก็ไม่ได้อะไรเลย ประกันสังคมก็ไม่มี”

“ตอนนี้บอกตรงๆ นะ บาทเดียวในกระเป๋ายังไม่มีเลย” เขาพูดพลางตบกางเกงขาสั้นที่ไม่มีกระเป๋าให้ดู

ระหว่างที่ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีที่อยู่ สมหมายตระเวนหาที่นอนตามใต้สะพาน “นอนตรงที่ตำรวจไม่กวนเราตอนกลางคืน” สมหมายว่า “เราดูว่าวันนี้ถ้าตำรวจมา เราก็จะย้ายไปอีกที่หนึ่ง เขาบอกให้ไปนอนในซอย แต่ในซอยก็มีคนนอนกันเป็นพรืดเลย เราก็ต้องไปหาที่นอนใหม่ เพราะไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่ลำบาก แต่ตำรวจเขาก็ไม่อยากให้มีภาพไม่ดีใช่ไหม ก็ต้องทำ เราพูดแบบเป็นกลาง ไม่ได้โจมตีรัฐบาลเลยนะ เราเหนื่อยแล้ว ต้องแบกเสื้อผ้าเดิน”

ซ้ำร้าย สมหมายยังเป็นอีกหนึ่งในหลายคนที่ถูก ‘เมืองดิจิทัล’ ทอดทิ้งและกัดกิน

สมหมายพยายามดิ้นรนด้วยการยื่นสิทธิเยียวยา ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ของรัฐบาล เพื่อรับเงิน 5,000 บาทมาประทังชีวิต แต่ทำกี่ครั้งๆ ก็ไม่สำเร็จ “เราเจอใครก็ขอยืมโทรศัพท์เขาสมัคร แต่ไม่ได้เลย เด้งออกตลอด บอกแต่ว่าเครือข่ายล่ม ให้รอ ไม่ไหวนะ ชีวิตเราต้องมานั่งรอเงิน 5,000 บาท”

ก่อนหน้าโรคระบาดจะโจมตีถนนข้าวสารและถนนรามบุตรี ถนนสองสายนี้ไม่เลยหลับใหลแม้ยามค่ำคืน – รถเข็นขายอาหาร ร้านรวง ผับบาร์ ต่างเรียงรายต้อนรับนักท่องราตรี แต่เมื่อไวรัสพุ่งเข้าโจมตี แม้ลูกชิ้น หมูปิ้ง ยำ ก๋วยเตี๋ยวไก่ สุกี้ โจ๊ก ผัดไทย ฯลฯ ยังส่งกลิ่นหอมและควันคลุ้ง ผิดไปก็แต่แทบไม่มีลูกค้าเลย ส่วนบาร์ที่เคยคึกคัก เคล้าคลอไปด้วยเสียงเพลงกลับเงียบสงัด ถนนที่ล้นไปด้วยเก้าอี้ที่ออกมาจากบาร์กลับว่างเปล่า

“ตั้งแต่ขายมาเดือนกว่า ยังไม่มีวันไหนได้เห็นเงินพันเลย” ป้ารี เจ้าของรถเข็นหมูปิ้งและลูกชิ้นพูดกลั้วหัวเราะ

“ตั้งแต่เปิดร้านเหล้ามา 20 ปี ครั้งนี้ปิดร้านนานที่สุด” พี่เอฟ – เจ้าของมูนชายน์บาร์บนถนนรามบุตรีว่า

“อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด เป็นครั้งแรกที่ข้าวสารเงียบขนาดนี้ ต่อให้เศรษฐกิจจะซบเซายังไงก็ตาม ก็ไม่เป็นแบบนี้” ฮั้ว เจ้าของร้านขายข้าวสารที่อยู่ตั้งแต่ถนนข้าวสารยังไม่กลายเป็นผับบาร์เล่าให้ฟัง “ถ้าถามว่าเงียบขนาดไหน ก็เงียบเหมือนตอนที่เรายังเด็ก ตอนที่ถนนข้าวสารยังอยู่กันเป็นบ้านคน”

ความกังวลของคนเมืองที่ ‘หาเช้า กินค่ำ’ อาจอยู่ที่รายได้อันแสนจะผันผวนที่จะนำมาจุนเจือชีวิตและครอบครัว แต่สำหรับแรงงานพม่าจากทวายที่ยอมอดทนจากบ้านเกิดเมืองนอนหวังหลุดพ้นจากความยากลำบากที่ทวายมาแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่ไทย ยิ่งไปกว่างานที่หายไปและความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว กว่าครึ่งหนึ่งจาก 200 ครัวเรือนในชุมชนทวาย – ยังไม่นับว่ามีชุมชนชาวพม่าแห่งอื่นอีก – ยังตกอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า ‘กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไม่ถึง’ ท่ามกลางการระบาด ความอบอุ่นปลอดภัยของบ้านเกิดเมืองนอนเป็นสิ่งที่ไม่อาจเอื้อมถึงได้อย่างน่าเศร้า – เช่นเดียวกับรายได้

“ชีวิตช่วงที่ไม่มีงานลำบากมาก กลับบ้านก็ไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง เครียดมากเลย แม่ก็บอกว่ากลับมาเถอะ เราก็บอกว่าตรงชายแดนปิดแล้ว ออกไปไม่ได้ เราก็ไม่อยากกลับด้วย เพราะกลับไปแล้วก็ต้องกักตัวอยู่ดี แล้วครอบครัวเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ เหมือนไปทำให้ครอบครัวลำบาก” โอ๋ – หรือทีดาวินเล่า

“อยากกลับบ้าน ช่วยหนูหน่อย” เสียงของ ปาปา วัย 32 ปี ดังเข้ามาในวงสนทนา เธอเล่าว่า ลูกวัย 3 ขวบอยู่กับย่าที่บ้าน แต่ย่าเสียชีวิตกะทันหันในช่วงที่ผ่านมา ทุกวันนี้ต้องให้เพื่อนบ้านช่วยดูแลลูกให้

“ตอนนี้เรานอนไม่หลับกินไม่ลงเลย ตื่นมาก็ดูข่าวว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ คุยโทรศัพท์กัน ลูกบอกว่า แม่กลับมาหาหนูหน่อย เราอยากกลับไปหาลูกมาก ทางไหนก็ได้ ขอให้ถึงพม่าก็พอแล้ว” ปาปาขมวดคิ้ว พลางกำผ้าซิ่นที่สวมอยู่

ท่ามกลางความเงียบสงัด แม้ถนนในกรุงเทพฯ จะโล่งสักเพียงไร แต่ก็ไม่เคยห่างหายจากมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารของแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มต่างๆ ในช่วงเวลาแห่งโรคระบาดเช่นนี้ ‘ไรเดอร์’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในสังคมที่เป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ให้ชีวิตประจำวันของคนที่ต้อง Work From Home ดำเนินต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ไม่เพียงแค่ความเสี่ยงจากการติดเชื้อเท่านั้นที่พวกเขาต้องเผชิญ ยิ่งพวกเขาเป็นที่ต้องการมากเท่าไหร่ แรงงานของพวกเขายิ่งกลับถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบอย่างร้ายกาจจากเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ช่องโหว่ของการกำกับดูแลภาครัฐ แล้วฉวยโอกาสแสวงประโยชน์ทางธุรกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่ไม่สนใจว่าจะมีผลกระทบกับคนทำงานบนแพลตฟอร์มอย่างไรบ้าง และพวกเขาควรจะต้องได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองอย่างไร

ทั้งหมดนี้ ยังไม่ต้องนึกว่าพวกเขาจะมีเวลาว่าง เงิน และพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจได้อย่างไร

ทุกคนต่างพยายามดิ้นรนรักษาชีวิตและกายใจอย่างสุดกำลัง แต่น่าเศร้าสลดที่ไม่ใช้ทุกคนจะมีแรงอยู่รอจนเมืองเปิดอีกครั้ง พาดหัวแล้วพาดหัวเล่าที่ประกาศว่าพิษปิดเมือง-พิษความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลนั้น ‘ถึงตาย’ ไม่ว่าจะเป็น “พิษ “โควิด-19” ฆ่าคนทางอ้อม!! ไกด์เครียดไร้งานผูกคอลาโลก” “หญิงวัย 52 ปีเครียดโรคโควิด-19 กระโดดตึกฆ่าตัวตาย” “สาวใหญ่กำแพงเพชรเครียดโควิด-19 ระบาด ชวดเงิน “เราไม่ทิ้งกัน” แขวนคอตายไม่มีแม้แต่เงินซื้อโลง” “พิษโควิด! แม่ลูกสอง เครียดชีวิต ไร้เงินซื้อนมให้ลูก ผูกคอดับในห้องน้ำ” “พิษโควิด-19! หนุ่มช่างแอร์เครียดตกงาน 2 เดือน-รถถูกยึด ผูกคอตายในห้องเช่า แม่บอกไม่มีแม้แต่เงินทำศพ” และ “หนุ่มช่างเชื่อมเครียดโควิด-19 ทำไม่มีงาน-รายได้หดหาย ตัดสินใจปาดคอตัวเองดับสยอง”

 

Build Back Better : อนาคต คน-เมือง

 

ทั้งหมดนี้ที่เมืองเผยให้เราเห็นในช่วงล็อกดาวน์ (และหลังล็อกดาวน์) เป็นเพียงแค่ภาพซากปรักหักของความไม่ลงรอยระหว่างชีวิต-คน-เมืองและความเหลื่อมล้ำที่วิกฤตโรคระบาดโหมกระหน่ำให้รอยร้าวทางเศรษฐกิจและสังคมที่เคยเป็นความชินชาในช่วงเวลาปกติ กลายเป็นภาพที่ยิ่งกว่ากระจ่าง แต่ยังจริงชัดจนสัมผัสได้

แม้ว่าไวรัสโควิด-19 จะเปลือยให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของความเป็นเมือง กัดกินชีวิตคน และพังทลายเมืองลง แต่เมื่อมีสิ่งเก่าที่สูญสลายไป การรื้อถอนเมืองครั้งใหญ่ก็ย่อมนำไปสู่โอกาสในการ ‘สร้างใหม่’ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของชีวิต-คน-เมือง

สำหรับชนชั้นกลาง แม้ชีวิตจะแขวนอยู่บนความเสี่ยงตกงานจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาด แต่ต้นทุนในการใช้ชีวิตแบบคนเมืองก็ยังคงพอมีอยู่บ้าง อภิวัฒน์ จึงมองว่า ต้องคิด-ตกผลึกให้ถี่ถ้วนเพราะการออกแบบเมืองในอนาคตจะกำหนดชีวิตความเป็นไปของผู้คนทุกชนชั้น เพราะอย่าลืมว่าแม้เมืองจะมาพร้อมกับความมั่งคั่ง แต่ความเจริญและความั่งคั่งนั้นก็ควรเป็นสิ่งที่คนเมืองทุกคนควรเอื้อมถึง ไม่ใช่เพียงแค่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

“ความท้าทายหลักสำหรับการออกแบบและพัฒนาเมืองหลังโรคระบาด จึงไม่ได้อยู่และไม่ควรอยู่ที่การตอบรับภาพปกติใหม่ของคนรวยและคนชั้นกลาง แต่อยู่ที่ความกล้าหาญและมุ่งมั่นในการเปลี่ยนกรอบแนวคิดและบรรทัดฐานในการออกแบบและพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับคนจนและด้อยโอกาสเป็นอันดับแรก มิเช่นนั้น เมืองหลังโรคระบาดก็จะเป็นเพียงเมืองปกติเก่าที่สวมหน้ากากผ้าสีเขียวลายใหม่เท่านั้น”

หากมองมาที่กรุงเทพ โควิด-19 ก็ได้เขย่าและรื้อถอนให้เห็นว่า ชุมชนหลายแห่งเปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะต่อวิกฤตล็อกดาวน์ รายได้ที่จะนำมาหล่อเลี้ยงชีวิตของชุมชนขาดหายไปอย่างมาก ฉะนั้น เมืองยังต้องการ ‘เส้นเลือดฝอย’ จะส่ง ‘ความเป็นเมือง’ ลงไปสู่ชุมชนต่างๆ ทั่วเมือง ไม่ว่าจะทั้งความเจริญทางเศรษฐกิจ งานที่ดี โรงเรียนที่ดี บริการสาธารณสุขที่เข้าถึงได้ ขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย พื้นที่สาธารณที่ทุกคนเป็นเจ้าของ และที่สำคัญที่สุดกว่าสิ่งอื่นใดคือ ชุมชนต้องมีความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย ไม่ถูกไล่รื้อถอนที่ เพื่อให้ชุมชนหลุดพ้นจากความเปราะบาง และสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่โอบรับทุกคนได้อย่างแท้จริง

“อนาคตผังเมืองต้องปรับให้สะท้อนภาพชีวิตมากขึ้น เราอาจทำให้มีเมืองย่อยๆ กระจายความเจริญแล้วปรับผังเมืองให้สอดคล้องระบบคมนาคมและการอยู่อาศัยได้” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าว

เมื่อที่อยู่อาศัยคือหัวใจสำคัญของคนเมืองทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน หากการจัดสรรที่อยู่อาศัยยังอยู่ในเงื้อมมือของ ‘มือที่มองไม่เห็น’ คนเมืองรายได้น้อยก็ไม่อาจเอื้อมถึงที่อยู่อาศัยคุณภาพดีที่ราคาพุ่งขึ้น รชพร ชูช่วย มองว่า เมืองในอนาคตยังต้องพึ่งพาแรงงานภาคบริการจำนวนมาก ภาครัฐอาจจะต้องยื่นมือเข้ามาพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ทุกคนเข้าถึงได้ (affordable housing) ช่วยยกระดับมาตรฐานที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ

หลังสถานการณ์การระบาดทุเลาลงจนปลดล็อกเมือง แม้ผู้คนจะได้กลับไปใช้ชีวิตในเมืองอันคุ้นเคยที่หลายคนต่างถวิลหาได้อีกครั้ง แต่เฉกเช่นเดียวกับเมืองที่ไม่ได้หายไปไหนในช่วงล็อกดาวน์ แพลตฟอร์มดิจิทัลก็จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ความเป็นเมือง’ ต่อไป และจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแพลตฟอร์มในอนาคตจะขยับขยายและรองรับสาธารณูปโภค บริการ ความสะดวกสบาย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เคยอยู่ในเมืองให้ครอบคลุมมากกว่าที่เป็นอยู่ ในบทความ ‘เมืองแพลตฟอร์ม’ สิ่งที่อภิวัฒน์จุดประกายให้เราคิดต่อคือ จะพัฒนา ‘เมืองในโลกจริง’ และ ‘เมืองในโลกดิจิทัล’ ควบคู่กันอย่างยั่งยืนต่อไปได้อย่างไรเมื่อทั้งสองโลกแยกออกจากกันไม่ได้อีกต่อไป

หากพื้นที่สำคัญของการใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น บทบาทของแพลตฟอร์มในฐานะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเมืองจะต้องได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

“แน่นอนว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องพึ่งประสาทสัมผัสทั้งห้าในการดำรงชีวิต ความแพร่หลายของแพลตฟอร์มไม่ได้หมายความว่าพื้นที่กายภาพของเมืองจะไม่สำคัญอีกต่อไป ในทางกลับกัน การวางแผนและออกแบบด้านกายภาพจะยิ่งสำคัญมากขึ้น”

และต้องตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตอีกด้วยว่า จะเอาชนะความเหลื่อมล้ำบนเมืองดิจิทัลที่ทอดทิ้งคนเมืองบางกลุ่มไปแล้วได้อย่างไร

“ประเด็นที่มีการตั้งคำถามกันมากคือ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีอยู่ตอนนี้พร้อมรับมือกับวิกฤตมากน้อยแค่ไหน โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลต้องเป็นสวัสดิการ (welfare) ไหม เพราะประชากรส่วนใหญ่ของเมือง หรืออันที่จริงของประเทศด้วยซ้ำ มีศักยภาพในการเข้าถึงความเชื่อมโยงทางดิจิทัลต่ำ โครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ค่อนข้างชัดว่าไม่สามารถรองรับวิกฤตได้และไม่เป็นธรรม

“หลังจากนี้คงต้องมีการมาคุยกันว่าโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (digital infrastructure) ควรเป็นแบบไหน ให้คนยังสามารถทำงานได้ หรือยังมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมบ้างในระดับหนึ่ง”

ในวันที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของชีวิตคนในทุกๆ มิติ การเข้าถึงอินเทอร์ที่มีคุณภาพเน็ตอาจกลายเป็นหนึ่งใน ‘สิทธิพื้นฐาน’ ที่ทุกคนควรมี และที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือทักษะในการกระโจนเข้าไปอยู่ในโลกนั้น

หากจะรื้อถอน ‘เมือง’ ให้ถึงที่สุดอย่างถึงรากถึงแก่น อีกหนึ่งโจทย์แห่งอนาคตที่รออยู่คือ ‘เมืองสีเขียว

เมื่อมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการระบาดของโรคร้าย แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะยังไม่แน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งที่เอื้อให้ไวรัสแพร่ระบาด หรือกระทั่งเร่งให้ไวรัสกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วคือ ความปั่นป่วนของสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศที่เสียสมดุล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องแลกมากับการเจริญเติบโตของเมือง คนเมือง โครงสร้างพื้นฐาน การเดินทางสัญจรไปมา และกิจกรรมของเหล่าคนเมือง

ในอนาคตเพื่อให้เมืองก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนกว่าที่เคยเป็นมา — ซึ่งอาจรวมไปถึงการลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะอีกครั้งด้วยเช่นกัน การพัฒนาเมือง คุณภาพชีวิตคนเมือง และการฟื้นฟูความมั่งคั่งของเมืองจะต้องอยู่ในแนวทางที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ลดการปล่อยมลพิษ อย่างการเพิ่มจำนวน ‘งานสีเขียว’ ปรับไปใช้พลังงานสีเขียวในการหล่อเลี้ยงชีวิตของเมือง และที่ขาดไม่ได้คือ ยังต้องให้โครงสร้างและสภาพแวดล้อมของเมืองเอื้อให้คนเมืองมีพฤติกรรมรักษ์โลกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 ทั่วโลกฉลองปีใหม่ด้วยการล็อกดาวน์อย่างไม่คาดฝัน ผ่านไป 1 ปี แม้ข่าวการคิดค้นวัคซีนสำเร็จจะช่วยให้คนเมืองทั้งหลายเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่ในความไม่แน่นอนของประสิทธิภาพและความไม่แน่นอนว่าวัคซีนจะถึงมือ ‘ทุกคน’ หรือไม่ สิ่งที่ยังไม่หายไปไหนอย่างแน่นอนในปี 2021 คือการล็อกดาวน์ (อีกครั้ง) และความเหลื่อมล้ำของความเป็นเมืองที่ซ้ำแผลเก่าของคนเมือง อาจเรียกได้ว่าแผลเก่ายังไม่ตกสะเก็ดดี ก็ปีนี้ติดเชื้อแทรกซ้อนอีก

แต่ความยากลำบากที่คนเมืองทุกชนชั้นผ่านมาในปี 2020 ต้องไม่เจ็บปวดอย่างสูญเปล่า เมื่อปี 2020 ได้รื้อเอาปัญหา ‘ความเป็นเมือง’ ทั้งเชิงกายภาพและดิจิทัลที่ซุกไว้ใต้พรมออกมาจนหมดจด มองต่อไปในปี 2021 และในอนาคต ความท้าทายเหล่านี้ควรจะพา ‘เมือง’ ก้าวไปข้างหน้าในทิศทางที่ไม่ซ้ำรอยเดิม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save