fbpx
เมืองเหลื่อมรู้ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

เมืองเหลื่อมรู้

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หนึ่งในความท้าทายระดับฐานรากสำหรับนโยบายสาธารณะทุกด้านของประเทศไทยในอนาคต คือการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่มคน และขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม

มิติหนึ่งของความเหลื่อมล้ำที่มีความสำคัญเป็นพิเศษคือ ด้านการเรียนรู้ ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงการเข้าถึงการศึกษาอย่างเป็นทางการในสถานศึกษา แต่ครอบคลุมถึงการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้และความสุขให้กับตนเอง รวมถึงความรู้ที่ส่งเสริมคุณค่าของความเป็นมนุษย์และพลเมือง

เมืองเหลื่อมล้ำ คนเหลื่อมรู้

 

ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมด้านการเรียนรู้เป็นทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาเมืองในระดับประเทศและระดับเมือง

คุณภาพของสถานศึกษาทุกระดับในเมืองใหญ่มักดีกว่าในเมืองขนาดเล็กและชุมชนชนบท นับตั้งแต่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรและงบประมาณของสถานศึกษา ไปจนถึงจำนวนและความหลากหลายของบริการพื้นฐานที่สร้างโอกาสในการเข้าถึงความรู้ที่อยู่นอกสถานศึกษาทั่วไป

ข้อได้เปรียบดังกล่าวยิ่งดึงดูดให้นักเรียนและผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่ และยิ่งตอกย้ำให้ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในระดับประเทศเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะในด้านการเรียนรู้เท่านั้น แต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ ตามมา

แม้แต่ในเมืองเดียวกัน คุณภาพของโรงเรียนก็ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ โรงเรียนประถมและมัธยมของรัฐอาจตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนและไม่ไกลจากย่านที่อยู่อาศัย แต่ครอบครัวคนชั้นกลางและคนมีฐานะมักเลือกที่จะส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนที่คิดว่าคุณภาพดีกว่าแต่อยู่ไกลออกไป โรงเรียนเหล่านี้โดยมากตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงเรียนชื่อดังมักตั้งมานานตั้งแต่สมัยที่เมืองยังไม่ขยายตัวออกไปไกลมาก อีกทั้งรูปแบบการพัฒนาเมืองที่ผ่านมาทำให้ที่ดินและที่อยู่อาศัยในย่านกลางเมืองมีราคาสูงมากเกินกว่าที่คนจำนวนมากจะจ่ายได้ คนชั้นกลางจึงต้องไปอยู่ในพื้นที่ชานเมือง และยอมให้ลูกหลานเดินทางไกลเพื่อเข้ามาเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเมือง

แต่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยย่อมไม่มีทางเลือกนั้น ด้วยต้นทุนด้านที่อยู่อาศัยและการเดินทางที่สูง ลูกหลานในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าจำต้องเลือกโรงเรียนรัฐใกล้บ้านเป็นหลัก เด็กบางคนอาจโชคดีที่โรงเรียนใกล้บ้านมีคุณภาพ แต่เด็กจำนวนมากไม่โชคดีเช่นนั้น การเข้าถึงความรู้ในสถานศึกษาจึงเป็นดั่งโชคชะตาที่ลิขิตมากับเศรษฐสถานะตั้งแต่แรกเกิดและที่อยู่อาศัยของครอบครัว

ในโลกปัจจุบัน การพัฒนาและความแพร่หลายของระบบสารสนเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มช่องทางและโอกาสนอกสถานศึกษาในการเข้าถึงข้อมูลความรู้และพัฒนาทักษะที่ตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลมากขึ้น การเรียนผ่านยูทูบและหลักสูตรออนไลน์ที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือมีราคาต่ำมีอยู่จำนวนมาก กระนั้นก็ตาม ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านดิจิทัล ก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงความรู้ของคนที่ด้อยโอกาสกว่า โดยเฉพาะในด้านต้นทุนอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอินเทอร์เน็ต

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ห้องสมุดสาธารณะเป็นบริการพื้นฐานระดับเมืองและชุมชนสำหรับการเรียนรู้ของประชาชนที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโรงเรียนและโรงพยาบาล โดยถือเป็นสถาบันทางสังคมที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน แม้ในยุคนี้ที่คนมีทางเลือกออนไลน์มากขึ้น แต่ห้องสมุดสาธารณะก็ยังคงเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่สำคัญของประชาชน ห้องสมุดหลายแห่งในต่างประเทศได้ปรับปรุงการบริการให้ทันกับยุคสมัย เช่น การเปิดให้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตฟรี มีห้องประชุมกลุ่มย่อย และมีพื้นที่สำหรับการสังสรรค์และกิจกรรมทางสังคมและศิลปวัฒนธรรมของชุมชน เป็นต้น

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย การสร้างสาธารณูปการระดับชุมชนเพื่อการเรียนรู้นอกสถานศึกษามีอยู่น้อยมาก ห้องสมุดประชาชนไม่ได้มีอยู่ทั่วไปในแหล่งชุมชน และที่มีอยู่บ้างก็มีคุณภาพไม่ดีพอ เด็กนักเรียนและประชาชนจำนวนมากต้องเสียเงินเสียทองไปเข้าร้านกาแฟ เพื่อใช้พื้นที่ในการอ่านหนังสือและทำงาน เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าและถูกกว่า

หากเราเชื่อว่า รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน โดยไม่จำกัดเพศ วัยและสถานะทางเศรษฐกิจสังคม รัฐยิ่งต้องมีบทบาทสำคัญในการจัดเตรียมสาธารณูปโภคสาธารณูปการและพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินส่วนรวม (commons) สำหรับการเรียนรู้ที่มากกว่าที่มีอยู่ภายในสถานศึกษา โดยต้องให้สอดคล้องกับรูปแบบการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตของคนเมือง

ความเหลื่อมล้ำในการ ‘รู้จักใคร’

 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับและส่งเสริมการเรียนรู้ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว ทั้งในสังคมทั่วไปและในวงการนโยบายการศึกษาและการผังเมือง แต่อีกประเด็นหนึ่งที่มีนัยสำคัญสำหรับนโยบายการศึกษาและการพัฒนาเมือง คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ผูกโยงกับเรื่องเครือข่ายทางสังคมและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมในพื้นที่ส่วนรวม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสำเร็จในอาชีพการงานและการดำรงชีวิตด้านอื่นๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่ความรู้แบบ ‘รู้ว่าคืออะไร’ (know-what) แบบ ‘รู้วิธีการเอาไปใช้อย่างไร’ (know-how) และแบบ ‘รู้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร’ (know-why) เท่านั้น แต่ ‘การรู้จักใคร’ (know-who) ก็เป็นความรู้ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตเช่นกัน เพราะเครือข่ายสังคมของคนที่รู้จักกันมักมีผลต่อการเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตหลายด้าน

ยกตัวอย่างเช่น การที่คนคนหนึ่งมีความรู้และทักษะที่เพียงพอสำหรับการทำงาน ไม่สามารถประกันได้ว่าคนคนนั้นจะหางานได้ตามที่ตนเองคาดหวังเสมอไป การหางานและได้งานไม่ว่าจะในอาชีพใด มักเกิดขึ้นจากการแนะนำและบอกต่อผ่านเครือข่ายสังคม แม้ว่าช่องทางหางานทางสิ่งตีพิมพ์และแพลตฟอร์มออนไลน์ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน แต่การรู้จักคนผ่านเครือข่ายก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเข้าถึงข้อมูลและโอกาสในการทำงาน

นั่นหมายความว่า ความเหลื่อมล้ำในการรู้จักใครในเครือข่ายสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ตามมา โรงเรียนที่มีชื่อเสียงไม่ได้มีเพียงโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรที่ช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะให้กับนักเรียน แต่ยังเป็นพื้นที่เครือข่ายสังคมในหมู่พรรคพวกเพื่อนฝูงและรุ่นพี่ ซึ่งอาจเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญในการหางานและใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ต่อไปหลังเรียนจบ

การรู้จักกันและเรียนรู้ซึ่งกันและกันภายในเครือข่ายสังคมเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่อาจสร้างประโยชน์ให้กับคนในเครือข่ายนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนในเครือข่ายกับนอกเครือข่าย และอาจเป็นอุปสรรคสำหรับคนจำนวนมากในการขยับสถานะทางเศรษฐกิจสังคม

หมู่เกาะสังคมและความเป็นธรรมระดับสังคม

 

การสร้างเครือข่ายสังคมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ภายในสังคมโรงเรียน แต่รวมไปถึงพื้นที่ที่เด็กนักเรียนและครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม ความแปลกแยกของพื้นที่ในการใช้ชีวิตทำให้โอกาสของการเรียนรู้ระหว่างผู้คนในสังคมลดลง โดยเฉพาะระหว่างคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมแตกต่างกัน

ปัญหาหนึ่งในรูปแบบการพัฒนาเมืองของไทยในปัจจุบันคือ คนเมืองแยกกันอยู่เป็นกลุ่มก้อนในบางชุมชนและบางพื้นที่คล้ายกับเป็นหมู่เกาะสังคม ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนที่อยู่ในหมู่เกาะสังคมนี้เน้นเฉพาะกับคนในหมู่เกาะเดียวกัน ซึ่งมักมีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมคล้ายกัน แม้ในบางกรณีอาจมีความเกี่ยวพันกันอย่างหลวมๆ ด้วยวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน มากกว่าการยึดเหนี่ยวด้วยคุณค่าและค่านิยมแบบชุมชนนิยมแบบดั้งเดิม

ตัวอย่างของหมู่เกาะสังคมในเมืองที่เห็นได้ชัดคือ คอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรรล้อมรั้วของคนมีฐานะและชนชั้นกลางในเมือง แต่ละคอนโดและหมู่บ้านมีสโมสร สระว่ายน้ำ และสวนส่วนกลางที่เปิดให้ใช้ได้เฉพาะสมาชิกในหมู่บ้าน รวมไปถึงโรงเรียนเอกชนที่เข้าได้เฉพาะกลุ่มคนที่จ่ายได้

สาธารณูปการแนวนี้ถือว่าเป็นสินค้าสโมสร (club goods) ที่เกิดมาจากความล้มเหลวของรัฐในการจัดหาบริการสาธารณะให้กับประชาชน คนที่มีฐานะเลือกที่จะอยู่ในชุมชนแบบนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสาธารณูปการที่ขาดหายไปในพื้นที่เมืองทั่วไป

เมืองที่คนอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนแบบหมู่เกาะและใช้สินค้าสโมสรมากขึ้นเท่าไร ผู้คนในเมืองก็จะใช้ชีวิตแปลกแยกออกจากกันมากขึ้นเท่านั้น และส่งผลให้เครือข่ายสังคมยิ่งแคบและแยกออกจากกันอย่างชัดเจนมากขึ้น ความแปลกแยกในรูปแบบเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อลดความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม

อนึ่ง แม้ความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคลและกลุ่มคนเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของความไม่เป็นธรรม แต่ความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้อธิบายความเป็นธรรมในทุกด้านเสมอไป อีกนัยหนึ่งคือ การสร้างความเป็นธรรมในสังคมไม่ได้หมายถึงเพียงการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคนเท่านั้น

ตามแนวคิดความเป็นธรรมแบบชุมชนนิยม (communitarian justice) ปัจเจกและสังคมมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกกันไม่ออกเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน พฤติกรรมตามแนวคิดเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกมากจนเกินไป ในบางกรณีอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม และท้ายที่สุดก็อาจกลับมาผลต่อปัจเจกเองได้

ตามแนวคิดความเป็นธรรมแบบชุมชนนิยม ประโยชน์ส่วนรวม (common good) นับเป็นปัจจัยและเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการสร้างความเป็นธรรมในระดับสังคมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล

หากนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างปัจเจกในการเรียนรู้ทั้งในสถานศึกษา จึงเกี่ยวโยงกับการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระดับสังคมอย่างแยกกันไม่ออก

โรงเรียนที่เด็กนักเรียนมีพื้นฐานและวิถีของชีวิตที่คล้ายคลึงกันมากเกินไป อาจทำให้ความหลากหลายในการเรียนรู้ทางสังคมของเด็กลดลง โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตมาในหมู่บ้านจัดสรรล้อมรั้วที่ปลีกแยกจากชุมชนอื่นๆ และเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียนด้วยรถยนต์ส่วนตัว โดยไม่ใช้การขนส่งสาธารณะ

ชีวิตในฟองสบู่ดังกล่าวมีผลอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และโลกทัศน์ของเด็กนักเรียนที่เติบโตขึ้นมาในสังคมแบบหมู่เกาะ

 

โรงเรียนในฐานะพื้นที่ทรัพย์สินส่วนรวมของชุมชน

 

เนื่องจากมนุษย์มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีวิถีชีวิตและความคิดความอ่านคล้ายคลึงกัน และคนที่มาจากพื้นฐานทางครอบครัวที่แตกต่างกันมักมีความคิดความอ่านแตกต่างกัน โอกาสในการรับรู้และเข้าใจในความแตกต่างของคนอื่นๆ ในสังคมจึงต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อย ทั้งในสถานศึกษาที่มีความแตกต่างทางสถานะเศรษฐกิจสังคมของนักเรียน และในพื้นที่ส่วนรวมที่ผู้คนได้พบปะและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่มีความหลากหลายมากกว่าภายในหมู่เกาะสังคมของแต่ละคน

เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้และสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในทุกช่วงก้าวของการใช้ชีวิต โรงเรียนจึงมีบทบาทเป็นเหมือนพื้นที่ทรัพย์สินส่วนรวมที่ผู้คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่เพียงเฉพาะสำหรับนักเรียน แต่รวมไปถึงครอบครัวและคนอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนนั้น ในขณะเดียวกัน พื้นที่ส่วนรวมนอกโรงเรียนก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกตำราและห้องเรียน

ด้วยเหตุนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการเรียนรู้จึงไม่ได้มีเพียงเรื่องระดับการเข้าถึงความรู้และทักษะที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลและกลุ่มคน แต่รวมไปถึงการเรียนรู้ร่วมกันและซึ่งกันละกันของคนในสังคมที่มีความแตกต่างกันในพื้นฐานทางสังคม เศรษฐกิจและความเชื่อต่างๆ

ในสังคมปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ความหลายหลายและพหุนิยมของคนในสังคมจะเป็นทั้งความท้าทายและความมุ่งหวังของการดำเนินนโยบายสาธารณะ เป้าหมายของนโยบายการเรียนรู้ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงไม่ได้อยู่ที่เพียงการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ของคนในสังคมให้เท่าเทียมกันอย่างเดียว แต่ควรครอบคลุมไปถึงการสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกันและซึ่งกันและกันของคนในสังคมที่มีความหลากหลายอีกด้วย

โรงเรียนคุณภาพดีที่อยู่ใกล้บ้านและมีนักเรียนที่มาจากสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลาย รวมทั้งพื้นที่ส่วนรวมนอกสถานศึกษาที่เปิดกว้างให้ผู้คนเรียนรู้ร่วมกันและซึ่งกันและกัน จะไม่เพียงช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคล แต่จะยังเป็นพื้นฐานของการสร้างความเป็นธรรมในระดับสังคมอีกด้วย ความท้าทายนี้ถือเป็นโจทย์ร่วมสำคัญทั้งสำหรับนักการศึกษาและนักพัฒนาเมือง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save