fbpx
ความเป็นพลเมืองในลาตินอเมริกา

ความเป็นพลเมืองในลาตินอเมริกา

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ท่านผู้บัญชาการทหารบกของไทยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังจากบรรยายให้กับนักศึกษาวิชาทหาร โดยสะท้อนมุมมองบางช่วงว่า นักเรียนนักศึกษาวิชาทหารได้สะท้อนความคิดเห็นว่า

“สถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสำคัญยิ่งกับประเทศไทย ใครก็ตามที่ไม่นึกถึงแผ่นดินเกิด ไม่นึกถึงบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่สมควรจะอยู่เมืองไทย”

จะเห็นได้ว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินวลีหรือประโยคทำนองนี้บ่อยมากในสังคมไทยที่บ่มเพาะความขัดแย้งในทุกมิติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ถึงกับมีการกล่าวเปรียบเปรยว่าเราอยู่ใน ‘ยุคสิบปีแห่งความหายนะ’ (Lost decade) แนวความคิดเรื่อง ‘ความรักชาติ’ กลายเป็นมายาคติที่พร้อมจะให้ประหัตประหารหรือโจมตีฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ เปรียบเสมือนลิ่มที่คอยตอกย้ำความแตกแยกในสังคมไทย เมื่อการเกิดบนแผ่นดินไทยไม่เพียงพอกับการที่จะถูกนับว่าเป็น ‘คนไทย’ แต่เราถูกบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมว่าจะต้องแสดงความรักชาติออกมาให้เห็นด้วยถึงจะนับเป็นคนไทยหรือพลเมืองไทยที่เหมาะสมและควรค่ากับการอยู่บนพื้นที่แหลมทองนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ควรจะถูกอัปเปหิออกไป คำถามที่สำคัญคือแนวความคิดการเป็นคนไทยในลักษณะนี้เหมาะสมกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

คราวนี้ผมขอนำเสนอแนวความคิดเรื่องการเป็นพลเมืองในสังคมลาตินอเมริกาที่ถึงแม้ว่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่มีใครหน้าไหนลุกขึ้นมาชี้หน้าไล่คุณออกจากการเป็นพลเมืองของประเทศนั้นได้

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาแนวความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นประเด็นที่สำคัญของการเมืองในภูมิภาคลาตินอเมริกา[1] ประเด็นเรื่องสิทธิถือว่ามีความสำคัญในฐานะเครื่องมือของการประกันความเป็นพลเมืองและคุณภาพของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย[2] ความหมายที่หลากหลายของประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับประเภทของสิทธิที่ไม่เหมือนกัน อาทิ ประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการจะเน้นเรื่องสิทธิทางการเมือง ขณะที่ประชาธิปไตยที่เน้นเรื่องคุณภาพของประชากรมักจะให้ความสำคัญกับสิทธิทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญ

ประเทศส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกาต่างก็ลงนามยอมรับเป็นภาคีสมาชิกของข้อตกลงเรื่องสิทธิมนุษยชนสากล ที่ให้การประกันทั้งสิทธิทางการเมืองในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมในการเลือกวิธีชีวิตตามความพึงใจของแต่ละบุคคล[3]

สิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมทั้งสิทธิในการออกเสียงในการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม

สิทธิทางกฎหมาย ได้แก่ สิทธิในการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ รวมถึงได้รับการคุ้มครอง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สิทธิทางสังคม ได้แก่ สิทธิในการที่แต่ละบุคคลจะพัฒนาศักยภาพตามความพึงใจเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สิทธิทางสังคมยังครอบคลุมไปถึงสิทธิในการได้รับการศึกษา การบริการทางสาธารณสุข และการจ้างงาน

ในปัจจุบันสิทธิในการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ เช่น การมีชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยก็ถือเป็นหนึ่งในสิทธิทางสังคมที่รัฐจะต้องดำเนินการจัดหาให้ ปัจจุบันหลายประเทศในลาตินอเมริกามีการตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเหล่านี้[4]

UNDP ได้ทำการสำรวจว่าประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองสิทธิของประชาชนมากน้อยเพียงใด[5] โดย UNDP มองว่าประชาธิปไตยของลาตินอเมริกาควรจะพัฒนาจากประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งไปเป็นประชาธิปไตยของพลเมือง (Citizenship Democracy) ดังนั้นรายงานการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาที่ทำร่วมกันระหว่างองค์การรัฐอเมริกันและ UNDP ในปีค.ศ. 2011 จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิพลเมืองในฐานะหัวใจของการวัดความเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาจะต้องให้ความสนใจในสิทธิพลเมืองของตัวเอง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย[6]

ความเป็นพลเมืองนั้นประกอบด้วยสิทธิประเภทต่างๆ ของประชาชนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

 

สิทธิทางการเมือง

 

Foweraker[7] และพวก ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาที่ผ่านมา นำไปสู่สิทธิทางการเมืองที่ดีขึ้นจากการประเมินของ Freedom House[8] สังเกตได้จากการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามในรายงานของ Freedom House ปีค.ศ. 2016 ระบุว่าดัชนีชี้วัดสิทธิทางการเมืองในเอลซัลวาดอร์และฮอนดูรัสมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สิทธิทางการเมืองของประชาชนในสาธารณรัฐโดมินิกันและกัวเตมาลาลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ Freedom House ยังได้จำแนกอีก 11 ประเทศในลาตินอเมริกาว่าประชาชนมีสิทธิทางการเมืองไม่เต็มที่ ได้แก่ โบลิเวีย โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส เม็กซิโก นิคารากัว ปารากวัยและเวเนซุเอลา ส่วนคิวบานั้นถูกจำแนกว่าไร้สิทธิทางการเมือง[9] ขณะเดียวกันหนึ่งในตัวชี้วัดดัชนีธรรมาภิบาลของธนาคารโลกมีเรื่องสิทธิทางการเมืองว่าประชาชนจะต้องมีอิสระและเสรีภาพในการเลือกรัฐบาล โดยระบุว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาสิทธิทางการเมืองของประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกามีแนวโน้มที่ดีขึ้น

 

สิทธิทางกฎหมาย

 

รายงานของ UNDP ระบุว่าสิทธิทางกฎหมายในการได้รับความคุ้มครองจากรัฐของประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ประเด็นเรื่องเพศสภาพ เชื้อชาติและอัตลักษณ์ในการมีส่วนร่วมในสังคมถือเป็นมาตรวัดที่สำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นธรรมาภิบาลของประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา[10] มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสิทธิทางกฎหมายของกลุ่มเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ปัจจุบันผู้หญิงในลาตินอเมริกามีส่วนร่วมทางการเมืองเทียบเท่าผู้ชาย

Freedom House เผยแพร่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีแค่สองประเทศคือสาธารณรัฐโดมินิกันและฮอนดูรัสที่สิทธิทางกฎหมายของประชาชนลดลงระหว่างปีค.ศ. 2002 ถึงปีค.ศ. 2015[11] อย่างไรก็ตาม UNDP ระบุว่ายังคงมีปัญหาในเรื่องการเลือกปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียมในการได้รับการบริการ ขณะเดียวกันก็มีการละเมิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง ความก้าวหน้าในเรื่องการเคารพในความเป็นมนุษย์ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของภูมิภาค ประชาชนยังคงถูกละเมิดสิทธิเป็นเนืองนิจโดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลที่มีแนวโน้มเป็นเผด็จการ

 

สิทธิทางสังคม

 

คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในลาตินอเมริกามีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน อาทิ อัตราการมีชีวิตรอดหลังเกิดเพิ่มสูงขึ้น ประชากรมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกายังต้องเผชิญ[12] บางครั้งปัญหาความยากจนอาจจะไม่ได้รับความสนใจตราบจนกระทั่งบานปลายกลายเป็นวิกฤต อาทิ กรณีของกัวเตมาลาในปีค.ศ. 2009 ประธานาธิบดี Álvaro Colom ประกาศภาวะฉุกเฉินเนื่องจากประสบปัญหาทุพภิกขภัยในภาคตะวันออกของประเทศ องค์การอาหารและยาของสหประชาชาติระบุว่ากัวเตมาลานั้นมีความเสี่ยงสูงเป็นลำดับที่ 4 ของโลกที่จะเผชิญปัญหาความอดอยาก ปัจจุบันเด็กที่อายุต่ำกว่าห้าขวบในกัวเตมาลา มีถึงร้อยละ 49.8 ที่ประสบภาวะขาดแคลนสารอาหาร[13]

 

สิทธิทางสิ่งแวดล้อม

 

ปัจจุบันประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญในการถกเถียงเรื่องสิทธิพลเมืองในลาตินอเมริกา สิทธิทางสิ่งแวดล้อมหมายถึงสิทธิในการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ มีน้ำที่สะอาดในการอุปโภคบริโภค เป็นต้น ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารประเทศจะต้องให้ความสนใจ[14] เกิดเป็นแนวความคิดที่เรียกว่า ‘ความเป็นพลเมืองทางด้านสิ่งแวดล้อม’ (Environmental Citizenship หรือ Ecological Citizenship) ที่สะท้อนสิทธิของพลเมืองในการดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว ปัจจุบันประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ถูกบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญของหลายๆ ประเทศในลาตินอเมริกา ฝ่ายตุลาการก็ได้ให้ความสำคัญโดยการจัดตั้งศาลขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การบุกรุกป่า การระงับสัมปทานเหมืองแร่ รัฐธรรมนูญมาตรา 4 ของเม็กซิโกระบุไว้อย่างชัดเจนว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีพภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองจะได้รับการยอมรับไปควบคู่กับการพัฒนาประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา แต่ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวก็มีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศหรือในแต่ละช่วงเวลา เหมือนกับประชาธิปไตยที่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงเพราะมีการให้คำนิยามที่ไม่เหมือนกัน[15] แต่ถึงกระนั้นความเป็นพลเมืองถือเป็นมาตรวัดที่สำคัญของธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย เพราะปัญหาที่สำคัญของประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาคือประเด็นเรื่องสิทธิที่ยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ในสังคม สิทธินั้นไม่สามารถจะแสดงออกได้อย่างเต็มที่ตราบใดก็ตามที่ฝ่ายตุลาการไม่เป็นอิสระและขาดความเที่ยงธรรม ในหลายๆ ประเทศที่มีการพัฒนาสิทธิทางการเมืองแต่ทว่ายังมีข้อจำกัดของสิทธิทางกฎหมายหรือสิทธิทางสังคม ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นดาษดื่นในลาตินอเมริกาบดบังสิทธิการมีชีวิตอยู่อย่างสันติสุขของประชาชนในภูมิภาค[16] ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่าพลเมืองในลาตินอเมริกานั้นมีสิทธิความเป็นพลเมืองในระดับต่ำ เป็นประชาธิปไตยที่มีความเหลื่อมล้ำในชนชั้น หรือแม้กระทั้งมองว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีแม้แต่สิทธิความเป็นพลเมือง[17] ความล้มเหลวของระบอบการเมืองแบบผู้แทนในการตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และการไร้ศักยภาพของรัฐในการจัดการปัญหาเรื่องความเหลี่อมล้ำและความยากจนอาจส่งผลต่อความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้ประชาชนหันไปสมาทานกับทางเลือกอื่นและเกิดความไม่พอใจต่อแนวทางประชาธิปไตยก็เป็นได้

 

 


อ้างอิง

[1] Sonia Cardenas, Human Rights in Latin America: A Politics of Terror and Hope (Philadelphia: University of Pennsylvania Press, 2010).

[2] Mario Sznajder, Luis Roniger, and Carlos A. Forment (eds.), Shifting Frontiers of Citizenship: The Latin American Experience (Leiden and Boston: Brill, 2013).

[3] Katherine Hite, and Mark Ungar (eds.), Sustaining Human Rights in the TwentyFirst Century: Strategies from Latin America (Washington DC: Woodrow Wilson Center Press, and The Johns Hopkins University Press).

[4] Erika Moreno, “The Contributions of Ombudsman to Human Rights in Latin America, 1982-2011,” Latin Americans Politics and Society 53, no. 1 (2016): 98-120.

[5] UNDP, Democracy in Latin America: Towards a CitizensDemocracy: Statistical Compendium (New York, and Buenos Aires: United Nations Development Program, and Alfaguara, 2004b)

[6] OAS, and UNDP, Nuestra Democracia (Mexico City, Organization of American States, and The UNDP, 2011).

[7] Joe Foweraker, Todd Landman, and Neil Harvey, Governing Latin America (Cambridge: Polity Press, 2003).

[8] Freedom House เป็นหน่วยงานสาธารณะในวอชิงตัน ดีซี ที่ทำการวิจัยเรื่องความเป็นเสรีทางประชาธิปไตย และส่งเสริมแนวคิดแบบประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ

[9] Freedom House, Freedom in the World 2016 (Washington DC: Freedom House). Online: https://freedomhouse.org/sites/default/files/FH_FITW_Report_2016.pdf [accessed October 14, 2018].

[10] Guillermo O’Donnell et al (eds.), New Voices in the Study of Democracy in Latin America (Washington D.C.: Woodrow Wilson International Center for Scholars, 2008).

[11] Freedom House, Country Reports (Washington DC: Freedom House, 2002) และ Freedom House, Freedom in the World 2016 (Washington DC: Freedom House). Online: https://freedomhouse.org/sites/default/files/FH_FITW_Report_2016.pdf [accessed October 14, 2018].

[12] Paul Gootenburg, and Luis Reygadas (eds.), Indelible Inequalities in Latin America: Insights from History, Politics and Culture (Durham: Duke University Press, 2010).

[13] WFP, “What Are the Current Issues in Guatemala?” World Food Program (WFP) Countries: Guatemala. Online: www.wfp.org/countries/guatemala [accessed October 16, 2018].

[14] Andrew Dobson, and Derek Bell (eds.), Environmental Citizenship (Cambridge: MIT Press, 2006) และ Alex Latta, and Hannah Wittman (eds.), Environment and Citizenship in Latin America: Natures, Subjects and Struggles (New York: Berghahn, 2012).

[15] Evelina Dagnino, “Meaning of Citizenship in Latin America,” IDS Working Paper no. 258 (Brighton, Institute of Development Studies, University of Sussex, 2005) ; Joseph S. Tulchin, and Meg Ruthenburg (eds.), Citizenship in Latin America (Boulder: Lynne Rienner, 2006).

[16] Enrique Desmond Arias, and Daniel M. Goldstein (eds.), Violent Democracies in Latin America (Durham: Duke University Press, 2010).

[17] Guillermo O’Donnell, “On the State, Democratization and Some Conceptual Problems: A Latin American View with Glances at Some Post-Communist Countries,” World Development 21, no. 8 (1993): 1355-1369; Carlos M. Vilas, “Introduction: Participation, Inequality, and the Whereabouts of Democracy,” in Douglas A. Chalmers et al (eds.), The New Politics of Inequality in Latin America: Rethinking Participation and Representation (Oxford: Oxford University Press, 1997); Paulo Sérgio Pinheiro, “Popular Reponses to State-Sponsored Violence in Brazil,” in Douglas A. Chalmers et al (eds.), The New Politics of Inequality in Latin America: Rethinking Participation and Representation (Oxford: Oxford University Press, 1997) ; Joseph S. Tulchin, and Allison Garland (eds.), Social Development in Latin America: The Politics of Reform (Boulder, Lynne Rienner, 2000).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save