fbpx

เมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนกลายเป็น ‘อภิสิทธิ์’?

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา แอดมินเพจสำนักข่าวราษฎรและเพจปล่อยเพื่อนเราถูกตำรวจควบคุมตัวระหว่างรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่แยกดินแดงในฐานะสื่ออิสระ โดยเหตุผลหนึ่งที่เจ้าหน้าที่อ้างเพื่อใช้ในการจับกุมคือการที่สื่อภาคประชาชนทั้งสองไม่ได้รับการยืนยันจากองค์กรวิชาชีพว่าเป็นสื่อมวลชน

แม้หลังจากนั้นไม่นาน ศาลจะมีคำสั่งให้แอดมินเพจทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ในการแถลงข่าวของรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลาต่อมาก็ยังระบุว่า ผู้ที่จะรายงานสถานการณ์การชุมนุมในฐานะ ‘สื่อมวลชน’ จะต้องมีต้นสังกัดและได้รับการรับรองโดยองค์กรวิชาชีพที่ทำข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ไว้ ส่วนใครที่ไม่มีเอกสารรับรองสถานะจากองค์กรวิชาชีพจะไม่มี ‘เอกสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษ’ ในการรายงานข่าวจากพื้นที่การชุมนุม

การอธิบายว่าคนที่เป็น ‘สื่อมวลชน’ ต้องมีสังกัดบางประการเพื่อให้ตรวจสอบได้ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ได้อุปโลกน์กันขึ้นมาเองดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่ขณะเดียวกัน เหตุผลนี้ก็สะท้อนความเข้าใจอันจำกัดของผู้บังคับใช้กฎหมายและองค์กรวิชาชีพสื่อในการขีดเส้นแบ่งว่าใครเป็น ‘สื่อ’ โดยพิจารณาจาก ‘ความเป็นสมาชิก’ ของเครือข่ายองค์กรที่ (อ้างว่า) มีบทบาทในการกำหนดและกำกับดูแลกรอบจริยธรรมของนักวิชาชีพ แต่ไม่ได้พิจารณาจากฐานคิดที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิการสื่อสารของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้หมายรวมเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบของประชาชนด้วย


บทบาทของสื่อพลเมืองในการชุมนุม


ปรากฏการณ์ที่ประชาชนคนธรรมดาลุกขึ้นมาใช้สื่อ (ออนไลน์) เพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในการเคลื่อนไหวของไทย

ในการประท้วงในอิหร่านเมื่อปี 2009 และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” เมื่อปี 2011 ผู้อยู่อาศัยในตะวันออกกลางบอกเล่าเรื่องราวการชุมนุมไปยังญาติมิตรที่อยู่ต่างประเทศผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อให้ช่วยกันส่งต่อข้อมูลกลับมายังคนในประเทศและไปสู่ประชาคมโลก เนื่องจากช่องทางการสื่อสารในประเทศถูกปิดกั้นเป็นระยะและองค์กรสื่อของรัฐก็ไม่รายงานการเคลื่อนไหวของประชาชน ขณะที่องค์กรสื่อข้ามชาติก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปรายงานข่าวในประเทศ ดังนั้น การสื่อสารทางสื่อออนไลน์ของประชาชนจึงกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญขององค์กรสื่อระดับนานาชาติ เช่น BBC ที่ใช้เนื้อหาที่ผลิตโดยผู้ใช้ (User-generated content: UGC) ในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่ผู้สื่อข่าวไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ เพื่อให้โลกรับรู้ว่าผู้คนในภูมิภาคนั้นเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่

รายงานของ Freedom House พบว่า ในการประท้วงรัฐบาลของประชาชนในตุรกีเมื่อปี 2013 ข้อความและแฮชแท็กทางทวิตเตอร์เกี่ยวกับการประท้วงประมาณร้อยละ 90 มาจากผู้ใช้ในประเทศ ต่างจากการประท้วงในอียิปต์เมื่อปี 2011 ที่พบว่าเพียงร้อยละ 30 ของข้อความทางทวิตเตอร์มาจากผู้ใช้ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีสื่ออิสระเกิดขึ้นใหม่ไม่น้อยทั้งที่เป็นประชาชน นักกิจกรรม และองค์กรภาคประชาสังคม โดยสื่อเหล่านี้ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน รวมถึงสร้างฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงจากพื้นที่การชุมนุมและเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมทางโซเชียลมีเดียที่สื่อกระแสหลักไม่ได้รายงาน ทำให้ประชาชนทั่วไปรับรู้เรื่องการชุมนุมจากทวิตเตอร์มากกว่าจากสื่อกระแสหลัก

เช่นเดียวกับที่ตุรกี ในการประท้วงรัฐบาลของชาวโอมานจากปัญหาความยากจนและการว่างงานเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมของปีนี้ หนังสือพิมพ์แทบไม่รายงานเกี่ยวกับการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้รัฐมนตรีลาออกหรือภาพผู้ประท้วงหลายร้อยคนถูกยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่และถูกจับกุมโดยตำรวจ ขณะที่โซเชียลมีเดียกลับมีทั้งคลิปวิดีโอและคลิปเสียงที่ผู้ชุมนุมจากเมืองต่างๆ พากันอัปโหลดและแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ชาวเน็ตยังช่วยกันปั่นแฮชแท็กเกี่ยวกับการชุมนุมให้ประชาชนในพื้นที่อื่นได้รับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสร้างเครือข่ายในการจัดกิจกรรมร่วมกัน

ส่วนในสหรัฐอเมริกา สื่อพลเมืองเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการติดตามการเคลื่อนไหว Black Lives Matter สื่อเหล่านี้มีที่มาหลากหลาย ตั้งแต่ผู้ชุมนุมวัยต่างๆ ที่ใช้เฟซบุ๊กของตนในการถ่ายทอดสดการชุมนุมและการเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงสื่อ ‘รากหญ้า’ ที่ประกอบด้วยคนทำงานสื่ออิสระมารวมตัวกันเพื่อรายงานการชุมนุมในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะ


ทำไมสื่อพลเมืองต้องมารายงานการชุมนุม


ในตุรกี ประชาชนใช้เครื่องมือและช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากพื้นที่ชุมนุมเพราะการประท้วงถูกละเลยโดยสื่อมวลชนกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อของภาครัฐและองค์กรสื่อที่มีสายสัมพันธ์หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจกับรัฐบาล การเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของประชาชนไม่ได้รับพื้นที่สื่อ หรือถูกขับเน้นเฉพาะด้านที่เป็นเหตุรุนแรง ขณะเดียวกัน สื่อพลเมืองที่รายงานการเคลื่อนไหว BLM บอกว่าเหตุที่มารายงานการชุมนุมเพราะต้องการให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นออกสู่สายตาสาธารณะ ไม่เพียงเหตุการณ์ในพื้นที่การชุมนุมเท่านั้น แต่รวมถึงปัญหาและความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่ประชาชนประสบซึ่งเป็นที่มาของการชุมนุมด้วย

นอกจากการรายงานสถานการณ์แล้ว สื่อพลเมืองที่เกาะติดการเคลื่อนไหว BLM บางส่วนยังเฝ้าระวังปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามผู้ชุมนุม รวมถึงกิจกรรมของมวลชนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเคลื่อนไหว เช่นกลุ่มที่มีแนวคิดคนผิวขาวสูงส่งที่มักตอบโต้กับผู้ชุมนุมหรือทำร้ายคนกลุ่มน้อย เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันได้ล่วงหน้า

การทำงานของสื่ออิสระและสื่อภาคประชาชนเหล่านี้ไม่เพียงเป็นการสื่อสารเรื่องราวที่มักถูกเพิกเฉย แต่ยังเป็นความพยายามทดลองพัฒนาโครงสร้างของ ‘ห้องข่าว’ แบบใหม่เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดจากขนบเดิมๆ ในการเก็บข้อมูลและรายงานข่าว โดยนอกจากจะเป็นการทำงานแบบอาสาสมัครที่ใครมีใจก็มาร่วมงานกันได้แล้ว ยังเน้นการประสานงานในแนวระนาบ รวมถึงบูรณาการทักษะและเทคโนโลยีการสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อให้ส่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับประชาชนได้ทันเหตุการณ์

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อพลเมืองกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ประชาชนติดตามและเชื่อถือ คือความเชื่อมั่นในสื่อมวลชนกระแสหลักที่ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชุมนุมที่เห็นว่าการรายงานของสื่อกระแสหลักมีอคติหรือสนับสนุนมุมมองที่เป็นอำนาจนำในสังคมผ่านกระบวนการและวัฒนธรรมการผลิตข่าวแบบดั้งเดิม รวมถึงการที่สื่อมวลชนไม่รายงานการชุมนุมอย่างต่อเนื่องเพราะมักจะหันไปให้ความสนใจกับเรื่องอื่นเมื่อมีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้น

ในการรายงานการเคลื่อนไหว BLM ผู้ชุมนุมมองว่าองค์ประกอบของคนทำงานในห้องข่าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวไม่เข้าใจประสบการณ์และมุมมองของคนกลุ่มน้อยและคนผิวสี ผู้ชุมนุมหลายคนจึงเลิกอ่าน-เลิกดูสื่อกระแสหลักเพราะเห็นว่าการรายงานไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่บางส่วนบอกว่ายังติดตามการรายงานข่าวของสื่อมวลชนกระแสหลักอยู่ แต่ก็เพื่อตรวจสอบว่าสื่อถ่ายทอดเรื่องราวการชุมนุมอย่างไร ไม่ใช่เพื่อการเข้าถึงข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ การรายงานผ่านโซเชียลมีเดียที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาเหมือนองค์กรสื่อทั่วไป ทำให้ผู้รับสารสามารถติดตามสถานการณ์ได้ตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง (real-time) โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับตารางเวลาออกอากาศ-เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นแบบแผน บางครั้งผู้ที่มาร่วมชุมนุม BLM โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยหรือคนผิวสี ก็จะไว้ใจสื่อพลเมืองมากกว่าสื่อกระแสหลักและยินยอมให้สื่อพลเมืองสัมภาษณ์ เพราะสื่อพลเมืองไม่ทำให้พวกเขาดูเป็น ‘ตัวร้าย’ ขณะเดียวกัน ความสามารถในการสร้างความไว้วางใจและเข้าถึงประชาชนยังทำให้สื่อพลเมืองเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งขององค์กรสื่อ โดยทำให้เห็นมุมมองต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคมของ ‘คนใน’ ที่บ่อยครั้งก็เป็นนักกิจกรรมหรือฝังตัวอยู่กับขบวนการเคลื่อนไหวด้วย

ภายใต้เงื่อนไขที่เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัด การนำเสนอข้อมูลของนักข่าวพลเมืองและการอภิปรายถกเถียงบนพื้นที่ออนไลน์ของผู้ใช้สื่อก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่สื่อมวลชนกระแสหลักจะเพิกเฉยไม่ได้ งานวิจัยบทบาทของนักข่าวพลเมืองในจีนพบว่า แม้กระแสการสื่อสารในพื้นที่ออนไลน์ของสื่อพลเมืองจะไม่สามารถท้าทายวาระข่าวสารที่ถูกกำหนดไว้โดยองค์กรสื่อและแพลตฟอร์มในสังกัดรัฐได้ แต่องค์กรสื่อและแพลตฟอร์มที่ดำเนินงานเชิงพาณิชย์ยังต้องใส่ใจต่อประเด็นที่ผู้ใช้สื่อให้ความสำคัญ ทำให้สื่อพลเมืองสามารถกำหนดวาระข่าวสารขององค์กรและแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์และเปิดช่องให้ประชาชนส่งเสียงไปยังผู้กำหนดนโยบายได้บ้าง

ด้วยเหตุนี้ สื่อพลเมืองจึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะเป็นหูเป็นตาให้กับประชาชนในการชุมนุม ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ เป็นไปอย่างเปิดเผย ถูกตั้งคำถาม และตรวจสอบได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางสื่อสารของประชาชนที่ถูกละเลย และสามารถกระตุ้นเตือนไม่ให้สังคมเพิกเฉยต่อเรื่องที่สื่อมวลชนกระแสหลักและสถาบันอื่นๆ ไม่ให้ความสำคัญ จนนำไปสู่การอภิปรายถกเถียงและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้


เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของสื่อพลเมือง


แน่นอนว่าการนำเสนอเนื้อหาโดยผู้ใช้สื่อและสื่อพลเมืองอาจมีผลกระทบเชิงลบต่อการสร้างพื้นที่การสื่อสารที่มีคุณภาพสำหรับการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม รวมถึงการอภิปรายถกเถียงกันด้วยข้อเท็จจริงที่รอบด้านอย่างมีอารยะของสาธารณะเช่นกัน เนื่องจากอาจเป็นข้อมูลหรือมุมมองด้านเดียว เน้นการนำเสนอความเห็นความเชื่อส่วนบุคคล แพร่กระจายข้อมูลที่สร้างความสับสนหรือข้อมูลเท็จ (ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) รวมถึงสื่อสารด้วยท่าทีที่คุกคามและความเกลียดชัง นอกจากนี้ การกำหนดนิยามว่าใครเป็น ‘สื่อพลเมือง’ ก็ลื่นไหลไม่หยุดนิ่งไปตามนิเวศการสื่อสารที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐและประชาชนในสังคมประชาธิปไตยควรมาทำความเข้าใจและกำหนดกติกาในการใช้พื้นที่สื่อสารร่วมกันโดยตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สนทนาวิสาสะกันต่อไปได้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่น ขณะที่สื่อมวลชนก็ควรจะตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหา (verify) ที่ประชาชนสื่อสารหรืออธิบายบริบทแวดล้อมเพื่อให้ผู้รับสารทั่วไปได้รับข้อมูลรอบด้านก่อนจะรายงานเป็นข่าวตามแนวปฏิบัติที่ควรจะเป็น การที่คนธรรมดาออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดไม่ใช่ปัญหาที่สถาบันหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมาชี้ว่าใครไม่มีสิทธิได้รับการปกป้องจากการสื่อสารข้อเท็จจริง หรือสิทธิเสรีภาพนี้ถูกสงวนไว้สำหรับ ‘ผู้ได้รับอนุญาต’ เท่านั้น

หากพิจารณาจากบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาฉบับที่ 1 (First Amendment) ซึ่งรับรองเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ (public spaces) รองศาสตราจารย์ Barbara Fought แห่งมหาวิทยาลัย Syracuse อธิบายว่าพลเมืองสามารถทำหน้าที่เป็นผู้รายงานเหตุการณ์ที่พบเห็น บันทึกภาพ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะได้ ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดขอบเขตในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะและข้อมูลส่วนบุคคลที่คุ้มครองสิทธิของทั้งพลเมืองและสื่อมวลชน เพื่อรับประกันว่าการเผยแพร่ข้อมูลจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและไม่ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น

แม้เราจะไม่อาจนับได้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับการประท้วงที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียทุกชิ้นจะทำให้ผู้โพสต์เป็นนักข่าวพลเมืองโดยอัตโนมัติ แต่รองศาสตราจารย์ Fought ชี้ว่า คำกล่าวที่ว่าผู้สื่อข่าวมีสิทธิพิเศษในการรายงานการชุมนุมนั้นเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากสื่อมวลชนได้รับการคุ้มครองนี้จากบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 เช่นเดียวกับประชาชนทุกคน ไม่ใช่เพราะต้องเป็นสื่อมวลชนจึงจะได้รับการคุ้มครอง ที่สำคัญคือรัฐบาลไม่ใช่ผู้กำหนดว่าใครเป็นหรือไม่เป็นผู้สื่อข่าว เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลเลือกปฏิบัติต่อสื่อมวลชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนในการใช้เสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นก็ต้องระลึกด้วยว่า ‘อภิสิทธิ์’ ที่กล่าวอ้างกันนั้นมาพร้อมกับพันธกิจในการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยและเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่หากวิธีคิดและการกระทำไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน การอ้างเพียงว่าตนมีสิทธิพิเศษในการเข้าไปเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้นนัก เพราะหน่วยงานภาครัฐ (ถ้าจะทำ) และองค์กรภาคประชาสังคมก็สามารถเฝ้าระวังความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุมและสื่อสารสู่สาธารณะได้

องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพจึงต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิการสื่อสารของประชาชน ไม่ใช่เพียงเชิญชวนให้ประชาชนผลิตเนื้อหาทางโซเชียลมีเดียเพื่อนำมาประกอบการนำเสนอของตน หรือนำคลิปไวรัลในโลกออนไลน์ไปขยายความหรือต่อยอดเพื่อเรียกเรตติ้งและเพิ่มยอดวิวบนแพลตฟอร์ม แต่กลับเงียบเสียงเมื่อสื่อพลเมืองถูกปิดกั้น-คุกคาม

ผู้มีอำนาจในสังคมและสื่อมวลชนต้องเห็นว่าประชาชนเป็นหุ้นส่วนในการสื่อสารข้อเท็จจริง ไม่ใช่ ‘คู่ขัดแย้ง’ ที่เอาแต่ประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ หรือเป็นภัยคุกคามที่จะมาแย่งฐานผู้ติดตามหรือทดแทนแนวทางปฏิบัติแบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบของพลเมือง รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อพลเมืองจึงต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเช่นเดียวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน

ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศตัวจริงจะได้มีสิทธิมีเสียง มีอำนาจในการตัดสินใจ เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศที่ผู้บริหารหรือสถาบันที่มีอิทธิพลจะมองข้ามไม่ได้ รวมถึงเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ชะตาและกำหนดความหมายในการดำรงอยู่ของสถาบันสื่อมวลชนต่อไปด้วย.



อ้างอิง:

Citizen Journalism and Political Protests

– ‘Citizen journalists’ have become powerful allies in the fight to afflict the comfortable

Who’s Reporting the Protests? Converging practices of citizen journalists and two BBC World Service newsrooms, from Iran’s election protests to the Arab uprisings

– Can Pomegranates Replace Penguins?: Social Media and the Rise of Citizen Journalism in Turkey

Citizen Journalism Outperforms State Media in Oman’s Recent Protests

– ‘I’m out here—I am the news for our people.’ How protesters across the country are keeping informed.

‘People Like Me’: Black Citizen Journalists Fill Trust Gap In St. Louis Media Landscape

– How citizen journalists impact the agendas of traditional media and the government policymaking process in China

The impact of ‘citizen journalism’ on the public sphere

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save