fbpx
มองเมืองผ่านวรรณกรรม : ‘เนื้อเมือง’ ใน ‘พุทธศักราชอัสดง กับทรงจำของทรงจำ ของแมวกุหลาบดำ’

มองเมืองผ่านวรรณกรรม : ‘เนื้อเมือง’ ใน ‘พุทธศักราชอัสดง กับทรงจำของทรงจำ ของแมวกุหลาบดำ’

ได้รับโจทย์จากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UddC ให้ไปชวนคุยเรื่องเมืองที่ปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมของนักเขียนรางวัลซีไรต์ อย่าง วีรพร นิติประภา เลยทำให้ผมต้องมานั่งอ่านหนังสือ ‘พุทธศักราชอัสดง กับทรงจำของทรงจำ ของแมวกุหลาบดำ’ เป็นรอบที่สาม

น่าแปลก – ที่แม้อ่านเป็นรอบที่สามแล้ว แต่เมื่อตั้งต้นจาก ‘ฐาน’ การอ่านอีกแบบหนึ่ง คือเป็นการอ่านที่จับสังเกตเรื่องเมือง การขยายตัวของเมือง รวมไปถึงการตั้งรกรากถิ่นฐาน การซื้อบ้าน วิถีชีวิต ความรักและความตาย ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับ ‘เมือง’ ก็กลับทำให้การอ่านครั้งนี้ได้อรรถรสอีกแบบหนึ่ง เป็นอรรถรสในแบบที่การอ่านแบบ ‘คอวรรณกรรม’ ให้ไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะต้องอ่านแบบคนที่ชอบเล่นเกมสร้างเมือง

ถ้าใครอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว อนุญาตตัวเองให้อ่านต่อไปได้ แต่ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน และคิดว่าจะอ่าน รวมทั้งไม่อยากเสียอรรถรสในการอ่าน ก็ไม่ควรอนุญาตตัวเองให้อ่านต่อนะครับ เพราะมีความจำเป็นต้อง ‘สปอยล์’ แน่ๆ

 

หนังสือเล่มนี้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องราวซับซ้อนของความเป็นมนุษย์หลากรุ่น แต่เมื่ออ่านโดยใช้ ‘เมือง’ หรือ ‘พื้นที่’ เป็นตัวกำหนด เราจะพบว่าตัวละครใช้พื้นที่หลักๆ สองส่วนเท่านั้นในการโลดแล่นแสดงบทบาท

พื้นที่แรกก็คือกรุงเทพฯ หรือ ‘พระนคร’ โดยเฉพาะในย่านตลาดน้อยอันเป็นคล้ายจุดกำเนิดเรื่องราวทั้งปวง กับอีกพื้นที่หนึ่งก็คือฉะเชิงเทราหรือแปดริ้ว ซึ่งก็มีทั้งพื้นที่ในตัวเมืองและในตัวอำเภอบางคล้า อันเป็นที่ที่ครอบครัวของตัวละครย้ายไปอยู่ที่นั่น

ตาทวดตงตัดสินใจอพยพ พาครอบครัวลงเรือล่องแสนแสบออกจากพระนครในคืนเดือนมืดไปขึ้นเรือเอี้ยมจุ๊นที่ซื้อมา พักรอที่ขอบเมืองแปดริ้วเอาตอนรุ่งสาง จากนั้นก็ออกร่อนเร่พเนจรไปตามลำน้ำบางปะกงนานเกือบสามปี (หน้า 49)

ผู้เขียนวาดภาพให้เราเห็นถึง ‘เมือง’ ที่ตัวละครอยู่อย่างมีชั้นเชิง โดยไม่ได้ ‘บอก’ เราว่า ‘เมือง’ มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ทำให้เราเห็นว่าตัวละคร ‘ใช้’ เมืองอย่างไรบ้าง และการใช้เมืองนั้น ทำให้เรารู้ว่าตัวเมืองมีลักษณะอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อตัวละคร

ข้างเคียงเธอ เงียบใบ้ไม่พูดไม่จาราวกับคู่รักเคยคบหามาแสนนาน ผ่านวงกตของตึกราม บานเฟี้ยมที่ปิดเรียงไล่หลังมาทีละบาน…ทีละบาน ผ่านบ่ายอบอ้าวที่ค่อยๆ ระเหิดหายในเงารางจันทร์ครึ่งดวง ผ่านโพธิ์เก่าแก่ริมแม่น้ำที่ยืนควงใบผลัดใหม่กรุ๊งกริ๊ง และโดยไม่อาจเข้าใจ…ชั่ววูบหนึ่งเขาก็ให้รู้สึกเหมือนอยากจะเชื้อเชิญหญิงสาวเพิ่งพบพาน ยังไม่รู้จักกระทั่งชื่อเสียงเรียงนาม และกำลังเดินเคียงข้างช้าๆ ผู้นี้ให้นั่งลง ตรงไหนสักตรง…บนม้านั่งริมแม่น้ำ ริมราวสะพาน บนพรมหญ้า ใต้ต้นหางนกยูงที่โรยกลีบแตกร้าวพร่างลงในโพล้เพล้สีน้ำเงินจาง และฟังเขาพูดเล่า เล่าอะไรหรือ…ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตเดียวดายที่เขาใช้มา…อาจจะ เรื่องนับล้านที่เคยพบผ่าน ทุกอย่าง ทุกอย่างที่เขาปกปิดเก็บงำไม่เคยเล่าให้ใครฟัง แต่แล้วในชั่วยามอันแปลกประหลาดนั่น เขาก็กลับทำได้เพียงเดินเคียงเธอไปราวกับเป็นเงาหนึ่งเงา (หน้า 71-72)

 

เราจะเห็นว่า ตัวละครนึกถึงการนั่งริมแม่น้ำ มีพรมหญ้า มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งภาพที่ผุดขึ้นมาในความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่าน ก็คือเมืองที่มีลักษณะเป็นระเบียบ นั่นแปลว่าต้องเป็นเมืองที่มีการดูแลจัดการบางอย่าง ไม่ใช่เมืองที่ปล่อยให้รกเรื้อหรือมีปัญหาต่างๆ ดังนั้น ในย่อหน้าเดียว ผู้เขียนจึงทำให้เราเห็นถึงภาพของเมืองที่ซับซ้อน เป็นภาพในจินตนาการที่ผุดพรายขึ้นมาโดยไม่ต้องอรรถาธิบายให้ละเอียด ทว่า ‘รู้สึก’ ได้เลยว่าเมืองที่ควรจะเป็นนั้น เป็นอย่างไร และเมื่อเมืองเป็นอย่างที่มันควรจะเป็นแล้ว ผู้คนสามารถใช้เมืองเหล่านั้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ก่อให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างกันได้อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายตอนในหนังสือ ที่ผู้เขียนบรรยายให้เห็นถึง Walkability ของเมือง นั่นคือทำให้เห็นว่า การ ‘เดิน’ ไปในเมืองของผู้คน ส่งผลต่อวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง

 

วันทั้งวันจะเห็นพี่ชายน้องชายอยู่ด้วยกัน เดินเคียงข้างช้าเชื่องไปท่ามกลางละอองข้าวเปลือกสีทองของโรงสี ควบขี่มอเตอร์ไซค์ไปในเปลวแดดจ้า ประสานหัวเราะทิ้งเป็นทางลงในกลางฝุ่นคลุ้งคละเบื้องหลัง นั่งอังหม้อน้ำจิ้มกินหมูสะเต๊ะด้วยกันหน้าโรงหนัง ชี้ชวนกันดูอะไรต่อมิอะไร ทอดน่องกอดไหล่หัวเราะหัวใคร่ ไปตามถนนทุกสายในเมืองเล็กๆ นั่น กระทั่งวิ่งไล่กอดปล้ำเล่นต่อสู้กันใต้ร่มฉำฉาทำราวกับยังเป็นเด็กๆ สักพักก็จะเห็นนั่งคุยกันสีหน้าสีตาเคร่งขรึมราวปราชญ์ชรา ขะมักเขม้นหาความหมายของชีวิตอยู่ที่ระเบียง ประเดี๋ยวกระซิบกระซาบ ประเดี๋ยวก็ระเบิดหัวเราะลั่น คุยกันเรื่องไม่สลักสำคัญร้อยแปดพันเก้า (หน้า 147)

 

หรือ

 

แต่ดึกดื่นคืนหนึ่ง ไม่ตั้งใจ เขาก็ให้พบตัวเองเดินทอดน่องเรื่อยเปื่อยในเมืองอีกฝั่ง แล้วถึงเห็นว่ามันออกจะเป็นย่านที่เงียบสงบไม่น้อย ร่มรื่นและดูกลมกลืนกันดีอย่างเห็นได้ชัดระหว่างคนไทยกับคนจีน มีถนนกว้างขวางสะอาดสะอ้าน โรงเรียนสำนักงานราชการสร้างวางเป็นระเบียบเรียบร้อย สลับกับบ้านพัก ร้านค้า พื้นที่ว่าง ไม่อลหม่านพลุกพล่านเหมือนย่านร้านของเขาซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้า สกปรกรกรังทั้งท่าเรือ ท่ารถ ตลาดสด ร้านรวง โรงหนัง แล้วยังเต็มไปด้วยคนแปลกหน้าเพ่นพ่านเข้าออกทุกทิศทุกทาง (หน้า 115)

 

สองท่อนข้างบน ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า Walkability ซึ่งหมายรวมถึงการที่เมืองมีขนาดแบบ Human Scale คือมนุษย์สามารถสัญจรไปมาโดยใช้การเดินได้นั้น ทำให้เกิดผลต่อชีวิตอย่างไร ความรื่นรมย์ของการอาศัยอยู่ในเมืองที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ทำให้ไม่มีใครต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางยาวนานวันละหลายๆ ชั่วโมง เคร่งเครียดอยู่กับการต่อคิวแออัด หรือเสียเวลาและพลังงานไปเปล่าๆ ปลี้ๆ กับความวุ่นวายยุ่งเหยิงของเมืองใหญ่ที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอ

ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนไม่ได้บอกออกมาตรงๆ ทว่า ‘แสดง’ ให้เราเห็นผ่านอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ทำให้เรารับรู้ได้ถึงลักษณะของเมืองที่ดี แถมยังเปรียบเทียบลักษณะของเมืองที่แตกต่างกันให้เราเห็นได้ในย่อหน้าเดียวด้วย

คุณอาจจะบอกว่า แต่นั่นคือฉะเชิงเทรา หัวเมืองต่างจังหวัด เป็นเมืองเล็กๆ แต่ถ้าดูกรุงเทพฯ หรือ ‘พระนคร’ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ คุณก็จะพบ Walkability รูปแบบไม่แตกต่าง

 

โดยไม่อ้อมค้อม เขาถามต่อเบาๆ ว่าหลังปิดร้านเธอจะอยากเดินไปทานไอศกรีมที่ร้านใกล้ๆ เป็นเพ่ื่อนเขาหรือไม่

แหละเมื่อยามเย็นของไอศกรีมโซดากับความพิพักพิพ่วนระคันรัญจวนใจนั่นพ้นผ่าน อมรก็เพียรแวะเวียนมาหาเธอทุกวัน บางวันยังเทียวไปเทียวมาถึงสองครั้ง ซื้อขนมมาฝากในตอนสาย พาไปดินเนอร์ที่โรงแรมหรูหราตอนค่ำ สลับกับดูหนัง ละคอน ดูประกวดนางสาวไทยที่มีท่วงทำนองโฉมเอยโฉมงามอร่ามแท้แลตะลึงบรรเลงกึกก้องในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เพิ่งกลับมาจัดอีกครั้งหลังถูกงดหมายไปร่วมสิบปี เดินคุยกันเรื่อยเปื่อยไปตามถนนหนทางของพระนครแห่งแสงสีไสวในย่ำค่ำ พาเธอไปฮอลล์ลีลาศ สอนเธอเต้นชะชะช่า รุมบ้า แทงโก้ โบเลโร่… ขับเรโนลต์เปิดประทุนพาเธอไปกินลมชมตะวันตกน้ำถึงบางปู แล้วยังจะซื้อแว่นกันแดดราคาแพงอันใหญ่ให้เธอใส่คู่กันกับเขาด้วยอีกอัน (หน้า 123-124)

 

จะเห็นได้ว่า พระนครยุคก่อนโน้นก็เคยมี Walkability คือผู้คนสามารถ ‘เดินคุยกันเรื่อยเปื่อย’ ไปตามถนนหนทางได้ ซึ่งแปลว่านอกจากจะรื่นรมย์แล้ว ยังไม่อันตราย ไม่ต้องระวังการจี้ปล้นหรือแม้กระทั่งมลพิษ กรุงเทพฯ ยุคก่อนจึงน่าจะมีลักษณะอันพึงปรารถนาของความเป็นเมืองไม่น้อย

แต่หลังจากนั้นแล้ว เมืองก็เริ่มขยายตัวออก ผู้เขียนเล่าถึงโรงฝิ่นที่สาทร เป็นบ้านหลังงามกึ่งฝรั่งกึ่งแขกกึ่งจีน มีลักษณะแบบฝรั่งเศส รวมถึงการซื้อบ้านหลังงามที่ย่านสุขุมวิท และกระทั่งมีตัวละครไปซื้อบ้านอยู่ในซอยหม่อมแผ้ว ในย่านประดิพัทธ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของเมืองที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์จริงๆ

นอกจากที่เล่ามาทั้งหมดแล้ว ยังมีอีกสองเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนตั้งใจเชื่อมโยง ‘ภาพใหญ่’ ของเมืองเข้ากับตัวละครเล็กๆ ที่ที่สุดก็ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นเมือง ตอนหนึ่ง ผู้เขียนเล่าถึงตัวละครชื่อฮงที่อยู่ที่เมืองจีน – ว่า,

 

นอกจากชอบอ่านจดหมายซ้ำๆ จนจำขึ้นใจทุกตัวอักษร ฮงยังชอบประกอบพิธีกรรมประหลาดหลังการอ่าน ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นนิสัยติดตัวเขาไปจนตาย ทุกครั้งที่อ่านจบเขาจะหยิบแผนที่ออกมาคลี่กาง ใช้ฝ่ามือบรรจงกดเบาๆ ให้เรียบ จากนั้นก็เอานิ้วชี้ลากละเลียดโลมไปตามถนนที่เห็นเป็นเส้นสีแดง เริ่มตั้งแต่ต้นเส้นที่แยกออกมาจากตัวเมือง แตะประเสมือนเดินกระโดดโลดเต้นเป็นจุดไข่ปลาล่องหนไปตามเส้นทางลดเลี้ยว มาสิ้นสุดลงที่หน้าบ้านสีเขียวอมฟ้าตรงที่จะมีแมวลวดลายเหมือนดอกไม้อะไรสักอย่างนั่งอยู่ และตรงจุดเดียวกันจะมีครอบครัวของเขานั่งเรียงเงียบงันชั่วฟ้าดินสลายในรูปถ่าย จากนั้นก็ถึงหยิบรูปถ่ายนั่นออกมา พินิจเนิ่นนาน เพ่งไล่จ้องเข้าไปในใบหน้าทีละหน้า พึมพำทักทายแผ่วเบา…เตี่ย ม่า ตามด้วย อาหวัง อาสิ่ง อาซี อาเส็ง…ก่อนจะไปจบที่รูปถ่ายขนาดติดบัตรใบเล็กๆ ของจิตรไสว…อาไหว่ ผู้ซึ่งเขาเคยเขียนจดหมายไปหาคร้ังหนึ่งตามที่อยู่ที่ยายทวดเสงี่ยมเขียนบอกไว้แต่ไม่เคยได้รับจดหมายตอบกลับให้รับรู้ชะตากรรมว่าเป็นตายร้ายดีเช่นไร (หน้า 135)

 

จะเห็นว่า ผู้เขียนจงใจให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึง ‘ภาพใหญ่’ ของแผนที่ จากนั้นจึง ‘ลากละเลียดโลม’ ไปตามเส้นสายในแผนท่ี เพื่อพาผู้อ่านมารู้จักกับ ‘คน’ ซึ่งเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยผู้อยู่ข้างในแผนที่นั้น และเป็นผู้สร้างให้เมืองมีชีวิตและมีความหมายต่อคนอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ไกลแสนไกล

อีกตอนหนึ่งผู้เขียนเล่าถึงแม่น้ำ และทำให้เราเห็นเลยว่าผู้เขียนเข้าใจ ‘ชีวิต’ ของแม่น้ำมากแค่ไหน

 

แม่น้ำมันก็เหมือนอย่างกับคนเราๆ นี่แหละขรับ…มันอนหลับ แล้วบางหน…มันก็ฝัน (หน้า 223)

 

ประโยคสั้นๆ นี้ ทำให้เราเห็นว่า ตัวละครมองว่าแม่น้ำมีชีวิต แม่น้ำจึงไม่ใช่แค่ ‘ทางระบายน้ำ’ เหมือนที่นักจัดการและออกแบบเมืองสมัยใหม่มักจะมอง ซึ่งเป็นการ ‘ลดรูป’ แม่น้ำลง และเมื่อเกิดการสร้างเมืองโดยใช้แนวคิดแบบนี้มองแม่น้ำ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการวางผังเมืองตามมามากมาย

ที่จริง หนังสือเล่มนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองอีกมากมาย เช่น การเฝ้าแอบมองคนจากหน้าต่างห้องพักชั้นสอง ซึ่งง่ายๆ เพียงแค่นี้ แต่ก็ทำให้เรารู้สึกได้ถึงสเกลของเมือง รวมไปถึงการเล่าเรื่องภูมิประเทศ ที่สูงที่ต่ำ ที่ทำให้เกิดการตัดสินใจสร้างหรือไม่สร้างอาคารสถานที่อย่างไรบ้าง รวมไปถึงวิถีชีวิตที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อวัฒนธรรมรถยนต์ค่อยๆ ย่างกรายเข้ามา เช่นการขับรถเที่ยวไปไกลถึงวังตะไคร้ เป็นต้น ซึ่งทำให้เราเห็นได้ว่าการแผ่ขยายของเมืองและการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการเดินทางนั้นเกิดขึ้นเป็นฉากหลังของชีวิตตัวละครอย่างไรบ้าง

 

การ ‘มองเมือง’ ในวรรณกรรม ไม่ได้ทำให้เราเห็นแค่ ‘เมือง’ (เหมือนการอ่านหนังสือแนว non-fiction ว่าด้วยเรื่องการออกแบบเมือง) แต่ถ้าเราสามารถมองเห็นถึง ‘เมือง’ ในเรื่องแต่งทำนองนี้ได้ เราจะเห็นลึกไปถึงอารมณ์ความรู้สึก การให้ความหมายต่อพื้นที่ต่างๆ ของผู้คนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ และน่าจะทำให้เรารู้ว่า การจัดการเมืองที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนที่อยู่ในเมืองได้อย่างไร

และสิ่งนี้นี่แหละครับ ที่จะทำให้เมือง คนที่อยู่ในเมือง และผู้ดูแลจัดการบริหารเมือง มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม และความเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้คน มากพอที่จะรับมือกับความซับซ้อนหลากหลายของเมืองสมัยใหม่ที่นับวันก็จะยิ่งเข้าใจได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเราไม่เข้าใจเมืองตั้งแต่รากฐานของมัน ก็เป็นไปได้ที่เราจะไม่เข้าใจอะไรเลย และการไม่เข้าใจอะไรเลย ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เราจัดการกับเมืองอย่างผิดๆ ซึ่งก็จะทำให้เมืองไม่น่าอยู่ และไม่ใช่พื้นที่ที่จะสร้างความหมายใดๆ ให้กับชีวิตได้เลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save