fbpx

เมืองกับภาพยนตร์

ภายหลังชัชชาติเข้ารับตำแหน่งผู้ว่า กทม. 1 ในนโยบาย 200 กว่าข้อเมื่อตอนหาเสียงที่ถูกทำให้เห็นผลจริงในทันทีคือ นโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ หวังให้แต่ละเทศกาลดึงเอาอัตลักษณ์ของแต่ละย่านมาใช้จัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตลอดทั้งปี โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นเทศกาลภาพยนตร์ตั้งชื่อเก๋ไก๋ ‘กรุงเทพฯ กลางแปลง’ ฉายหนังที่คัดสรรมา 25 เรื่อง เน้นหนังไทยเป็นหลัก หนังเทศพอมีบ้าง ตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในรูปแบบหนังกลางแปลง วัฒนธรรมการรับชมภาพยนตร์ของไทยในอดีตที่เสื่อมหายไป พร้อมชวนผู้กำกับและนักแสดงมาพูดคุยกันก่อนหนังฉาย

หลายเรื่องที่ถูกเลือกมีความสอดคล้องกันระหว่างสถานที่ถ่ายทำกับพื้นที่ที่ฉาย เช่น ลานคนเมืองกับแพรดำ (2504) สยามสแควร์กับรักแห่งสยาม (2550) สะท้อนภาพกรุงเทพฯ หลายแง่มุม หลากมุมมอง ทั้งเก่าและใหม่คละเคล้ากัน

ซึ่งในแวดวงวรรณกรรมภาคภาษาอังกฤษ พบงานเขียนหรือการศึกษาที่เจาะจงพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เมือง’ กับ ‘ภาพยนตร์’ มากมาย เรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีการกล่าวถึงอย่างเป็นระบบมากนักในวงการวิชาการไทย[1]

เช่นที่มีซีรีส์ World Film Locations ของ Intellect สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะ สื่อ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอังกฤษ ทำหนังสือพูดถึงเมืองในฐานะที่เป็นฉากหลังของภาพยนตร์ เริ่มตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงเล่มล่าสุดออกเมื่อปี 2016 รวมแล้ว 41 เล่ม 41 เมือง จากเกือบทุกทวีปของโลก ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน ดับลิน ปารีส ปักกิ่ง เมลเบิร์น มุมไบ แวนคูเวอร์ เวนิส ซานฟรานซิสโก มอสโก บัวโนสไอเรส สิงคโปร์ ฯลฯ[2] ขาดแค่เมืองในทวีปแอฟริกา

หนังสือแต่ละเล่ม แม้นต่างคนเขียน แต่ก็ยึดแนวทางเดียวกัน เน้นนำเสนอสถานที่และฉากในภาพยนตร์ ผ่านแผนที่เมืองที่จัดกลุ่มแยกเป็นย่านๆ สลับกับบทความขนาดสั้นหลายชิ้น ธีมหลักที่ต้องมีเหมือนกันคือ ภาพลักษณ์ของเมือง (City of the Imagination) ที่ถูกบอกเล่าผ่านภาพยนตร์ เช่น ความเป็นเมืองคนบาปของลาสเวกัส การเป็นอุดมการณ์ในการก่อร่างสร้างประเทศของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นอกนั้นก็แตกต่างออกไป บางเมืองอาจพูดถึงจุดร่วมของภาพยนตร์ในบางยุคสมัยที่โดดเด่น เช่น โตเกียวยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เบอร์ลินหลังการรวมชาติ บางเมืองเจาะจงสถานที่ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในทางภาพยนตร์ เช่น อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพของนิวยอร์ก ย่านชินจูกุของโตเกียว บางเมืองก็หยิบยกแนวทางของหนัง (Genre) ที่เป็นที่นิยมของเมืองนั้น อย่างแนวโรแมนติกของนิวยอร์ก หรือแอนิเมชันของโตเกียว

อาจพูดถึงผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน เช่น วู้ดดี้ อัลเลน รวมถึงกลุ่มคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ (ที่เป็นชาวเมืองนั้นๆ) เทศกาลภาพยนตร์ เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต หรือกลุ่มคนรักหนัง ขึ้นอยู่แต่ละเมืองมีอะไรน่าสนใจ

หนังสือชุดนี้ทำหน้าเป็นเหมือนไกด์บุ๊ก แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์เรื่องดัง และช่วยให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของเมืองนั้นๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก

คุณูปการของภาพยนตร์ต่อเมือง (ที่ถูกใช้เป็นฉากหลังของเรื่องราว) มีเยอะแยะ โดยมีประเด็นให้เราพูดถึงอย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน

หนึ่ง สร้างภาพจำหรือมายาคติให้เกิดกับเมืองนั้น

สอง เสมือนบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ของเมืองแต่ละยุคสมัย

สาม กระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง ทั้งจากการเข้ามาลงทุนสร้างภาพยนตร์ภายในพื้นที่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมีภาพยนตร์เป็นปัจจัยดึงดูด

มายาคติของเมือง

ตัวอย่างที่พบเห็นได้ประจำในหนังฮอลลีวูดคือ นิวยอร์กกลายเป็นภาพแทนดินแดนแห่งเสรีภาพ เช่นในเรื่อง The Godfather ภาค 2 (1974) เด็กชายวีโต้ คอร์เลโอเน่ที่เดินทางจากยุโรปมานิวยอร์กด้วยเรือแล่นผ่านอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ โดยผู้โดยสารทั้งลำต่างลุกขึ้นยืนจ้องมองอย่างมีความหวัง เป็นภาพคุ้นชินที่เห็นได้จากอีกหลายเรื่อง อาทิ Titanic (1997) เปลี่ยนเป็นมองผ่านสายตาของโรส

กรณีกรุงเทพฯ ยังไม่เจองานที่พูดถึงแบบเป็นเรื่องเป็นราว มีบทความของอนงค์นาฏ รัศมีเวียงชัย เรื่อง ‘ประเทศไทยในภาพยนตร์ต่างประเทศ’ ที่ใช้สเกลใหญ่กว่าระดับเมือง ค้นพบว่าภาพยนตร์ต่างประเทศนำเสนอภาพตัวแทนของประเทศไทยในเชิงลบ เช่น อาชญากรรม การค้าประเวณี และยาเสพติด ภาพยนตร์ 5 เรื่องที่งานชิ้นนี้เลือกมาศึกษา ซึ่งเรื่องราวล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ Bridget Jones: The Edge of Reason (2004), Bangkok Dangerous (2008), Hangover Part II (2011), Lost in Thailand (2012) และ Only God Forgives (2013) โดยมากมักจะเป็นภาพยนตร์ในตระกูลแอ็กชันและอาชญากรรม แน่ละ ภาพยนตร์เหล่านี้ได้คอยผลิตซ้ำทำให้อุตสาหกรรมทางเพศกลายเป็นภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของไทยในความรับรู้ของตะวันตก[3]

สำหรับเชียงใหม่ เคยมีบทความของ Adam Knee ในชื่อ ‘Chiang Mai and the Cinematic Spaces of Thai Identity’[4] ซึ่งไปไกลถึงขั้นนำเอาภาพยนตร์ไทย 3 เรื่องมาใช้อธิบายความไม่ลงรอยทางการเมืองระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ในห้วงหลัง

สิ่งที่บทความชิ้นนี้พยายามจะสื่อคือ เชียงใหม่ในหนังไทยกระแสหลักถูกให้ภาพย้ำที่แตกต่างไปจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเรื่องของธรรมชาติกับวัฒนธรรม

หนัง 3 เรื่องเกี่ยวกับเชียงใหม่ที่เขาจับมาวิเคราะห์คือ

1. เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก (The Letter) (2547) พูดถึงการหลีกหนีจากเมืองใหญ่มาใช้ชีวิตเกษตรแบบพออยู่พอกินในแถบชนบท มองเชียงใหม่ในด้านโลกสวย

2. ลัดดาแลนด์ (2554) พูดถึงการใช้ชีวิตในสังคมเมืองที่ต้องเผชิญแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ การพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ตีแผ่มุมมืดที่ซุกซ่อนอยู่

3. Home ความรัก ความสุข ความทรงจํา (2555) พูดถึงการหวนหาอดีต ท้องถิ่นนิยม ผสานเข้ากับประเด็นหลากหลายทางเพศ ผลงานของชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับที่เป็นคนเชียงใหม่เอง

ประเด็นที่คล้ายกันของหนังสามเรื่องนี้อยู่ที่เชียงใหม่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของคนเมืองหลวง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสัจธรรมชีวิต (เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย) และพยายามท้าทายความเป็นไทยหนึ่งเดียวที่ถูกกำหนดให้จากศูนย์กลาง

ขณะที่การศึกษาของผมเอง เชียงรายที่ปรากฏในหนังไทยหลายสิบเรื่อง เช่น ลานสาวกอด (2515) แม่สาย (2518) ใต้ฟ้าสีคราม (2521) คนภูเขา (2522) เสือภูเขา (2522) เทพธิดาดอย (2523) สุภาพบุรุษทรนง (2528) ด้วยเกล้า (2530) แม่ลาวเลือด (2533) วิถีคนกล้า (2534) ครูจันทร์แรม ประทีปแห่งแม่สาย (2535) อาข่าผู้น่ารัก (2551) สวรรค์บ้านนา (2553) แค่จากชื่อก็พอจะเห็นถึงนัยของพื้นที่ห่างไกล และเป็นเรื่องราวคนชายขอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดช่วงทศวรรษที่ 2520 เมื่อพิจารณาลงไปถึงเนื้อในก็ยิ่งชัดเจนว่าแทบจะเท่ากับ ‘ชาวเขา’ และ ‘ดอย’ ถ้าเชียงใหม่ให้ภาพโรแมนติกจากหนังรักจำนวนมาก และถูกนำเสนอในแง่ความเป็นเมืองที่ทันสมัย เชียงรายกลับกลายเป็นตัวแทนของความล้าหลังผ่านหนังแนวดราม่าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในหนังต่างชาติ แม้มีไม่มาก แต่หนีไม่พ้นประเด็นการค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

บทบันทึกความทรงจำแห่งยุคสมัย

ภาพเคลื่อนไหวในภาพยนตร์นับเป็นบทบันทึกของห้วงเวลาที่แตกต่างกันที่สื่อใดก็ไม่อาจถ่ายทอดได้เด่นชัดเทียบเท่า

แม้ตึกแฝดอย่างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่หลายคนบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ของโลกทุนนิยมจะถูกเครื่องบินพุ่งชนและถล่มลงมาในเหตุการณ์ 9/11 แต่เราก็สามารถเห็นมันโลดแล่นอยู่ในหนังที่ถ่ายทำก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์นับร้อยเรื่องได้เสมอ

ฉากหนึ่งที่จำได้แม่น ในหนังยาวเรื่องแรกของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ดอกฟ้าในมือมาร (2543) เปิดเรื่องด้วยฉากนั่งรถเมล์จากฝั่งเซ็นทรัลลาดพร้าวขึ้นสะพานยกระดับเข้าสู่ถนนลาดพร้าว ต้นถนนซ้ายมือตอนนั้นเป็นย่านตึกแถวและโรงหนังลาดพร้าวรามา ยังไม่ใช่ยูเนี่ยนมอลล์แบบทุกวันนี้

เราจึงสามารถรำลึกถึงหลายสถานที่ในความทรงจำผ่านภาพยนตร์ เช่น โรงภาพยนตร์สกาลาในเรื่องรักแห่งสยาม (2550) กับเพื่อน..ที่ระลึก (2560) กาดสวนแก้ว ศูนย์การค้าอายุอานาม 30 ปีคู่เมืองเชียงใหม่ที่เพิ่งปิดตัวลง (เฉพาะส่วนของห้างและโรงละคร) จากเรื่องสมศรี 422 อาร์ โปรแกรม D ปีนี้มีน้อง (2538) อนึ่งคิดถึงพอสังเขป รุ่น 2 (2539) กอดคอวัดใจนายกับเรา (2541) Suckseed ห่วยขั้นเทพ (2554) เกรียน ฟิคชั่น (2556) และดิว ไปด้วยกันนะ (2562)

นี่จึงเป็นคุณค่าอีกประการสำคัญของภาพยนตร์เก่าที่ยากปฏิเสธ

มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากหนัง

กระบวนการผลิตภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีห่วงโซ่คุณค่าที่ยาว และเกี่ยวพันกับบุคลากรมากมาย ก่อให้เกิดการใช้จ่าย และจ้างงานได้มหาศาล

ตัวอย่างภาพยนตร์ The Batman เวอร์ชันล่าสุด ฉบับปี 2022 ที่ใช้สถาปัตยกรรมเก่าในเมืองลิเวอร์พูลเป็นก็อตแธมซิตี้ เมืองได้ประโยชน์จากการยกกองมาถ่ายทำกว่า 21 ล้านปอนด์ เกิดการจ้างงาน 691 ตำแหน่ง รวมทั้งมีการลงทุนในพื้นที่สีเขียวและหอประชุม[5] ขนาดว่าไม่ได้ถูกใช้เป็นฉากหลังหลักก็ตามที

แม้แต่กับภาพยนตร์ชุดหรือซีรีส์ระดับขึ้นหิ้งอย่าง Breaking Bad (2008-2013) ก็มีประเด็นเรื่องของสถานที่ถ่ายทำ ระหว่างที่ดู ผมอดนึกชื่นชมผู้สร้างไม่ได้ว่าเลือกโลเคชั่นได้เข้ากับเรื่องมาก โดยเฉพาะฉากทะเลทรายเวิ้งว้างที่ถูกใช้บ่อยๆ (ยามมาเฟียอยากฆ่าคนทิ้งแล้วขุดหลุมฝังกลบ) และด้วยความเป็นรัฐที่มีชายแดนติดกับเม็กซิโก (แหล่งผลิตยาเสพติดใหญ่ป้อนเข้าสหรัฐฯ) กลายเป็นเข้าใจผิด ผู้กำกับตั้งใจเลือกฉากหลังเป็นเมืองริเวอร์ไซด์ในรัฐแคลิฟอร์เนียทางตอนใต้ แต่จำใจต้องเปลี่ยนมาใช้เมือง ‘แอลบูเคอร์คี’ (Albuquerque) เมืองใหญ่สุดกลางรัฐนิวเม็กซิโกแทน เพราะเหตุผลด้านการเงิน ภายใต้เงื่อนไขที่ทางรัฐบาลท้องถิ่นจะคืนภาษีให้ราว 25% ของทุนสร้างทั้งหมดที่ได้ใช้จ่ายไปที่เกิดขึ้นภายในรัฐ (ค่าตัวนักแสดง, เงินเดือนทีมงานไม่เอามานับรวม) ช่วยลดต้นทุน และคุ้มค่ากว่าที่ไหนๆ ในประเทศจะให้ได้แล้ว[6]

ต้องถือว่าทางมลรัฐตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะช่วยจ้างงาน กระตุ้นรายได้ระยะสั้น แถมยังสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องในระยะยาว เช่นที่มีคนทำลูกอมเลียนแบบยาไอซ์สีฟ้าใส่ถุงเป็นของที่ระลึกขายดิบขายดีมาจนทุกวันนี้, เกิดทัวร์ตามรอยซีรีส์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยนั่งรถ RV ตระเวนเที่ยวเหมือนกับในซีรีส์, เน็ตฟลิกซ์ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ถาวรเอาไว้ใช้ถ่ายทำซีรี่ย์ภาคแยก Better Call Saul (2015-2022)

ซีรีส์เรื่องเดียวพลิกโฉมเมืองที่แม้แต่ชื่อก่อนนี้คนยังเรียกกันไม่ค่อยจะถูก จนทำให้เมืองนี้เป็นที่รู้จัก กลายเป็นเมืองซึ่งคนหลงใหลใคร่มาเยือน

ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อน เมืองแอลบูเคอร์คีก็เพิ่งจัดงานเปิดตัวรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ของคู่หูจากภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้ ผู้สร้างได้มอบให้เป็นของขวัญแก่เมือง เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเคียงข้าง ไม่ต่างกับที่เมืองฟิลาเดลเฟียมีอนุสาวรีย์ของร็อคกี้ บัลบัวตั้งตระหง่านอยู่ หรือที่บนเกาะนามิมีรูปปั้นคู่พระนางจากเรื่อง Winter Sonata (2002) ทั้งที่ก็มิใช่บุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง แต่ตัวละครเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไปแล้ว

แน่นอน ไม่ได้มีแต่ Breaking Bad ที่ทำได้ ยังมีอีกหลายต่อหลายเรื่องที่เปลี่ยนเมืองบางเมืองไปตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็น Game of Thrones (2011-2019) กับหลายๆ เมืองบนเกาะไอร์แลนด์, เมืองเมเดยินจาก Narcos (2015-2017), เมืองมาดริดใน Money Heist (2017-2021)

กรณีของไทย จากสถิติของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยในรอบ 10 ปี ระหว่างปี 2555-2564 รวมแล้วทั้งสิ้น 5,810 เรื่อง สร้างรายได้ให้แก่ประเทศสูงถึง 28,769.05 ล้านบาท โดยจำนวนลดลงอย่างมากช่วงปี 2563-2564 ที่มีสถานการณ์โควิด-19[7]

อย่างไรก็ดี ความต่างระหว่างตัวอย่างต่างประเทศกับของไทยคือ อำนาจอนุญาตสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศของไทยถูกรวมศูนย์เอาไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ใช่หน่วยงานท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (คณะที่ 1) ตามปกติเป็นเรื่องของกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แต่กรณีนี้ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยได้วางเงื่อนไขว่าหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบสถานที่ที่จะใช้ถ่ายทำก็ต้องให้อนุญาตด้วย จึงยังคงมีขั้นตอนยุ่งยาก ล่าช้า ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของสถานที่ถ่ายทำอยู่แต่เฉพาะจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักไม่กี่แห่งที่ค่อนข้างสะดวก อย่างกรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต และเชียงใหม่

อีกด้านหนี่ง ภาพยนตร์เป็นเสมือนแรงบันดาลใจ ดึงดูดให้ผู้ชมที่ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนั้นมากได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ (Film-induced Tourism) ต่อยอดมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยว

ยืนยันด้วยข้อมูลปี 2018 ขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) นักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 80 ล้านคนเลือกจุดหมายการเดินทางอิงกับภาพยนตร์หรือซีรีส์ โดยเฉพาะของเน็ตฟลิกซ์ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับสถิติในอดีต แสดงให้เห็นพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป[8]

ตัวอย่างของต่างประเทศที่น่าสนใจ อนุสาวรีย์วิลเลียม วอลเลซมีคนไปเยือนเพิ่มขึ้น 300 เท่าในช่วง 1 ปีหลังจากหนังเรื่อง Braveheart (1995) ออกฉาย โรงแรม The Crown ใน Four Weddings and a Funeral (1994) ห้องถูกจองเต็มหมดอย่างน้อย 3 ปี Harry Potter ช่วยให้ทุกสถานที่ที่ถูกใช้ในการถ่ายทำมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50[9] เช่นที่ชานชาลา 9 ¾ ในสถานีรถไฟคิงส์ครอส, ลอนดอน ที่เหล่าพ่อมดแม่มดน้อยต้องมาขึ้นรถไฟเพื่อไปยังโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์

หลายเมืองถึงกับต้องมีการจัดงานประจำปีรำลึกถึงหนังเรื่องที่เคยเข้ามาใช้สถานที่ถ่ายทำในเมือง เช่น เมืองบราวน์สวิลล์ เมืองเล็กๆ ในรัฐโอเรกอนกำหนดให้ทุกวันที่ 23 กรกฎาคมเป็นวัน Stand by Me (1986) ซึ่งเพิ่งจัดเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีที่หนังเรื่องนี้ออกฉายไปเมื่อปีที่แล้ว, เมดิสันเคาน์ตีจัดเทศกาล Covered Bridge ขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับหนังเรื่อง The Bridges of Madison County (1995) อย่างแยกไม่ออก

ปรากฏการณ์ Lost in Thailand (2012) เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดซึ่งเคยเกิดขึ้นกับเชียงใหม่ ภายหลังหนังออกฉายและทำเงินถล่มทลายในจีน ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาเชียงใหม่เพิ่มขึ้นจากในปี 2011 ที่มีราว 40,000 คนไปเป็น 144,327 คน เมื่อปี 2013 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ มา รองลงมาได้แก่ The Beach (2000) ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยววัยหนุ่มสาวแบ็กแพ็กเกอร์เลือกเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 เพื่อจะไปยังเกาะพีพี จังหวัดกระบี่

หลายเมืองของไทยยังมีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงรายที่มีต้นทุนจากเหตุการณ์การช่วยชีวิตนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ข่าวที่ผู้คนทั่วโลกต่างเอาใจช่วย ต่อมาก็ได้กลายเป็นหนังสือ สารคดี ภาพยนตร์ และซีรีส์ทยอยออกมาไม่ขาดสาย ล่าสุดคือ หนังเรื่อง Thirteen Lives (2022) ผลงานของผู้กำกับคนดัง รอน ฮาวเวิร์ด

กรุงเทพฯ กลางแปลงถือจุดเริ่มต้นที่ดีที่อาจกระตุกให้เกิดการต่อยอดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีกมาก เป็นต้นว่าอาจนำไปสู่การจัดทำสารบบภาพยนตร์ที่ถ่ายทำที่กรุงเทพฯ แผนที่ท่องเที่ยวตามรอยหนังดัง บทความวิชาการที่พูดถึงประเด็นนี้ หรือพัฒนาสู่การเป็นเมืองภาพยนตร์ (City of Film) อย่างเป็นระบบ

หวังลึกๆ ว่ากระแสนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจทำให้ผู้คนทั่วประเทศได้ลองหันมาสำรวจเมืองของตัวเอง และอยากจะลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมทำนองนี้บ้าง.


[1] ดูรายชื่อเมืองอื่นได้จาก Intellect / world film locations

[2] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ภาพยนตร์กับการสร้างเมือง, มติชนออนไลน์ (5 กรกฎาคม 2565)

[3] ดู อนงค์นาฏ รัศมีเวียงชัย, “ประเทศไทยในภาพยนตร์ต่างประเทศ,” วารสารศาสตร์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2560), 151-199

[4] Adam Knee, “Chiang Mai and the Cinematic Spaces of Thai Identity,” in Lilian Chee and Edna Lim (Eds.), Asian Cinema and the Use of Space: Interdisciplinary Perspectives, (New York: Routledge, 2015), 77-92.

[5] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, เมืองในหนัง หนังในเมือง ก็อตแธมซิตี้แห่ง ‘ลิเวอร์พูล’ กับจุดขายโลเคชันถ่ายทำภาพยนตร์, ไทยรัฐพลัส (13 มีนาคม 2565)

[6] Erin Vanderhoof, Ten Years Later, Albuquerque Is Still Breaking Bad’s Town, Vanity Fair (17 January 2018)

[7] ข้อมูลระหว่างปี 2555-2558 จาก สถิติการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ดู สถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย สถิติปี 2559-2565

[8] Theodore Koumelis, 80 million international travelers influenced by films worldwide, Travel Daily News (18 April 2018)

[9] Walaiporn Rewtrakunphaiboon, “Film-induced Tourism: Inventing a Vacation to a Location,” BU Academic Review ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2552), 5

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save