fbpx
เมืองหลังโรคระบาด

เมืองหลังโรคระบาด

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงไปทั่วโลก นักวิเคราะห์หลายคนได้พยากรณ์ว่า วิถีชีวิตคนเมืองในยุคหลังโรคระบาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก บ้านและโลกออนไลน์จะเพิ่มบทบาทมากขึ้น คนจะหันกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน ทั้งการทำงานจากบ้าน การประชุมออนไลน์ การซื้อของกินของใช้ผ่านทางอีคอมเมิร์ซ การทำธุรกรรมการเงินบนอินเทอร์เน็ต และการสตรีมมิ่งดูหนังและซีรีส์

นักออกแบบเริ่มคิดแล้วว่าที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และร้านค้าจะต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไรเพื่อรองรับพฤติกรรมใหม่เหล่านี้ ในขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขและธุรกิจประกันชีวิตก็เริ่มสนใจว่า จะใช้ข้อมูลโทรศัพท์มือถืออย่างไรในการติดตามและตรวจสอบการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ

นอกจากนี้ยังคาดกันว่า ผู้คนจะให้ความใส่ใจกับสุขภาพและสุขอนามัยของตนเองและครอบครัวมากยิ่งขึ้น การใส่หน้ากากอนามัยและการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในที่สาธารณะจะกลายเป็นปกติวิสัยเหมือนกับการแปรงฟันก่อนนอน คนเมืองจะพยายามทำอาหารกินเองมากขึ้นหรือซื้ออาหารจากร้านประจำที่ไว้ใจได้ เพื่อประกันความปลอดภัยจากเชื้อโรค

ธุรกิจการร่วมใช้ประโยชน์ที่เฟื่องฟูมาก่อนหน้าโรคระบาดก็คาดว่าจะลดความนิยมลง  ทั้งการสังสรรค์หรือทำงานร่วมกันในร้านกาแฟ โคเวิร์กกิ้งสเปซ การเปิดห้องในบ้านให้นักท่องเที่ยวมาพักแรมรายวัน รวมไปถึงการขับรถยนต์ส่วนตัวรับผู้โดยสารแปลกหน้า โรคระบาดครั้งนี้ทำให้ความสะอาดหมดจดและการใช้ของส่วนตัวแยกจากของคนอื่นกลายเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการใช้ชีวิตในเมือง และทำให้การรักษาระยะห่างกลายเป็นมารยาททางสังคม

การปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตในรูปแบบเหล่านี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอย่างน้อยอีกสองปีข้างหน้า จนกว่านักวิทยาศาสตร์จะค้นพบวัคซีนป้องกันไวรัส ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีน และสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างทั่วถึง จากนั้น พฤติกรรมบางอย่างจะกลายเป็นความปกติใหม่หรือนิวนอร์มอล (new normal) ซึ่งเป็นบรรทัดฐานของการใช้ชีวิตเมืองในระยะกลางและระยะยาวต่อไป

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเมืองหลังโรคระบาดจึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการวางแผนยุทธศาสตร์ของเอกชน การวางแผนนโยบายสาธารณะของรัฐ รวมถึงการเรียนการสอนด้านการออกแบบและพัฒนาเมือง หลายคนหวังผลไปไกลว่า วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้คนในโลกตระหนักถึงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น

 

โรคระบาดสร้างความปกติใหม่หรือเพียงเร่งแนวโน้มเก่า

 

ภาพอนาคตที่ผู้รู้ได้คาดการณ์และคาดหวัง หลายภาพคงเกิดขึ้นจริง แต่หลายภาพก็อาจจางหายไปเมื่อคนจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันและกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ภาพอนาคตระยะสั้นที่ค่อนข้างคมชัดคือ ความหนาแน่นของกิจกรรมของคนเมืองจะเพิ่มลดตามการขึ้นลงของระดับความเสี่ยงของการติดเชื้อ อีกภาพหนึ่งคือเศรษฐกิจโลกและไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างน้อยภายในช่วงปีสองปีนี้ การว่างงาน โดยเฉพาะธุรกิจบริการในเมืองจะอยู่ในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ชีวิตคนเมืองในอีก 2-3 ปีหน้าจะตกอยู่ในสภาพกล้าๆ กลัวๆ ดั่งลูกตุ้มที่แกว่งไปมาระหว่างความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสกับการตกงาน

แต่พฤติกรรมคนเมืองที่เปลี่ยนไปในช่วงโรคระบาดจะกลายเป็นความปกติใหม่ในระยะยาวหรือไม่นั้น ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า ภาพที่เราเรียกกันว่านิวนอร์มอลนั้นเป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นใหม่จริง หรือเป็นเพียงภาพตามแนวโน้มที่โรคระบาดเป็นตัวเร่งให้แพร่ขยายเร็วขึ้น

ก่อนหน้าที่โรคระบาดปะทุขึ้นมา คนจำนวนมากก็ใช้โทรศัพท์มือถือและใช้เวลาบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียหลายชั่วโมงต่อวันอยู่แล้ว การซื้อของออนไลน์และซื้ออาหารผ่านแอปพลิเคชันก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่อะไร เศรษฐกิจฐานแพลตฟอร์มก็กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนเมืองมาได้ระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน ส่วนแนวโน้มการกินอาหารที่เน้นความสะอาดและสร้างเสริมสุขภาพก็มีมาระยะหนึ่งแล้ว ดังที่เห็นตามเทรนด์การกินอาหารปลอดสารพิษต่างๆ และหน้ากากอนามัยก็ใส่เป็นประจำกันอยู่แล้วในช่วงฝุ่น PM 2.5

ปัจจัยหน่วงหลายประการอาจทำให้ภาพปกติใหม่ที่คาดการณ์และคาดหวังกันไว้ไม่เกิดขึ้นจริง โรคระบาดไม่ได้ทำให้โครงสร้างและพื้นที่กายภาพของเมืองเปลี่ยนไปเหมือนในกรณีของสงคราม ตึกรามบ้านช่อง ถนน ระบบรถไฟฟ้า รถเมล์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ก็ยังคงเป็นแบบเดิม ห้างร้านต่างๆ ยังคงกระจุกตัวอยู่ตามย่านและแหล่งเดิม เพียงรอเวลาให้ผู้คนในเมืองกลับมาใช้ประโยชน์เหมือนก่อนหน้านี้ ตราบใดที่โครงสร้างของเมืองไม่เปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานของพฤติกรรมคนเมืองก็เปลี่ยนไปได้ยาก

ในขณะเดียวกัน พลังของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจะดึงดูดให้คนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมหลังจากผู้คนเริ่มมีภูมิคุ้มกันจากไวรัส  หลายคนบอกว่า เศรษฐกิจถดถอยในปี 2551 เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และความปกติใหม่จะเข้ามาแทนที่ แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี เศรษฐกิจโลกก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม โลกาภิวัตน์และการใช้ทรัพยากรยิ่งทวีความเข้มข้นเรื่อยมาจนเกิดโรคระบาดครั้งนี้  ดังนั้น ประโยชน์ที่เกิดจากการกระจุกตัวและความหนาแน่นของกิจกรรมในเมืองคงจะดึงดูดผู้คนให้กลับมาเชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์กันอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อฝุ่นหายตลบและไวรัสจางหายไป วิถีชีวิตเมืองก็อาจกลับมาเป็นเหมือนเดิม หากเป็นเช่นนั้นจริง ความยั่งยืนของเมืองที่หลายคนหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังโรคระบาดจึงเป็นไปได้ยาก หากไม่มีนโยบายสาธารณะเชิงรุกที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเมืองทั้งในด้านภายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจโลก

 

ความปกติท่ามกลางความอลวน

 

ในโลกหลังปกติ (postnormal) ที่ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงคือพื้นฐานของชีวิต การคาดการณ์ภาพอนาคตในช่วงหลังโรคระบาดจำเป็นต้องเข้าใจถึงคุณลักษณะเชิงพลวัตระบบ (system dynamics) ของภัยพิบัติแบบนี้

ประการแรกคือ โรคระบาดเป็นเหรียญด้านลบของการเชื่อมต่อกันทางกายภาพระหว่างมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และองค์ประกอบอื่นๆ ในโลก กล่าวคือ ยิ่งชีวิตเชื่อมต่อกันเท่าไหร่ ความเสี่ยงของโรคระบาดก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น

ประการต่อมา โรคระบาดเป็นเหตุการณ์สั่นสะเทือนที่เกิดกับระบบที่องค์ประกอบแต่ละส่วนเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนและแทบแยกกันไม่ออก เมื่อการระบาดก่อตัวผ่านจุดพลิกผันหนึ่งแล้ว ผลกระทบจะขยายตัวอย่างทวีคูณในระยะเวลาอันสั้น

อีกคุณลักษณะหนึ่งคือ โรคระบาดเป็นระบบแบบอลวนหรือเคออส (chaos) ซึ่งความวุ่นวายที่ดูเหมือนไม่มีรูปแบบและไม่เป็นระเบียบนั้น แท้จริงแล้วเป็นไปตามกฎระเบียบเชิงโครงสร้างบางอย่าง และพลวัตการเปลี่ยนแปลงจะอ่อนไหวมากต่อสภาพเริ่มต้น ดังนั้น การปรับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข สภาพเริ่มต้น และโครงสร้างของระบบนั้น

ตามความคิดดังกล่าว ระดับความรุนแรงและขอบเขตของผลกระทบจากโรคระบาดจึงขึ้นอยู่กับสภาพและโครงสร้างที่เป็นอยู่ในตอนต้นก่อนโรคระบาดจะเกิดขึ้น โดยจะเพิ่มความอ่อนไหวเปราะบางที่มีอยู่แต่เดิมอย่างทวีคูณ ดังนั้น การคาดการณ์ภาพอนาคตที่เรียกว่านิวนอร์มอลนั้น หากไม่มองลึกลงไปถึงปัจจัยระดับฐานรากก่อนหน้าโรคระบาด ย่อมไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรกันแน่ที่จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่แท้จริงของสังคมเมื่อโรคระบาดได้จางหายไป

หนึ่งในปัจจัยสำคัญนั้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 

ปกติใหม่สำหรับใคร

 

ภัยพิบัติร้ายแรงแต่ละครั้งมักตอกย้ำรอยร้าวของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่รู้เห็นจนชินชาหรือถูกละเลยในช่วงเวลาปกติ วิกฤตการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ก็เช่นกัน ในขณะที่คนรวยและคนชั้นกลางสามารถทำงานออนไลน์จากบ้าน ขับรถส่วนตัวไปซื้อของ สั่งอาหารผ่านแอป และรักษาระยะห่างระหว่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ คนด้อยโอกาสที่หาเช้ากินค่ำยังคงต้องออกไปทำงานด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่สุ่มเสี่ยง และคนจำนวนมากต้องตกงานในทันที เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการจำกัดการรวมตัวของคนหมู่มาก

ไวรัสจึงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยาที่มีพลังทำลายล้างในกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน แต่ยังเป็นสิ่งมีชีวิตทางสังคมที่ออกล่า ขยี้ขย้ำ และฉีกแยกรอยเลื่อนของสังคมที่มีอยู่เดิมให้กว้างขึ้นอีก การทำลายล้างทางสังคมของไวรัสจึงไม่ได้เป็นการสุ่มแบบไม่มีทิศทาง แต่เป็นไปตามโครงสร้างและรูปแบบของสังคมที่เป็นอยู่เดิม

วิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นชัดถึงความเหลื่อมล้ำในด้านพื้นที่ทำกิน คนรวยและคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งสามารถสร้างรายได้และความมั่งคั่งได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อและปฏิสัมพันธ์บนพื้นที่กายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ทำได้บนพื้นที่ดิจิทัลด้วยเช่นกัน ในทางกลับกัน การทำมาหากินและการดำรงชีพของคนจำนวนมากยังต้องพึ่งพื้นที่ทางกายภาพและการสัมผัสมนุษย์ อาทิ หาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หมอนวด รวมไปถึงพนักงานร้านอาหารและโรงแรม

ถึงแม้รัฐบาลจะเพิ่มสวัสดิการในการเข้าถึงระบบดิจิทัลให้กับประชาชน คนกลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์ก็ย่อมเป็นกลุ่มที่เข้าถึงพื้นที่ทำกินบนโลกดิจิทัลได้อยู่แล้ว วิถีชีวิตปกติใหม่ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ดิจิทัลจึงจะยังคงจำกัดอยู่เพียงคนบางกลุ่มเท่านั้น

ความปกติใหม่ของชีวิตเมืองที่พูดกันมากในตอนนี้จึงมักเป็นประเด็นที่มองจากชีวิตของคนชั้นกลางเป็นหลัก ห้องคับแคบจนไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตได้อย่างสุขสบายและการไม่มีความเป็นส่วนตัวไม่ใช่เรื่องใหม่ คนในสลัมอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียดมานานแล้ว การขาดพื้นที่สาธารณะไม่ใช่แค่เรื่องของชนชั้นกลางไม่มีสวนสาธารณะไว้วิ่งออกกำลังกาย แต่เป็นเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ในการทำมาหากินของคนจน ความลำบากบนรถไฟฟ้าบีทีเอสเทียบไม่ได้กับรถเมล์แดง ความเสี่ยงที่มาจากพื้นที่แออัดจึงไม่ได้เป็นโจทย์ใหม่แต่อย่างใด

ในเมืองหลังโรคระบาด คนรวยและคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งจะปรับพฤติกรรมเข้าสู่นิวนอร์มอลด้วยการใช้ชีวิตออนไลน์และรักษาระยะห่างทางกายภาพได้  กูรูการตลาดและธุรกิจต่างๆ จะสร้างภาพที่ทำให้เราหลงเชื่อว่า ชีวิตเมืองได้ฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพปกติ และในหลายด้านได้ปรับเข้าสู่สภาพปกติใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งเป็นแนวทางปกติของการทำธุรกิจ แต่สำหรับคนด้อยโอกาสที่ยังต้องใช้ชีวิตออฟไลน์อย่างแออัดภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบเดิม จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่านิวนอร์มอล จะมีก็แต่เพียงเวิร์สโอลด์นอร์มอล (worse old normal) หรือภาพปกติเก่าที่มีสภาพแย่ลงอีก

ดังนั้น ในเชิงนโยบายสาธารณะ ความท้าทายหลักสำหรับการออกแบบและพัฒนาเมืองหลังโรคระบาด จึงไม่ได้อยู่และไม่ควรอยู่ที่การตอบรับภาพปกติใหม่ของคนรวยและคนชั้นกลาง แต่อยู่ที่ความกล้าหาญและมุ่งมั่นในการเปลี่ยนกรอบแนวคิดและบรรทัดฐานในการออกแบบและพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับคนจนและด้อยโอกาสเป็นอันดับแรก มิเช่นนั้น เมืองหลังโรคระบาดก็จะเป็นเพียงเมืองปกติเก่าที่สวมหน้ากากผ้าสีเขียวลายใหม่เท่านั้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save