เพชร มโนปวิตร เรื่อง
“ถ้าทั้งโลกมีเป้าหมายร่วมกันจริงๆ เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเสียใหม่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน” – Anders Wijkman
หากเอ่ยชื่อ Anders Wijkman หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อมากนัก Anders เป็นนักคิด นักเขียนและนักการเมืองชาวสวีเดนสายสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง Anders เคยเป็นเอกอัครราชทูตของกระทรวงต่างประเทศสวีเดน เคยเป็นผู้ช่วยเลขาธิการและผู้อำนวยการด้านนโยบายของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นเลขาธิการสมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติสวีเดน และเป็นสมาชิกสภาสหภาพยุโรปอยู่ถึง 10 ปี
Anders ในวัย 73 ยังคงทะมัดทะแมง สวมกางเกงยีนไว้ผมยาวประบ่า ปัจจุบันเขาเป็นประธานร่วม The Club of Rome กลุ่ม Think-tank สายความยั่งยืนที่เก่าแก่ที่สุดของโลกก็ว่าได้ โดยเฉพาะการจัดทำหนังสือ The Limits to Growth โดยคณะนักวิจัยจาก MIT (The Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งตั้งคำถามถึงความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนามาตั้งแต่ปี 1972 เพราะท้ายที่สุดแล้วย่อมมีขีดจำกัดในการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กับต้นทุนธรรมชาติของโลก
ล่าสุด Anders เป็นประธานคณะทำงานร่วมระหว่างพรรคการเมืองเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับรัฐบาลสวีเดน และเขียนรายงานให้กับ The Club of Rome เรื่องผลประโยชน์ทางสังคมของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
เมื่อไม่นานมานี้เขาแวะมาบรรยายเรื่อง Circular Economy ให้กับเจ้าหน้าที่องค์การเพื่อการพัฒนานานาชาติแห่งประเทศสวีเดน (SIDA) ในกรุงสต็อกโฮล์ม สิ่งที่เขาอธิบายเป็นทางออกที่น่าสนใจต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหลายอย่างที่โลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต วิกฤตการณ์ขยะ ไปจนถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Circular Economy คือการออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ แทนการผลิต ใช้ แล้วทิ้ง ตามรูปแบบอุตสาหกรรมแบบเดิมที่เน้นกำไรเป็นตัวตั้ง แต่ Circular Economy ก็ไม่ใช่เพียงแค่การรีไซเคิลวัตถุดิบกลับมาผลิตซ้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นการรักษาต้นทุนธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด จะว่าไปก็นับเป็นการลอกเลียนระบบอันมีประสิทธิภาพของธรรมชาติ เพราะถ้าสังเกตดูจะพบว่าไม่เคยมีของเหลือของเสียเกิดขึ้นเลยในธรรมชาติ แต่มีกลไกในการนำทรัพยากร แร่ธาตุ พลังงาน หมุนเวียนกลับมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์จนน่าทึ่ง
Anders เชื่อว่า Circular Economy จะทำให้เกิดนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนทางต้นทุนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาก็คือระบบการผลิตแบบตรง (linear) ที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง หมายความว่าเศรษฐกิจยิ่งโตขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นเท่านั้น จึงนำมาสู่การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเพิ่มขึ้นอย่างผิดธรรมชาติของก๊าซเรือนกระจกอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน
กราฟหนึ่งที่สะท้อนถึงความจริงข้อนี้คืออัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสินแร่เติบโตคู่ไปกับการเติบโตของ GDP ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยิ่งเศรษฐกิจโตเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีอัตราเร่งในการใช้ทรัพยากรรวดเร็วขึ้นเท่านั้น
ยกตัวอย่างอินเดียซึ่งมีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาอินเดียมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 เท่า แต่มีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 12 เท่า สินแร่ 11 เท่า เชื้อเพลิงฟอสซิล 8 เท่า ชีวมวล 2.4 เท่า รวมแล้วมีการใช้ทรัพยากรรายปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8 เท่า ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 13 เท่า หมายความว่าอัตราการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดตามการเติบโตของเศรษฐกิจ
นั่นหมายความว่า มนุษย์มีความสามารถในการถลุงใช้ทรัพยากรแบบไร้ขอบเขต สวนทางกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าทรัพยากรของโลกมีอยู่อย่างจำกัด และสมดุลของระบบนิเวศคือรากฐานของความมั่นคงทางอาหาร สภาพภูมิอากาศและความอยู่รอดในระยะยาวของมนุษย์เอง การพัฒนาแบบไม่ลืมหูลืมตาอาจส่งผลดีให้กับความเจริญของมนุษย์บางส่วน แต่เราอยู่ในช่วงเวลาที่แตกต่างจากอดีต ทรัพยากรร่อยหรอ สภาพภูมิอากาศส่งสัญญาณเตือนถึงวิกฤตที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องเร่งให้เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืนเป็นศูนย์กลาง
เมื่อพลังงานและวัตถุดิบเป็นปัจจัยจำกัดและการถดถอยทางเศรษฐกิจไม่ใช่ทางเลือก เราจึงต้องคิดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียน มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนระบบผลิตทางตรง (Linear: Make-Use-Dispose) เป็นระบบผลิตแบบหมุนเวียน (Circular: Make-Use-Return) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาพรวม
เล่ามาถึงตรงนี้ Anders บอกถึงหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนนั่นคือ การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ ที่ไม่ใช่แค่เพียงการเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดการสูญเสียในการผลิต ซึ่งเป็นแนวคิดแบบเดิม แต่หมายความว่าต้องเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงการรีไซเคิลวัตถุดิบพื้นฐานที่ใช้ในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ซีเมนต์ เหล็ก อลูมิเนียม ซึ่งสร้างการปล่อยก๊าซคาร์บอนถึงเกือบร้อยละ 20 ในปัจจุบัน
ความท้าทายสำคัญก็คือเรายังจำเป็นต้องก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกกว่าครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่แล้วเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรในปี 30 ปีข้างหน้า การใช้ทรัพยากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2050 ซึ่งย่อมจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกมหาศาล เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นทางออกที่จะทำให้เกิดการปฎิวัติรูปแบบการใช้พลังงานและวัตถุดิบของเรา
โดยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนประกอบไปด้วยองค์ประกอบสองส่วนคือ ผลิตภัณฑ์สำหรับการบริโภคอุปโภค (Consumption product) ที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางชีวภาพ (biological materials) กับ ผลิตภัณฑ์ในภาคบริการ (Service product) ที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเทคนิคและความรู้ (Technical materials)
เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นคำเปรียบเปรยถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปิดช่องโหว่ นอกจากแนวคิด Rs ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอย่างการใช้น้อย (reduce) ใช้ซ้ำ (reuse) นำมาใช้ใหม่ (recycle) ผลิตซ้ำ (remake) ซ่อมแซม (repair) ยังต้องเน้นเรื่องการยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้ใช้ได้นานขึ้น ล้าสมัยช้าลง และอาจเปลี่ยนระบบการ ขาย ‘สินค้า’ มาเป็นการให้ ‘บริการ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing economy) ใช้ของที่มีการผลิตขึ้นมาแล้วให้คุ้มค่าที่สุด
รูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียนมีการพัฒนาขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและได้รับการพัฒนายุทธศาสตร์และแนวทางในหลายประเทศโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
ข้อดีหลายประการของเศรษฐกิจหมุนเวียนอาทิ ทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลง สร้างมลภาวะน้อยลง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ลดปัญหาการขาดแคลนสินค้า และสร้างงานได้มากขึ้น
Anders เล่าว่าสถานการณ์ในยุโรปก็ไม่ต่างจากทั่วโลก เพราะแม้จะรู้ว่าทรัพยากรอย่างน้ำ ดิน และแร่ธาตุเป็นหัวใจการทำงานของระบบนิเวศ แต่ยังมีการจัดการแร่ธาตุไม่ดีพอ อาหารร้อยละ 40 กลายเป็นขยะ โดยรวมโลกสูญเสียหน้าดินไปกว่าครึ่งหนึ่งในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา ยิ่งอินทรียวัตถุน้อย ผลผลิตทางการเกษตรก็น้อยตามไป ความสามารถอุ้มน้ำของดินก็ลดลง สร้างปัญหาต่อเนื่องในเรื่องของอุทกภัยและภัยพิบัติต่างๆ
“อย่างที่ Benjamin Franklin ว่าไว้ เมื่อบ่อน้ำแห้งนั่นแหละเราถึงจะรู้คุณค่าของน้ำ” Anders เปรียบเปรย “การใช้ที่ดินทั้งในเชิงการอนุรักษ์ ภาคการเกษตร และปศุสัตว์ นับเป็นเรื่องสำคัญในการบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“คุณลองดูระบบการผลิตในปัจจุบันสิ มันสิ้นเปลืองมากๆ สิ่งที่เป็นวัตถุดิบถูกใช้อย่างทิ้งขว้าง ไม่ก็เผาทิ้ง หรือแม้แต่กลุ่มที่มีการรีไซเคิลมากๆ ก็ไม่ได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในบ้าน วัสดุก่อสร้าง สิ่งทอต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลาสติกที่กลายเป็นวิกฤตไปทั่วโลก” Anders ไล่ให้ฟัง
ตัวอย่างที่ชัดเจนมากของความไม่มีประสิทธิภาพคงจะเป็นระบบขนส่งที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว มีการศึกษาในยุโรปพบว่า โดยเฉลี่ยในอายุการใช้งานของรถ 1 คัน ใช้เวลาจอดอยู่เฉยๆ 92 เปอร์เซ็นต์ รถติดอีก 1 เปอร์เซ็นต์ มองหาที่จอดอีก 1.6 เปอร์เซ็นต์ สรุปได้วิ่งบนถนนจริงๆแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น (ในประเทศไทย รถติดอยู่กับที่น่าจะมากกว่าเปอร์เซนต์ในการที่รถได้เคลื่อนที่) เกิดการสูญเสียด้านพลังงานภายในระบบเครื่องยนต์ไปถึง 86 เปอร์เซ็นต์ (น้ำมันไม่ได้ถูกใช้อย่างคุ้มค้า) และยังเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตและพิการปีละนับแสนราย โดย 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์
คราวนี้ลองมามองที่ถนนกันบ้าง โดยเฉลี่ยพบว่าเมืองใช้ที่ดินไปเกือบครึ่งหนึ่งในการสร้างถนน ที่จอดรถ สัญญาณไฟจราจร สถานีซ่อมบำรุง ในขณะที่ถนนมีรถใช้งานโดยเฉลี่ยเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของช่วงเวลาเท่านั้น และมีช่วงพีค หรือชั่วโมงเร่งด่วนที่ใช้อย่างเต็มที่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าเป็นระบบขนส่งที่ขาดประสิทธิภาพมากๆ แถมยังเกิดความสูญเสียโดนไม่จำเป็น ซึ่งป้องกันได้
ถ้าระบบการผลิตแบบเดิมไร้ประสิทธิภาพขนาดนี้ ทำไมจึงยังเป็นที่นิยมอยู่ Anders อธิบายว่า หลักๆ ก็เพราะเราไม่ได้จ่ายต้นทุนภายนอก (externalities) โดยเฉพาะต้นทุนที่เป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เราจึงคิดว่าทรัพยากรราคาถูกและมีอยู่มากมาย ระบบธุรกิจในปัจจุบันยังเน้นการผลิตจำนวนมากๆ เพื่อให้ได้กำไร แทนที่จะมองเรื่องของประสิทธิภาพและอายุการใช้งาน
ถ้าเศรษฐกินหมุนเวียนฟังดูดีขนาดนี้ เราจะเริ่มต้นได้อย่างไร Anders บอกว่าจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือ
- พลังงาน ทั้งในเชิงการปรับปรุงประสิทธิภาพ และการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล
- วัตถุดิบ ทั้งในเชิงประสิทธิภาพ การผลิต การออกแบบที่ชาญฉลาด การจัดกลุ่มกิจกรรม การก่อสร้างด้วยวัสดุทางเลือก
- ระบบขนส่ง ที่เปลี่ยนผ่านไปใช้ระบบไฟฟ้า รวมไปถึงระบบ Car pool
- ระบบการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม เพื่อลดขยะที่เป็นอาหาร
- ระบบเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ
- ระบบการให้บริการแทนการจำหน่ายสินค้า เช่นการให้บริการแสงสว่าง แทนการขายหลอดไฟ การให้บริการซักรีด แทนขายเครื่องซักผ้า
- ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (เช่น AirBNB, Uber)
Anders ย้ำว่าเรื่องของเศรษฐกินหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องของประเทศที่ร่ำรวยแล้วอยากจะทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่มันคือทางรอดของประเทศกำลังพัฒนาด้วย เพราะลองมองไปยังประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ที่ยังคงเน้นการส่งออกวัตถุดิบเป็นรายได้หลักของประเทศ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจที่โตขึ้น สภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง เหมือนกับระเบิดเวลาให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาล่มสลาย เพราะเมื่อต้นทุนธรรมชาติพัง การแก่งแย่งแข่งขันด้านทรัพยากรจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง และความแตกแยกของวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือแม้แต่การสั่นคลอนของระบบประชาธิปไตย
มูลนิธิ Ellen McArthur ซึ่งเป็นองค์กรแนวหน้าที่ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ทำรายงานเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศอินเดีย พบว่า การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในสามภาคส่วนคือ 1. เมืองและการก่อสร้าง 2. อาหารและภาคเกษตร และ 3. ระบบขนส่งและยานยนต์ จะทำให้อินเดียมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อปี 6.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2050 เมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจแบบเดิม
ในขณะเดียวกันก็จะช่วยแก้ปัญหามลภาวะอย่างได้ผล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 44 เปอร์เซ็นต์ และช่วยประหยัดการใช้น้ำ วัตถุดิบ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้จะต้องมีการลงทุนและใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ฟัง Anders บรรยายจบแล้วคล้อยตามว่า ในยุคที่เราท่องคาคาความยั่งยืนกันปาวๆ ทางรอดของโลกคงไม่ได้อยู่แค่การที่ห้างร้าน บริษัท ลุกขึ้นมาทำ 3R Reduce Reuse Recycle แบบเดิมๆ แต่ต้องอาศัยกระบวนทัศน์แบบใหม่ ที่เอาเรื่องความยั่งยืนมาเป็นหัวใจ ไม่ใช่แค่เพียงการแต่งหน้าทาปาก
ผมเห็นด้วยกับ Anders ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่แค่แนวความคิดทางเลือกเก๋ๆ แต่มันเป็นสิ่งจำเป็น และคือทางรอดเดียวในการขับเคลื่อนมวลมนุษย์ไปข้างหน้า ท่ามกลางวิกฤตนานัปการ
อ้างอิง
“Circular economy – a prerequisite for meeting the SDG´s” Presentation by Anders Wijkman 27 October 2017, SIDA, Stockholm