ควรรู้รอบในหลายอย่างหรือรู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว

ควรรู้รอบในหลายอย่างหรือรู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

คุณเป็นเม่นหรือคุณเป็นจิ้งจอก – อาจง่ายกว่าถ้าผมถามคุณเป็นภาษาไทยว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นเป็ด

‘เม่น’ หรือ ‘จิ้งจอก’ มาจากคำของ Archilochus กวีและนักคิดชาวกรีกที่ว่า “จิ้งจอกรู้หลายสิ่ง เม่นรู้ลึกเพียงสิ่งเดียว” ต่อมาแนวคิดนี้ถูกนำไปเขียนเป็นหนังสือชื่อ The Hedgehox and The Fox ของ Isaiah Berlin เบอร์ลินขยายแนวคิดนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมแบ่งนักคิดออกเป็นสองประเภทกว้างๆ

นักคิดประเภทเม่นคือคนที่มองโลกผ่านแนวคิดเดียว เช่น เพลโต ปาสคาล เฮเกล นิตเช่ หรือพรูสต์ ส่วนนักคิดประเภทจิ้งจอก คือคนที่อาศัยประสบการณ์หลากหลายจนไม่อาจนิยามเขาด้วยแนวคิดเดียวได้ เช่น อริสโตเติล เชคสเปียร์ อีรัสมุส และเจมส์ จอยซ์

ผู้รับช่วงแนวคิดนี้ต่อมาที่น่าสนใจคือ Philip E. Tetlock ผู้เขียนหนังสือปี 2015 ที่ผมโปรดปรานชื่อ Superforecasting: The Art and Science of Prediction เทตล็อกเป็นหนึ่งในผู้ประเมินโครงการ The Good Judgement Project งานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการพยากรณ์ในแวดวงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโลกจริงอย่างใหญ่หลวง เทตล็อกแบ่งนักพยากรณ์ออกเป็นประเภทจิ้งจอกและประเภทเม่น โดยเฉลี่ยแล้ว เทตล็อกพบว่านักพยากรณ์ประเภทเม่นที่รู้ข้อมูลลึกเพียงเรื่องเดียวนั้นทำผลงานได้แย่กว่านักพยากรณ์ประเภทจิ้งจอกที่ใช้ประสบการณ์หลากหลาย โดยเฉพาะกับการพยากรณ์ระยะยาว

เรามักเห็นข้อโต้เถียงระหว่างจิ้งจอกกับเม่นขึ้นมาสม่ำเสมอ ในภาษาไทยเรามีทั้งคำสอนอย่าง “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ซึ่งเป็นคำสอนที่ถือหางเม่นอย่างไม่ต้องสงสัย ไปจนถึงคำสอนที่จริงๆ แล้วไม่รู้จะถือหางใคร แต่ดูจะเข้าข้างฝั่งจิ้งจอกมากกว่าเม่นอย่าง “รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” เรามีการบัญญัติคำอย่าง Multipotentiality ขึ้นมาเพื่อเรียกผู้ที่มีความเก่งกาจในหลายด้าน ซึ่งดูจากความหมายแล้วต่างจาก ‘เป็ด’ ที่ใช้ในภาษาไทยอยู่โข เพราะเป็ดนั้นมักแปลว่า “ทำได้ทุกอย่าง ว่ายน้ำก็ได้ บินก็ได้ เดินก็ได้ แต่ไม่เก่งสักอย่าง” ในขณะที่ Multipotentiality คือคนที่เก่งหลายอย่าง (ไม่ใช่ไม่เก่งสักอย่าง)

จากการค้นเร็วๆ บนโลกออนไลน์ เราได้เห็นคำตัดพ้อจากฝั่งเม่นอย่าง “การบอกว่าตัวเองรู้ทุกอย่างก็คือไม่รู้อะไรสักอย่างนั่นแหละ” ซึ่งเข้าใกล้เส้นตรรกะวิบัติจนน่ากลัว และเราก็ได้เห็นคำอย่าง “เกลียดพวกรู้เรื่องเดียวไม่รู้จักโงหัวขึ้นมาดูคนอื่นเค้าบ้าง” ซึ่งก็เป็นการตีขลุมเม่นว่าขุดรูไม่ดูโลกเกินไป

Mental Model ที่เอนไปทางเม่น เช่น Circle of Competence หรือ “วงกลมแห่งความถนัด” เป็นสิ่งที่ Warren Buffett ใช้พิจารณาการลงทุนใหม่ๆ เสมอ เขาจะลงทุนในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจเท่านั้น Charlie Munger มือขวาของบัฟเฟตต์เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “คุณต้องรู้ว่าคุณถนัดอะไร หากคุณเล่นเกมที่คนอื่นถนัดแต่คุณไม่ถนัด คุณก็จะแพ้ … คุณต้องรู้ให้ได้ว่าตัวเองมีข้อได้เปรียบตรงไหน และต้องเล่นเกมในวงกลมแห่งความถนัดของคุณเท่านั้น” ส่วน Tom Watson ผู้ก่อตั้ง IBM ก็เคยพูดไว้ว่า “ผมไม่ได้เป็นอัจฉริยะนะ ผมแค่ฉลาดเป็นที่ และผมก็พยายามอยู่รอบๆ ที่พวกนั้นเท่านั้นเอง”

ส่วน Mental Model ที่เอนไปทางจิ้งจอก คือ วิธีการใช้หลายโมเดล (Many Models Approach) ที่มีบทพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ว่าช่วยลดความผิดพลาดในการคำนวณหรือตัดสินใจลงได้ คล้ายกับกลุ่มนักพยากรณ์จิ้งจอกของเทตล็อก นอกจากนั้นยังมีโมเดลการเติบโต (Growth Model) ของ Solow ที่บอกว่านวัตกรรมนั้นจำเป็นต่อการเติบโต หากเราลดระดับโมเดลมหภาคนี้มาประยุกต์ใช้กับชีวิต ก็อาจกล่าวได้ว่าการรู้เรื่องอย่างเดียวนั้นจะมอบผลตอบแทนถึงจุดจุดหนึ่ง แล้วจะถึงจุด plateau การที่จะกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้าต่อไปได้ต้องอาศัยนวัตกรรมเท่านั้น

เราควรพิจารณาทางเลือกที่สาม อย่างเช่นการเรียนรู้แบบรูปตัว T หรือบางครั้งถูกเรียกว่าการเรียนรู้แบบ Multi-disciplinary ที่ดูจะเป็นการประนีประนอมและตะกละตะกราม ด้วยการกวาดเอาข้อดีของทั้งเม่นและจิ้งจอกมาไว้รวมกัน การเรียนรู้แบบรูปตัว T นั้นมีความหมายตรงตามตัวอักษร มันคือผู้ที่เรียนรู้ให้ลึกลงไปในด้านหนึ่งคล้ายแกนตั้งของรูปอักษร T และนอกจากนั้นก็ยังมีความรู้รอบด้านอย่างตื้นๆ ครอบคลุมบริเวณไพศาลอย่างแกนนอนขีดบนสุดของรูปอักษร T ด้วย ผู้พูดถึงการเรียนรู้รูปตัว T คนแรกๆ คือ Tim Brown ซึ่งเป็น CEO ของ Ideo

นอกจากนั้น เราอาจเรียกจิ้งจอกว่าเป็นการเรียนรู้แบบ X-shaped หรือ Transdisciplinary (การเรียนรู้ที่โอนถ่ายไปมาระหว่างสาขา) Heather E McGowan ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้พูดถึงการเรียนรู้แบบ X-shaped ว่า เป็นการปรับตัวข้ามสายไปมาอย่างยืดหยุ่นและทำงานร่วมกับเครื่องมืออย่างปัญญาประดิษฐ์โดยมองว่ามันเป็นส่วนขยายของความเป็นมนุษย์

Robin Hogarth และคณะ ทำงานวิจัยน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ชื่อ “The Two Settings of Kind and Wicked Learning Environments” เขาพูดถึงสิ่งแวดล้อมสองประเภท คือสิ่งแวดล้อมแบบ “Kind” (ใจดี) และแบบ “Wicked” (ร้ายกาจ) เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบใจดี สิ่งที่ได้ร่ำเรียนมาจะถูกประยุกต์ใช้ได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะรูปแบบเหตุการณ์จะซ้ำเดิม มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้อย่างชัดเจน และฟีดแบกก็มาอย่างรวดเร็วสม่ำเสมอ ส่วนในสภาพแวดล้อมแบบร้ายกาจนั้นปัจจัยจะกลับกัน รูปแบบไม่ชัดเจน กฎไม่ชัดเจน ฟีดแบกก็เชื่องช้า ในหนังสือเรื่อง Range ซึ่งเป็นหนังสือของ “จิ้งจอก” นั้น David Epstein ผู้เขียนให้เหตุผลว่า ความที่โลกปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมที่ร้ายกาจขึ้นเรื่อยๆ การจะทำงานได้ต้องอาศัยการตอบสนองฉับพลันในสถานการณ์แปลกใหม่มากขึ้น จิ้งจอกจึงจะอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ได้ดีกว่าเม่น

ผมคิดว่าแท้จริงแล้ว นี่ไม่ใช่ข้อโต้เถียงที่สามารถแบ่งเป็นสองฝั่งชัดเจนได้ง่าย เพราะมักเกิดการเหมารวมว่าฉันอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งไปโดยมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ความเป็นเม่นไปจนถึงความเป็นจิ้งจอกนั้นเป็นสเปกตรัมที่ตัดขาดออกจากกันไม่ได้อย่างชัดเจน และยังมีเรื่องมิติความเข้มข้นของความเป็นเม่นและจิ้งจอกซ้อนทับเข้ามาอีกชั้นด้วย คุณอาจเป็นจิ้งจอกที่ไม่เก่งอะไรเลยไปจนถึงเป็นจิ้งจอกที่เชี่ยวชาญทักษะประมาณสิบอย่าง (หรือในภาษาไทยเรียกว่ายอดเป็ด) แต่คนก็จะเหมารวมว่าคุณเป็นจิ้งจอกไม่ต่างกันอยู่ดี ซึ่งการเหมารวมเช่นนั้นเป็นเรื่องอันตราย นอกจากนี้ คนเราอาจมี (หรืออาจใช้) ความเป็นจิ้งจอกกับเม่นในขอบเขตแตกต่างกันในช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้ด้วย

ผมคิดว่าตัวเองเป็นจิ้งจอก โดยธรรมชาติและโดยความเห็นแก่ตัวจึงเห็นด้วยกับข้อสรุปของเทตล็อกและเอปสตีน แต่ในขณะเดียวกันผมก็ตระหนักด้วยว่า ในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นเครือข่ายเข้มข้นมากๆ และดำเนินไปตามกฎกำลัง การเป็นเม่นในทักษะที่ขยายขนาดได้ง่าย (scalable) อาจทำให้คุณประสบผลสำเร็จอย่างล้นเหลือได้เช่นกัน หากแต่ผมคิดว่านั่นเป็นความสำเร็จประเภทที่สงวนไว้สำหรับประชากรโลกไม่ถึงหนึ่งในล้านคน มันจึงอาจไม่เป็นดาวเหนือในการดำรงชีวิตที่ดีนัก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save