จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ เรื่อง
วิวรรธน์ ทรัพย์อรัญ ภาพ
หากติดตามการบ้านการเมือง ชื่อของสำนักข่าว ‘ประชาไท’ ต้องผ่านตามาไม่มากก็น้อย
ลองจินตนาการถึงตัวอักษร ป.ปลา สีขาว พื้นหลังสีส้ม – นั่นแหละ โลโก้ของสำนักข่าวที่มีจุดยืนหนักแน่นในการรายงานข่าวเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และประชาธิปไตย
‘ประชาไท’ ก่อตั้งโดยจอน อึ๊งภากรณ์และคณะ ด้วยความคิดริเริ่มว่าอยากทำสื่อที่เป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง
แล้ว 6 กันยายน 2547 ‘ประชาไท’ ก็ถือกำเนิดขึ้นในฐานะหนังสือพิมพ์อิสระบนเว็บไซต์
จากวันนั้นถึงวันนี้ ‘ประชาไท’ มีอายุเกือบ 13 ปีเต็ม ผ่านสมรภูมิวิกฤตการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย ผ่านการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อนับครั้งไม่ถ้วน มิพักต้องพูดถึงการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบัน
‘ประชาไท’ ในวันนี้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ด้านการเมืองและสื่อสารมวลชนอย่างไร
101 ชวน ‘ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข’ บรรณาธิการบริหาร ‘ประชาไท’ มาสนทนาเรื่อง ‘ประชาไท’ ในรัฐทหาร และความสั่นไหวในภูมิทัศน์สื่อใหม่
“สิ่งที่สื่อใหม่ควรเรียนรู้ คือการสร้างแหล่งข่าวใหม่ๆ นอกจากหน้าที่สังเคราะห์ รวบรวม และเรียบเรียงแล้ว คุณต้องสร้างแหล่งข่าวที่มีโอกาสเข้าถึงอำนาจน้อยกว่า และรายงานข่าวขั้นปฐมภูมิสู่แพล็ตฟอร์มออนไลน์เพื่อแข่งกับสื่อกระแสหลัก”
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการสื่อสารมวลชนเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ คุณมองเห็นอะไรในปรากฏการณ์นี้
มันสะท้อนว่าภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน สิบปีก่อนคนมองว่าออนไลน์มาแน่ แต่ยังไม่กล้ากระโจนลงมา เพราะคิดว่าอาจยังไม่คุ้มทุน แต่สิ่งที่เกิดในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่สามารถทำรายได้จากการโฆษณา ผู้คนมองเห็นมูลค่าของการทำสื่อออนไลน์ นี่เป็นภูมิทัศน์ด้านการตลาดที่เปลี่ยนไป
ในแง่เนื้อหาก็หลากหลายมากขึ้น มีการถกเถียงในเรื่องที่หลากหลายมากขึ้น แต่จริงจังน้อยลง และสร้างความบาดหมางและความแตกแยกในความสัมพันธ์มากขึ้น หลายครั้งที่คุณถกเถียง ยิ่งแบ่งคนออกจากกัน ผู้คนระวังท่าทีกันมากขึ้น ผมรู้สึกว่าพลังที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลดน้อยลง
ในภูมิทัศน์สื่อใหม่ เรามักจะมองปัจเจกบุคคลเป็นใหญ่ ทุกคนมีที่ทาง และดูพอใจกับที่ทางของตัวเองนั้น เวลาเราเปล่งเสียงและมีคนตอบรับ ถือเป็นความงดงามเล็กๆ ที่ตอบสนองคุณค่าได้ระดับหนึ่ง
คนรุ่นผมบางคนเสพโซเชียลหนักมาก แต่ผมอิ่มกับมันแล้ว เล่นน้อยลง หันไปอ่านหนังสือมากขึ้น ดูทีวีมากขึ้น ไม่รู้ว่าเป็นผลชั่วคราวหรือถาวร ยังบอกลำบาก
ผมคิดว่าปรากฏการณ์ในวงการสื่อยังไม่นิ่งพอในระดับที่เราจะอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งในทางมานุษยวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยา คงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะ รวมถึงงานวิชาการที่นำทฤษฎีมาจับเพื่ออธิบายว่าทั้งหมดนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลกใบนี้อย่างไร
ในแง่ผู้เล่น มีจำนวนเยอะก็ขึ้นมาก แต่ก่อนมีหนังสือพิมพ์ไม่ถึง 10 ฉบับ คนหันไปดูทีวีไม่เกิน 6 ช่อง แค่นั้นก็ครอบคลุมคนที่เสพสื่อประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้มันกระจายตัว ไม่ใช่แค่จาก 6 ช่องเป็น 24 ช่อง แต่มันกระจายเป็นแสนๆ ช่องทาง ทุกคนเป็นสื่อได้หมด ทั้งทำเนื้อหา คลิป พอดแคสต์ เต็มไปหมด
เราอยู่ในภาวะแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มันเปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะมีภูเขาหรือแม่น้ำโผล่มาหรือเปล่า จนวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะนิ่งที่ตรงไหน เป็นภาวะที่ยังคาดการณ์ได้ลำบาก แต่เริ่มมีสัญญาณนิ่งบ้างแล้ว เพราะจำนวนผู้เล่นเริ่มอยู่ตัว
คุณมองเห็นจุดแข็งของผู้เล่นสื่อใหม่อย่างไรบ้าง
พอคนทำแมกกาซีนเข้ามาทำออนไลน์ ลักษณะงานจะเป็นทัศนะ เป็นการรวบรวม-ย่อย-สังเคราะห์ข้อมูลอยู่ในงานชิ้นเดียวกัน ดังนั้น ในปีที่ผ่านมาคนที่ตามออนไลน์จะรู้สึกได้ว่ามีสกู๊ปมากขึ้น
และสื่อใหม่ๆ ยังมีความคิดสร้างสรรค์ เขาสามารถทำทุกเรื่องให้น่าสนใจได้
จุดอ่อน?
สื่อใหม่จะขาดเรื่องแหล่งข่าว หรือ primary source เวลานำเสนอแต่ละเรื่อง เขาจะรอการฟีดข่าวเข้าสู่แพล็ตฟอร์มออนไลน์ก่อนจึงค่อยมาสังเคราะห์ใหม่ แล้วข่าวแต่ละชิ้นก็มาจากสื่อเก่าที่มีสนามเป็นของตัวเอง มีนักข่าวในทำเนียบ ในกระทรวง เข้าถึงแหล่งข่าวได้หลากหลายวงการ ขณะที่สื่อใหม่ๆ ไม่มี
ฉะนั้น สื่อเก่าและสื่อใหม่จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน สื่อเก่ายังป้อนข่าวเข้าสู่ระบบออนไลน์ให้สื่อใหม่นำไปใช้ต่อ
ยกตัวอย่าง ‘ประชาไท’ อาจจะได้เปรียบ เพราะทำข่าวมานาน เรามีแหล่งข่าวเอ็นจีโอหรือภาคพลเมืองอยู่พอสมควร แต่ข้อจำกัดคือแหล่งข่าวมักจะอยู่ในประเด็นเฉพาะกลุ่ม เช่น เรื่องฐานทรัพยากร นักโทษการเมือง สิ่งที่ประชาไทควรทำคือสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้น่าสนใจ ขณะที่สื่อใหม่ๆ ปราศจากแหล่งข่าว ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวโดยตรง แต่มีความสามารถในการทำเรื่องให้น่าสนใจได้
จะก้าวข้ามปัญหาเรื่องแหล่งข่าวอย่างไร
การสร้างแหล่งข่าวไม่ใช่เรื่องง่าย สื่อเก่าเองก็มีปัญหา แหล่งข่าวจำกัดอยู่ที่ชนชั้นนำทางสังคม ผมคิดว่ายังมีแหล่งข่าวและความจริงอีกจำนวนมากที่ซ่อนอยู่ในปากของผู้คนที่ไม่มีโอกาสพูด สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นข่าว ไม่เคยอยู่ในระบบระบบข่าวสาร
สิ่งที่สื่อใหม่ควรเรียนรู้ คือการสร้างแหล่งข่าวใหม่ๆ นอกจากหน้าที่สังเคราะห์ รวบรวม และเรียบเรียงแล้ว คุณต้องสร้างแหล่งข่าวที่มีโอกาสเข้าถึงอำนาจน้อยกว่า และรายงานข่าวขั้นปฐมภูมิสู่แพล็ตฟอร์มออนไลน์เพื่อแข่งกับสื่อกระแสหลัก เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะต้องใช้กำลังคนมหาศาล แปลว่าต้องใช้ทุนมาก ไม่อย่างนั้นคุณก็ต้องสร้างเครือข่ายเพื่อเอาแหล่งข่าวใหม่ๆ มาไหลเวียนในกระแสข่าวสารมากขึ้น
สถานะที่ใครก็สามารถเป็นสื่อได้ เป็นข้อดีหรือข้อเสีย
โดยรวมแล้วดี มันประกาศว่าปัจเจกบุคคลมีสถานะเท่ากัน มีโอกาสในการส่งเสียงและมีอำนาจที่จะกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงทัศนะของผู้คนได้เท่ากัน แต่ผลของมันอาจไม่ดีเสมอไป หากปัจเจกบุคคลแตกแยกย่อย เหมือนที่ปาฐกถาดิเรก ชัยนาม ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ชี้ให้เห็นว่า สำนึกเรื่ององค์รวมที่หายไปในกระแสปัจเจกชนนิยมสุดขั้ว เป็นภววิสัยชั้นดีของรัฐบาลเผด็จการ เพราะง่ายที่จะปกครองในภาวะที่ทุกคนแตกกระสานซ่านเซ็น
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการแสดงออกก็ยังเป็นฐานที่สำคัญ?
การแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ มันเป็นขั้นตอนของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น ภาวะที่ปัจเจกมีโอกาสเข้าถึงหรือผลิตสื่อเป็นเรื่องสำคัญ
“จริยธรรมไม่ใช่เรื่องที่คุณไปเขียนให้คนอื่นทำตาม จริยธรรมคือเรื่องที่คุณเลือกว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร เพราะอะไร กระทบกับใคร จริยธรรมคือหลักปฏิบัติของตัวเอง แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่มันต้องต่อรองกันได้”
แล้วการกำกับดูแลสื่อในภูมิทัศน์สื่อใหม่ควรมีหน้าตาอย่างไร
การกำกับดูแลที่มีอยู่ ก่อนมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพียงพออยู่แล้ว ลำพังกฎหมายหมิ่นประมาทก็พอแล้ว ควรปล่อยให้สังคมเติบโตด้วยกระบวนการกำกับควบคุมกันเอง ฉะนั้น ถ้าปล่อยให้สื่อโซเชียลได้ไหลเวียนปะทะสังสรรค์อย่างเสรี ก็จะเกิดบรรทัดฐานและวัฒนธรรมขึ้นเอง
ภายใต้วิธีคิดที่มีเสรีภาพเต็มที่ รวมถึงการกำกับและตรวจสอบกันเองในโลกออนไลน์ การกำกับดูแลอาจไม่เบ็ดเสร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะทำให้เราอยู่กันได้อย่างยั่งยืน เป็นธรรมชาติ และมีชีวิตชีวาโดยไม่มีอำนาจอะไรมากำกับควบคุม แม้ว่าในอนาคตคนกำกับอาจจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม
อะไรที่ทำให้ความคิดไม่สามารถปะทะสังสรรค์กันได้ต้องขจัดมันทิ้ง เช่น ระบบอุปถัมภ์ ความเกรงใจ สมมติว่า 101 ทำผิดพลาด ผมก็ต้องกล้าวิจารณ์ ไม่ใช่มาเกรงใจเพราะรู้จักกับบรรณาธิการ คนถูกวิจารณ์ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เพื่อนต้องวิจารณ์เพื่อนได้ วัฒนธรรมการวิจารณ์เช่นนี้ต้องเกิด
แน่นอนว่าการกำกับดูแลแบบนี้ต้องใช้เวลา ทุกวันนี้สื่อบางสำนักทำ Fake News หรือสร้างดราม่าจากข่าว ขนาดมีคนวิจารณ์ตลอด แต่เขาก็ยังทำต่อ และทำมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ระยะยาวคนจะรู้เท่าทันมากขึ้น เราต้องเชื่อในมนุษย์ว่าจะตื่นรู้ได้ถ้าไม่ถูกปิดกั้น ถ้าเขามองอย่างรอบด้าน จะรู้ว่าอะไรควรไม่ควร
ถ้าวันนี้คุณเจอ Fake News ข่าวละเมิดสิทธิ หรือข่าวมั่วๆ 50 เปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อว่าวันพรุ่งนี้จะเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ วันมะรืนจะเป็น 48 เปอร์เซ็นต์
แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน รัฐจะใช้อำนาจในการควบคุมสื่อ นั่นยิ่งทำให้ระบบการกำกับดูแลเดินไปผิดทาง
ใช่ คุณปิดสถานีหรือรายการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ก็จะขาดมุมมองอีกด้านที่วิจารณ์รัฐบาล ทำให้สื่อฝั่งรัฐบาลเสียงดังขึ้น อย่างนี้เป็นปัญหา รวมถึงการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงกลไกการตลาดของสื่อ
แล้วเรื่องจริยธรรมสื่อในยุคสื่อใหม่เป็นอย่างไร
ทุกคนเป็นสื่อแบบปัจเจก คุณจะเอาจริยธรรมแบบไหนไปใส่เขาล่ะ ไม่มี สิ่งที่จะกำกับคุณคือภาวะต่อรองที่ทำให้คนยอมรับกันได้ ถ้าคุณโพสต์ความคิดเห็นลงเฟซบุ๊ก ก็จะมีคนคอมเมนต์เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คุณก็จะรู้ว่าเวลาจะโพสต์ครั้งต่อไป จะทำอย่างไรให้คนนี้กับคนนั้นที่เห็นไม่ตรงกันมายอมรับซึ่งกันและกัน
จริยธรรมของสื่อหลักไม่ใช่แบบฟอร์มที่ทุกคนจะต้องเดินเข้ามาในกรอบนี้ การมีจริยธรรมไม่ได้แปลว่าเราดีกว่าคนอื่น มันแค่บอกตัวตนของเรา บอกสังคมว่าเราทำงานภายใต้กรอบอย่างไร
เส้นแบ่งระหว่างจริยธรรมของสื่อมืออาชีพกับสื่อพลเมืองคืออะไร
จริยธรรมไม่ใช่เรื่องที่คุณไปเขียนให้คนอื่นทำตาม จริยธรรมคือเรื่องที่คุณเลือกว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร เพราะอะไร กระทบกับใคร จริยธรรมคือหลักปฏิบัติของตัวเอง แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่มันต้องต่อรองกันได้
กรณีของอิมเมจในสถานะสื่อพลเมือง พูดถึง ‘ประเทศเฮงซวย’ การวิจารณ์ในเรื่องนี้ก็จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ ต่อไปอิมเมจอาจจะระวังตัวมากขึ้น อาจใช้คำว่า ‘สังคมเฮงซวย’ ให้เห็นปัญหาของระบบ สะท้อนไปถึงการบริหารจัดการมากกว่าคุณค่าโดยรวมของชาติ หรือคนที่เห็นว่าอิมเมจวิจารณ์ประเทศได้ คำที่ใช้ก็ถูกต้องแล้ว ก็จะออกมาปกป้องอิมเมจมากขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายวิจารณ์กันและปะทะสังสรรค์ทางความคิด จริยธรรมมาตรฐานจะดีขึ้น อิมเมจก็สามารถเลือกกำหนดจริยธรรมของตัวเองว่าฉันจะทำอะไร ไม่ทำอะไร
ส่วนหลักการที่สื่อมืออาชีพต้องรู้คือ ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน เวลาเสนอข่าวจึงไม่ควรโทษที่มนุษย์ แต่ควรดูว่า อะไรที่ทำให้มนุษย์เป็นแบบนี้คิดแบบนี้
แสดงว่าจริยธรรมของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางหลักคิดอาจขัดกันด้วย
เหมือนเวลาคุณพูดกับเพื่อน คุณรู้ว่าพูดกูมึงได้ แต่กับคนอื่น คุณไม่ได้พูดกูมึงใส่เขา คุณจะเรียนรู้ และสังคมจะเรียนรู้ มันเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมตามปกติ อะไรที่เราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำเกิดจากการเรียนรู้ทางสังคม
เรามีเสรีภาพ แต่เสรีภาพต้องไม่ละเมิดคนอื่น เรารู้ว่าที่เราไม่ทำเพราะมันกระทบคนอื่น เพราะเรากลัวว่าเวลาคนอื่นทำบ้าง มันจะมากระทบเรา เวลาคุณเจอเพื่อนบนถนนแล้วเดินเข้าไปเตะ แล้วเพื่อนเตะคุณคืนบ้าง คุณโอเคไหมล่ะ ถ้าคุณไม่โอเคก็แสดงว่าคุณทำกับเขาอย่างนั้นไม่ได้
“ถ้าคุณตัวเล็ก คุณต้องกล้า ถ้าไม่มีทุนมหาศาลเหมือนสื่อใหญ่ คุณยิ่งต้องกล้าหาญที่จะพูดความจริง มันจะทำให้คุณมีความน่าเชื่อถือ ผู้อ่านมากขึ้น เป็นความยั่งยืนในระยะยาว”
การคุกคามสื่อในภูมิทัศน์สื่อใหม่เปลี่ยนไปอย่างไร
แต่เดิมอำนาจอยู่ที่รัฐอย่างเห็นได้ชัด แต่ตอนนี้อำนาจไม่ได้อยู่แค่รัฐบาล ความคิดแบบรัฐเข้าไปอยู่ในสื่อพลเมือง ฉะนั้น เราจึงเห็นการคุกคามที่มาจากสื่อพลเมืองมากขึ้น เช่น ปรากฏการณ์ไล่ล่าคนไม่ใส่เสื้อดำในช่วงหลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่เก้า สิ่งเหล่านี้เกิดจากสื่อพลเมืองที่เป็นตัวแทนรัฐ ซึ่งเป็นการคุกคามในโลกออนไลน์
ถ้ามีการคุกคาม การหมิ่นประมาท การปลุกปั่นยุยงให้ฆ่า รัฐก็ต้องดำเนินคดี รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองด้านด้านกายภาพ ส่วนการแสดงความคิดเห็นปล่อยให้ไหลเวียนเสรีไป
ปัญหาคือมันไม่ได้เสรีจริง ผมจับสัญญาณเรื่องลูกเสือไซเบอร์มาได้หลายปีแล้ว มันมีกระบวนการ IO (Information Operation : ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร) จัดตั้งให้คนมาทำงาน ซึ่งทำให้ข่าวสารไม่ได้ไหลเวียนอย่างเสรี เป็นธรรมชาติ กระบวนการวิจารณ์เพื่อกำกับดูแลกันเองก็ไม่เกิด
ในสถานการณ์ต่างๆ ที่คุยกันมา นักข่าวตัวเล็กๆ จะเอาตัวรอดอย่างไร
ถ้าคุณตัวเล็ก คุณต้องกล้า ถ้าไม่มีทุนมหาศาลเหมือนสื่อใหญ่ คุณยิ่งต้องกล้าหาญที่จะพูดความจริง มันจะทำให้คุณมีความน่าเชื่อถือ ผู้อ่านมากขึ้น เป็นความยั่งยืนในระยะยาว
ความกล้าวิพากษ์วิจารณ์เป็นหนทางเดียวเลยหรือ
ไม่ได้แปลว่านักข่าวต้องวิจารณ์ทุกเรื่อง ก็เป็นอย่างที่คุณเป็น ปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน แต่อย่าปิดกั้นการวิจารณ์ ถ้าคุณรู้สึกว่าเรื่องนี้ยอมไม่ได้หรือส่งผลกระทบต่อคุณ ก็วิจารณ์ ผมไม่คิดว่าการวิจารณ์เป็นหน้าที่
อีกเรื่องคือคุณต้องควานหาความจริงใหม่ๆ แหล่งข่าวใหม่ๆ ทัศนะมุมมองใหม่ๆ เพื่อเติมเข้าไปในสังคม
ในฐานะคนทำงานสื่อมาพอสมควร คุณเห็นปัญหาอะไรที่สื่อไทยส่วนมากเป็นโดยไม่รู้ตัว
(นิ่งคิด) การไม่เลือกวิธีการ ถ้าใช้ภาษาของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล คือ end (เป้าหมาย) สำคัญกว่า mean (วิธีการ) พอมีความคิดความเชื่อและเป้าหมายทางสังคมว่าอยากจะสร้างสังคมแบบนี้ เชียร์คนนี้ ชอบคนนั้น ก็พร้อมที่จะหยิบข่าวบิดเบือนมาพาดหัวแล้วบอกว่ามีคนตั้งคำถามแบบนี้ คุณไปดูสื่อบางสำนักที่พร้อมจะปั่นกระแสและบิดเบือนทำนองนี้
การเคารพความเป็นมนุษย์ในบ้านเราจึงไม่เกิด สังคมไทยไม่เคยมีบทเรียนที่จะสถาปนาความเป็นมนุษย์ขึ้นมาอยู่ในระดับวัฒนธรรม อะไรก็สามารถถูกล่วงละเมิดได้ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
มนุษย์เป็นเหยื่อเสมอ จะไล่รัฐบาลก็เอาเรื่อง 112 มาเล่น หรือทำให้คนนิยมทักษิณไม่ใช่มนุษย์ เหมือนยุคหนึ่งบอกฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป หรือพวกนี้ควายแดง ทำให้มี Hate Speech คนถูกฆ่ากลางถนนก็ยังมาบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ไม่ได้รู้สึกผิดบาป
ในยุคที่ไม่มีสื่อออนไลน์ การที่หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุเป็นแบบนี้ มันอันตรายมาก ผูกขาดความคิดคนและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่การมีอยู่ของสื่อปัจเจกในปัจจุบันช่วยถ่วงดุลให้มันไม่เอียงไปในทางใดทางหนึ่ง ถ้ามีเสรีภาพในการการแสดงออก มีนิติธรรม รัฐไม่รีรอที่จะปราบปรามการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เข้าขั้นวิกฤต
สื่อที่ไม่เคารพความเป็นมนุษย์เกิดจากอะไร
ผมไม่แน่ใจว่า เราเรียกวิทยุยานเกราะสมัย 6 ตุลาฯ หรือสื่อบางสำนัก ว่าเป็นสื่อได้ไหม หรือเขาเป็นเครื่องมือ propaganda ของรัฐ มีเป้าประสงค์ทางการเมืองเพื่อกวาดล้างความคิดความเชื่อที่คิดว่าเป็นภัย ผมเรียกว่าเป็นกงจักรหนึ่งของชนชั้นนำอนุรักษนิยม
สำนักข่าวพวกนี้จะไม่โต ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐพันลึก วิทยุยานเกราะเกิดจากการสนับสนุนของรัฐ แต่หลังจากนั้นก็ตาย สื่อบางสำนักก็คงมีจุดจบไม่ต่างกัน
คุณคิดอย่างไรกับข้อถกเถียงของสังคมว่า ตกลงแล้วสื่อต้องเป็นกลางหรือไม่
ความเป็นกลางจริงๆ ไม่มี มีแต่ความตอแหล
คุณเกิดมาพูดภาษาไทยก็ไม่เป็นกลางแล้ว คิดแบบไทยก็ไม่เป็นกลาง ทุกคนมีสำนึกอยู่ภายใต้กรอบความคิดความเชื่อแบบใดแบบหนึ่ง ไม่มีภาวะเป็นกลางเกิดขึ้นจริง เราแต่ละคนมีทัศนะและจุดยืนตลอดเวลา
สิ่งที่สำคัญคือการเปิดให้เข้าถึงต่างหาก ทุกคนเข้าถึงสื่อได้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ คุณต้องเปิดให้คนเข้าถึงทุกสื่อ เพื่อให้แต่ละคนสามารถต่อรองความคิดความเชื่อของเขากับคนอื่นๆ ได้อ่านอย่างหลากหลาย แล้วไปใช้วิจารณญาณกันเอาเอง
“หัวใจหลักของ ‘ประชาไท’ คือเรื่องมนุษย์เท่ากัน ไม่ขึ้นอยู่กับสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา หรือความคิดทางการเมือง”
ในภูมิทัศน์สื่ออันหลากหลาย ทั้งสื่อหลัก สื่อเก่า สื่อใหม่ สื่อพลเมือง สื่อทางเลือก ฯลฯ คุณวาง position ‘ประชาไท’ ไว้อย่างไร
เป็นสื่อออนไลน์เก่ามั้ง (หัวเราะ) ตอบยาก ประชาไทเป็นสื่อออนไลน์ยุคแรกๆ เกิดขึ้นในยุคที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย ผมเรียกว่ากลางเก่ากลางใหม่ แต่วันนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่ายังสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อทางเลือกได้หรือไม่ เพราะทุกคนเป็นสื่อทางเลือกหมดเลย
คำว่า ‘สื่อ’ มันลื่นไหลมาก ต้องอาศัยนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์มาตอบแล้ว ผมตอบไม่ได้ ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร เรียกว่าเป็นสื่อหนึ่งที่พยายามหาที่ทางเป็นปากเป็นเสียงให้กับสังคมได้บ้างก็แล้วกัน
‘ประชาไท’ ปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์สื่ออย่างไร
ในแง่การทำงานยังมีระบบระเบียบกำกับการทำงาน ทั้งภาษา วิธีการเขียนข่าว จริยธรรม แง่หนึ่งทำให้เราเป็นมืออาชีพ แต่อีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้เราปรับตัวได้ช้า เคร่งขรึมเกินไป เล่นน้อย ไม่เป็นกันเอง ไม่เข้าถึงผู้คน
เราอาจกลายเป็นหน่วยรบที่เทอะทะ ไม่คล่องตัว เนื่องจากการผันเปลี่ยนผู้คนของประชาไทมันช้า คนรุ่นใหม่เติมไม่ทัน ถึงทันก็มาอยู่กับคนยุคที่อยู่มา 8-10 ปี เขาก็อยู่ภายใต้ระบบระเบียบแล้ว
‘ประชาไท’ อยู่ในระหว่างปรับตัว ถ้ามีภารกิจเราจะพุ่งเป้าไปตรงนั้น เล่นเฉพาะเรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน และฐานทรัพยากร
สิ่งที่ ‘ประชาไท’ ทำ คือมองไปที่คนกลุ่มเล็กๆ ในสังคม พูดในเชิงการตลาดคือประชาไทไม่โกแมส ไม่มีเงินลงทุน ไม่อยากเป็นหรืออาจจะไม่ถนัด เราเลือกที่จะจับกลุ่มนี้ ทำข่าวเอ็นจีโอ นักวิชาการ คนพิการ ซึ่งเป็นทิศทางเดิมของประชาไท และผ่านการลองผิดลองถูกมาตลอด
เรามีทุนน้อย ไม่ได้มีทีมงานมาก ทุนจริงๆ มาจากการร่วมสร้างของเครือข่าย พูดง่ายๆ คือเราเข้าไปทำงานกับเครือข่ายต่างๆ เต็มไปหมด แล้วเขาก็ตอบแทนเรา ให้ข่าวบ้าง ให้เข้าถึงแหล่งข่าวบ้าง นี่คือทรัพยากรมหาศาลที่ประชาไทได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เว็บไซต์ thisAble.me ก็เป็นเครือข่ายใหม่ ผมไปอบรมสื่อแล้วพบน้องพิการที่สนใจทำสื่อ สื่อสารได้ มีสกิล ฉลาดมาก ก็เริ่มมาร่วมงานกับประชาไท แล้วเปิดเว็บสำนักข่าวคนพิการ พูดถึงชีวิตที่เป็นอิสระ
ส่วนหนังสือ แผ่นดินจึงดาล เกิดจากความคิดที่ไม่รู้ว่าประเทศไทยจะไปทางไหน ไร้ซึ่งความหวัง ก็ถึงเวลาเอานักวิชาการมาวิเคราะห์กัน พูดให้เต็มที่ แต่ด้วยข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถเผยแพร่ทางออนไลน์ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เลยทำออกมาเป็นหนังสือ
เรายังทำเสื้อไข่แมว ผมติดตามเพจไข่แมว ชอบมาก เพราะเป็นศิลปะเสียดสี เลยเข้าไปเชื่อม เขาก็บริจาคภาพให้มาทำเสื้อ เราเลือกภาพจอมเผด็จการถือปืนยกมือไหว้ เพราะเป็นภาพตัวแทนแห่งยุคสมัย
คล้ายว่า ‘ประชาไท’ มีลักษณะเป็นทั้ง ‘สื่อ’ และ ‘เอ็นจีโอ’ ผสมกัน คุณนิยาม ‘ประชาไท’ ไปทางไหน
ข้อถกเถียงนี้มีมาเป็นสิบปี เอ็นจีโอไม่เรียก ‘ประชาไท’ ว่าเอ็นจีโอ บรรดาสื่อก็ไม่จับเราเป็นสื่อ
ถามว่านิยามตัวเองอย่างไร เรานิยามตัวเองว่าเป็น ‘สื่อ’ เราแยกฝ่ายหาทุนกับฝ่ายกองบรรณาธิการออกจากกัน ไม่มีวัฒนธรรมการครอบงำ ฝ่ายหาทุนสั่งฝ่ายเนื้อหาไม่ได้ ทั้งหมดจะปรึกษาหารือแล้ววางยุทธศาสตร์ร่วม เราไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเอ็นจีโอ เราทำงานอยากได้เงินเดือน ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ระบบตลาด นักข่าวทุกคนก็มีสำนึกว่าเป็นสื่อมากกว่า โดยโครงสร้างองค์กรก็เป็นสื่อมากกว่า แต่เรื่องการคุ้มครองคนทำงานและเป้าหมายเป็นเอ็นจีโอ
สื่อที่ไม่นับประชาไทเป็นสื่อ เขาให้เหตุผลว่าอะไร
คือเราไม่เหมือนเขาก็แค่นั้น ปี 2548 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์เรื่องสื่อแท้สื่อเทียม เขานิยามว่าสื่อที่มีจุดยืนทางการเมืองไม่ใช่สื่อ
ผ่านมา 12 ปีก็น่าจะได้คำตอบแล้วว่าสิ่งที่เขาคิดมันผิด ตอนนี้ทุกคนเป็นสื่อหมด บางกลุ่มบางคนยังมีจริยธรรมมากกว่าสื่อหลักบางเจ้าอีก ตอนนี้เขาก็ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อแท้แล้ว
ตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557 การนำเสนอข่าวของ ‘ประชาไท’ ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
เรื่องที่ต้องคัดกรองมากคือ 112 เพราะเรารู้ว่าไม่ใช่เรื่องที่รัฐเข้ามาจัดการอย่างเดียว แต่รัฐทำให้สังคมเข้ามาจัดการด้วย มันล่อแหลมต่อความขัดแย้งทางสังคม อันตรายทางกายภาพ สังคมไทยยังไม่มีวุฒิภาวะที่จะมาถกเถียงเรื่องนี้
ส่วนเรื่องการวิพากษ์ชนชั้นนำในสังคมไทย – ไม่เปลี่ยนแปลง เราไม่กลัวอะไร เรากล้าวิพากษ์ แต่แหล่งข่าวมีจำนวนน้อยลง ถูกปิดปากหมด เราไม่ได้อยากปิดปากตัวเองและไม่ได้ถูกปิดด้วย แต่การที่แหล่งข่าวไม่พูด ทำให้เราไม่มีข่าว
การวิพากษ์ คสช. เราก็จัดเต็ม แต่อยู่ดีๆ เราจะลุกขึ้นมาด่าก็ไม่ใช่วิสัยของเรา แน่นอนว่ามีคนเขียนบทความวิพากษ์ คสช. และแสดงทัศนะวิจารณ์อำนาจรัฐและชนชั้นนำน้อยลงมาก เพราะถูกคุกคามความเป็นส่วนตัว ครอบครัวเขาเดือดร้อน รัฐบาลเผด็จการทหารเล่นที่ตัวบุคคล ไม่ได้เล่นงานประชาไทโดยตรง
โดยรวมแล้ว บางเรื่องเราเปิดให้ถกเถียง บางเรื่องแหย่ให้ถกเถียง บางเรื่องต้องสงวนไว้ พูดง่ายๆ ว่าเราพยายามเซ็นเซอร์ตัวเองให้น้อยที่สุด
ถ้าไม่นับเรื่อง 112 ‘ประชาไท’ ไม่ได้เซ็นเซอร์ตัวเอง แต่คุณกำลังจะบอกว่าภาคประชาสังคมต่างหากที่เซ็นเซอร์ตัวเอง
เรียกอย่างนั้นก็ได้ จริงๆ ทุกภาคส่วนเซ็นเซอร์ตัวเองหมด ผมไม่ได้ตำหนินะ เพราะถ้าไม่เซ็นเซอร์ก็จะมีการคุกคามไปที่เขาโดยตรง
ถ้าคุณเขียนบทความลง ‘ประชาไท’ ในนามของคุณเอง จะเซ็นเซอร์ตัวเองไหม
ถ้าเขียนบทความ ผมจะไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ถ้ารู้ว่าต้องเซ็นเซอร์ ผมไม่เขียน ฉะนั้นจึงไม่มีใครเขียนไง เพราะเขียนแล้วต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง พอลงเว็บ คสช. มาแน่
สำหรับนักข่าว พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของนักข่าวของเราในเว็บประชาไทมีน้อยมาก ฉะนั้นจะเซ็นเซอร์หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเขาเลือกทำข่าวไหนหรือไม่ทำข่าวไหน บางครั้ง ภววิสัยกำหนดให้เขาเซ็นเซอร์ตัวเองโดยปริยาย
ถามว่ามีบรรยากาศภายใต้ความกลัวไหม … มี
แต่สิ่งที่ฝ่ายบริหารทำอยู่เสมอคือ การพูดและสร้างบรรยากาศว่าต้องไม่กลัว ถ้ากลัวอย่าเป็นนักข่าว
เจ้าหน้าที่หรือนักข่าวในภาคอีสานของประชาไทถูกคุกคาม สิ่งที่ฝ่ายบริหารทำก็คือทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเชื่อว่าความกลัวจะทำให้เราทำหน้าที่บกพร่อง ความกลัวทำให้เสื่อม ทำให้ไม่เป็นนักข่าวอย่างที่ควรจะเป็น
การคุกคามเป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเป็นนักข่าว คือไม่ได้เก่งกับทหารนะ เพียงแต่ ‘ประชาไท’ กล้าที่จะเสีย อย่างมากก็ปิดไป 13 ปีของ ‘ประชาไท’ ถือว่าทำหน้าที่ได้คุ้มแล้ว
“สื่อใหม่เป็นแพล็ตฟอร์มที่ทำให้มนุษย์ทุกคนเท่ากัน แพล็ตฟอร์มเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าวัฒนธรรมการใช้แพล็ตฟอร์มนี้เป็นประชาธิปไตยไปด้วยโดยอัตโนมัติ”
สื่อช่วยสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน
เมื่อก่อนคุณไม่มีสิทธิเขียน ถ้าไม่ใช่คนดัง หรือรู้จักเจ้าของหนังสือพิมพ์ รู้จักกองบรรณาธิการ แต่ตอนนี้ทุกคนมีสิทธิเขียน ฉะนั้นผมคิดว่าสื่อใหม่มาพร้อมๆ กับการสร้างโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการแสดงความคิดเห็น เริ่มต้นจากทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะบอกว่าคุณทุกข์ร้อนอะไร โดยพื้นฐานมันเอื้อสู่วัฒนธรรมประชาธิปไตย
มันจะถักทอร้อยเรียงเป็นโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ แต่การเมืองบ้านเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะถูกครอบงำด้วยความคิดแบบอำนาจนิยม คนจึงแสดงความคิดเห็นแบบมองคนไม่เท่ากันอยู่
สื่อใหม่เป็นแพล็ตฟอร์มที่ทำให้มนุษย์ทุกคนเท่ากัน แพล็ตฟอร์มเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าวัฒนธรรมการใช้แพล็ตฟอร์มนี้เป็นประชาธิปไตยไปด้วยโดยอัตโนมัติ
ผมเชื่อว่า ถ้าปล่อยให้ข่าวสารไหลเวียนอย่างเสรีจริงๆ วัฒนธรรมอำนาจนิยมจะถูกลดทอนลงเรื่อยๆ
สื่อจะมีส่วนร่วมหยุดวัฒนธรรมอำนาจนิยมอย่างไร
ผมเคยหวังว่าสื่อจะเป็นหัวหอกในการสถาปนาความเป็นมนุษย์ให้คนเท่ากัน ถ้าสื่อไม่เป็นหัวหอกหลักก็ไม่เหลือใครแล้ว สื่อต้องเป็นปากเป็นเสียง ต้องปกป้องความเป็นมนุษย์ แต่หลายสื่อไม่ได้ทำแบบนั้น
ทำอย่างไรให้สื่อทำ สื่ออาจต้องคิดเรื่องความสงบและความมั่นคงน้อยลง ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของความคิดเห็นมากขึ้น สื่อต้องเลิกเป็นคุณพ่อรู้ดีและคิดว่าตัวเองเป็นมืออาชีพมากกว่าคนอื่น สื่อไม่ควรจะยึดติดเรื่องชาตินิยม ศาสนานิยม พวกพ้อง หรือพรรคการเมือง มองโลกให้กลมมากขึ้น ไม่มองเป็นเหรียญสองด้าน แบ่งขาวแบ่งดำชัดเจน
ผมไม่รู้ว่าควรจะเริ่มจากจุดไหน แต่ผมหวังว่าภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปจะทำให้เห็นสื่อที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้น ส่วนสิ่งที่ต้องคืบคลานต่อไปคือ ภาวะที่ร้อยรัดปัจเจกบุคคลให้เห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงสังคม เพียงแต่เงื่อนไขนี้ยังไม่เกิด
ต้องรอเวลา?
เงื่อนไขที่อาจเกิดการร้อยรัดปัจเจกบุคคลมารวมกันได้ เช่น พอกันที ทน คสช. ไม่ไหวแล้ว แม้จะถกเถียงกัน แต่ก็เห็นร่วมกันว่าปลายยอดสุดของโครงสร้างอำนาจอยู่ไม่ได้ ต้องไป แต่ภาวะที่ปัจเจกบุคคลเคลื่อนออกมาบนท้องถนน นานๆ จะมาที
แต่รัฐก็จะกด…
รัฐจะกดบางจุด กดทั้งหมดไม่ได้ วันที่ประชาชนออกมาพร้อมๆ กัน คุณไม่มีทางกดเขาได้ วันที่เขาไม่ยอมแล้ว เรียกเขามาปรับทัศนคติ เขาไม่ไป คุณไปตามเขาถึงบ้าน เขาไม่กลับบ้าน คนหนุ่มสาวเป็นแบบนี้ คนหนุ่มสาว 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ ก็แบบนี้ คุณไปถึงบ้านเหรอ ระเบิดเขาเหรอ ฆ่าเขาเหรอ เขาไม่ยอม
“พลังเหล่านี้จะออกมาเมื่อไร ไม่รู้ แต่มันออกมาแน่ เมื่อมีภววิสัยและเงื่อนไขที่ร้อยรัดให้ปัจเจกบุคคลรุ่นหนุ่มสาวรวมพลังกัน วันที่พวกเขาพร้อมจะละสายตาแล้วเดินออกมาบนท้องถนน วันนั้นต้องมี”
คุณมองเห็นอะไรในคนรุ่นใหม่ยุคสมัยนี้ที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย
(นิ่งคิด) ความมุ่งมั่นใฝ่ฝัน และความไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก ทำให้พลังเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
สปท. สนช. คสช. อายุ 50-60 ปีขึ้นทั้งนั้น แต่โลกข้างหน้าเป็นโลกของคนหนุ่มสาว มันขัดกันแน่นอน ยิ่งปัจจุบันเขาปะทะกับอำนาจรัฐที่พยายามจะสร้างสังคมในแบบคนรุ่นเก่า
คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้คิดเหมือนคนเป่านกหวีด มองเห็นถึงความไม่เท่าเทียม สองมาตรฐาน รู้สึกไม่แฟร์ ที่สำคัญที่สุดคือเขาเติบโตในยุคที่มีสิทธิเสรีภาพมา 20 ปี มองสิ่งเหล่านี้เป็นลมหายใจ เขางงและคงรับไม่ได้กับเรื่องการปิดกั้นการแสดงออกและความคิดเห็น
พลังเหล่านี้จะออกมาเมื่อไร ไม่รู้ แต่มันออกมาแน่ เมื่อมีภววิสัยและเงื่อนไขที่ร้อยรัดให้ปัจเจกบุคคลรุ่นหนุ่มสาวรวมพลังกัน วันที่พวกเขาพร้อมจะละสายตาแล้วเดินออกมาบนท้องถนน วันนั้นต้องมี
สื่อในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร
หนึ่ง สื่อต้องยืนหยัดให้มั่นเรื่องเสรีภาพการแสดงออก และวิพากษ์ว่าเสรีภาพการแสดงออกไปละเมิดใครและมีผลกระทบต่อใครบ้าง รักษาฐานที่มั่นเรื่องเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนทุกฝ่าย ผมคิดว่าสื่อต้องมีจุดยืนเรื่องนี้ให้ชัด
สอง สื่อต้องเชิดชูความเป็นมนุษย์
สาม สื่อต้องร่วมสร้างวัฒนธรรมไม่ให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด สมัย 6 ตุลาฯ อาชญากรรมโดยรัฐพ้นผิดอย่างเป็นระบบ การเรียนรู้ที่จะเคารพความเป็นมนุษย์จึงไม่เกิด
ทั้งหมดนี้จะนำมาซึ่งประชาธิปไตยในที่สุด อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ทุกคนเท่ากัน ถ้าไม่เท่ากัน สื่อต้องวิพากษ์
และหัวใจหลักของ ‘ประชาไท’ คือเรื่องมนุษย์เท่ากัน ไม่ขึ้นอยู่กับสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา หรือความคิดทางการเมือง.