fbpx

เมื่อนักเขียนไทยเลี้ยวขวา และวรรณกรรมถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ คุยกับชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

เมื่อมีภาษา มนุษย์มีเรื่องเล่า 

เรื่องเล่าหล่อเลี้ยงผู้คนมายาวนาน ทั้งตำนานปรัมปรา ความเชื่อเหนือธรรมชาติ หรือแม้แต่การซุบซิบนินทา เราเล่าเรื่องกันผ่านปากเปล่า จนเมื่อมีภาษาเขียนเราก็ปรุงแต่งเรื่องเล่านั้นให้มีรสชาติและสร้างโลกอีกใบบนหน้ากระดาษหรือแผ่นหนัง

เรื่องเล่าบางเรื่องก็สูญหายไปตามเวลาหากไม่ได้บันทึกไว้ แต่เรื่องเล่าหลายเรื่องก็ยังคงอยู่ และถูกขับขานผ่านสมองและเสียงของใครสักคน เมื่อยามพวกเขาหยิบขึ้นมาอ่าน หลายเรื่องเล่าของโลกถูกเล่าผ่านงานวรรณกรรม 

เส้นกาลเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน คำถามถึงคุณค่าของงานวรรณกรรมยังดังอยู่ในหลายสังคม ยิ่งโดยเฉพาะในสังคมไทยที่ถูกมองว่ามีวัฒนธรรมการอ่านที่อ่อนแอ และวรรณกรรมอาจไม่มีพลังในสังคมที่เสรีภาพในการพูดหดแคบเช่นนี้ บ้างก็ว่านักเขียนไทยไม่มีน้ำยา และวรรณกรรมเป็นแค่เรื่องฟุ่มเฟือยของคนมีเวลาเท่านั้น

บางนักเขียนที่เคยอยู่ข้างประชาชนและเชิดชูความเสมอภาคกลับกลายย้ายฝั่งไปอยู่ข้างเผด็จการ หรือความเชื่อที่ว่าผู้สรรค์สร้างงานศิลปะย่อมมีความคิดเชิงวิพากษ์และโอบรับความก้าวหน้า แต่กลายเป็นว่าเขาโอบกอดกาลเวลาจนกลายเป็นคนล้าหลัง ปรากฏการณ์ ‘เลี้ยวขวา’ ทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามอีกครั้งต่อการมีอยู่ของวรรณกรรม 

101 ชวน รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือวิจารณ์-วิพากษ์วรรณกรรมหลายเล่ม เช่น อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง, อ่านใหม่, สัจนิยมมหัศจรรย์, นายคำ / Wordmasters ตำนานนักเขียนโลก ฯลฯ มาคุยว่าด้วยเรื่องลักษณะทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปของวงการวรรณกรรมไทย การตีความวรรณกรรมยุคเก่าให้เข้ากับยุคสมัย และคุณค่าความหมายของวรรณกรรมในโลกปัจจุบัน 

คุณพูดในงานประชุมวิชาการนานาชาติ ‘วรรณกรรมไทยและอินโดนีเซียในยุคหวนคืนของอนุรักษนิยม’ ว่านักเขียนไทยจำนวนหนึ่งพร้อมใจกันเลี้ยวขวา ช่วยเล่าในบทสัมภาษณ์นี้อีกครั้งได้ไหมว่าหมายถึงอะไร และมีเบื้องหลังวิธีคิดอย่างไร

จากหัวข้องานคือ ‘วรรณกรรมไทยและอินโดนีเซียในยุคหวนคืนของอนุรักษนิยม’ ผมจึงมานั่งคิดว่าจะเรียกปรากฏการณ์ของการหันไปเป็นอนุรักษนิยมของนักเขียนไทยอย่างไร แล้วก็มานึกถึงคำในระบบจราจรบ้านเราที่เห็นกันบ่อย คือคำว่า ‘เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด’ แต่จะมีรถบางกลุ่มเท่านั้นที่เลี้ยวขวาผ่านตลอดได้ ซึ่งก็ต้องเป็นรถที่มีอภิสิทธิ์พอสมควร ผมเลยเอามาโยงกับการเลี้ยวขวาของวงการวรรณกรรมไทย แล้วเผอิญคำว่า ‘เลี้ยว’ หรือ ‘turn’ ก็เป็นคำที่ฮิตในวงวิชาการตั้งแต่ปลายศตวรรษที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน เช่น linguistic turn ซึ่งก็คือการหันไปสนใจภาษา หรืออย่าง ontological turn คือการหันไปสนใจภววิทยา ถ้าจะมีอีก turn หนึ่งที่น่าสนใจ ผมว่าก็คือการเลี้ยวขวานี่แหละ 

การอธิบายปรากฏการณ์นี้ผมจะไม่มองที่การตัดสินใจส่วนบุคคล เช่น ทำไมคนที่เคยเป็นฝ่ายก้าวหน้ามาก่อนแล้วเปลี่ยนใจไปเป็นอนุรักษนิยม แต่ผมพยายามจะพิจารณาปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา ซึ่งผมเสนอไว้กว้างๆ 3 ปัจจัย 

ปัจจัยที่หนึ่งคือกระบวนการดูดกลืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ (recuperation) คำคำนี้เป็นศัพท์ของของฝ่ายซ้ายที่อธิบายปรากฏการณ์ทุนนิยมว่ามีกลไกดูดกลืนแรงต่อต้านให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เพื่อให้ระบบเดินไปได้โดยไม่ต้องไปปราบปรามกวาดล้างหรือกดทับ เป็นการสลายพลังต่อต้านวิธีหนึ่ง หรือถ้าจะใช้ศัพท์ที่นิยมใช้กันในวงวิชาการคือคำว่า ‘การฉวยใช้’ (reappropriation)

การดูดกลืนในแวดวงวรรณกรรม คือการที่วรรณกรรมของฝ่ายซ้ายหรือวรรณกรรมที่เคยจัดเป็นหนังสือต้องห้ามกลายเป็นงานที่เผยแพร่ได้อย่างเสรี และหลายชิ้นกลายเป็นงานยอดนิยมที่คนทุกกลุ่มสามารถเสพและปลาบปลื้มได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ กระบวนการดูดกลืนคือการเอามายกย่องและประเมินคุณค่างานเหล่านี้โดยมุ่งลดทอนด้านที่ต่อต้านระบบ แล้วขับเน้นด้านที่ดูเซื่องๆ หน่อย พยายามทำให้การอธิบายเป็นกลางมากขึ้น ใช้คำที่เป็นคุณค่าแบบกว้างๆ ไม่มีลักษณะชี้ชัดถึงด้านที่แหลมคมของประเด็นที่วรรณกรรมเหล่านี้นำเสนอ

มีตัวอย่างที่ให้ภาพการดูดกลืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบไหม

บทกวีและเพลงปฏิวัติหลายเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์และนายผีมีเนื้อหาชัดเจนอยู่ว่าต่อต้านอะไร แต่ก็ถูกดูดกลืน หรือถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป 

เพลง คิดถึงบ้าน ของนายผี คนร้องได้ทุกชนชั้น ตั้งแต่ชั้นสูงสุดไปจนถึงกลุ่มที่ต่อต้านสิ่งที่นายผีเคยต่อสู้ บทกวีและเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ทุกการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหารหรือฝ่ายประชาธิปไตยก็ใช้งานของเขาเป็นเครื่องมือในการปลุกระดม หรือเพลง สู้ไม่ถอย ของคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล จากที่เคยเป็นเพลงขับไล่รัฐบาลทหาร ก็กลายเป็นเพลงที่ถูกเอาไปใช้เพื่อให้เกิดรัฐบาลทหาร เราจะอธิบายลักษณะนี้อย่างไร ประเด็นการดูดกลืนเข้าสู่ระบบอาจเป็นคำอธิบายหรือเปล่า

แล้วปัจจัยที่สองคืออะไร

ปัจจัยที่สองคือการทำให้เป็นสถาบัน (institutionalization) ซึ่งเชื่อมโยงกับการดูดกลืนเข้าสู่ระบบ ผมตั้งข้อสันนิษฐานว่ากรณีรางวัลซีไรต์ ศิลปินแห่งชาติ หรือรางวัลระดับชาติที่จัดโดยองค์กรของรัฐหรือกึ่งรัฐที่ร่วมมือกับเอกชน คือกระบวนการทำให้งานเขียนและนักเขียนที่ต่อต้านระบบกลายเป็นสถาบันในระบบ

การเกิดขึ้นของรางวัลซีไรต์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่นาน ไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ (รางวัลซีไรต์เริ่มเมื่อปี 2522) มีนักเขียนที่ได้รับสมญานามว่าเป็นฝ่ายซ้ายจำนวนมากได้รับรางวัลซีไรต์ต่อเนื่องกันในช่วง 10 ปีแรก 

กรณีของรางวัลซีไรต์หรือศิลปินแห่งชาติ คือทำให้นักเขียนที่เคยเป็นฝ่ายก้าวหน้าถูกยกย่องจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ และทำให้กลายเป็นสถาบันขึ้นมาโดยยกย่องให้มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจน จนเป็นที่เคารพนับถือของคน 

จริงๆ การจะยกย่องใครก็ไม่ได้เสียหายหรอก แต่กระบวนการยกย่องมีลักษณะผูกขาดอยู่แค่คนไม่กี่กลุ่ม เช่น กรรมการรางวัลซีไรต์ หรือรางวัลระดับชาติอื่นๆ มีคนกลุ่มเดียวที่กุมเสียงส่วนใหญ่ของการตัดสินไว้ ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาเอาแต่พวกตัวเองนะ แต่เสียงส่วนใหญ่ของกรรมการจะไปในทางเดียวกัน เสียงส่วนน้อยก็อาจจะมีเข้ามาบ้างเพื่อให้ดูไม่น่าเกลียดนัก

เพราะฉะนั้นกระบวนการให้รางวัลและแต่งตั้งจึงเกิดการผูกขาดขึ้น กลายเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งมีอำนาจในการกำหนดทิศทางทั้งในระดับตัวบุคคล และในระดับความคิดหรือบรรทัดฐานทางวรรณกรรม เช่น ถ้าคุณอยากได้รางวัลศิลปินแห่งชาติต้องทำตัวประมาณนี้ หรือถ้าคุณอยากได้รางวัลซีไรต์ต้องเขียนงานประมาณนี้จนเกิดปรากฏการณ์เก็งข้อสอบ แต่ละปีนักเขียนกับบรรณาธิการก็จะเก็งข้อสอบว่าปีนี้ควรจะเขียนแบบไหนถึงจะถูกใจกรรมการ

ผลที่เกิดขึ้นของกระบวนการนี้คือทำให้การสร้างงานวรรณกรรมถูกตีกรอบ คนที่หวังจะได้รางวัลก็ต้องผลิตงานที่คิดว่าจะโดนใจกรรมการ ในขณะเดียวกันกลุ่มกรรมการกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการ เกิดเป็นระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา เพราะคนจำนวนหนึ่งก็จะไม่ค่อยกล้า ไม่โฉ่งฉ่าง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ผมคิดว่ารางวัลเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แนวโน้มของงานวรรณกรรมหรือนักเขียนทำตามบรรทัดฐานที่รัฐหรือกรรมการเหล่านี้ตั้งขึ้นมา

สองปัจจัยแรกคือการดูดกลืนเข้าระบบและการทำให้เป็นสถาบัน แล้วปัจจัยที่สามมีอะไรที่ต่างไปไหม

สองปัจจัยแรกไม่ใช่เรื่องใหม่หรือน่าประหลาดใจนัก สังคมก็มีลักษณะแบบนั้น แต่สิ่งที่ทำให้สองปัจจัยแรกได้ผลมากคือท่าทีของการวิจารณ์งานวรรณกรรมที่ ผมขอเรียกว่ากระบวนการคลั่งไคล้ของขลัง (fetishization) คือการยกย่องงานเขียนเหมือนยกย่องเครื่องรางของขลัง ก่อให้เกิดภาวะงมงายในการมีปฏิสัมพันธ์กับวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่อง

มีการเชิดชูงานเหล่านี้ในระดับตัวบุคคลหรือในเชิงคุณค่าที่ตายตัวและหยุดนิ่ง ไม่ชี้ให้เห็นนัยหรือมิติที่สอดคล้องกับสังคมเท่าไหร่ ทำให้นัยของงานที่ควรจะเป็นการปลุกสำนึกของผู้อ่านหรือทำให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจหายไปจากตัวงาน สิ่งเหล่านี้มีผลสำคัญมากต่อกระบวนการที่ทำให้วรรณกรรมไทยและนักเขียนไทยเลี้ยวขวาในระดับวัฒนธรรม

เพราะถ้าจะถามว่าวรรณกรรมคืออะไร ก็ตอบแบบพื้นๆ ได้ว่า วรรณกรรมคือความพยายามขัดขืนระเบียบแบบแผนของภาษา งานเขียนที่มีลักษณะไม่ทำตามขนบร้อยเปอร์เซ็นต์ถึงจะออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่าวรรณกรรมได้ ศักยภาพของวรรณกรรมคือการปลุกสำนึกของการต่อต้านระบบหรือจารีตประเพณี แต่กระบวนการต่างๆ ทั้งสามข้อที่กล่าวมานี้ทำให้วรรณกรรมกลายเป็นสิ่งสนับสนุนระบบมากกว่า 

ในอเมริกา ญี่ปุ่น หรือยุโรป ที่มีหลักเรื่องเสรีภาพแข็งแรงและดูจะเป็นสังคม ‘ก้าวหน้า’ ก็มีการให้รางวัลเชิดชูนักเขียนเหมือนกัน รางวัลเหล่านั้นต่างกับไทยอย่างไร มีการดูดกลืนหรือทำให้เป็นสถาบันไหม

โดยภาพใหญ่ไม่ต่างกันมาก เป็นกลไกทางสังคมอยู่แล้วที่ต้องมีกระบวนการทำนองนี้ อย่างในอเมริกา คนก็พูดกันเยอะว่าวรรณกรรมอเมริกันที่ได้รับการยกย่องส่วนใหญ่เป็นงานที่ต่อต้านระบบ แต่กลับถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบไป ให้คุณนึกถึงงานหลายชิ้นเช่น The Catcher in The Rye ของ J. D. Salinger หรือ The Adventures of Huckleberry Finn ของ Mark Twain งานพวกนี้โดยตัวมันเองเป็นงานเชิดชูปัจเจกบุคคลและต่อต้านระบบ แต่ตัวงานกลับถูกทำให้เป็นสถาบัน กลายเป็นงานที่ทุกคนต้องอ่าน เป็นส่วนหนึ่งของระบบ

แต่มีอยู่สองอย่างที่อาจจะต่างกัน หนึ่ง อย่างน้อยในอเมริกา กระบวนการศึกษาและวิจารณ์ไม่ได้เชิดชูงานให้เป็นวัตถุบูชาเท่าไหร่ ไม่ได้พูดในลักษณะยกมือไหว้หรือหรือมีอาการคลั่งไคล้ของขลังจนแตะต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้นงานเหล่านี้ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตั้งคำถามใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้กระบวนการดูดกลืนเหล่านี้ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะยังมีเสียงของคนที่ชี้ให้เห็นด้านที่เป็นการต่อต้านระบบอยู่

สอง กรณีในยุโรปและอเมริกา กระบวนการให้รางวัลไม่กระจุกตัวเข้มข้นเท่าบ้านเรา คือมีความหลากหลายของรางวัลและกรรมการที่มาตัดสิน ด้วยเหตุนี้จึงไม่เกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นอย่างชัดเจนในวงการวรรณกรรมหรือการให้รางวัล

ประเด็นนี้ก็เหมือนกับทุกเรื่องในสังคมบ้านเรา ถ้าเทียบกับตะวันตกแล้วถือว่าสังคมบ้านเราเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ของความแตกต่างได้น้อยมาก เราพูดกันถึงเรื่องความแตกต่างตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริง โอกาสที่คุณจะดำรงตนอยู่อย่างแตกต่างนั้นยากมาก เรามีแต่กระบวนการที่ทำให้ทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบในลักษณะของความเป็นเอกรูปของการดำเนินชีวิต ขณะที่ในประเทศอื่นๆ มีพื้นที่ที่คุณสามารถดำรงตนตามวิถีชีวิตที่คุณเลือกได้ในระดับหนึ่ง แต่บ้านเราไม่มีแบบนั้นเลย ไม่มีช่องทางอื่น ไม่มีทางเลือกอื่น 

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการปลดสุชาติ สวัสดิ์ศรีออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร ปัจจัยสามอย่างข้างต้นเชื่อมโยงกับการปลดสุชาติหรือไม่ อย่างไร

ผมเห็นใจศิลปินแห่งชาติคนอื่นนะ เพราะการปลดคุณสุชาติทำให้ศิลปินแห่งชาติคนอื่นสบตาคนได้ลำบากขึ้น การมีอยู่ของคุณสุชาติในฐานะศิลปินแห่งชาติจะเป็นตัวหักล้างข้อวิจารณ์ของผมที่ว่าวงการวรรณกรรมผูกขาดอยู่กับคนกลุ่มเดียว เพราะเขาก็จะบอกได้ว่า นี่ไง เราเปิดกว้าง มีศิลปินหลากหลาย เราไม่ได้เอาเรื่องการเมืองหรืออุดมการณ์มาเป็นตัวกำหนด แต่ทันทีที่คุณปลดคุณสุชาติออกไป มันก็ยิ่งทำให้วิจารณ์ได้เต็มปากขึ้นว่ามีการผูกขาดหรือกำหนดกฎเกณฑ์ที่แม้จะไม่เขียนเอาไว้ แต่ก็เห็นชัดว่าถ้าคุณทำตัวต่อต้านระบบ วิพากษ์วิจารณ์ชุดคุณค่าหลักในสังคม คุณก็จะถูกปลด  

ที่บอกว่าเห็นใจศิลปินคนอื่น เพราะผมคิดว่าศิลปินแห่งชาติหลายคนอาศัยหลบซ่อนตัวเองอยู่ข้างหลังคุณสุชาติในฐานะศิลปินที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พวกเขาไม่ต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองให้ชัดเจนก็สามารถกล้อมแกล้มตบตาคนทั่วไปได้ว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่เมื่อคุณสุชาติถูกปลดออกไป ศิลปินแห่งชาติเหล่านี้ หากยืมคำที่คุณสุชาติชอบใช้ก็คือ ไม่สามารถทำตัว “เนียนเนียน เบลอเบลอ” ได้อีกต่อไป ต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายไหน ต่อไปคนที่เชิญคนพวกนี้ไปเป็นกรรมการมูลนิธิหรือไปร่วมงานกับฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องคิดหนักขึ้น เพราะนับจากนี้ไปศิลปินแห่งชาติจะถูกตีตราว่าเป็นศิลปินของรัฐแถมยังเป็นรัฐเผด็จการอีกต่างหาก มิใช่ศิลปินของราษฎรอีกต่อไปแล้ว 

จะว่าไป ผมว่าพวกที่สั่งปลดคุณสุชาติเป็นพวกคิดสั้นเกินไป แต่ในอีกทางหนึ่งก็อาจจะพูดได้ว่าทุกวันนี้วงการนักเขียนไทยไร้น้ำยาถึงขนาดที่คนเหล่านั้นไม่แคร์ นึกอยากทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น

ภาพทั้งหมดที่พูดมาอาจจะแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่วงการวรรณกรรมที่เลี้ยวขวา แต่สังคมการเมืองไทยก็เลี้ยวขวาชัดเจน

ใช่ เป็นเรื่องที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ แต่เรื่องที่คนอาจจะตกใจหรือน่าวิตกคือเรื่องวงการวรรณกรรมเลี้ยวขวา เพราะคนอาจมองว่าแม้ภาพใหญ่ของสังคมจะเป็นอนุรักษนิยม แต่น่าจะมีบางวงการที่ไม่โหนกระแสอนุรักษนิยม ซึ่งก็คือกลุ่มนักเขียนและสื่อมวลชน

เกียรติภูมิของนักเขียนและสื่อมวลชนในอดีตอย่างคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ทำให้สังคมฝากความหวังว่าคนเหล่านี้จะต้องยึดมั่นอยู่ในหลักการประชาธิปไตย สื่อมวลชนต้องเป็นฐานันดรที่สี่ เป็นผู้ปกปักพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน บรรทัดฐานขั้นต่ำสุดที่คนคาดหวังคือ นักเขียน สื่อมวลชน หรือแม้แต่นักวิชาการ น่าจะเป็นตัวคานอำนาจรัฐ ถ้ารัฐฉวยเป็นเผด็จการ หรือบ้าคลั่งเป็นอนุรักษนิยมสุดขั้ว 

อย่างที่เราเห็นในอเมริกาว่าสมัยทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ก็มีนักเขียนจำนวนมากออกมาต่อต้านรัฐบาล แต่ในกรณีของไทยที่น่าตกใจก็คือกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองในฐานะเสียงที่จะมาคานอำนาจรัฐดันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเสียเอง บางคนเลยรู้สึกว่าเรื่องนี้น่ากลัวกว่าการที่ได้รัฐบาลประยุทธ์อีก เพราะเป็นเรื่องปกติที่ทหารก็ต้องเป็นเผด็จการ แต่เมื่อนักเขียนกลายมาเป็นเผด็จการเสียเองจึงดูผิดปกติเป็นพิเศษ

มองเข้าไปในวรรณกรรมไทยร่วมสมัยตอนนี้ คุณเห็นภาพอะไร

ภาพใหญ่สุดเลยคือวรรณกรรมเสียงไม่ดังในสังคมไทยเหมือนสมัยก่อนแล้ว เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ววงการวรรณกรรมเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทะเลาะกันบ้าง เห็นต่างกันบ้าง แต่เป็นกลุ่มที่มีเสียงระดับหนึ่งในสังคมไทย วรรณกรรมยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางวัฒนธรรมของปัญญาชนในสังคมไทยหรือในกรุงเทพฯ

ที่รางวัลซีไรต์ฮือฮาขึ้นมามากในยุคนั้นก็เพราะแบบนี้ ยังมีกลุ่มคนวรรณกรรมที่มีเสียงอยู่บ้างในสังคม กรณีคุณสุชาติก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเขาเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในแวดวงวรรณกรรมยุคหนึ่ง นิตยสารโลกหนังสือ และหนังสือรวมเรื่องสั้นช่อการะเกดที่เขาเป็นบรรณาธิการ เป็นเวทีแจ้งเกิดนักวิจารณ์และนักเขียนเรื่องสั้นหลายคนในยุคนั้น แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีปรากฏการณ์แบบนั้นในยุคนี้แล้ว วรรณกรรมแตกฉานซ่านเซ็นเป็นกลุ่มต่างๆ แยกย่อยไปหมดจนไม่มีศูนย์กลาง ปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ คงมีตั้งแต่ประเด็นเรื่องการเมืองที่นักเขียนจำนวนมากเลี้ยวขวา ทำให้ผู้อ่านจำนวนหนึ่งสามารถเผาหนังสือทิ้งได้โดยไม่คิดมาก

นอกเหนือจากศูนย์กลางที่หายไปอันมาจากความขัดแย้งชนิดไม่เผาผีเพราะจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือวรรณกรรมโดยรวมมิใช่สื่อบันเทิงหรือสื่อความคิดหลักของสังคมอีกต่อไป จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่วรรณกรรมนะ แต่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ที่เป็นสื่อกระแสหลักก็พลังน้อยลงกว่าเดิมเยอะ เพราะมีสายน้ำเล็กๆ เต็มไปหมดเลยอย่างทวิตเตอร์ ยูทูบ ฯลฯ ที่ดึงความสนใจของคนไป คนไม่ถูกผูกขาดว่าจะต้องรับรู้จากทางใดทางหนึ่งอีกแล้ว เมื่อบวกกับการถดถอยทางเกียรติภูมิของนักเขียน วงการวรรณกรรมเลยแตกกระจัดกระจายเป็นเสี่ยงๆ ไม่มีเสียงไหนเป็นเสียงหลักของวรรณกรรม ไม่มีซูเปอร์สตาร์ในวงการวรรณกรรม เหมือนที่ไม่มีระบบซูเปอร์สตาร์ในวงการบันเทิง

หลายคนบอกว่างานวรรณกรรมเก่าๆ ยังมีความหมายต่อสังคมอยู่ คุณเองก็ศึกษาวรรณกรรมเก่าๆ หลายแบบ คุณเห็นอะไรในงานเก่าบ้างเมื่ออยู่ในบริบทปัจจุบัน และเพราะอะไรเราถึงต้องกลับไปศึกษาวรรณกรรมยุคก่อน

คุณเสนีย์ เสาวพงศ์เคยพูดถึงประเด็นเรื่องงานเก่างานใหม่ไว้ว่า เขากลับไปดูกองต้นฉบับเก่าของตัวเองแล้วรู้สึกว่างานเหล่านี้เหมือนผ่านเวลามาแล้ว ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตชีวาให้คนได้เสพ คุณเสนีย์เลยเปรียบเทียบว่าวรรณกรรมเหมือนข้าวสุกหนึ่งคำที่ต้องผลิตขึ้นใหม่เสมอ เหมือนอาหารทางวัฒนธรรมให้ผู้อ่านในสังคม คือข้าวต้องปลูกกันอยู่ทุกวัน วรรณกรรมก็ต้องมีข้าวใหม่ขึ้นทุกวัน นักเขียนรุ่นใหม่ก็ต้องปลูกข้าว สร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ

ผมอยากเอาอุปมาของคุณเสนีย์มาใช้กับเรื่องการวิจารณ์วรรณกรรมด้วยว่า ต้องมีความพยายามวิจารณ์หรือพูดถึงประเด็นใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้จะเป็นงานเก่าที่คนพูดไว้มากมายแล้ว แต่ถ้าวรรณกรรมเหล่านั้นจะมีชีวิตต่อหรือผูกพันกับคนในสังคมร่วมยุคได้ เราก็ต้องไปอ่านมันใหม่อยู่เป็นประจำ

พอพูดถึงคุณเสนีย์ ผมก็นึกถึงนวนิยายเรื่องปีศาจ ตอนนี้คนหันมาพูดถึงนวนิยายเรื่องนี้กันอยู่บ้าง เราได้ยินคนพูดถึงวรรคทองของสาย สีมาว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า” แต่ผมก็มาสะดุดใจว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สมัยผมเป็นหนุ่มและอยากเปลี่ยนแปลงสังคม คนรุ่นผมก็พูดประโยคนี้กัน แล้วเมื่อ 60 ปีที่แล้วตอนคุณเสนีย์ เสาวพงศ์เขียนนวนิยายเรื่องนี้ ประโยคนี้ก็ต้องจับใจคนรุ่นนั้น แล้วคนรุ่นนั้นก็ต้องคิดว่าพวกเราเป็นปีศาจของกาลเวลาที่โลกเก่าไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ 

แต่นี่มันก็ 60 ปีมาแล้ว ทำไมโลกเก่าก็ยังอยู่ อันนี้ข้อสังเกตผม ก็ไม่ได้อยากให้ถึงกับหมดกำลังใจ จริงอยู่ว่าคนรุ่นใหม่หรือเสียงของความใหม่ต้องแทนที่สิ่งเก่าแน่ๆ โลกเก่าก็ต้องผ่านไป แต่โลกเก่าเขาก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ เหมือนกัน เขาก็สืบทอดกันอยู่ โอเค รัชนีอาจจะแต่งงานไปเป็นครูบ้านนอกอยู่กับสาย สีมา ท่านเจ้าคุณอาจจะแก่ตายไปในที่สุด แต่คนอย่างไกรสีห์ ซึ่งเป็นว่าที่ลูกเขยที่ท่านเจ้าคุณหมายมั่นปั้นมือจะให้รัชนีแต่งงานด้วย เขาก็ยังมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในสังคมนี้ แล้วก็สืบทอดอุดมการณ์ของท่านเจ้าคุณต่อไป หรือลูกชาวนาคนอื่นก็ไม่ได้จบลงด้วยการเป็นทนายเพื่อชาวบ้านอย่างสาย สีมาทุกคน คนจำนวนหนึ่งก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบอนุรักษนิยมนี่แหละ เพราะฉะนั้นเวลาจึงอยู่ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายเขา 

ถ้าเราจะประเมินหรือให้ความสำคัญกับนวนิยายเรื่องปีศาจ เราก็ไม่ควรหยุดแค่เพราะมีวรรคทองที่ประทับใจทุกคน แต่เราควรจะอ่านให้ลึกซึ้งขึ้น หรือมองแง่มุมต่างๆ ที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนเพื่อที่จะแปลงวรรณกรรมให้เป็นพลังหรืออยู่ร่วมยุคกับเราได้ ผมเลยไม่ค่อยกังวลว่าจะต้องอ่านงานใหม่หรืองานเก่า คุณจะอ่านงานอะไรก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือการตีความหรือการเชื่อมโยงให้งานเหล่านั้นเข้ากับปัญหาหรือประเด็นที่ร่วมสมัยกับเรา

เวลาเราบอกว่างานชิ้นไหนเป็นอมตะ ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนั้นบอกความจริงที่ตายตัวทุกยุคสมัย แต่อมตะในความหมายที่ว่าในแต่ละยุคคนเห็นอะไรในงานชิ้นนั้นที่สอดคล้องกับยุคสมัยได้ ถ้าเราบอกว่าปีศาจเป็นงานอมตะ ผมก็อยากเห็นว่าเมื่อคนรุ่นใหม่อ่านเรื่องนี้แล้วเขาเห็นอะไรในนั้นนอกเหนือจากว่าคือปีศาจที่หลอกหลอนคนรุ่นเก่า สำหรับผมแล้ว การกลับไปอ่านงานเก่าจึงไม่ใช่อ่านเพื่อเข้าใจยุคนั้น แต่อ่านเพื่อเข้าใจยุคของเรามากกว่า

นอกจากปีศาจ มีเล่มไหนที่คุณอ่านแล้วคิดว่าเข้ากับบริบทสังคมตอนนี้บ้าง

มีอยู่ช่วงหนึ่งผมกลับไปอ่านแลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ซึ่งเป็นหนังสือที่คนยกย่องกันเยอะมาก เล่าประสบการณ์ของเด็กบ้านนอกที่เข้ามาเรียนในเมือง เหตุการณ์ครอบคลุมตั้งแต่ก่อน 2475 ไปจนถึงหลัง 2475 คนก็เลยยกย่องกันมากว่าเป็นวรรณกรรมที่นำเสนอประเด็นการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้แหลมคมมาก

แต่ผมสังเกตว่าแม้คนยกย่องกันเยอะ แต่ในวงการวรรณกรรมวิจารณ์ไม่ค่อยพูดถึงงานชิ้นนี้เท่าไหร่ ทุกคนพูดเป็นนกแก้วนกขุนทองว่าแลไปข้างหน้าเป็นงานที่เชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ในแง่การวิเคราะห์ตัวงานจริงๆ มีน้อย กลายเป็นเรื่องข้างหลังภาพเสียอีกที่คนวิเคราะห์กันเป็นเรื่องเป็นราว

ที่เป็นอย่างนี้ผมขอสันนิษฐานว่า คนรู้สึกว่าแลไปข้างหน้าของศรีบูรพาไม่เหมือนนวนิยาย แต่เหมือนแถลงการณ์การเมือง มีวิธีการเขียนที่ทื่อมาก ตัวละครพูดเป็นประโยคยาวๆ สามหน้ากระดาษ แทบจะเหมือนการ ‘เทศนา’ เช่น ประชาธิปไตยคืออะไร ทำไมเราต้องเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งผมก็สะดุดใจว่าทำไมคนไม่ค่อยพูดถึง ลึกๆ เหมือนคนในวงการวรรณกรรมรู้สึกว่างานชิ้นนี้เนื้อหาดีแต่วรรณศิลป์อ่อน 

งานชิ้นนี้ถ้าเทียบกับงานยุคแรกๆ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์อย่างข้างหลังภาพ ซึ่งเนื้อหาไม่ค่อยเข้มข้น แต่ในแง่ความเข้มข้นทางดรามาสูงกว่า ก็ดูเขียนเป็นเรื่องเป็นราว มีตัวละครและฉาก ขณะที่แลไปข้างหน้าดูแทบจะเป็นความเรียงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีตัวละครพูด

ผมก็มานั่งคิดว่ามันเลวร้ายถึงขนาดนั้นเชียวหรือ ผมก็กลับไปอ่านนะ เมื่อตัวละครพูดเรื่องการเมือง ศรีบูรพาก็บันทึกสิ่งที่ตัวละครพูดเหมือนอาจารย์สองคนถกเรื่องระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการ ซึ่งผู้อ่านไทยหรือวงการวิจารณ์ไทยไม่ค่อยคุ้นเคยมองว่าเป็นเรื่องเทศนา หรือดูเป็นเรื่องผิดวิสัยของการเขียนวรรณกรรม แต่ถ้าเทียบงานชิ้นเอกของต่างชาติ เช่น ดอสโตเยฟสกีเรื่องพี่น้องคารามาซอฟ ที่ให้ตัวละครมาพูดปรัชญายาวๆ เป็นสิบหน้า ผมก็ไม่เห็นมีใครบ่นนะ หรือแม้แต่งานเยอรมันของเฮอร์มานน์ เฮสเส ที่พูดปรัชญาเยอะๆ ก็ไม่มีใครบ่นว่าไม่เป็นวรรณศิลป์ แต่ทำไมพอเป็นงานของไทย คนถึงรู้สึกว่าดูไม่เป็นวรรณกรรม เป็นการเมืองเกินไป

มีคำอธิบายไหมว่าเหตุผลของการไม่ค่อยยอมรับวรรณกรรมแนวความคิดของไทยคืออะไร

ผมยังไม่ได้มีข้อเสนอเป็นพิเศษ​ เพียงแต่ผมรู้สึกว่าจารีตทางวรรณกรรมหรือวิธีการพูดถึงวรรณกรรมของบ้านเรามีอคติกับงานเขียนบางชนิด อย่างงานวรรณกรรมความคิด (novel of ideas) ที่ให้ตัวละครพูดยาวๆ บ้านเราไม่ค่อยจะรับ เพราะรู้สึกทื่อมะลื่อ ไม่มีวรรณศิลป์

กรณีนี้น่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์ ในงาน 100 ปีชาตกาลศรีบูรพา อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจมาก อาจารย์พูดในบริบทของวงการสื่อมวลชนว่า ศรีบูรพามีบทบาทและเป็นที่เคารพนับถือในวงการสื่อมวลชนไทยในยุคนั้น เป็นคนก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ศรีบูรพาต้องลี้ภัยทางการเมืองในช่วงปี 2500 หลังการรัฐประหารของสฤษดิ์ ทำให้มรดกแนวคิดแบบศรีบูรพาหรือฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยขาดช่วงไป คนที่แข่งกับศรีบูรพาตอนนั้นคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อาจารย์นิธิตั้งข้อสังเกตว่าสื่อมวลชนหลัง 2500 เลยเดินตามสำนักคึกฤทธิ์ ปราโมช แทนที่จะเดินตามสำนักคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์

ในกรณีแลไปข้างหน้าก็เหมือนกัน ผมไม่มีหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่าคุณกุหลาบเขียนแลไปข้างหน้าช่วงประมาณ 2498-2499 ตอนที่ติดคุกอยู่เพื่อจะแข่งกับสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นการเล่ายุคสมัยผ่านสายตาสามัญชน ขณะที่สี่แผ่นดินของคึกฤทธิ์ เป็นการเล่ายุคสมัย 4 ยุคในสายตาของคนที่อยู่ในรั้วในวัง แสดงว่าศรีบูรพาจงใจที่จะให้แลไปข้างหน้าเป็นงานที่จะแข่งหรืออย่างน้อยให้เป็นตัวเทียบกับสี่แผ่นดิน แล้วใช้ชื่อแลไปข้างหน้าที่ตรงข้ามกับสี่แผ่นดินซึ่งเป็นการแลไปข้างหลัง 

น่าเสียดายตรงที่งานชิ้นนี้ของศรีบูรพาเขียนไม่เสร็จ จารีตของงานวรรณกรรมความคิดเลยไม่ถูกหยิบขึ้นมา คนมักจะชอบงานแบบสี่แผ่นดินที่มีดรามา มีตัวละคร มีแง่มุมมากมายแบบวรรณกรรมชีวิต ซึ่งจารีตของงานเขียนแบบวรณกรรมความคิดหรือวรรณกรรมการเมืองที่มีชั้นเชิงเลยไม่ได้รับการสืบทอด แล้วก็ฟื้นลำบาก 

งานแลไปข้างหน้าจะว่าศรีบูรพาไม่มีฝีมือในการเขียนก็ไม่ได้หรอก ยังมีฉากเล็กๆ ที่ชาวบ้านหรือคนพูดเรื่องทั่วไป เขาก็เขียนได้ดีมาก ผมคิดว่าศรีบูรพาตั้งใจให้ออกมาในลักษณะแบบนั้นมากกว่า ซึ่งอันนี้ก็ต้องศึกษากันต่อว่าสุนทรียศาสตร์ของงานวรรณกรรมเชิงความคิดที่มีแต่ความคิดล้วนๆ มีลักษณะอย่างไร ความโดดเด่นอยู่ตรงไหน แล้วทำไมสังคมไทยถึงไม่นิยม หรือมีกระแสที่พยายามจะต่อต้านว่าถ้าคุณให้ตัวละครมาพูดความคิดแบบตรงไปตรงมาจะดูไม่เป็นวรรณกรรม กลายเป็นบทความ จนนักเขียนต้องไปสร้างสัญลักษณ์มากมาย มีแนวโน้มที่นักเขียนจะคิดว่าถ้าเขียนเรื่องการเมืองต้องไม่ตรงไปตรงมา ถ้าตรงไปตรงมาจะดูไม่เท่ ไม่มีฝีมือ

ผมได้อ่านนวนิยายเล่มล่าสุดของเดือนวาด พิมวนา เรื่องในฝันอันเหลือจะกล่าวที่บันทึกเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองในรอบสิบปีที่ผ่านมาด้วยวิธีการที่ผมคิดว่าคล้ายๆ กับแลไปข้างหน้าของศรีบูรพา คือนำเสนอเหตุการณ์และข้อถกเถียงต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา และให้แง่คิดที่คมคายที่เดียวโดยเฉพาะการตีความใหม่ตัวละครอย่างดอนกิโฆเต้โดยเชื่อมโยงเข้ากับการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน

ผมคิดว่าประเด็นสำคัญของนวนิยายว่าด้วยความคิดหรือนวนิยายการเมืองคือ งานชิ้นนั้นๆ นำเสนอความคิดที่จับใจคนอ่านมากน้อยแค่ไหน ผมไม่เกี่ยงว่าจะใช้สัญลักษณ์ซับซ้อน หรือนำเสนออย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่นำเสนอมาต้องมีพลังหรือทำให้เราต้องฉุกคิดหรือคิดต่อได้อย่างกว้างขวาง แต่ถ้าเสนออะไรพื้นๆ เฝือๆ ใครก็รู้กันอยู่แล้ว เช่น รัฐบาลเผด็จการชั่วร้าย พวกอนุรักษนิยมหวงอำนาจ นายทุนเป็นพวกเห็นแต่เงิน อะไรเทือกนี้ ต่อให้ใช้กลวิธีแพรวพราว ใช้สัญลักษณ์ลึกล้ำ ผมว่าป่วยการเปล่าๆ อย่างนวนิยาย 1984 ของออร์เวล ในแง่กลวิธีก็มิได้มีอะไรซับซ้อนเลย แต่การมองทะลุถึงกลไกควบคุมคนของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จต่างหากที่ทำให้นวนิยายเล่มนี้เป็นหนึ่งในนวนิยายความคิดที่ทรงอิทธิพล  

ทุกวันนี้มีข่าว บทความ คลิป หรือสเตตัสเฟซบุ๊กที่พูดเรื่องการเมืองตรงไปตรงมา ไม่ต้องอ้อมค้อม ไม่ต้องสร้างสัญลักษณ์เป็นภาพแทน แล้วถ้าคนอยากจะตามประเด็นทางสังคมก็มักจะเลือกเสพทางนั้น จนหลายคนตั้งคำถามว่างานวรรณกรรมการเมืองยังสำคัญอยู่หรือเปล่า ยังมีคุณค่าความหมายอะไรในยุคสมัยนี้บ้าง

ผมก็เห็นด้วยกับคุณนะว่าถ้าเราอยากจะรู้เรื่องการเมืองหรือเหตุการณ์บ้านเมืองก็มีอย่างอื่นให้เราอ่าน ซึ่งเขาก็พูดตรงไปตรงมา แต่ปัญหาก็กลับมาที่ว่าจริงๆ แล้ววรรณกรรมมีฟังก์ชันอะไร ทำไมเรายังเสพวรรณกรรมอยู่ ถ้าเราจะหวังข้อมูล เราไม่ต้องไปเอาจากวรรณกรรมก็ได้ มีแหล่งอื่นที่จะเสพได้อยู่มากมาย ผมเลยมองว่าวรรณกรรมทำหน้าที่อย่างอื่น 

ผมขอยืมคำพูดของออสการ์ ไวลด์ มาใช้ก็แล้วกัน เขาเคยพูดว่าเวลาที่เขาเล่นเพลงโชแปง สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเมื่อเล่นเพลงโชแปงก็คือเขาจะร่ำไห้ในบาปที่ไม่ได้ก่อ และทุกข์ระทมกับโศกนาฏกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเขา ผมยืมมาใช้ในแง่ที่ว่าหน้าที่หลักของวรรณกรรมไม่ได้ให้ข้อมูลข่าวสารหรือความคิด ถ้าใช้คำแบบคนไทยคือมันกินใจ ทำอย่างไรให้วรรณกรรมกินใจคุณ จนกระทั่งทำให้เราร้องไห้กับบาปที่ไม่ได้ทำ ทำให้เราเป็นคนอื่นได้ ซึ่งผมคิดว่าถ้าวรรณกรรมจะมีพลังก็ต้องกินใจผู้อ่านได้ถึงขนาดนั้น ถ้าเป็นวรรณกรรมการเมืองก็คือ ต้องทำอย่างไรให้คนอ่านกินใจจนอยากจะลุกออกไปม็อบ จะใช้สัญลักษณ์หรือพูดตรงไปตรงมาก็แล้วแต่นักเขียน แต่ประเด็นคือทำให้ผู้อ่านกินใจได้หรือเปล่า วรรณกรรมยังมีความสำคัญตรงนี้ 

ถ้าถามว่าข่าว ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ทำได้ไหม ก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่วรรณกรรมจะเด่นกว่าสื่ออื่นก็ตรงที่ ถ้าทำได้จริงๆ มันจะมีพลังเหมือนที่ออสการ์ ไวลด์ บรรยายไว้ ผมยังเชื่อว่าอย่างไรก็ต้องมีวรรณกรรมในสังคมนี้ เพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง

โลกสมัยก่อนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต หนังสือก็อาจเป็นวิธีการเปิดโลกแทบจะวิธีเดียว แต่ตอนนี้เรามีเน็ตฟลิกซ์ ยูทูบเยอะมาก คุณค่าของวรรณกรรมจะยังคงอยู่เหมือนเดิมไหม หรือต้องปรับตัวอย่างไร

ถ้าหมายถึงการเปิดโลกในเชิงประสบการณ์หรือเรื่องราวต่างๆ แน่นอนวรรณกรรมสู้ใครเขาไม่ได้ แค่ยุคที่มีโทรทัศน์และละครวิทยุ วรรณกรรมก็ตกลงมาแล้ว งานของคุณ ป.อินทรปาลิต อย่างเรื่องเสือใบ เสือดำที่เคยขายได้เป็นหมื่นๆ แสนๆ เล่ม คือยุคที่ไม่มีละครวิทยุ หนังสือเป็นสื่ออย่างเดียวที่คนจะเสพเพื่อความบันเทิง เพื่อเห็นโลกที่ต่างไป เกิดประสบการณ์เชิงอารมณ์ หรือรับประสบการณ์เทียมในโลกที่แปลกไป แต่เมื่อมีวิทยุและโทรทัศน์เข้ามา วรรณกรรมก็ขายได้น้อยลง ที่ขายได้แสนเล่มไม่มีแล้ว จนมาถึงทุกวันนี้ วรรณกรรมก็ต้องลดความนิยมลงไปแน่ละ

แต่ก็ยังกลับไปประเด็นเดิม วรรณกรรมเป็นประสบการณ์อีกแบบหนึ่งที่สื่อประเภทอื่นอาจจะทำได้ไม่เท่ามันหรือได้คนละแบบ  คือกระบวนการที่เมื่อคุณอ่านแล้วเข้าไปอีกโลกหนึ่งซึ่งไม่เหมือนเวลาคุณดูสารคดีหรือภาพยนตร์ วรรณกรรมเรียกร้องให้คุณอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเป็นเวลานาน ต่อให้นวนิยายสั้นๆ ก็ใช้เวลาอ่าน 1-2 ชั่วโมง แทบจะเหมือนการนั่งสมาธิ บางคนบอกว่าดูหนัง 3 ชั่วโมงก็ได้ แต่กระบวนการที่คุณประมวลผลสิ่งที่อ่านผ่านตัวหนังสือกับสิ่งที่ดูผ่านจอภาพยนตร์นั้นต่างกัน

วรรณกรรมยังมีฟังก์ชันอยู่แน่ๆ แต่อาจจะไม่ใช่พระเอกนางเอกของคนทั่วไปอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนหลายอย่างที่เปลี่ยนไปเหมือนกัน 

ในสังคมไทยคงจะโดนกระแทกแรงมากพอสมควรในวงการวรรณกรรม เข้าใจว่ามีงานเขียนประเภทอื่นที่คนก็เสพกันเป็นกิจวัตรประจำวัน อย่างไลต์โนเวลที่คนอ่านกันเยอะ ในงานสัปดาห์หนังสือก็ขายดิบขายดีกันมาก แต่งานที่อาจจะขายไม่ค่อยได้ก็คือนวนิยายแบบจริงจัง ซึ่งนี่คือปัญหาที่ว่าเมืองไทยมีทางเลือกน้อย สังคมบ้านเราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ทางเลือกอันหลากหลายดำรงอยู่ได้ มักจะถูกบีบให้เหลืออยู่ไม่กี่ทาง 

กรณีงานวรรณกรรมอ่านยากก็เหมือนกัน ในโลกตะวันตกก็คงขายไม่ดีเท่าไหร่หรอก แต่ก็อยู่ในระดับที่อยู่ได้ ทั้งในแง่ของนักเขียนและสำนักพิมพ์ เขาอาจจะขายได้เป็นหมื่นเล่มเพราะสเกลใหญ่กว่า แต่ก็มีเงื่อนไขทางสังคมมารองรับด้วย เช่น มีทุนส่งเสริม ซึ่งในต่างประเทศลักษณะของทุนมีการกระจายระดับหนึ่ง ไม่เหมือนทุนของเมืองไทยที่มีการผูกขาด

ผมยกตัวอย่าง ในอเมริกามีเศรษฐินีคนหนึ่งบริจาคเงินเป็นร้อยล้านให้สมาคมกวีนิพนธ์ จนกลายเป็นมูลนิธิที่มีเงินเยอะที่สุดที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ แต่ในบ้านเรากวีนิพนธ์แทบจะตายไปแล้ว และไม่มีเศรษฐีคนไหนจะมาตั้งมูลนิธิกวีนิพนธ์ แต่นั่นก็มิได้ความหมายว่าเศรษฐีอเมริกันใจบุญกว่า หรือเห็นความสำคัญของวรรณกรรมมากกว่า ระบบภาษีมรดกของอเมริกาต่างหากที่ทำให้พวกเศรษฐีคิดว่าการบริจาคให้องค์กรสาธารณะมีผลดีกับชื่อเสียงของเขามากกว่ายกมรดกให้ลูกหลานแต่ถูกรัฐหักเงินภาษีไปจนเกือบหมด

คุณนึกดูเผด็จการทหารในรอบ 50 ปี นามสกุลไม่ซ้ำกัน แต่ดูทุนไทยสิ 50 ปีก็ตระกูลเดิมตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ ซึ่งน่ากลัวกว่าเผด็จการทหารอีก เทียบกับอเมริกาก็จะเห็นว่าต่างกัน ทุนใหญ่ๆ ของอเมริกาเปลี่ยนไปในแต่ละยุคแต่ละรุ่น ยุคหนึ่งร็อกกี้เฟลเลอร์ และคาร์เนกี้ คือมหาเศรษฐี มาอีกยุคหนึ่งก็กลายเป็น บิล เกตส์ และเจฟฟ์ เบโซส์ ประเด็นคือเรื่องความไม่หลากหลายของสังคมเกิดจากโครงสร้างใหญ่มีปัญหาเยอะ คนวงการหนังสือไม่ได้รับการเกื้อหนุนหรือสนับสนุน หรือไม่กระจายไปสู่งานแบบต่างๆ ให้คนได้เสพ

แล้วในแง่ส่วนตัว วรรณกรรมมีคุณค่าสำหรับคุณอย่างไร

คุณค่าแรกสุดก็คือผมทำมาหากินด้วยการสอนวรรณกรรม แต่ถ้าจะพูดให้เป็นเรื่องเป็นราวก็ต้องบอกว่าสำหรับผมโลกของวรรณกรรมเป็นโลกที่เราทำความเข้าใจได้

วรรณกรรมเป็นที่พักพิงของชีวิต เพราะเป็นโลกที่เราควบคุมได้ เข้าใจได้ อธิบายได้ ในขณะชีวิตที่เราดำรงอยู่ทุกวันมีเรื่องที่อธิบายไม่ได้เยอะมาก มีเรื่องที่ชวนให้อัดอั้นตันใจเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นการกลับไปอ่านวรรณกรรม ต่อให้โหดร้ายทารุณอย่างไร สำหรับผมแล้วทุกอย่างมีคำอธิบายได้หมด ในขณะที่โลกในชีวิตจริง หลายเรื่องเราอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องเป็นอย่างนี้ อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งทำอย่างนี้ หรืออะไรที่ทำให้คนหนึ่งต้องตายเพียงเพราะสิ่งที่ดูไม่สมเหตุสมผล ผมเลยคิดว่าวรรณกรรมเป็นที่พักพิงทางความคิด อารมณ์ ความรู้สึก

เมื่อกี้เป็นผลกระทบต่อปัจเจกบุคคล แล้วถ้าชวนมองภาพกว้างออกมาที่คนถามกันเยอะว่า วรรณกรรมสามารถเปลี่ยนสังคมหรือเปลี่ยนโลกได้ไหม คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

มีทั้งส่วนที่เปลี่ยนได้และไม่ได้ เราได้ยินคำว่าวรรณกรรมเปลี่ยนโลกหรือเปลี่ยนชีวิตคนกันบ่อย ซึ่งถ้าจะพูดด้วยสายตาที่ผ่านโลกมาเยอะแล้ว ก็จะพูดว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะหล่อเลี้ยงหรือเป็นมายาคติที่ทำให้เรารู้สึกว่า วรรณกรรมซึ่งเป็นตัวแทนของมรดกทางความคิดหรือภาษาของมนุษย์มีพลังพอสมควร ดีๆ ชั่วๆ ก็มีอิทธิพลเปลี่ยนชีวิตคนอ่านบางคนได้ แต่ในความเป็นจริงเราก็จะรู้แหละว่าวรรณกรรมไม่น่าจะมีพลังมากขนาดที่จะเปลี่ยนโลกหรือเปลี่ยนชีวิตใครได้หรอก

คำถามในลักษณะนี้สะท้อนอาการโหยหาอัศวินขี่ม้าขาวสักคนมาทำให้สังคมเปลี่ยน ประมาณว่าถ้าไม่ใช่มหาบุรุษ นายพล หรือนักประชาธิปไตยคนใดคนหนึ่ง เป็นวรรณกรรมก็ยังดี มันคือการยึดติดกับการแก้ปัญหาด้วยตัวบุคคลมากกว่าจะดูระบบที่ทำให้เกิดปัญหา แต่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าวรรณกรรมไม่มีอิทธิพลหรือไม่สร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่นะ คนก็พูดกันมากว่าหนังสือเรื่องกระท่อมน้อยของลุงทอม ของคุณแฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ก็ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เลิกระบบทาสในอเมริกาอยู่พอสมควรเลย จนมีตำนานเล่าว่าตอนประธานาธิบดีลินคอล์นเจอกับคุณสโตว์ เขาทักว่า “นี่ใช่มั้ยผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้เขียนหนังสือที่ก่อให้เกิดสงครามอันยิ่งใหญ่นี้”

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราก็จะรู้ว่าระบบทาสไม่ได้ล้มไปเพราะหนังสือเรื่องนี้เล่มเดียวหรอก หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลมหาศาลจริง แต่ถ้าเราจะไปพูดว่ามันเปลี่ยนอเมริกาทั้งหมดก็จะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และจะไปเข้าล็อกของการพยายามหาอัศวินขี่ม้าขาวสักคนหนึ่ง ไม่ว่าจะในรูปของคน หนังสือ หรือเทคโนโลยี

คำพูดแบบนี้มักจะใช้กับหลายเรื่อง เช่น คอมพิวเตอร์เปลี่ยนโลกทั้งโลก เกลือเปลี่ยนโลกทั้งโลก ปืนเปลี่ยนโลกทั้งโลก หรือวัคซีนเปลี่ยนโลกทั้งโลก มันอยู่ในวิธีคิดที่เราต้องหาอัศวินขี่ม้าขาว คือถ้ามีอย่างนั้นได้ก็ดีน่ะนะ แต่เราก็รู้ว่าในชีวิตจริงโหดร้ายกว่านั้น ไม่มีสิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนโลกได้ มีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เราต้องทำหลายอย่างมาก

***ภาพถ่ายจากรายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอด ตอน ทำไมไม่อ่าน ออกอากาศ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557


MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save