fbpx

‘เราจะต่อสู้ในทุกพื้นที่และเราจะไม่ยอมแพ้’ เมื่อผู้นำยูเครนใช้พลังวาทศิลปสู้นาซีของวินสตัน เชอร์ชิล เพื่อปลุกใจนักสู้ผู้ปกป้องมาตุภูมิ 

มาจนถึงวันนี้เราต้องยอมรับว่าโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดีหนุ่มอายุ 44 ปีของยูเครนได้กลายเป็นผู้นำประเทศที่ได้รับเชิญให้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมรัฐสภาของประเทศต่างๆ มากถึง 6 ประเทศภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ แม้ว่าไม่ได้เดินทางไปปราศรัยด้วยตนเอง ต้องใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกลก็ตาม และในการปราศรัยแต่ละครั้ง เขาได้ผูกโยงเนื้อหาสปีชถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่กระเทือนใจผู้คนของประเทศนั้นๆ ได้อย่างกินใจ 

อย่างกรณีที่กล่าวคำปราศรัยต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกา เขาได้โยงไปถึงเหตุการณ์โจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาเบอร์ (Pearl Harbor) ทางอากาศ และการไฮแจ็กเครื่องบิน (aircraft hijacking) ถล่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์ก หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ 9/11 อันเป็นการโจมตีทางอากาศที่ทำให้ชาวอเมริกันเจ็บปวดมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นเขาจึงเรียกร้องให้ผู้นำอเมริกันและภาคีนาโต้ (NATO) ตัดสินใจปิดน่านฟ้ายูเครน มิให้เครื่องบินรบรัสเซียทิ้งระเบิดเมืองใหญ่ๆ ในยูเครน แต่เนื่องจากว่ายูเครนยังมิได้สมัครเป็นภาคีนาโต้ ถ้าหากอเมริกาและนาโต้เข้ามาปิดน่านฟ้าก็จะกลายเป็นการประจันหน้ากับรัสเซียโดยตรง 

สำหรับคำปราศรัยที่เรียกว่าเร้าใจและมีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟังในประเทศของเขาเอง คือคำปราศรัยผ่านทางวิดีโอคอลถึงสภาสามัญชน (House of Commons) แห่งสหราชอาณาจักรเมื่อตอนต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เซเลนสกี้เอ่ยถึงโวหารเด่นจากวรรณกรรมคลาสสิก Hamlet ของเชกสเปียร์ และวาทะปลุกใจสู้กับแสนยานุภาพกองทัพนาซีเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่าง เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill)   

ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี้ ขณะกล่าวคำปราศรัยผ่านทางวิดีโอคอลถึงสภาสามัญชน (House of Commons) แห่งสหราชอาณาจักร
ที่มาภาพ : UK Parliament

“To be or not to be,”

“You know the Shakespeare question very well.”

“Thirteen days and that question still could have applied to Ukraine.”

“But now, already, it is obvious it is ‘to be’ – it is obvious it is to be free.”

ผู้นำยูเครนทบทวนคำถามจากวรรณกรรมของเชกสเปียร์ที่ประพันธ์ไว้เมื่อสี่ร้อยปีก่อน ในขณะที่ยูเครนถูกบุกรุกมาแล้ว 13 วัน คำถามของนักประพันธ์ชื่อดังก็เป็นคำถามเดียวกันต่อชาวยูเครนว่า “To be or not to be,” เซเลนสกี้มีคำตอบชัดเจนคือ “เราสู้-มันชัดเจนว่าเราต้องสู้เพื่ออิสระภาพ (it is obvious it is to be free)”

ต่อมาผู้นำยูเครนใช้โอกาสปราศรัยต่อที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรสะท้อนวาทะปลุกใจของเชอร์ชิล ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้กล่าวไว้กลางการประชุมสภาที่เวสต์มินสเตอร์แห่งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1940 ในวันที่ไฟสงครามลุกลาม ทหารนาซีรุกคืบเข้าใกล้แผ่นดินอังกฤษ จนทำให้ขวัญกำลังใจของชาวอังกฤษกำลังตกต่ำ แม้ว่าคำปราศรัยของเซเลนสกี้จะไม่เรียงตามลำดับเหมือนกับของเชอร์ชิลทุกคำพูด แต่ในสาระสำคัญนั้น บรรดา ส.ส. ทุกคนในสภา และชาวอังกฤษที่นั่งดูการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์จำได้แม่นยำ

“We will not surrender, we will not lose, we will go to the end.”

“We will fight at sea, we will fight in the air, we will protect our land.”

“We will fight everywhere… and we will not surrender.”

คำปราศรัยที่เซเลนสกี้กล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโวหารปลุกใจทหารและพลเรือนอังกฤษของเชอร์ชิลต่อสมาชิกสภาเวสต์มินสเตอร์ในช่วงที่ฝ่ายของตนดูจะกำลังเพลี่ยงพล้ำ มีเค้าว่าจะพ่ายแพ้ให้แก่แสนยานุภาพของทหารนาซี เวลาต่อมา คำปราศรัยนี้ถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรายการวิทยุ หนังสารคดีทางทีวีและภาพยนตร์สงครามโลกครั้งที่สอง จนชาวอังกฤษจำได้แม่นยำ มาจนถึงทุกวันนี้ ลองเปรียบเทียบกับคำปราศรัยของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล

“…we shall fight on the seas and oceans, we shall fight with growing confidence and growing strength in the air, we shall defend our island, whatever the cost may be.

“We shall fight on the beaches, we shall fight on the landing grounds, we shall fight in the fields and in the streets, we shall fight in the hills; we shall never surrender.”

เห็นได้ชัดว่าผู้นำยูเครนมีเป้าที่จะ ‘ส่งสาร’ ถึงคนสองกลุ่ม นั่นคือบรรดา ส.ส. และประชาชนในอังกฤษ เพื่อเรียกร้องความเห็นใจสนับสนุนให้ยูเครนต่อต้านการรุกราน และอีกกลุ่มหนึ่งคือกองทัพและประชาชนในประเทศยูเครนที่กำลังถูกประเทศมหาอำนาจข้างบ้านส่งกำลังทหารรุกรานโดยไม่ประกาศสงครามตามกติกาสากล ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ หวังเข้ายึดครองโดยไม่ให้ตั้งตัว โดยเซเลนสกี้หวังว่าพลังแห่งวาทศิลปของเชอร์ชิลจะสร้างแรงบันดาลใจให้ทหารและพลเรือนยูเครนจับอาวุธสู้กับผู้รุกราน เพื่อปกป้องเอกราช อิสระภาพ และมาตุภูมิ ในบรรยากาศคล้ายๆ กับสงครามรุกรานเพื่อนบ้านของนาซีในยุโรป เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน 

ที่มาภาพ : UK Parliament

ผู้ที่ติดตามลำดับเหตุการณ์สงครามบุกรุกยูเครน คงจำได้ว่าเพียงสองวันหลังจากกำลังทหารรัสเซียนับแสนแล่นรถถังเป็นแนวยาวกว่า 60 กม. ทะลุทะลวงพรมแดนยูเครน ยิงปีนใหญ่ข่มขวัญใส่เมืองใหญ่ๆ ของยูเครน ต่อมาเริ่มสร้างโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อมอสโควว่าเซเลนสกี้ได้หลบหนีออกจากเมืองหลวงคีฟด้วยความหวาดกลัวไปแล้ว แต่ปรากฎว่าเขาใช้มือถืออัดเทปตัวเอง เผยแพร่ออกทางทวิตเตอร์และอินสตาแกรม โดยไปยืนกลางแจ้งหน้าทำเนียบประธานาธิบดี แล้วประกาศว่า “สวัสดีครับชาวยูเครนทั้งหลาย ตอนนี้มีข่าวลวงออกมามากมาย แต่ผมยังอยู่ที่นี่ ไม่ได้หนีไปไหน”

เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครนวัย 44 ปี ได้ตำแหน่งประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ในนามหัวหน้าพรรค Servant of the People ซึ่งยืมชื่อมาจากละครบันเทิงสมองทางทีวีที่เขาเป็นตัวนำแสดงจนโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วประเทศในช่วงปี 2015-2019 ก่อนผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองจนชนะเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่เพียงแต่บทบาทดาราทีวีเท่านั้น เซเลนสกี้ยังมีทักษะในการสื่อสารทางเสียงด้วยการพากษ์เสียงภาษายูเครนเป็นตัวหมี ให้กับภาพยนตร์ชุด Paddington ที่โด่งดังไปทั่วโลก 

เห็นได้ชัดว่าเซเลนสกี้ได้ใช้ทักษะการสื่อสารและความคล่องแคล่วในการใช้สื่อสังคม ออกมาเรียกร้องขอแรงสนับสนุนจากประชาชนทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบที่คณะผู้นำในรัสเซียคาดไม่ถึง ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวยูเครนลุกขึ้นต่อต้านผู้รุกรานที่มีแสนยานุภาพเหนือกว่าหลายเท่า จนรัสเซียต้องยกระดับความโหดเหี้ยมผิดกติกาสงครามเพื่อทำลายขวัญชาวยูเครนให้หวาดกลัวและยอมสยบ แน่นอนว่าพฤติกรรมหลายอย่างของทหารรัสเซียนั้นเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม 

ความจริงผู้นำยูเครนหนุ่มคนนี้มีประสบการณ์ทางการเมืองไม่มากนัก เขากระโดดจากการเป็นนักแสดงได้ไม่ทันไรก็กลายเป็นผู้นำประเทศ และยังไม่ทันสะสมเขี้ยวเล็บทางการเมืองได้ทันก็ต้องตกกระไดพลอยโจน แสดงบทบาทใหม่ในฐานะผู้นำประเทศยามศึกสงครามอย่างไม่คาดฝัน แต่เขาก็ทำหน้าที่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มุ่งมั่น และจริงใจต่อประชาชนที่เลือกเขาขึ้นมา

อย่างเช่นเมื่อมีข่าวออกมาว่าสหรัฐฯ ได้เสนอที่จะพาเขาออกจากอันตรายหลบหนีออกนอกประเทศ เขาสวนกลับไปว่า  “การต่อสู้อยู่ที่นี่ ผมต้องการปืนต่อสู้และรถถัง ไม่ใช่การหนี (The fight is here; I need anti-tank ammo, not a ride.)”

ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี้ ขณะหารือกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรผ่านวิดิโอคอลเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2022
ที่มาภาพ

ขณะนี้การสู้รบก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยกำลังทหารรัสเซีย ทั้งจำนวนคนและคลังแสงที่เหนือกว่ายูเครนทุกด้านทำให้รุกคืบหน้าและทำลายล้างทุกอย่างที่ขวางหน้าอย่างไร้มนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนและชีวิตพลเรือน ผู้หญิง เด็ก คนชรา คนพิการ แสนยานุภาพที่เทียบกันไม่ได้นี้ คงเป็นเรื่องยากที่ชาวยูเครนจะต้านทานไหว 

อย่างไรก็ตามการรุกรานของกองทัพรัสเซียก็มิใช่ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะการต่อต้านของกองทัพยูเครน และความร่วมมือร่วมใจของพลเรือนยูเครน ได้สร้างความเสียหายให้กับกำลังทหารรัสเซีย ในการต่อสู้ปะทะกันภาคพื้นดิน ทำให้รัสเซียต้องใช้ยุทธวิธียิงถล่มจากวิถีไกล โดยใช้ความได้เปรียบทางอากาศ 

ทั้งนี้ เพราะแรงจูงใจในการต่อสู้ของผู้ปกป้องมาตุภูมิกับกองทัพผู้รุกรานนั้นแตกต่างกัน ทหารเกณฑ์รัสเซียไม่มีขวัญกำลังใจในการสู้รบทำตามคำสั่ง ทำให้การรุกคืบล่าช้า สูญเสียกำลังคนไปจำนวนมาก ซึ่งประธานาธิบดีปูตินเองต้องประกาศเรียกกองกำลังจากเชชเนียและซีเรียมาช่วยสนับสนุน อีกทั้งยังมีเสียงต่อต้านสงครามภายในหมู่ชาวรัสเซียเริ่มขยายวงมากขึ้น แม้รัฐบาลจะควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ แต่ชาวรัสเซียก็ไม่พอใจถึงขนาดที่ปูตินต้องออกมาเตือนว่าใครต่อต้านสงครามคือคนทรยศต่อชาติ เป็นการสร้างบรรยากาศแบบม่านเหล็กสมัยที่เผด็จการสตาลินเรืองอำนาจ

แรงบันดาลใจของชาวยูเครนในการลุกขึ้นสู้กับแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่าก็เหมือนกับชาวยุโรปในยุคนาซีที่ก่อตัวเป็นกลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์ในหลายประเทศรวมทั้งรัสเซียด้วย จนฝ่ายนาซีต้องพ่ายแพ้ไป ทว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ระบอบฟาสซิสต์ของสตาลินได้กลืนกินหลายประเทศในกลุ่มบอลติก ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ยึดแผ่นดินเป็นเมืองขึ้น ปกครองด้วยอำนาจเถื่อน แล้วสร้างกำแพงเบอร์ลิน เป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาคีนาโต้ขึ้นมา แล้วก็กลายเป็นการต่อสู้กันระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายโลกเผด็จการที่ใช้อำนาจทหารยึดครองประเทศเล็กๆ เพื่อนบ้านเป็นเมืองขึ้น 

สำหรับผู้คนในรุ่นเบบี้บูมเมอร์คงยังจำภาพการลุกขึ้นสู้ของคนหนุ่มสาวยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเพื่อต่อต้านอำนาจเถื่อนของโซเวียตในยุคทศวรรษ 1960 เมื่อรถถังโซเวียตบุกเข้าไปในบูดาเปสต์ (Budapest) และปราก (Prague) ที่กลายเป็นตำนาน Prague Spring จนถึงตอนนี้ยังมีการเล่าขานถึงลูกหลานรุ่นเซเลนสกี้อยู่

เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลง เนื่องจากประชาชนทนการกดขี่ต่อไปไม่ไหวจึงลุกขึ้นสู้ ทำให้สหภาพโซเวียต-จักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ที่สร้างความอดอยากให้กับประเทศเมืองขึ้น ล่มสลายลงด้วยกระแสพลังประชาชนที่เรียกร้องอิสรภาพ เสรีภาพ และอัตลักษณ์ในตัวตนของชาติต่างๆ ประชาชนในประเทศเหล่านี้ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองด้วยการขอเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปเพื่อแบ่งปันความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และบางประเทศขอสมัครเข้านาโต้ เพราะไม่เคยไว้วางใจมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ยังปกครองด้วยระบอบเผด็จการ จึงไม่น่าแปลกใจที่ยูเครนแสดงความจำนงขอสมัครเข้านาโต้ หลังจากกองทัพรัสเซียบุกเข้ายึดคาบสมุทรไครเมีย และส่งทหารเข้ายุยงให้แยกดินแดนโดเนตสก์ด้านตะวันออก

ทว่าประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ซึ่งในอดีตเคยเป็นทหารยศพันตรีในเคจีบี ประจำการในเยอรมันตะวันออก ซึ่งไม่สามารถยอมรับความจริงว่าสหภาพโซเวียตอันเป็นระบอบอำนาจนิยมได้พ่ายแพ้กับกระแสอิสรภาพและประชาธิปไตยได้ล่มสลายลงแล้ว เขายังเจ็บใจมิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตที่ใช้นโยบายกลาสนอสต์และเปเรสตรอยกา ซึ่งเปิดให้อดีตอาณานิคมได้เอกราช 

ปูตินไม่ยอมรับว่า ‘จักรวรรดิโซเวียต-มันจบไปแล้วนาย’ เขาจึงสะสมกำลังอาวุธนิวเคลียร์ พัฒนาขีปนาวุธเหนือเสียง จนเรียกว่าได้เปรียบคลังแสงของนาโต้ ด้วยความโหยหาที่จะทวงคืนความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดินิยมโซเวียตให้กลับคืนมา ด้วยการปราบปรามมุสลิมในเชชเนีย บุกรุกจอร์เจีย ยึดไครเมีย และแบ่งแยกดินแดนยูเครน จนส่งทหารบุกรุกเข้าไปโดยไม่ประกาศสงครามตามกติกา เพื่อไม่ให้เพื่อนบ้านได้ตั้งตัว หลังจากได้ปูพรมข้อความโฆษณาชวนเชื่อตื้นๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงครึ่งเดียว

ความจริงแล้วปูตินไม่ได้ทำสงครามกับยูเครนหรือนาโต้ แต่เขากำลังทำสงครามกับกระแสเสรีภาพและประชาธิปไตยในยุโรป ที่กลายเป็นภัยคุกคามอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จของเขา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save