fbpx
ชุมาพร แต่งเกลี้ยง: หนึ่งความฝันกับ 'ข้อเสนอที่ 11' เพื่อปลดแอกทางเพศ

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง: หนึ่งความฝันกับ ‘ข้อเสนอที่ 11’ เพื่อปลดแอกทางเพศ

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ และ กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

 

ในการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาช่วงก่อนจะเกิดแฟลชม็อบอย่างต่อเนื่อง แทบทุกครั้งเราจะเห็นธงสีรุ้งอันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBT ถูกโบกสะบัดอย่างเด่นชัด ในที่ชุมนุมจะมีพื้นที่ทำกิจกรรมของผู้รณรงค์เรื่องความเสมอภาคทางเพศ ทำให้เห็นว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ถูกขับเน้นความสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่

ที่น่าสนใจคือ ผู้เข้าร่วมการชุมนุมและกลุ่มผู้นำการประท้วงประกอบด้วยผู้หญิงและเพศหลากหลายในสัดส่วนที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เมื่อเทียบกับการชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์นี้บอกอะไรแก่เรา เกิดอะไรขึ้นในสังคมที่คนจำนวนมากเชื่อว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างรุนแรง

สิ่งนี้ไม่มีอยู่หรือถูกทำให้ไม่ปรากฏตัว

101 สนทนากับ วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศและโฆษกพรรคสามัญชน ที่หยิบยกประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและแนวคิดชายเป็นใหญ่ขึ้นมาพูดในที่ชุมนุม และทำให้เห็นอคติของสังคมที่ยังกดทับคนบางกลุ่มให้อยู่กับการถูกเลือกปฏิบัติ

เรียบเรียงจาก 101 One-on-One Ep.183 การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในสังคมชายเป็นใหญ่ กับ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 2 ต.ค. 2563

 

วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

ผู้หญิงและเพศหลากหลายขึ้นมามีบทบาทนำในการประท้วงครั้งนี้ แตกต่างจากการประท้วงครั้งสำคัญของไทยที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่แกนนำมักจะเป็นกลุ่มผู้ชาย มองเห็นอะไรในปรากฏการณ์ครั้งนี้

ผู้คนที่เข้าร่วมในการประท้วงครั้งนี้มีจำนวนของผู้หญิงและเพศหลากหลายอย่างมีนัยสำคัญ จึงเกิดสภาวะการนำโดยคนกลุ่มนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ สะท้อนรูปแบบของการกดขี่ในประเทศไทยที่ผู้หญิงและเพศหลากหลายจำนวนมากอยู่ภายใต้การกดขี่ที่ทับซ้อนหลายมิติ นอกจากเรื่องสิทธิและเสรีภาพแล้ว ยังมีเรื่องเนื้อตัวร่างกาย เสรีภาพในการแสดงออกทางเพศ หรือกระทั่งความใฝ่ฝันที่จะมีอนาคตที่ดีก็ยังถูกเลือกปฏิบัติ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงผ่านการประท้วง

นอกจากนี้สภาวะที่สังคมไทยเปิดพื้นที่และเปิดเสรีภาพการแสดงออกทางเพศมากยิ่งขึ้น เพศหลากหลายจึงมีความมั่นใจการแสดงออกถึงตัวตนในทุกพื้นที่ รวมไปถึงพื้นที่การชุมนุมหรือการปราศรัยที่ก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่ของผู้ชาย เป็นการนำแบบผู้ชายโดยมีการไฮด์ปาร์กในรูปแบบเดิม แต่การประท้วงของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เปิดโอกาสให้กับทุกกลุ่มคนมากยิ่งขึ้น และไม่ได้ชูการนำเดี่ยว เป็นสภาวะที่ปลอดภัยและทำให้ระบบการนำเกิดการสับเปลี่ยน และหนึ่งในนั้นคือกลุ่มเพศหลากหลายและกลุ่มผู้หญิง

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยเท่านั้น หากมองประเทศต่างๆ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตำแหน่งก็เกิด Women’s March ผู้หญิงลุกขึ้นมานำและจัดเวทีปราศรัย ล่าสุดในเบลารุสก็มีการเรียกร้องของผู้หญิงจำนวนมาก เช่น แต่งตัวสีขาวดำ ถือร่มแบบเดียวกัน เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวของโลกและของประเทศไทยที่เอื้อให้เกิดการตั้งคำถามกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของการเมืองเท่านั้น แต่โครงสร้างระดับตัดขวางหรือ intersexuality ถูกตั้งคำถามพร้อมฟูมฟักการเติบโตของการเคลื่อนไหว

 

ที่เห็นได้ชัดเจนคือผู้เข้าร่วมม็อบนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงและเพศหลากหลาย บางคนพยายามอธิบายว่าเป็นเพราะเด็กผู้ชายวัยนี้ยังติดเล่นอยู่เลยไม่ค่อยมาม็อบ เหตุผลมีแค่นั้้นหรือว่าจริงๆ แล้วในพื้นที่โรงเรียนมีกฎระเบียบที่กดทับเพศหญิงและเพศหลากหลายมากกว่าเพศชาย จนเขาต้องออกมาเรียกร้อง

เมื่อมีการตั้งคำถามว่าในโรงเรียนมีอะไรบ้างที่ต้องปฏิรูป จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องของเขาเกี่ยวข้องกับมิติเรื่องร่างกายและเพศแทบทั้งหมด ช่วงแรกที่พูดถึงเรื่องเครื่องแบบ กลุ่มคนที่เป็นทอม เลสเบี้ยน กะเทย เขารู้สึกว่าการแต่งเครื่องแบบทำให้เขาไม่ได้เติบโตในสภาวะที่ตัวเองมีความเบิกบาน เขาไม่สามารถแต่งตัวตามเพศหรืออัตลักษณ์ของเขา แต่ต้องแต่งตัวตามเพศที่รัฐกำหนดว่าใครคือเด็กชายหรือเด็กหญิง

ข้อเรียกร้องต่อมาคือพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน คนที่ถูกรังแกส่วนมากคือเด็ก LGBT ส่วนเด็กผู้หญิงก็ถูกล่วงละเมิดในโรงเรียนค่อนข้างเยอะ เหล่านักเรียนรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดที่ส่งต่อถึงกันว่าฉันไม่สามารถที่จะอยู่ในโรงเรียนอำนาจนิยมแบบนี้ได้

ตอนที่เราทำงานคลุกคลีกับน้องๆ มีการส่งจดหมายเชิญไปยังโรงเรียนชายล้วนหลายโรงเรียน แต่ถูกปฏิเสธกลับมา เขารู้สึกว่าถ้าออกมาแล้วจะมีอันตรายหรือไม่อยู่ในสภาวะที่ปลอดภัย คำถามคือในสภาวะไม่ปลอดภัยเช่นนี้ ทำไมจึงเกิดการรวมตัวกันแล้วตั้งเป็นกลุ่ม sisterhood หรือกลุ่มเฟมินิสต์จากโรงเรียนหญิงล้วนได้

หากถามว่าเพราะเด็กผู้ชายจำนวนมากอยู่ในพื้นที่อภิสิทธิ์ชนอยู่แล้วหรือเปล่าจึงตอบรับการเข้าร่วมน้อย คำตอบก็เป็นนัยเดียวกันคือมีรูปแบบการกดขี่ที่ทับซ้อนเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ของเด็กผู้หญิง

อีกอย่างหนึ่งคือรูปแบบการเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป เมื่อก่อนต้องใช้กำลังคน ต้องใช้แรง แต่ปัจจุบันการเคลื่อนไหวสามารถทำผ่านพื้นที่ที่ซ่อนตัวเองได้ เช่น การซ่อนตัวเองภายใต้หน้ากาก ซ่อนตัวเองอยู่ในโซเชียลมีเดีย อย่าลืมว่าพื้นที่การสร้างองค์ความรู้มาจากการแลกเปลี่ยนบนโซเชียลมีเดีย มีการโต้แย้งประเด็นโครงสร้างสังคมและเรื่องการถูกกดทับ บ่มเพาะความคิดและการเติบโตจนเกิดการส่งเสียง เราจึงค่อนข้างเห็นน้ำหนักมาจากเพศหลากหลาย ผู้หญิง หรือ ‘ติ่งเกาหลี’ เพราะเขาได้ฝึกคิด ฝึกวิพากษ์ ฝึกแสดงออก

ทุกสิ่งมีนัยสำคัญให้เห็นปรากฏการณ์นี้ แต่ที่มากที่สุดคือเขาทนไม่ได้กับสภาวะถูกกดขี่และระบบโครงสร้างชายเป็นใหญ่ คนก็เลยลุกขึ้นมา

 

การชุมนุม ความเท่าเทียมทางเพศ

 

นักเรียนหญิงและนักกิจกรรมหญิงที่ออกมาถูกคนอีกฝั่งโจมตีประเด็นทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น มีการปล่อยข่าวปลอมว่า เด็กผู้หญิงพวกนี้เป็นผู้ค้าบริการทางเพศ มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับนักกิจกรรมชาย จนถึงการใช้ข้อความดูหมิ่นทางเพศ รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย อะไรทำให้สังคมเราเกิดวิธีการแบบนี้จำนวนมาก ที่สำคัญคือวิธีการเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมชาย 

เป็นภาษีที่ต้องจ่ายของผู้หญิงและเพศหลากหลายซึ่งเป็นเพศที่มีอำนาจต่ำหรือเพศที่มีอภิสิทธิ์น้อยกว่า เมื่อลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือเป็นผู้นำ

ภาษีแรกที่ต้องจ่ายคือการถูกตั้งคำถามเรื่องเพศสภาพ (gender) นักการเมืองหญิงทั่วโลกที่ขึ้นมาเป็นผู้นำจะถูกโจมตีเรื่องเพศ ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมีการกดขี่ทางเพศทำให้รู้สึกอับอายทางเพศได้ง่าย สังคมไทยที่ยึดเหนี่ยวกับ ‘ศีลธรรมอันดี’ ยึดโยงความเป็นผู้หญิงที่ดี การโจมตีในเรื่องเพศเลยถูกใช้เป็นเครื่องมือกับฝั่งตรงข้าม

มีน้องที่ออกมาพูดสนับสนุนสิทธิของพนักงานบริการ เขามองว่าการค้าบริการทางเพศคือการทำงานชนิดหนึ่ง แต่แทนที่สังคมจะพูดคุยกันว่าการค้าบริการทางเพศควรจะมีในสังคมไทยไหม กลับมีการชี้เป้าว่าสามารถไปซื้อบริการเด็กผู้หญิงคนนั้นได้

นี่คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น เกิดสภาวะการข่มขืนและการคุกคามทางเพศผ่านรูปแบบดิจิทัล (digital rape) ซึ่งสังคมไทยยังไม่ตื่นตัวต่อการปกป้องคุ้มครองอย่างรอบด้าน การคุกคามในรูปแบบดิจิทัลทำได้ง่าย แค่แปะรูปแล้วโพสต์ก็สามารถสร้างความสะใจและเกิดการข่มขู่ได้ง่ายดาย โดยเฉพาะในสังคมที่มีการกล่าวโทษเหยื่อ (victim blaming) สังคมที่พร้อมประณามผู้หญิงนุ่งสั้นว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี คิดว่าผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงหรือถูกข่มขืนเป็นผู้หญิงแต่งตัวโป๊จึงอนุญาตให้ผู้ชายข่มขืนได้ นี่คือสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่ผู้หญิงอย่างลึกซึ้ง

เมื่อผู้หญิงหนึ่งคนลุกขึ้นมาพูดเรื่องละเอียดอ่อนของสังคมก็จะถูกทำให้เป็นเหยื่อทางโซเชียลมีเดีย ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับแกนนำบนเวที มีผู้ชายที่รู้สึกว่าการใส่ชุดนักเรียนมีส่วนกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เขาเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมของนักเรียนแล้วลวนลามท่ามกลางเหล่านักเรียนที่เดินไปมา

ในประเทศไทยหลายปีที่ผ่านมา เกิดการลุกขึ้นมาแบบปรากฏการณ์ #MeToo เพราะมีการล่วงละเมิดในหมู่นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย หรือในขณะที่เราขึ้นปราศรัยเรื่องการคุกคามทางเพศ มีผู้ชายที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยบอกว่าแค่เราขึ้นเวทีเขาก็โด่แล้ว สิ่งนี้สะท้อนว่าทำไมผู้หญิงจำนวนมากต้องออกมาพูดเรื่องการคุกคามทางเพศพร้อมกับการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ถ้าเราไม่พูดเรื่องนี้ไปพร้อมกัน เราก็จะคิดแค่ว่าอยากได้ประชาธิปไตยโดยเพิกเฉยต่อการกดทับในประเด็นโครงสร้างอื่นๆ นี่เป็นการท้าทายสังคมที่จะเติบโต ซึ่งต้องนำไปสู่เสียงที่เพิ่มมากขึ้นของผู้หญิงและ LGBT

 

วาดดาว ชุมาพร แต่งเกลี้ยง การชุมนุม ธรรมศาสตร์และการชุมนุม 19 กันยายน

 

อธิบายแนวคิดชายเป็นใหญ่ในขบวนการประชาธิปไตยอย่างไร เพราะในกลุ่มคนที่เคารพในสิทธิมนุษยชน เชื่อในความเสมอภาค แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ที่ความเห็นของผู้ชายมักจะถูกให้ค่ามากกว่าเพศอื่นๆ เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศก็ยังเกิดขึ้นอยู่ แม้ว่าเราไม่อาจเหมารวมได้ แต่ทำไมมีคนบางส่วนในฝ่ายประชาธิปไตยที่มองเห็นเรื่องความไม่เท่าเทียมด้านต่างๆ แต่กลับมองไม่เห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ

สังคมเปิดโอกาสให้กับระบบชายเป็นใหญ่เติบโตมายาวนาน โครงสร้างสังคมปิตาธิปไตยครอบงำทุกพื้นที่ ใหญ่กว่าโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไทยอีก การที่สังคมอนุญาตว่าเพศที่มีอำนาจสูงอย่างเพศชายสามารถทำอะไรกับเพศที่มีอำนาจต่ำกว่าได้โดยไม่ยึดโยงคุณค่าสากล สะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตแบบประชาธิปไตยไม่เคยถูกเรียนรู้ในวิธีอื่น ไม่ใช่เพียงมิติเพศ มีคนที่ต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยแล้วลุกขึ้นมาพูดเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากน้อยแค่ไหนในสังคมไทย เรามองเห็นเพียงแค่ภาพที่มันหลวมและฉาบฉวยกับคำว่า สิทธิและเสรีภาพ แต่ไม่ได้พูดถึงวิธีอื่นเลย

อย่าเหมารวมว่าคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะเข้าใจโครงสร้างของสิทธิเสรีภาพและเห็นคนเท่ากันอย่างเป็นองค์รวมหรือเข้าใจอย่างถ่องแท้ เราไม่ได้บอกว่าสภาวะแบบนี้คือความผิดพลาดของสังคม แต่เป็นการเติบโตและเรียนรู้ของสังคมมากกว่า อย่างน้อยในการเคลื่อนไหวรอบนี้มีผู้ชายจำนวนมากลุกขึ้นมาไม่เห็นด้วยกับการคุกคามทางเพศ มีผู้ชายจำนวนมากกล้าลุกขึ้นมาสนับสนุนพื้นที่ของผู้หญิงหรือเพศหลากหลายที่ร่วมขบวนไปพร้อมกัน

ผู้ชายบางส่วนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอาจไม่อ่อนไหวในเรื่องเพศ เพราะทีวีก็ฉายละครที่พระเอกข่มขืนนางเอกหรือใช้เซ็กซ์เป็นเรื่องโจ๊กอยู่ทุกวัน ดังนั้นเพศที่มีอำนาจในโครงสร้างทางการเมืองก็ต้องเรียนรู้ว่า มีบางสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้เพิ่ม

พื้นที่การเติบโตของประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ที่สวยงามอยู่แล้ว ถ้าหากเราสังเคราะห์และเรียนรู้จนครอบคลุมทุกกลุ่มคนแล้ว ขบวนการจึงจะเติบโตมากขึ้น

จริงๆ แล้วก็มีผู้หญิงที่สมาทานความคิดชายเป็นใหญ่เหมือนกัน การใช้อำนาจเหนือกว่าแบบ privilege masculinity เกิดขึ้นในทุกเพศ แม้กระทั่งในขบวนการผู้หญิง มีอีกหลายประเด็นที่ต้องถกเถียงขบคิด เช่นผู้หญิงชนชั้นกลางหรือผู้หญิงในเมืองอาจจะต้องขบคิดมากขึ้นว่า แล้วกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ล่ะ กลุ่มผู้หญิงที่ปัตตานีล่ะ เขามีสภาพปัญหาอย่างไร กลุ่มนักเรียนเลวที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องในใจกลางกรุงเทพฯ แล้วนักเรียนที่อยู่ต่างจังหวัด หรือคนที่ถูกผลักออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่แรกล่ะ เขาเจอสภาพเหมือนกันไหม

เราต้องรวบรวมแนวความคิดของคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมขบวนการเคลื่อนไหวโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มันล้าหลังแล้วสำหรับความคิดที่ว่าเคลื่อนในประเด็นการเมืองก่อนแล้วประเด็นอื่นเอาทีหลัง มันเป็นการเคลื่อนที่ไม่มีพลัง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ การเคลื่อนในยุคสมัยใหม่ต้องยอมเอาเสียงของทุกคน ความคิดสร้างสรรค์ของทุกคน และความแตกต่างหลากหลายของทุกกลุ่มคนมารวมพลังกัน

 

ผู้หญิงปลดแอก จากการชุมนุม

 

คนจำนวนมากในสังคมยังมองว่าสังคมไทยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือการกดขี่ทางเพศมากขนาดนั้น จนถึงมุมมองที่ว่ากลุ่มเฟมินิสต์เรียกร้องเรื่องยิบย่อย เราจะสื่อสารอย่างไรว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยิบย่อย แต่เป็นปัญหาที่เราควรมองร่วมกันทั้งสังคม

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราส่งเสียงอยู่ทุกวัน พอเขาบอกว่าประเด็นทางเพศมันยิบย่อยหรือสังคมไทยไม่มีการกดขี่ขนาดนั้น เราก็ต้องมาโชว์ให้ดูว่า นี่ไง เธอเห็นไหมว่าพวกเราถูกกดขี่แบบไหนอยู่ สิ่งสำคัญคือการหยุดและรับฟัง นี่คือสิ่งที่เรากำลังเรียกร้องอันดับต้นเลย

เวลาที่ทุกคนลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าสังคมอยู่ภายใต้เผด็จการและไม่มีเสรีภาพ ชนชั้นกลางและเผด็จการก็บอกเสมอว่า คุณก็ออกมาทำมาหากินข้างนอกได้นี่ อะไรคือสิ่งที่ไม่มีเสรีภาพ เราก็ต้องตะโกนว่า กฎหมายข้อนี้ไงที่มันไม่มีเสรีภาพ การเลือกตั้งแบบนี้ไงที่มันส่งผลให้คนที่เราต้องการให้เป็นผู้นำไม่สามารถเข้าสู่การเมืองที่เราอยากเห็นได้ เช่นเดียวกัน ทันทีที่เราลุกขึ้นมาบอกว่าผู้หญิงและเพศหลากหลายยังถูกกดทับอยู่ในสังคม ปฏิกิริยาโต้ตอบที่บอกว่ามันไม่จริงก็เกิดขึ้น เราจึงต้องหาพื้นที่ส่งเสียงเพิ่มขึ้น

เวลามีการจัดชุมนุม กลุ่มผู้หญิงปลดแอกจะมีการทำกิจกรรม นอกจากมีการระบายสีจิ๋มเพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องเพศ การเขียนบนเนื้อตัวร่างกายเพื่อบอกว่านี่คือเรือนร่างของฉัน ร่างกายของฉัน สิทธิของฉัน เรายังเปิดบูธรับเรื่องร้องเรียนสำหรับการคุกคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศ เราเปิดบูธแค่ไม่กี่ชั่วโมง มีคนเข้ามาร้องเรียนถึง 16 คน ทั้งผู้หญิงและเพศหลากหลาย มีการร้องเรียนถึงการคุกคามหลากรูปแบบ ทั้งพื้นที่การศึกษา พื้นที่การชุมนุม พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่โซเชียลมีเดีย

มีน้องๆ ใช้สีเขียนบนร่างกายและยืนเพื่อประท้วงว่านี่คือเนื้อตัวร่างกายของฉัน ก็มีการคุกคามให้เห็นต่อหน้า มีผู้ชายเดินเข้ามาจ้องมองและพยายามยื่นมือเข้ามาใกล้ๆ จนน้องๆ ในพื้นที่ชุมนุมต้องถามว่าคุณกำลังทำอะไร เขาก็ปฏิเสธแล้วรีบเดินออกไป

ปัญหาการคุกคามทางเพศไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ในม็อบ ในบ้านก็มีความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นระหว่างสามีกับภรรยาและลูก รวมไปถึงโครงสร้างสถาบันแบบจารีตนิยม เราเห็นความรุนแรงในครอบครัวที่ไม่มีการเหนียมอายจนไม่ได้รู้สึกกันเลยว่า สถาบันจารีตของไทยจะต้องมีจริยธรรมเรื่องความรุนแรงทางเพศหรือการเคารพผู้หญิงมากกว่าที่เป็นอยู่

พวกคุณยังคิดว่านี่ไม่ใช่สภาวการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของสังคมอีกเหรอ หรือต้องการปิดตาข้างเดียวกันไปเรื่อยๆ เพราะพวกคุณเองก็ได้ประโยชน์จากอภิสิทธิ์ชายเป็นใหญ่ เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากกลุ่มเพศอื่นๆ หรือเปล่า ทั้งที่เราแสดงประจักษ์พยานให้เห็นขนาดนี้แล้ว

 

 

ในมุมมองของคนที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ ข้อเรียกร้องของม็อบเชื่อมโยงกับสิทธิความหลากหลายทางเพศอย่างไร ตั้งแต่ 3 ข้อเรียกร้องหลัก จนถึง 10 ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

สามข้อเรียกร้องที่ให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นสิ่งที่ทุกคนได้รับการกดขี่เหมือนกันในภาวะที่เผด็จการครองอำนาจ ขณะที่เราอยากให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และไม่มี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง มีคนสังเกตไหมว่า สัดส่วนของ ส.ว. มีผู้ชาย-ผู้หญิงมากน้อยขนาดไหน ส่วนเพศหลากหลายแทบไม่ต้องพูดถึง การที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีตัวแทนของพวกเรานี่คือปัญหาใหญ่ที่สำคัญ

รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ก็ไม่พูดถึงเรื่องเพศที่ถูกกดทับหรือเรื่องการพัฒนาให้คนเท่ากัน เรามีข้อเรียกร้องเรื่อง ‘รัฐธรรมนูญสีรุ้ง’ ที่ชัดเจนมาก รัฐธรรมนูญต้องระบุเรื่องเพศที่ไม่ใช่แค่หญิงชาย แต่ต้องรวมไปถึงรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และเพศที่รัฐกำหนดอย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทำให้รัฐต้องดำเนินงบประมาณอย่างครอบคลุมทุกเพศและทุกช่วงวัย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐ

หากศึกษาเรื่อง gender responsive budgeting ในประเทศไทย มีความเหลื่อมล้ำเรื่องการใช้งบประมาณที่เอื้อให้กับเพศชายสูงมาก ถ้าเทียบกับความเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศ เช่น อังกฤษมีการปฏิรูปเรื่อง gender responsive budgeting ทำให้มีการใช้งบประมาณที่เอื้อประโยชน์ให้ทุกเพศเพิ่มมากขึ้น สำหรับไทยแค่เรื่องการเลือกปฏิบัติกับเรื่องงบประมาณก็ยังไม่มีมุมมองเรื่องความหลากหลายทางเพศที่เท่าเทียมเลย

รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่รับฟังเสียงของพวกเราและมีบทบัญญัติที่ชัดเจน มีแนวทางในการสนับสนุนให้เราสามารถส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม และหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกใช้อยู่ แน่นอนว่า 20 ปีกับโครงสร้างยุทธศาสตร์ชาติจะยิ่งทำให้สภาวะการกดขี่ทับซ้อนรวมตัวเพิ่มมากขึ้น

ส่วน 10 ข้อเสนอจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เราเคยพูดบนเวทีอย่างชัดเจนว่า หากว่าเห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์เป็นองค์ประมุขอย่างอารยะและได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศแล้ว เราเพิ่มอีกหนึ่งข้อเสนอคือการทำลายโครงสร้างชายเป็นใหญ่ในพื้นที่ของสถาบันกษัตริย์ เพราะมีวัฒนธรรม ประเพณี หรือโครงสร้างจารีตที่ถูกเขียนมาสืบทอดระบบชายเป็นใหญ่อย่างมีนัยที่ชัดเจน หากสิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้แล้วล้าหลัง จะเป็นอะไรเสียถ้าจะมีการปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลงข้อความเหล่านั้น โครงสร้างกฎมณเฑียรบาลต้องมีการปฏิรูป ประมุขต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยยึดโยงกับความเป็นธรรมทางเพศและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นสากล ไม่ควรมีการส่งใครไปเรือนจำโดยปราศจากการตัดสินจากศาล

นอกจากนี้ คนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างสถาบันต้องมีความตระหนักเรื่องระบบอำนาจชายเป็นใหญ่ เคารพหลักการความเป็นธรรมทางเพศและสิทธิมนุษยชนสากล เพราะเราต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและมีความสง่างามในระดับสากล

 

ผู้หญิงปลดแอก

 

ที่ผ่านมา มีเอ็นจีโอด้านความหลากหลายทางเพศจำนวนมากที่ไม่แคร์เรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตย ไปจนถึงสนับสนุนการใช้อำนาจเผด็จการมายกระดับสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ในเวลานี้คนกลุ่มนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปไหม

มีคนมากมายที่สนับสนุนการรัฐประหารและสนับสนุนประยุทธ์แล้วเปลี่ยนใจ ปรากฏการณ์จากการเลือกตั้งที่ผ่านมามีนัยสำคัญเมื่อมีเสียง ส.ส. เพศหลากหลายของพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกลขึ้นมามีบทบาทในสภา ทำให้ข้อเรียกร้องเรื่องความหลากหลายทางเพศสามารถไปพูดในสภาได้โดยตรง ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ

ส่วนเอ็นจีโอที่ทำเรื่องความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันมีโครงสร้างที่ยึดโยงอยู่กับภาครัฐเป็นจำนวนมาก เพราะงบประมาณที่สนับสนุนมาจากงานด้านสุขภาวะทางเพศและการต่อต้าน HIV ซึ่งยึดโยงกับสภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เอ็นจีโอที่ไปฝังตัวอยู่กับราชการก็จะเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่พูดอะไรที่ผู้มีอำนาจรัฐไม่ต้องการจะฟัง ซึ่งเอ็นจีโอในทุกพื้นที่ก็เป็นอย่างนี้ เช่น เอ็นจีโอเรื่องที่ดิน เรื่องผู้หญิง เอ็นจีโอด้านเด็กก็ไม่ออกมาปกป้องเด็กนักเรียนที่ออกมาเรียกร้องแล้วถูกคุกคาม

อยากให้มองไปไกลกว่านั้นว่า ประเด็นความหลากหลายทางเพศไม่ได้อยู่ในมือของเอ็นจีโอแล้ว และเอ็นจีโอทุกคนควรรู้ตัวไว้เถิดว่า ประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียมหรือการเรียกร้องในเนื้อตัวร่างกายของความหลากหลายทางเพศอยู่ในมือของมวลชนแล้ว

ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือทันทีที่มีเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องสมรสเท่าเทียมตามกลไกรัฐธรรมนูญมาตรา 77 มีมวลชนที่มาจากการประชาสัมพันธ์ในทวิตเตอร์เข้าไปแสดงความเห็นถึง 60,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เข้าไปลงชื่อสนับสนุนสมรสเท่าเทียม เอ็นจีโอจึงควรรู้ว่ามวลชนได้เข้ามาขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศแล้ว การที่เขาไม่ลุกขึ้นมาสนับสนุนประชาธิปไตยจึงไม่ได้มีความหมายเลย เพราะเสียงของเอ็นจีโอหนึ่งคนมีความหมายเท่ากับเสียงประชาชนหนึ่งคน อำนาจที่เคยสถาปนาว่าเอ็นจีโอสามารถคุยกับรัฐได้ก็หมดไป เชื่อว่าปรากฏการณ์ของสังคมที่สร้างการตื่นรู้เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เอ็นจีโอต้องปฏิรูปตาม

อย่าลืมว่ามวลชนไม่ได้ต้องการปลดแอกแค่ในส่วนของรัฐบาลเท่านั้น เขาไม่ได้สนใจว่าจะมีเอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศมาพูดเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมไหม เพราะเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองตามสภาวะการตื่นรู้ของสังคมที่เพิ่มมากขึ้น

เราเชื่อว่าในอนาคตองค์กรที่ทำงานด้านเด็กจะต้องสั่นคลอน เพราะเขาไม่ใช่องค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องเด็กอีกต่อไป ในสภาวะที่เด็กถูกคุกคามมากที่สุด เขากลับเพิกเฉย เด็กจึงต้องลุกขึ้นมาสร้างองค์กรเด็กของตัวเอง เกิดรูปแบบการปฏิรูปโครงสร้างสังคมที่ใหญ่มากกว่าต้องการเพียงแค่เอาประยุทธ์ออกไปแล้ว

 

วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

 

ในการออกมาต่อสู้ครั้งนี้ จะถือว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นหมุดหมายความหวังของการยกระดับสิทธิความหลากหลายทางเพศได้หรือเปล่า และหากเป็นเช่นนั้น การกำหนดสัดส่วนหรือคุณสมบัติของ ส.ส.ร. จะมีส่วนสำคัญแค่ไหน

การต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นภาพใหญ่เพื่อเป็นสะพานสู่ประเด็นความหลากหลายทางเพศ เช่น หากมีระบุในรัฐธรรมนูญว่าห้ามเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเพศ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1148 ก็ต้องถูกแก้ทันที หากยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตีความว่าต้องแก้กฎหมายเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว หรือหากมีกำหนดในรัฐธรรมนูญเรื่องการคำนึงถึงสัดส่วนเพศในทุกมิติ หมายความว่าแต่ละองคาพยพก็ต้องมาพิจารณาโดยคำนึงถึงสัดส่วนเพศให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่อง ส.ส.ร. ในภาพฝันของเราควรจะเป็น ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีผู้สมัครที่เป็นตัวแทน LGBT หรือผู้หญิงมากน้อยขนาดไหน แต่ถ้า ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งและมีการยึดโยงกับประชาชน ก็จะต้องเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ส.ส.ร. ไม่ควรเขียนรัฐธรรมนูญเอง แต่ควรรับฟังว่าสังคมต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน การเปิดพื้นที่นั้นจะทำให้เราส่งเสียงได้ว่า ภาพฝันที่เราอยากเห็นการยุติการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเพศต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ

สิ่งสำคัญคือกระบวนการ เชื่อว่ากระบวนการประชาธิปไตยจะนำพาให้พื้นที่สิทธิเสรีภาพและการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นจากการรับฟังเสียงของประชาชน ไม่สามารถที่จะบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะต้องมีเพศหลากหลายอยู่เท่าไหร่ แบบไหน ยังไง บางครั้งสังคมก็ต้องตอบรับตามการเติบโตเหมือนกัน

เราไม่เห็นด้วยว่า ส.ส.ร. จะมาจากการสรรหา นี่เป็นการติดหล่มที่เผด็จการใช้อยู่ตลอดเวลาว่า การสรรหาจะทำให้สามารถกำหนดสัดส่วนของประชากรที่จะเข้ามาได้ ซึ่งเราไม่เชื่อว่าจะเป็นประชาธิปไตยถ้ากระบวนการไม่ได้มาจากประชาธิปไตย นี่เป็นสิ่งที่เอ็นจีโอที่ไม่ได้เชื่อเรื่องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงชอบเอาไปอ้าง เพื่อให้ตัวเองเข้าไปนั่งในการทำงาน ส.ส.ร. คณะกรรมาธิการหรือตำแหน่งการบริหารบ้านเมืองในชุดต่างๆ

เรามีภาพฝันที่อยากจะเห็น ส.ส.ร. ที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย รับฟังความคิดเห็นในทุกพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับทุกประเด็น เราจะนำธงสีรุ้งไปในห้องประชุมเหล่านั้นเพื่อบอกว่าเราต้องการอะไร เมื่อพื้นที่เปิดกว้างมากพอให้ประชาชนได้ร่วมกันส่งเสียง นี่คือการเติบโตของสังคมที่สำคัญกว่าการได้ชัยชนะเพียงเพราะว่าฉันล้มรัฐบาลเสร็จแล้ว

ประเด็นสุดท้ายที่อยากพูดคือการมีความแตกต่างหลากหลายในขบวนการประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องผิดพลาดหรือเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เราควรเปิดพื้นที่ให้มีการดีเบตและมีความหลากหลาย อย่าหลงตามเผด็จการที่มองว่าการถกเถียงคือความไม่สามัคคี แต่จงเชื่อเถิดว่าการถกเถียงและความหลากหลายของความคิดเห็นในสังคมที่มีพื้นที่ถกเถียง นั่นคือดอกผลที่กำลังเติบโตและงอกงามของประชาธิปไตย เถียงกันเลยในขบวนการประชาธิปไตย เถียงกันเลยระหว่างกลุ่มเบียวกับกลุ่มเฟมินิสต์ เถียงกันเลยในขบวนการเพศหลากหลาย เราเถียงกันเพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการรับฟังกัน พอวันหนึ่งสังคมเติบโตและเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น วันนั้นฉันทามติของสังคมจึงจะมีความเข้มแข็ง

เราจะไม่สามารถทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนได้ หากเป็นการนำโดยแกนนำแค่ไม่กี่หยิบมือ หรือเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบโครงสร้างเดิมที่ใช้อำนาจนิยมในการต่อสู้

 

ผู้หญิงในการชุมนุม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save