fbpx
อีริคเซน-บีบีซี-ยูฟ่า การตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการออกอากาศในระหว่างความเป็น-ความตาย

อีริคเซน-บีบีซี-ยูฟ่า การตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการออกอากาศในระหว่างความเป็น-ความตาย

“ตัดเข้าสตูดิโอสิวะ ไอ้***” 

เอียน ไรท์ ตำนานนักเตะของอาร์เซนอล แสดงความรู้สึกของเขาลงบททวิตเตอร์ หลังจากเห็นภาพความพยายามของทีมแพทย์ในการยื้อชีวิตของคริสเตียน อีริคเซน นักเตะทีมชาติเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2021 หลังนักเตะหมดสติไปโดยไร้สาเหตุขณะนำทัพทีม ‘โคนม’ ลงฟาดแข้งกับคู่แข่งอย่างฟินแลนด์ 

แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดังอย่างไม่ต้องสงสัย สำหรับแฟนบอลที่ดูเกมดังกล่าวอยู่ในประเทศไทย เราจะได้เห็นภาพเดียวกับที่เอียน ไรท์ ได้เห็น ส่วนใครที่ไม่ได้ดูเกมก็คงพอได้อ่านข่าวหรือเห็นข่าวนี้ตามหน้าสื่อหรือโซเชียลมีเดียมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย แต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบเหตุการณ์นี้ คงจะเป็นการดีกว่าถ้าจะลงรายละเอียดเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกันสักหน่อย

หลังจากที่อีริคเซนล้มลงอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แอนโธนี เทย์เลอร์ ผู้ตัดสินในสนามรีบวิ่งไปดูอาการของเขา และเป่านกหวีดหยุดเกมภายในไม่เวลาถึง 5 วินาที ก่อนจะกวักมือเรียกแพทย์ของทีมชาติเดนมาร์กให้เข้ามาในสนาม ระหว่างนั้น ซิมอน เคียร์ กัปตันทีมชาติเดนมาร์กรีบมาดูอาการของอีริคเซน ก่อนรีบเคลียร์ทางเดินหายใจให้กับเพื่อนของเขาระหว่างที่รอแพทย์เดินมาถึง เพราะจุดที่อีริคเซนล้มลงนั้นคือฝั่งตรงข้ามกับม้านั่งสำรองแบบคนละฟาก ทำให้ต้องใช้เวลาหลายวินาทีกว่าแพทย์จะไปถึงตัวนักเตะ

หลังจากแพทย์ของทีมมาถึงและรู้ว่าอาการของอีริคเซนไม่ใช่การเป็นลมปกติ เคียร์ก็ช่วยแพทย์ในการปั๊มหัวใจเพื่อนเขาทันที ระหว่างนั้นผู้ตัดสินก็ตัดสินใจเรียกทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้ามาในสนาม ทำให้อีริคเซนได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงที ฟังดูเหมือนจะนาน แต่เหตุการณ์นับตั้งแต่แพทย์ประจำทีมมาถึง จนแพทย์ฉุกเฉินมาถึงผ่านไปยังไม่ถึง 20 วินาทีด้วยซ้ำ

หลังจากอีริคเซนอยู่ในมือทีมแพทย์ กัปตันทีมเดนมาร์กเดินไปปลอบขวัญภรรยาของอีริคเซนให้สงบลงจากภาพที่เห็น ก่อนกลับมาสั่งให้เพื่อนร่วมทีมยืนคล้องแขนกันเป็นกำแพงเพื่อบังสายตาขณะที่ทีมแพทย์กำลังปั๊มหัวใจเพื่อยื้อชีวิตให้จอมทัพทีมโคนม

กระบวนการทั้งหมดนั้นถูกถ่ายทอดไปสู่สายตาชาวโลก ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการเผยแพร่ภาพการทำงานของแพทย์ และผู้ป่วยที่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเป็นหรือตาย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในประเทศที่มีสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้น จะออกมาประณามการถ่ายทอดสดในครั้งนี้ โดยที่โดนหนักเป็นพิเศษคือบีบีซี เครือข่ายในสหราชอาณาจักร และตามด้วยอีเอสพีเอ็นของสหรัฐอเมริกาที่โดนด่าหนักไม่ต่างกัน

คำถามคือ ทำไมสองเครือข่ายการถ่ายทอดสดกีฬาเบอร์ต้นๆ ของโลกจึงพลาดในเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะพลาดเช่นนี้?

บีบีซีให้เหตุผลต่อเรื่องนี้ในแถลงการณ์ขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยโยนเรื่องไปให้ยูฟ่าว่าเป็นผู้ที่ควบคุมกล้องในสนามทุกตัวไม่ใช่พวกเขา 

“เราขอโทษต่อทุกท่านที่มีความขุ่นเคืองจากภาพที่ถูกถ่ายทอดออกไป” บีบีซีกล่าว “กล้องในสนามทุกตัวถูกควบคุมโดยยูฟ่า ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการถ่ายทอดสด และภายหลังจากที่เกมการแข่งขันถูกระงับลง พวกเราก็รีบทำการงดการถ่ายทอดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว”

เหตุผลดังกล่าวของบีบีซีสอดคล้องกับคำอธิบายจากฝั่งสหรัฐอเมริกา โดยเอเจ เปเรซ นักข่าวอาวุโสที่เคยทำงานกับเครือข่ายกีฬาชื่อดังในสหรัฐอเมริกาอย่างซีบีเอส สปอร์ตส์, ฟ็อกซ์ สปอร์ตส์ รวมไปถึงยูเอสเอ ทูเดย์ สปอร์ตส์ บอกว่าถ้าเลือกได้เขาก็ไม่อยากเห็นภาพนี้ ทว่าสัญญาณภาพที่เห็นนั้น ไม่ได้ถูกควบคุมจากเครือข่ายถ่ายทอดสดแต่อย่างใด

ขณะที่ฌอง แจ็คเกส อัมเซลเล็ม หัวหน้าผู้อำนวยการการถ่ายทอดสด ซึ่งรับผิดชอบการปล่อยสัญญาณการถ่ายทอดสดทั่วโลกให้ยูโร 2020 ทุกคู่ ก็มีเหตุผลมาอธิบายในส่วนนี้เช่นกัน

“ถ้ามีใครสักคนมาบอกผมว่า ‘ปล่อยออกไปแต่ภาพกว้างไว้นะ’ ผมก็คงทำตามไปแล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดในตอนนั้นคือเขา (คริสเตียน อีริคเซน) ยังปลอดภัยรึเปล่า” เขาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมมองของตัวเอง “อย่างที่คุณรู้ มันไม่มีคู่มือสำหรับเรื่องพวกนี้หรอก จริงๆ แล้ว เรามีภาพสโลว์โมชันที่เห็นเขาล้มอย่างชัดเจนด้วย แต่ผมก็บอกทีมของผมทันทีว่าอย่าถ่ายเจาะไปที่เขา ผมบอกด้วยซ้ำว่าไม่ต้องถ่ายเขาต่อไป ด้วยกล้องกว่า 30 ตัวในสนาม เราสามารถถ่ายเขาแบบใกล้ๆ ได้ไม่ยากเลย แต่เราก็ไม่เคยทำแบบนั้น

“ระหว่างนั้น ก็มีจุดหนึ่งที่ผมรู้สึกอยากได้ภาพแฟนบอลชาวเดนมาร์กที่กำลังร้องไห้ในสนาม เพราะเราอยากให้ทุกคนเห็นถึงความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น เราเห็นแม้แต่ความรู้สึกของแฟนฟินแลนด์ แต่ผมไม่คิดว่าเราอยากจะทำอะไรให้มืดมนเกินไป”

คำพูดของอัมเซลเล็มเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากในมุมของคนทั่วไป เพราะสิ่งที่ทุกคนต้องการเห็นและต้องการแน่ใจคือความปลอดภัยของของอีริคเซน และเขาก็ไม่ได้ถ่ายเจาะไปในระยะใกล้เกินไปจริงๆ แต่นั่นก็หาใช่เรื่องที่ถูกต้องและถูกหลักการทั้งหมด เพราะสุดท้ายภาพการปั๊มหัวใจนักเตะชาวเดนมาร์กก็ถูกถ่ายทอดสดออกอากาศไปทั่วโลกอยู่ดี และยังโชคดีที่กองกลางวัย 29 ปีรู้สึกตัวและไม่มีอันตรายถึงชีวิต เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ภาพที่คนดูทั่วโลกจะได้เห็นคือภาพของคนที่กำลังเสียชีวิตออกอากาศ

ถ้าว่าตามหลักจริยธรรมสื่อแล้ว สื่อควรระมัดระวังในการเสนอภาพที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นอาจรวมถึงผู้ที่รับชมอยู่ด้วย แต่ก็อย่างที่อัมเซลเล็มได้กล่าวไว้ตั้งแต่แรกว่า “ไม่มีคู่มือสำหรับเรื่องพวกนี้” เพราะฉะนั้นการเลือกภาพออกอากาศจึงเป็นเรื่องของความเหมาะสม ซึ่งไม่สามารถวัดได้อย่างเท่าเทียม 

หากจะยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เข้าใจแบบเร็วๆ ก็คือภาพที่ยูฟ่าปล่อยออกไปนั้น ถือเป็น global feed ซึ่งเป็นสัญญาณเดียวกันทั่วโลก นั่นรวมถึงภาพที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่คนในประเทศมองว่ามีปัญหาด้วย ทุกภาพที่คนไทยได้เห็นเป็นภาพเดียวกับที่คนในแดนผู้ดีและแดนลุงแซมได้รับชม ภาพเหตุการณ์ต่างๆ นับตั้งแต่ อีริคเซนล้มลง-เพื่อนมาดูอาการ-กรรมการเรียกทีมแพทย์-แพทย์มาปฐมพยาบาล-ซิมอน เคียร์ไปคุยกับภรรยาของอีริคเซน-เพื่อนๆ มายืนล้อมอีริคเซน-จนถึงการลำเลียงนักเตะออกจากสนาม แต่ดราม่าที่เกิดขึ้นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นสองประเทศที่เคร่งครัดและตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม บางครั้งภาพการเสียชีวิตออกอากาศก็ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลกแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ กรณีการเสียชีวิตของมาร์โก ซิโมนเซลลี นักบิดชาวอิตาลี ที่เสียชีวิตในการแข่งขันรายการมาเลเซีย กรังด์ปรีซ์ ในปี 2011 โดยรถของเขาเสียหลักเบียดรถของคู่แข่งจนเกิดอุบัติเหตุอันน่าเศร้า หรือเดล เอิร์นฮาร์ดท์ นักขับรถนาสคาร์ ที่เสียชีวิตระหว่างการแข่งขันรายการเดย์โทนา 500 ปี 2001 และกรณีอันโด่งดังของฟอร์มูลาวันอย่างไอร์ตัน เซนนา นักขับระดับตำนาน ที่เสียชีวิตระหว่างการแข่งขันซาน มาริโน กรังปรีซ์ ในปี 1994

แต่ทั้งหมดที่ว่ามาไม่มีการตัดการถ่ายทอดสดในจังหวะเกิดเหตุออกจากไปจากสัญญาณการถ่ายทอด เนื่องด้วยเป็นการถ่ายทอดสดและเป็นจังหวะที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ถ้าใครไม่สังเกต อาจจะไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในสนามบ้าง และเกือบทั้งหมดของเหตุการณ์ที่ว่ามาจะไม่มีการฉายภาพซ้ำหรือปล่อยภาพช้าใดๆ ที่อาจจะสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้ชมทางบ้านรวมไปถึงญาติผู้เสียชีวิต 

หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่ทีมถ่ายทอดสดรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ค่อนข้างดีและเพิ่งเกิดไปเมื่อไม่นานมานี้ คือเหตุการณ์ในศึกฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่อังเดร โกเมส นักเตะของเอฟเวอร์ตัน ข้อเท้าหักผิดรูป แม้จะไม่ใช่เหตุการณ์ที่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็ถือเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่มีจังหวะหวาดเสียว ประกอบกับมีผู้เคราะห์ร้ายในเหตุการณ์ที่ต้องได้รับการปกป้องจากสื่อ

โดยหลังจากที่ซน ฮึง มินปะทะกับโกเมส จนโกเมสเสียหลักล้มและข้อเท้าหัก นั่นเป็นจังหวะเดียวที่แฟนบอลซึ่งนั่งดูอยู่ที่บ้านได้เห็นภาพน่าหวาดเสียวและข้อเท้าที่ผิดรูปของดาวเตะโปรตุเกส เพราะเป็นการถ่ายทอดสดจึงไม่สามารถตัดจังหวะดังกล่าวออกได้ แต่หลังจากนั้น ทีมถ่ายทอดสดก็ไม่ไปจับภาพโกเมสอีกเลย แต่เปลี่ยนเป็นการฉายภาพมุมกว้างให้เห็นถึงสีหน้าแฟนบอล และความรู้สึกเป็นกังวลของพวกเขา ตัดสลับไปกับใบหน้าเพื่อนร่วมทีมและซน ฮึง มิน ผู้ที่เหมือนจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เพื่อนร่วมอาชีพได้รับอาการบาดเจ็บ แต่ก็ไม่ได้แช่ภาพที่ใครนานเกินไปกว่าความประสงค์จะให้เห็นอารมณ์ของแต่ละคนเท่านั้น

เมื่อลองคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราก็พอจะเข้าใจวิธีคิดของทุกฝ่าย สำหรับบีบีซีหรืออีเอสพีเอ็น ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกและมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน คงไม่ใช่เรื่องคุ้มค่าเลยที่พวกเขาจะแลกเรตติ้งจำนวนไม่กี่นาที เพื่อแลกกับความเสี่ยงในการถ่ายทอดสดความเป็น-ตายของคนออกอากาศ นอกจากจะเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ เนื่องจากเป็นสัญญาณมาจากยูฟ่าอย่างที่พวกเขาอธิบาย

ขณะที่ทีมออกอากาศของยูฟ่าก็มองว่าพวกเขาไม่ได้โคลสอัพไปที่อีริคเซน และถ่ายมุมกว้างมากพอแล้ว และการที่พวกเขายังไม่ตัดภาพไปที่มุมอื่นก็มีเจตนาที่จะให้ทุกคนเห็นว่าอีริคเซนไม่เป็นอะไร เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ทางบ้านสบายใจเมื่อได้เห็นวินาทีแรกที่อีริคเซนรู้สึกตัว แต่สำหรับแฟนกีฬาที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความเป็นส่วนตัวของของนักเตะขณะกำลังได้รับการยื้อชีวิต ก็มองว่าภาพการปั๊มหัวใจออกอากาศไม่ใช่เรื่องที่ควรจะถ่ายทอดสด แม้จะเป็นมุมภาพที่กว้างออกมาพอสมควร และไม่ได้เห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจนก็ตาม

สุดท้ายนี้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นความจริงปลายเปิดที่อนุญาตให้เราคิดและวิเคราะห์ได้ว่าอะไรคือความเหมาะสม เพราะความเหมาะสมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิด ความสำนึก และจริยธรรมที่แตกต่างกัน ย่อมไม่เหมือนกันอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save