fbpx
โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กับภารกิจ ‘Bring content to life’ ในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กับภารกิจ ‘Bring content to life’ ในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

เชื่อว่านักอ่านจำนวนไม่น้อย น่าจะพอทราบกันบ้างแล้วว่า ในปีนี้งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ย้ายสถานที่ไปยังอาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ ‘งานสัปดาห์หนังสือ’ จากเดิมที่ผู้อ่านคุ้นเคยและผูกพันกับศูนย์สิริกิติ์มาเป็นเวลาร่วมสองทศวรรษ

สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) คือองค์กรที่ดูแลรับผิดชอบการจัดงานมหกรรมหนังสือโดยตรง โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ประจำวาระ พ.ศ. 2562-2564

เธอคือผู้บริหารสำนักพิมพ์ ‘สุขภาพใจ’ ทายาทของ บัญชา เฉลิมชัยกิจ ผู้ก่อตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ก่อนหน้านี้เธอเคยทำงานในสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มาแล้ว ในตำแหน่งอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ผ่านงานบริหารมาโชกโชน ทั้งในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทบุ๊ค ไทม์ จำกัด และประธานสมาคมสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 คือความท้าทายแรกที่โชนรังสีและทีมงานต้องเผชิญนับตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ โดยโจทย์ใหญ่อยู่ที่การเปลี่ยนสถานที่การจัดงานใหม่ดังที่กล่าวไปข้างต้น

‘หนังสือดีมีชีวิต’ ‘Bring content to life’ และ ‘ยกขบวนไปอิมแพ็ค’ คือคอนเซ็ปต์ที่ใหญ่ๆ ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ชูขึ้นมาในการโปรโมตงานนี้ ท่ามกลางการหยั่งเชิงจากทั้งนักอ่านและผู้คนในแวดวงหนังสือ

ความท้าทายในการจัดงานครั้งนี้คืออะไร ความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ภายในงานมีอะไรบ้าง ทิศทางและเป้าหมายของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ถัดจากนี้คืออะไร นิยามความหมายของหนังสือในยุคสมัยนี้มีขอบเขตแค่ไหน

ต่อไปนี้คือมุมมองและวิสัยทัศน์จากโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ในฐานะหัวขบวนของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่ประกาศว่าจะ ‘Bring content to life’ จากการปักหมุดงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้-และครั้งถัดๆ ไปไว้ที่อิมแพ็ค

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

ผู้อ่านจะได้เจออะไรในงานนี้บ้าง

ในงานนี้ ผู้อ่านจะได้พบสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 300 สำนักพิมพ์ แต่คราวนี้เรายกขบวนไปอิมแพ็ค เมืองทองธานี ไปอยู่ในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น สองหมื่นกว่าตารางเมตร สำหรับกิจกรรมและโปรโมชั่นต่างๆ สามารถติดตามกันได้ในแฟนเพจของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่ชื่อว่า Book Thai 

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยไปงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ กันแล้ว แต่ในสถานที่ใหม่ คือที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี เราแบ่งพื้นที่บูธออกเป็น 7 โซนด้วยกันคือ Book wonderland, นิยาย วรรณกรรม, หนังสือเก่า, หนังสือต่างประเทศ, หนังสือเด็ก, การศึกษา และสุดท้ายคือ หมวดหนังสือทั่วไป ฮาวทู และไลฟ์สไตล์

ในงาน ปกติเราจะพบส่วนลดจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ตั้งแต่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่งานนี้มีความพิเศษคือ ถ้าคุณไปในจังหวะเหมาะๆ คุณอาจเจอกับ Flash sale หรือนาทีทอง จากหลากหลายสำนักพิมพ์ ทั้งบนเวที และในบูธต่างๆ โดยชวนนักอ่านมาร่วมกันตามล่าหนังสือพิเศษในช่วงนาทีทองนี้ด้วย

นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมสนุกๆ ให้ลุ้นกันทุกวัน เช่น ถ้าคุณเดินครบ 4 โซนจาก 7 โซน โดยนับจากการยิงคิวอาร์โค้ดในโซนต่างๆ หากครบ 4 โซน คุณจะได้รับคูปองเงินสดเพื่อเอาไปช็อปหนังสือได้ และในแต่ละวัน จะมีรางวัลใหญ่อย่าง iPad ให้ลุ้นกันด้วย

อีกเรื่องที่สำคัญ และหลายคนอาจสงสัยกัน คือเรื่องการเดินทางไปเมืองทองธานี เราได้นำเสนอวิธีการเดินทางต่างๆ ไว้แล้วในแฟนเพจของเรา ตั้งแต่การใช้รถ ขสมก. เช่น สาย 166 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือถ้าสะดวก MRT (รถไฟฟ้าสายสีม่วง) ก็สามารถนั่งมาลงศูนย์ราชการ เราจะมีรถตู้กับรถปรับอากาศ ขสมก. ที่รอให้บริการ ขึ้นทางด่วนไปลงที่อิมแพ็คเลย นอกจากนี้ก็มี smart taxi และส่วนลดต่างๆ จาก Grab ให้เลือกใช้กันด้วย

ที่สำคัญคือถ้าคุณซื้อหนังสือเยอะ กลัวหนัก ไม่ต้องแบกกลับค่ะ สามารถมาตัวเปล่า กลับตัวปลิวได้เลย เพราะเรามีพาร์ทเนอร์สำหรับการจัดส่งของ คือ Kerry Express ซึ่งจะมีส่วนลดพิเศษให้ด้วย

คอนเซ็ปต์ ‘Bring content to life’ หรือ ‘หนังสือดีมีชีวิต’ มีที่มาที่ไปยังไง

โดยส่วนตัว เรารู้สึกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พอเราบอกคนว่าทำอาชีพอะไร บอกว่าเราทำสำนักพิมพ์ เราพิมพ์หนังสือ นำเนื้อหามาผลิตในรูปแบบของหนังสือให้คนได้อ่าน คนก็จะพูดว่า เอ๊ะ มันตายแล้วรึเปล่า นี่คือหนึ่งเหตุผล

อีกเหตุผลหนึ่ง มาจากการที่กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ระดมสมองกัน ไปไล่ดูงานวิจัยว่าอะไรที่เป็นเทรนด์ของโลก เทรนด์ของยุคปัจจุบัน นำมาประกอบ ทำให้เห็นว่าเราอยู่ในยุคที่วิถีชีวิตเร็วขึ้น ทำอะไรสั้นๆ เร็วๆ ขณะเดียวกันเทรนด์มันก็ย้อนกลับไปสู่ความเป็นเรโทร ย้อนยุค มีความสโลว์ไลฟ์ มีกระแสนิยมอาหารคลีน มันประกอบกันหลายๆ อย่าง

แต่ในทางหนึ่ง พวกเรายังมีความเชื่อว่าหนังสือมันยังไม่ตายหรอก เพียงแต่มันกำลังจะ transform กำลังจะ diverse กำลังจะนำไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่มีองค์ประกอบมากขึ้น เราก็เลยมองว่า เราต้องทำคอนเทนต์ที่อยู่ในหนังสือ หรือที่คนยังมองว่าเป็นกระดาษ ให้มันกลับมาสู่วิถีชีวิต กลับมาสู่ความรู้สึกหรือสำนึกของคนไทยให้ได้ว่า เฮ้ย มันคือชีวิตของเรา

สุดท้ายก็เลยเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ภาษาอังกฤษขึ้นมาก่อน คือ ‘Bring content to life’ ซึ่งเราตั้งเป็นภารกิจของเราด้วย ตลอดวาระสองปีที่เราทำหน้าที่อยู่ในสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แล้วพอดีว่าบทบาทของเราเองส่วนหนึ่ง ก็คือการใช้สื่อ ทำสื่อที่เรียกว่าหนังสือนี่แหละ ซึ่งคำว่าหนังสือ ก็มีทั้งแบบที่เป็นปริ้นต์ และแบบที่เป็นอีบุ๊ค ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน มันก็คือคอนเทนต์ที่นำไปสู่สิ่งต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความสนุกสนาน ความรื่นเริง หรือกระทั่งความสำเร็จ

หนังสือคือการ์ตูน หนังสือคือประวัติศาสตร์ หนังสือคือนิยาย ละคร วรรณกรรม หนังสือคือภาษา คือการเรียนรู้ และสุดท้าย เรามองว่าหนังสือคือความสำเร็จ ถ้าเกิดว่าเราได้อ่าน แล้วนำสิ่งที่อ่านมาใช้ในชีวิต มันคือความสำเร็จอย่างหนึ่ง

นี่จึงนำมาสู่คอนเซ็ปต์ภาษาไทยของมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 นี้ว่า ‘หนังสือดีมีชีวิต’ ซึ่งเราก็แตกยอดไปเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ในงาน เช่น เราจะเห็นว่างานทุกครั้ง แต่ละสำนักพิมพ์จะพาคนที่เป็นนักเขียน นักคิด มาออกงาน แจกลายเซ็นในงาน แต่เรายังไม่ได้รวบรวมและสื่อสารให้สาธารณะชนรับรู้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ เราก็เลยเอามาจัดระเบียบใหม่ ร้อยเรียงให่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘100 นักเขียนเปลี่ยนชีวิต’ เชิญนักเขียนทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ รุ่นใหญ่ รุ่นเยาว์ รุ่นกลาง เชิญเขามาบอกเล่า แลกเปลี่ยนความคิดกับนักอ่านภายในงาน โดยจะมีบางส่วนที่เอามาออก Facebook live ในเพจของสมาคม

ข้อต่อมา ถามว่าจะ Bring content to life หรือทำให้หนังสือดีมีชีวิตได้ยังไง เราก็ตีโจทย์ง่ายๆ ว่าหนังสือมันจะไม่ได้อยู่แต่ในหน้ากระดาษอีกต่อไปแล้ว แต่หนังสือคือคอนเทนต์ คอนเทนต์คือเนื้อหาสาระ ที่ไม่เพียงอยู่ในหนังสือเท่านั้น แต่สามารถไปอยู่ในสื่อต่างๆ อีกมากมาย และสามารถข้ามไปข้ามมา และก่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ creative economy ได้ในอนาคต

แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมีมากขึ้นทุกวัน และผู้อ่านเองก็มีทางเลือกในการเสพสื่อหรือคอนเทนต์อยู่มากมายหลายช่องทาง แต่เชื่อไหมคะว่าหนังสือที่ยังพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ก็ยังมีคุณค่าและมีพลังมากๆ ต่อการประสบความสำเร็จในชีวิตของเราทุกคน

ฉะนั้นนิทรรศการด้านหน้า ซึ่งเป็นนิทรรศการหลักของงานนี้ เราตั้งชื่อเดียวกับคอนเซ็ปต์ว่า ‘Bring content to life’ จะเป็นนิทรรศการที่สื่อสารว่าหนังสือหรือคอนเทนต์ มันถูก diverse ไปสู่สื่ออื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง เช่น หนังสือบางเล่มนำเทคโนโลยี AR มาประกอบ ทำให้เด็กเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้นว่าโลกใบนี้คืออะไร เซลล์ของชีวิตคืออะไร หนังสือบางเล่มมีเสียงประกอบเพื่อถ่ายทอดความรู้ต่างๆ กระทั่งหนังสือบางเล่ม ก็ไม่ได้ใช้สายตาในการอ่าน เช่น หนังสือเบรลล์สำหรับคนที่มีความบกพร่องทางสายตา ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้มีความสุขกับการอ่านได้เหมือนกัน

คุณมองการอ่านของคนไทยทุกวันนี้ยังไง คนอ่านหนังสือน้อยอย่างที่เขาพูดกันจริงไหม

เรามองว่าทุกคนก็อ่านกันทุกวันแหละ ที่สำคัญคือเราอ่านเยอะด้วยนะ เพราะแม้แต่การสไลด์โทรศัพท์ มันก็ต้องอาศัยการอ่าน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือทุกวันนี้วิธีการอ่านมันเปลี่ยนไปแล้ว หนึ่งคือเปลี่ยนแพลตฟอร์ม สองคือเปลี่ยนจากการอ่านเชิงลึกเป็นการเสพแบบเร็วๆ ก่อน แล้วถ้าพบว่าเรื่องไหนเราสนใจ ถึงจะไปเสาะหาองค์ความรู้เชิงลึกต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านั้นส่วนหนึ่งอาจอยู่ในหนังสือ หรืออยู่ในอินเทอร์เน็ตก็ได้

หลายคนอาจเคยได้ยินว่า คนไทยอ่านหนังสือ 6-8 บรรทัด แต่ทราบไหมคะว่า สถิติการอ่านหนังสือของคนไทยทุกวันนี้ สูงขึ้นแล้ว โดยสถิติในปี 2561 ที่สภาพัฒน์ได้วิจัยออกมา ชี้ว่าคนอ่านมากขึ้นและนานขึ้น เฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน ลองทบทวนตัวเองดูก็ได้ว่า ทุกวันนี้เราอ่านอะไรบ้าง อ่านอย่างไร เราอ่านหนังสือที่เป็นเล่มไหม หรืออ่านเนื้อหาที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย

จริงๆ คนไม่ได้อ่านน้อยหรอก แต่พฤติกรรมการอ่านของคนมันเปลี่ยนไป ซึ่งเรามองว่าเป็นข้อดีของคนยุคนี้ด้วยซ้ำ ที่จะได้เรียนรู้โลกกว้าง สามารถเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่างจากโลกอินเทอร์เน็ตได้ง่าย แต่ในความง่ายนั้น ก็ต้องระมัดระวัง เลือกสรรสิ่งที่เราเสพด้วย

เวลาเราเสพสื่อ แน่นอนว่าต้องเจอทั้ง Fact และ Fake นี่เป็นประเด็นที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ของเราให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเรามั่นใจว่าหนังสือของสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นหนังสือที่ถูกกลั่นกรอง เลือกสรร คัดสรรมาแล้วว่าเหมาะกับคนไทย เรียกได้ว่าเป็น Fact ที่ควรค่าแก่การเสพ ในรูปแบบของหนังสือประเภทต่างๆ

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

ล้วในมุมของผู้ผลิต ต้องปรับตัวอะไรยังไงบ้าง

ในทางกลับกัน มุมของคนผลิตเองก็ต้องรู้ว่าคอนเทนต์มันเคลื่อนไปสู่มีเดียต่างๆ มากมาย ฉะนั้นถ้าเรายังตีกรอบตัวเองอยู่แค่การทำหนังสือที่เป็นกระดาษ มันก็จะติดอยู่แค่นั้น แต่การที่เราจะก้าวข้ามจุดนี้ไปได้ ก็อาจต้องมีโรดแมปบางอย่างในการแปลงร่างคอนเทนต์ไปสู่สื่ออื่นๆ เหมือนตัวละครในหนังในละครที่แปลงร่างเป็นฮีโร่ แต่การจะเป็นฮีโร่ในธุรกิจของเราได้ เราก็ต้องเปิดโลก ก้าวออกจากสิ่งที่เป็นความเคยชินเดิมๆ

ช่วงแรกอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที แต่ขอให้ยอมรับก่อนว่ามันต้องเปลี่ยน ถ้าเป็นภาษาเท่ๆ สมัยนี้ ก็ต้องพูดว่า เราต้อง disrupt ตัวเองก่อนที่จะถูก disrupt แน่นอนว่าแต่ละสำนักพิมพ์ แต่ละนักเขียน คงมีเหตุปัจจัยและแนวทางที่ต่างกันไป ก็ต้องดูธรรมชาติของตัวเอง เรียนรู้โลกภายนอก แล้วพยายามหาวิธีผสมผสานให้เกิดสิ่งใหม่ โดยยังเป็นตัวของตัวเองอยู่

สิ่งที่อยากบอกก็คือ ภาวะที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดแค่ที่ประเทศไทย อย่างตอนที่ได้ไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกับกลุ่ม publisher ในอาเซียนเอย หรือผู้จัดจำหน่ายในญี่ปุ่นเอย ทุกคนต่างเผชิญสภาวะเดียวกัน ซึ่งการเผชิญหน้าของแต่ละประเทศ ก็มีหลายเหตุปัจจัย อันแรกคือตัวเราเอง เป็นอณูที่เล็กที่สุดที่เราจะต้องเข้าใจโลก เข้าใจตัวเรา แล้วก็เปลี่ยนแปลง เหตุปัจจัยต่อมาก็คือคนในอุตสาหกรรมด้วยกัน ที่ต้องรวมพลังกัน เพราะถ้าเราเดินไปคนละทิศคนละทาง มันก็สะเปะสะปะ

ขณะเดียวกันเราก็ต้องเปิดกว้างไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ต้องเรียนรู้กับเขา บางทีเขาอาจเป็นอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนผ่านไปแล้ว หรืออาจเป็นอุตสาหกรรมที่มาจับมือร่วมกันได้

ส่วนเหตุปัจจัยสุดท้าย ก็คือนโยบายระดับประเทศ ผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศต้องเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ว่ามันสามารถขับเคลื่อนประเทศได้ แต่ถ้าผู้บริหารประเทศไม่เห็นความสำคัญเสียแล้ว คนในประเทศก็จะไม่ถูกกระตุ้นและผลักดันตั้งแต่วัยเยาว์ สุดท้ายการลงทุนก็จะไปลงที่การซื้อของ มากกว่าการลงทุนเรื่องสมองให้กับคนไทย

หนังสือดี ในมุมมองของคุณคืออะไร

หนังสือดี บางทีก็หมายถึงความสำเร็จในชีวิต หนังสือดีบางทีก็หมายถึงความสุข ความรื่นเริงบันเทิงใจในชีวิต และหนังสือดีๆ บางทีก็ทำให้เราออกไปอยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง อีกสถานที่ที่เราอยากไปอยู่ ฉะนั้นหนังสือก็คือเนื้อหา สาระ ที่ทำให้เรามีชีวิตอย่างที่เราอยากเป็น

จุดเปลี่ยนสำคัญของงานนี้ คือเรื่องสถานที่จัดงาน จากเดิมซึ่งจัดที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ ต่อเนื่องมาเป็นสิบปี ปีนี้เปลี่ยนมาจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คุณและทีมงาน ได้เข้ามาบริหารสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ พอดี อยากทราบว่าต้องเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง

เรามองว่าความท้าทายคือโอกาส ความยากหรือความท้าทายในที่นี้คือทุกอย่างมันใหม่หมด ต้องมาดูเหตุปัจจัย ต้องดูธรรมชาติของมัน และพยายามเข้าไปทำให้เหตุปัจจัยเหล่านั้นเป็นเหตุปัจจัยที่ดี เพื่อนำไปสู่ผลที่ดี

ในแง่นี้มันจึงกลายเป็นโอกาสดีที่ว่า ถ้าเราอยากเปลี่ยนหรืออยากทำอะไร ก็ลองทำเลย ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้สมาชิกสำนักพิมพ์ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วย โดยส่วนตัวจึงมองว่า แม้ระยะเวลาในการทำงานของเราจะจำกัดก็จริง แต่เราทำทุกอย่างเต็มที่ และเราจะเรียนรู้จากครั้งแรก เพื่อให้มีครั้งต่อๆ ไปที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกแง่หนึ่ง เราเชื่อว่ามันจะเป็นโอกาสให้คนในชุมชนอีกโซนนึง ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสงานนี้ได้ง่ายขึ้น ก็อยากเชิญชวนคนที่อยู่โซนเมืองทอง นนทบุรี หรือกระทั่งอยุธยา ที่ก่อนหน้านี้อาจไม่ได้มีโอกาสไปงานหนังสือที่ใจกลางเมืองอย่างแต่ก่อน คราวนี้ก็น่าจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อยากให้ลองมาเปิดประสบการณ์ ลองมาหาคอนเทนต์ใหม่ๆ ให้ชีวิตกันดูค่ะ

นอกจากเรื่องสถานที่ มีอย่างอื่นอีกไหมที่เป็นสิ่งใหม่ แปลกไปหรือเปลี่ยนไปจากเดิม

มีค่ะ เป็นเรื่องที่เราคุยกันเองว่าเราอยากจะระเบิดจากข้างใน คือคนในอุตสาหกรรมของเรา ซึ่งต้องค่อยๆ วาง ค่อยๆ สร้างกันไป

คำว่าแปลกไป เปลี่ยนไป หมายถึงการมีส่วนร่วมของคนในอุตสาหกรรม เราอยากให้เกิดการมีส่วนร่วมจากเพื่อนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันให้มากๆ ในทุกมุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสมาคมวิชาชีพใดๆ ที่อยู่ใน supply chain ของเรา รวมถึงกลุ่มสมาชิกที่เป็นแก่นของเรา ก็คือบรรดาสำนักพิมพ์ทั้งหลาย

เราอยากให้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องของการทำบูธของตัวเองให้น่าสนใจ การจัดโปรโมชั่นในภาพรวมของงาน รวมถึงการเข้ามารับรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เราเองก็ต้องตระหนักและต้องเริ่มเปลี่ยนแล้ว

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

ที่บอกว่าภารกิจที่ตั้งไว้ในช่วงวาระ 2 ปีถัดจากนี้ คือการ Bring content to life นั่นคือภาพใหญ่ในวงการ อยากทราบว่าภารกิจสำหรับคนในอุตสาหกรรม รวมถึงสมาชิกสำนักพิมพ์ต่างๆ เอง คืออะไร

ถ้าเป็นระยะเร่งด่วนที่เราทำแล้ว ก็คือการผลักดันงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วง และปักหมุดที่เมืองทองให้ได้ ส่วนเรื่องถัดไปคือเรื่องระยะสั้น เราเข้าใจว่าตอนนี้สำนักพิมพ์ต่างๆ เองก็ค่อนข้างเหนื่อยกับการค้าขาย ฉะนั้นโจทย์คือจะทำยังไงให้สามารถยกระดับยอดขายให้กับสำนักพิมพ์ ซึ่งในทีนี้ไม่ได้หมายถึงการจัดมหกรรมอย่างเดียว แต่ต้องรวมไปถึงเรื่องการส่งเสริมการอ่าน เพื่อให้เกิดฐานผู้อ่านมากขึ้น ส่วนเรื่องการจัดแฟร์หรือมหกรรม เราก็ตั้งใจจัดงานย่อยๆ แบบจรยุทธ์ไปในเมืองต่างๆ ด้วย

ตอนนี้เรามีงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ปีละ 2 ครั้ง คืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ นอกจากนี้เราก็จัดงานในภูมิภาคด้วย อีก 5 จังหวัด ซึ่งเราตั้งใจไว้ว่าจะตัดเป็นหมวดย่อยหรือธีมต่างๆ ที่น่าสนใจ ตามคอมมูนิตี้ของตัวเอง เช่นหมวดที่เป็นการ์ตูนหรืออนิเมะ หมวดที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ หรือหมวดที่เป็นหนังสือเด็ก ที่เคยจัดแยกออกเป็นเทศกาลหนังสือเด็ก เราจะทำให้เป็นระบบมากขึ้นเพื่อสร้างฐานคนอ่านให้เพิ่มขึ้นและเข้มแข็งขึ้น

นอกจากนี้ เรารู้สึกว่าวัฏจักรของโลกมันก็หมุนเวียนไป การเข้ามาทำงานตรงนี้ไม่ใช่เรื่องจีรัง คนที่จะหมุนเวียนเข้ามาก็คือคนในแต่ละรุ่น ฉะนั้นเราจึงอยากสร้างกลไกบางอย่างให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมของเรา เพื่อให้คนรุ่นถัดๆ ไปได้ใช้ต่อยอด และส่งต่อกันไปรุ่นสู่รุ่นได้

ส่วนเป้าหมายในระยะยาว จะเป็นเรื่องเชิงกฎหมาย เราอยากผลักดันให้เกิดความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ทั้งตัวเรา ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ยกตัวอย่างเช่น เดือนนี้เราจะ kick-off สถาบันที่ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ รวมถึงการป้องกันปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ให้กับพวกเราที่เป็นนักสร้างสรรค์ โดยทำงานร่วมกันกับหลายๆ ภาคส่วน ขณะเดียวกันก็หวังว่าจะช่วยสร้างความตระหนักและความเข้าใจกับคนไทย ในเรื่องการเคารพลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่เราตั้งใจไว้ คือเราอยากผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ creative economy ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นเรื่องเกมส์ เรื่องแอนิเมชัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว ออริจินัลคอนเทนต์ของมันก็มาจากหนังสือได้เหมือนกัน

เวลาเราทำหนังสือออกมา นั่นคือการ create ถัดจากนั้นเราต้องคิดต่อว่าจะ transfer มันยังไง เพื่อให้คนเข้าใจในหมวดต่างๆ ถัดจากนั้นจะ utilize มันยังไง เพื่อให้อุตสาหกรรมไปต่อได้ และเป็นประโยชน์กับคนเสพคอนเทนต์

นี่จึงเป็นที่มาของการที่วันนี้เราชวนคนทำละครมา เพราะมันคือสิ่งที่คนเข้าถึงได้ง่าย

อยากฝากอะไรถึงคนอ่าน ที่อาจยังมีความกังวลกับการไปเที่ยวชมงานหนังสือครั้งนี้

สำหรับคนที่เป็นหนอนหนังสืออยู่แล้ว เคยไปงานหนังสือเป็นประจำ แล้วไปงานนี้ เราเชื่อว่าจะติดใจกลิ่นอายของความสมบูรณ์พร้อม พูดง่ายๆ คือคุณมาที่นี่ทีเดียว แล้วได้ทุกอย่างที่คุณอยากได้ จะหาหนังสือใหม่ จะหาหนังสือลดราคา จะหาหนังสือเก่า หนังสือหายาก ที่นี่ตอบโจทย์หมด

ในขณะเดียวกัน ใครที่ยังไม่เคยไปเลย แล้วมีบ้านหรืออาศัยอยู่ในละแวกนั้น ก็อยากให้ไปลองไปสัมผัสดู พวกเราทุกคน ทุกสำนักพิมพ์ มีความตั้งใจในการนำเสนอเรื่องราวของตัวเอง ในรูปแบบของหนังสือ มีนักเขียนที่มาแจกลายเซ็น นั่งพูดคุยกับนักอ่าน บนเวทีก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจและอาจสร้างแรงบันดาลใจให้คุณได้

บางทีเวลาเราติดขัดอะไรในชีวิต แล้วได้ยินได้ฟังบางคำ บางประโยค มันก็เปลี่ยนชีวิตเราได้เหมือนกัน อยากให้ไปลองค่ะ ไม่ลองก็ไม่รู้ ที่สำคัญคือคุณจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save