fbpx

ยุทธการในสภาถึงนโยบายบนสนามเลือกตั้งครั้งถัดไป: การเมืองหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับ ชลน่าน ศรีแก้ว

ชลน่าน ศรีแก้ว

เสียงในสภาลงมติไว้วางใจให้รัฐบาลประยุทธ์ไปต่ออย่างไม่เหนือความคาดหมาย แม้ศึกสมรภูมิการซักฟอกครั้งสุดท้ายจะจบไปแล้ว แต่บาดแผลของรัฐบาลยังคงเป็นที่โจษจัน ทั้งจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านดำเนินการอย่างแข็งขันและเสียงโหวต ‘ไม่ไว้วางใจ’ ล้นหลามของประชาชนที่ร่วมโหวตคู่ขนานในช่องทางออนไลน์

ข้อถกเถียงถึงเรื่องการใช้สปายแวร์เพกาซัส (pegasus) ติดตามละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของนักกิจกรรมทางการเมืองและภาพสลิป ‘แจกกล้วย’ พรรคเล็กที่ปลิวว่อนท้าทายองค์กรตรวจสอบยังคงถูกพูดถึงเป็นระยะ

แรงสั่นสะเทือนดังกล่าวจะส่งผลให้การเมืองหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นอย่างไร?

101 ชวน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านมอง ‘อาฟเตอร์เอฟเฟกต์’ ศึกซักฟอกรัฐบาลประยุทธ์ครั้งสุดท้าย สรุปบทเรียนยุทธการเด็ดหัวสอยนั่งร้านของเพื่อไทย การปรับกฎกติกาก่อนการหย่อนบัตร และประเมินภาพการเมืองไทยก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งต่อไป

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep. 271 การเมืองหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระบอบประยุทธ์ได้ไปต่อ? กับ ชลน่าน ศรีแก้ว


YouTube video


เสร็จสิ้นศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย มติส่วนใหญ่ยังให้ระบอบประยุทธได้ไปต่อ คุณประเมินยุทธการเด็ดหัวสอยนั่งร้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้อย่างไร

การศึกเพิ่งจะเริ่มต้น จุดสิ้นสุดของยุทธการเด็ดหัวสอยนั่งร้านจะทราบผลเมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เพราะเราเห็นว่าองคาพยพของระบอบประยุทธ์ นั่งร้านของเขาแน่นมากภายใต้ผลประโยชน์ร่วม เพื่อไทยเลยสร้างยุทธการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน ในสภาเราไม่ชนะแน่ แต่เราสร้างบาดแผล เปิดโปงให้พี่น้องประชาชนเห็นภาพ เพื่อไปตัดสินในสนามเลือกตั้ง


หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคเพื่อไทยจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อ

หลังจากอภิปรายไม่ไว้วางใจ ข้อกล่าวหาที่กล่าวหานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี มีทั้งทุจริตโดยมิชอบ กระทำผิดต่อกฎหมาย ปล่อยปละละเลย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม บางข้อหาคือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบบประชาธิปไตย ในนามพรรคร่วมฝ่ายค้านจะส่งเรื่องเข้าหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้อง ถ้าพรรคการเมืองไหนทำเรื่องใดเป็นหลักก็จะให้เป็นเจ้าภาพทำคำร้องเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะและมาดูร่วมกัน โดยชั้นนี้พุ่งเป้าไปที่รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายก่อน เป็นการทำต่อเนื่องเพื่อจะบอกกับพี่น้องประชาชนว่าเราไม่ได้ละทิ้ง จะทำให้ครบกระบวนการ และหลังจากนี้จะมีการขยายขยี้ประเด็นต่างๆ ไปบอกกล่าวกับพี่น้องประชาชนฟัง เพื่อขอความเห็น ขอมติต่างๆ ต่อไป

อย่างภาพสลิปแจกกล้วยพรรคเล็ก ฝ่ายกฎหมายเราได้ยกร่างคำร้อง เตรียมดำเนินการในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เพราะมีการใช้อำนาจมาครอบงำ ชี้นำ ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดในระบอบประชาธิปไตย ในระบอบที่มีการแบ่งแยกอำนาจกันระหว่างอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งต้องตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน


ในสนามการเลือกตั้งครั้งถัดไป เพื่อไทยมองมองว่าระบอบประยุทธจะอยู่ต่อได้หรือไม่

ผมเชื่อว่าไปต่อไม่ได้ เขาไปต่อได้ลำบากมาก จุดสำคัญคือผลงานการทำหน้าที่ ประชาชนรู้เห็นและประสบความยากลำบากด้วยตนเอง ประชาชนอยากออกจากวิกฤตเป็นเหตุผลสำคัญที่จะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เรื่องที่สอง เงื่อนไขของการไปต่อ 3 ป. ต้องแพ็กกันแน่น มีองคาพยพและฐานการเมืองสนับสนุนเหมือนเดิม ผมมองว่าในขณะนี้ยังเหนียวแน่น เพราะต่างฝ่ายต่างยึดโยงด้วยผลประโยชน์ด้วยกัน แต่หลังจากเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ความเหนียวแน่นจะคลายทันที กลายเป็นภาวะที่ต้องเอาตัวรอดในสนามเลือกตั้ง ผมว่าถ้าพรรคไหนชูประยุทธ์น่าจะเป็นพรรคที่ได้เสียงน้อยที่สุด เผลอๆ ไม่มีสิทธิ์ส่งชื่อ (ประยุทธ์) เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน ส.ส.ในสภาร้อยละ 5 คิดเป็น 25 เสียงไม่ง่ายนะครับ


23 ส.ค. นี้จะเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร

เราเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านมาตั้งแต่ต้น เพื่อเฝ้าดูและเตรียมการให้ศาลตีความ มีแนวทางปฏิบัติร่วมกันคือยื่นในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ต้องตัดสินใจเวลาไหนที่เหมาะสมที่สุด

เงื่อนไขที่หนึ่ง เมื่อเกิดเหตุแล้วก็คือหลังวันที่ 23 ส.ค. เราจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 เพราะหากไม่มีเหตุ ศาลอาจจะไม่รับ เนื่องจากยังไม่ครบกฎเกณฑ์

เงื่อนไขที่สอง กรณีมีหน่วยงานอื่นไปยื่นก่อนหน้าวันที่ 23-24 ส.ค. อาจจะต้องมีเหตุยื่นคำรองประกบไปเลย เพราะข้อกล่าวหาของเราย่อมแตกต่างจากคำร้องคนอื่นที่ยื่นแน่นอน ถ้าปล่อยให้เขายื่น ศาลรัฐธรรมนูญรับไปวินิจฉัย และออกมาเป็นคุณกับผู้ถูกร้อง เราจะเสียโอกาส

และเงื่อนไขที่สาม อาจจะยื่นก่อน 23 ส.ค. เพราะระยะเวลากระบวนการการยื่น ศาลน่าจะไปวินิจฉัยหลังวันที่ 23 ส.ค. อันนี้ก็เป็นเหตุและผลที่เราเตรียมการไว้ทั้งหมด และจะปรึกษาหารือกัน ซึ่งเงื่อนไขที่สองยื่นก่อนสัก 1-2 อาทิตย์มีโอกาสเป็นไปได้สูงครับ


หากประเมินการเมืองหลังจากนี้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยยังคาดหวังเรื่องแลนด์สไลด์อยู่ไหม

แลนด์สไลด์เป็นเป้าหมายของเพื่อไทย เรากำหนดยุทธศาสตร์เอาไว้ชัดเจนเพื่อตอบโจทย์ในการได้มาซึ่งอำนาจจากพี่น้องประชาชน ถ้ามีเงื่อนไขกติกา ปัจจัยอะไรเข้ามาเปลี่ยนแปลง เราก็จะปรับแก้ให้สอดรับกับหนทางเข้าสู่เป้าหมายเราให้ได้ครับ เพราะถ้าเราไม่ได้เสียงมากพอ เหตุการณ์ปี 2562 จะปรากฏขึ้น แต่ถ้าได้ตามเป้าหมายผมก็เชื่อว่า (ส.ว.) 250 เสียงไม่กล้าหรอกครับ เพราะกลไกของการบริหารราชการแผ่นดินใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก


หลายคนวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ปรับสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยใช้หาร 500 แทนการหารด้วย 100 เป็นเพราะกลัวเพื่อไทยแลนด์สไลด์ อันนี้มีข้อเท็จจริงประการใด

หลังจากเราประกาศแลนด์สไลด์ กระแสตอบรับความนิยมมีมากขึ้นจากโพลต่างๆ อาจจะเป็นจุดกระตุ้นที่ทำให้เอาเรื่องแลนด์สไลด์มาเป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่ปัจจัยหลัก ถ้าเป็นเพราะแลนด์สไลด์ เขาน่าจะมีแผนการเปลี่ยนแปลงอื่น ไม่เป็นไปในลักษณะฉุกละหุกชั่วข้ามคืนอย่างที่เราทราบกัน


พรรคเพื่อไทยมองการปรับเปลี่ยนสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างไร

เพื่อไทยเองก็ยึดตามระบบที่รัฐธรรมนูญแก้มา จากการเลือกตั้งปี 2562 ระบบจัดสรรปันส่วนผสมเปลี่ยนมาเป็นระบบคู่ขนานเสียงข้างมาก ระบบบัตร 2 ใบ บัญชีรายชื่อกับเขตแยกกัน ถ้ารัฐธรรมนูญแก้เป็น 500 บัตร 2 ใบ เพื่อไทยก็ต้องยอมรับ สู้ตามระบบ แต่รัฐธรรมนูญแก้มาเป็น (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) 100 กับ (ส.ส. แบบแบ่งเขต) 400 มาพลิกเกมแบบนี้เราเองก็ต่อสู้กับมาตราที่เหลืออยู่อย่างถึงที่สุดครับ

ความก้าวหน้าตอนนี้คือกฎหมายถูกพิจารณาไปถึงมาตรา 24 จากทั้งหมด 31 มาตรา โดยท้ายสุด ท่านประธานกรรมาธิการก็ต้องขอถอนร่างออกไปปรับปรุงมาตราที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดรับกับมาตรา 23 ที่แก้เรื่องหาร 500 เพราะมาตราหลังๆ ก่อนหน้านี้มันเขียนรองรับหาร 100 ก่อนที่จะนำมาสู่สภาในวันที่ 2 ส.ค.


เพื่อไทยมองเห็นโอกาสที่จะมีการปรับสูตรคำนวณฟื้นคืนหาร 100 อีกไหม อย่างไร

ถ้าดูตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับที่เขียนไว้ในการทำหน้าที่ของสภา หากจบวาระ 3 ไม่พลิกแน่ เว้นแต่มีความเห็นอย่างชัดแจ้งว่าจะล้มกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ คือโหวตไม่ให้ผ่าน

ถ้าคว่ำไปมี 2 ทาง หนึ่ง กกต. ยกร่างและเสนอโดย ครม. นายกรัฐมนตรีต้องร่างมาใหม่ ซึ่งการยกร่างมาใหม่อาจจะเอาหาร 100 กลับมาก็ได้ แต่มันก็เป็นที่น่าตลกนะ ถ้า ครม.จะมาคว่ำกฎหมายตัวเอง ซึ่งตอนนี้ก็คว่ำกฎหมายที่ตัวเองเสนอไปแล้ว 1 มาตรา คือเดิมเสนอมาหาร 100

สอง มาตรา 132 เขียนไว้ว่าการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ถ้าถึง 15 ส.ค. ยังไม่โหวตวาระ 3 รัฐธรรมนูญบังคับเลยว่าให้คุณนำร่างหลักที่เสนอเข้ามาไปประกาศบังคับใช้


หากร่างโหวตลงมติวาระ 3 เรียบร้อยแล้วจะยังมีช่องทางอื่นไหมในการกลับมาใช้สูตรหาร 100

รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าเมื่อโหวตลงมติวาระ 3 แล้วต้องไปดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำสู่ปฏิบัติได้หรือไม่ มีบทบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยให้ประธานรัฐสภาส่งร่างที่ผ่านวาระ 3 ไปที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องอันหมายถึง กกต. และเมื่อส่งไปแล้ว หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องให้ความเห็นภายใน 10 วัน และส่งข้อทักท้วงกลับมาที่สภาภายใน 10 วัน

หลายความเห็นบอกว่าส่งร่างเฉพาะ กกต. เท่านั้น แต่หลายคนก็มองว่าต้องส่งทั้ง 3 องค์กรนะ เพราะว่าหน้าที่ของ กกต. ไม่มีหน้าที่วินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

การส่งไปครั้งนี้เป็นการให้ความเห็นเท่านั้น ไม่ใช่การวินิจฉัย ถ้าเห็นว่ามาตราใดที่แก้ไขไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ทักท้วงมา เช่น กกต.บอกว่าต้องแก้ไข กกต.นำสู่ปฏิบัติไม่ได้ก็จะส่งไปที่สภา สภาก็นำเข้าสู่การประชุม พิจารณาแก้ไขตามที่มีข้อทักท้วงตามสมควรภายใน 30 วัน แก้ไขเสร็จก็นำทูลเกล้าฯ

ทีนี้มีประเด็นข้อถกเถียงที่ผมลุกขึ้นหารือประธานรัฐสภาว่าจะส่งทั้ง 3 องค์กรหรือเลือกส่งบางองค์กร โดยสรุปท่านประธานก็ไม่ตอบผม ท่านเพียงแต่บอกว่ามันมีบทบัญญัติของกฎหมายเขาบังคับกำหนดไว้อยู่แล้ว ผมถาม เพราะจะได้เตรียมการ เช่น ถ้าท่านประธานไม่ส่งศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญ เราจะได้เตรียมคำร้อง แต่ถ้าสมมติประธานรัฐสภาส่งไปแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเตรียมคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ เรารอฟังความเห็นของศาล


จากสถานการณ์ที่ผ่านมา มีโอกาสพลิกกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือไม่ อย่างไร

บ้านนี้เมืองนี้อะไรก็ทำได้หมด ถ้าเขามีอำนาจ มีเสียงข้างมากทำได้หมด แต่ชอบธรรมหรือไม่ ประชาชนยอมรับได้หรือไม่ และจะเกิดปัญหาหรือไม่ อันนี้ก็ต้องติดตามดู วิธีการทำง่ายครับ คว่ำวาระ 3 อ้างเหตุว่าไม่มีกฎหมายลูก ไม่สามารถยกร่างกฎหมายลูกได้ เนื่องจากว่าความไม่สมบูรณ์ ความไม่ครอบคลุม มีประเด็นปัญหาต่างๆ และเสนอแก้รัฐธรรมนูญใหม่ด้วยเสียงข้างมาก


หากเป็นเช่นนั้นจริง พรรคเพื่อไทยจะยังกลับไปใช้ยุทธการแตกแบงก์พันไหม

เพื่อไทยย่อมหาช่องทางในการต่อสู้ที่ชอบด้วยกฎหมายในกติกาที่ออกมา เพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแตกแบงก์พันนะครับ เรามีประสบการณ์มาในการเลือกตั้งปี 2562 การกลับไปใช้บัตรใบเดียวก็ต้องไปดูรายละเอียดอีกทีว่ามันมีเงื่อนไขอะไรหรือเปล่า สู้ด้วยพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวมีโอกาสมากกว่าไหมก็ต้องไปวิเคราะห์ตรงนั้น เราไม่อยากทำการเมืองวิปริตหรอกครับ


ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงค่อนข้างสูงในสนามการเลือกตั้ง

ถ้ามองการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ผมคิดว่าปรากฏการณ์เลือกตั้งปี 2544 เราได้ 248 เสียง ทำให้เราสามารถนำนโยบายที่ประกาศกับประชาชนมาพิสูจน์และตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้เป็นส่วนใหญ่ คำว่า ‘ประชาธิปไตยกินได้’ เป็นเรื่องที่ฝังใจพี่น้องประชาชนมากในระบบการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตย

ปัจจัยที่สอง ผมเชื่อว่าพอพรรคเราเข้ามา พี่น้องประชาชนมีความหวัง แต่เราถูกทำลาย ถูกยุบพรรค ทำให้พี่น้องประชาชนเขาเห็นว่าต้องปกป้อง ต้องช่วยกันรักษา ก็เลยแปรเปลี่ยนเป็นคะแนน โดยเฉพาะเลือกตั้งปี 2554 ยิ่งถล่มทลาย

ปัจจัยที่สามก็คือความเชื่อมั่นในบุคลากรของพรรค ตั้งแต่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีมา บุคลากรของพรรคที่เราทำงานอยู่ และคนของเราที่อยู่ในพื้นที่ เครือข่ายที่เราวางไว้มันตอบโจทย์กับชาวบ้าน พูดง่ายๆ เราเป็นผู้แทนที่พี่น้องประชาชนเห็นว่าเป็นผู้แทนจริง


ที่ผ่านมาเพื่อไทยได้ชู ‘ครอบครัวเพื่อไทย‘ ครอบครัวเพื่อไทยคืออะไร 

เราเพิ่มกลไกการเมืองที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นองค์กรใช้คำว่า ‘ครอบครัวเพื่อไทย’ ขณะนี้เราได้รับความกรุณาจากคุณอุ๋งอิ๋ง-แพรทองธาร ชินวัตร มาเป็นหัวหน้าครอบครัว และมีสมาชิกครอบครัวเพื่อไทย ลักษณะการทำหน้าที่ของครอบครัวเพื่อไทยจะทำงานคู่ขนานกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยครับ เหมือนเท้าซ้าย เท้าขวาที่ก้าวย่างไปด้วยกัน เพื่อสร้างความนิยม สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยอาศัยนวัตกรรมและก็เทคโนโลยี ครอบครัวเพื่อไทยก็เป็นมิติหนึ่งของการสร้างเครือข่ายผู้สนับสนุน


ในสนามการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนจะได้เห็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่านโยบายของพรรคไทยรักไทยครั้งอดีตหรือไม่

ต้องยอมรับว่าพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่คิดใหม่ ทำใหม่ ฉีกแนวจากพรรคการเมืองเดิมๆ ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส’ เป็นตัวนโยบายที่คนโดนใจ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ก็เลยมีคำศัพท์ ‘ประชาธิปไตยกินได้’

นโยบายเพื่อไทยจะว้าวมันต้องกลบไทยรักไทยให้ได้ ผมเลยบอกว่าถ้าประกาศนโยบายในการเลือกตั้งจะว้าว เพราะเรามีสารตั้งต้นจากนโยบายไทยรักไทย เรารักษานโยบายดีๆ ไว้เติมเต็มต่อยอด และมีนโยบายใหม่ที่สอดรับกับยุคดิจิทัล เราใช้คำว่า ‘ครอบครัวเพื่อไทย’ เพราะนโยบายเราจะมุ่งเน้นไปที่ครอบครัวที่จะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส แต่จะทำยังไงยังอุบไว้ไม่บอก


พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเป็นคู่แข่งหรือพันธมิตรทางการเมือง

ขณะนี้เราเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยตรงกัน ไม่สนับสนุนเผด็จการชัดเจน แต่การแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าเพื่อไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เสรีรวมไทยล้วนเป็นคู่แข่งทางการเมือง

กระแสนิยมระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทยส่วนหนึ่งอาจจะมีพื้นที่ทับซ้อนของกลุ่ม voter เป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลอาจจะเป็นลักษณะขององค์กร เพื่อไทยเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาก่อน มีการสั่งสมมารุ่นต่อรุ่น มีประสบการณ์ มีบุคลากรที่แตกต่างหลากหลายมาก แตกต่างจากก้าวไกลที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิธีคิด กระบวนการการทำงานอาจจะแตกต่างกัน เราไม่ได้ถือว่าเป็นศัตรู แต่ตอบชัดๆ คือเป็นคู่แข่งทางการเมือง เพื่อเสนอตัวเองให้เป็นทางเลือกกับพี่น้องประชาชน ก็ขึ้นกับพี่น้องประชาชนจะตัดสินเลือกใครให้มาทำหน้าที่

การแข่งขันทางการเมืองเป็นการสร้างศรัทธาให้กับประชาชน สร้างการยอมรับ เราแข่งกันด้วยนโยบาย แข่งกันเรื่องการทำงาน แข่งกันเป็นผู้แทนของพี่น้องประชาชน อันนี้ชอบธรรมครับ


มีโอกาสไหมที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผมคิดว่าทำงานด้วยกันได้ ถ้าหาจุดร่วม เอาจุดเด่นแต่ละจุดมาเสริมกัน เอาจุดต่างมาเป็นจุดของการสร้างสรรค์และพัฒนาหาจุดร่วมให้ได้ ผมเชื่อว่าทำงานได้


มองอีกด้าน โอกาสพรรคเพื่อไทยจะจับมือพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลร่วมเป็นไปได้แค่ไหน

หลักเกณฑ์ของการที่จะร่วมมือกันทำงาน หนึ่ง อุดมการณ์ต้องตรงกัน ส่งเสริมประชาธิปไตยเหมือนกัน สอง ชัดเจนว่าต้องไม่สนับสนุนเผด็จการ สาม การร่วมงานกับเราสำคัญที่สุดคือนโยบายต่างๆ ไปด้วยกันได้ และให้ความสำคัญกับความสุขของพี่น้องประชาชน

ถ้าพลังประชารัฐรับหลักการได้ ก็ไม่มีข้อกีดขวางใดๆ แม้ว่าประวัติของเขาจะเคยเป็นแบบนั้น แต่เมื่อคุณได้รับมอบจากประชาชนมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วอนาคตคุณตั้งใจจะทำเพื่อพี่น้องประชาชนในแนวทางที่เราเสนอ มันก็เป็นข้อพิจารณา ส่วนจะไปด้วยกันได้หรือไม่ก็อยู่ที่เงื่อนไขและข้อตกลง แต่ภาพของเขาสลัดภาพสนับสนุนเผด็จการยากครับ


ผู้ว่าฯ ชัชชาติมีโอกาสแค่ไหนในการกลับมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

ขณะนี้ผู้ว่าฯ ชัชชาติก็ยังมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยอยู่ครับ ประธานาธิบดีวีโดโดของอินโดนีเซีย เขาครองตำแหน่งผู้ว่าการรัฐมา 2 ปี ยังไม่ครบกำหนดก็ลาออกมาเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดี เพราะประชาชนเรียกร้องเขา เกิดประชาชนคนกรุงเทพฯ สนับสนุนท่านผู้ว่าฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา  ส่วนเงื่อนไขจะเป็นอย่างไรก็ไปดูรายละเอียด เพื่อไทยไม่ปิดกั้น ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชน แต่เราไม่จีบเพราะเดี๋ยวเราไปหักหาญน้ำใจพี่น้องชาว กทม. ต้องให้คน กทม. เขาบอกกันเอง


พรรคเพื่อไทยได้วางใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีบ้าง

ประเด็นนี้ผมขออนุญาตไม่ตอบ เพราะมันยังตอบไม่ได้ แต่พรรคเพื่อไทยมีหลักเกณฑ์เรื่องแคนดิเดตนายกชัดเจนว่าเราจะเสนอ 3 ชื่อ และน่าจะประกาศใกล้กับช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save