fbpx

มองการเมืองไทยหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับ ชลน่าน ศรีแก้ว

ศึกที่กำลังรายล้อมรัฐบาลตอนนี้สะท้อนออกมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ควบคู่ไปกับการเมืองบนท้องถนนที่แสดงเจตจำนงให้ประยุทธ์และคณะลาออก

ศึกนอกน่าหวั่นเกรงแล้ว แต่ที่หนักหนากว่าคือศึกภายในพรรคที่ส่งสัญญาณเตือนสะเทือนเอกภาพ

โจทย์ที่ใหญ่กว่าคือการแก้มหาวิกฤตจากโรคระบาดที่ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า โจทย์ที่สำคัญกว่าคือการรักษาชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน โจทย์การเมืองไทยจะเดินไปอย่างไร ผลของศึกอภิปรายฯ สะท้อนถึงอะไร และหมากต่อไปของฝ่ายค้านเป็นแบบไหน

101 ชวน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย มองการเมืองไทยหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เปิดเผยหลากปมปัญหาอันนำพาสังคมไทยมาสู่จุดวิกฤตในปัจจุบัน

:: เมื่อหลักฐานหนักแน่นพ่ายแพ้ต่อเสียงข้างมาก ::

ภาพที่เกิดขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจทำลายคุณค่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เพราะต่อให้มีหลักฐานข้อมูลที่ดีอย่างไร สุดท้ายการลงคะแนนก็เป็นลักษณะเสียงข้างมาก คือไม่ฟังหลักฐานและเสียงจากประชาชน เลยกลายเป็นระบอบตรวจสอบถ่วงดุลที่แทบจะไม่มีความหมาย

ผลที่เกิดขึ้นคือเราได้เสียงไม่ไว้วางใจไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ตามญัตติการการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ต้องมีเสียงถึง 242 เสียง จึงจะทำให้ผู้ถูกอภิปรายฯ พ้นจากตำแหน่ง แต่ฝ่ายค้านมีแค่ 212 เสียง การจะหาเสียงมาเพิ่มให้ถึง 242เสียงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก อีกช่องทางหนึ่งที่เราหวังคือแม้ว่าคะแนนไม่ไว้วางใจจะไม่ถึงครึ่ง แต่ถ้าคะแนนไว้วางใจก็ไม่ถึงครึ่งด้วย เช่น ส.ส.รัฐบาล มี 270 เสียง ถ้าเสียงที่จะไม่ให้ความเห็นใดๆ มีแค่ 30-40 เสียง คะแนนไว้วางใจพลเอกประยุทธ์หรืออนุทินก็อาจไม่ถึง 242 เสียง

ถึงแม้ว่าเขายังจะไม่พ้นจากตำแหน่ง แต่ช่องทางนี้ก็จะทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามว่า คุณจะมีความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างไร เพราะหากเสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แล้วคุณจะมีความมั่นใจในการทำหน้าที่ต่อได้อย่างไร เราหวังช่องทางนี้ว่าจะเป็นส่วนที่ทำให้นายกฯ ตัดสินใจยุบสภาและลาออกไป

แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น เป็นความหวังที่ค่อนข้างยาก ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้ เราแทบจะไม่มีอำนาจอะไรเลย เกิดคำถามว่า เราอาจจะควรมีกลไกอะไรมารองรับหรือเปล่า เช่น กลไกระบบลูกขุนรัฐสภา เป็นต้น

:: การเมืองเรื่องแจกกล้วย ::

ในเรื่องของพฤติกรรมจากฝ่ายรัฐบาลในช่วงการอภิปรายฯ อย่างแรกเลย ผมไม่ค่อยได้ขึ้นไปชั้นสาม เพราะเป็นห้องรับรองของทางกลุ่มรัฐบาล แต่ตามที่สื่อนำเสนอก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ สื่อบอกว่ามันเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริง ส่วนจะเป็น 2 ล้าน 4 ล้าน หรือ 5 ล้าน อันนี้ก็ยังเจาะลึกไม่ได้ เพราะไม่มีใครกล้าบอก

ประเด็นนี้เป็นที่น่าสงสัย คุณวิสาร เตชะธีราวัฒน์ พูดไว้ในสภาว่า ถ้าไม่มีกลไกมาจัดการ แล้วผลการอภิปรายฯ วันที่ 4 กันยายนจะเกิดขึ้นไหม ภาพแบบนี้เป็นภาพที่เลวร้ายมากของระบบการเมืองไทยและยิ่งทำให้ระบบการตรวจสอบหรือระบบการเป็นผู้แทนราษฎรมีความเสื่อม ถ้าพวกเรายังเพิกเฉยและละเลยต่อไปอาจจะลำบาก ประชาธิปไตยอาจกลายเป็นแค่วาทกรรมหรือพิธีกรรม แต่กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ ใช้ไม่ได้เลย

ส่วนเรื่องความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่สื่อวิเคราะห์ว่าเหมือนมีช้างชนกัน แต่สุดท้ายก็หันหน้าเข้าหากันและลงคะแนนร่วมกันไปอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ต่อจากนี้คือ พลเอกประยุทธ์อาจจะยอมเข้ามาพบเจอ ส.ส. มากขึ้น นายกฯ อาจต้องให้ความสำคัญกับ ส.ส. มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงที่ใกล้เลือกตั้งนายกฯ จะต้องทำให้เขาอยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำแผนงานหรือโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่างๆ ให้เขาอยู่ในพื้นที่ได้ นายกฯ คงไปรับปากว่าจะต้องดูแล ส.ส. ซีกรัฐบาลทั้งระบบเพื่อสร้างฐานการเมืองในพื้นที่ให้เข้มแข็งและเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง  

:: สภากับงูเห่า ::

ผลกระทบหลังการอภิปรายฯ คือความไม่ไว้ใจกันมากขึ้นกว่าเดิม พรรคร่วมฝ่ายค้านเองก็ดำเนินการสอบวินัยของสมาชิกพรรคที่แหกมติ กรรมการสอบวินัยของพรรคเพื่อไทยก็มีการประชุมเรื่องการสอบวินัย ส.ส. ที่ไม่ลงคะแนนเสียงตามมติพรรค โดยโทษหนักสุดคือขับออกจากพรรค

ส่วนเรื่องที่ว่าการขับเขาออกจะเป็นการเติมเสียงให้รัฐบาลและลดเสียงฝ่ายค้าน สำหรับประเด็นนี้ เราไม่ได้สนใจว่าเขาจะเป็นตัวเติมเสียงให้รัฐบาลหรือไม่ เพราะต่อให้เขาอยู่กับเรา เขาก็เติมเสียงให้ฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว แต่มันอาจจะส่งผลต่อการคำนวณสัดส่วนของจำนวน ส.ส. ฝ่ายค้านทั้งหมดในการลงคะแนนเสียง คือถ้ายังอยู่ก็มีประโยชน์ในการเพิ่มน้ำหนักให้จำนวนสัดส่วนฝ่ายค้านครบ 212 เสียง

:: เส้นบางๆ ระหว่างความขัดแย้งกับความเห็นต่าง ::

ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคฝ่ายค้านเป็นมิติผูกพันในแง่ของการทำงานที่มีเป้าหมายร่วมกัน เช่น เรามีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ แต่บางทีเราอาจมีทางเดินในการบรรลุเป้าหมายที่แตกต่างกัน สิ่งที่เกิดขึ้นหลายคนอาจมองว่าเป็นข้อขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่จริงๆ เป็นความเห็นหรือวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน เลยทำให้การนำเสนอออกมาแตกต่างกัน

สิ่งที่ทำให้เป็นประเด็นขึ้นมา ไม่ได้เกิดจากความเห็นต่างในการทำงาน แต่เกิดจากการขยายหรือเอามาขยี้ในสื่อสังคมออนไลน์ สำหรับผมมองว่าเรื่องนี้เป็นมิติใหม่ ถ้าเราสามารถเอาความเห็นต่างมาถกเถียงกันในที่สาธารณะ แล้วจบลงอย่างมีเหตุผลได้ มันจะเป็นความสวยงาม

เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกพรรคการเมืองต่างต้องการเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชน ถึงแม้จะทำงานร่วมกัน แต่ก็กลายเป็นคู่แข่งกันเวลาลงสนามเลือกตั้ง คนส่วนมากจะมองว่าพรรคฝ่ายค้านกระทบกันเอง แต่สุดท้ายแล้วเราก็สามารถอธิบายต่อสาธารณะได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในข้อเท็จจริงแล้ว ตรงนี้ไม่ได้มีผลต่อความขัดแย้ง เป็นมิติในแง่วิธีการทำงานที่ต่างกันมากกว่า

:: เดดล็อกแก้รัฐธรรมนูญ ::

สิ่งที่ประชาชนสนใจมากที่สุดหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการแก้รัฐธรรมนูญจะผ่านไหม มีการวิเคราะห์ไปในหลากหลายแนวทาง บางคนก็วิเคราะห์ว่าวันนี้อาจจะผ่าน แต่ก็ไม่แน่ว่าคืนวันที่ 9 กันยายน 2564 อาจมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้ เพราะผู้มีอำนาจในการตัดสินใจไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานของมิติทางการเมืองที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เขาอาจตัดสินใจด้วยความกลัว เช่น การกลัวผีคนแดนไกล และใส่ร้ายป้ายสีว่าหากนำระบบนี้มาใช้จะกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา เอื้อประโยชน์ให้กับคนแดนไกล ถ้าเกิดอย่างนี้ขึ้น เขาอาจจะสั่งให้ล้มผลในคืนวันที่ 9 กันยายนก็เป็นไปได้

สิ่งที่ผมพยายามมองและประมวลรวมมา โดยเฉพาะการต่อรองครั้งสุดท้ายที่ทุกคนหันหน้าเข้าหากันนั้นทำให้เกิดสมมติฐานว่า เราทำเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง นายกฯ ลงมาหา ส.ส. ขณะที่ ส.ส. ก็เข้าหานายกฯ ได้ ทุกฝ่ายมาจับมือกันเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อพรรคเราจะได้เป็นเสียงข้างมากที่สุด ถ้าเขามีเป้าหมายอย่างนี้ ผมมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะผ่าน

เรื่องสำคัญที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในครั้งสุดท้ายจะนำทูลเกล้าฯ ไม่ได้ ถ้าเขาไม่ปรับแก้ในโอกาสที่ใกล้จะถึงนี้ ซึ่งผมดูแล้วว่าเขาไม่ปรับแก้ และถ้าถามว่าเพราะเหตุใดถึงนำทูลเกล้าฯ ไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านจากรัฐสภาไปเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สมบูรณ์ เพราะมีการเพิ่มเติมหลักการเข้าไป จากหลักการเดิมที่รับมาแค่ 2 หลักการ แต่เมื่อรัฐสภาพิจารณาและเห็นชอบในวาระที่ 3 ตามกรรมาธิการฯ ว่าสามารถเพิ่มเติมหลักการได้โดยอาศัยว่าเกี่ยวเนื่องกัน สิ่งที่ตลกคือเนื้อในมีหลักการเพิ่มขึ้นอีก 2 หลักการ กลายเป็นว่าหลักการในหน้าที่เขียนปะไว้มีแค่ 2 หลักการเดิม แต่เนื้อในกลับมีถึง 4 หลักการ และถ้าเราส่งร่างฯ อย่างนี้ไป ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติงานในเรื่องนี้จะไม่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ เรื่องนี้ผมเป็นห่วงมาก ผมทักท้วงไว้หมดและมีวิธีแก้ด้วย แต่เขาไม่รับ

กระบวนการตรากฎหมาย ถ้าคุณมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการ ต้องเขียนให้รัฐสภาเห็นชอบที่จะเติมหลักการเข้าไปใหม่ได้ ฉะนั้นวิธีแก้ง่ายๆ คือการเขียนไว้ในข้อสังเกตแนบท้ายในรายงานที่เสนอไปในวาระที่ 2 เพราะในวาระ 3 เราอภิปรายไม่ได้เลย ทำได้แค่เห็นชอบกับข้อสังเกตและลงมติ

ฉะนั้นในวาระ 3 ถ้าเราไม่มีข้อสังเกตแนบในรายงานวาระ 2 คุณก็ไปลงคะแนนให้ข้อสังเกตแนบท้ายที่บอกว่าให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการ มีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมหลักการเนื่องจากว่ามีความสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกัน แผ่นนี้สำคัญมาก ถ้ารัฐสภาเห็นชอบกับข้อสังเกตแนบท้าย ข้อสังเกตนั้นจะถูกปะหน้าร่างฯ และส่งให้เลขาฯ ครม. เพื่อไปปรับแก้หลักการและนำขึ้นทูลเกล้า แต่ตอนนี้เขาไม่ได้ทำ ผมรอลุ้นวันที่ 10 กันยายนนี้ว่าเขาจะพูดถึงข้อสังเกตไหม เพราะตอนนี้ความเร่งรีบและไม่รอบคอบของเขากำลังจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหา

ผมเคยพูดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ในชั้นกรรมาธิการแล้ว แต่ทางเสียงข้างมากจะใส่ใจแก้ไขตรงนี้หรือไม่ ผมสุดจะคาดเดา ผมเองก็พยายามไปช่วยทุกอย่างเพราะคิดว่าเมื่อลงแรงลงมือทำกันแล้วก็น่าจะช่วยให้มันผ่าน ไม่ควรมาตายน้ำตื้น เพราะถ้าสมมตินำทูลเกล้าฯ ไม่ได้และถูกนำกลับมาที่รัฐสภา ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะมันจบไปแล้ว สิ่งที่ทำได้คือต้องเริ่มยื่นแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด

::  เพื่อไทยหรือเพื่อใคร? ::

ตอนนี้เพื่อไทยยังเป็นแค่องค์กรทางการเมืองที่มีเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นสถาบันการเมืองให้ได้ เพราะการจะเป็นสถาบันทางการเมืองได้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ต้องมาเป็นเจ้าของร่วมกับเราด้วย เขาสามารถไปบอกกล่าวกับคนอื่นได้ว่านี่คือบ้านของเราที่จะเอาไปช่วยขับเคลื่อนบ้านเมืองและเป็นที่ยอมรับของฝ่ายอื่นๆ

ขณะนี้เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ความพยายามของเราก็ก้าวย่างมาเรื่อยๆ ด้วยข้อจำกัดเรื่องโอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ลดลงตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ต้องยอมรับว่าทุกพรรคการเมืองได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้หมดเลย และปัญหาใหญ่คือถ้าคุณไม่สามารถควบคุมสมาชิกพรรคการเมืองให้ทำตามกฎหมายได้ เช่น ช่วงที่มีการเลือกตั้ง มีความสุ่มเสี่ยงมากที่จะถูกทำลายถึงขั้นทำให้ถูกยุบพรรค

ดังนั้น การรับสมาชิกต้องกลั่นกรองอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดบกพร่อง ตรงนี้ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการก้าวไปเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ

ส่วนเรื่อง ‘โทนี วูดซัม’ จริงๆ ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ถ้ามีพี่โทนีเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อไหร่ พรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นสถาบัน เพราะจะถูกกฎหมายหรือถูกรัฐธรรมนูญเล่นงาน อาจทำให้ถูกฟ้องถึงขั้นยุบพรรคได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญได้ห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองเข้ามาชี้นำหรือครอบงำกิจกรรมภายในพรรค

จะเห็นได้ว่าเวลาพี่โทนีมาพูดในคลับเฮาส์จะไม่เคยพูดถึงพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ ทั้งหมดเป็นการแสดงความเห็นในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น ความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคเพื่อไทยไม่เกี่ยวข้องกับพี่โทนี แต่เกี่ยวข้องกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save