fbpx
สู่โลกที่ดีกว่าเดิมในปี 2030 ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กับ ชล บุนนาค

สู่โลกที่ดีกว่าเดิมในปี 2030 ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กับ ชล บุนนาค

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

 

 

ในปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาความยากจนและความหิวโหย หรือจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ทำให้มีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่จะหามาตรการหรือตั้งเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน เพื่อบรรเทาเบาบางปัญหาดังกล่าว

หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทในเรื่องนี้มาโดยตลอดคือ องค์การสหประชาชาติ (UN) ถ้าเรามองย้อนกลับไปในปี 2015 เรามีเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals; MDGs) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากทั่วโลกในการต่อสู้กับปัญหาท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ เป้าหมาย MDGs ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ 15 ปี คือตั้งแต่ปี 2000-2015 เท่ากับว่าตอนนี้ โลกได้บรรลุเป้าหมาย MDGs แล้ว

ต่อมาในปี 2015 UN ได้เสนอวาระการพัฒนา 2030 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งหมด 17 เป้าหมาย และมุ่งบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 เป้าหมายดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากประเทศสมาชิก และมีทั้งหมด 193 ประเทศร่วมลงนามรับรอง รวมถึงไทยด้วย

101 สนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการโครงการ SDG Move และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไล่เรียงตั้งแต่การทำความรู้จัก SDGs สถานการณ์โควิด-19 กับการขับเคลื่อน SDGs รวมไปถึงการวิเคราะห์ทิศทางสหรัฐฯ ในยุค โจ ไบเดน และย้อนมองการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 One-On-One Ep.203 : สู่โลกที่ดีกว่าเดิมในปี 2030 ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับ ชล บุนนาค (บันทึกเทปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2020)

 

SDGs เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภาพจากโครงการ SDG Move

 

รู้จักกับ SDGs

 

ถ้าพูดให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คืออะไร

เวลาเราพูดถึง SDGs หลายคนมักจะนึกถึงตารางที่มี 17 เป้าหมาย แต่จริงๆ SDGs เป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN) เสนอขึ้นมาในช่วงปี 2015 และทุกประเทศ รวมถึงไทย ได้ให้การรับรองและให้คำมั่นว่าจะร่วมบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี 2030

ถ้าพูดให้ชัดเจน SDGs เป็นเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงวิธีคิดการพัฒนาในระดับรากฐาน คือเวลาคนคิดเรื่องการพัฒนาก็มักจะนึกถึงเรื่องเศรษฐกิจ แต่ SDGs ต้องการให้ทุกประเทศพิจารณาเรื่องการพัฒนาอย่างสมดุล คือต้องการให้ชีวิตคนมีความมั่นคง โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยและคนเปราะบาง ให้สังคมมีความมั่งคั่ง ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่อาจจะรวมถึงวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ในสังคม ทรัพยากร มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ และให้โลกมีความยั่งยืนเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร เกิดสันติภาพและมีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล เคารพสิทธิมนุษยชน และทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย

 

เป้าหมายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ตอนที่เกิด SDGs ขึ้น โลกอยู่ในบริบทแบบไหน

ที่มาของ SDGs ต่อมาจากเป้าหมายการพัฒนาชุดก่อนหน้านี้ คือ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ UN คิดขึ้นและให้ประเทศกำลังพัฒนาดำเนินการ เลยมีหลายคนบอกว่า เหมือนมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาถกเถียงกันที่ใต้ถุน UN แล้วออกมาเป็น MDGs

แต่พอสิ้นสุดปี 2015 ปรากฏว่าประเทศที่นำ MDGs ไปดำเนินการตั้งแต่ปี 2001-2015 หลายประเทศก็ทำได้ดีนะ อย่างประเทศไทยก็บรรลุหลายข้อและเลยจากความเป็นประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว แต่ก็ยังมีความท้าทายหลายอย่างอยู่ เช่น ในระดับโลกยังมีความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ยังเป็นปัญหาอยู่ ตรงนี้เลยมีความคิดว่า เมื่อ MDGs หมดอายุลง เราจะไปอย่างไรต่อดี

ตอนนั้นโลกต้องเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็รุนแรงขึ้น และประเทศต่างๆ ก็ตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้นด้วย อันเนื่องมาจากวิกฤตยูโรโซนหรือวิกฤตสินเชื่อซับไพร์ม (subprime mortgage crisis) ทำให้โลกต้องหันกลับมามองว่า แนวทางการพัฒนาก่อนหน้านี้ยังใช้ได้อยู่ไหม หรือเราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ไปเลย

ดังนั้น ในการประชุมเมื่อปี 2012 ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล (Rio +20) เลยมีการเสนอเป้าหมายการพัฒนาหลังปี 2015 (Post-2015 Development Agenda) และเสนอให้ช่วงปี 2012-2015 มีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ตอนนั้นมีการประมาณว่า มีคนประมาณ 8.5 ล้านคนที่มีส่วนร่วมกับกระบวนการร่าง SDGs ขณะที่ในไทยก็มีกระบวนการนี้เช่นกัน คือสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทุนจาก UN มาจัดกระบวนการให้กับคนเล็กคนน้อย และจัดทำเอกสารที่ชื่อว่า ‘อนาคตที่เราอยากเห็น’ (Future We Want) และส่งเข้าไปเป็น input ในการเจรจาที่ UN

จะเห็นว่าในแง่หนึ่ง นี่คือกระบวนการมีส่วนร่วมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ UN เคยทำมา และทุกประเทศ ทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีโอกาสส่งเสียงไปในการเจรจา จนกระทั่งออกมาเป็น SDGs 17 ข้อ

 

ถ้าบอกว่า SDGs จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนา เราพูดให้เป็นรูปธรรมได้ไหมว่า บทบาทที่ว่าเป็นอย่างไร

ในภาพใหญ่ SDGs กลายเป็น global normative framework สำหรับการพัฒนา พูดให้ชัดคือกลายเป็นกรอบที่บอกว่าสิ่งนี้ควร-ไม่ควรทำในเชิงการพัฒนาของโลก เช่น พอมี SDGs เราก็บอกได้ชัดเจนขึ้นว่า เราควรพัฒนาอย่างครอบคลุมขึ้น มีกลไกทางสังคมที่ดูแลคนเล็กคนน้อย หรือถ้าพูดถึงประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจจะเคยบอกว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ SDGs มาบอกว่า เรื่องนี้เราต้องร่วมกันบรรลุนะ คล้ายจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานเชิงการพัฒนาขึ้นมา

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ SDGs เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองเรื่องตัวชี้วัด (indicator) ตรงนี้เป็นอะไรที่ประหลาดนะ เพราะอะไรที่มีตัวชี้วัด ภาครัฐจะกระตือรือร้นและแก้ไขปัญหานั้น แต่ถ้าไม่มีตัวชี้วัดก็อาจจะเฉยๆ ตรงนี้ในระดับโลกถือเป็นเรื่องซีเรียสมาก เพราะตอนมี MDGs เป้าหมายที่พูดเรื่องสุขภาพจะโฟกัสเฉพาะแค่โรคสำคัญ เช่น โรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคติดต่อสำคัญในช่วงนั้น แต่จะมีโรคเฉพาะกลุ่มที่เกิดในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่กลับไม่มีตัวชี้วัดใน MDGs เลยกลายเป็นทุกประเทศมุ่งจัดการแต่โรคที่มีตัวชี้วัด ส่วนโรคที่ไม่มีตัวชี้วัดก็ไม่มีใครสนใจ วงการแพทย์เลยเคลื่อนไหวและเรียกโรคกลุ่มนี้ว่าเป็นโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected Tropical Disease: NTD) จนกลายเป็นการผลักดันเรื่องนี้เข้าไปเป็นตัวชี้วัดใน SDGs

เพราะฉะนั้น ในภาพใหญ่ จะเห็นว่า SDGs ให้ความสำคัญและมีตัวชี้วัดกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมหลายเรื่องที่ไม่เคยมี เรียกได้ว่ามาเปลี่ยนน้ำหนักสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ แทนที่จะเป็นแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาด้วย ทำให้รัฐบาลที่ชอบตัวชี้วัดหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น

สุดท้ายที่อาจจะเป็นประเด็นสำคัญคือ SDGs เน้นบทบาทของการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน จริงๆ เรื่องนี้มีการพูดกันมานานแล้ว แต่ SDGs เน้นหนักมาก และไม่ได้เน้นแค่กับคนที่มีอันจะกินหรือมีศักยภาพอยู่แล้วมาแก้ปัญหาให้คนที่มีปัญหา แต่การมีส่วนร่วมใน SDGs มองไปถึงว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคน รวมถึงคนที่มีปัญหาหรือคนเปราะบาง เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เป็นแค่ผู้รับฟังหรือผู้รับประโยชน์

 

SDGs กับโควิด-19

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกับการขับเคลื่อน SDGs อย่างไร

โควิดมีผลมากครับ มีผลในหลายมิติด้วย ถ้าพูดในมิติด้านเนื้อหา (content) จะเห็นว่า SDGs มีเป้าหมายหลายข้อที่อยากจะให้โลกเกิดความยั่งยืน แต่การระบาดของโควิดได้ disrupt ความก้าวหน้าหลายอย่างมากๆ

ถ้าเราไปดูรายงาน Sustainable Development Goals Report 2020 ซึ่งเป็นรายงานของฝ่ายสถิติ UN จะทำให้เห็นชัดเจนเลยว่า เดิมทีมีความก้าวหน้าแบบนี้ พอโควิดเข้ามาแล้วน่าจะเกิดผลกระทบทางบวกหรือทางลบอย่างไร พูดได้เลยว่าทุกเป้าหมายมีผลกระทบทางลบทั้งสิ้น อย่างสถานการณ์คนจนที่ว่าไทยมีความก้าวหน้ามาตลอดในแง่การทำให้จำนวนคนจนลดลง พอโควิดระบาด เราก็คาดหมายได้เลยว่าคนจนย่อมเพิ่มขึ้นแน่นอน หรือเรื่องความหิวโหยกับความมั่นคงทางอาหารในหลายพื้นที่น่าจะแย่ลง เพราะโควิดทำให้โลจิสติกส์และการเข้าถึงตลาดแย่ลง อีกทั้งการที่คนมีรายได้น้อยลงก็ทำให้เข้าถึงอาหารได้น้อยลงด้วย เรื่องสุขภาพนี่กระทบแน่นอน ส่วนการเรียนทางไกลก็จะไปลดคุณภาพการศึกษา และคนยากจนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีก็จะเข้าถึงการศึกษาได้ยากด้วย

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ informal sector ภาคการท่องเที่ยว แน่นอนว่ากระทบทุกคน และการกักตัวจะกระทบกับเป้าหมายที่ 9 (ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและนวัตกรรม) เพราะการกักตัวหรือล็อกดาวน์ทำให้โครงการต่างๆ ต้องชะลอตัว ส่วนเรื่องเป้าหมายที่ 10 (ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ) ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งขยายตัวออกไป เพราะสุดท้าย คนที่ปรับตัวให้เข้ากับช่วงโควิดได้คือคนชนชั้นกลางขึ้นไป มีอันจะกิน เข้าถึงเทคโนโลยีและธรรมชาติของการทำงานออนไลน์ ทำงานที่บ้าน ส่วนคนเล็กน้อยคนน้อยก็เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี งานก็ต้องพบกันทางกายภาพ ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบก่อนแน่นอนถ้าล็อกดาวน์

ส่วนเรื่องเมืองและเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีประเด็นน่าสนใจบ้าง ต้องบอกก่อนว่าผลจากโควิดค่อนข้างหลากหลาย ถ้าเป็นเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนก็อาจจะแย่หน่อย เพราะคนต้องใช้บริการส่งอาหาร ปัญหา plastic waste ที่รีไซเคิลไม่ได้จะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่อีกด้านหนึ่ง ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างก็ดีขึ้น เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดีขึ้นช่วงโควิด เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ดีขึ้นเพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง แต่ถ้าเป็นเรื่องป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพอาจจะส่งผลลบ เพราะพอล็อกดาวน์ การคอยสอดส่องเรื่องนี้จะด้อยลงไป อาจจะเอื้อให้เกิดการลักลอบทำอะไรมากขึ้น

จะเห็นว่า ในภาพใหญ่ โควิดส่งผลลบต่อเป้าหมาย SDGs แทบทั้งหมด ถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอาจจะดีขึ้น มันก็สะท้อนว่า เรายังล้มเหลวในการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเมื่อพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เราต้องแยก (decouple) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าเราบอกว่าเศรษฐกิจโตทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อม พอมีโควิดมาทำให้เศรษฐกิจเสื่อมแต่สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แปลว่าเรายังทำการบ้านไม่มากพอ เพราะสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือจะแย่ สิ่งแวดล้อมควรดีขึ้น

 

ในแง่สถานการณ์โควิดของไทยกับ SDGs อาจารย์มองเห็นประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ผมมีโอกาสไปร่วมงานกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ในการศึกษาผลกระทบของโควิดกับอาเซียน ประเด็นที่น่าสนใจคือ เรามักบอกว่าไทยมีระบบสาธารณสุขดี เพราะเราเหมือนจะจัดการกับโควิดได้ดี แต่รายละเอียดลึกๆ คือ ในภาพรวมของอาเซียน เราเป็นภูมิภาคที่ตอบสนองกับโควิดได้ดีมาก เฉลี่ยคือ 17 วันนับจากวันที่มีโควิด เราล็อกดาวน์เลย ในแง่การตอบสนอง (responsiveness) เราทำได้ดีมาก แต่ถ้าเจาะลึกไปดูโครงสร้างพื้นฐานของไทยหรืออาเซียน ระบบสุขภาพของเราเปราะบางมากนะ เช่น เรามีจำนวนแพทย์อยู่ในระดับกลางค่อนไปทางล่าง ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน หรือสัดส่วนงบประมาณที่ทุ่มให้กับด้านสุขภาพของเราก็ยังน้อยอยู่

ดังนั้น ข้อเสนอหลังโควิดในช่วงที่ผ่านมาจึงมักจะพูดถึงว่า เราควรทำให้ระบบสุขภาพเข้มแข็ง ไม่ใช่มองว่าเราดีอยู่แล้ว แต่ต้องตระหนักว่าเรายังมีความเปราะบางอยู่ และต้องเพิ่มตรงนี้ให้มากขึ้น

อีกประเด็นคือ โควิดทำให้เราเห็นปัญหาของการเก็บข้อมูล จริงๆ อันนี้ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นในระดับโลกเลย ในรายงาน Sustainable Development Goals Report จะบอกเลยว่า โควิดเปิดให้เราเห็นความท้าทายเรื่องข้อมูลที่เป็นปัญหามาก และทำให้เราอาจไม่สามารถตอบสนองต่อวิกฤตแบบนี้ได้เร็วทันเวลา เพราะตอนนี้ข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ของเรายังไม่ครอบคลุม

ในกรณีของไทยจะมีข้อมูลบางชุดเท่านั้นที่เราสามารถเจาะลงไปได้ในระดับจังหวัด แต่บางข้อมูลก็เป็นข้อมูลระดับชาติ ความทันเวลาและระดับการจำแนกแยกย่อยข้อมูล (disaggregation) ก็ยังต่ำ ถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือ สมมติเรามีข้อมูลในระดับครัวเรือน แต่เราไม่รู้ว่า ข้างในครัวเรือนนั้นมีใครบ้าง มีคนทุพพลภาพไหม สภาพความเป็นอยู่เป็นอย่างไร

 

ในอนาคตข้างหน้า เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง เราจะสามารถนำ SDGs มาใช้เป็นเครื่องมือฟื้นฟูโลกหลังโควิดได้ไหม

คนคาดหวังกับ SDGs เยอะนะ แต่เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า SDGs เป็นเป้าหมายการพัฒนา คือเป็นเหมือนหลักชัยที่เราต้องพุ่งไป แต่ถามว่า SDGs ได้ให้เครื่องมือหรือแนวทางการพัฒนาขนาดนั้นไหม จริงๆ ก็ไม่ได้ขนาดนั้น และนี่เป็นลักษณะที่ทำให้ประเทศต่างๆ ยอมรับ SDGs ได้ด้วย เพราะแต่ละประเทศมีบริบทต่างกัน ถ้าเราไปบอกว่าทุกประเทศต้องทำแบบนั้นแบบนี้ก็จะเกิดปัญหาแล้ว เหมือนตัดเสื้อไซส์เดียวกันให้ทุกคนใส่ SDGs จึงวางหลักชัยไว้ไกลๆ ใครจะไปถึงด้วยวิธีการไหนก็เป็นเรื่องของแต่ละประเทศเป็นผู้ตัดสินเอง

เพราะฉะนั้น SDGs อาจจะไม่ได้ให้แนวทางแบบ 1-2-3 ว่าต้องทำอะไรเพื่อฟื้นจากโควิด แต่ที่แน่ๆ คือ SDGs ให้หลักการไว้ว่า ถ้าเราจะฟื้นจากโควิดแล้วยังจะมุ่งหน้าไปทาง SDGs เราควรจะมีหลักในการฟื้นฟูตัวเองยังไง ลองนึกภาพง่ายๆ ว่า ถ้าเราบอกว่าแรงงานต่างชาติหรือการค้าระหว่างประเทศคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ถ้าไม่มี SDGs ทิศทางการพัฒนาของแต่ละประเทศอาจจะเป็นไปได้หลายทางมากๆ อย่างประเทศที่อยู่ในเทรนด์ชาตินิยม อาจจะเกิดการขับไล่แรงงานต่างชาติ หรือปิดประเทศไม่ทำการค้า แบบนี้กลายเป็นว่าทุกคนโดดเดี่ยวตัวเองหมดเลย แต่การมี SDGs จะช่วยชี้ทางในแง่นี้แหละ สมมติว่ามีทางเลือกในการฟื้นฟูโลกหลังโควิดหลายทาง แต่ถ้าเป็นทางที่สอดคล้องกับ SDGs ก็จะมี SDGs มาช่วยสนับสนุนว่าเราควรไปทางนี้ ไม่ควรแบ่งแยกคนจากเชื้อชาติหรือพัฒนาโดยไม่สนใจคนเล็กคนน้อย

 

SDGs กับสหรัฐอเมริกาและอาเซียน

 

ถ้าเรามองย้อนไปดูประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ อย่างสหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้นโยบาย อเมริกาต้องมาก่อน (America First) ได้พาสหรัฐฯ หันหลังให้กับคุณค่าหลายอย่างที่ตนเองเคยยึดถือ และยังพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนบ้างไหม

ถ้ามองในภาพใหญ่ของการขับเคลื่อน SDGs คนก็ไม่ได้สนใจการที่สหรัฐฯ ไม่ได้มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเท่าไหร่นะ (หัวเราะ) ตรงนี้อาจจะฟังดูประหลาด แต่ก็เพราะกลไกการขับเคลื่อนนี้ไม่ได้นำโดยสหรัฐฯ แต่ต้น แต่นำโดย UN ซึ่งมีความแข็งขันมากๆ ใช้เป้าหมายเป็นตัวเหนี่ยวนำ และจัดเวทีให้แต่ละประเทศมาแลกเปลี่ยนความก้าวหน้ากัน สหรัฐฯ ก็เป็นเพียง 1 ใน 196 ประเทศเท่านั้น ความงอแงของเขาจึงไม่ได้ส่งผลต่อคนอื่นเท่าไหร่

แต่ถ้ามาเจาะที่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และเป้าหมายแต่ละข้อ ตรงนี้จะมีผลในทางรายละเอียดอยู่พอสมควร ประเด็นที่คนพูดถึงกันมากที่สุดคือ ข้อตกลงปารีส (The Paris Agreement) เพราะสหรัฐฯ กับจีนเป็นสองประเทศมหาอำนาจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก การที่ข้อตกลงปารีสสำเร็จจึงเป็นเพราะสองประเทศนี้เข้าร่วม ถือเป็นความหวังของโลกมากๆ แต่พอทรัมป์ถอนตัวออกไป กลายเป็นว่าโลกต้องมานั่งคิดแล้วคิดอีกว่าเราจะลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนของสหรัฐฯ อย่างไร ตรงนี้ก็กระทบกับเป้าหมายที่ 13 (ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน) พอสมควร

อีกประเด็นที่สำคัญคือ การถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วองค์กรจะไปอย่างไรต่อ เพราะสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุน WHO มากทีเดียว นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะเมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวหรือเปลี่ยนท่าทีบางอย่าง ประเด็นที่เคยสงบก็กลับมาตึงเครียด กระทบกับเป้าหมายที่ 16 (ส่งเสริมสันติภาพและการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน) เช่น ท่าทีที่มีต่ออิหร่านหรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ทำให้รัสเซียเริ่มขยายอำนาจเข้ามาในเขตภูมิภาคยุโรป พวกอุดมการณ์ขวาจัดก็เริ่มคืบคลานเข้ามาจากทางตะวันออก รวมไปถึงท่าทีของสหรัฐฯ ต่อเอเชียและการเข้ามาของจีนในทะเลจีนใต้ แทนที่สหรัฐฯ จะเข้ามาช่วยบาลานซ์การแผ่อำนาจของจีนกับรัสเซียก็กลายเป็นตรงนี้ลดลงไป ความตึงเครียดในภูมิภาคก็สูงขึ้น

แต่ที่น่าสนใจคือ นอกจากต่างประเทศแล้ว ในประเทศเองก็มีประเด็นเช่นกัน จริงๆ America First คือ White People First หรือเปล่า มิติตรงนี้ก็มี กลายเป็นว่าสังคมอเมริกันก็มีการแบ่งแยกเกิดเยอะขึ้น หรือพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติของตำรวจหรือผู้รักษากฎหมายก็ปรากฏให้เห็นเยอะขึ้น คนเล็กคนน้อยก็ได้รับผลกระทบเยอะ คนเข้าถึงประกันสุขภาพไม่ได้มากเท่าเดิม คนที่ต้องการการสนับสนุนอย่างคนชราหรือคนยากจนก็เสียโอกาสตรงนี้ด้วย

 

หลายคนวิเคราะห์ว่า โจ ไบเดน น่าจะทำอะไรที่ตรงข้ามกับทรัมป์โดยสิ้นเชิง และจะพาอเมริกากลับมานำโลกอีกครั้ง อาจารย์มองว่าการเป็นผู้นำของไบเดนจะส่งผลกับความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติ SDGs อย่างไร

ขอพูดก่อนว่า การที่ไบเดนชนะการเลือกตั้งน่าจะเป็นข่าวดีข่าวเดียวในปีวินาศสันตะโรแบบ 2020 เลยครับ (หัวเราะ) เรื่องนี้น่าสนใจและน่าจะมีหลายประเด็นที่สนับสนุน SDGs นะ ข้อแรกคือ ท่าทีของไบเดนที่เปิดกว้างต่อชนกลุ่มน้อย อย่างรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ก็เป็นรองประธานาธิบดีคนแรกที่เป็นผู้หญิงและมีหลายเชื้อชาติผสมกัน นี่ทำให้เห็นท่าทีและเป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้กับสหรัฐฯ และโลกถึงความ inclusive ของไบเดน และสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 5 (สร้างความเท่าเทียมทางเพศสตรีและเด็กหญิงทุกคน) ด้วย

ข้อที่สองคือ ไบเดนน่าจะพาสหรัฐฯ เข้าสู่พหุภาคีนิยม (multilateralism) แน่นอน เพราะฉะนั้น เป้าหมายที่ 17 เรื่องความร่วมมือต้องดีกว่าเดิม การกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสก็จะส่งเสริมเป้าหมายที่ 13 และการกลับเข้าไปร่วมสังฆกรรมกับ WHO ก็น่าจะช่วยยกระดับประเด็นเรื่องสุขภาพ (เป้าหมายที่ 3) นี่ยังรวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในต่างประเทศ ซึ่งงบด้านนี้มีผลต่อการดำเนินงานขององค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ แต่ทรัมป์ตัดงบตรงนี้ไปค่อนข้างมาก พอไบเดนกลับเข้ามา งบการขับเคลื่อนก็น่าจะกลับเข้ามาด้วย ทำให้การขับเคลื่อน SDGs ในภาพใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการความช่วยเหลือน่าจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ส่วนความสัมพันธ์กับยุโรป NATO หรือเอเชียก็น่าจะได้รับการฟื้นฟู ทำให้เกิดสันติภาพมากขึ้น และสหรัฐฯ น่าจะกลับมาเป็นหมากอีกตัวหนึ่งที่ช่วยในการสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแต่ละภูมิภาคด้วย

ข้อสุดท้ายและเป็นข้อที่น่าสนใจจริงๆ คือ การเป็นผู้นำในการหันหลังให้น้ำมันและก๊าซ (oil and gas) และมุ่งสู่พลังงานสะอาด การที่สหรัฐฯ พยายามผลักดันนโยบายพลังงานสะอาด โปรโมทเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ในประเทศก็เป็นผลดีทั้งกับสหรัฐฯ และโลกเอง และเป็นเหมือนกับการเหนี่ยวนำให้ประเทศต่างๆ หาโอกาสจากเรื่องนี้

นอกจากนี้ ตัวห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะขยายตัวด้วย เพราะพอคนเห็นว่าสหรัฐฯ มาทางนี้ ห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสิ่งเหล่านี้ก็จะมีการเชื่อมโยงการผลิตไปข้างหลัง (backward linkage) เช่น ไทยมักจะทำหน้าที่เป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) ผลิตชิ้นส่วนให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะทำให้เราขยับมาได้มากขึ้น

 

ถ้าทรัมป์มี America First (อเมริกาต้องมาก่อน) ไบเดนก็มากับ Build Back Better (นโยบายเพื่ออเมริกาที่ดีกว่า) อาจารย์มองนโยบายดังกล่าวอย่างไร อะไรที่เป็นประเด็นสำคัญและน่าสนใจในนโยบายนี้

ส่วนตัวผมไม่รู้ว่า เราจะบอกได้ไหมว่า ไบเดนใช้คำว่า Build Back Better เลยมีการใช้คำนี้มากขึ้น หรือคนอื่นพูดมาก่อนแล้วและไบเดนรับลูกต่อ แต่ที่แน่ๆ นี่ทำให้เราเห็นเทรนด์การพัฒนาหลังโควิดอยู่ คือการดูแลคนเล็กคนน้อยและทำให้ระบบสุขภาพเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมค่อนข้างประหลาดใจเวลาอ่านรายงานจากหลายองค์กรคือ การมองว่าการย้อนกลับไปสู่เศรษฐกิจแบบเดิมไม่ใช่ทางออก แต่ต้องก้าวข้ามไปเลย ถ้าพูดให้ชัดกว่านั้นคือเราถอยหลังเพราะโควิด แต่การกลับสู่ที่เดิมคือการกลับไปสู่ความเสี่ยงแบบเดิม เราจึงต้องกระโดดข้ามไปเลย ไปสู่การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green growth) ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นจุดหลักสำคัญของ Build Back Better คือไม่ใช่แค่กลับไปสู่โมเดลเศรษฐกิจแบบเดิม แต่ต้องดีกว่าเดิม (better) ในแง่ที่ว่า สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องเติบโตอย่างยั่งยืน

เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นเทรนด์แบบนี้อยู่ อย่างในอาเซียน เราเห็นธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ออกรายงานเสนอกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาค หรือกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework) ที่พูดกันไปเมื่อปลายปี 2019 ก็กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้เหมือนกัน ผมเลยคิดว่า Build Back Better น่าจะกลายเป็นเทรนด์ของโลก และถูกผนวกเข้ามาอยู่ในบทสนทนาเรื่อง SDGs ค่อนข้างเยอะ เพราะนัยของมันคือการพัฒนาไปสู่ความครอบคลุม (inclusive) และยั่งยืน (sustainable) มากขึ้น

 

ฝั่งอาเซียนมีความร่วมมืออะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อจะขับเคลื่อน SDGs และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญค่อนข้างมากในการผลักดันประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปอยู่ในกรอบอาเซียน เรามีวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 (ASEAN Community Vision 2025) และถ้าย้อนกลับไป หลังจากมีการปล่อยแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนออกมาแล้ว 2 ปีถัดมา กระทรวงการต่างประเทศไทยทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการเสนอสิ่งที่เรียกว่า ASEAN Complementarities ที่เป็นเหมือนข้อเสนอว่าวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนจะเชื่อมกับ SDGs อย่างไร ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมคือ อาเซียนจะเลือกประเด็นไหนเพื่อมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน SDGs ซึ่งมี 5 ประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรกคือ ความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (resilient) ซึ่งจะเน้นไปในทางเศรษฐกิจ การรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และคงมีเรื่องโรคระบาดด้วยหลังโควิด เท่าที่ผมคุยกับกระทรวงการต่างประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้อง จริงๆ มีการพูดเรื่องโรคระบาดมาก่อนหน้านี้นะ เพราะในอาเซียนจะมีคณะกรรมการย่อยที่พูดถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ รวมถึงโรคระบาดด้วย แต่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้มีการพูดคุยหรือมีข้อตกลงอย่างเป็นรูปธรรม แต่พอมีโควิดปุ๊บ ความร่วมมือในส่วนนี้ของอาเซียนก็แข็งขันขึ้นมากเลยทีเดียว และสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 1, 11 และ 13 ด้วย

ประเด็นที่สองคือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 9 (ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและนวัตกรรม) ที่พูดถึงความร่วมมือในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางกายภาพและดิจิทัล เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อ (connectivity) ระหว่างประเทศในอาเซียนมากขึ้น

ประเด็นที่สามคือ การผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมกับเศรษฐกิจ มีความก้าวหน้าพอสมควรและทั่วโลกก็สนใจ ในอาเซียนก็มีเครือข่ายนักวิชาการที่ทำงานด้านนี้อยู่ ประเด็นต่อมาคือการลดความยากจน ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) และสุดท้ายคือ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ถ้าเราดูทั้ง 5 ประเด็นให้ลึกลงไป จะเห็นว่าอาเซียนเลือกประเด็นที่ไม่อ่อนไหวมาทำงาน เพราะจากการประเมินของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) ประเด็นที่อาเซียนถอยหลังมากที่สุดคือ ความเหลื่อมล้ำ สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน (เป้าหมายที่ 16) แต่จะเห็นว่าใน ASEAN Complementarities ไม่แตะเรื่องพวกนี้เลย อาจจะด้วยนี่เป็นความตกลงพหุภาคี ทำให้ยังแตะไปที่ประเด็นสำคัญจริงๆ ของภูมิภาคไม่ได้ เพราะจะไปกระทบกับหลายประเทศในภูมิภาคที่มีปัญหาเรื่องนี้อยู่

 

ประเทศไทยกับการขับเคลื่อน SDGs

 

ในบริบทของไทย ถ้าเรานำ SDGs มาปรับใช้กับสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ เราเจอลักษณะเฉพาะ หรือเจอปัญหาอะไรบ้างไหม

ถ้าเป็นในแง่เนื้อหาสาระ สมมติเราไปดูรายละเอียดเป้าหมาย 17 ข้อ และอีก 169 เป้าหมายย่อยที่เรียกว่าเป้าประสงค์ (target) เราจะพบว่าเนื้อหาสามารถประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้ เพราะมันคือสังคมที่คนอยากเห็น เป็นสังคมที่คนมีความมั่นคงในชีวิต สุขภาพ และเข้าถึงโอกาสได้ เป็นสังคมที่คนเล็กคนน้อยได้รับการดูแล เศรษฐกิจเติบโต แรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างดีเยี่ยม ชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนได้รับการรับรอง ทำให้ถ้ามองโดยรายละเอียด SDGs น่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนยอมรับได้ง่ายด้วย แต่ก็อาจจะมีรายละเอียดยิบย่อยบ้าง เช่น บางข้อเหมาะกับประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก บางข้อเหมาะกับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด นั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้นะ แต่ที่ท้าทายน่าจะเป็นเชิงปฏิบัติการมากกว่า

ข้อแรกคือการบูรณาการซึ่งน่าจะพูดกันมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ก็มีปัญหาในหลายมิติ ทั้งการบูรณาการระหว่างภาครัฐ เพราะเป้าหมายแต่ละข้อเชื่อมโยงกันเลยต้องทำงานร่วมกัน ปัจจุบันเรายังใช้วิธีแบ่งเป้าหมาย 17 ข้อและแบ่งให้มีแต่ละหน่วยงานดูแลแต่ละเป้าหมาย และจะมีหน่วยงานย่อยๆ ดูแลแต่ละเป้าประสงค์อีกที ถามว่าดีไหม ก็ดีนะ แต่ถ้าแต่ละหน่วยงานทำตามเป้าประสงค์ที่ตนเองได้รับมอบหมาย เราไม่มีทางบรรลุ SDGs ได้แน่นอน เพราะแต่ละเป้าประสงค์มันขัดกันเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ได้มองการขับเคลื่อน SDGs เป็นชุดของเป้าหมายที่เชื่อมโยงกัน มันจะผลักดันไปไม่ได้เลย การที่เรามี theme จะทำให้เราเห็นว่า ตกลงเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องไหน แล้วถ้าเรื่องอื่นที่เชื่อมโยงกันก็จะต้องเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ สมมติเราบอกว่า เรามุ่งการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกอย่างที่ตามมาก็ต้องสอดคล้องกับเรื่องนี้ด้วย แต่ทุกหน่วยงานยังมีหน้าที่รับผิดชอบตัวเป้าประสงค์และเป้าหมายของตัวเอง แต่สรุปจะไปทางไหนกันก็ยังไม่รู้

ข้อต่อมาคือ การบูรณาการข้ามภาคส่วน ที่ยังขาดและเป็นปัญหาสำคัญมาก ตอนนี้ภาครัฐก็กระตือรือร้นมากจากการเปลี่ยนแปลงภายในสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภาคเอกชนก็กระตือรือร้นมากแบบมากไม่ไหวแล้วเพราะการประเมินหลายอย่าง แต่เรายังไม่มีเวทีที่จะให้ทุกคนมาร่วมกำหนดประเด็นสาธารณะภายใต้กรอบ SDGs เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาครัฐเลยยังเป็นผู้กุมการขับเคลื่อน SDGs เอาไว้ ทั้งการนิยาม กำหนดว่าอะไรสำคัญ และบอกทิศทาง ส่วนภาคประชาสังคมหรือภาควิชาการมีบทบาทน้อยมาก มันเลยกลายเป็นปัญหาตรงนี้

ข้อที่สามคือการบูรณาการข้ามศาสตร์ ด้วยปัญหาที่ซับซ้อนทำให้ต้องใช้หลายศาสตร์ทำงานด้วยกัน แต่ธรรมชาติของระบบอุดมศึกษาไทยกลับทำให้การทำงานข้ามศาสตร์เป็นไปได้ยากมาก เช่น ถ้าเราจะขอตำแหน่งทางวิชาการ งานวิชาการนั้นต้องมีชื่อเราครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย สรุปคือต้องทำคนเดียวหรือสองคนเท่านั้นจึงจะใช้ประโยชน์ในอาชีพการงานได้ นี่ก็เหมือนเป็นการบอกกลายๆ ว่า อย่าทำงานร่วมกันนะทุกคน

อีกข้อที่น่าสนใจคือ จริงๆ SDGs ไม่ได้เป็นกลางทางการเมือง ถ้าเรามองผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง SDGs ตั้งอยู่บนฐานคิดเสรีนิยมสมัยใหม่ (modern liberalism) คือเป็นเสรีนิยมที่ยังเคารพสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และห่วงใยคนเล็กคนน้อยที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และยังเป็นห่วงสังคมสิ่งแวดล้อมด้วย คล้ายกับเดโมแครตของสหรัฐฯ คือเสรีนิยมด้านสังคม แต่ออกแนวสังคมนิยมด้านเศรษฐกิจ

แต่ไทยมีความอนุรักษนิยม มีการปะทะกันระหว่างเสรีนิยมสมัยใหม่กับอนุรักษนิยมอยู่ ส่วนภาครัฐไทยก็อนุรักษนิยมสูง หลายนโยบายจึงพลอยไม่สอดคล้องกับ SDGs ไปด้วย เหมือนตอนนี้เรากำลังมุ่งรักษาอดีต แต่ไม่ได้มองไปยังอนาคต ก็ยากเหลือเกินที่เราจะบรรลุ SDGs ได้

สุดท้ายคือ เรายึดติดกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่อาจจะขาดความสมดุลไปบ้าง เท่าที่ทีมของเรารีวิวแผนระดับ 2 และเคยทำ content analysis ทำให้เห็นว่า แผนยุทธศาสตร์ยังมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจกับความมั่นคง ส่วนแผนปฏิรูปเน้นเรื่องการศึกษา การพัฒนาคน และการปฏิรูประบบราชการเป็นหลัก แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นเท่าที่ควร โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม จนน่าสงสัยว่าพอถึงเวลาบรรลุ SDGs ไทยอาจจะจมน้ำก่อน เพราะเผชิญหน้ากับสภาวะแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อทุกคนแล้ว แต่เรายังไม่เคยสนใจเรื่องนี้จริงจังเลย

 

ในปี 2020 มี SDG Indexะบุว่า ไทยอยู่อันดับที่ 41 ได้ 74.5 คะแนน ตรงนี้อาจารย์ประเมินอย่างไร คะแนนหรือลำดับตรงนี้สะท้อนภาพการทำงานของไทยอย่างไร

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า UN ไม่ได้เป็นผู้ทำดัชนีนี้ แต่ผู้จัดทำคือ Sustainable Development Solution Network (SDSN) ร่วมกับมูลนิธิในเยอรมนี แต่เขาเป็นเจ้าแรกที่ทำการเปรียบเทียบระหว่างประเทศให้เห็นสถานะของ SDGs ซึ่งถือว่ามีคุณูปการพอสมควรนะ แต่ด้วยข้อจำกัดของตัวชี้วัดทำให้สิ่งที่เขานำมาประเมินใน SDGs แต่ละข้อไม่ค่อยตรงกับตัวชี้วัดของ SDGs ที่ UN ประกาศมาเท่าไหร่

มาที่ลำดับและคะแนนของไทย นอกจากอันดับโลกที่ 41 แล้ว ต้องบอกเราว่าเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน 2 ปีติดกัน ส่วนประเด็นที่ได้รับการประเมินว่าเราผ่านแล้วคือเรื่องการลดความยากจน ซึ่งคนอาจจะสงสัยว่าจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเราไปดูตัวที่เขาใช้วัดคือเส้นความยากจนสากล (ประมาณ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 60 กว่าบาท) ก็ต้องบอกว่าเราได้เงินเกินแล้ว แต่ถ้าดูเส้นความยากจนในประเทศที่อยู่ประมาณ 2-3 พันปลายๆ ก็ยังมีคนยากจนอยู่ แม้จะลดลงบ้างแล้ว

แต่ประเด็นที่ยังเป็นปัญหาของไทยจริงๆ มี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือสุขภาพ และที่สำคัญมากๆ คืออัตราการเป็นวัณโรคของไทย ที่ดูเป็นเรื่องเงียบๆ แต่เป็นกันเยอะอยู่ อีกเรื่องคืออัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน ซึ่งรู้กันดีว่าไทยเป็นแชมป์เลย และอัตราคุณแม่วัยรุ่นด้วย แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องหลังนี้เราทำได้ดีพอสมควรในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คืออัตราคุณแม่วัยรุ่นลดลง

อีกเรื่องที่มีแนวโน้มแย่ลงคือเรื่องการศึกษา ตัวชี้วัดในดัชนีมีการพูดถึงอัตราการจบชั้นมัธยมต้นลดลง ซึ่งสะท้อนหลายอย่างนะ ทั้งอัตราการต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน หรืออาจจะสะท้อนว่า คนยากจนมากขึ้นรึเปล่า เด็กถึงต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน

ถามว่า ดัชนีดังกล่าวเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ผมว่าเราใช้เป็น benchmark ได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ควรมุ่งเน้นเรื่องการแข่งขันมากมาย เรารู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนเป็นเรื่องดี แต่มันควรนำไปสู่การแก้ปัญหาจริงจังมากกว่ามาแข่งกันเรื่องลำดับ เพราะถ้าเราแก้ปัญหาได้ ลำดับก็จะดีขึ้นด้วย จึงควรมองที่สาระสำคัญจริงๆ ของเรื่องนี้มากกว่า

 

อาจารย์มีข้อเสนอแนะไหมว่า เราควรทำอย่างไรเพื่อให้การขับเคลื่อนและบรรลุ SDGs ในไทยดีกว่าเดิม

ก่อนอื่น เราต้องขยับออกมามองระบบนิเวศหรือกลไกที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ให้มากขึ้น ในภาษาของ SDGs อาจจะใช้คำว่า means of implementation ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันน้อยมากในไทย ทั้งที่มันแทรกอยู่ในเป้าหมายต่างๆ ของ SDGs อยู่แล้ว

ส่วนเรื่องการทำให้การขับเคลื่อน SDGs ดีกว่าเดิม ผมมีข้อเสนอแบบนี้ ข้อแรกคือเรื่องความสอดคล้องกันในเชิงนโยบายและกฎหมาย เรามีกฎหมายที่ขัดกันจ้าละหวั่นไปหมดเลย หรือถ้ามองไปที่การพัฒนาด้านการเงิน (financial development) ถามว่าเรามีกลไกหรือแพลตฟอร์มทางการเงินที่จะช่วยระดมทุน เพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มาทำงานด้านความยั่งยืนหรือยัง คำตอบคือยัง และเรายังไม่มีการเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) เพื่อให้คนมาทำงานได้อย่างเป็นระบบเลย

นอกจากนี้ ระบบวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเรื่องสำคัญกับการขับเคลื่อน SDGs มาก แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกใส่ไว้ในยุทธศาสตร์การวิจัยของไทย หรือถึงจะใส่ไว้ก็เป็นประเด็นแยกส่วนกัน ไม่ได้เน้นไปที่เรื่อง SDGs แต่มองประเด็นวิจัยเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายมากกว่า ทั้งที่งานวิจัยมีคุณค่ามากกว่านั้น เมื่อขาดทุนวิจัยตรงนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขับเคลื่อน SDGs จึงไม่เกิด พอไม่เกิด การขับเคลื่อนก็กะปริดกะปรอย ใครมีกำลังทำก็ทำไป ก็ดูเหมือนจะดีนะ แต่แทนที่จะร่วมมือกันก็กลับแข่งขันกันแทน แทนที่จะวางระบบว่า ใครช่วยทำตรงไหนได้บ้าง ก็กลายเป็นว่าไม่ร่วมมือกัน แย่งทุนกันเสียอย่างนั้น

ข้อที่สองคือเรื่องข้อมูล ซึ่งยังขาดแคลนอยู่มาก แต่ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะสำนักงานสถิติได้ร่วมมือกับหลายภาคีในการผลักดัน government data catalogue คล้ายกับเป็นสมุดหน้าเหลืองที่มีข้อมูลหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกเวลาจะสืบค้นข้อมูล เราก็พยายามผลักดันเรื่อง SDGs เข้าไปในระบบนี้เช่นกัน

สุดท้ายเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมที่ผมคิดว่ายังขาดมากจริงๆ อย่างน้อย เราควรมีเวทีระดับชาติปีละครั้งที่ทำหน้าที่เหมือน High-Level Political Forum on Sustainable Development ที่จัดในระดับโลก คือเป็นเวทีที่หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องต่างๆ ต้องมานำเสนอให้ประชาคมที่ทำเรื่องการพัฒนารู้ว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้นักวิชาการหรือภาคประชาสังคมได้มีโอกาสแนะนำ และเป็นการสร้างความร่วมมือด้วย เพราะถ้าไม่มีแบบนี้หลายหน่วยงานอาจจะมุบมิบไม่ทำได้ และเป็นการสะท้อนด้วยว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนต้อง accountable กับประชาชน

 

หลายครั้งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวนโยบายที่ออกโดยองค์การระหว่างประเทศมีความเป็น elite สูง และไม่ได้ตอบสนองหรือช่วยพัฒนาชีวิตของประชาชนธรรมดา อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ผมชอบมากเวลาเห็นข้อวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ เพราะมันทำให้เราเห็นความหลากหลายมากขึ้น และเรื่องนี้ก็ถูกตั้งคำถามบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเวลาลงไปคุยกับภาคประชาสังคมในชุมชน

ถามว่านโยบายที่ออกโดยองค์การระหว่างประเทศมีความเป็น elite สูงจริงไหม จริงครับ หลายเรื่องหลายอย่างเลย โดยเฉพาะองค์การที่มีความเป็นเทคโนแครตสูง เช่น ธนาคารโลก (World Bank) นโยบายปิดโรงเรียนขนาดเล็กก็มาจากธนาคารโลกนี่แหละ แต่ในกรณีของ SDGs มีความแตกต่างออกไป เพราะมันไม่ใช่แค่สิ่งที่นักเทคนิคบนหอคอยงาช้างเสนอ แต่ยังผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ จากกระบวนการ 3 ปีที่ UN มอบให้หน่วยงานต่างๆ ไปทำงานกับภาคีทุกประเทศ

ดังนั้น เสียงต่างๆ ที่อยู่ในระดับท้องถิ่นมีโอกาสไปอยู่ในประเด็น SDGs จริงๆ อย่างถ้าเราไปดูประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนในเรื่องการจัดการทรัพยากร มันปรากฏในหลายเป้าหมายมาก ทั้งเป้าหมายที่ 6 เรื่องน้ำ เป้าหมายที่ 14 เรื่องทะเล หรือเป้าหมายที่ 15 เรื่องป่า มีการพูดถึงการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรเหล่านี้ ทำให้ประมงรายเล็กเข้าถึงตลาดได้ อีกทั้งยังมีการพูดถึงวิสาหกิจชุมชน วัฒนธรรมชุมชน หรือท่องเที่ยวชุมชนด้วย

ทั้งหมดนี้เพราะการทำงานของ UN ไม่ได้ทำโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมได้ผ่านทางเวทีปรึกษาหารือ เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และพยายามนำมุมมองคนธรรมดาเข้ามาจับ อย่างเวทีที่เคยจัดขึ้นตอนปี 2017 มีทั้งเทคโนแครต นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอ และยังเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ ได้พูดด้วย จึงจะมีตัวแทนจาก NGOs ที่ทำงานในแต่ละด้านเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ UN หรือของรัฐบาลอย่างเมามัน ทำให้ SDGs มีความ down to earth มากกว่าประเด็นอื่น

อย่างไรก็ดี ถามว่าเรายังต้องทำงานเพิ่มขึ้นไหมเพื่อให้ตอบสนองต่อการพัฒนาการทำงานจริงๆ ก็ต้องบอกว่าต้องการมากกว่านี้ครับ เพราะกลายเป็นว่ามีแต่ NGOs ที่พูดภาษาอังกฤษได้เท่านั้นถึงจะเข้าร่วมเวทีพวกนี้ได้ หรือถ้า UN จะมาทำงานกับหน่วยงานไหนในไทยก็ต้องเป็นหน่วยงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่ตรงนี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปบ้างแล้วจากการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ UN หลายท่านที่พยายามเข้าหาหน่วยงาน ประสานงานกับหน่วยงานที่ใช้ภาษาไทย คุยกับคนที่ทำงานจริง ซึ่งผมว่าเป็นทิศทางที่ดี

ทั้งนี้ ผมว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดและอยากใช้เป็นประเด็นปิดท้ายคือ มันไม่สำคัญหรอกว่านโยบายนั้นๆ หรือ SDGs จะถูกออกแบบมาโดย elite หรือไม่ แต่คำถามคือ เราจะใช้ประโยชน์จากมันในการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร และถ้าทุกคนใช้ SDGs มากขึ้นในการผลักดันวาระของตัวเอง เชื่อมโยงงานที่ทำกับภาษาของ SDGs มากขึ้น จะทำให้บทสนทนาเรื่องนี้ไม่ถูกผูกขาดโดยภาครัฐ แต่จะเกิดความหลากหลายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวน และเสนอไอเดียใหม่ๆ เกี่ยวกับ SDGs ด้วย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save