วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ทำไมหญิงดีๆ จำนวนมากจึงไม่แต่งงาน ? ทำไมประธานาธิบดีโอบามาจึงตัดสินใจบุกบ้านบินลาเด็นทั้งที่มั่นใจว่าเป็นเขาเพียงร้อยละ 70 ? คำตอบอยู่ในไอเดียของนักเศรษฐศาสตร์เรืองนามคนหนึ่ง
การจากไปของ Harold Demsetz นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 เมื่อต้นปี 2562 เตือนให้นึกถึงสิ่งหนึ่งที่เขาได้ทิ้งไว้เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและปัญหาของสิ่งที่มนุษย์เผชิญอยู่ทุกวัน
Demsetz เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่มิได้รับรางวัลโนเบล ทั้งที่เขามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของ (property rights), เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Organization), การทำงานขององค์กรธุรกิจ ฯลฯ เขาได้ชี้ให้เห็นการคิดที่ผิดพลาดที่เรียกว่า Nirvana Fallacy ซึ่งช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของการเลือกดียิ่งขึ้น
Demsetz เป็นผู้ชื่นชมแนวคิดตลาดเสรี (Chicago School) เฉกเช่นเดียวกับ Milton Friedman ในทศวรรษ 1970 เขาเสนอข้อถกเถียงและหลักฐานหักล้างแนวคิดดั้งเดิมที่ว่าการแข่งขันแบบผูกขาด (monopoly) หรือแบบมีผู้แข่งขันน้อยราย (oligopoly) จะนำไปสู่การไร้ประสิทธิภาพเสมอ
เขาชี้ว่าองค์กรเอกชนที่มีสัดส่วนตลาดใหญ่ขึ้นเพราะผลงานอันโดดเด่น หรือมีการลดลงของต้นทุนอันเกิดจากการผลิตขนาดใหญ่ (economy of scale) ในที่สุดจะเผชิญกับการแข่งขันเสมอ ดังนั้นจึงมิได้ดำรงอยู่เป็นผู้ผูกขาดรายเดียวหรือน้อยรายตลอดไป ซึ่งตรงข้ามกับการผูกขาด หรือการแข่งขันน้อยรายอันเกิดจากกฎหมายของภาครัฐที่สร้างขึ้น พวกเหล่านี้แหละคือผู้นำไปสู่การไร้ประสิทธิภาพ
Demsetz จบปริญญาเอกจาก Northwestern และจบปริญญาตรีจาก University of Illinois ด้านเศรษฐศาสตร์ ก่อนที่เขาจะจบปริญญาตรีเขาเรียนวิศวะ ป่าไม้ และปรัชญา จาก 4 มหาวิทยาลัย เขาสอนหนังสือที่ University of Michigan, UCLA และ University of Chicago ระหว่าง 1963-1971 ก่อนกลับไปสอนที่ UCLA อย่างถาวร
มีเรื่องเล่าว่าในปี 1963 ตอนที่เขาสอนอยู่ที่ UCLA อย่างมีความสุขนั้น อาจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Chicago เดินทางผ่านมาและถามเขาว่าแฮปปี้หรือไม่ที่ UCLA เขาได้กลิ่นว่าจะได้งานที่มหาวิทยาลัย Chicago จึงตอบว่ากรุณา “make me unhappy” และในที่สุดมหาวิทยาลัย Chicago ก็ทำเยี่ยงนั้น จนเขาได้สอนอยู่ที่นี่อันเป็นสุดยอดของแหล่งแนวคิดตลาดเสรีของโลกถึง 7 ปี
Demsetz เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดที่มีชื่อว่า New Institutional Economics (NIE) ซึ่งพยายามขยายขอบเขตของการประยุกต์เศรษฐศาสตร์ในเรื่องสังคม กฎหมาย ตลอดจนกฎกติกาต่างๆ อย่างไกลกว่าที่เคยมีมาก่อน เศรษฐศาสตร์ปัจจุบันที่แทรกซึมเข้าไปผสมกับหลายศาสตร์และนโยบายสาธารณะมีที่มาจากแนวคิดดังกล่าว
สิ่งสำคัญที่ Demsetz ทิ้งไว้ก็คือไอเดียเรื่อง ‘Nirvana Fallacy’ ซึ่ง Nirvana ก็คือนิพพานที่เรารู้จักกัน
ในภาษาอังกฤษ Nirvana มีความหมายว่าเป็นสภาวะของ perfect happiness หรือสภาวะที่เป็น ideal (karma หรือกรรมก็ใช้กันในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผลพวงของการกระทำซึ่งเป็นวงจรของเหตุและผล)
fallacy หมายถึงความเชื่อที่เป็นไปอย่างผิดๆ (mistaken belief) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีฐานมาจากข้อถกเถียงที่ขาดเหตุผล หรือการใช้เหตุใช้ผลอย่างผิดๆ หรือข้อถกเถียงที่ขาดตรรกะ
ในปี 1969 Demsetz เสนอความคิดเรื่อง Nirvana Fallacy โดยเขากล่าวว่า “…พวกที่รับความคิดว่ามีสิ่งที่เป็น nirvana นั้นจะพยายามค้นหาความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็น ideal กับสิ่งที่เป็นจริง และถ้าค้นหาพบ ก็จะสรุปว่าสิ่งที่เป็นจริงนั้นขาดประสิทธิภาพกว่า (ด้อยกว่า)…”
Nirvana Fallacy นั้นบางครั้งก็เรียกกันว่า Perfect Solution Fallacy หรือ Perfectionist Fallacy สรุปง่ายๆ ว่าถ้า x คือสิ่งที่เป็นอยู่ ; y คือ perfect solution ดังนั้น x จึงไม่ดีพอ
ผู้ตกอยู่ใน Nirvana Fallacy จะเชื่อว่ามี perfect solution สำหรับทุกปัญหา ถ้าอะไรที่ไม่ทำให้บรรลุสภาวการณ์นั้น มันต้องด้อยกว่า ดังนั้นจึงเป็นสิ่งไม่ควรเลือก พูดง่ายๆ ก็คือจะตกอยู่ในสภาพของการคิดแบบมีสองด้าน คือสิ่งที่ perfect (อยู่ในอุดมการณ์) กับไม่ perfect (อยู่ในโลกจริง) โดยไม่มีตรงกลาง
ตัวอย่าง (ก) Nirvana Fallacy จะบอกว่าการรณรงค์ ‘ดื่มแล้วไม่ขับ’ จะไม่มีวันได้ผล เพราะคนก็จะดื่มและขับอยู่ดีไม่ว่าจะประชาสัมพันธ์อย่างใดก็ตาม
สิ่งที่เป็น nirvana หรือ perfect solution ในที่นี้ คือกำจัดคน ‘ดื่มแล้วขับ’ ออกไปให้หมดสิ้น แต่เมื่อไม่สามารถทำได้ มันจึงเป็นสิ่งที่ด้อยกว่า ดังนั้นจึงอย่าไปทำมันเสียเลย
(ข) Nirvana Fallacy จะบอกว่าเข็มขัดนิรภัยเป็นเรื่องไม่เข้าท่า เพราะยังไงเสียผู้คนก็จะตายด้วยอุบัติเหตุรถยนต์อยู่ดี
สิ่งที่เป็น nirvana ในที่นี้คือไม่มีใครตายด้วยอุบัติเหตุรถยนต์เลย เมื่อเข็มขัดนิรภัยไม่สามารถทำได้ มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่เข้าท่า
(ค) Nirvana Fallacy จะบอกว่าชายที่ตรงสเป็คหรือ perfect นั้นมีอยู่ ถ้าได้ไม่ถึงสเป็คก็อยู่คนเดียวเสียจะดีกว่า เพราะคนอื่นๆ นั้นด้อยกว่าไปหมด
ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามีไอเดีย Nirvana Fallacy อยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะจากป้ายหาเสียง หรือคำพูดจากการหาเสียง ถ้าเห็นการบังคับให้เลือกสองทาง คือมุ่งสู่สภาวะอุดมคติหรือโลกที่เป็นจริง (ที่บอกว่าด้อยกว่าและไม่เข้าท่า) เมื่อใด นั่นแหละคือ Nirvana Fallacy
พูดอีกอย่างก็คือ Nirvana Fallacy ทำให้เกิดการเสนอทางเลือกชนิดขาวหรือดำ ซึ่งมองข้ามทางเลือกที่มีขาวผสมดำ Nirvana Fallacy ทำให้เกิดการเลือกหรือการคิดที่คับแคบและไม่ถูกต้อง
ในตัวอย่าง (ก) ถึงแม้การรณรงค์ ‘ดื่มแล้วไม่ขับ’ จะไม่ได้ผล 100% ยังคงมีคนดื่มและขับอยู่ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ในตัวอย่าง (ข) การคาดเข็มขัดนิรภัยทำให้ความเป็นไปได้ในการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลงมาก ถึงแม้อุบัติเหตุรถยนต์จะยังคงมีอยู่ก็ตาม
ในตัวอย่าง (ค) ชายไม่ perfect ก็สามารถปรับตัวได้หลังชีวิตคู่ ไม่มีใครที่ ‘คงที่’ จะมีก็แต่คนตายเท่านั้น
โอบามาไม่อยู่ใน Nirvana Fallacy คือไม่รอให้แน่ใจ 100% (สถานการณ์ที่ perfect) ว่าบินลาเด็นอยู่ในบ้านหลังนั้น เมื่อมีข้อมูลพอมั่นใจบ้าง เขาก็ตัดสินใจบุกเข้าถึงตัว กล่าวคือเขาไม่รอให้มี first best แต่เพียง second best ก็ใช้งานได้แล้ว
ขงจื่อกล่าวไว้เมื่อกว่า 2,500 ปีว่า “มีเพชรที่มีตำหนิ ดีกว่ามีก้อนกรวดที่ไร้ตำหนิ” การมองหาแต่เพชรที่ไร้ตำหนิโดยดูถูกก้อนกรวดอาจทำให้ผิดพลาดจนจบลงด้วยมือเปล่าในที่สุดก็เป็นได้
Related Posts
ว่าด้วยเรื่อง Bullshit“ความเท็จเดินทางไปครึ่งโลกแล้วก่อนที่ความจริงจะใส่รองเท้า” วรากรณ์ สามโกเศศ เล่าเรื่อง bullshit เพื่อให้รู้ทัน bullshitter
ออกกำลังกายไม่จำกัดอายุวรากรณ์ สามโกเศศ เปิดงานวิจัยที่ชี้ว่าการออกกำลังกายอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยในการยืดอายุการทำงานของหัวใจ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนสูงวัย ตรงข้ามกับคนที่ใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง ซึ่งมีผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมก่อนวัยอันควร
-
-
รถยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่-การแข่งขันวรากรณ์ สามโกเศศ เขียนถึงกระแสของ 'รถยนต์ไฟฟ้า' ซึ่งกำลังเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในอนาคตอันใกล้ โดยมีปัจจัยสำคัญคือราคาและคุณภาพของ 'แบตเตอรี่' ที่ยักษ์ใหญ่อย่างจีนและญี่ปุ่น กำลังเร่งพัฒนาเพื่อช่วงชิงตลาดกันอย่างดุเดือด
-
วรากรณ์ สามโกเศศ Harold Demsetz nirvana fallacy
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานเขียนชุด “Global Change” ว่าด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ในมุมเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี และผลงานเขียนชุด “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” รวมงานคัดสรรด้านเศรษฐศาสตร์แบบไม่ต้องแบกบันไดมาอ่าน