fbpx

แบ่งขั้ว ไม่แบ่งชิป: โตเกียวเลือกข้างระหว่างมหาอำนาจ

ช่วงต้นปีนี้ญี่ปุ่นมีความเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจและน่าพูดถึงเรื่องหนึ่ง นั่นคือการเห็นพ้องกับสหรัฐฯ ว่าจะช่วยสกัดกั้นไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตแผงวงจร หรือ ‘ชิป’ ขั้นสูง (high-end chip) อันเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงยุทโธปกรณ์ไฮเทค โดยต้องการชะลอการขยายแสนยานุภาพของจีนและการพัฒนากองทัพให้ทันสมัย ท่าทีนี้ส่อจะกลายเป็นอีกประเด็นกระทบกระทั่งในความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับจีนต่อจากนี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือว่ามีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่ญี่ปุ่นเพิ่งออกแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy: NSS) ฉบับใหม่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีข้อความระบุชัดเจนว่า “จีนเป็นความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่ใหญ่หลวงและไม่เคยมีมาก่อน” อีกทั้งยังออกมาไม่นานหลังจากสหรัฐฯ ขยับเรื่องชิปด้วยการออกกฎหมาย Chips & Science Act เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2022) เพื่อควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีไปยังจีน พร้อมทั้งขยายการวิจัยพัฒนา ลงทุนและผลิตชิปในบ้านของตนเองให้มากขึ้น

ช่วงเดือนที่ผ่านมา เราก็เห็นนายกฯ ญี่ปุ่นดำเนินการทูตเชิงรุกเพื่อสานสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับชาติตะวันตก โดยใช้การตระเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอด G7 ที่ฮิโรชิม่าในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้เป็นเหตุผลเยือนหลายชาติยุโรปและสหรัฐฯ ถือโอกาสหอบหิ้ววาระเชิงยุทธศาสตร์ไปหารือ อย่างการทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนการใช้พื้นที่ (Reciprocal Access Agreement: RAA) กับอังกฤษ ซึ่งเอื้อในการประจำการกองกำลังระหว่างกันและซ้อมรบร่วมกัน ทั้งยังมีข้อตกลงพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่กับอังกฤษและอิตาลี อันเป็นความร่วมมือที่น่าจับตาต่อไปอีกด้วย

การบรรลุความตกลงที่จะควบคุมการส่งออกชิปให้กับจีน แม้จะเป็นความริเริ่มและผลักดันจากฝั่งสหรัฐฯ ที่มองเห็นว่าความพยายามเดี่ยวๆ ของตนจะไม่เป็นผลชะงัดในการสกัดความทะเยอทะยานของจีนที่จะครอบครองเทคโนโลยีสำคัญ แต่การเห็นพ้องที่จะเข้าร่วมอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่นก็สะท้อนความพยายามใหม่ในการขยายแนวหน้าของยุทธศาสตร์การถ่วงดุลอำนาจกับจีน ที่นอกเหนือจากการเสริมกลไกป้องปราม (อย่างที่เคยเขียนถึงไปบ่อยแล้ว) ก็จะเห็นการใช้มาตรการทางการค้าเป็นอีกเครื่องมือเพิ่มเติมเข้ามา

ข้อเขียนนี้ตั้งใจวิเคราะห์แรงจูงใจเบื้องหลังความเคลื่อนไหวล่าสุด โดยสำรวจดูว่าญี่ปุ่นมุ่งหวังเช่นไรและท่าทีนี้สอดรับเป็นหนึ่งเดียวกับยุทธศาสตร์ใหญ่ต่อจีนอย่างไร อาจกล่าวโดยคร่าวก่อนว่าเรากำลังเห็นแนวโน้มการเลือกข้างออกห่างจากจีนเด่นชัดขึ้น โดยอาศัยการ ‘จำกัดและเลือกประเด็นคบค้า’ (selective engagement) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ‘เลือกประเด็นแยกทาง’ (selective decoupling) ซึ่งเกิดจากความระแวดระวังบนฐาน ‘การพิจารณาเศรษฐกิจโยงกับความมั่นคง’ (economic security) สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการคลายมนต์เสน่ห์ของเศรษฐกิจจีนและท่าทีคุกคามที่กลบบังความไว้วางใจที่สั่งสมมา

การพึ่งพิงและแบ่งขั้วด้านห่วงโซ่อุปทานสารกึ่งตัวนำ

สหรัฐฯ เคลื่อนไหวอย่างจริงจังในการดำเนินการทูตว่าด้วยชิปกับชาติพันธมิตรหลังจากได้ออกกฎหมายในประเทศเพื่อรับประกันเสถียรภาพและการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ด้านแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ซึ่งจำเป็นในอุตสาหกรรมไฮเทค ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โปรเซสเซอร์ ไปจนถึงยุทธภัณฑ์ทันสมัย ด้วยความตระหนักที่ว่าบริษัทของสหรัฐฯ หาใช่ผู้ผูกขาดเทคโนโลยีด้านนี้เพียงผู้เดียว จึงเห็นความจำเป็นต้องร่วมมือกับรัฐบาลชาติที่มีภาคเอกชนโดดเด่นเป็นแนวหน้าในธุรกิจด้านนี้ เพื่อทำให้การปิดกั้นจีนจากเทคโนโลยีเป็นไปได้อย่างมิดชิด

สหรัฐฯ และพันธมิตรมองว่าจีนกำลังสร้างความทันสมัยให้แก่กองทัพทั้งเพื่อไล่กวดสหรัฐฯ และเพื่ออ้างสิทธิ์และขยายอำนาจทางทะเล แม้ขณะนี้จีนจะเป็นชาติแนวหน้าของโลกในการผลิตยุทโธปกรณ์อยู่แล้ว แต่ก็มีความต้องการแรงกล้าที่จะครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตอบสนองจุดประสงค์นี้ให้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจของบรรดาชาติคู่อริ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทันสมัย นั่นก็เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงที่จะถูกต่อรอง กดดัน หรือคว่ำบาตรจากภายนอก

เราจึงเห็นพัฒนาการช่วงที่ผ่านมาอย่างการต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน (aircraft carrier) ลำใหม่ๆ ขึ้นเอง และเป้าหมายที่จะผลิตสินค้าไฮเทคด้วยตัวเองในปี 2025 หรือนโยบาย Made in China 2025 อย่างไรก็ดีในขณะนี้จีนก็ยังต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีหลายด้านจากชาติชั้นนำอื่นทั้งเพื่อการพาณิชย์และกลาโหม ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนหลายอย่างให้กับบริษัทจีนจากการเผชิญอุปสรรคและการกีดกันของสหรัฐฯ และชาติแนวร่วมอื่นๆ ที่มองจีนเป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะเมื่อความตึงเครียดด้านความมั่นคงยกระดับสูงขึ้น

สหรัฐฯ ได้เข้าหาเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น สองชาติผู้มีส่วนแบ่ง ‘ความเป็นเจ้า’ ด้านเทคโนโลยีผลิตชิปชั้นสูงของโลก หว่านล้อมจนทำให้ชาติทั้งสองร่วมพยายามควบคุมการส่งออกเครื่องจักรผลิตชิปให้แก่จีน สองชาตินี้มีบริษัทชั้นนำด้านชิปตั้งอยู่อย่าง ASML ของเนเธอร์แลนด์ ส่วนทางฝั่งญี่ปุ่นมี โตเกียวอิเล็กตรอน (Tokyo Electron) นิคอน (Nikon) และแคนนอน (Canon) ผู้กุมเครื่องมือที่อาจมีส่วนตัดสินสมรรถนะและความได้เปรียบทางการรบหากความขัดแย้งและการใช้กำลังบังเกิดในอนาคต

อันที่จริงแล้ว ปัญหาห่วงโซ่อุปทานด้านชิปและสารกึ่งตัวนำกลายมาเป็นวาระหลักระดับโลกและระหว่างพันธมิตรโลกเสรีตั้งแต่ที่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ถดถอยลงมากช่วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การตอบโต้กันตั้งกำแพงภาษีสะท้อนการปกป้องตลาดและลดการพึ่งพิงซึ่งกัน ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงวัตถุดิบด้านชิปและสารกึ่งตัวนำของทั้งสองฝ่าย ขณะที่จีนกุมสินแร่หายาก (rare earth elements) ที่จำเป็นในอุตสาหกรรมนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ มีวิทยาการ (know-how) ซึ่งต้องใช้ประกอบกันเพื่อผลิตเทคโนโลยี

วิกฤตโควิดและปัญหาช่องแคบไต้หวันยิ่งทำให้ความห่วงกังวลเรื่องเสถียรภาพการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทวีมากยิ่งขึ้น นอกจากปัญหาการจัดการโรคแบบสุดโต่งของจีนด้วยวิธีปิดพรมแดนและล็อกดาวน์แบบที่ไม่สนว่าสายการผลิตจะสะดุดหรือหยุดชะงักแล้ว ทั้งปัญหาโควิดและไต้หวันยังเป็นเหตุให้จีนกับสหรัฐฯ ยิ่งไม่ลงรอยกัน จะเห็นว่าตั้งแต่ โจ ไบเดน ขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ ชาติฝั่งโลกเสรีหาทางเชื่อมห่วงโซ่อุปทานกันเองในกลุ่มมากขึ้นโดยลดการพึ่งพิงจีนลง

ที่ผ่านมาไต้หวันสร้างแรงจูงใจและความได้เปรียบในการกระชับพันมิตร โดยไม่เพียงดำเนินการทูตเพื่อสร้างแนวร่วมมาสอดส่องตรวจตราพฤติกรรมของจีน แต่ยังใช้ความก้าวหน้าในการผลิตชิปของเอกชนอย่างบริษัท TSMC เป็นแรงดึงดูดให้นานาชาติหันเข้าหาท่ามกลางความกังวลต่ออุปทานสินค้าประเภทนี้ การเยือนไต้หวันโดยตัวแทนชาติต่างๆ ที่กระทุ้งจีนให้เลือดขึ้นหน้ากล่าวหาว่าชาติเหล่านี้ละเมิดและทิ้งขว้าง ‘หลักการจีนเดียว’ ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีที่หาไม่ได้ที่ไหนนอกจากบริษัทไต้หวัน

นอกจาก TSMC จะได้รับการเชื้อเชิญให้ไปตั้งฐานการผลิตในชาติแนวร่วมอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แล้ว จีนเองก็ต้องพึ่งพิงสินค้าไฮเทคเหล่านี้จากไต้หวันและมีโรงงาน TSMC ดำเนินการบนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน ท่ามกลางความตึงเครียดข้ามช่องแคบและมาตรการของสหรัฐฯ ความกังวลเรื่องการเข้าถึงปัจจัยเหล่านี้ของจีนยิ่งมีมากขึ้น การควบคุมวัตถุดิบไม่ให้จีนเข้าถึงซึ่งขยายมายังเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่นในรูปการจำกัดการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปจะยิ่งสั่นคลอนเป้าหมายของจีนที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง

โตเกียวเลือกข้างระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

การที่ญี่ปุ่นตอบสนองคำเรียกร้องของสหรัฐฯ อย่างไม่พิรี้พิไรเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะในเรื่องที่กระทบความสัมพันธ์กับจีนเช่นนี้ บ่งบอกถึงเจตจำนงและความพร้อมที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงในแบบที่สามารถลดหรือสละผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ พูดได้ว่าญี่ปุ่นตระเตรียมการภายในไว้แล้วที่จะดำเนินนโยบายเข้าหาชาติที่ต้องระมัดระวังอย่างจีนในแบบ ‘เลือกประเด็นคบค้า’ (selective engagement) นี่เป็นผลจากทั้งการปรับนโยบายเข้าหาสหรัฐฯ และการลดระดับความน่าเชื่อถือของจีน

เมื่อมีโอกาสฟังเสวนาหรือถกประเด็นจีนกับผู้รู้หรือเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น บ่อยครั้งมักจะได้ยินความเห็นที่เอ่ยไว้เป็นหมายเหตุว่า การผูกมิตรและหาทางคลายความขุ่นเคืองกับจีนเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้ ทั้งที่เนื้อหาส่วนใหญ่ในการพูดคุยเหล่านั้นมุ่งชี้ถึงความจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสอดส่อง ป้องปรามและสกัดท่าทีคุกคามของมหาอำนาจใหม่นี้ นั่นสะท้อนความเข้าใจของญี่ปุ่นที่ว่ายังไงจีนก็เป็นแหล่งผลประโยชน์ใหญ่และ ‘การรักษาสมดุล’ (balancing act) ด้วยการใช้ไม้อ่อน-ไม้แข็งร่วมกันไปเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เมื่อครั้งที่ชินอิจิ คิทะโอกะ นักวิชาการและนักยุทธศาสตร์คนสำคัญของญี่ปุ่นมาเยือนไทยปีที่แล้วก็ได้กล่าวจุดยืนนี้ไว้

ถึงกระนั้นสมดุลที่ว่านี้ก็กำลังเบนจากจุดดุลยภาพเดิมที่เคยให้น้ำหนักแก่การประนีประนอมกับจีนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลักใหญ่ มาเป็นการกระจายความเสี่ยงออกจากการพึ่งพิงจีน ซึ่งความพยายามนี้ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องสอดรับกับแนวโน้มของชาติอื่นๆ ความกังวลเรื่องการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและความหวั่นเกรงว่าการค้าการลงทุนจะไปเสริมความได้เปรียบให้แก่ชาติศัตรู ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเน้นย้ำ ‘ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ‘ (economic security) เป็นหลักการใหม่ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

การหันมาใช้ตรรกะความมั่นคงเป็นกรอบจัดการเศรษฐกิจตกผลึกเป็นรูปธรรมในรูป ‘กฎหมายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ’ ที่ญี่ปุ่นตราออกมาเมื่อปีที่แล้ว หัวข้อความสนใจของกฎหมายนี้หลายอย่างเป็นไปในทางเดียวกับ Chips & Science Act ของสหรัฐฯ โดยนอกจากจะคำนึงถึงเสถียรภาพการเข้าถึงปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์อย่างชิปและแร่ธาตุหายาก และการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงด้วยตนเองผ่านการร่วมลงทุนโดยภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังรวมถึงการป้องกันไม่ให้ความลับ ‘เทคโนโลยีอ่อนไหว’ ที่อาจใช้ในด้านการทหารแพร่งพรายออกไปยังชาติที่ไม่พึงประสงค์ด้วย

พลวัตใหม่ในความสัมพันธ์: จีนก็ใช่ย่อย ญี่ปุ่นก็ไม่ยอม

มีข้อสังเกตและข้อถกเถียงที่น่าสนใจเกิดขึ้น ณ เวลานี้ว่า เพราะความเคลื่อนไหวของฝ่ายญี่ปุ่นจากการเลือกข้างเข้าหาสหรัฐฯ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านความมั่นคงกรอบใหม่ๆ ไปจนถึงการหันไปเน้นยุทธศาสตร์และการทหารมากขึ้น อย่างการตั้งเป้าเพิ่มงบกลาโหมและหาทางติดอาวุธโจมตีฐานบัญชาการของศัตรู สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์กับจีนเสียสมดุลและกลับเข้าที่ไม่ได้สักที การที่ญี่ปุ่นกล้าแสดงจุดยืนเป็นแนวร่วมความมั่นคงกับไต้หวันดูจะสะท้อนความเสื่อมลงของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองฝ่ายได้ดี

แต่อีกด้านของเหรียญ คนที่เห็นใจญี่ปุ่นอาจแย้งว่าที่ญี่ปุ่นเคลื่อนไปทิศทางนี้ก็เป็นเพราะแรงกระเพื่อมที่มาจากจีนต่างหาก เท่าที่ผ่านมาจีนล้มเหลวในการพิสูจน์ตัวเองว่าจะ ‘พัฒนาอย่างสันติ’ ไม่แสวงหาความเป็นเจ้าและไม่แทรกแซงหรือบีบบังคับชาติอื่น อาจมองได้ว่าจีนเสื่อมมนต์ขลังในการเป็นแหล่งผลประโยชน์ให้แก่ชาติข้างเคียงลงแล้วหรือไม่ ทั้งยังเผยให้เห็นความเสี่ยงที่ชาติผู้พึ่งพิงจีนต้องเผชิญ เหตุการณ์เพียงในปีที่ผ่านมาได้ลดความน่าเชื่อถือและพลังปลอบประโลม (reassurance) ไม่ให้ชาติอื่นหวาดระแวงของจีนลงไปไม่น้อย

อาจารย์คิทะโอกะ เขียนไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้วในบทความที่สนับสนุนให้ญี่ปุ่นเร่งทบทวนข้อจำกัดทางทหาร เขาเน้นว่าญี่ปุ่นตอนนี้ดูอย่างไรก็ไม่ใช่ชาติที่จะเป็นผู้ก่อสงครามได้ แต่จีนต่างหากที่เวลานี้มีองค์ประกอบครบทุกประการที่เคยชักพาญี่ปุ่นให้เริ่มสงครามใหญ่ครั้งนั้น ไม่ว่าความพยายามแสวงหาทรัพยากรมาป้อนเศรษฐกิจ  ความภาคภูมิใจในชาติและกำลังทหาร การเมินเฉยต่อกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ การมีรัฐบาลเผด็จการที่ประชาชนวิจารณ์ไม่ได้ ทั้งยังไม่สามารถควบคุมความประพฤติของทหารได้อย่างทั่วถึง

การเห็นจีนยกระดับการใช้วาทะดุดันโต้ตอบคำวิจารณ์อย่างที่เรียกกันว่า ‘การทูตนักรบหมาป่า’ (wolf warrior diplomacy) ในช่วงวิกฤตโควิดดูจะตอกย้ำความเห็นข้างต้นของคิทะโอกะมากกว่าจะช่วยชูภาพลักษณ์สงบสันติอย่างที่จีนป่าวร้อง ล่าสุดปฏิกริยา ‘แบบเผชิญหน้า’ ยังลามมาในหมู่กองกำลังที่คอยลาดตระเวนน่านฟ้าและสกัดเครื่องบินชาติอื่นบริเวณทะเลจีนใต้ มีรายงานว่าเครื่องบินสหรัฐฯ ออสเตรเลียและแคนาดาต่างต้องหลบเลี่ยงการเฉี่ยวชนจากเครื่องบินรบจีนที่บินผาดโผนแบบ ‘เสี่ยงภัยและไม่เป็นมืออาชีพ’ (unsafe and unprofessional)

รัฐมนตรีช่วยกลาโหมสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงอินโดแปซิฟิก Ely Ratner ตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมบินเข้าใกล้อากาศยานของชาติอื่นซึ่งอาจก่ออุบัติเหตุเฉี่ยวชนจนลุกลามเป็นชนวนความขัดแย้งใหญ่ได้นั้นกำลังเกิดถี่ขึ้นเหมือนเป็น ‘รูปแบบ’ (pattern) อย่างหนึ่งซึ่งอาจสะท้อน ‘เทรนด์’ ในหมู่เจ้าหน้าที่กองกำลังที่ดูจะมีความมั่นใจส่วนตัวและกล้าบ้าบิ่นมากขึ้น หรือไม่นี่ก็อาจเป็น ‘นโยบาย’ ของรัฐบาลซึ่งก็สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวที่มีมาก่อนอย่างการออกกฎหมาย Coast Guard Law เมื่อปี 2021 ให้เรือยามฝั่งจีนใช้กำลังกับเรือที่ล่วงล้ำน่านน้ำที่ตนอ้างกรรมสิทธิ์ได้

การใช้วิธีข่มขู่เป็นแนวทางตอบโต้ชาติอื่นเช่นนี้ตอกย้ำวาทกรรมของญี่ปุ่นที่ว่า “จีนมีเจตนาที่จะใช้กำลังเปลี่ยนสภาพและระเบียบที่เป็นอยู่ในภูมิภาค” นี่ยังเห็นได้จากเทคนิกวิธี ‘รังควาน’ ด้วยการใช้กองกำลังหลากชนิดหลายรูปแบบอย่างที่คาดเดาได้ยากกดดันชาติข้างเคียงที่มีข้อพิพาททางทะเล หรือที่เรียกว่า ‘ยุทธศาสตร์แดนสีเทา’ (gray-zone strategy) เมื่อปีที่แล้วขณะที่จีนซ้อมรบขนานใหญ่เพื่อตอกกลับการเยือนไต้หวันของแนนซี่ เพโลซี ขีปนาวุธหลายลูกก็ถูกยิงเข้าไปตกในเขตน่านน้ำของญี่ปุ่น

โควิดกับการคลายมนต์ขลังทางเศรษฐกิจจีน

ท่าทีเช่นนี้ทำให้คำถามพื้นฐานที่สุดที่ว่าจีนจะก้าวเป็นมหาอำนาจแบบไหน จะ ‘มีสำนึกรับผิดชอบ’ หรือ ‘สั่นคลอน’ (revisionist) ระบบระเบียบ ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของญี่ปุ่นสำหรับวางแนวทางรับมือกับจีน นับวันคำตอบมีแต่จะเอียงเอนไปอันหลังมากขึ้น ผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจที่จีนมีก็ไม่อาจช่วยชดเชยภาพลบที่ขยายใหญ่ในหมู่ผู้นำและผู้คนญี่ปุ่นเท่าไหร่ ความกังวลว่าจีนจะใช้ผู้บริโภค ตลาด และการพึ่งพา ‘เป็นอาวุธ’ (weaponized consumers / interdependence) ก็มีมากขึ้น ซ้ำร้ายการจัดการโควิดแบบ ‘ไม่แคร์สื่อ’ ของจีนยิ่งยืนยันให้เห็นความเสี่ยงหากต้องคบค้าและพึ่งพาจีนต่อไป

การยึดมั่นกับนโนบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ (zero covid policy) อันแปลกแยกจากแนวทางของชาติอื่นในโลกและความดึงดันที่จะปฏิบัติใช้ให้ถึงที่สุดโดยไม่คำนึงถึงเจตจำนงของประชาชนในชาติและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภายนอก อีกทั้งการละทิ้งมาตรการแบบพลิกฝ่ามือเมื่อท้ายปีที่แล้ว ไม่เพียงสร้างความฉงนงงงันแต่ยังตอกย้ำการ ‘กระทำตามอำเภอใจ’ และ ‘คาดเดาได้ยาก’ ของจีนซึ่งไม่ค่อยเข้ากับทัศนคติแบบ ‘หวาดหวั่นความเสี่ยง’ (risk averse) ของคนญี่ปุ่นเท่าไหร่

ล่าสุดเมื่อจีนเปิดเมืองและพรมแดนแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยโดยแทบไม่มีมาตรการที่น่าเชื่อถือใดๆ รองรับ รัฐบาลกลับใช้ท่าทีข่มขู่สไตล์นักรบหมาป่าบังคับให้นานาชาติปฏิบัติต่อชาวจีนที่ฉีดแต่วัคซีนท้องถิ่นและกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหญ่ โดยไม่แบ่งแยกกีดกัน ไม่ตั้งมาตรการพิเศษเพิ่มเติมเฉพาะกับคนจีน การงดออกวีซ่าให้ชาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พักใหญ่ฐานที่ไม่ทำตาม ‘คำสั่ง’ ดังกล่าว ดูจะเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุและมองได้ว่าเป็นการกะเกณฑ์การตัดสินใจกิจการภายในของรัฐอื่น

ปฏิกริยาล่าสุดในเรื่องชิปของญี่ปุ่นเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทและบทเรียนเช่นนี้ เพื่อความเป็นเอกภาพและเบ็ดเสร็จในมาตรการร่วมกับสหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นมีแผนจะปรับกฎเกณฑ์ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนและการค้าต่างประเทศ (Foreign Exchange and Foreign Trade Act) ของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) เพื่อให้การส่งออกอุปกรณ์ทำชิปขั้นสูงบางประเภทต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลก่อน และเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมารัฐบาลก็เพิ่งผ่านร่างกฎหมายที่จะช่วยผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ในญี่ปุ่นควบคุมข้อมูลอ่อนไหวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม่ให้รั่วไหล ซึ่งสอดคล้องไปกับความพยายามนี้

ญี่ปุ่นบนดุลยภาพใหม่ในการคบค้าสมาคมกับจีน

แม้บางฝ่ายชี้ว่ามาตรการนี้มีแต่จะผลักให้จีนหาทางวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองจนได้ในท้ายที่สุด แต่เห็นได้ชัดว่าญี่ปุ่นหวังที่จะ ‘สกัด’ หรือไม่ก็ ‘ชะลอ’ การพัฒนาศักยภาพทางทหารของจีนผ่านความร่วมมือหลายฝ่ายนี้ โดยถือเป็นโอกาส ‘ขยายวิธีการ’ จัดการภัยทางทหารจากจีน จากเดิมที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมกลไกป้องปรามด้วยการเพิ่มพูนแสนยานุภาพและจับกลุ่มพันธมิตรเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีน แน่นอนว่ามาตรการนี้หมายถึงการจำกัดและตัดลดผลได้เชิงการค้าและธุรกิจของตนเองลง แต่นั่นก็เป็นการสละที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ

ในอีกแง่ อาจมองมาตรการนี้ว่าคือรูปธรรมของหลักการ ‘economic security’ ที่นำออกมาใช้ในทางปฏิบัติ ลำพังญี่ปุ่นฝ่ายเดียวคงไม่อาจสร้างผลกระทบสำคัญในการปิดกั้นเทคโนโลยีได้สักเท่าไหร่ ดังนั้นการมีสหรัฐฯ เป็นตัวริเริ่มและประสานจึงเป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นแปลงยุทธศาสตร์บนหน้ากระดาษเป็นเครื่องมือที่หวังผลจริงจังได้ เราจึงเห็นท่าทีที่ตอกย้ำการเลือกข้างเข้าหาสหรัฐฯ โดยปรับมาตรการให้ล้อกับสถานการณ์การแบ่งขั้วระหว่างฝั่งจีนกับฝั่งมิตรชัดเจนยิ่งขึ้น

กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าญี่ปุ่นจะหันไปหาแนวทางสุดโต่งที่ได้ยินหนาหูขึ้นอย่างการแยกห่าง ‘หย่าร้าง’ จากกัน (decouple) ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลยังคงเห็นประโยชน์จากการ ‘หาสมดุลใหม่’ ระหว่างการผูกมิตร (engage) และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ กับการสกัดกั้น (contain) เรากำลังเห็น ‘การเลือกประเด็นคบค้า’ เป็นแนวโน้มใหม่ในความสัมพันธ์กับจีนโดยใช้ความมั่นคงเป็นเกณฑ์พิจารณามากกว่าเพียงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สอดคล้องไปกับท่าทีแบบเดียวกันทางฝั่งสหรัฐฯ

อากิระ อะมะริ แกนนำในพรรค LDP ผู้ที่มีส่วนผลักดันเรื่องอุปทานด้านชิปได้ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อไม่นานมานี้ว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ห้ามการส่งออกชิปและอุปกรณ์ไฮเทคอื่นๆ ที่ใช้เชิงพาณิชย์ไปยังจีน ขณะที่ผสานกับชาติแนวร่วมว่าเทคโนโลยีรูปแบบไหนบ้างที่ถือว่าอ่อนไหวในด้านการทหารและควรต้องควบคุมร่วมกัน เขาเน้นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องไม่เกื้อหนุนให้จีนพัฒนาแสนยานุภาพ แต่การตัดขาดกับจีนก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (unrealistic)

ความเห็นของอะมะริเป็นตัวแทนสะท้อนพลวัตใหม่ในความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีนยุคหลังวิกฤตโควิดที่คงจะเห็นจีนกลับมาคบค้าสมาคมกับนานาชาติ แต่ท่าทีด้านการทหารและการทูตที่หันเหไปทางดุดันได้ทำให้หลายชาติรวมถึงญี่ปุ่นปรับดุลยภาพใหม่ในการเข้าหาจีน โดยมีบริบทการลดลงของความเชื่อใจและระแวดระวังความเสี่ยงเป็นปัจจัยขับเคลื่อน

ขณะที่ญี่ปุ่นหันมาหาการเลือกประเด็นคบค้าและกีดกันการเข้าถึงวัตถุดิบและปัจจัยบางอย่างเป็นแนวทาง แต่ในอีกด้านก็ขึ้นอยู่กับจีนไม่น้อยว่าจะมีปฏิกริยาต่อเรื่องนี้อย่างไร คงไม่ใช่เพียงฝ่ายญี่ปุ่นที่จะบอกได้เองว่าสมดุลใหม่จะดำเนินต่อไปด้วยดี ถ้าจีนยังคงท่าทีแบบที่ตอกย้ำความห่วงกังวลและความเกรงกลัวภัยของชาติต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค

อ้างอิง


Kitaoka, Shinichi. “Peace in the Modern Era and the Right of Collective Self-Defense.” Asia-Pacific Review 20. no. 2 (2013): 81-95.

Johnson, Jesse. “‘Only a Matter of Time’: Warnings of China-US Military Miscalculation Grow.” The Japan Times (Jul 27, 2022)

Mochizuki, Takashi, Yuki Furukawa and Yuki Hagiwara. “Japan’s Chip Czar Backs US Push to Contain Chinese ‘Hegemony’.” The Japan Times (Jan 20, 2023)

Japan Cabinet Oks Bill to Help Defense Industry, Tighten Info Security.” Kyodo New (Feb 10, 2023),

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save