fbpx
วันนี้คนจีนอ่านอะไร และวัยรุ่นไทยอ่านอะไรของจีน?

วันนี้คนจีนอ่านอะไร และวัยรุ่นไทยอ่านอะไรของจีน?

เมื่อสักหกสิบปีก่อน มังกรหยกและเหล่ายุทธจักรนิยายผาดโผนลอยเด่นอยู่กลางหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งฮ่องกง ไต้หวัน ไทย และทะยานไปทั่วบรรณพิภพภาษาจีนของชาวจีนโพ้นทะเล ทำเอาผู้อ่านชาวไทยติดกันงอมแงม ก่อนจะนำไปสู่ยุทธภพกำลังภายในที่ต่อยอดยาวนาน ทั้งที่เป็นหนังสือเล่มและเป็นละครทีวี ฝังอยู่ในใจคนรุ่นก่อนจนใช้คำเปรียบจากสำนวนกำลังภายในมาเทียบกับสังคมการเมือง

แต่มาวันนี้ที่ภาวะความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) ได้แทรกซึมไปทุกวงการและไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ การศึกษา การลงทุน และการเข้าถึงโซเชียลมีเดียที่แตกต่างระหว่างยุครุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังก้าวไปถึงโลกวรรณกรรมอีกด้วย

แม้มังกรหยกและสามก๊กจะยังคงถูกกล่าวถึงอยู่ในปัจจุบัน แต่นักเขียนรุ่นใหม่ของจีนก็หยิบเรื่องราวนี้มาตีแผ่ วิเคราะห์ เล่าเรื่องเสียใหม่อย่างพิสดาร เท่านั้นยังไม่พอ เหล่านักเขียนยุคใหม่ของจีนที่กำเนิดขึ้นในโลกดิจิทัลและเผยแพร่นิยายทางเว็บไซต์นิยายออนไลน์ ยังได้ขุดเอาสามตำราห้าคัมภีร์ ประวัติศาสตร์จีนแนวใหม่มาสร้างสรรค์นิยายของตัวเองอย่างกว้างขวาง ก้าวล้ำไปกว่ายุทธจักรนิยายหรือแนวคิดจีนดั้งเดิมอย่างน่าอัศจรรย์ สร้างรายได้ผ่านยอดวิวและยอดจ่ายเงินมหาศาล และถูกนำไปดัดแปลงเป็นละคร แอนิเมชัน และสื่อต่างๆ มากมาย

ฉะนั้น หากเรายังมองนิยายจีนว่ามีอยู่แค่สามก๊ก มังกรหยก กระบี่ไร้เทียมทาน อาจจะตามไม่ทันความคิดของจีนสมัยใหม่เสียแล้ว

คนจีนในวันนี้อ่านนิยายจากที่ไหน?

ในโลกภาษาจีน มีเว็บไซต์นิยายออนไลน์มากมายยิ่งกว่าดาวบนฟ้า แต่สุดยอดเว็บไซต์นิยายออนไลน์อันดับหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ ก็เห็นจะไม่พ้น ฉีเตี่ยนจงเหวิน 起点中文网 อันเป็นแหล่งกำเนิดนิยายยอดฮิตที่แปลงเป็นซีรีส์นับไม่ถ้วน

ฉีเตี่ยนจงเหวิน กำเนิดขึ้นเมื่อปี 2002 ในฐานะเว็บไซต์ที่สนับสนุนการเขียนนิยายเผยแพร่ของชาวเน็ตจีน ก่อนที่จะได้รับความนิยมจนทะยานขึ้นมาเป็นเว็บไซต์นิยายออนไลน์อันดับหนึ่ง มีนักเขียนเข้ามาลงทะเบียนมากกว่า 20 ล้านคน และมียอดผู้เข้าชมมากกว่าวันละ 200 ล้านครั้ง ด้วยกระแสนิยมที่เกิดขึ้นทำให้ในปี 2008 กลุ่มบริษัท Shanda ผู้ผลิตเกมและคอนเทนต์ในอินเทอร์เน็ตเข้าซื้อกิจการเว็บไซต์ด้วยมูลค่ากว่า 220 ล้านหยวน และในปี 2017 ยังได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Tencent จนสามารถเปิดเว็บไซต์นิยายจีนแปลภาษาอังกฤษ อย่าง เว็บไซต์เว็บโนเวล ซึ่งเป็นเสมือนท่าส่งออกนิยายจีนสู่โลกสากลอย่างเป็นทางการ ที่แม้แต่เว็บโนเวลญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถทำตามได้

หลังจากนั้น ฉีเตี่ยนจงเหวินก็กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านนวนิยายของจีน มีการออกร้านตามงานต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ งานด้านวรรณกรรม การ์ตูน นวนิยายกำลังภายใน จนถึงการดัดแปลงนวนิยายเพื่อผลิตลงสื่อต่างๆ อย่างครบวงจร (Media Mix) เทียบเท่าได้กับบริษัทคาโดคาวะของญี่ปุ่น และได้สร้างพลังเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) ที่แกร่งกล้าระลอกใหม่สู่โลกเอเชียตะวันออก เพื่อแข่งขันกับประเทศเกาหลีและประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์นิยายออนไลน์ลำดับรองๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น ชวงสือจงเหวิน 創世中文網 ที่เน้นนิยายแนวกลับชาติมาเกิด จินเจียงเหวินเซวี่ยเฉิง 晉江文學城 ที่เน้นนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งต่างได้รับความนิยมลดหลั่นกันไป

นิยายแนวไหนบ้างที่คนจีนยุคนี้ชอบอ่าน?

ความนิยมของ ‘บุพเพสันนิวาส’ ในโลกนิยายไทย ไม่ใช่ความบังเอิญหรือความโหยหาอดีตตามที่นักวิชาการสังคมศาสตร์ไทย (ซึ่งอาจไม่ค่อยอ่านนิยาย) เคยวิเคราะห์กัน แต่แนวเรื่องข้ามชาติข้ามภพมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอดีตกำลังเป็นที่นิยมในแวดวงวรรณกรรมและนวนิยายโลก ไม่ว่าจะในโลกนิยายญี่ปุ่นและข้ามมาถึงวงการนิยายจีน

สำหรับนิยายเรื่องแรกของนิยายแนวย้อนกลับมาแก้ไขอดีต หรือ ชวนเยว่ (穿越) คือเรื่อง ซวินฉินจี่ 寻秦记 (เจาะเวลาหาจิ๋นซี, สยามอินเตอร์บุ๊คส์) ของหวงอี้ เมื่อปี 2001 ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปแต่นิยายแนวนี้ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นแนวเรื่องหลักของนิยายออนไลน์จีน นอกจากนี้ยังมีการแปรเปลี่ยนแนวนิยายให้ตัวเองที่เป็นผู้หญิงสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขอดีตด้วยความรู้ต่างๆ อย่างเช่นเรื่อง ปู้ปู้จิงซิน  步步惊心 (เจาะมิติพิชิตบัลลังก์, สยามอินเตอร์บุ๊คส์) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์จินเจียง ก่อนจะฮิตถล่มทลาย ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครในเวลาต่อมา

อีกแนวหนึ่งที่แตกต่างจากนิยายกำลังภายในรุ่นก่อน (อู๋เซี่ย หรือ บู๊เฮี้ยบ) คือแนวเทพเซียน 仙侠 (เซียนเซี่ย) ที่เล่าถึงยุทธจักรนักรบที่ใช้พลังเทพเซียนมากกว่าจะใช้กำลังภายใน และต่อสู้ด้วยพลังวิเศษเหนือมนุษย์ ขี่กระบี่ทะยานฟ้า ให้บรรยากาศเหมือนเกมออนไลน์ เรื่องได้ที่รับความนิยมล้นหลาม เช่น เรื่องม่อต้าวจู่ซือ 魔道祖师 (ปรมาจารย์ลัทธิมาร, เบเกอรี่บุ๊ค) ที่ถูกนำมาทำเป็นซีรีส์ภายใต้ชื่อ The Untamed ซีรี่ส์เรื่องดังที่ทำเอาสาวๆ ทั้งจีน เกาหลี และไทยคลั่งไคล้ติดตามเป็นแฟนคลับเหล่านักแสดงนำจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ดั่งเมื่อสองปีก่อน

นอกจากนี้แนวนิยายอิงประวัติศาสตร์แบบที่ไม่มีการกลับชาติมาเกิด ก็ได้รับความนิยมต่อเนื่องเช่นกัน อย่างเรื่อง เต้ามู่ปี่จี 南派三叔 (บันทึกจอมโจรแห่งสุสาน, สยามอินเตอร์บุ๊คส์) ก็ทำยอดขายในจีนได้กว่าร้อยล้านเล่ม

ส่วนแนวเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ก็เช่น แนวเกมออนไลน์ ที่มีสไตล์แตกต่างจากแนวเกมออนไลน์ญี่ปุ่น โดยเน้นไปที่การฉายภาพชีวิตเกมเมอร์อาชีพในฐานะนักกีฬา อย่างเรื่อง ฉวนจื๋อเกาโส่ว 全职高手 (เทพยุทธ์เซียนกลอรี่, สยามอินเตอร์บุ๊คส์) ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นแอนิเมชันและซีรีส์คนแสดง เป็นต้น

นักเขียนชื่อดังรุ่นใหม่ของจีนคือใคร?

แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะสรุปหาสุดยอดนักเขียนของจีนยุคปัจจุบัน แต่เมื่อปี 2015 เว็บไซต์ wuxiaworld ได้รวบรวมนักเขียนที่มียอดอ่านมากที่สุด และได้รับการวิจารณ์ รวมถึงมีผลงานที่ทำเงินสูงสุดและได้รับการดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ มา 12 คน (ซึ่งส่วนมากมีนามปากกาแปลกๆ ต่างจากชื่อหรือนามแฝงของนักเขียนรุ่นก่อน)

ชาวเน็ตจีนได้ให้สมญานามนักเขียนทั้งสิบสองคนนี้ว่า ‘เหล่าเทพโอลิมเปียนแห่งนิยายจีนยุคใหม่’ ได้แก่

  • จิ่วถู (酒徒; ไตรภาคสุ่ยถัง, ไฟรักไฟสงคราม) ผู้ริเริ่มยุทธจักรนิยายอิงประวัติศาสตร์แบบใหม่ ได้รับรางวัลวรรณกรรมจีนสองสมัยติดกัน
  • มาวนี่ (猫腻; สยบฟ้าพิชิตปฐพี, หาญท้าชะตาฟ้าปริศนายุทธจักร) นักเขียนที่เขียนนิยายจนได้ทำเป็นละครแทบทุกเรื่อง
  • เยี่ยกวน (月關; พยัคฆราชซ่อนเล็บ, ย้อนเวลาขึ้นเป็นอ๋อง) นักเขียนที่ได้รับรางวัลคีย์บอร์ดทองคำจากเว็บไซต์ฉีเตี่ยนจงเหวิน และมียอดหนังสือที่ถูกยืมมากที่สุดในห้องสมุดไต้หวัน
  • ถังเจียซานเส้า (唐家三少; ตำนานจอมยุทธ์ภูตถังซาน, เทียนหัวต้าเต้า แหล่งรวมพลคนชั้นเซียน) นักเขียนที่ถูกบันทึกลงกินเนสส์บุ๊ค ด้วยสถิติเขียนนิยายติดต่อกัน 86 เดือนโดยไม่หยุดสักวันเดียว
  • เฟิงหลิงเทียนเซี่ย (风凌天下; หนึ่งกระบี่พิชิตปฐพี, ตำนานจักรพรรดิหลิงเทียน) 
  • เฟิงฮั่วซีจูโหว (烽火戏诸侯; กระบี่จงมา)
  • เทียนฉานถู่โต้ว (天蚕土豆; สัประยุทธ์ทะลุฟ้า)
  • หว่อชือซีหงสื้อ (我吃西红柿; กระบี่เหินพิชิตฟ้า)
  • ฟางเสี่ยง (方想; ห้าธาตุสะท้านภพ)
  • เมิ่งรู่เสินจี่ (梦入神机)
  • เฉินตง (辰东)
  • หลิ่วเซี่ยฮุย (柳下挥)

คนไทยอ่านนิยายจีนเหล่านี้จากที่ไหน?

แรกที่สุด คนไทยอ่านนิยายจีนแปลเหล่านี้ผ่านการคัดสรรตีพิมพ์ของสำนักพิมพ์ใหญ่ ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลจากตัวหนังสือเล่ม ซึ่งส่วนมากซื้อผ่านทางเอเยนต์ที่ไต้หวันหรือฮ่องกงอีกทอดหนึ่ง ทำให้เวอร์ชั่นตีพิมพ์จะแตกต่างจากเวอร์ชั่นลงเว็บไซต์ โดยสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดฝั่งนิยายแนวกำลังภายใน คือสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ (หรือปัจจุบันเป็นเอสเอ็มเอ็มบุ๊คส์) และฝ่ายนิยายแนวผู้หญิง คือสำนักพิมพ์แจ่มใส

ต่อมาเมื่อเว็บฉีเตี่ยนจงเหวินได้แปลนวนิยายจีนเป็นภาษาอังกฤษ ก็มีนักแปลมือสมัครเล่นชาวไทยหยิบนวนิยายจีนเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาแปลลงเว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์ของไทยอย่าง เว็บไซต์ dek-d เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างเว็บไซต์นิยายออนไลน์ไทยและเว็บไซต์นิยายออนไลน์จีนในการซื้อลิขสิทธิ์นิยายจีนมาแปลลงเว็บไซต์นิยายไทย อย่าง เว็บไซต์ hongsamut และ เว็บไซต์ fictionlog จากบริษัท ookbee บริษัทขายนิยายไทยที่ได้รับการลงทุนจาก Tencent หรือ บริษัท kawebook ที่ซื้อลิขสิทธิ์นิยายจีนมาแปลขายรายตอนจนประสบความสำเร็จอย่างสูง ต้องบอกว่าในบางกรณี ลิขสิทธิ์เว็บโนเวลเหล่านี้จะถูกขายแยกออกจากลิขสิทธิ์การตีพิมพ์เป็นเล่ม ทำให้เราอาจพบนิยายเรื่องเดียวกันแต่ถูกแปลด้วยสำนวนต่างกัน เช่น แบบหนึ่งตีพิมพ์เป็นเล่มวางจำหน่ายตามแผง แต่อีกแบบอ่านได้เฉพาะในเว็บไซต์เท่านั้นอีกด้วย

เราจะอ่านเพื่ออะไร?

หากจะอ่านความเป็นจีนปัจจุบัน ไม่ควรอ่านแค่นิยายกำลังภายในเมื่อยุคหกสิบปีก่อน หรืออ่านแค่จากหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ต้องอ่านนิยายจีนที่โด่งดังจนถูกนำมาทำเป็นซีรีส์ แล้วจะเข้าใจจิตใจ ความหวัง ความฝัน และความทะเยอะทะยานของชาวจีนยุคใหม่

นิยายแนวย้อนเวลาของจีนในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงจากแนวชาตินิยมเพื่อป้องกันศัตรูภายนอกมารุกราน มาเป็นการแผ่ขยายอำนาจอันยิ่งใหญ่ของจีนไปสู่โลก เช่นในเรื่อง ‘พยัคฆราชซ่อนเล็บ’ และ ‘ย้อนเวลาขึ้นเป็นอ๋องของเยี่ยกวน’ ความใฝ่ฝันของตัวละครเอก คือการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงไม่ให้ปิดตัวเองออกจากการค้าโลก และส่งกองเรือมหาสมบัติออกไปยึดครองอาณานิคมก่อนชาติยุโรป เพื่อที่จะได้เป็นมหาอำนาจ

ในส่วนพื้นเรื่องของนิยายจีนแนวอิงประวัติศาสตร์ก็เปลี่ยนแปลงไป จากที่มักจะอิงยุคสามก๊ก ยุคซ่งเหนือใต้ ยุคราชวงศ์ชิง ที่บ่มเพาะความเกลียดชังผู้รุกรานชาวซงหนู ชาวมองโกล ชาวแมนจู ก็กลายมาเป็นเนื้อเรื่องที่อิงในยุคฮั่น ยุคถัง ยุคหมิง ซึ่งถือเป็นยุคเรืองโรจน์สดใส อำนาจชนชาติจีนแผ่ขยายไปไกล และยังยึดครองดินแดนจากต่างชาติมากมายเพื่อให้ยอมสยบต่อความเป็นจีน หรือไม่ ก็ใช้พื้นเรื่องในยุคที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร หรือแม้กระทั่งการกล่าวถึงอารยธรรมโบราณและหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบใหม่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงความเชื่อและแนวคิดประวัติศาสตร์จีนเดิม เช่นอารยธรรมซานซิงตุยในเสฉวน หรือแอ่งอารยธรรมโหลวหลานในทะเลทรายโกบี

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความใฝ่ฝันที่จะก้าวขึ้นทัดเทียมโลกสากลด้วยความภาคภูมิใจผ่านตัวอักษรและนิยาย และแนวคิด จินตนาการ การศึกษา ที่เปิดกว้างมากขึ้นของนักเขียนรุ่นใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่

เสรีภาพของนวนิยาย เสรีภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเห็นพ้องต้องกันกับเว็บโนเวลที่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูเหล่านี้ไปเสียทั้งหมด

เน็ตโนเวลจำนวนหนึ่งที่ ‘ขัดต่อศีลธรรมอันดี’ หรือ ‘มีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสังคม’ ถูกเซ็นเซอร์และลบทิ้ง มีแนวนวนิยายหลายแนวถูกสั่งห้ามไม่ให้เขียนหรืออัพโหลดเผยแพร่ เช่น แนวภูตผีปีศาจ แนว LGBTQI หรือแม้กระทั่งนิยายแนวกลับชาติมาเกิดใหม่ก็ถูกสั่งห้ามในระยะหลัง โดยอ้างว่าจะทำให้ผู้คนอยากตายเพื่อแก้ไขชีวิตปัจจุบัน ทำให้เหล่านักเขียนต้องดัดแปลงไปเป็นแนวย้ายร่างสิงวิญญาณแทน

เรียกได้ว่ามีนักเขียนจีนหลายคนถึงขั้นถูกจับ ปรับ คุมขัง หรือติดคุกเพียงเพราะเขียนนิยายที่รัฐไม่เห็นชอบ

ด้วยเหตุนี้ทำให้นิยายบางเรื่องของจีนต้องแบ่งออกเป็นสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกคือเวอร์ชั่นที่ย้ายมาตีพิมพ์ในไต้หวัน ซึ่งมีเสรีภาพสื่อมากกว่า สามารถเขียนเรื่องราวจากจินตนาการได้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่าฉากติดเรทหรือเนื้อหาความรักแบบ LGBTQI ก็ย่อมเขียนลงไปได้ ส่วนเวอร์ชั่นที่สองคือเวอร์ชั่นที่พิมพ์กลับไปขายในจีน สำหรับเวอร์ชั่นนี้ต้องตัดฉากที่รัฐบาลจีนคิดว่าไม่สมควรออกทั้งหมด ซึ่งเวอร์ชั่นที่นำมาแปลขายในไทยคือเวอร์ชั่นไต้หวันนั้นเอง

นิยายจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับวัฒนธรรมการอ่านหนังสือที่แข็งแกร่ง แต่ก็ยังมีกรอบเสรีภาพในส่วนที่รัฐหวงห้าม สมดุลที่เปราะบางเหล่านี้ ไม่แน่ว่าจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าใด  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save