fbpx

ทางออกและทางตันของปัญหาจีน-ไต้หวัน

คนจีนมักบอกว่า อย่าดูถูกภูมิปัญญาจีน คนจีนมีทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์แบบที่คนชาติอื่นอาจคิดไม่ถึง

งั้นลองเอาปัญหาที่ยากและหนักหนาสาหัสที่สุดอย่างปัญหาจีน-ไต้หวัน อะไรคือความคิดที่สร้างสรรค์ที่สุดเกี่ยวกับแนวทางการรวมชาติจากทั้งฝั่งเหมาเจ๋อตงกับเติ้งเสี่ยวผิงในฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ และเจียงไคเช็กกับเจียงจิงกั๋ว (ลูกชาย) แห่งพรรคก๊กมินตั๋งที่แพ้สงครามกลางเมืองหนีไปเกาะไต้หวัน พร้อมกับคนจีนแผ่นดินใหญ่อีกหลายล้านคนในช่วงสงครามกลางเมือง

ความคิด ‘รวมชาติอย่างสันติ’ ของเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง จริงๆ แล้ว ความหมายแท้จริงคือ บีบให้ไต้หวันยอมแพ้เอง โดยไม่ต้องรบเสียเลือดเนื้อ

เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ไต้หวันยอมแพ้โดยไม่ต้องรบก็คือ สหรัฐฯ เลิกขายอาวุธให้ไต้หวันและเลิกทำให้ไต้หวันรู้สึกถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะมาร่วมรบด้วย หากจีนบุกไต้หวันจริง

ความคิดของผู้นำจีนคือ ถ้าไต้หวันไม่มีอาวุธ (ที่สหรัฐฯ ขายให้) และไต้หวันรู้ชัดเจนว่า สหรัฐฯ ไม่มาช่วยไต้หวันแน่ ไต้หวันย่อมไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก นอกจากจะต้องเจรจารวมชาติกับจีน เพราะไต้หวันไม่มีทางจะรบชนะจีนได้เลย หากจีนบุกไต้หวัน

ดังนั้นหากมองตามตรรกะของจีน สหรัฐฯ นั่นแหละที่เป็นผู้ขัดขวางการรวมชาติอย่างสันติ

ในระยะยาว แรงจูงใจพื้นฐานของจีนในการทำลายความมั่นคงแข็งแรงของสหรัฐฯ อาจไม่ใช่ความต้องการจะเป็นเจ้าโลก แต่เท่ากับความต้องการให้สหรัฐฯ อ่อนแอลง หรือวุ่นวายภายในบ้านจนช่วยเหลือไต้หวันไม่ไหว

สำหรับจีนแล้ว สัญลักษณ์สำคัญของการกลับมารุ่งเรือง (The Great Rejuvenation of the Chinese Nation) คือการที่ชาติจีนเป็นปึกแผ่นอย่างสมบูรณ์ ยิ่งเสียกว่าการที่จีนเป็นเจ้าโลกเสียอีก

ส่วนความคิดสร้างสรรค์ในการรวมชาติของเติ้งเสี่ยวผิงก็คือ แนวคิด ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จีนวางแผนจะใช้ในการเจรจารวมชาติ โดยจีนพร้อมให้คำมั่นว่าไต้หวันจะยังคงรักษาวิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองของไต้หวันไว้ได้ ขออย่างเดียวคือ ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน

แน่นอนว่าในมุมเจียงไคเช็กและเจียงจิงกั๋ว (ลูกชาย) ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานในเกาะไต้หวันหลังสงครามกลางเมืองก็ยืนยันเช่นกันว่า สุดท้ายสองฝั่งต้องเดินไปสู่การรวมชาติ เพียงแต่จะไม่รวมกับโจรคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือสาธารณรัฐประชาชนจีน

เจียงไคเช็กฝันจะนำกองทัพบุกกลับไปยึดแผ่นดินใหญ่ แต่พอถึงยุคของเจียงจิงกั๋วก็เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ในการรวมชาติขึ้น นั่นคือ จะเจรจารวมชาติก็ต่อเมื่อวัฒนธรรมทางการเมืองและความเจริญทางเศรษฐกิจของจีนเทียบเท่ากับไต้หวัน แปลรหัสก็คือ ก็ต่อเมื่อจีนแผ่นดินใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนล่มสลาย และจีนเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย

ลองจินตนาการดูครับว่า ถ้าจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยและพรรคกั๋วหมินตั๋งสามารถกลับไปแผ่นดินใหญ่ลงชิงตำแหน่งผู้นำจีนได้ ก็เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การรวมชาติอย่างสันติได้

ยิ่งถ้าจีนเป็นสหพันธรัฐแบบสหรัฐอเมริกาที่แต่ละมณฑลเลือกตั้งผู้นำและปกครองเป็นเอกเทศ เหลือเพียงบางเรื่องเท่านั้นที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐบาลกลาง ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงที่การรวมชาติจะไม่กระทบกับวิถีชีวิตปัจจุบันของคนไต้หวัน และคนไต้หวันจะไม่รู้สึกว่าวัฒนธรรมเสรีและอัตลักษณ์ของตนจะถูกคุกคาม

สโลแกนของพรรคก๊กมินตั๋งในยุคหนึ่งที่ยังครองอำนาจในไต้หวันอยู่มีอยู่ว่า “ลัทธิไตรราษฎร์จะรวมแผ่นดินจีน” ลัทธิไตรราษฎร์เป็นแนวคิดของซุนยัดเซ็น ผู้ล้มราชวงศ์ชิง ซึ่งวางอยู่บนแนวคิดประชาสิทธิ์ (ชาตินิยม) ประชาธิปไตย (รัฐเสรี) และประชาชีพ (อยู่ดีกินดี)

ชนชั้นนำในไต้หวันจะชี้ว่า วันนี้มีเพียงเกาะไต้หวันเท่านั้นที่เข้าใกล้อุดมคติของซุนยัดเซ็น ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ยังขาดอย่างชัดเจนอยู่หนึ่งข้อคือ เสรีนิยมประชาธิปไตย

ในคำกล่าวของประธานาธิบดีช่ายอิงเหวินของไต้หวันในวันชาติเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็ยังย้ำเน้นว่า จะไม่ยอมให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมาทำลายและกลืนวิถีชีวิตของชาวไต้หวัน นี่เป็นจุดที่ทั้งพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคหมินจิ้นตั๋งของช่ายอิงเหวินต่างก็มีจุดยืนร่วมกัน

ดังนั้น แนวทางสร้างสรรค์ที่สุดของการรวมชาติของชนชั้นนำในเกาะไต้หวันก็คือ การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และจีนเปลี่ยนเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยให้เหมือนกับไต้หวัน

ฝันที่ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง อย่าเพิ่งถามเพียงว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ แต่ลองถามต่อไปด้วยว่าถ้าเกิดขึ้นจริง จะดีหรือเลวร้ายก็ไม่มีใครรู้แน่

มีนักวิชาการการด้านความมั่นคงกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า เผลอๆ ถ้าจีนเป็นประชาธิปไตย โอกาสที่จีนจะทำสงครามกับไต้หวันอาจจะสูงขึ้นด้วยซ้ำ เพราะนโยบายการรวมชาติน่าจะเป็นนโยบายชาตินิยมที่ชาวจีนอาจนิยมชมชอบมาก คล้ายกับที่นโยบายไม่รวมชาติทำให้พรรคหมินจิ้นตั๋งชนะในการเลือกตั้งของไต้หวันมาตลอด

บางคนถึงกับบอกว่า จีนที่มีการเลือกตั้งอาจวุ่นวายและควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจการเมืองโลกยิ่งกว่าจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งอย่างน้อยถ้าคุยกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนรู้เรื่องก็จบ โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังสามารถคุมกระแสสังคมได้ ไม่ให้มีใครมาปลุกความรุนแรงหรือชาตินิยมสุดขั้วจนเกินไป

สรุปก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ในการรวมชาติอย่างสันติของทั้งสองฝ่าย ดูจะเป็นไปไม่ได้ และดูไม่ใช่ทางออก

เพราะสหรัฐฯ ไม่มีทางจะหยุดยุ่งและหยุดสนับสนุนไต้หวัน และยิ่งเมื่อดูสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ก็ไม่มีคนไต้หวันที่ไหนด้วยที่จะสนับสนุนแนวคิด ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ของจีน

ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่เองก็ไม่เห็นเค้าลางใดๆ ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะล่มสลายได้ ดูเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยังคงได้รับความนิยมสูง คนจีนทั่วไปดูจะกลัวประชาธิปไตยที่อาจวุ่นวายและจีนที่อาจแตกเป็นเสี่ยงๆ ยิ่งกว่ากลัวพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ในการรวมชาติของทั้งสองฝ่าย มองจากมุมของจีนยังหมายถึงการทำลายความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เองจะยอมได้อย่างไร ส่วนในมุมของไต้หวันก็หมายถึงการทำลายระบบการเมืองจีน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยอมได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้จึงวกกลับมาที่ทางตันเช่นเดิม

และนี่เองจึงเป็นความจำเป็นที่ทั้งสองฝั่งของคาบสมุทรต้องมีปัญญาเพียงพอที่จะรักษาความกำกวมเช่นในปัจจุบันต่อไป คือ ไต้หวันก็ไม่ประกาศแยกประเทศ ส่วนจีนก็ไม่ประกาศรวมประเทศ

เพราะถ้าไต้หวันประกาศแยกประเทศเมื่อไหร่ จีนก็รบแน่นอน ส่วนถ้าจีนเร่งทำสงครามรวมชาติตอนนี้ ก็หายนะกันหมดแน่

จริงๆ แล้ว ผลึกภูมิปัญญาจีนมีอยู่ข้อหนึ่งคือ อะไรที่เป็นทางตันก็อย่าไปดันทุรังแก้ไขตอนนี้ ปล่อยทิ้งไว้ให้คนในอนาคตเขาจัดการ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save