fbpx
ทำไมคนจีนรุ่นใหม่ไม่ยอมมีลูก?

ทำไมคนจีนรุ่นใหม่ไม่ยอมมีลูก?

มีคำพูดทีเล่นทีจริงในสังคมจีนว่า การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดที่เกิดขึ้นภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ก็คือ จีนที่ชราลงอย่างรวดเร็ว

จีนในยุคของสีจิ้นผิง ด้านหนึ่งอาจดูเหมือนดาวรุ่งพุ่งแรงทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก แต่ในอีกด้านก็เป็นจีนที่กำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เร็วและแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก แถมบัดนี้ต้องเรียกว่าเร็วและแรงกว่าที่นักวิชาการจีนเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้เสียอีก

อัตราการเกิดของจีนในปี ค.ศ. 2020 ท่ามกลางโรคระบาดโควิดและการล็อกดาวน์ ปรับลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 15 แต่ในความเป็นจริง โควิดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอะไรที่ทำให้คนจีนเกิดน้อย เพราะอัตราการเกิดของจีนได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 3 ปีซ้อนแล้ว

ตัวเลขเด็กจีนเกิดใหม่ในปี ค.ศ. 2020 อยู่ที่ 10 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ปีละ 16.3 ล้านคน จะเห็นได้ว่าหากทิศทางยังคงลดลงเช่นนี้ต่อไป ย่อมส่งผลให้โครงสร้างประชากรจีนบิดเบี้ยวหนักอย่างรวดเร็วและรุนแรง และถึงแม้ว่าจีนไม่ได้มีปัญหานี้อยู่ประเทศเดียว พื้นที่เอเชียตะวันออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ล้วนมีปัญหาอัตราการเกิดลดต่ำลงทั้งสิ้น แต่อัตราการเกิดที่ลดต่ำลงของจีนถือว่ารวดเร็วและรุนแรงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกพื้นที่

หลายคนอาจมองว่า รากฐานของปัญหามาจากนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีนที่บังคับใช้มาอย่างยาวนาน แต่ข้อเท็จจริงคือ ในปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนจากนโยบายลูกคนเดียวมาเป็นนโยบายลูกสองคน แต่ปรากฏว่าอัตราการเกิดกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่เพียงสองปี จากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม แสดงให้เห็นว่า ปัญหาคนจีนไม่ยอมมีลูกไม่ใช่เพราะถูกจำกัดจำนวนว่ามีลูกได้เพียงคนเดียวหรือสองคน แต่มีต้นกำเนิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ซับซ้อนกว่านั้น

ดร.เซี่ยกั๋วจง นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของจีนได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำเตี้ยมีต้นตอมาจากโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ที่อาศัยการเคลื่อนย้ายแรงงานราคาถูกจากชนบทเข้าสู่เมือง

ช่วงแรกนั้น ปัญหายังไม่รุนแรง เพราะคนงานอพยพรุ่นแรกยังมีรากเหง้าเชื่อมโยงกับบ้านเกิดในชนบท เมื่อมีครอบครัวก็อาจส่งลูกฝากกลับไปอยู่บ้านเกิดให้ปู่ยาตายายช่วยเลี้ยงดู แต่เมื่อมาถึงยุคของคนงานอพยพรุ่นที่ 2 ในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้กลับขาดรากเหง้าในชนบท ขณะเดียวกันก็ขาดรากเหง้าในเมืองใหญ่ที่ตนเข้ามาทำงานหาเช้ากินค่ำ

คนงานอพยพเหล่านี้เป็น ‘พลเมืองชั้นสอง’ ในสังคมเมืองของจีน เนื่องจากทะเบียนครัวเรือนของพวกเขาและเธอยังผูกติดกับทะเบียนชนบท จึงไม่ได้รับสวัสดิการของคนเมือง ขณะเดียวกัน ค่าครองชีพในเมืองใหญ่ของจีนสูงมาก แรงงานพลเมืองชั้นสองเหล่านี้จึงไม่สามารถเริ่มต้นครอบครัวได้

ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือ ราคาอสังหาริมทรัพย์ของจีน ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ทะยานขึ้นทะลุเพดาน ส่วนหนึ่งมาจากการหารายได้ของรัฐบาลเมืองของจีนที่เป็นเจ้าของที่ดินในเมืองและเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งเมื่อปีที่แล้วท่ามกลางวิกฤตโควิด ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ของจีนกลับพุ่งทะยานสูงขึ้นอีก เพราะเงินอัดฉีดจากรัฐบาลที่ไหลเข้าภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งรัฐบาลยังยอมปล่อยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ร้อนแรงเพื่อกระตุ้นตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจอีกด้วย 

ราคาอสังหาริมทรัพย์มีผลต่ออัตราการเกิด ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน อัตราการเกิดที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ยิ่งในวัฒนธรรมจีนแล้ว ชายหนุ่มผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวจะต้องมีห้องชุดเป็นของตนเมื่อแต่งงาน ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จึงมีผลโดยตรงต่อการเริ่มต้นครอบครัว คนจีนรุ่นใหม่จึงเลือกเช่าห้อง ใช้ชีวิตโสด เล่นอินเทอร์เน็ต ดูหนังฟังเพลง สบายกว่าต้องแบกรับแรงกดดันเรื่องการสร้างและรับผิดชอบครอบครัว

ดร.เซี่ยกั๋วจงชี้ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม เมื่อคนรุ่นหนึ่งเริ่มมีวัฒนธรรมของการใช้ชีวิตโสด ถึงแม้ว่าต่อไปราคาค่าครองชีพจะปรับสมเหตุสมผลขึ้น แต่อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ก็จะไม่กลับมาเป็นปกติเช่นเดิมอีก ตัวอย่างเช่นในญี่ปุ่น แม้การหดตัวของประชากรจะทำให้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกโพละ แต่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ก็ไม่กลับมาแต่งงานและมีลูกในอัตราเดียวกับในอดีต

การหดตัวของประชากรไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องแย่เสมอไป เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ประเทศจีนมีประชากรเพียง 400 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 30 ของประชากรจีนในปัจจุบัน สาเหตุที่จีนใช้นโยบายลูกคนเดียวก็อยู่บนฐานคิดว่า ประชากรล้นประเทศเป็นปัญหาหนักต่อคุณภาพชีวิตและการบริหารจัดการทรัพยากร ปัญหาของจีนในปัจจุบันจึงไม่ใช่การหดตัวของประชากร แต่คือความเร็วและแรงของการหดตัวต่างหาก

ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจอาจปรับตัวไม่ทันกับการลดลงอย่างรวดเร็วของแรงงานวัยทำงาน แถมลองคิดดูสิครับว่า ถ้าคนเกินครึ่งประเทศเป็นคนแก่ คนหนุ่มสาวย่อมแบกรับภาระมหาศาลที่ต้องเลี้ยงดูคนแก่เหล่านั้น

ในการประชุมสภาประชาชนที่ผ่านมา นายกฯ หลี่เค่อเฉียงกล่าวถึงความสำคัญของการรักษาอัตราการเกิดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับใหม่ก็มีบทหนึ่งที่พูดเรื่องการรับมือสังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจน มีการวิเคราะห์ในวงนโยบายว่า ภายในสิ้นปีนี้ จีนอาจจะยกเลิกข้อจำกัดเรื่องจำนวนบุตรในมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุด นอกจากนั้น จีนยังมีแผนจะขยายเวลาเกษียณอายุอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แต่ปัญหาคนจีนรุ่นใหม่ไม่ยอมมีลูกจำเป็นต้องแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือภาระทางเศรษฐกิจและการเป็นพลเมืองชั้นสองของคนงานอพยพ หากต้นเหตุนี้ไม่ได้รับการแก้ไข โครงสร้างประชากรจีนที่บิดเบี้ยวอย่างรวดเร็วและรุนแรงย่อมเป็นระเบิดเวลาก้อนใหญ่ที่สุดที่อาจดับฝันดาวรุ่งมหาอำนาจใหม่อย่างจีน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save