fbpx
เคล็ดวิชารักษาอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ

เคล็ดวิชารักษาอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

“เผด็จการอยู่ไม่ได้หรอกในโลกยุคใหม่”

อาจารย์อาวุโสที่รักประชาธิปไตยท่านหนึ่งเคยบอกผม ด้วยข้อความข้างต้น

ท่านบอกว่าไม่ว่าจะเซ็นเซอร์อย่างไร ความจริงก็ย่อมปรากฏขึ้นได้อยู่ดีในโลกอินเทอร์เน็ตอันกว้างใหญ่ ไม่มีทางที่รัฐเผด็จการจะสามารถปิดเว็บไซต์หรือเซ็นเซอร์ความจริงที่ไม่อยากให้คนรู้ได้ทั้งหมดหรอก

ผมเสียใจที่ต้องทำให้ท่านผิดหวัง แต่ผมเกรงว่า เผลอๆ เผด็จการในโลกยุคใหม่อาจมีวิธีรักษาอำนาจได้ยั่งยืนยิ่งกว่าโลกโบราณเสียอีกครับ

รัฐบาลจีนเป็นเผด็จการ (อันนี้เขาเองก็ไม่เคยเถียงว่าเขาเป็นประชาธิปไตย 99.99% นะครับ เขาเรียกตัวเองว่าเป็นเผด็จการเพื่อประชาชน ประกาศชัดว่าเอาเศรษฐกิจระบบตลาดแบบฝรั่ง เอาเทคโนโลยี 4.0 แบบฝรั่ง ไม่เอาอย่างเดียวคือประชาธิปไตยแบบฝรั่ง) ในบทความนี้ ผมจะไม่ร่วมถกเถียงว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนประเสริฐหรือเลวร้ายอย่างไรนะครับ แต่ผมจะรายงานให้เพื่อนๆ ทราบว่า เขารักษาอำนาจอย่างไรในยุคโซเชียล

กองทัพนักโพสต์

เพื่อนๆ อาจคิดว่า “ไม่เห็นยากเลย พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นชื่อเรื่องเซ็นเซอร์อยู่แล้ว” อืม ก็ถูกส่วนหนึ่งนะครับ แต่ไม่ถูกทั้งหมดเสียทีเดียว พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็รู้เหมือนกับอาจารย์ของผมว่า ไม่มีทางเซ็นเซอร์ได้หมดโลกอินเทอร์เน็ตหรอก

งานวิจัยของ ศาสตราจารย์ แกรี่ คิง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และคณะ พบว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนแทบไม่สนใจจะเซ็นเซอร์มากมายเลยด้วยซ้ำ แต่ใช้วิธีจัดตั้ง “กองทัพนักโพสต์” แฟนคลับรัฐบาลมาโพสต์แข่ง

ที่น่าสนใจกว่านั้น ก็คือ กองทัพนักโพสต์เหล่านี้ไม่ได้มาโพสต์เถียง โพสต์สู้ หรือโพสต์แก้ข้อความโจมตีรัฐบาลแต่อย่างใด หากแต่เน้นโพสต์ข้อมูลด้านบวกของรัฐบาลให้ท่วมโลกอินเทอร์เน็ต คือให้เสียงเชียร์ในเรื่องอื่นๆ กลบข่าวร้ายหรือเสียงต่อต้าน

เคล็ดลับ ก็คือ ให้โพสต์เปลี่ยนเรื่องใหม่ไปเลย จุดประเด็นใหม่ เชียร์ผลงานรัฐบาล ที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับเรื่องที่เขากำลังต่อต้านหรือโจมตี

เช่น พอถึงวันครบรอบเหตุการณ์สังหารโหดที่เทียนอันเหมิน พรรคคอมมิวนิสต์อาจเซ็นเซอร์การค้นคำ “เหตุการณ์เทียนอันเหมิน” ในเว็บไป่ตู้ (คล้ายๆ กูเกิ้ลเมืองจีน) แต่เรายังอาจพอเห็นข้อความเกี่ยวกับความโหดร้ายของเหตุการณ์เทียนอันเหมินได้บ้างในที่ต่างๆ เพียงแต่ว่าในวันนั้น ในโลกโซเชียลจีนจะเต็มไปด้วยโพสต์โปรโมตผลความสำเร็จในรอบ 20 ปี ของรัฐบาล โดยกองทัพนักโพสต์ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดตั้งขึ้น

ยุทธศาสตร์ไม่ด่า ไม่เถียง ไม่ชี้แจง

แต่ …..

ผลการวิจัยเรื่องนี้ มาจากการวิเคราะห์โพสต์ข้อความของกองทัพนักโพสต์จีนจำนวน 167,971 ข้อความ โดยทีมวิจัยได้รับข้อมูลชุดนี้มาจากเจ้าหน้าที่ภายในฝ่ายชี้นำมวลชนของรัฐบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ข้อความเหล่านี้รวบรวมมาจากอีเมลที่กองทัพนักโพสต์ส่งให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อรายงานว่าตนได้โพสต์อะไรในโลกอินเทอร์เน็ตไปบ้าง

โพสต์จำนวนมากเหล่านี้ แทบจะไม่มีข้อความโพสต์ด่า ถกเถียง หรือชี้แจงข้อเท็จจริงกับกลุ่มที่โพสต์ข้อมูลต่อต้านรัฐบาลเลย แต่เกือบทั้งหมดเป็นข้อความเชิงบวก เชียร์ผลงาน ความสำเร็จ ความจริงใจ ความมุ่งมั่น ทุ่มเททำงานของรัฐบาลมากกว่า

นักโพสต์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งรับงานมาช่วยโพสต์สนับสนุนรัฐบาลในเวลาว่าง ทีมวิจัยไม่พบหลักฐานว่ามีการจ่ายค่าตอบแทนให้นักโพสต์เหล่านี้แต่อย่างใด คิดว่าน่าจะถือเป็นส่วนหนึ่งของงาน หรืออาจมีผลต่อการเลื่อนขั้น

ทีมนักวิจัยยังพบว่า โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลจีนไม่ได้เซ็นเซอร์ข้อความวิจารณ์รัฐบาลแต่อย่างใด แถมรัฐบาลกลางยังมีทีมคอยรวบรวมคำวิจารณ์ เพื่อประเมินความนิยมของประชาชน และนำไปปรับปรุงนโยบายด้วย

จะมีโพสต์อยู่เพียงประเภทเดียวที่พรรคคอมมิวนิสต์เซ็นเซอร์อย่างเด็ดขาด นั่นคือ โพสต์ที่อาจนำไปสู่การรวมตัวของมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการล่ารายชื่อในโลกออนไลน์ หรือนัดชุมนุมบนท้องถนน

จากการคำนวณด้วยเทคนิคทางสถิติ พบว่า ในปีที่ผ่านมา กองทัพนักโพสต์ของรัฐบาลจีน (น่าจะมีราว 2 ล้านคน) ได้โพสต์ข้อความเชียร์รัฐบาล รวมประมาณ 448 ล้านข้อความท่วมโลกโซเชียลของจีน ทุกๆ 178 โพสต์ในโลกโซเชียลของจีน จะมี 1 โพสต์ ที่โพสต์โดยกองทัพนักโพสต์ที่จัดตั้งโดยรัฐบาล

เชื่อไหมครับ หลังจากงานวิจัยสนั่นโลกชิ้นนี้เผยแพร่ออกมา รัฐบาลจีนไม่ได้ปฎิเสธผลวิจัยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้มีการกล่าวถึงงานวิจัยเรื่องนี้ พร้อมชื่นชมระบบจัดตั้งชี้นำมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผลงานการชี้นำมวลชนให้สนใจข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างสรรค์ รวมทั้งสรุปด้วยว่าประชาชนจีนส่วนใหญ่สนับสนุนการกระจายข่าวสารที่ถูกต้องและสร้างสรรค์!!

หลายคนไม่รู้ว่า เคล็ดลับของรัฐบาลจีนนี่ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ว่าได้ผลมาก มีผลวิจัยมากมายชี้ว่า “การเถียงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น สู้เปลี่ยนเรื่องไปเลยไม่ได้” เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายไม่ได้เป็นคนมีเหตุผลมากนักหรอกครับ เมื่อใดก็ตามที่มีใครมาเถียงความเชื่อเดิมของเรา เราจะรีบคิดหาเหตุผลมายืนยันหรือปกป้องสิ่งที่เราเชื่อทันที กลายเป็นว่ายิ่งพยายามหาข้อมูลมาเถียงมาหักล้าง กลับยิ่งทำให้คนที่เราเถียงด้วยยิ่งกอดความเชื่อเดิมไม่ปล่อย

แถมยิ่งเถียง ยิ่งชี้แจง ยิ่งจะทำให้เรื่องร้ายๆ ของรัฐบาลได้รับความสนใจมากขึ้นไปอีก

งานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ยังชี้ว่า “ปริมาณสำคัญกว่าคุณภาพของข้อมูล” ถ้าเราได้รับข้อมูลปริมาณมากๆ จากหลายๆ แหล่ง ท่องไปโลกโซเชียลที่ใดก็ตาม เว็บใดก็ตาม เปิดทีวีเมื่อใดก็ตาม ก็เห็นข้อมูลนี้ สมองเราก็มักจะคิดว่าข้อมูลนี้ต้องน่าเชื่อถือมากๆ แน่นอน  แม้ว่าเราจะเห็นข้อความนำเสนอ “ความจริง” อีกด้านอยู่นิดหน่อย เราก็มักจะคิดว่าไม่น่าเชื่อถือ  ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจีนจัดตั้งทีมโพสต์ข้อความเชิงบวกเกี่ยวกับรัฐบาลให้ท่วมโลกโซเชียล จึงได้ผลนัก

รู้ทันเผด็จการยุคโซเชียล

สำหรับผู้ที่ต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก อย่าคิดเข้าข้างตัวเองครับว่า การนำเสนอความจริงอีกด้านผ่านโลกออนไลน์นั้นเพียงพอแล้ว (เผลอๆ กลับจะได้ผลตรงกันข้ามด้วย) ท่านเองน่าจะต้องคิดเรื่องกลยุทธ์บ้าง เช่น ท่านจะกดดันอย่างไรให้รัฐบาลต้องให้ความสนใจประเด็นของท่านและเปลี่ยนเรื่องไม่ได้? ท่านจะขยายวงเผยแพร่ข้อมูลของท่านอย่างไรให้ไปถึงสื่อหลายสำนักและหลายช่องทางมากขึ้น?

เผด็จการยุคใหม่ อาจไม่เหมือนเผด็จการ (หน้าตาโหดร้าย) แบบในอดีต เพราะเขาปรับตัวเปิดพื้นที่ให้คนด่าได้ มุ่งปราบจริงจังเฉพาะคนที่เขาเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม แคร์เสียงตอบรับของประชาชนพอควร

ไม่กลัวโลกโซเชียล แถมมีวิธีปั่นหัวคนในโลกโซเชียลเสียอีกครับ

 

อ่านเพิ่มเติม

  1. งานวิจัยเรื่อง How the Chinese Government Fabricates Social Media Posts for Strategic Distraction, not Engaged Argument ของ Gary King และคณะ ใน American Political Science Review (อยู่ระหว่างตีพิมพ์)
  2. ตัวอย่างงานวิจัยที่ชี้ว่าการให้ข้อเท็จจริงอีกด้านไม่มีประโยชน์ และเผลอๆ จะได้ผลตรงกันข้าม โปรดดู บทความเรื่อง The Backfire Effect: Why Facts Don’t Win Arguments ใน Big Think
  3. ตัวอย่างงานวิจัยที่ชี้ว่าปริมาณสำคัญกว่าคุณภาพของข้อมูล โปรดดู บทความเรื่อง The Russian “Firehose of Falsehood” Propaganda Model ใน The Rand Corporation 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020