fbpx
เศรษฐกิจดิจิทัล ก้าวเดินของไทย ในวันที่ก้าวไกลของจีน

เศรษฐกิจดิจิทัล ก้าวเดินของไทย ในวันที่ก้าวไกลของจีน

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่องและภาพ

“จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” คือวาทะบ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศซึ่งดำเนินมาหลายยุคสมัย ความแน่นแฟ้นนี้ครอบคลุมทุกมิติในสังคม ทั้งวัฒนธรรม เชื้อชาติ รวมถึงการเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญแห่งหนึ่งของไทย นับตั้งแต่ยุคโล้สำเภาเรื่อยมาจนถึงยุคดิจิทัล

ณ ห้วงเวลาที่ไทยกำลังวิ่งตามนวัตกรรม ค่อยๆ ก้าวย่างไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ทีละน้อย รุ่นพี่อย่างจีนก็กลายเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจดิจิทัลไปเรียบร้อย พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในประเทศจีนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดธุรกิจ e-Commerce ขึ้นเป็นวงกว้าง เครือธุรกิจชื่อดังเช่น Alibaba, Jingdong หรือ Tencent ล้วนเติบโตรวดเร็วบนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ และสามารถสร้างผลประกอบการมหาศาล จนพาจีนทะยานขึ้นสู่ตำแหน่งประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และเชื่อกันว่าจะสามารถช่วงชิงความเป็นหนึ่งได้ในอีกไม่นาน

ประสบการณ์และความก้าวหน้าของจีนไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป เมื่อธุรกิจดิจิทัลจากจีนจำนวนมากได้เข้ามาลงทุนในไทย อาศัยมิตรภาพอันแนบแน่น หยิบยื่นความช่วยเหลือและสร้างความร่วมมือทั้งระดับภาครัฐและเอกชน นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้เรียนรู้ถึงเบื้องหลังว่าอะไรคือความท้าทายที่จีนได้เผชิญมาก่อนหน้า อะไรคือการพัฒนาที่จีนประสบผลสำเร็จ อะไรคือบทเรียนจากความล้มเหลว และอะไรคือสิ่งที่จีนกำลังคิดวางแผนต่อไปในอนาคต

 

พัฒนาการเศรษฐกิจดิจิทัลแดนมังกร

พัฒนาการเศรษฐกิจดิจิทัลแดนมังกร, หยางซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
หยางซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

หยางซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่าหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศจีน คือ การแพร่หลายของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ประเทศจีนเพิ่งเริ่มต้นให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2537 เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึง 772 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.8 จากทั่วประเทศ การขยายตัวของจำนวนผู้ใช้งานและความรู้ทางด้านอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากบนพื้นที่ออนไลน์ นอกจากนี้ที่ผ่านมาภาครัฐยังส่งเสริมบรรยากาศอันดีในการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆ และผลักดันความร่วมมือด้านการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรม นำระบบดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนจะสามารถเติบโตได้ว่องไว

อย่างไรก็ตาม หยางซินเห็นว่า แม้จีนจะผงาดอย่างงดงามบนเวทีเศรษฐกิจโลก แต่ช่วง 10 ปีต่อจากนี้คือห้วงเวลาแห่งความท้าทายของการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ จีนตระหนักดีว่า ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น การเตรียมพร้อมทางนโยบายประการแรก ได้แก่ การยกระดับโครงข่ายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงประชากรในพื้นที่ห่างไกล และการสร้างสมดุลการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกภูมิภาค ประการต่อมา จีนยังคงดำเนินตามแผนเดิม คือ สนับสนุนการวิจัย เร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีล่าสุดอย่าง ‘5G’ ภายในประเทศโดยเร็วที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ จีนยังต้องเตรียมความพร้อมในการสร้างมาตรการกำกับดูแลและกฏระเบียบด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อป้องกันความยุ่งเหยิงที่อาจตามมาจากปริมาณของธุรกิจออนไลน์จำนวนมาก รวมถึงเพิ่มการอบรมบุคลากรด้านดิจิทัลเพื่อรองรับประเภทงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอนาคต

หยางซินยังเชื่อว่า ความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างจีนและไทยจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศ การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของเครือธุรกิจชื่อดัง เช่น Alibaba และ Huawei คือสัญญาณความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอันดีระหว่างไทย-จีน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญในขั้นต่อไปคือ การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกัน ได้แก่ การสร้างเส้นทางขนส่งด้านการค้าตามโครงการ ‘One Belt, One Road’ หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ในไทย การเปิดโอกาสส่งออกสินค้าจากไทยสู่ตลาด e-Commerce ของจีน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการอบรมบุคลากรดิจิทัลในไทย

หยางซินทิ้งท้ายว่า “ประเทศไทยนับเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของจีน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลนี้กล่าวได้ว่าเป็นชัยชนะร่วมกันที่จะนำผลประโยชน์มาสู่ประเทศทั้งสองตามความมุ่งหวัง”

เห็นโอกาสจากปัญหา : แนวคิดธุรกิจ Alibaba

Alibaba ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจ e-Commerce แนวหน้าจากแดนมังกร ซึ่งแผ่ขยายชื่อเสียงและอิทธิพลไปทั่วโลก เจมส์ สู รองประธานคณะผู้แทนประจำประเทศไทย Alibaba Group เล่าถึงเส้นทางการเดินทางจากจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2542 สู่จุดรุ่งโรจน์ในวงการว่า เบื้องหลังความสำเร็จมาจาก ‘ปัญหา’ การประกอบธุรกิจค้าปลีกภายในประเทศจีนที่สร้าง ‘โอกาส’ ให้แก่ธุรกิจออนไลน์

ปัญหาของธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนอาจเป็นสิ่งที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง นั่นคือ การมีข้อจำกัดในแง่ปัจจัยการผลิต เช่น พื้นที่ในการตั้งร้านค้าในประเทศจีนมีน้อยเกินไป คับแคบเกินไป ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ อุปกรณ์และเครื่องมือมีความล้าหลังกว่าประเทศอื่น ระบบเงื่อนไขการกู้เงินลงทุนจากธนาคารไม่เอื้ออำนวยแก่ธุรกิจรายเล็ก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อ Alibaba สร้าง Platform เป็นพื้นที่ร้านค้าบนโลกดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย จึงได้รับกระแสตอบรับอย่างท่วมท้น

“Alibaba เปรียบเหมือนดินและน้ำ ช่วยส่งเสริมให้ต้นไม้หรือเหล่าธุรกิจค้าปลีกสามารถเติบโตได้ดี” เจมส์ สู กล่าว

Platform ร้านค้าออนไลน์สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่ธุรกิจค้าปลีก ด้วยข้อดีด้านต้นทุนต่ำ กำไรสูง ขนาดพื้นที่ร้านไม่จำกัด ลูกค้าแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมวันละหลายพันคนจากทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งยังเริ่มต้นทำได้อย่างง่ายดาย การมองหา Platform ที่ดีและมีผู้ใช้งานจำนวนมากจึงกลายเป็นตัวเลือกแรกของผู้ประกอบการในประเทศจีนแทนการเปิดหน้าร้านขายสินค้าแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ Alibaba เองก็ใช้มาตรการสนับสนุนผู้ใช้บริการอย่าง SMEs หรือสตาร์ทอัพ อาทิ taobao.net ระบุให้การเปิดร้านที่มีต้นทุนต่ำกว่า 30,000 หยวน (15,000 บาท) ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และมีระบบเปิดให้กู้เงินกับทางบริษัทเพื่อนำไปลงทุน ดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายใหม่กระโจนลงไปเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างเม็ดเงินให้กับ Alibaba

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เจมส์ สู เล่าว่าในช่วงแรกเริ่มนั้น Alibaba ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น และต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในเรื่องความรู้ด้าน e-Commerce และระบบ e-Payment ที่ยังไม่แพร่หลายในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นเก่ามักจะมีความหวาดระแวงต่อการซื้อขายออนไลน์เสมอ จนกระทั่งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและความรู้เข้าถึงประชากรเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ธุรกิจเติบโตตามไปด้วย

จากประสบการณ์ของ Alibaba ในจีน เจมส์ สู เห็นว่าธุรกิจ e-Commerce ของไทยมีศักยภาพที่พัฒนาได้สูงจากการมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจำนวนมาก Alibaba จึงเข้ามาลงทุนร่วมกับไทยโดยมีเป้าหมายด้านพัฒนาโลจิสติกส์ สนับสนุนการค้าการส่งออกของธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจดิจิทัลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมบุคลากรดิจิทัลต่อไป

e-Commerce Park : ต้นแบบพื้นที่เรียนรู้เศรษฐกิจดิจิทัลจากจีน

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ ETDA
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ ETDA

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ ETDA ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยปัจจุบันถูกขับเคลื่อนโดย SMEs และธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนั้นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยควรเป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญ

หนึ่งในกุญแจแห่งความสำเร็จด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศจีนที่เป็นต้นแบบน่าสนใจสำหรับประเทศไทย คือแนวคิดการสร้าง e-Commerce Park หรือพื้นที่รวมตัวของเหล่าธุรกิจ e-Commerce คล้ายสมาคมดิจิทัล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มอบความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน e-Commerce Park จะอำนวยความสะดวกให้ SMEs รุ่นใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้มากขึ้น ช่วยขยับขยายการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงสามารถร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเพื่ออบรมนักศึกษาเข้าสู่สายงานด้าน e-Commerce ในอนาคต

เช่นเดียวกับเจมส์ สู จาก Alibaba สุรางคณากล่าวว่าโอกาสในการบุกตลาดดิจิทัลของประเทศไทยยังมีอยู่สูงมาก ด้วยสัดส่วนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายยิ่งกว่าประชากรในประเทศจีน การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจากเครือธุรกิจจีนมิได้หมายถึงการเสียโอกาสทางการค้าให้กับต่างประเทศ เพราะที่แท้แล้วจีนเองก็คือตลาดสำคัญของสินค้าไทย ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นใบเบิกทางสำคัญไปสู่การเติบโตของธุรกิจไทยที่ดีกว่า

ทว่าโจทย์ใหญ่ที่ไทยควรคิด คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบสังคมให้เข้ากับเทคโนโลยี สร้างกฎระเบียบ การกำกับดูแลเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล และความตระหนักให้แก่คนทั่วไปว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ในการจะตอบโจทย์เหล่านี้ สุรางคณามองว่า “ความต่อเนื่องของนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ”

                  

Digital Disruption : สังคมจีนยุคใหม่ ภาพจำลองของสังคมดิจิทัล

วชิระชัย คูนำวัฒนา กรรมการผู้จัดการ Innovation Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด
วชิระชัย คูนำวัฒนา กรรมการผู้จัดการ Innovation Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว การเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ Digital Disruption เป็นสิ่งที่สังคมไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ “ถ้าอยากเห็นอนาคต ต้องไปดูที่เมืองจีน”

วชิระชัย คูนำวัฒนา กรรมการผู้จัดการ Innovation Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เกริ่นถึงพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมในจีนว่า ได้มีการปรับตัวกับ Digital Disruption ทั้งในภาคธุรกิจและการดำเนินชีวิตเป็นอย่างดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ‘สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)’ ซึ่งเป็นผลจากการที่ระบบดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนวิธีการการทำธุรกรรมทางการเงิน

สำหรับคำถามที่ว่า อุตสากรรมก่อสร้างซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างไรนั้น วชิระชัยในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ เชื่อว่าแม้ในวันนี้จะยังไม่เห็นเค้าลางที่ชัดเจน แต่สำหรับอนาคตอันใกล้ Digital Disruption ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่มธุรกิจ เพราะหัวใจของการเปลี่ยนไปสู่สังคมดิจิทัลคือการที่ ‘ผู้บริโภคเปลี่ยน’ ผู้บริโภคมีความคาดหวังต่อทุกอุตสาหกรรมในแง่การเข้าถึงที่สะดวกสบายและรวดเร็วเพิ่มขึ้น ดังนั้นต่อให้มิใช่ทางตรงอย่างการใช้นวัตกรรมใหม่เข้ามามีส่วนช่วยในระบบการทำงานและการพัฒนาสินค้า แต่ธุรกิจก็ต้องปรับตัวด้านการจัดจำหน่ายและติดต่อสื่อสารกับลูกค้าอย่างแน่นอน

นอกจากพลิกโฉมวิธีการดำเนินธุรกิจแล้ว Digital Disruption ยังก่อให้เกิดวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ขึ้นบนโลกด้วย ในอนาคตสิ่งอำนวยความสะดวกทุกด้านสามารถสั่งการได้ด้วยโทรศัพท์มือถือจากระยะไกล อีกทั้งยังเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานอย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น เช่น เทคโนโลยีระบายความร้อนในบ้านที่สั่งใช้งานได้จากมือถือ Intelligent Night Light หรือไฟห้องน้ำอัตโนมัติเพื่อผู้สูงอายุซึ่งเก็บสถิติการเปิดปิดไว้สังเกตพฤติกรรมผิดปกติตอนกลางคืนได้ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การก่อกำเนิดของ ‘Smart City’ นั่นหมายความว่า  เทคโนโลยีดิจิทัลจะไม่หยุดเพียงในวงการอุตสาหกรรม แต่จะก้าวล้ำสู่มิติอื่นของสังคม เช่น การอยู่อาศัย สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม วชิระชัยเสนอว่าการจะพัฒนาไปถึงจุดดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เหมาะสมกับประเทศไทย มากกว่าสนใจแข่งขันแย่งชิงอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจจากคนในสังคมด้วยกันเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของโลก การเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความร่วมมือด้านการค้าย่อมทำให้ไทยได้มองเห็นจุดแข็งของการพัฒนาจากจีน อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายอีกหลายประการที่จีนยังต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของความเจริญทางเศรษฐกิจ มาตรการควบคุมดูแลการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล และการเตรียมพร้อมของพลเมือง

คำถามมีอยู่ว่า ประเทศไทยจะสามารถถอดบทเรียนความสำเร็จ (และความล้มเหลว) จากประสบการณ์ของจีนได้หรือไม่ ภาคธุรกิจจะปรับตัวต้อนรับการมาเยือนของเทคโนโลยีดิจิทัลมากน้อยแค่ไหน ภาครัฐจะปรับบทบาทที่เหมาะสมได้อย่างไร และสุดท้าย ตัวแบบของจีนจะทำให้ไทยก้าวไปสู่ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่พึงปราถนาได้หรือไม่

คงต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์.

หมายเหตุ

เรียบเรียงจากงานประชุมสัมมนา ‘สังคมดิจิทัล อนาคตที่หลีกไม่พ้น ก้าวเดินของจีน พัฒนาการของไทย’ จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ


ภาพประกอบ: นันทภัค คูศิริรัตน์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save