fbpx
China’s Ultimate Score เมื่อรัฐบาลจีนให้คะแนนความประพฤติประชาชน

China’s Ultimate Score เมื่อรัฐบาลจีนให้คะแนนความประพฤติประชาชน

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ข่าวนี้ไม่ใช่ข่าวใหม่ เป็นเรื่องที่ฮือฮากันมาตั้งแต่ปี 2014 เป็นอย่างน้อย เพราะ 2014 คือปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศว่า ประชากรจีนทั้ง 1.4 พันล้านคน จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษด้วยการ ‘ให้คะแนน’ ทางสังคมที่เรียกว่า Social Crdit เพื่อดูว่าใครมีความประพฤติอย่างไรบ้าง ถ้าทำตัวดี ก็จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นพิเศษบางอย่าง แต่ถ้าทำตัวแย่ ก็จะต้องถูกลงโทษแบบใดแบบหนึ่ง

 

ไม่ต้องถามนะครับ – ว่าแล้วมาตรฐานความดีความชั่วที่ว่ามันมาจากไหน เพราะตอบได้ง่ายๆ เลยว่า ก็มาจากการกำหนดของรัฐบาลนี่แหละครับ

ที่จริงแล้ว ระบบโซเชียลเครดิตของจีนนั้นเริ่มใช้งานมาสักพักแล้วนะครับ ตอนนี้มีผลกับหลายล้านคน โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะใช้กับคนครบทุกคนในปี 2020

คนจีนที่อยู่ในระบบโซเชียลเครดิตแต่ละคน จะได้รับคะแนนตั้งต้นก่อน 800 คะแนน ถ้าทำอะไรดีๆ ก็จะได้คะแนนเพิ่ม แต่ถ้าทำอะไรแย่ๆ คะแนนก็จะลดลง โดยเทคโนโลยีการสอดส่องทั้งหลาย (เช่น กล้องวงจรปิดมากกว่า 200 ล้านตัวในปัจจุบัน) ร่วมกับเทคโนโลยีการประมวลผลที่ซับซ้อน ทำให้สามารถตรวจจับใบหน้าของทุกคนได้ และรู้ว่าแต่ละคนทำอะไรบ้าง จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้มาประกอบเข้าด้วยกัน รวมไปถึงข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลการเงิน หรือกระทั่งประวัติการเสิร์ชอินเทอร์เน็ต เหล่านี้จะรวบรวมประมวลออกมาเป็นคะแนนที่เพิ่มหรือลดแบบเรียลไทม์ ขึ้นอยู่กับว่า คนคนนั้นมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ โซเชียลเครดิตถูกนำมาบังคับใช้กับทั้งหน่วยงานภาครัฐ (เช่น ข้าราชการ) และหน่วยงานเอกชน (เช่น พนักงานบริษัท) โดยที่ไม่ได้เลือกว่าจะเป็นบริษัทจีนหรือบริษัทต่างชาติ จะมียกเว้นก็เฉพาะเกาะฮ่องกงและมาเก๊าเท่านั้นที่ยังไม่เข้าสู่ระบบคะแนนที่ว่านี้

นิตยสาร Wired รวบรวมตัวอย่างของ ‘ความประพฤติ’ ที่อาจทำให้ได้หรือเสียคะแนนเอาไว้ (ดูได้ที่นี่) เช่น

– ถ้าคุณมีคะแนนทางสังคมดี คือประพฤติดีเข้ามาตรฐานของรัฐบาลจีน เวลาไปโรงพยาบาล ก็จะได้รับเครดิตพิเศษ เช่น มีการให้เงินผ่านบัตรเครดิตของจีนจำนวนเท่าไหร่ก็ว่ากันไป แถมถ้าเข้าไปใช้บริการในบางโรงพยาบาล ถ้าคะแนนโซเชียลเครดิตดี ก็ไม่ต้องเข้าคิวด้วย สามารถพบแพทย์ได้เลย แต่ถ้าใครลักลอบไปใช้บริการทางการแพทย์แบบผิดๆ เช่น ไปผ่าตัดศัลยกรรมเพื่อความงามแบบผิดกฎหมาย ก็จะติดบัญชีดำของคะแนนโซเชียลเครดิตไปเลย

– เรื่องของการเล่นเกมก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลจีนเล่นบทบาทเหมือนพ่อแม่ที่ควบคุมลูกไม่ให้ติดเกม ถ้าใครเล่นวิดีโอเกมติดต่อกันนานเกินไป (เช่น นานเกิน 10 ชั่วโมง) ก็จะถูกหักคะแนนโซเชียลเครดิต แต่ที่จะถูกหักเยอะกว่าเล่นนาน ก็คือเล่นโกง โดยเฉพาะเกมแบบออนไลน์ที่ต้องลงทะเบียน อย่างเช่นเกม Counter Strike ซึ่งหากใครใช้ซอฟท์แวร์โกงเกม (เช่น Aimbots ช่วยในการเล็ง) ก็จะถูกหักแต้มเยอะ เป็นต้น

– อีกเรื่องที่หลายคนอาจอึ้งก็คือ ถ้าใครเป็น ‘ติ่ง’ ของศิลปินเกาหลีละก็ อาจถูกหักแต้มได้เหมือนกัน เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะติ่งศิลปินเกาหลีจำนวนมากไปรอกรี๊ดศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบที่สนามบินปักกิ่งหลายต่อหลายครั้ง จึงเกิดการกีดขวางการสัญจรของผู้คนขึ้นมา รัฐบาลจีนก็เลยออกกฎบอกว่าถ้าหากมีการไปกรี๊ดศิลปินกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ จนกีดขวางเกะกะคนอื่นในสนามบินละก็ ต้องโดนหักแต้มด้วย แล้วถ้าหากว่ากีดขวางมากๆ โทษอาจรุนแรงถึงขั้นห้ามบินหรือห้ามขึ้นรถไฟความเร็วสูง (เพราะจะไม่สามารถซื้อตั๋วเหล่านั้นได้)

– นอกจากนี้ การมีโซเชียลเครดิตสูงๆ ก็อาจทำให้คุณมีแฟนได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะเว็บไซต์ให้บริการหาคู่ของจีนเจ้าหนึ่งที่ใหญ่แทบจะที่สุดในโลก (เป็นรองก็แต่ Tinder) จะทำให้คนอื่นๆ มองเห็นคนที่มีเครดิตสูงกว่าได้มากกว่า (คือมี visibility ในเว็บมากกว่า) การใช้โซเชียลเครดิตในเรื่องนี้ บางครั้งก็ไปไกลเกินไป เช่น อาลีเพย์เคยปล่อยฟีเจอร์ใหม่ในแอพของตัวเอง ที่ทำให้ผู้ชายที่มีเครดิตเกิน 750 คะแนนเท่านั้น สามารถไปคอมเมนต์โพสต์ของผู้หญิงได้ ปรากฏว่าพอเป็นแบบนี้ พวกผู้ชายที่คอมเมนต์ได้ก็เลยไปคอมเมนต์ขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย ผลลัพธ์ก็คือ ผู้หญิงจำนวนมากใช้ฟีเจอร์นี้เพื่อขายบริการทางเพศ (เพราะคัดเลือกมาแล้วว่าผู้ชายที่มาคอมเมนต์ได้นั้นมีความประพฤติดี จึงปลอดภัยกว่า) สุดท้ายคนเลยเรียกฟีเจอร์นี้ว่า Alipimp และในที่สุดก็ต้องยกเลิกไป

– ที่เจ๋งมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ เนื่องจากเดี๋ยวนี้การจ่ายเงินในจีนแทบจะใช้มือถือกันหมดแล้ว คือเป็น Cashless Society เกือบหมด รัฐบาลจึงแทร็คการใช้จ่ายของประชาชนได้ ทีนี้ก็เลยรู้หมด ว่าใครซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราเกินตัวหรือเปล่า ปรากฏว่า ศาลสูงของจีนแชร์บัญชีดำของคนนับล้านๆ ที่ค้างค่าปรับกับองค์กรด้านโซเชียลเครดิต คนเหล่านี้จึงซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะร้านที่อยู่ในสังกัดของอาลีบาบา จนกว่าจะมาจ่ายค่าปรับเสียก่อน

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่าน้ัน ยังมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับอีกมากมายหยุมหยิมในชีวิต ซึ่งหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าคนจีนเหล่านี้ทนได้หรือ มันเหมือนอยู่ในโลกดิสโทเปียที่ถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลาเลย

ปรากฏว่า มีคนจำนวนมากเลยนะครับที่สนับสนุน โดยเฉพาะคนที่ถูกมองว่าเป็น Top Citizens หรือเป็นคนที่ได้คะแนนสูงๆ เพราะคนเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์มากมาย เช่น เวลาไปพักโรงแรมหรือเช่ารถ ก็จะได้ราคาพิเศษ ไม่ต้องจ่ายค่ามัดจำ เวลาไปสนามบินก็ได้รับการปฏิบัติแบบวีไอพี ได้รับการลดเงินกู้ ถ้าไปสมัครงานก็มีโอกาสได้งานก่อนคนอื่น รวมถึงมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป

บางคนบอกว่า การมีโซเชียลเครดิตช่วยให้สังคมปลอดภัย เพราะทุกคนก็จะต้องประพฤติดี ไม่ทำอะไรเลวร้าย เพราะถ้าพฤติกรรมไม่ดีจะถูกหักคะแนน โซเชียลเครดิตจึงคือเครื่องมือในการ ‘ช่วย’ กันและกันให้สังคมดีและร่ำรวยขึ้น

แต่ก็แน่นอนว่า คนที่ได้คะแนนโซเชียลเครดิตต่ำๆ ย่อมรู้สึกแย่ เพราะแค่ไม่ข้ามถนนบนทางม้าลาย จ่ายภาษีช้า กินเหล้ามากเกินไป หรือวิพาษ์วิจารณ์รัฐบาล ก็จะถูกหักคะแนนแล้ว

ว่ากันว่า ถ้าคุณอยู่กับพ่อแม่แล้วพ่อแม่วิจารณ์รัฐบาลเสียๆ หายๆ แล้วคุณไม่แก้ต่างให้รัฐบาล เอาแต่นั่งเฉยๆ คุณก็จะถูกหักคะแนนไปด้วย ซึ่งโทษที่ได้รับจากการมีคะแนนโซเชียลเครดิตต่ำก็อย่างเช่นใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้ ไม่ได้ทำงานในหน่วยงานรัฐบาล หรืออย่างที่เล่าไปแล้ว คือไม่สามารถโดยสารเครื่องบินหรือรถไฟความเร็วสูงได้

ทั้งหมดนี้จึงคือการที่ Big Brother ใช้ Big Data ในการสอดส่องควบคุมประชาชนของตัวเองอย่างจริงจังและเข้มงวด ซึ่งจะส่งผลอย่างเต็มที่ในปี 2020 ที่จะถึงนี้

 

เรายังบอกได้ยาก ว่าระบบการควบคุมสังคมแบบนี้จะก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง และเป็นไปได้ไหมที่จะกลายเป็นเทรนด์ จนทำให้ประเทศเผด็จการอื่นๆ อยากเกาะโต๊ะเอาอย่างบ้าง?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save