ในช่วงเทศกาลสอบกลางภาคของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศจีน ผู้เขียนได้ใช้เวลาบางส่วนไปกับการอ่านข้อมูลข่าวสารในวีแชท (WeChat) และเจอโพสต์จากเพื่อนชาวจีนคนหนึ่งออกมาระบายถึงความไม่พอใจจากการถูกตัดคะแนนโซเชียลเครดิต (Social Credit)
“ตอนที่มีข้อความแจ้งเตือนมาที่มือถือว่าถูกตัดไป 1.5 คะแนน ก็รู้สึกกลัวและโมโหในเวลาเดียวกัน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากแค่ระมัดระวังมากขึ้น” หวัง (นามแฝง) เล่าให้ฟังถึงความรู้สึกของเธอ หลังจากที่โดนหักคะแนนโซเชียลเครดิตเพราะแชร์บทความข่าวต่างประเทศในเวยป๋อ (Weibo)
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘หวัง’ จุดประกายให้ผู้เขียนอยากเข้าไปทำความรู้จักระบบโซเชียลเครดิตมากขึ้น โดยไม่รอช้า ผู้เขียนรีบติดต่อเพื่อนชาวจีนคนอื่นๆ เพื่อสอบถามว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรต่อระบบนี้ แต่คำตอบที่ได้รับกลับทำเอาประหลาดใจ เมื่อเพื่อนชาวจีนหลายคนไม่ยักรับรู้ว่าประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขามีระบบ ‘ให้คะแนน’ ความประพฤติประชาชนด้วยการวัดจากค่าความน่าเชื่อถือที่รัฐบาลเป็นคนกำหนด
“มันมีระบบนี้ด้วยหรอ ฉันไม่เห็นมีคะแนนอะไรเลย” เวิน (นามสมมติ) กล่าว
“ไม่นะ เราไม่รู้เลยว่ามีระบบนี้อยู่ มันคืออะไรหรอ” เจ้า (นามแฝง) กล่าวย้ำอีกเสียง
มีวัยรุ่นจีนจำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นคล้ายกันกับเจ้า หลายคนไม่รู้ว่าระบบนี้กำลังถูกนำมาทดลองใช้ บางคนไม่รู้กระทั่งว่าตัวเองมีคะแนนเครดิตสะสมเอาไว้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าทำไมระบบโซเชียลเครดิต ที่แม้จะเป็นจะเป็นระบบที่บังคับใช้ในประเทศเดียวกัน แต่กลับถูกให้ความหมายต่างกันราวฟ้ากับเหวเช่นนี้
‘โซเชียลเครดิต’ คืออะไร และเป็นระบบแบบไหนกันแน่ ถ้าโดนตัดคะแนนจนหมด ผลลัพธ์ที่ตามมาจะหนักหนาสาหัสขนาดไหน นักวิชาการจีนมีความคิดเห็นอย่างไรต่อระบบนี้ แล้ววัยรุ่นจีนล่ะ ขอเอาด้วยหรือเซย์กู๊ดบายกับระบบที่ว่า
บทความนี้ขอนำเสนอหลากหลายมุมมองจากทั้งนักวิชาการต่างประเทศ นักวิชาการจีน ตลอดจนเยาวชนจีน เพื่อให้เห็นหลากหลายมิติของระบบโซเชียลเครดิต ระบบที่อาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับสิ่งที่ George Orwell เคยระบุไว้ในหนังสือ ‘1984‘ ว่า “Big Brother is watching you!”
ย้อนรอยความเป็นมาของการทดลองใช้ระบบโซเชียลเครดิต
ระบบโซเชียลเครดิต คือระบบจัดระเบียบสังคมผ่านการให้รางวัลและลงโทษต่อประชาชน (award and punishment) โดยวัดจากค่าคะแนนความน่าเชื่อถือของแต่ละคน ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลองค์กรผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อใช้สำหรับการประเมินความน่าเชื่อถือ โดยหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องฐานข้อมูลของประชาชนคือคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนา (The National Development and Reform Commission) และธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (The People’s Bank of China)
การทำงานของระบบโซเชียลเครดิตผูกโยงอยู่กับคะแนนความน่าเชื่อถือ หากมีคะแนนความน่าเชื่อถือมาก ก็จะได้รางวัลในหลายรูปแบบเช่น สิทธิการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือสวัสดิการรูปแบบอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีคะแนนความน่าเชื่อถือน้อย หรือโดนหักคะแนนความน่าเชื่อถือจนหมด จะได้รับการลงโทษหรือถูกขึ้นบัญชีดำ (blacklist)
ที่มาของการเกิดระบบนี้แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุ – สาเหตุแรกคือการปลูกฝังค่านิยมเรื่องความน่าเชื่อถือในสังคมจีน เรื่องนี้มีการพูดถึงอย่างแพร่หลายในวรรณกรรมและงานเขียนจีน กระทั่งผู้นำจีนหลายท่านเช่น ‘เหมา เจ๋อตง’ หรือ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ก็เน้นย้ำเรื่องความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามสร้างค่านิยมด้านนี้บ่อยครั้ง อาจมาจากการที่พรรคต้องการสร้างความชอบธรรมและการยอมรับจากนานาประเทศ
สาเหตุที่สองคือปัญหาความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แม้เติ้ง เสี่ยวผิงจะดำเนินนโยบายเปิดประเทศ แต่ระบบการจัดการของตลาดในจีนก็ยังไม่ค่อยได้มาตรฐาน จนทำให้เกิดปัญหาปลอมแปลงสินค้า โก่งราคา หรือทำสัญญาซื้อขายปลอมอย่างแพร่หลายในสังคมจีน เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการจะแก้ให้ได้
และแล้วในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1986 และ 1996 ก็มีการพูดถึงการนำความน่าเชื่อถือหรือเครดิต (诚实信用/ เฉิงสือซิ่นย่ง) มาใช้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ
ก่อนที่แนวคิดเรื่องการสร้างระบบโซเชียลเครดิตจะถูกนำมาพูดถึงอย่างเป็นทางการอีกครั้งในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 16 ในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคครั้งที่ 5 เดือนตุลาคม 2005 ซึ่งคณะกรรมการกลางพรรคได้อนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 11 โดยมีเนื้อหาที่ระบุถึงการผลักดันการสร้างระบบโซเชียลเครดิตและการสร้างระบบลงโทษคนที่เครดิตต่ำหรือมีความน่าเชื่อถือน้อย เพื่อปรับปรุงความน่าเชื่อถือของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีน
การทดลองสร้างระบบโซเชียลเครดิตถูกนำมาอภิปรายบ่อยครั้งกว่าเดิมหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 18 เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2014 และถัดจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจีนก็ประกาศใช้แผนการสร้างระบบโซเชียลเครดิตตั้งแต่ปี 2014-2020 แผนดังกล่าวนับว่าเป็นนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการนำโซเชียลเครดิตมาปรับใช้จริงในจีน เพราะแผนนี้ก็ระบุถึงมาตรการต่างๆ ไว้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การแบ่งระบบโซเชียลเครดิตออกเป็น 4 หมวดคือ เครดิตทางการเมือง เครดิตทางการค้า เครดิตทางสังคม และเครดิตทางกฎหมาย เป็นต้น
ดังนั้น แผนการสร้างระบบโซเชียลเครดิตปี 2014-2020 จึงนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญ และเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาโซเชียลเครดิตของจีน ปัจจุบัน รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เสิ่นหยาง ฉงชิ่ง เจ้อเจียง และมณฑลอื่นๆ เริ่มมีการประกาศแผนเครดิตทางสังคมและทดลองใช้อย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังไม่ได้มีการบังคับใช้กันทั่วประเทศ หรือครอบคลุมประชาชนทุกวัยในสังคมจีน
เครื่องมือของรัฐในการสอดส่องพฤติกรรมประชาชน
หรือตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ?
“เราว่ามันเป็นระบบที่ดีนะ ถ้าเราไม่ได้โกงเงินหรือไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องกลัวอะไร”
สำหรับเซียว (นามแฝง) นักศึกษาจากประเทศจีน มองว่าระบบนี้ถูกวิจารณ์ในต่างประเทศอย่างเกินความเป็นจริง เธอให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลเก็บข้อมูลส่วนตัวเพื่อใช้ประเมินคะแนนความน่าเชื่อถือและให้รางวัลไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายอะไร เพราะตราบใดที่เธอยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีข้าวกิน เรียนจบไปแล้วมีงานทำ หรือได้ทุนไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ สำหรับเธอแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
และเหมือนที่เซียวได้เกริ่นไว้ข้างต้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบโซเชียลเครดิตถูกวิจารณ์ในต่างประเทศอย่างกว้างขวางว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะรัฐมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ตลอดจนสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลประชาชนเพื่อสอดส่องพฤติกรรมของประชาชนในการประเมินคะแนนความน่าเชื่อถือ
นักวิชาการและสื่อต่างชาติหลายสำนักอธิบายว่า ระบบนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับแค่ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินจีน แต่ยังใช้ต่อชาวจีนที่อาศัยในต่างประเทศอีกด้วย
ดร. Samantha Hoffman นักวิจัยจากสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย (Australia Strategic Policy Institute) วิเคราะห์รูปแบบการควบคุมประชาชนจีนที่อาศัยอยู่ภายในและภายนอกประเทศจีนผ่านการสร้างฐานข้อมูลไว้ว่า บริษัทเกี่ยวกับ IT ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการขยายอิทธิพลและควบคุมประชาชน โดยยกกรณีของบริษัท Global Tone Communication Technology (GTCOM) เป็นกรณีศึกษาวิธีการสร้างโซเชียลเครดิตผ่านฐานข้อมูลของรัฐวิสาหกิจ
GTCOM สร้างฐานข้อมูลมากกว่า 65 ภาษาโดยมีซอฟต์แวร์ช่วยในการแปล นอกจากนี้ GTCOM ยังมีหุ้นส่วนกับ Huawei และเครือ Alibaba ดังนั้น GTCOM จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลจีนในการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) และปรับปรุงระบบโซเชียลเครดิตเพื่อใช้กับพลเมืองจีนทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น บทบาทของบริษัท IT ชั้นนำและการสร้างโซเชียลเครดิตยังส่งผลสำคัญให้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารในจีนไม่ชัดเจนยิ่งขึ้น [1]
ถึงแม้นักวิชาการจำนวนมากจะมองว่าระบบโซเชียลเครดิตเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลจีนใช้สอดส่องข้อมูลและควบคุมพฤติกรรมของประชาชน แต่ก็มีอีกข้อสังเกตมองว่า ระบบโซเชียลเครดิตส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน
ศ.หวีหย่งเจ๋อ จากคณะการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยการเงินหนานจิง (Nanjing University of Finance and Economy) ให้ความเห็นว่า ระบบโซเชียลเครดิตช่วยลดต้นทุนการค้าขาย เพราะถ้าไม่มีคะแนนความน่าเชื่อถือที่สูงพออาจทำให้ผู้ผลิตต้องจ่ายต้นทุนทางด้านกฎหมายทีหลัง นอกจากนี้ระบบโซเชียลเครดิตยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้อุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลาง (SMEs) เข้มแข็งขึ้นท่ามกลางการแข่งขันในระบบตลาด เพราะคะแนนความน่าเชื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและขยายกิจการตัวเองได้ง่ายขึ้น [2]
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว คนจีนบางคนยังมองว่าระบบโซเชียลเครดิตทำให้คนหันมาทำความดีในสังคมเยอะขึ้น อย่างกรณีของเขตหวีเป่ยในเมืองฉงชิ่ง สำนักพิมพ์ People’s Daily รายงานว่าในช่วงปลายปี 2019 ขณะที่เกิดฝนตกหนักในเขตหยูเป่ย ชาวบ้านต่างช่วยกันลำเลียงข้าวของเครื่องใช้เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อน ทำให้ได้คะแนนความน่าเชื่อถือเพิ่มกัน โดยคนในหมู่บ้านชือจู๋ (茨竹镇) ให้สัมภาษณ์กับสำนักพิมพ์ดังกล่าวว่า “คนดีทำความดียังไงก็ย่อมได้คะแนนเพิ่ม นี่เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนทำความดีมากขึ้น”
คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปในเขตหยูเป่ยให้ความเห็นว่า ระบบโซเชียลเครดิตทำให้บรรยากาศในการทำธุรกิจค้าขายดีขึ้น เพราะการสร้างบัญชีดำบัญชีแดง [3] หรือให้รางวัลต่อคนที่น่าเชื่อถือและลงโทษคนที่ไม่น่าเชื่อถือ จะช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านคำนึงถึงความสะอาด ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต รวมทั้งคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
กล่าวได้ว่า บทบาทของระบบโซเชียลเครดิตที่กำลังทดลองในสังคมจีนนั้นอาจเป็นได้ทั้งเครื่องมือของรัฐในการจัดระเบียบสังคม หรือแม้กระทั่งเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้ธุรกิจหรือเกษตรกรรมในชุมชนมีมาตรฐานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่ารัฐบาลจีนนำระบบโซเชียลเครดิตมาใช้เพียงเพื่อต้องการจัดระเบียบสังคมให้เรียบร้อยอย่างเดียวหรือไม่ หรือหากพูดกันในแง่ที่ว่าเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ วันนี้ก็ยังไม่ได้มีตัวเลขออกมาแน่ชัดว่าระบบดังกล่าวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในภาพรวมมากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดนี้ก็อาจเป็นประเด็นที่จะต้องร่วมกันติดตามและขบคิดกันต่อไป
อะไรคือมาตรฐานในการวัดว่าใครคือคนดีและคนไม่ดี?
ชาวจีนจำนวนมากมีรายชื่อติดในบัญชีดำโดยเฉพาะในช่วงปี 2018-2019 เช่นในเดือนมิถุนายน 2018 เว็บไซต์ Credit China ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบโซเชียลเครดิตในจีน กำกับดูแลโดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูป (信用中国/ ซิ่นย่งจงกว๋อ) ประกาศว่ามีชาวจีนจำนวนกว่า 169 คนถูกห้ามโดยสารเครื่องบิน เพราะเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ และในเดือนกรกฎาคมปี 2019 มียอดรายชื่อคนจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำพุ่งสูงขึ้นถึง 600,000 รายชื่อ โดยแบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 265,187 รายชื่อ และส่วนที่เหลืออีกกว่า 300,000 รายชื่อเป็นรายชื่อในนามนิติบุคคล นอกจากนี้ยังมีรายชื่อบุคคลที่ถูกสั่งห้ามโดยสารเครื่องบินและรถไฟรวมกันเกิน 1,000 คนภายในเดือนเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้รายชื่อจะถูกขึ้นบัญชีดำ ทางภาครัฐก็เปิดให้ประชาชนสามารถกู้คะแนนคืนเพื่อถอนตัวเองออกจากบัญชีดำได้ อย่างในเดือนกรกฎาคมปี 2019 มีคนได้รับการถอนชื่อออกจากรายชื่อคนไม่น่าเชื่อถือกว่า 160,000 คน
“ฉันว่ามันเป็นอะไรที่ไม่เมคเซนส์ ยิ่งเอามาผูกกับสิ่งที่เราควรจะเข้าถึงได้ ยิ่งไม่เมคเซนส์ไปกันใหญ่ คุณเอาอะไรมาเป็นมาตรฐานในการวัดว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ฉันเชื่อว่าไม่มีอะไรผิดถูก 100% หรอก ปกติเราก็ทำตามกฎหมายกัน การสร้างระบบให้คะแนนหรือตัดคะแนนแบบนี้ คือการทำให้มนุษย์กลายเป็นเครื่องจักร” จาง (นามสมมติ) หนึ่งในวัยรุ่นจีนที่ไม่เห็นด้วยกับระบบโซเชียลเครดิตแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา
“ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ ความหมายของคนดีในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันนะ เท่าที่รู้มา แต่ละพื้นที่มีวิธีการเก็บข้อมูลหรือจำนวนการเก็บข้อมูลที่ต่างกัน ไหนจะมาตรฐานการประเมินคะแนนความน่าเชื่อถือก็ไม่เหมือนกันอีก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็อาจจะหมายความว่า การจอดจักรยานที่ไม่เรียบร้อยของฉัน ในพื้นที่หนึ่งอาจทำให้ฉันกลายเป็นคนไม่ดี แต่ถ้าอีกพื้นที่ไม่ได้บังคับใช้กฎเกณฑ์แบบนี้ แปลว่าฉันก็เป็นคนดีน่ะสิ”
ปัญหาเรื่องมาตรฐานในการให้รางวัลหรือลงโทษ รวมทั้งปัญหาในการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการทดลองใช้ระบบโซเชียลเครดิต ศ.หวังเหว่ยจากโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Central Party School of the Chinese Communist Party) ให้ความเห็นว่า การทดลองใช้ระบบโซเชียลเครดิตยังมีปัญหาเรื่องการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย (legalization) เพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบโซเชียลเครดิตยังมีน้อยมาก ทำให้เกิดการใช้อำนาจในการขึ้นรายชื่อบัญชีดำอย่างไม่ถูกต้องและลงโทษคนอย่างไม่สมเหตุผล [4]
โจวป๋อหัน จากมหาวิทยาลัยครูหูเป่ยมองว่า ระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบโซเชียลเครดิตยังมีปัญหาในการกำหนดขอบเขตในการใช้ กฎระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องหลายฉบับไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าขอบเขตของคะแนนความน่าเชื่อถือที่เอามาใช้กับนักธุรกิจ นักการเมือง หรือกับประชาชนทุกคนในเมืองนั้นมีขอบเขตอยู่ที่ใด นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องมาตรฐานการให้คะแนนหรือการลงโทษที่ไม่เหมือนกัน ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญในการออกกฎหมายเกี่ยวกับระบบโซเชียลเครดิตในระดับชาติ
โจวให้ความเห็นว่า การจะปรับมาตรฐานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะรัฐบาลแต่ละท้องที่มีค่านิยมและความคิดต่อระบบโซเชียลเครดิตแตกต่างกันไป การเข้าไปกำหนดมาตรฐานการให้คะแนนหรือการลงโทษย่อมเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และความลำเอียงของตัวรัฐบาลในแต่ละท้องที่ [5] ดังนั้น การออกกฎหมายบังคับใช้ระบบโซเชียลเครดิตโดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและกลุ่มผลประโยชน์ในท้องถิ่น
ด้านศาสตราจารย์กู้หมิ่นคังจากมหาวิทยาลัยเซียงถัน (Xiangtan University) เขียนวิจารณ์ระบบบัญชีดำว่า การขึ้นบัญชีดำในจีนยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานที่ไม่ชัดเจน มีการนำพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายกับความไม่น่าเชื่อถือมาตัดสินปนกัน ซึ่งตามหลักการแล้ว หากเป็นผู้ต้องสงสัยว่าทำผิดกฎหมาย ก็จะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขณะที่คนที่มีความน่าเชื่อถือน้อยมากหรือถึงขั้นติดบัญชีดำไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ทำผิดกฎหมายเสมอไป นอกจากนี้กู้ยังมองอีกว่า การลงโทษในระบบยังไม่เหมาะสม เขายกตัวอย่างกรณีคนแย่งที่นั่งในรถไฟความเร็วสูงและโดนปรับ 200 หยวน พร้อมติดบัญชีดำ โดยกู้มองว่าการห้ามขึ้นรถไฟทุกขบวนเพราะไปแย่งที่นั่งคนอื่นเป็นการลงโทษที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะความผิดที่ว่าไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นต้องขึ้นรายชื่อในบัญชีดำ [6]
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องขอบเขตข้อมูลที่ถูกเก็บเข้าระบบก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ เหยี่ยนจิ่งจง จากวิทยาลัยซู่เชียน (Suqian College) มองว่ากฎหมายที่รัฐบาลในแต่ละมณฑลออกมามีรายละเอียดในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลต่างกัน อย่างกฎของระบบโซเชียลเครดิตในนครเซี่ยงไฮ้ (上海社会信用条例) กำหนดว่าจะไม่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา กรุ๊ปเลือด ลายนิ้วมือและประวัติการรักษาโรค [7] ขณะที่เมืองอื่นๆ ที่ทดลองใช้ระบบนี้อาจไม่ได้มีกฎเกณฑ์ดังกล่าว หรือไม่ได้มีการระบุขอบเขตในการเก็บข้อมูลของประชาชน
โดยภาพรวมแล้ว ระบบโซเชียลเครดิตในสังคมจีนยังประสบกับปัญหาจากระบบกฎหมายและความไม่ชัดเจนของมาตรฐานในการวัดค่าความน่าเชื่อถือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบ รวมไปถึงความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อความยุติธรรมในสังคม หากการกระทำอย่างเดียวกันทำให้คนกลุ่มหนึ่งถูกขึ้นบัญชีดำ ในขณะที่อีกกลุ่มกลับไม่ได้รับผลกระทบอะไรนั้น ย่อมทำให้ประชาชนรู้สึกเสื่อมศรัทธากับระบบการขึ้นบัญชีดำ มาตรฐานชี้วัดว่าอะไรดี อะไรไม่ดี รวมทั้งช่องโหว่อื่นๆ ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นสิ่งท้าทายมากของรัฐบาลจีนในการทดลองใช้ระบบโซเชียลเครดิตในสังคม
“ตราบใดที่ไม่ทำความผิด ก็ไม่เห็นจะต้องกลัว”
หลากเสียงของวัยรุ่นจีนต่อระบบโซเชียลเครดิต
คนรุ่นใหม่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ขณะเดียวกันพวกเขาก็เป็นกลุ่มคนที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่กับระบบที่กำลังจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเมื่อจีนนำระบบโซเชียลเครดิตมาทดลองใช้ สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรงไม่มากก็น้อย ฉะนั้น เสียงของคนรุ่นใหม่จึงเป็นอีกเสียงที่ประเทศชาติจะต้องรับฟัง พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรต่อลักษณะและประสิทธิภาพของระบบโซเชียลเครดิตคือสิ่งที่น่าสนใจ
“สำหรับตัวเรา ระบบนี้เป็นเครื่องมือของรัฐในการกดทับประชาชน ข้อมูลของเราไม่ควรถูกนำมาใช้แบบนี้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่ดูแลหรือคณะกรรมการปฏิรูปในแต่ละมณฑล เขาทำอะไรกับข้อมูลของเราบ้าง หรือข้อมูลของเราจะรั่วไหลไปถึงใคร นี่เป็นสิ่งที่เราตรวจสอบไม่ได้และไม่รู้เลย” หยาง (นามสมมติ) สะท้อนให้ฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบโซเชียลเครดิต
ขณะเดียวกัน ก็มีวัยรุ่นจีนที่สนับสนุนและมองว่าระบบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดระเบียบสังคม
“เราว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะเราควรรู้ว่าใครหรือบริษัทไหนสามารถเชื่อถือได้ ไม่งั้นเราอาจถูกหลอกและต้องมาลำบากในการฟ้องร้องทางกฎหมายทีหลังก็ได้” ซุน (นามสมมติ) กล่าว
เธอยังอธิบายต่อไปอีกว่า ระบบโซเชียลเครดิตสะท้อนถึงค่านิยมจีนในเรื่องความน่าเชื่อถือและความซื่อสัตย์ได้เป็นอย่างดี หรือตามสำนวนจีนที่กล่าวไว้ว่า “หนึ่งคำสัญญามีค่าดังทอง” (一诺千金/ อี๋ นั่ว เชียน จิน) ซุนเล่าให้ฟังว่านักปราชญ์จีนก่อนยุคราชวงศ์ฉินต่างให้ความสำคัญกับเรื่องความซื่อสัตย์มาก จะเห็นได้ว่าในคัมภีร์โจวอี้ (周易) ระบุไว้ชัดว่าความซื่อสัตย์ทำให้เรามีคุณธรรมมากขึ้น (忠信所以进德也)
แต่นอกเหนือจากการ ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับระบบโซเชียลเครดิต พบว่ามีวัยรุ่นจีนหลายคนไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของระบบนี้ในสังคมจีน บางคนรู้แค่ว่าระบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ การทำธุรกรรม แต่ไม่ได้มีผลในด้านอื่น ที่น่าแปลกใจไปกว่านั้น บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีคะแนนความน่าเชื่อถือสะสมอยู่หรือไม่ แต่ก็มีความเป็นได้ว่าที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งไม่รู้จักระบบโซเชียลเครดิต อาจเป็นเพราะพวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการทดลองใช้ระบบ แต่สำหรับวัยรุ่นหลายคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการทดลองใช้ระบบโซเชียลเครดิตแต่กลับไม่รับรู้ถึงสิ่งนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่านำไปขบคิดต่อ
มีหนึ่งงานวิจัยที่วิเคราะห์มุมมองของชาวจีนที่มีต่อระบบโซเชียลเครดิตได้อย่างน่าสนใจ อย่างงานวิจัยของ ศ.Genia Kostka จากสถาบันจีนศึกษาในเบอร์ลิน โดยเธอได้ทำการสำรวจความเห็นของชาวเน็ตจีนที่มีต่อระบบโซเชียลเครดิต ไล่ตั้งแต่เยาวชนขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ
ผลปรากฎว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบและมีความสงสัยในระบบนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ตาม ในทางตรงกันข้ามกลุ่มคนที่ชื่นชอบในระบบดังกล่าวส่วนมากล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุ
สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มคนที่สนับสนุนให้รัฐบาลนำระบบโซเชียลเครดิตมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมส่วนมากมักจะอาศัยในเมืองสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนเช่น เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เจ้อเจียง มากกว่าที่จะเป็นผู้คนที่อาศัยในชนบท บุคคลที่ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยของ ศ.Kostka ระบุว่า คะแนนในระบบโซเชียลเครดิตเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ทำให้เขาและครอบครัวไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
ศ.Kostka จึงตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาจะไม่ค่อยชอบหรือไม่สนใจในตัวระบบนี้มากเท่ากับกลุ่มนักธุรกิจ เพราะการให้คะแนนในระบบโซเชียลเครดิตส่งผลดีต่อการลงทุน ทำให้นักธุรกิจจีนส่วนใหญ่มองไปที่กำไรที่จะได้จากคะแนนความน่าเชื่อถือมากกว่ามองปัญหาการถูกสอดส่องข้อมูลจากรัฐบาล [8]
หากระบบโซเชียลเครดิตส่งผลดีต่อนักธุรกิจได้จริงๆ หรือช่วยส่งเสริมทำให้บรรยากาศการลงทุนในจีนดีขึ้นตามที่นักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ไว้ ก็น่าคิดต่อเหมือนกันว่า เมื่อเยาวชนจีนเรียนจบและมีงานทำในอนาคต หากการงานหรือธุรกิจเขาได้ประโยชน์จากคะแนนความน่าเชื่อถือ คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะยังสงสัยหรือไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐเข้ามาสอดส่องพฤติกรรมของพวกเขาหรือไม่
และหากย้อนกลับมองมาที่สังคมไทย ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้รัฐบาลเก็บข้อมูลส่วนตัวของพวกเราผ่านหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการแจกเงินเยียวยา ฉะนั้นหากสักวันหนึ่ง เราเดินทางมาถึงจุดที่การได้รับเงินหรือผลประโยชน์อื่นๆ จากภาครัฐ แต่ต้องแลกกับการยอมให้ภาครัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเรา ซึ่งเราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลที่ถูกเก็บไปจะมีความลึกขนาดไหน หรือเปิดให้บุคคลใดเห็นข้อมูลบ้าง…เราจะยอมรับได้หรือไม่?
[1] Hoffman, S. (2018). (issue brief). Social credit Technology-enhanced authoritarian control with global consequences (pp. 6–10). Australian Strategic Policy Institute.
[2] 余泳泽,郭梦华,郭欣: 《社会信用的经济效应研究回顾与展望》,《宏观质量研究》2019年第4期,第80-95页。
[3] ในการทดลองใช้โซเชียลเครดิตจะมีการสร้างรายชื่อในบัญชีดำและบัญชีแดง คนที่คะแนนความน่าเชื่อถือน้อยมากหรือติดลบจะถูกติดในบัญชีดำ ในทางตรงกันข้าม คนที่มีคะแนนสูงจะมีรายชื่อในบัญชีแดงและอาจได้รางวัลต่างๆตามที่กฎหมายในท้องที่กำหนดไว้
[4] 王伟: 《社会信用法论纲——基于立法专家建议稿的观察与思考》,《中国法律评论》2021年第1期,第113-124页。
[5] 周博涵:《社会信用立法困境及规制》,《合作经济与科技》2021年第4期,第184-185页
[6] 顾敏康,白银: 《“黑名单”列入标准的立法审视与完善》, 《湘潭大学学报(哲学社会科学版》2021年第1期, 第101-109页。
[7] 晏景中:《论社会信用体系中征信行为的法律问题》,《法制与社会》2021年第11期,第115-116页
[8] Kostka, G. (2019). China’s social credit system and public opinion : Explaining high levels of approval. New Media and Society, 21(7), 1565-1593
张文研.中国社会信用制度法律问题研究(英文)[J].China Legal Science,2021,9(04):3-33.
熊治东.中国共产党对社会信用的百年探索与基本经验[J/OL].征信,2021(07):5-11.
China’s social credit system is becoming a reality