fbpx
ภูมิรัฐศาสตร์เหนือลุ่มน้ำโขง: การแข่งขันของมหาอำนาจ

ภูมิรัฐศาสตร์เหนือลุ่มน้ำโขง: การแข่งขันของมหาอำนาจ

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งได้ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศกลุ่มเพื่อนแม่น้ำโขง (Friends of the Mekong) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 กล่าวว่าสหรัฐฯ สนับสนุนให้ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหลายมีความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และความจำเริญทางเศรษฐกิจที่ตกได้กับประชาชนทุกภาคส่วน เขาเน้นว่าสหรัฐฯ ออกแรงสนับสนุนให้อนุภูมิภาคนี้อยู่รอด มั่นคง เปิดกว้าง และผ่านกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนแม่โขง-สหรัฐฯ (Mekong-US Partnership) อีกทั้งยังเน้นว่าอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อความมั่งคั่งของกลุ่มอาเซียนและหลักการที่ปรากฏในเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

นั่นคือท่าทีล่าสุดของผู้แทนระดับสูงจากวอชิงตันที่พูดถึงประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในที่ประชุมของรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้แทนของ 14 ประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้กลุ่มเพื่อนแม่น้ำโขงกดดันให้พม่าปฏิบัติตามฉันทมติ 5 ข้อของกลุ่มอาเซียน ซึ่งออกมาเมื่อเดือนเมษายนเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองในพม่า เพื่อยุติความรุนแรง ปล่อยนักโทษการเมืองและนำพาประเทศนี้กลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย

ประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนแม่น้ำโขงประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ธนาคารโลก คณะกรรมการแม่น้ำโขง และประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คือกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม 

แม่น้ำโขงนั้นมีต้นกำเนิดอยู่ในทิเบตส่วนที่ไหลผ่านประเทศจีนมีความยาว 2,047 กิโลเมตรหรือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของความยาวทั้งสิ้น 4,900 กิโลเมตร แต่จีนไม่ได้รับเชิญให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนแม่น้ำโขงแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่จีนมีบทบาทและอิทธิพลอย่างมากเหนือลุ่มแม่น้ำโขง เขื่อนทั้ง 11 แห่งของจีนที่กั้นลำน้ำสายประธานสร้างปัญหาให้ประเทศที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำโขงไม่น้อย เพราะทำให้กระแสน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนอย่างมาก สร้างผลกระทบตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำยันปากแม่น้ำทางภาคใต้ของเวียดนาม

การที่จีนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่มเพื่อนแม่น้ำโขงสะท้อนความเป็นจริงข้อหนึ่งที่ว่า บัดนี้แม่น้ำสายใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้กำลังกลายเป็นที่ ‘สัประยุทธ์ของมหาอำนาจสองฝ่าย’ คือ จีนฝ่ายหนึ่งกับสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกอีกฝ่ายหนึ่ง บทความนี้ต้องการสำรวจว่ามหาอำนาจทั้งของโลกและของภูมิภาคนี้กำลังแข่งขันและต่อสู้กันอย่างไรเพื่อสร้างอิทธิพลในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ

มังกรผงาดเหนือลุ่มน้ำโขง

รัฐบาลในปักกิ่งแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งมาตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ว่าต้องการเชื่อมโยง (ถ้าหากไม่อยากใช้คำว่าครอบงำ) การพัฒนากับแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปรียบไปแล้วก็เป็นเสมือนประตูหลังบ้านของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนต้องการพัฒนาพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ เช่น มณฑลยูนนานและกวางสีซึ่งเคยเป็นพื้นที่ยากจนด้อยพัฒนาให้เชื่อมโยงเข้ากับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งตอนนั้นก็เริ่มการฟื้นฟูประเทศที่บอบซ้ำจากสงครามมานาน และบางประเทศอย่างเช่นไทยก็แสดงความรุดหน้าอย่างมากจากกระแสเสรีนิยมและโลกาภิวัตน์

ถ้าจะว่าไปแล้ว จีนเคลื่อนไหวช้ากว่าญี่ปุ่นเล็กน้อย เมื่อธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียได้ริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation) ในปี 1992 วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง สะพาน เขื่อน เพื่อดึงดูดเงินทุนและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญี่ปุ่นให้เข้าสู่ลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเป็นระบบ โดยเน้นความร่วมมือการพัฒนาในภาคส่วนสำคัญๆ รวมทั้งภาคเกษตร พลังงาน สิ่งแวดล้อม สาธารณสุขและทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยว การขนส่ง การอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการพัฒนาชนบท

แม้ว่าจีนจะเข้าร่วมโครงการนี้ แต่ตอนแรกรัฐบาลกลางที่ปักกิ่งมอบหมายให้มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้คือยูนนานและต่อมาก็เพิ่มกวางสีเข้าร่วม และในแง่สถาบันแล้ว กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงก็เป็นที่ประชุมระดับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโสและนักเทคนิค โดยที่เน้นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างและปรับปรุงถนนเชื่อมระหว่างประเทศ โครงการที่ถือว่าเป็นเรือธงของกรอบความมือนี้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ที่จะเชื่อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ภาคกลางของลาวและเวียดนาม เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าผ่านแดนของ 3 ประเทศ ปัจจุบันขยายไปครอบคลุมถึงพม่าแต่ก็ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์

ในปีต่อมาไทยชักชวนให้จีนสร้างกรอบความร่วมมือย่อยขึ้นมา เรียกว่า ‘ความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ’ เพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำ (ผ่านแม่น้ำโขง) ในพื้นที่มณฑลยูนนานเข้ากับพื้นที่ภาคเหนือของไทยโดยผ่านตอนเหนือของลาวและพม่า ผลผลิตของกรอบความร่วมมือนี้คือการระเบิดแก่งน้ำโขงในพม่า เพื่อเดินเรือจากท่าเรือซือเหมาของจีนถึงหลวงพระบาง และในที่สุดวางเป้าหมายว่าจะไปถึงเวียงจันทน์ และการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 3 บ่อแก้ว หลวงน้ำทา เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งในพื้นที่บริเวณนั้น พร้อมๆ กันนั้นจีนก็เริ่มพัฒนาเมืองชายแดนที่ติดกับลาวและพม่าให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสร้างความจำเริญทางเศรษฐกิจ และใช้ประโยชน์จากเส้นทางคมนาคมเหล่านี้ในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ

การค้า การลงทุน และความช่วยเหลือทั้งทางมนุษยธรรมและความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งแบบให้เปล่าและเงินกู้ผ่อนปรนก็เริ่มหลั่งไหลเข้าลุ่มแม่น้ำโขงมากขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มขยายตัวมากขึ้นจาก 444,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1993 เป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2000 รัฐบาลปักกิ่งเริ่มมีความมั่นใจในศักยภาพของตัวในอันที่จะเป็นผู้นำการพัฒนาในระดับภูมิภาคได้ จีนจึงแสดงบทบาทนำในกรอบความมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion) นับแต่มีการยกระดับกรอบความร่วมมือนี้ให้สูงขึ้นด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงในปี 2002 ที่กรุงพนมเปญ

โดยนายกฯ จีนในเวลานั้นคือจู หลงจี เข้าร่วมการประชุมด้วยตนเองเพื่อแสดงออกถึงเจตจำนงทางการเมืองในการเป็นผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง ประเทศสมาชิกอื่นๆ แม้แต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างไทยก็ไม่คิดจะแข่งขันในการเล่นบทบาทนำ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีความทะเยอทะยานในการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคไม่น้อยจึงริเริ่มกรอบความร่วมมือย่อยที่รู้จักกันในชื่อ ‘ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง’ (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy –ACMECS) โดยมีกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนามเป็นสมาชิก และไม่ได้มีจีนเข้าร่วมทั้งๆ ที่ภาคส่วนของความร่วมมือก็ซ้ำซ้อนกับความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น เรื่องการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการเกษตร 

ส่วนธนาคารพัฒนาเอเชียนั้นแม้ว่าจะเป็นผู้ริเริ่มโครงการ แต่ด้วยความที่เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ไม่มีสถานะเป็นรัฐสมาชิกของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จึงทำหน้าที่เป็นเพียงกองเลขาธิการและฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีอิทธิพลเหนือธนาคารพัฒนาเอเชียมาก แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงบทบาทใดๆ ในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้ได้มากนัก ดังนั้นในปี 2007 ญี่ปุ่นจึงริเริ่มกรอบความร่วมมือญี่ปุ่น-แม่โขง (Japan-Mekong Cooperation) เป็นของตัวเอง โดยจัดให้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกซึ่งก็รวม 5 ประเทศ (ยกเว้นจีน) จากลุ่มแม่น้ำโขงเข้าร่วมในเดือนมกราคม 2008 โดยในถ้อยแถลงของประธานที่ประชุมคือรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นที่ออกหลังการประชุมได้เน้นว่า ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงยอมรับบทบาทสำคัญของญี่ปุ่นในการพัฒนาประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งสองฝ่ายได้พึ่งพาอาศัยกันมาเป็นเวลาช้านาน[1]    

อย่างไรก็ตามบทบาทของจีนในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงก็ยังจำกัดอยู่แต่เฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ปัญหาในลุ่มแม่น้ำโขงยังมีอีกมากมายที่ต้องได้รับการจัดการหรือแก้ไข เช่น ปัญหาเรื่องความมั่นคง อาชญากรรมข้ามแดน การลักลอบค้ายาเสพติด เป็นต้น ดังนั้นในปี 2012 รัฐบาลจีนจึงรับข้อเสนอของไทย (อันที่จริงจีนเป็นคนบอกให้ไทยเสนอมากกว่าจะเป็นความริเริ่มของไทยเอง) ในอันที่จะสร้างกรอบความร่วมมือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอันใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนได้เสนอกรอบความร่วมมือลานซ้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation – LMC) ขึ้นมาอย่างเป็นทางการเมื่อมีการพบปะกับผู้นำของประเทศลุ่มน้ำโขงระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนในเดือนพฤศจิกายน 2014  

ในปีต่อมารัฐมนตรีต่างประเทศของลุ่มแม่น้ำโขงและจีนได้ร่วมประชุมกันเป็นครั้งแรกที่เมืองเชียงรุ่ง แคว้นสิบสองปันนา เพื่อร่างแนวคิดและกรอบการทำงานของความร่วมมือดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่า LMC จะไม่ทำงานซ้ำซ้อนหรือทดแทน แต่จะหนุนเสริมกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Greater Mekong Subregion) ความร่วมมือในการพัฒนาอาเซียน-ลุ่มน้ำโขง (ASEAN Mekong Basin Development Cooperation) และคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission)[2] และผู้นำรัฐบาลของทั้ง 6 ประเทศ คือ จีน กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนามได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกภายใต้กรอบความร่วมมือ LMC นี้ที่เมืองซันย่า ไฮ่นาน (เกาะไหหลำ) ในปี 2016 

ในปฏิญญาซันย่า ซึ่งเป็นเอกสารหลักที่ออกหลังการประชุมครั้งแรกของผู้นำ ได้ประกาศว่าจะร่วมมือกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพซึ่งกันและกันในสามเสาหลัก คือ 1.การเมือง-ความมั่นคง 2.เศรษฐกิจ-การพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3. สังคม-วัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนต่อประชาชน[3] โดยมีการแยกย่อยความร่วมมือและโครงการต่างๆ ใน 5 สาขาคือ 1.การเกษตรและการลดทอนความยากจน 2.ทรัพยากรน้ำ 3.การเพิ่มผลผลิต 4.ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน และ 5.การเชื่อมโยง (ทางกายภาพ อันได้แก่การสร้างถนนหนทาง)

กรอบความร่วมมือลานซ้าง-แม่โขง นี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative) ที่ริเริ่มโดยประธานสี จิ้นผิง ในปี 2013 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของจีนในการเชื่อมโยงและสร้างอิทธิพลในระดับภูมิภาคและระดับโลก ลักษณะทางภูมิศาสตร์มีส่วนสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ จีนเลือกมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ในการเชื่อมโยงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนที่อยู่ในทะเล และเลือกแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่

กล่าวเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขง ถือได้ว่าจีนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างการเชื่อมโยงและขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง จีนมีการค้าและการลงทุนเป็นจำนวนมากในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประสบความสำเร็จในการส่งออกเทคโนโลยีระบบรางให้กับลาวและไทย มีความสัมพันธ์ทางทหารและขายยุทโธปกรณ์ให้กับไทย พม่า และกัมพูชา และในทางกลับกันประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เช่น พม่า ไทย และกัมพูชา มีจีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับหนึ่ง  

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาต่างๆ ของจีนในลุ่มแม่น้ำโขงสร้างปัญหาให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำไม่น้อยเช่นกัน เฉพาะอย่างยิ่งโครงการเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก่อให้เกิดผลกระทบด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก นับแต่จีนเปิดดำเนินการเขื่อนมั่นวานในปี 1993 มาจนถึงเขื่อนวูนงหลงในปี 2018 เกิดภาวะผันผวนของกระแสน้ำมาโดยตลอด อ่างเก็บน้ำของทั้ง 11 เขื่อนในแม่น้ำโขงในแผ่นดินจีนกักน้ำรวมกันไว้ทั้งหมด 47,774 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือราวๆ 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งเป็นปริมาณที่มากมายมหาศาลเพียงพอจะทำให้จีนสามารถกำหนดกระแสน้ำในแม่น้ำโขงได้จนเกิดปรากฏการณ์ที่ว่า ‘ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน’ ได้ เพราะเขื่อนสามารถปล่อยน้ำให้ท่วมพื้นที่ด้านล่างได้ในฤดูแล้งและกักน้ำจนแห้งได้แม้ในหน้าฝน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ประเทศท้ายน้ำ เฉพาะอย่างยิ่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทางตอนใต้ของเวียดนามและทะเลสาบใหญ่ในกัมพูชาที่พึ่งพิงน้ำจากแม่น้ำโขงสำหรับผลักดันน้ำเค็ม ทำการเกษตร เพาะเลี้ยงและการประมง

นอกจากนี้เขื่อนไม่เพียงแต่กักน้ำเท่านั้น หากแต่ตะกอนดินก็ตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำโขงมีลักษณะใสจนสะท้อนสีท้องฟ้าได้เพราะมีตะกอนน้อย น้ำใสมีความสวยงามอาจจะเหมาะกับการท่องเที่ยว ชมวิว แต่ไม่ดีต่อระบบนิเวศน์ เพราะตะกอนเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการป้องกันการพังทลายของตลิ่งและเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์น้ำและเป็นปุ๋ยสำหรับพืช

ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมีความตกลงแม่น้ำโขงที่กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ร่วมลงนามในปี 1995 และความตกลงนั้นได้สร้างสถาบันที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการแม่น้ำโขง’ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ทำหน้าที่คอยกำกับดูแลและประสานงานการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอยู่ แต่ปัญหาคือประเทศในลุ่มน้ำตอนบน อันได้แก่จีนและพม่าไม่ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการแม่น้ำโขง กฎระเบียบและความตกลงดังกล่าวจึงไม่สามารถใช้บังคับกับจีนได้

ที่ผ่านมามีความพยายามโดยตลอดที่จะเชิญให้จีนเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงแม่น้ำโขงและเป็นสมาชิกของคณะกรรมการแม่น้ำโขงเพื่อจะทำให้องค์กรนี้บริหารจัดการแม่น้ำโขงในฐานะแม่น้ำนานาชาติได้อย่างแท้จริง แต่จีนก็ปฏิเสธเรื่อยมา อย่างมากที่สุดคือเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์และยอมแบ่งปันข้อมูลทางอุทกวิทยาให้กับคณะกรรมการแม่น้ำโขงเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำเท่านั้น[4] แต่กว่าจีนจะยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำนั้นก็ใช้เวลาเกือบ 2 ทศวรรษนับแต่ตกลงกันตั้งแต่ปี 2002 ว่าจีนจะให้ข้อมูลทางด้านอุทกวิทยาในฤดูฝน แต่การปฏิบัติจริงเกิดขึ้นหลังปี 2010 จีนจึงยอมปล่อยข้อมูลบางส่วนให้ ทว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่เพียงพอในการบริหารจัดการ บางครั้งการแจ้งว่าจะปล่อยหรือกักน้ำทำในเวลากระชั้นชิด คณะกรรมการแม่น้ำโขงจึงได้ทำการเจรจาเพื่อขอแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ ในที่สุดจีนเพิ่งจะยอมให้ข้อมูลน้ำตลอดปีแก่คณะกรรมการแม่น้ำโขงเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมานี่เอง[5]

การกลับมาของพญาอินทรี

แม้ว่าฝันร้ายสงครามเวียดนาม (Vietnam Syndrome) จะยังติดอยู่ในใจของคนอเมริกันจำนวนมากขนาดเอามาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง แต่นั่นไม่ได้ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงนโยบายที่จะให้ความสำคัญกับลุ่มแม่น้ำโขงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามยิ่งแต่จะเพิ่มความเข้มข้นและจริงจังมากขึ้น ด้วยแรงจูงใจสำคัญคือเพื่อคานอำนาจและอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้นั่นเอง

สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงแตกต่างกัน หุ้นส่วนและพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้คือไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1833 ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มอินโดจีนคือเวียดนาม ลาว กัมพูชาก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ต่อเนื่องนับจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และเลวร้ายถึงที่สุดหลังการปลดปล่อยทั้งสามประเทศในปี 1975 สหรัฐฯ จำต้องถอนตัวจากภูมิภาคนี้อย่างทุลักทุเลด้วยความอับอาย และเพิ่งจะปรับความสัมพันธ์กันในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 นี่เอง โดยปรับความสัมพันธ์กับลาวให้อยู่ในระดับปกติในปี 1992 กับกัมพูชาหลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1993 และกับเวียดนามในปี 1995 หลังจากนั้นก็ใช้เวลานานกว่าทศวรรษในการเยียวยาบาดแผลสงคราม เช่นตามหาทหารอเมริกันที่สูญหายในสงคราม เก็บกู้กับระเบิด เยียวยาคนที่ได้รับพิษฝนเหลือง และรับผู้อพยพ เช่น ชาวม้งที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยให้ไปตั้งรกรากในสหรัฐฯ 

จนล่วงเข้าเกือบสิ้นทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยของบารัก โอบามา จึงได้ริเริ่มกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคีกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้ชื่อ ‘ความริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง’ (Lower Mekong Initiative) โดยมี 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงยกเว้นจีน เข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2009 โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คือฮิลลารี คลินตันร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม เป็นครั้งแรกในประเทศไทยระหว่างการประชุมกลุ่มอาเซียน

โดยในระยะแรกเน้นความร่วมมือไปทางด้านทรัพยากรน้ำ พลังงาน อาหาร และสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้ประเทศลุ่มน้ำโขงมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน โดยนัยของความร่วมมือก็ต้องการให้ประเทศลุ่มน้ำโขงสามารถรับมือกับเขื่อนของจีนได้เป็นหลักใหญ่ แต่ที่เป็นไฮไลต์สำคัญของการปรากฏตัวของสหรัฐฯ ในลุ่มแม่น้ำโขงเกิดขึ้นในปี 2012 เมื่อประธานาธิบดีโอบามาเดินทางเยือนกัมพูชา ไทย และพม่า ในเดือนพฤศจิกายน และนับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เยือนพม่า[6] ประเทศที่โดนสหรัฐฯ คว่ำบาตรเพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนและต่อต้านประชาธิปไตยมานาน

รัฐมนตรีต่างประเทศคลินตันเยือนลาวในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน โดยมีเรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขงอยู่ในวาระของการหารือกับผู้นำของลาวด้วย[7] โอบามาให้ความสำคัญกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง เขาไม่เพียงสร้างประวัติศาสตร์ในการเยือนพม่าในช่วงสมัยแรกที่อยู่ในตำแหน่ง ก่อนอำลาตำแหน่งเขาก็สร้างหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเดินทางเยือนลาวในเดือนกันยายน 2016[8] หลังจากที่เยือนเวียดนามในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน[9]

สหรัฐฯ แสดงความเฉยชากับลุ่มแม่น้ำโขงเกือบตลอดสมัยของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จนกระทั่งเดือนกันยายน ปี 2020 จึงได้ทำแพ็กเกจความร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำโขงใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อกรอบความร่วมมือจาก Lower Mekong Initiative ในสมัยโอบามาเป็น US Mekong Partnership ปรับโฟกัสใหม่ให้มีมิติทางด้านการเมืองและความมั่นคงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายปรับปรุงเรื่องความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การเชื่อมโยงและการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศลุ่มน้ำโขง

สหรัฐฯ ทำในสิ่งที่คล้ายๆ กับจีนคือจัดวางความร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำโขงเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ กล่าวคือทำให้เป็นการผสานระหว่างมุมมองยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของอาเซียน (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) และยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Indo-Pacific) อีกทั้งยังจะช่วยหนุนส่งความร่วมมืออื่นใดที่มีอยู่แล้ว เช่น ของกลุ่มอาเซียน ACMECS ของไทย และคณะกรรมการแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีการขยายสาขาของความเป็นหุ้นส่วนใน 4 สาขา ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ 2.การจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม 3.ความมั่นคงนอกแบบ (non-traditional security) เช่น โรคระบาด ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข อาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงไซเบอร์ การค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด ค้าสัตว์ป่า ฯลฯ และ 4.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก็หมายรวมถึงการศึกษาและการส่งเสริมบทบาทสตรี[10]

รัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มเททรัพยากรและเงินทุนให้กับหุ้นส่วนสหรัฐฯ-แม่โขงอย่างมาก นับแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน มี 14 หน่วยงานของสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับ 50 โครงการในประเทศลุ่มน้ำโขง โดยสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีระดับภูมิภาคแก่ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงไปแล้ว 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประสานความร่วมมือกับพันธมิตรที่สำคัญคือกลุ่มเพื่อนแม่น้ำโขง (ดังที่กล่าวมาแล้ว) สถาบันวิชาการ เช่น East-West Center และ Stimson Center ทำหน้าที่ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแม่น้ำโขงเพื่อช่วยสนับสนุนทางด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ และสถาบันวิชาการทั้งสองได้ร่วมกันเผยแพร่งานชิ้นสำคัญชื่อ The Mekong matters for America/America matters for the Mekong ความยาว 41 หน้า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการแสดงบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าลุ่มน้ำโขงและสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อกันมากขนาดไหนทั้งในด้านยุทธศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง[11]

ปัจจุบันมีโครงการที่จัดได้ว่าเป็นเรือธงของความร่วมมือหุ้นส่วนสหรัฐฯ-แม่โขงอยู่ 4 โครงการ ได้แก่ 

1.Mekong Safeguard (ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ) เป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนทางด้านข้อมูลแก่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ควบคุมกฎ แหล่งทุน และผู้ทำโครงการ เพื่อประโยชน์ของการคุ้มครองและปรับปรุงมาตรฐานในการรักษาสิ่งแวดล้อมการปกป้องสังคมและธรรมภิบาลในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง 

2.ความริเริ่มข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง (Mekong Water Data Initiative) เป็นโครงการทางด้านทรัพยากรที่เน้นในเรื่องข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง โดยจะทำการศึกษาและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของน้ำในแม่น้ำโขง และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ MekongWater.org และ Mekong Dam Monitor เพื่อช่วยให้ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมีข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนและน้ำในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา 

3.โครงการเสวนาด้านนโยบาย (track 1.5) โดยจะเป็นการเปิดเวทีให้กับผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอ็นจีโอ วิชาการ ภาคประชาสังคมและธุรกิจมีโอกาสพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ ข่าวสาร ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ พลังงาน การเชื่อมโยง เศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงนอกแบบ 

4.โครงการทางด้านสาธารณสุขเป็นโครงการที่จะช่วยให้หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขในประเทศลุ่มน้ำโขงมีขีดความสามารถในการระบุและตอบสนองต่อการระบาดของโรคภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การบริจาควัคซีนป้องกัน โควิด-19 ให้กับประเทศต่างๆ ในเวลานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ 

โครงการของสหรัฐฯ ที่ทำในกรอบความร่วมมือสหรัฐฯ-แม่โขง ในการติดตามข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขงที่สร้างความฉุนเฉียวให้กับจีนมากที่สุดคือ Monitoring the quantity of water flowing through the upper Mekong basin under natural (unimpeded) conditions ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านภูมิอากาศ Eye on Earth ได้ศึกษาข้อมูลจากดาวเทียมและการวัดระดับน้ำในแม่น้ำโขงระหว่างปี 1992-2019 จนนำไปสู่ข้อสรุปว่า เขื่อนของจีนในแม่น้ำโขงมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้พื้นที่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำโขงประสบกับภัยแล้ง[12] 

เมื่อรายงานออกเผยแพร่ในเดือนเมษายน 2020 สถานทูตจีนในกรุงเทพฯ ออกแถลงการณ์ตอบโต้รายงานดังกล่าวอย่างทันควันโดยว่ามันถูกเขียนขึ้นด้วยแรงบันดาลใจทางการเมือง มุ่งโจมตีจีนด้วยเจตนาร้าย หนังสือพิมพ์ People’s Daily ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอ้างรายงานของจีนเองว่า เขื่อนมีส่วนในการช่วยขจัดภัยแล้งในแม่น้ำโขงต่างหาก[13] การปะทะกันแบบนี้คงจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตตราบเท่าที่มหาอำนาจทั้งสองยังคงแข่งขันกันสร้างอิทธิพลเหนือลุ่มน้ำโขง

สรุป

ความจริงไม่เฉพาะแต่จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเท่านั้นที่สนใจลุ่มแม่น้ำโขงและมีการทำความร่วมมือในกรอบพหุภาคี แต่หลายประเทศ เช่น อินเดียและเกาหลีใต้ก็มีกลไกความร่วมมือแบบนี้เช่นกัน โดยอินเดียได้ทำความตกลงความร่วมมือแม่โขง-คงคา (Mekong-Ganga Cooperation) เมื่อปี 2000 เน้นความร่วมมือไปที่สาขาท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา การขนส่งและสื่อสาร แต่ไม่ค่อยมีโครงการที่เป็นรูปธรรมออกมานัก เนื่องจากความเคลื่อนไหวของอินเดียค่อนข้างช้า ขาดแคลนเงินทุนและเจตจำนงที่แน่วแน่

ส่วนเกาหลีใต้นั้นมีกรอบความร่วมมือเกาหลี-แม่โขง (Korea-Mekong Cooperation) เมื่อปี 2011 โดยเน้นความร่วมมือไปที่เรื่องวัฒนธรรม-การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เกษตรและพัฒนาชนบท โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศ สิ่งแวดล้อม และภัยนอกแบบ โดยเกาหลีเป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านการเงินและเทคนิคแก่ประเทศลุ่มน้ำโขง คิดเป็นเงินเฉลี่ยปีละ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งอินเดียและเกาหลีใต้ต่างก็มีจุดยืนไม่ต่างจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น คือต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเองเพราะต่างก็มี supply chain อยู่ในประเทศลุ่มน้ำโขงด้วยกันทั้งนั้น ทุกประเทศก็มียุทธศาสตร์ร่วมกันในอันที่จะสร้างดุลอำนาจและอิทธิพลกับจีน โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า จีนมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์เพราะประเทศลุ่มน้ำโขงเกือบทั้งหมดยกเว้นไทยและกัมพูชา มีชายแดนติดกับจีน และทุกประเทศมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนในระดับเข้มข้น

การที่ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจและมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศลุ่มน้ำโขงมากขนาดนี้ ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดควรจะมีจุดยืนหรือท่าทีเช่นใด แน่นอนว่าทุกประเทศที่มีความสัมพันธ์และความร่วมมือแบบนี้ย่อมมีผลประโยชน์ของตัวเองชัดเจน ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง เศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ความมั่นคง ในหลายกรณีก็เป็นการแข่งขันทางอำนาจและอิทธิพลของประเทศเหล่านั้นเหนือลุ่มน้ำโขงด้วย  

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาทุกประเทศล้วนอยากได้ประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นพวกเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับผลประโยชน์ของตน ในทำนองเดียวกันประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธมหาอำนาจรายใดได้เลย แต่ก็มีความเป็นอิสระพอควรในอันที่จะกำหนดจุดยืนและท่าทีตามผลประโยชน์แห่งชาติ (หรือผลประโยชน์ของขนชั้นนำในประเทศก็ตาม) ในอันที่จะเลือกมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือแบบใดกับประเทศใด 

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตบางประการที่ใคร่จะนำเสนอเพื่อการพิจารณาความสัมพันธ์ของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับประเทศภายนอกดังต่อไปนี้

1.ประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดมีภูมิประเทศและที่ตั้งอยู่ใกล้กัน 5 ใน 6 (ยกเว้นจีน) เป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียนเหมือนกัน แต่ไม่ได้รวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นหรือมีแนวนโยบายตรงกันเสมอไป ในหลายกรณี เช่น ไทยและเวียดนามนั้นแข่งขันกันในการดึงดูดเงินทุนและเทคโนโลยีจากประเทศมหาอำนาจที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้ากว่า

2.ACMECS เป็นเพียงกรอบความร่วมมือหนึ่งเดียวที่รวม 5 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนามไว้ด้วยกัน แม้ไทยจะเป็นผู้ริเริ่มกรอบความร่วมมือนี้ แต่ไม่มีประเทศสมาชิกอื่นใดที่เห็นความสำคัญในบทบาทนำของไทย (แน่นอนว่าไทยต้องการเป็นผู้นำ แต่ไม่มีประเทศใดอยากเป็นผู้ตามไทย) เพราะต่างก็มีทางเลือกที่จะเข้าหามหาอำนาจหรือแหล่งเงินทุนนอกกลุ่มได้โดยตรง

3.ทุกประเทศมีฐานะเป็นเพื่อนบ้านของจีน แต่อาจจะมีความใกล้ชิดต่างกันอยู่บ้าง เช่น เวียดนามนั้นมีพรมแดนติดกับจีน มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดียวกัน แต่ขัดแย้งกันในเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้และการใช้น้ำในแม่น้ำโขง กัมพูชานั้นไม่มีพรมแดนติดกับจีนแต่ใกล้ชิดในทางการเมือง ลาวนั้นมีสภาพเป็นแซนด์วิชเพราะถูกขนาบด้วยจีน เวียดนามและไทย ในทางการเมืองลาวใกล้ชิดกับเวียดนาม แต่ในทางเศรษฐกิจผูกพันกับไทยและจีนอย่างมาก

4.ทุกประเทศมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่มีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน ไทย พม่า และกัมพูชามักถูกสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอยู่เสมอๆ กรณีพม่านั้นถึงกับถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรเพราะมีรัฐประหารและละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลของสามประเทศเป็นพวกอำนาจนิยมและเผด็จการทหารจึงชื่นชอบค่านิยมทางการเมืองแบบจีนมากว่าแบบสหรัฐฯ แต่ใช่ว่าลาวและเวียดนามจะไม่มีปัญหาสิทธิมนุษยชน ความจริงมีบุคลิกและอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนจีนเสียด้วยซ้ำไป แต่สหรัฐฯ ก็เลือกที่จะมองข้ามประเด็นนี้ไป

ตาราง: กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง

กรอบความร่วมมือปีที่ก่อตั้งสมาชิกสาขาที่ร่วมมือกัน
ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region)1992จีน กัมพูชา พม่า ลาว ไทย เวียดนาม– เกษตร
– พลังงาน
– สิ่งแวดล้อม
– สาธารณสุข-ทรัพยากรมนุษย์
– เทคโนโลยีสารสนเทศ
– การท่องเที่ยว
– การขนส่งการค้า
– การพัฒนาชนบท
คณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission)1995กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม– เกษตรและชลประทาน
– การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
– ประมงน้ำท่วม/น้ำแล้ง
– เพศ (gender)
– การเดินเรือ
– ไฟฟ้าพลังน้ำ
ความร่วมมือแม่โขง-คงคา (Mekong Ganga Cooperation)2000อินเดีย กัมพูชา พม่า ลาว ไทย เวียดนาม– ท่องเที่ยว
– วัฒนธรรม
– การศึกษา
– ขนส่ง-สื่อสาร
– วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
– สาธารณสุข
ความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation)2008ญี่ปุ่น กัมพูชา พม่า ลาว ไทย เวียดนาม– การเชื่อมโยง (connectivity)
– สิ่งแวดล้อม
– การจัดการทรัพยากรน้ำ
หุ้นส่วนสหรัฐ-แม่โขง (US-Mekong Partnership)2009สหรัฐ กัมพูชา พม่า ลาว ไทย เวียดนาม– การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
– การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
– การจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน
– ความมั่นนอกแบบ (non-traditional security)
ความร่วมมือเกาหลี-แม่โขง (Korea-Mekong Cooperation)2011เกาหลีใต้ กัมพูชา พม่า ลาว ไทย เวียดนาม– วัฒนธรรม-การท่องเที่ยว
– ทรัพยากรมนุษย์
– เกษตร-พัฒนาชนบท
– โครงสร้างพื้นฐาน
– เทคโนโลยีสารสนเทศ
– สิ่งแวดล้อม
– ความมั่นคงนอกแบบ
ความร่วมมือลานซ้าง-แม่โขง2014จีน กัมพูชา พม่า ลาว ไทย เวียดนาม3 เสาหลัก
– การเมือง-ความมั่นคง 
– เศรษฐกิจ-การพัฒนาที่ยังยืน 
– สังคม-วัฒนธรรม

5 สาขา
– การเกษตรและการลดทอนความยากจน 
 – ทรัพยากรน้ำ 
– การเพิ่มผลผลิต
– เศรษฐกิจข้ามพรมแดน 
– การเชื่อมโยง 
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน


[1] Chair’s Statement Mekong-Japan Foreign Ministers’ Meeting. Tokyo, 16 January 2008 (https://www.mofa.go.jp/region/asia-paci/mekong/meet0801.html)

[2] Joint Communique of the First Lancang-Mekong Cooperation Foreign Ministers’ Meeting 12 November 2015 (http://www.lmcchina.org/eng/2015-11/12/content_41449862.html)

[3] Sanya  Declaration of the First Lancang-Mekong Cooperation (LMC) Leaders’ Meeting 23 March 2016 (http://www.lmcchina.org/eng/2016-03/23/content_41449864.html)

[4] “China ready to share data on Mekong water levels ahead of regional river summit” Mekong River Commission’s press statement  April 2010 (https://www.mrcmekong.org/news-and-events/news/china-ready-to-share-data-on-mekong-water-levels-ahead-of-regional-river-summit/)

[5] “China commits to share year-round water data with Mekong River Commission” Reuters 22 October 2020 (https://www.reuters.com/article/us-mekong-river-idUSKBN277135)

[6] “Obama Asia trip includes landmark visit to Myanmar” CNN 18 November 2012 (https://edition.cnn.com/2012/11/17/politics/obama-asia-trip/index.html)

[7] “US Secretary of State Hillary Clinton on historic Laos visit” BBC 11 July 2012 (https://www.bbc.com/news/world-asia-18792282)

[8] John Parkinson “President Obama arrives in Laos for historic visit” ABC News 5 September 2016 (https://abcnews.go.com/International/president-obama-embarks-historic-visit-laos/story?id=41871361)

[9] Kristin Donnelly “President Obama arrives in Vietnam for historic Asia trip” NBC News 22 May 2016 (https://www.nbcnews.com/news/world/president-obama-arrives-vietnam-historic-asia-trip-n578251)

[10] Mekong-US Partnership Joint Statement 15 September 2020 (https://mekonguspartnership.org/2020/09/15/mekong-u-s-partnership-joint-statement/)

[11] East-West Center in Washington and Stimson Center. The Mekong matters for American/American matters for the Mekong (Washington 2020) (https://www.eastwestcenter.org/publications/the-mekong-matters-americaamerica-matters-the-mekong)

[12] Brian Eyler “Science shows Chinese dams are devastating the Mekong” Foreign Policy 22 April 2020 (https://foreignpolicy.com/2020/04/22/science-shows-chinese-dams-devastating-mekong-river/)

[13] Kay Johnson, Panu Wongcha-um “Water war: Mekong River another front in US China rivalry” Reuters 24 July 2020. (https://www.reuters.com/article/us-mekong-river-diplomacy-insight-idUSKCN24P0K7)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save