fbpx

งานวิจัยจีนมีคุณภาพจริงหรือ? : มองสังคมการเมืองจีนผ่านโลกงานวิชาการ

การประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในรอบที่ผ่านมา หน้าตาของคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองหรือโปลิตบูโร (Politburo) จะเป็นอย่างไร? สี จิ้นผิงจะต่อวาระการดำรงตำแหน่งของตนเองหรือไม่? ประเด็นดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงประเด็นภายในประเทศจีนเท่านั้น แต่ทั่วโลกต่างจับตามอง หลังจากที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

การขึ้นสู่ตำแหน่งมหาอำนาจของประเทศจีนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไร้ตัวชี้วัด เพราะเมื่อสำรวจถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนจาก GDP (gross domestic product : ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ)ในช่วงปี 1980-2019 พบว่ามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 8% นับว่ามากกว่าประเทศตะวันตกเลยทีเดียว กลายเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างข้อถกเถียงสำคัญว่าประเทศที่มีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจสามารถสร้างผลการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าประเทศที่ยึดถือวิธีตลาดเสรีได้อย่างไร? [1]

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้เห็นจีนเริ่มก่อร่างสร้างตัวลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างชัดเจนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนรวมถึงองคาพยพทางการเมืองของจีนมองว่าประเทศจีนสามารถโดดเด่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) เพราะมีระบอบการเมืองที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งชุดข้อมูลจำนวนมาก โดยประเทศจีนมีทั้งจำนวนประชากรและระบบการปกป้องข้อมูลที่ต่ำ จึงสามารถแปรผลมาเป็นข้อมูลมหาศาลที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ เมื่อหลายคนมองว่านี่เป็นโอกาสสำคัญของประเทศจีน เราจึงเห็นการลงทุนทางเทคโนโลยีในประเทศจีน รวมถึงการถือกำเนิดของบริษัทด้านเทคโนโลยีสัญชาติจีนอย่าง Alibaba, Tencent และ Huawei เป็นต้น

นอกจากนี้ เรายังเห็นถึงการลงทุนทางนวัตกรรมของจีนผ่านวงการวิชาการจากตัวเลขการลงทุนด้านงานวิชาการ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาจีนลงทุนมากถึง 25.8 พันล้านหยวนในปี 2557 และมากถึง 42.3 พันล้านหยวนในปี 2561 นับว่ามากกว่าประเทศอุตสาหกรรมอย่าง ญี่ปุ่น เยอรมัน หรือฝรั่งเศส เสียอีก

การลงทุนงบประมาณด้านงานวิชาการส่งผลให้มหาวิทยาลัยของประเทศจีนได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว และจำนวนงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในประเทศจีนนั้นก็มากขึ้นตามไปด้วย แต่สิ่งที่ตามมาคือข้อกังวลใหม่ว่าคุณภาพของงานวิชาการกลับไม่พัฒนาตาม เห็นได้จากอัตราการอ้างอิงภายในงานวิชาการของประเทศจีนนั้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ มีน้อยกว่าครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว และตำแหน่งแห่งที่ของมหาวิทยาลัยจีนบนเวทีสากลก็ไม่ได้มีอันดับที่โดดเด่นมากนัก แม้แต่ในหัวข้อที่รัฐบาลจีนให้ความสนใจอย่าง ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ด้วย

Daron Acemoglu, Jie Zhou นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) และ David Yang จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard university) ร่วมกันศึกษาวงการวิชาการในประเทศจีน ผ่านเครื่องมือ NLP หรือ Natural language processing เป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ให้ทำความเข้าใจ ตีความ และใช้งานภาษาของมนุษย์ได้ เพื่อลดช่องว่างระหว่างระบบคอมพิวเตอร์และมนุษย์

ทั้งสามใช้เครื่องมือดังกล่าวศึกษางานวิจัยของประเทศจีนเทียบกับประเทศอื่น ภายใต้งานชื่อ “Power and the Direction of Research: Evidence from China’s Academia” [2] เพื่อให้เห็นทิศทางงานวิจัยของผู้มีอำนาจภายในมหาวิทยาลัยกับผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน นำมาสู่การตอบคำถามใหญ่ที่ว่าลักษณะการใช้อำนาจในประเทศจีนที่เป็นการควบคุมจากบนลงล่าง (a top-down autocracy) ส่งผลอย่างไรต่อทิศทางและคุณภาพของงานวิจัย

อนึ่ง ความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งระหว่างวงการวิชาการของประเทศจีนกับประเทศตะวันตก คือผู้บริหารในมหาวิทยาลัยของจีน อาทิ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณบดี หัวหน้าภาค บุคคลเหล่านี้มีอำนาจมากกว่าทางตะวันตก และมีความเกี่ยวข้องทั้งด้านการใช้ทรัพยากรภายในคณะ ไปจนถึงการแต่งตั้ง ดังนั้นคำถามสำคัญคือ ผู้บริหารคณะหรือตัวแทนของพรรคฯ ตามมหาวิทยาลัยที่มีอำนาจมากนั้นจะส่งผลต่อประเด็นความสนใจและคุณภาพของงานวิชาการในประเทศจีนอย่างไร

เมื่อผู้วิจัยเข้าไปสำรวจมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีนทั้งหมด 109 แห่ง เก็บข้อมูลจากผลงานตีพิมพ์ของทั้งผู้บริหารและสมาชิกในมหาวิทยาลัยมาประมวลผลผ่านเครื่องมือ NLP โดยวัดความคล้ายคลึงของประเด็นงานและผลลัพธ์ของงานวิชาการระหว่างบุคลากรในมหาวิทยาลัยกับผู้บริหารแล้ว พบว่าประเด็นความสนใจของงานวิชาการนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงให้คล้ายคลึงกันมากขึ้น โดยความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมักเกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารคนใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ไม่มีเค้าลางมาก่อนหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งคือผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีผลต่อการเลือกประเด็นและผลลัพธ์ของงานวิจัยนั่นเอง

จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยตีความว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากความกดดันในอำนาจผู้บริหารและความกังวลด้านอาชีพการงานของผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้งานวิชาการมีการเปลี่ยนแปลงความสนใจและผลลัพธ์ให้ตอบโจทย์กับผู้มีอำนาจ

นอกจากทิศทางของงานวิชาการแล้ว คำถามต่อมาคือ แล้วความกดดันจากอำนาจของผู้บริหารนั้นส่งผลต่อคุณภาพงานวิชาการในประเทศจีนด้วยหรือไม่? คำตอบที่ผู้วิจัยให้คือ ใช่ หากผู้บริหารคนเก่ามีผลงานทางวิชาการระดับต่ำกว่ามาตรฐาน (below-average leader) แล้วมหาวิทยาลัยเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่ที่มีผลงานทางวิชาการระดับสูงกว่ามาตรฐาน (above-average leader) พบว่างานวิชาการขององค์กรนั้นจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นตามไปด้วย โดยวัดจากจำนวนการอ้างอิงในงานวิชาการ ในทางกลับกันเมื่อไปศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สลับผู้นำจากที่มีผลงานสูงกว่ามาตราฐานไปสู่ระดับต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ยิ่งเห็นว่าคุณภาพของงานวิชาการได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ

งานศึกษาชิ้นนี้ของ Daron Acemoglu, Jie Zhou และ David Yang ทำให้เห็นถึงมิติความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในวงวิชาการประเทศจีนระหว่างผู้บริหารและบุคลากร การโยกย้ายผู้บริหารและอำนาจของผู้บริหาร ล้วนส่งผลต่อความกังวลทางอาชีพของบุคลากรจนนำไปสู่การตีพิมพ์งานวิชาการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริหารมากขึ้น และส่งผลต่อภาพรวมคุณภาพของงานวิชาการของประเทศจีน

ดังนั้น แม้รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี เห็นได้จากการลงทุนผ่านงบประมาณจำนวนมาก แต่ด้วยลักษณะการใช้อำนาจรวมศูนย์ภายในประเทศ ทั้งในองค์กรระดับประเทศ ไปจนถึงองค์กรในวงวิชาการ อาจส่งผลให้คุณภาพของงานวิจัยที่ออกมาไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ลงทุนไปก็เป็นได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save