fbpx
วาทกรรมมือที่สามในยามที่จีนก้าวเป็นใหญ่ในภูมิภาค

วาทกรรมมือที่สามในยามที่จีนก้าวเป็นใหญ่ในภูมิภาค

เป็นที่รับรู้กันมานานว่าโฉมหน้าหนึ่งของอำนาจที่แฝงอยู่ในการเมืองระหว่างประเทศ คือความสามารถในการชี้นำความคิดของผู้คน โดยนักคิดอย่าง E.H. Carr ชี้ให้โลกเห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐหาใช่การใฝ่ฝันถึงสันติภาพ แต่คือการแข่งขันเชิงอำนาจเป็นหลัก ดังที่ Carr ย้ำในงานคลาสสิกของเขาว่า “power over opinion” นั้น สำคัญไม่แพ้การทหารและเศรษฐกิจ ทั้งยังอาจทรงพลังยิ่งกว่าเพราะมักทำให้ผู้อื่นตายใจและไม่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ใต้บงการ

Carr กล่าวเรื่องนี้ไว้ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นยุคก่อนที่โลกข้อมูลข่าวสาร ไซเบอร์สเปซ (cyberspace) หรือแม้แต่แนวคิด ‘อำนาจเนียน’ (soft power) จะมีบทบาทในชีวิตและกิจการของรัฐอย่างทุกวันนี้ แต่ในยุคนั้น การดึงดูดใจ การชวนเชื่อ และการเผยแพร่แนวคิดเพื่อชี้นำ ชักจูง และกล่อมเกลาทัศนคติ ก็ถือเป็นกลยุทธ์ในการแสวงหาและรักษาอำนาจมาอยู่แล้ว Carr เปิดโปงกระบวนการนี้โดยชี้ว่า แม้แต่การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันเป็นศาสตร์ที่เพิ่งกำเนิดใหม่ในยุคนั้น ก็เป็นเครื่องมือเชิงอำนาจในการชักจูงความคิดเห็นและความถูกต้อง ที่ชาติผู้ชนะสงครามเวลานั้นใช้คุมกฎระเบียบที่ตนจัดตั้งและครอบครอง

ในสมัยนี้ที่ข้อมูลกระจายฉับไวและการเมืองระหว่างรัฐส่วนใหญ่เป็นการต่อรองในเวทีพหุภาคี บนโต๊ะเจรจาที่ยึดถือกฎกติการ่วมกัน ส่งผลทำให้ความชอบธรรม ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ดูจะกลายเป็นสินทรัพย์สำคัญในการบรรลุเป้าหมายและผลประโยชน์ โดยเฉพาะในการพยายาม “เอาชนะความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ” ของทั้งผู้นำและผู้คนในที่ต่างๆ ซึ่งเป็นอีกเกมอำนาจที่รัฐอาศัยเครื่องมือไอทีที่มีเพรียบพร้อมกว่าสมัยใดในการแข่งขันกัน

ในเกมที่ว่านี้ วาทกรรม หรือข้อความที่ผลิตซ้ำภาพพจน์หนึ่งๆ ถือเป็นเครื่องมือเผยแพร่มโนทัศน์และภาพลักษณ์ กระทั่ง ‘ความจริง’ ในความคิดของผู้คน เกี่ยวกับพฤติกรรมและอุปนิสัยของรัฐใดๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานการตีความ ตัดสินคุณค่า และแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบของรัฐอื่นๆ วาทกรรมช่วยปรุงแต่งเรื่องราว เรียบเรียงตรรกะเหตุผล ที่อาจช่วยโน้มน้าวจูงใจให้อีกฝ่ายคล้อยตาม เห็นดีเห็นงามไปกับเรา อย่างที่ J. Nye มองว่าคือการทำงานของ soft power

วาทกรรมยังทำหน้าที่ได้ในอีกด้าน คือไม่ใช่ถูกใช้เพียงเพื่อชูคุณงามความดีของผู้ส่งสาร แต่อาจใช้โจมตีฝ่ายอื่น อย่างที่เราคุ้นกันดีกับ ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ (IO) ที่คอย ‘ด้อยค่า’ ‘แพร่มลทิน’ สร้างวิกฤตศรัทธาและความน่าเชื่อถือแก่คู่แข่ง ยุทธวิธีเช่นนี้ซึ่งอาจรวมถึงการแฉ บิดเบือน ป้ายสี ใช้วิธีสกปรกทำลายชื่อเสียง รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธ อาจเข้าข่ายความหมายของการใช้ ‘อำนาจคม’ (sharp power) ซึ่งแม้จะทำให้ศัตรูดูแย่ แต่เมื่อต้นตอถูกขุดคุ้ยก็อาจทำลาย soft power ของเจ้าของสารได้เช่นกัน

ข้อเขียนนี้มุ่งสนใจวาทกรรมหนึ่งซึ่งนับวันจะยิ่งแพร่หลายและเห็นได้ชัดในคำแถลง และการแสดงทัศนะของจีนที่ตอบโต้เสียงวิจารณ์ต่างๆ ไม่ว่าปัญหาพรมแดน สิทธิมนุษยชน การขยายอิทธิพลอำนาจและโรคระบาด นั่นคือวาทกรรม ‘มือที่สาม’ โดยจะประยุกต์แนวทางอธิบายจากงานของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ที่ได้วิเคราะห์บทบาทของวาทกรรมนี้ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในสังคมการเมืองไทย คำถามที่ต้องการยกมาขบคิดในที่นี้คือ วาทกรรมมือที่สามที่จีนใช้ปรากฏออกมาแบบใด ในวาระเช่นไร สร้างตรรกะเหตุผลและตอกย้ำความจริงรูปแบบไหนให้ประชาคมโลกได้รับรู้ และวาทกรรมนี้ทำหน้าที่เชิงยุทธศาสตร์ในการสร้างภาพพจน์และส่งเสริมอำนาจจีนอย่างไรบ้าง

เนื้อในใจความจะชี้ให้เห็นว่าวาทกรรมนี้ถูกใช้ยืนยันความชอบธรรมของจีนในฐานะผู้นำระเบียบที่เป็นมาแต่เดิม โดยช่วยย้ำภาพพจน์ว่าจีนเป็นที่ยอมรับและมีสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับชาติรายล้อมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาคือมี ‘มือที่สาม’ พยายามสั่นคลอนระเบียบที่ดำเนินมาอย่างราบรื่นนี้ และสร้างความบาดหมางระหว่างจีนกับชาติอื่นโดยยุแยงให้มองจีนในแง่ลบ การโทษปัญหาไปยังมือที่สามช่วยเจือจางแนวคิดว่าจีนเป็นภัย รวมทั้งความคิดที่ว่าพฤติกรรมของจีนเองเป็นต้นเหตุให้เกิดความระแวงสงสัยและการกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้

การผลิตซ้ำวาทกรรมมือที่สาม

อรรถจักร์ได้วิเคราะห์บทบาทของวาทกรรมมือที่สามซึ่งถูกผลิตซ้ำในการเมืองไทยหลายๆ สมัยได้อย่างลุ่มลึก ใครที่ได้อ่านงานนี้น่าจะสามารถเชื่อมโยงมามองการเมืองไทยในยุคปัจจุบันนี้ได้ไม่ยาก มือที่สามเป็นภาพพจน์ที่สร้างขึ้นเพื่อจัดการความขัดแย้งของรัฐกับประชาชน โดยตั้งอยู่บนคติที่ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ปรองดองสมานฉันท์กันมาแต่ไหนแต่ไร ถือเป็น ‘สภาพปกติ’ (default state of affairs) ซึ่งอาจเปรียบได้กับ ‘พ่อปกครองลูก’ ที่ตัดกันไม่ขาดและต่างปรารถนาดีต่อกัน

ภาพพจน์นี้ช่วยตอกย้ำอำนาจของผู้นำและการยอมรับของผู้ตาม โดยเบนปัญหาการบริหารจัดการของรัฐที่อาจกระทบหรือขัดสิ่งที่คนต้องการจนเกิดเสียงคัดค้านหรือแรงต่อต้าน ให้กลายเป็นเรื่อง ‘มือที่สาม’ ที่ยุยงส่งเสริมให้ผู้คนผิดใจกับผู้นำ ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกเป็นฝีมือของ ‘ผู้ไม่หวังดี’ ที่ทำให้ภาวะปกติที่พ่อลูกรักใคร่กลมเกลียวต้องบิดเบี้ยวไปจากที่ควรจะเป็น โครงเรื่องนี้ยังสื่อสารให้สองฝ่ายร่วมแรงร่วมใจจัดการคนผิด ขณะที่ก็ช่วยปกปิดข้อบกพร่องของรัฐที่อาจเป็นต้นเหตุโดยตรงของปัญหาไม่ให้เด่นชัดขึ้นมาจนเป็นที่สนใจ

ในระดับระหว่างประเทศ เราจะเห็นว่าจีนก็ใช้วาทกรรมมือที่สามคล้ายๆ กันนี้ในหลายกรณีความขัดแย้ง อาจหยิบยกเหตุลุกฮือครั้งใหญ่ในฮ่องกงปี 2019-2020 ที่ต่อต้านกฎหมายส่งผู้ต้องหาข้ามแดนเป็นตัวอย่างแรก ความดึงดันของผู้บริหารเขตที่จะผ่านกฎหมายให้ได้ทำให้แรงต่อต้านลามไปยังรัฐบาลที่ปักกิ่ง เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย และถึงขั้นมีเสียงอยากให้แบ่งแยกดินแดน จีนโทษความวุ่นวายนี้ว่าเป็นฝีมือผู้ไม่หวังดีจากภายนอก นั่นคือชาติตะวันตก

ความตั้งใจที่จะย้ำภาพพจน์มือที่สามเห็นได้ชัดจาก ‘กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ’ ที่จีนตราออกมาปีที่แล้วเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุม กฎหมายนี้กำหนดฐานความผิด “สมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ (collusion with foreign force) เอาไว้ โดยสื่อว่าสาเหตุความวุ่นวายมาจากคนกลุ่มน้อยที่ถูกต่างชาติยุยงและชักจูง ขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้สึกบาดหมางหรือต่อต้านการปกครองโดยรัฐบาลกลางของจีนแต่อย่างใด

พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่บริหารไต้หวันก็เพิ่งถูกจีนกล่าวหาว่าเป็นมือที่สาม โดยเน้นให้เห็นความแปลกแยกจากคนส่วนใหญ่ในไต้หวันที่จีนเชื่อว่าอยากมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนโดยเห็นประโยชน์ร่วมกันหลายๆ ด้าน และไม่ได้แยแสต่อสิ่งที่ DPP ใฝ่ฝันให้เกิดขึ้น อย่างการประกาศเอกราชแยกตัวจากจีน จีนวิจารณ์รัฐบาลไต้หวันว่าในยามวิกฤตโควิดลุกลามเช่นนี้ ก็ยังคิดที่จะกีดกันประชาชนของตนเองไม่ให้ได้รับวัคซีนของจีนเพียงเพราะทิฐิทางการเมือง จุดยืนเช่นนี้ของรัฐบาลไต้หวันทำให้คนจีนสองฟากฝั่งช่องแคบยิ่งแตกแยกจากกันมากขึ้น

เรายังเห็นวาทกรรมทำนองนี้กระจายอยู่ในวาทะที่จีนตอกกลับต่างชาติ อย่างกรณีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น จีนมักโทษระบบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ว่าเป็นต้นเหตุให้สองฝ่ายมีท่าทีที่ไม่ลงรอยกัน เพราะมีสหรัฐฯ คอยสกัดไม่ให้ญี่ปุ่นสานสัมพันธ์เข้าหาจีนได้ด้วยดี จีนจึงมักแนะนำให้ญี่ปุ่นมีจุดยืนและยุทธศาสตร์ที่เป็น ‘อิสระ’ จากสหรัฐฯ อย่างที่เอกอัครราชทูตจีนประจำญี่ปุ่นเพิ่งได้ย้ำเรื่องนี้ในการให้สัมภาษณ์ออกสื่อไม่นานมานี้ เมื่อนั้นแล้วความสัมพันธ์ของทั้งสองจะพัฒนาไปในทางที่ดีได้

การกล่าวโทษสหรัฐฯ เป็นมือที่สามยังเห็นได้ในกรณีทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับชาติอาเซียน สื่อจีนอย่าง Global Times โจมตีสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้ก่อกวนการเจรจาจัดทำ code of conduct ที่จะใช้เป็นแนวทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติของรัฐในพื้นที่ อย่างที่เห็นว่าสหรัฐฯ ส่งกองกำลังเข้ามาสร้างความปั่นป่วนอย่างไม่ว่างเว้น ซ้ำยังกล่าวหาจีนว่าละเมิดกฎเกณฑ์และกดดันชาติที่เล็กกว่า ทำให้จีนถูกมองเป็นภัยคุกคามอยู่เสมอ 

ตัวอย่างการใช้วาทกรรมแบบนี้ ยังรวมไปถึงการมองว่าต่างชาติคอย “แทรกแซงกิจการภายใน” ของจีน โดยเป็นตัวการสร้างอุปสรรคต่อเป้าหมาย “ฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของชนชาติจีน” ไม่ว่าการรวมไต้หวัน การพัฒนามลฑลซินเจียง และการสร้างความเป็นปึกแผ่นภายใน ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับสื่อต่างชาติที่มักเสนอแต่ด้านลบของจีน โดยเบี่ยงเบนเจตนาอันบริสุทธิ์ให้กลายเป็นความน่าหวาดระแวงหากจะต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจจีน รับความช่วยเหลือ หรือเข้าร่วมในโครงการพัฒนาอย่างข้อริเริ่มแถบทาง (BRI) ทำให้ชาติต่างๆ รู้สึกว่าจีนมีเล่ห์เหลี่ยมแอบแฝงในทุกการกระทำ ด้วยการยุแยงของมือที่สามเช่นนี้ ทำให้แม้จีนจะทำดีแค่ไหนก็ไม่อาจสร้างมิตรแท้ที่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันได้

แนวคิดใต้หล้าในวาทกรรมมือที่สาม

วาทกรรมมือที่สามนี้มีนัยสำคัญอย่างไร และก่อประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์แก่จีนในทางไหน จีนถึงได้นำเสนอให้เห็นหลายๆ ครั้ง ในประเด็นแรกอาจตอบโดยอิงบทวิเคราะห์ของอรรถจักร์ นั่นคือการโบ้ยปัญหาไปยังมือที่สามสะท้อนนัยที่ว่าความสมานฉันท์คือ ‘ภาวะปกติวิสัย’ (default state) ระหว่างผู้นำกับผู้ตามและไม่มีทางที่ทั้งสองจะคิดร้ายต่อกันได้เอง

ในกรณีของไทย คติพ่อปกครองลูกสะท้อนการยอมรับความชอบธรรมในบทบาทนำและอุปถัมป์ของพ่อ และหน้าที่ของลูกที่ต้องเชื่อฟังและสำนึกในบุญคุณ แต่ใช่ว่าภาพพจน์มือที่สามจะใช้ได้เฉพาะกรณีผู้นำกับผู้ใต้ปกครองเท่านั้น ระหว่างคนฐานะเท่ากันก็อาจใช้อำพรางความจริงได้ แต่ในกรณีจีน นัยอาจใกล้เคียงกับในการเมืองไทย ที่เน้นความต่างสถานะระหว่างผู้นำกับผู้ใต้บงการ โดยวาทกรรมนี้แฝงตรรกะที่ว่าในภาวะปกติของระเบียบโลกตะวันออก จีนเป็นผู้นำอันเป็นที่ยอมรับและชอบธรรม (suzerainty) มาแต่เดิม

ความสัมพันธ์แบบพ่อลูกอาจเทียบได้กับระบบบรรณาการซึ่งจีนเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ดินแดนต่างๆ เข้ามาสวามิภักดิ์ โดยจีนแบ่งปันความมั่งคั่งและผลประโยชน์ให้แก่บริวารที่ยอมรับในอำนาจของจีน อันเป็นบทบาทหน้าที่ผู้ใหญ่ต่อผู้น้อยตามอุดมคติขงจื่อ ภายใต้ระเบียบแบบนี้ที่เรียกว่า tianxia (ใต้หล้า) สถานะนำเหนือชาติต่างๆ ของจีนไม่เคยถูกตั้งคำถาม ต่างฝ่ายมีบทบาทหน้าที่ระหว่างผู้นำกับผู้ใต้บงการที่จัดวางไว้แล้วและรับรู้กันเสมือนกฎจักรวาลที่ดำเนินสอดคล้องไปอย่างประสานลงตัว

หลายคนสันนิษฐานว่าคติใต้หล้า แม้จะสะท้อนความยิ่งใหญ่และยุคสมัยของจีนที่ลาลับไปแล้ว แต่อาจเป็นโลกทัศน์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในสังคมและในหมู่ผู้นำ หรือไม่ก็กำลังถูกพลิกฟื้นขึ้นใหม่ (neo-tianxia) ท่ามกลางแนวคิดชาตินิยมและการตั้งเป้าบรรลุ ‘ความฝันจีน’ ที่จะสร้างระเบียบเอเชียที่มี ‘จีนเป็นศูนย์กลาง’ ขึ้นอีกครั้ง

วาทกรรมมือที่สามสร้างภาพพจน์ให้เห็นต่อไปว่าภาวะดั้งเดิมที่ผู้นำและผู้น้อยเคารพตำแหน่งแห่งที่ซึ่งกัน ถูกฝั่งที่ไม่หวังดีเข้าแทรกแซง ทำให้ระเบียบและสมดุลแปรปรวน ภาพเช่นนี้นอกจากตอกย้ำบทบาทและสิทธิอันชอบธรรมในฐานะผู้นำหรือผู้เป็นใหญ่ในระเบียบแล้ว ยังมีนัยว่าความบาดหมางกับชาติพิพาทไม่ได้เกิดจากการตั้งคำถามหรือไม่พอใจบทบาทของจีน แต่ถูกยุยงโดยฝ่ายที่สาม และไม่ได้มีเหตุจากพฤติกรรมของจีน

ประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของวาทกรรมมือที่สาม

ดังนั้นแล้ววาทกรรมนี้จึงแฝงการอ้างสถานะและสิทธิในการทำตามอำเภอใจของจีนโดยที่ใครก็ไม่ควรคัดค้าน โดยถือเป็นสภาวการณ์ตั้งต้น หากมีคนคล้อยตามวาทกรรมนี้กันมากย่อมสร้างความได้เปรียบให้แก่จีน เสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายๆ ตัว ทั้งการสามารถสร้างภาพ ‘ศัตรูร่วม’ ที่ทำให้เกิดการกระชับ ‘แนวร่วม’ ขึ้น ตลอดจนด้อยค่าเสียงวิจารณ์ และลดความร้ายแรงของพฤติกรรมกดขี่ของจีนในสายตาประชาคมโลก

นอกจากการตีตราว่าใครเป็นมือที่สามจะเป็นวิธีการสร้างศัตรูร่วมกัน ช่วยทำให้คนในกลุ่มเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นยิ่งขึ้นแล้ว ภาพพจน์นี้ยังทำหน้าที่ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือให้คำอธิบายเหตุแห่งความร้าวฉานที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในคนกลุ่มเดียวกันว่าเป็นฝีมือของมือที่สาม ดังนั้นความไม่พอใจที่ประชาชนและชาติเอเชียมีต่อรัฐบาลจีนจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ หากไม่ใช่เพราะศัตรูที่ใช้กลอุบายเป่าหูยุแยงสมาชิก

ตรรกะนี้มักรวบฝ่ายที่คัดค้านจีนให้เป็นมือที่สามไปโดยปริยาย หรือไม่ก็มองเป็นคนส่วนน้อยที่ถูกมอมเมาจนหลงเชื่อเหล่าผู้ประสงค์ร้าย แน่นอนว่าฝ่ายผู้เสียหายจากสิ่งที่รัฐบาลจีนทำย่อมไม่ซื้อคำอธิบายเช่นนี้ และมองเป็นการบิดเบือนเรื่องราวออกจากปัญหาสองฝ่าย แต่จุดมุ่งหมายของวาทกรรมนี้อาจมุ่งขายเหล่า ‘กองเชียร์จีน’ และผู้คนวงกว้างที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในความขัดแย้งกับจีนมากกว่า

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น วาทกรรมนี้กลายเป็นโครงเรื่องสำหรับแก้ต่างและปกป้องรัฐบาลจีนในสังคมต่างๆ ซึ่งส่งผลช่วยลดความระแวงในการพึ่งพิงจีน และสร้างความอุ่นใจว่าท่าทีที่ดุดันหาใช่ ‘อุปนิสัย’ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่เป็นเพราะถูกบีบให้ต้องทำจากสถานการณ์ที่มือที่สามปลุกปั่นให้เกิดขึ้นต่างหาก ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ไม่ยากในสังคมไทยเองที่มีกองเชียร์จีนอยู่ไม่น้อยในภาคส่วนต่างๆ คอยเสนอบทวิเคราะห์ให้เห็นความยุ่งยากที่จีนเผชิญจากการแทรกแซงของมือที่สาม

วาทกรรมนี้ดูจะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในหมู่ ‘แนวร่วม’ ผู้สนับสนุนจีน ซึ่งช่วยเผยแพร่ทฤษฎีแบบ ‘สมรู้ร่วมคิด’ ให้ผู้คนวงกว้างเปลี่ยนความเข้าใจสถานะของจีนเสียใหม่จากผู้กระทำมาเป็นเหยื่อ ขณะที่พากันมองข้ามความขัดแย้งโดยตรงระหว่างจีนกับคู่พิพาท และพฤติกรรมของจีนเองที่อาจเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหลาย แนวร่วมที่เกิดจากการพากันเห็นพ้องและเห็นใจจีน ช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์ ‘แบ่งแยกและปกครอง’ โดยช่วยกันปิดล้อมและปิดปากฝ่ายที่คัดค้านจีนซึ่งถูกทำให้กลายเป็นศัตรูร่วมไป

วาทกรรมนี้ยังทำหน้าที่ด้อยค่า (marginalize) ข้อเรียกร้องของฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งคำวิจารณ์พฤติกรรมของจีนให้กลายเป็นแค่คำป้ายสีให้จีนดูน่ารังเกียจ ซ้ำยังลดทอนความรุนแรงหรือเบี่ยงเบนความสนใจออกจากผลกระทบที่จีนกระทำต่อฝ่ายต่างๆ ทั้งเพื่อจากความต้องการควบคุมให้ได้เบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น หรือเพื่อขยายขอบเขตอำนาจตามศักยภาพที่จีนมีมากขึ้น

อาจกล่าวโดยสรุปว่า ข้อได้เปรียบที่จีนจะได้เมื่อวาทกรรมนี้เป็นที่เชื่อถือกันแพร่หลาย คือ soft power ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์จีนในด้านดี นั่นคือการตอกย้ำความสมานฉันท์อันเป็นภาวะดั้งเดิมระหว่างคนจีนหรือคนเอเชียด้วยกัน ซึ่งโดยธรรมชาติไม่อาจร้าวฉานกันได้เอง แนวคิดนี้แฝงนัยของการยอมรับจีนในฐานะผู้นำที่หวังดีต่อบริวารอยู่เสมอ ไม่ว่าท่าทีที่แสดงออกมาจะเป็นเช่นไร

แต่ขณะที่จีนอาจรวบรวมแนวร่วมได้เพิ่มขึ้นจากการเผยแพร่ตรรกะมือที่สาม วาทกรรมนี้ก็มีด้านของ sharp power ที่อาศัยการบิดเบือนใส่ร้ายอีกฝ่ายว่าเป็นผู้บ่อนทำลายระเบียบ โดยแต่งเรื่องโป้ปดขึ้นมาโจมตีจีน หาใช่ข้อเรียกร้องอันชอบธรรมของผู้เคราะห์ร้ายจากการกระทำของจีนไม่ การใช้วิธีเบี่ยงเบนประเด็นแทนการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือแทนการตอบสนองข้อเรียกร้องหรือหันหน้าประนีประนอมกับคู่กรณี อาจไม่ใช่วิธีดำรง power over opinion ได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ sharp power ยังอาจส่งผลย้อนกลับในทางลบ เพราะอย่าลืมว่าฝ่ายผู้ถูกจีนกระทำก็มีเครื่องมือและช่องทางเผยแพร่ข้อเท็จจริงและเรื่องเล่าที่อาจปรุงแต่งภาพลักษณ์ของจีนไปอีกแบบในสายตาชาวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมที่มีการจัดการข้อมูลข่าวสารและการเมืองที่โปร่งใสกว่า มักเสนอข้อมูลที่ให้ความรู้สึก ‘จริงกว่า’ แก่ผู้รับสาร ซึ่งอาจด้อยค่าวาทกรรมมือที่สามให้เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ หรือทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดเลื่อนลอยไร้ความน่าเชื่อถือ

ในเวลานี้ เมื่อวาทกรรมมือที่สามกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทูตของจีนซึ่งเน้นความดุดันดั่ง ‘นักรบหมาป่า’ เพื่อฝ่าแรงกดดันรอบด้านจากนานาชาติ เป็นที่น่าจับตาต่อไปว่าจีนจะจัดการสร้างสมดุลอย่างไรเพื่อไม่ให้อำนาจคมกลับมาสร้างบาดแผลให้แก่ตนเอง


อ้างอิง:

E.H. Carr. The Twenty Years’ Crisis, 1919-1939 (Reissued with A New Preface from Michael Cox). London: Palgrave Macmillan, 2016.

อรรถจักร สัตยานุรักษ์. มือที่สาม’ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2549.

“US is Largest Manipulator, Biggest Threat to Stability in South China Sea: Analysts.” Global Times (July 14, 2020).https://www.globaltimes.cn/content/1194470.shtml

“Chinese Envoy to Japan Criticizes ‘Quad’ Grouping as ‘100% Outdated.’ The Japan Times (May 19, 2021). https://www.japantimes.co.jp/news/2021/05/19/national/china-ambassador-quad/

“More Covid-19 Vaccines Coming to Taiwan as Cases Spike.” Reuters (May 17, 2021) https://www.reuters.com/world/asia-pacific/taiwan-scrambles-vaccines-domestic-covid-19-cases-rise-2021-05-17/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save