fbpx
เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับวงการสตาร์ทอัพจีน

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับวงการสตาร์ทอัพจีน

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

ฮีโร่ของหนุ่มสาวชาวจีนยุคใหม่ไม่ใช่ประธานเหมา ไม่ใช่สีจิ้นผิง แต่เป็นแจ็ค หม่าต่างหากครับ เรื่องราวการสร้างสตาร์ทอัพของแจ็ค หม่า เริ่มต้นจากศูนย์ จนทะยานขึ้นมาเป็นอาณาจักร E-Commerce อันดับ 1 ของจีนอย่าง Alibaba กลายเป็นเส้นทางที่หนุ่มสาวชาวจีนสมัยนี้หลายคนอยากเดินตาม

 

การสร้างสตาร์ทอัพเป็นเทรนด์ใหม่ในกลุ่มหนุ่มสาวที่มีไฟฝันทั่วโลก โดยจะได้ชื่อว่าเป็น ‘สตาร์ทอัพ’ ได้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีมาสร้างผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ ซึ่งแตกต่างชนิดพลิกวิธีคิดเดิมๆ (เรียกว่า ‘disrupt’) ดังนั้น จากที่ตั้งต้นจากศูนย์ก็สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว (scalable) ด้วยเงินอัดฉีดจากนักลงทุนที่สนใจ

เรามักคิดกันว่าประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้นำในเรื่องสตาร์ทอัพ แต่ที่หลายคนอาจไม่ค่อยรู้ก็คือ ประเทศจีนเองก็มีวงการสตาร์ทอัพที่โดดเด่นและรุ่งเรืองมากเช่นกัน ปัจจุบัน ในบรรดาสตาร์ทอัพที่ขึ้นชั้นเป็น ‘Unicorn’ (มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) ทั่วโลกจำนวน 276 กิจการ มีถึง 96 กิจการอยู่ในเมืองจีน

มาดูเรื่องราวที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับวงการสตาร์ทอัพจีนกันครับ

 

ตลาดมหึมาภายในจีน กับกลยุทธ์ ‘บุกนอกเพื่อชนะใน’

 

วงการสตาร์ทอัพจีนคึกคักและรุ่งเรือง เพราะตลาดขนาดมหึมา และแรงงานทักษะที่มีปริมาณมหาศาล จีนมีประชากรรวม 1.4 พันล้านคน (สหรัฐฯ มี 320 ล้านคน) และจีนมีประชากรที่ใช้สมาร์ทโฟน 660 ล้านคน (สหรัฐฯ มี 220 ล้านคน) ในส่วนของแรงงานที่มีการศึกษา จีนมีนักศึกษาที่จบปริญญาตรีปีละ 8 ล้านคน และมีจำนวนคนจบด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมคิดเป็น 8 เท่าของจำนวนคนจบด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในสหรัฐฯ

นอกจากผู้บริโภคจำนวนมหาศาล และผู้ประกอบการที่มีฝีมือแล้ว นักลงทุนและกองทุนในจีนยังเงินหนามากด้วย มีการประเมินว่า VC ในจีนอัดฉีดเงินลงทุนเริ่มแรกในสตาร์ทอัพ ด้วยปริมาณเงินลงทุนสูงกว่า VC ในสหรัฐฯ 2-3 เท่าตัว ทั้งนี้เพราะจีนเป็นตลาดที่มีการแข่งขันดุเดือด การทุ่มเงินให้กับสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถเติบโต (scale up) ได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สตาร์ทอัพอยู่รอดและมีทางไปต่อ ในขณะเดียวกัน โอกาสที่ต่อไปอาจควบรวมกับสตาร์ทอัพอื่นที่ใกล้เคียงกันจนเกิดเป็นกิจการขนาดใหญ่ในอนาคต (ดังเช่น การควบรวมบริษัท App แท็กซี่ Didi กับ Kuaiche) ก็ช่วยลดความเสี่ยงของนักลงทุนที่ลงขันเงินในช่วงเริ่มต้น

เมืองใหญ่หลายเมืองในจีนมักมีเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับสตาร์ทอัพและบริษัทเทคโนโลยีโดยเฉพาะ สตาร์ทอัพชื่อดังในจีนมักตั้งอยู่ที่เมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง หางโจว และเสินเจิ้น โดยเฉพาะเมืองเสินเจิ้นนั้น นับว่าเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องอาศัยโรงงานในการผลิตสินค้า เพราะห่วงโช่การผลิตในเสินเจิ้นมีประสิทธิภาพสูง จนมีคำกล่าวว่า เวลา 1 สัปดาห์ในเสินเจิ้น เท่ากับเวลา 1 เดือน หากเลือกไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อื่น นอกจากนั้น ระบบโลจิสติกส์ในจีนก็พัฒนาจนสามารถกระจายและจัดส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

ในยุคเริ่มแรกนั้น สตาร์ทอัพจีนเน้นเลียนแบบไอเดียจากบริษัทต่างชาติและนำมาปรับปรุงให้เหมาะกับตลาดผู้บริโภคจีน เช่น Tencent (เจ้าของ Wechat) ก็เริ่มต้นจากการเลียนแบบ ICQ หรืออย่าง Baidu ก็เลียนแบบมาจาก Google แม้แต่โมเดลธุรกิจเกมออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งของ Tencent ในปัจจุบัน ก็มาจากโมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพเกมออนไลน์ในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ในยุคหลัง เราจะเห็นว่าสตาร์ทอัพในจีนเริ่มมีการต่อยอดสินค้าและบริการในรูปแบบที่แตกต่างจากของเดิมมาก รวมทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เองโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

สตาร์ทอัพหลายรายของจีนพอเริ่มประสบความสำเร็จ ก็เลือกเดินหน้าต่อด้วย ‘กลยุทธ์บุกนอกเพื่อชนะใน’ กล่าวคือ ออกไปลงทุนหรือควบรวมกิจการในสหรัฐฯ โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ แต่มีเป้าหมายเพื่อเอาเทคโนโลยีใหม่กลับมาพัฒนาสินค้าและบริการภายในจีน ปัจจุบัน สตาร์ทอัพจีนและนักลงทุนจีนหลายแห่งได้เข้าซื้อหรือลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีใน Silicon Valley ในสหรัฐฯ

เป้าหมายในการลงทุนของสตาร์ทอัพจีนและนักลงทุนจีนในสหรัฐฯ คือ เอาเทคโนโลยีใหม่กลับมาจีน เพื่อพัฒนาเป็นสินค้าด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าในจีน และ scale up อย่างรวดเร็วจนนำหน้าคู่แข่งในจีน การประกาศการลงทุนในสหรัฐฯ ของสตาร์ทอัพจีนยังมักส่งผลให้หุ้นของสตาร์ทอัพนั้นภายในตลาดหลักทรัพย์จีนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของหุ้นมักสูงกว่ามูลค่าเงินลงทุนในสหรัฐฯ ทำให้การลงทุนคุ้มค่าตั้งแต่เริ่มต้น

นอกจากนั้น ยังมีบริษัทเทคโนโลยีของจีนไม่น้อยที่เริ่มเปิดศูนย์ R&D ในสหรัฐฯ และประเทศตะวันตก เพื่อดึงดูดนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของตะวันตกให้มาทำงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้บริษัทจีน

 

วัฒนธรรมใหม่: คล่องตัว และกล้าลองกล้าเสี่ยง

 

เนื่องจากตลาดขนาดใหญ่ และผู้เล่นจำนวนมาก ทำให้การแข่งขันดุเดือด ความรวดเร็วในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงสำคัญมาก มีรายงานว่าคนหนุ่มสาวในวงการสตาร์ทอัพของจีนทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ เพื่อแข่งกับเวลา บริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนเอง ก็มักให้ความสำคัญกับความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น Tencent มีบริษัทลูกแบ่งตามผลิตภัณฑ์ใหม่หลายร้อยบริษัท ทีมงานในแต่ละบริษัทสามารถตัดสินใจได้เองเลย โดยไม่ต้องรายงานต่อส่วนกลาง จุดประสงค์เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และทำการตลาดได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรู้ว่าอะไรได้ผล ไม่ได้ผล ก็สามารถนำกลับมาปรับปรุงใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

วงการสตาร์ทอัพจีนกับวงการสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ มีความเหมือนกันอย่างหนึ่ง นั่นคือ คนหนุ่มสาวกล้าลองกล้าเสี่ยง เพราะรู้ดีว่า ‘ล้มแล้วไม่ตาย’  ในประเทศจีน เนื่องจากวัฒนธรรมสตาร์ทอัพเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง ตลาดขนาดใหญ่ และมีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจนเป็นบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก ดังนั้น คนหนุ่มสาวของจีนจึงกล้าใช้เวลาส่วนหนึ่งหลังเรียนจบไล่ตามความฝันในการสร้างสตาร์ทอัพของตัวเอง หากสุดท้ายแล้วสตาร์ทอัพล่ม ก็ยังสามารถเปลี่ยนมาสมัครงานในบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ของจีนได้ โดยบริษัทใหญ่เหล่านี้นิยมจ้างคนที่ผ่านการทำสตาร์ทอัพของตัวเองมาก่อน ขณะเดียวกัน ก็มีพนักงานในบริษัทใหญ่ส่วนหนึ่งที่ภายหลังจากสะสมประสบการณ์ช่วงหนึ่งแล้ว ดีดตัวออกมาทำสตาร์ทอัพไล่ตามความฝันของตัวเอง โดยรู้ว่าถ้าสุดท้ายความฝันล่ม ก็ยังมีโอกาสกลับเข้าบริษัทเดิมหรือหางานในบริษัทใหม่ได้ไม่ยาก

ตรงนี้นับเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวงการสตาร์ทอัพในหลายประเทศ ที่อาจไม่คึกคักอย่างเต็มที่ เพราะมีแต่ลูกคนรวยเท่านั้นที่จะกล้าทดลองกล้าเสี่ยงทำสตาร์ทอัพ คนหนุ่มสาวทั่วไปไม่มีใครกล้าตามความฝัน เพราะกลัวว่า ‘ล้มแล้วอาจหมดตัว’ หรือหมดทางหมดวัยหางานประจำไม่ได้อีกต่อไป หรือในบางประเทศที่วัฒนธรรมความจงรักภักดีต่อองค์กรสำคัญมาก พนักงานในบริษัทใหญ่น้อยรายจะสนใจออกมาทำสตาร์ทอัพเอง เพราะรู้ว่าหากเดินออกมาจากงานประจำเมื่อไร ก็คงหมดหนทางหวนกลับไปทำงานกินเงินเดือนแบบเดิมอีก

 

สรุป: อย่าลืมหันมองเทรนด์ใหม่จากจีน

 

วงการสตาร์ทอัพเป็นวงการที่ ‘ผลัดใบ’ อย่างรวดเร็ว กล่าวคือจะเกิดไอเดียผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพลิกโฉม (disrupt) ของเดิมอยู่ตลอด ในสมัยก่อน สิ่งใหม่ๆ มักมาจากวงการสตาร์ทอัพของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Uber, YouTube ฯลฯ แต่ในวันนี้ ถ้าเรารู้จักหันมองจีนบ้าง เราก็จะเห็นไอเดียสตาร์ทอัพแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และน่าสนใจมากมาย หลายไอเดียอาจไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก และน่าจะนำมาปรับและต่อยอดให้เข้ากับตลาดของไทยได้

นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายอย่างอาจออกดอกผลเป็นสินค้าที่จีนก่อนสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากกลยุทธ์ ‘บุกนอกเพื่อชนะใน’ ของสตาร์ทอัพจีน นอกจากนั้น การทุ่มเงิน R&D ในเทคโนโลยี AI ชนิดไม่อั้นของรัฐบาลจีน ก็ย่อมจะนำไปสู่การแตกหน่อสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่อีกมากมาย

 

มองเทรนด์ใหม่จากจีนแล้ว ก็อย่าลืมคิดถึงวัฒนธรรมใหม่ที่ทำให้วงการสตาร์ทอัพจีนก้าวกระโดดมาถึงตรงนี้ได้อย่างรวดเร็ว นโยบายป่าวประกาศสนับสนุนให้คนออกมาทำสตาร์ทอัพในสังคมใดก็ตามจะไม่มีความหมายเลย ถ้าในสังคมนั้น คนหนุ่มสาวขาดไฟฝัน หรือไม่กล้าฝัน ไม่กล้าเสี่ยง ด้วยข้อจำกัดของวัฒนธรรมผู้ประกอบการ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และค่านิยมของสังคม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save