จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
นักรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งพูดย้ำๆ มาตั้งแต่สองสามปีที่แล้วว่าระเบียบโลกเสรีนิยมกำลังถดถอย และระบอบอำนาจนิยมมีพลังมากขึ้นในการเมืองโลก ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนภายในประเทศจะยากขึ้น ต่างจากช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งประชาธิปไตยเบ่งบานทั่วโลก ขณะที่ระบอบอำนาจนิยม รวมถึงระบอบผสมรูปแบบต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจ ซึ่งโอบกอดระบอบดังกล่าวและเดินหมากทางภูมิรัฐศาสตร์ต้านระเบียบโลกแบบเสรีนิยม
บทบาทด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนกำลังตอกย้ำแนวโน้มข้างต้น ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อสองปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสีจินผิงประกาศว่าจีนกำลังจะเป็น ‘มหาอำนาจด้านไซเบอร์’ โดยมีกลยุทธ์สองขั้วได้แก่ หนึ่งควบคุมเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงจับจ้องพฤติกรรมในโลกไซเบอร์ของประชาชน และสอง ใช้ข้อมูลดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อการปกครองของรัฐบาล
ผู้นำจีนเน้นย้ำว่า ‘โมเดลจีน’ จะส่งผลดีต่อการพัฒนา ขณะเดียวกันก็ช่วย ‘พิทักษ์อธิปไตยแห่งรัฐ’ นับจากนั้นมา รัฐบาลจีนไม่รีรอที่จะส่งออกไอเดียนี้สู่ประเทศต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มอำนาจนิยม โดยเผยแพร่เทคโนโลยี ฝึกฝน และสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศที่ต้องการเดินตามรอย ‘โมเดลจีน’
แผนภาพด้านล่างชี้ขั้นตอนสู่ ‘โมเดลจีน’ เก้าประการ ดังนี้
ประการแรก คือการสร้างกำแพงอินเทอร์เน็ต (Great Firewall) เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนในจีนถูกควบคุมและสอดส่องโดยรัฐบาลได้ง่าย (ถ้าใครจำได้ รัฐบาลคสช. มีข้อเสนอทำนองนี้เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว แต่ล้มพับไปเพราะถูกต่อต้าน แต่ไม่ได้ว่าหมายว่าการจับจ้องและควบคุมโลกไซเบอร์ตามโมเดลจีนจะไม่เกิดขึ้น)
ประการที่สอง คือการลบ/กำจัดเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตที่เป็นภัยต่อรัฐบาล
ประการที่สาม คือการบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และบรรดาผู้ประกอบการในสื่อโซเชียลต้องจดทะเบียนกับรัฐบาล หากมีพฤติกรรมเป็นภัยต่อรัฐบาล จะถูกยกเลิกใบอนุญาต
ประการทีสี่ คือการอาศัยกองกำลังไซเบอร์ ทั้งที่เป็นมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence – AI หรือที่เรียกกันในทางเทคนิคว่า บ็อต/โรบ็อต) ปั่นข้อมูลข่าวสารในสื่อโซเชียล เพื่อดิสเครดิตผู้เห็นต่างและสร้างข่าวที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลและชนชั้นนำ
ประการที่ห้า คือการออกกฎหมายเพื่อจำกัดและควบคุมเสรีภาพในโลกไซเบอร์ โดยอาศัยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ
ประการที่หก คือการใช้เทคโนโลยีตรวจตราสอดส่องเพื่อควบคุมพฤติกรรมประชาชน โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล รวมถึงจดจำใบหน้าผู้คน ดังจะได้อธิบายอย่างละเอียดในบทความชิ้นหน้า
อีกสามมาตรการที่เหลือ มุ่งคุกคามผู้เห็นต่างที่เป็น ‘ภัย’ ต่อรัฐบาลและชนชั้นนำโดยตรง ได้แก่การใช้กฎหมาย (ในข้อห้า) จับกุมประชาชน เปิดทางให้หน่วยงานความมั่นคงหรือกองกำลังพลเรือนซึ่งรัฐสนับสนุนใช้ความรุนแรงกับประชาชน เช่นบังคับสูญหาย เป็นต้น และสุดท้ายคือการใช้หน่วยงานความมั่นคง รวมถึงกองกำลังไซเบอร์ (ข้อที่สี่) โจมตีเชิงเทคนิค เช่นใช้ปฎิบัติการ DOS (Denial of Service Attack) สร้างความเสียหายแก่เว็บซึ่งเผยแพร่ข้อมูลต้านรัฐบาล

รัฐบาลจีนใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการเผยแพร่ ‘โมเดลจีน’ ข้างต้น โดยเฉพาะผ่านโครงการ เส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative – BRI) โดยรัฐบาลจีนลงทุนสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศซึ่งเป็นทางผ่านเส้นทางสายไหม ส่วนหนึ่งของการลงทุนนี้เน้นสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล บรรษัทจีน (ซึ่งแน่นอนว่ามีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐบาล) สร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ในประเทศกลุ่มเส้นทางสายไหม แม้ดูเหมือนประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จาก ‘โครงการพัฒนา’ ทว่าการวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตช่วยให้รัฐบาลจีนเข้าถึงข้อมูลที่วิ่งผ่านเส้นทางสายไหมดิจิทัลด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังจัดเวทีพบปะ ประชุมเชิงปฏิบัติการ และฝึกอบรมทักษะด้านดิจิตอล โดยเชิญตัวแทนจากประเทศซึ่งขึ้นชื่อด้านการปราบปรามผู้เห็นต่างและละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าร่วม หน่วยงานซึ่งสำรวจเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตอย่าง Freedom House ชี้ว่าในจำนวน 65 ประเทศที่องค์กรสำรวจ พบว่ามีตัวแทนจาก 35 ประเทศเข้าร่วมกิจกรรมดิจิทัลที่รัฐบาลจีนจัด
ดูเผินๆ กิจกรรมเหล่านี้อาจดูไม่มีพิษมีภัย ทั้งยังเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ 4.0 ทว่าเมื่อพิจารณาจริงๆ กลับมีเนื้อหาน่ากังวลหลายเรื่อง เช่นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2017 รัฐบาลจีนจัดเสวนาว่าด้วยการจัดการพื้นที่ไซเบอร์แก่เจ้าหน้าที่จากประเทศซึ่งร่วมโครงการเส้นทางสายไหม เจ้าหน้าที่เหล่านี้เยี่ยมเยียนบรรษัทซึ่งจัดการ big data ทั้งยังฟังเทคนิคจากหน่วยงานจีนว่าจะใช้ big data แบบ real time อย่างไร เพื่อสอดส่องความเห็นสาธารณะที่ ‘เป็นลบ’ และชี้นำความเห็นที่มีพลัง ‘เชิงบวก’ (คือเป็นประโยชน์กับการปกครองของรัฐบาลนั่นเอง)
หลายครั้งงานเสวนาและฝึกอบรมถูกออกแบบให้ตรงกับ ‘ความต้องการ’ ที่เฉพาะของประเทศต่างๆ เช่นเมื่อกลางปี 2018 เจ้าหน้ารัฐด้านสื่อสารมวลชนจากฟิลิปปินส์ เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการพัฒนาสื่อใหม่ และ ‘นิเทศน์ศาสตร์แบบสังคมนิยม อันมีลักษณะแบบจีน’ เจ้าหน้าที่จากไทยเข้าร่วมประชุมในลักษณะคล้ายกัน โดยมุ่งศึกษาบทบาทของโซเชียลใหม่ในกิจการภายในและต่างประเทศ ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ไทยได้แรงบันดาลใจมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลและ สนช. ออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับใหม่ (ซึ่งหลายคนไม่รู้เพราะ สนช. รีบออกอย่างเร่งด่วนก่อนการเลือกตั้ง) และล่าสุดได้ตั้ง คณะกรรมการความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติ ขึ้นเพื่อควบคุมเส้นทางไหลเวียนของข้อมูลในอินเทอร์เน็ต
สำหรับเวียดนาม หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐร่วมอบรมในจีนเมื่อเดือนเมษายน ปี 2017 ได้ออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งลอกแบบกฎหมายจีนมาเกือบทั้งหมด ในยูกานดาและแทนซาเนีย กฎหมายคล้ายกันเพิ่งผ่านรัฐสภา ท่ามกลางความสัมพันธ์อันแนบแน่นขึ้นระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนจีน กับผู้นำทั้งสองประเทศ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ด้านสื่อสารมวลชนจากบรรดาประเทศอาหรับ เช่นอียิปต์ จอร์แดน เลบานอน ลิเบีย โมร็อคโค ซาอุดิอาราเบีย และอาหรับอิมิเรตส์ ก็เข้าร่วมงานประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นเวลาสามอาทิตย์ เนื้อหาการประชุมถูกปิดเป็นความลับ แต่ที่แน่ๆ คืออียิปต์เพิ่งบังคับใช้กฎหมายสอดส่องสื่อโซเชียลและจับกุมผู้เห็นต่างอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันรัฐบาลซาอุดิอาราเบีย ก็ขึ้นชื่อเรื่องการใช้กองกำลังไซเบอร์ปั้นข่าวเท็จในโลกโซเชียล อันช่วยค้ำจุนอำนาจรัฐบาล
ทว่าการเผยแพร่ความรู้แบบอำนาจนิยมดิจิทัลเพื่อควบคุมประชาชนผ่านกฎหมายและเทคโนโลยี เป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งของภาพใหญ่เท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลจีนสนใจมากกว่าขณะนึ้คือ ‘ข้อมูล’ บรรษัทเอกชนซึ่งมีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับรัฐบาลเข้าลงทุนในประเทศน้อยใหญ่ เช่นรัฐบาลจีนเพิ่งลงทุนไปราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้แก่สำนักงานใหญ่ขององค์กรระดับภูมิภาคของแอฟริกา อย่างสหภาพแอฟริกา (African Union – AU) โดยมีข้อผูกมัดสำคัญคือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจาก AU ต้องส่งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตในประเทศตนให้แก่จีนทุกๆ ห้าปี ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวของประชาชนในประเทศนั้นๆ
ข้อมูลจึงเป็น ‘อาวุธ’ สำคัญของรัฐบาลจีนในการประเมินความเป็นไปในประเทศตนและในโลก เพื่อกำหนดทิศทางอันเป็นประโยชน์แก่ฐานอำนาจจีนในภูมิรัฐศาสตร์โลก อันได้แก่การสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลอำนาจนิยม รวมถึงระบอบผสมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บทความชิ้นหน้าจะขยายความเรื่องนี้ต่อ ว่ารัฐบาลจีนใช้ฐานข้อมูลมหาศาลเพื่อปกครองควบคุมประชาชน และส่งออกเทคนิคดังไปยังประเทศอื่นอย่างไร