fbpx
การปรับตัวของสื่อจีน ในยุคคลื่นลูกที่สี่ของ Digital Transformation

การปรับตัวของสื่อจีน ในยุคคลื่นลูกที่สี่ของ Digital Transformation

วิโรจน์ สุขพิศาล เรื่องและภาพ

 

จากรายงานของ World Economic Forum (WEF) ระบุว่าอุตสาหกรรมสื่อกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบไป อันเนื่องมาจาก 4 ปัจจัยสำคัญคือ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ ความท้าทายด้านระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนั้น อาจกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมสื่อกำลังก้าวเข้าสู่ยุคคลื่นลูกที่สี่ของ Digital Transformation

จากปัจจัยทั้งสี่ประการ ส่งผลให้สื่อทั่วโลกต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่เว้นแม้กระทั้งสื่อจากประเทศจีน

สถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลส่านซี (Shaanxi) สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนึ่งในสื่อที่ได้ผลกระทบจากความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ซึ่งก่อตั้งมากว่า 70 ปี ได้รับผลกระทบจากความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีจนต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในปี 2012 ปัจจุบันสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลส่านซี มีคลื่นวิทยุ 10 คลื่น ช่องโทรทัศน์ 10 ช่อง มีสื่อใหม่ในมือกว่า 200 ช่องทาง มีผู้รับชมทางโทรทัศน์กว่า 5 ล้านครัวเรือน และรับชมผ่านสื่อใหม่กว่า 30 ล้านคน

101 พาไปดูแนวทางการปรับตัวของสื่อจีน จากบทเรียนของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลส่านซี ตั้งแต่ประเด็นที่ว่าทำไมสื่อจีนต้องปรับตัว สื่อจีนมีการปรับตัวอย่างไร และอะไรคือความท้าทายของสื่อจีนในอนาคต

 

จากวิกฤตสื่อสู่การปรับตัว

 

“สถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลส่านซี ถือเป็นสถานีวิทยุและโทรทัศน์กลุ่มแรกๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีน เริ่มต้นจากสถานีวิทยุในปี 1949 จากนั้นจึงเริ่มมีสถานีโทรทัศน์ในปี 1960 และเพิ่งมีการรวมตัวกันเป็นหน่วยงานเดียวกันปี 2011” เชียน จวิน (Qian Jun) รองผู้อำนวยการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลส่านซี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลส่านซี

นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน และจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการรับสื่อของคนจีนเปลี่ยนแปลงตามไปเช่นกัน โดยสื่อที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือสื่อสิ่งพิมพ์ รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุตามลำดับ

 

เชียน จวิน (Qian Jun) รองผู้อำนวยการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลส่านซี

 

“ผลกระทบที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าสื่อสิ่งพิมพ์วิกฤตที่สุด ไม่ว่าจะเป็นยอดการพิมพ์ ยอดจำหน่าย รวมถึงบทบาทของหนังสือพิมพ์ที่มีต่อสังคมนั้นถือว่าลดน้อยลงอย่างน่าตกใจ ส่วนสื่อวิทยุนั้น หลังจากที่สื่อโทรทัศน์เข้ามาก็ทำให้สื่อวิทยุซบเซาลงไป แต่ในช่วงหลัง คนจีนนิยมซื้อรถมากขึ้น รถก็ติดมากขึ้น การบริโภคสื่อวิทยุก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง” เชียน จวิน อธิบาย

“ในอนาคตที่กำลังเข้าสู่ยุค 5G ยิ่งทำให้คนฟังวิทยุและดูโทรทัศน์น้อยลงไปอีก คนจะหันมาฟังผ่านอินเทอร์เน็ต แทนที่จะฟังผ่านคลื่นวิทยุ ส่วนโทรทัศน์แม้ว่าในยุค 3G จะไม่ได้รับผลกระทบมากเนื่องจากข้อจำกัดทางเทคโนโลยี แต่พอมาเป็น 4G แล้ว คนก็เริ่มใช้ดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น การใช้โทรทัศน์ก็เริ่มได้รับผลกระทบ”

จากผลดังกล่าว ทำให้รัฐบาลกลางตั้งงบประมาณขึ้นมา โดยเป็นงบเพื่อเแปลงสภาพจากสื่อเก่าเป็นสื่อใหม่ โดยทางสถานีฯ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลกลาง แบ่งเป็นงบประมาณอุดหนุนส่วนหนึ่ง และเงินรายได้ของสถานีฯ อีกส่วนหนึ่ง โดยให้เงินเป็นรายปี ไม่ได้ให้เป็นเงินก้อนเดียวแล้วจบ

 

เข้าสู่ยุคแห่งการปรับตัว

 

การปรับตัวของสื่อจีน มีความน่าสนใจตรงที่เริ่มจากการสร้างแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองก่อน เพื่อให้เป็นฐานสำคัญในการสร้างช่องทาง และสร้างสื่อรูปแบบใหม่ขึ้นมา

“เราเริ่มดำเนินการปรับตัวโดยเริ่มมีสื่อแบบใหม่ (new media) มาตั้งแต่ปี 2012-2013 โดยในช่วงเริ่มต้น เราต้องการสร้างแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองเพื่อรองรับสื่อใหม่ก่อน เพราะแพลตฟอร์มเป็นเหมือนโครงข่ายที่ใช้ในการเผยแพร่สื่อของตัวเอง โดยมีเว็บไซต์เป็นศูนย์กลางในลักษณะส่วนกลางในระดับมณฑล จากนั้นเราจะขยับไปในระดับเมือง และลงลึกไปถึงระดับอำเภอ” เชียน จวิน กล่าว และเสริมว่า รัฐบาลจากส่วนกลางมองว่าการมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง จะเป็นการบูรณาการให้สามารถนำเสนอเนื้อหาได้อย่างมีเอกภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากนั้นยังสามารถกำหนดรูปแบบสื่อปลายทางได้ว่า จะนำเสนอแบบใดให้เหมาะกับกลุ่มผู้รับสื่อที่แตกต่างหลากหลาย

 

“ในห้องนี้ถือเป็นห้องปฏิบัติการ ที่จะเชื่อมทุกสื่อเข้าด้วยกันทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ ซึ่งสามารถควบคุม บริหารจัดการ การดำเนินงานในส่วนต่างๆ ของทุกแพลตฟอร์มได้จากห้องนี้” เชียน จวิน อธิบายภาพจอขนาดใหญ่ที่แสดงเนื้อหาเป็นภาษาจีน

 

หลังจากที่ทางสถานีฯ เริ่มปรับตัวในการก้าวเข้าสื่อใหม่ โดยมีการยกเครื่องแพลตฟอร์มใหม่แล้วนั้น ขั้นตอนถัดไปคือการขยายช่องทางการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ

“เรายังมีแอพพลิเคชันเป็นของตัวเองด้วย ที่ชื่อ Headlinenews เน้นนำเสนอข่าวที่เป็นทางการ และยังมีโซเชียลมีเดีย ที่เน้นนำเสนอในรูปแบบคลิปวีดิโอด้วย นอกจากนี้เรายังเชื่อมต่อเข้ากับโซเชียลมีเดียในระดับชาติ ก็คือ Wechat ที่นำเสนอเนื้อหาที่ไม่หนักมาก เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน หรือข่าวเบาๆ”

“นอกจากเนื้อหาที่เป็นภาษาจีนแล้ว เรายังมีเว็บไซต์ที่ชื่อ Discovery Shaanxi ที่นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ โดยเป็นการนำเสนอข่าวที่เกิดขึ้นในพื้นที่มณฑลส่านซี ผู้ที่รับข่าวคือกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในมณฑลส่านซี คำนวณแล้วน่าจะมีประมาณสองหมื่นกว่าคน และหากพูดในภาพรวม ปัจจุบันเรามีพนักงานที่ดูแลในส่วนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียรวมแล้วกว่า 200 คน”

 

สือ เค่อกัง (Shi Ke Gang) รองผู้อำนวยการฝ่ายเว็บไซต์ อธิบายเพิ่มเติม

 

นอกจากการปรับตัวในการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมารองรับสื่อใหม่แล้ว กองบรรณาธิการข่าวเองก็ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน โดยต้องมีการทำข่าวรูปแบบใหม่ รู้จักใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการนำเสนอข่าว

“เมื่อก่อนเรามีบุคลากรอยู่แล้ว ที่เป็นนักข่าวประจำท้องถิ่น อย่างเช่นระดับมณฑล ระดับอำเภอ แต่การทำงานจะแยกส่วนกัน คือทำงานด้านวิทยุ ทำงานด้านโทรทัศน์ หรือด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ได้มีการประสานงานกัน แต่เมื่อมีการปรับตัวเข้าสู่สื่อใหม่ ก็มีการปรับโครงสร้างบุคลากรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น” เชียน จวิน อธิบาย

 

ในสื่อเก่ามีสื่อใหม่ ในสื่อใหม่มีสื่อเก่า

 

นโยบายการปรับตัวเป็นสื่อใหม่ของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลส่านซีนั้น เดินตามแนวทางของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่มีความคิดว่าสื่อของจีนควรปรับตัวโดยเอารูปแบบของสื่อใหม่เข้ามาเสริมจากสื่อดั้งเดิม จากนั้นเมื่อสื่อใหม่มีความมั่นคงแล้ว จึงผสมผสานระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว

เชียน จวิน อธิบายเพิ่มเติมว่า “วิสัยทัศน์ของผู้บริหารคือการใช้รูปแบบสื่อใหม่มาช่วยอัพเกรดสื่อเก่า จากการทำงานแบบเดิมๆ ที่ขาดประสิทธิภาพ ก็ทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการร่วมกันแชร์ทรัพยากรมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราจะเอาสื่อใหม่มาตีสื่อเก่าให้ตายไป ถ้ามันยังมีความจำเป็นที่จะดำรงอยู่ ก็ให้มันอยู่ต่อไป เราแค่ให้สื่อใหม่มาช่วยเสริม ในทางกลับกัน สื่อเก่าก็อาจช่วยเสริมพัฒนาการของสื่อใหม่ได้ด้วย แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการทำงาน แต่การดำรงอยู่ของสื่อ รวมถึงรูปแบบของสื่อ จะยังคงมีความหลากหลายเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าการทำงานภายในของเราจะต้องปรับรูปแบบไปตามสภาพสังคม”

“วิสัยทัศน์ของทางผู้บริหารมองว่า ในยุคปัจจุบัน สื่อมันจะมุ่งไปในทางการหลอมรวมสื่อ นั่นคือในสังคมหนึ่งจะประกอบไปด้วยรูปแบบของสื่อที่มีความหลากหลายมากๆ แยกไม่ออกว่าอันไหนเก่า อันไหนใหม่ แต่ทุกรูปแบบจะมีการดำรงของมันอยู่ โดยมีผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังต้องใช้มัน”

อาจสรุปได้ว่า การปรับตัวของสื่อจีนในมุมมองระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ตามแนวทางของ สี จิ้นผิง แบ่งได้เป็น 3 เฟสคือ เฟสแรก คุณก็คือคุณ เราก็คือเรา คือแยกกันทำงานระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ เฟสที่สอง ในคุณมีเรา ในเรามีคุณ คือเริ่มมีการผสมผสานกันระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ และเฟสที่สาม เราคือคุณ คือผสมผสานกันระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่จนแยกไม่ออก

 

การทำงานในห้องถ่ายทอดสดของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลส่านซี

ความท้าทายใหม่ของสื่อจีน: สื่อในฐานะการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

นอกจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ทำให้สื่อจีนต้องมีการปรับตัวแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สื่อจีนจำเป็นจะต้องปรับตัว สืบเนื่องมาจากเสรีภาพในการเสนอข่าว สื่อจีนมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีข้อจำกัดในการนำเสนอข่าวของรัฐบาล

ในประเด็นนี้ เชียน จวิน รองผู้อำนวยการสถานีฯ อธิบายว่า แต่เดิมเมื่อพูดถึงเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ถือเป็นประเด็นอ่อนไหว ซึ่งทางการจีนพยายามจะเลี่ยงในการตอบคำถามดังกล่าว

แต่ภายใต้ชุดคำอธิบายใหม่จากรัฐบาลกลางที่พยายามตอบคำถามข้างต้น ทางการจีนมองว่าเนื่องจากสื่อจีนเป็นสื่อของรัฐ ดังนั้นสื่อก็เป็นตัวแทนของรัฐบาล เป็นตัวแทนของพรรคคอมนิวนิสต์ และเนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์ก็เป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นในเชิงนโยบายแล้ว การนำเสนอเนื้อหาของสื่อจีน ย่อมเป็นจุดยืนที่ตรงกับจุดยืนของประชาชน และเป็นการสะท้อนความคิดของประชาชนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในบางเรื่องนั้นสื่อควรทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้ด้วย ตามที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยกล่าวไว้ว่า สื่อจะต้องมีบทบาทในการกำกับดูแลและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

“สถานีฯ สามารถเสนอข่าวในเชิงลบได้ด้วยนะครับ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการทำงานของสถานีฯ ก็ถือว่าเป็นการตรวจสอบจากภาคประชาชน และเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐให้เกิดธรรมาภิบาล”

“แต่การนำเสนอก็ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน นั่นคือเป็นการตรวจสอบเพื่อพัฒนาการทำงาน ยกระดับการทำงานของภาครัฐ แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นปฏิปักษ์ หรือย้อนแย้ง หรือเป็นศัตรูของภาครัฐ แต่เป็นไปเพื่อส่งเสริมการทำงานของภาครัฐมากกว่า” เชียน จวิน กล่าว และทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐบาลจีนหลายหน่วยงาน มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อมอนิเตอร์ว่ามีข่าวด้านลบจากหน่วยงานของตนหรือไม่ ซึ่งหากมีข่าวด้านลบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาแก้ไขจัดการอย่างรวดเร็ว

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาดูงานของคณะสื่อมวลชนไทย สนับสนุนโดย กรมกิจการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือภาษาต่างประเทศแห่งประเทศจีน (CIPG – China International Publishing Group) และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยมี ศูนย์จีน-อาเซียน China Report Press และ China Report ASEAN – Thailand เป็นผู้ประสานงานหลัก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save