fbpx
ฮ่องกง: จากจุดเริ่มต้นศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ความฝันของจีน (2)

ฮ่องกง: จากจุดเริ่มต้นศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ความฝันของจีน (2)

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

อ่านบทความ ฮ่องกง: จากจุดเริ่มต้นศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ความฝันของจีน ตอนที่ 1 ได้ที่นี่

 

กลับมาดูการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของฝั่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกันบ้าง หลังจากช่วงเวลา ‘อดอยากปากแห้ง’ ภายใต้นโยบายที่ผิดพลาดของผู้นำรุ่นที่ 1 ที่นำโดยเหมา เจ๋อตุง ทั้ง นโยบายก้าวกระโดด (The Great Leap Forward) และ การปฏิวัติวัฒนธรรม (The Great Cultural Revolution) ที่ทำให้ประชาชนจีนต้องอดอยากจนเสียชีวิตไปราว 1 ใน 3 ของประชากร จนทำให้ผู้นำรุ่นที่ 2 ซึ่งนำโดยมหาบุรุษ เติ้ง เสี่ยวผิงต้องเริ่มต้นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในปี 1976 จีนเข้าสู่ยุค ‘พอมีพอกิน’ นั่นคืออาจจะยังอดมื้อกินมื้อ แต่อย่างน้อยก็มีพอมีกินไม่อดตายภายใต้ทฤษฎีเติ้ง เสี้ยวผิง ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ (一国两制, yì guó liǎng zhì) การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อทดลองใช้ระบบกลไกตลาดในประเทศที่ยังควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ และนโยบายการเปิดประเทศ (开放, kāi fàng) อันโด่งดังในช่วงทศวรรษ 1990

จีนเริ่มกลับฟื้นตัวจากการเป็นคนป่วยของเอเชียในยุคของผู้นำรุ่นที่ 3 เจียง เจ๋อหมิน ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 1993-2003 ในห้วงเวลานี้เองที่จีนเข้าสู่ยุค ‘กินอิ่ม นอนอุ่น’ เศรษฐกิจจีนพัฒนาจนทุกคนมีข้าวกินครบ 3 มื้อ มีบ้านอยู่ และมีพลังงานเพียงพอที่จะสร้างความอบอุ่นให้ทุกคนในช่วงหน้าหนาว และปิดฉากการพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยของเขาอย่างสวยงาม โดยจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) ได้ในเดือนธันวาคมปี 2001 นั่นเท่ากับจีนเปิดประเทศและเดินหน้ายอมรับกติกาการค้าการลงทุนในเวทีโลกอย่างสมบูรณ์แล้วนั่นเอง

เติ้ง เสี่ยวผิง เป็นคนเลือก เจียง เจ๋อหมิน ขึ้นมาทำหน้าที่นี้ เพราะตั้งแต่ปี 1985 เจียงซึ่งจบการศึกษาจาก Shanghai Jiao Tong University ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเมืองเซี่ยงไฮ้ และควบตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของเซี่ยงไฮ้ (Mayor of Shanghai and Party Secretary of Shanghai) เขาคือคนที่เข้าใจระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตกที่สุด เขาคือหนึ่งในผู้ควบคุมดูแลการเกิดขึ้นและเติบใหญ่ของเซี่ยงไฮ้ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญที่สุดในกลุ่มของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จีนตั้งขึ้นในช่วงเวลาของเติ้ง เสี่ยวผิง

อย่างไรก็ตามการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 3 ของเจียง ก็เป็นการยืนยันว่า จีนจะไม่มีวันยอมลดลาวาศอกประนีประนอมให้กับขบวนการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของจีนอย่างเด็ดขาด เพราะในความเป็นจริง อีกหนึ่งตัวเลือกสำคัญที่มีแต้มต่อเหนือเจียงอย่างมากในการขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 1989 คือ จ้าว จื่อหยาง (Zhao Ziyang, 赵紫阳) ชายผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (General Secretary of the Central Committee of the Communist Party of China)

ในปี 1987-1989 จ้าวจื่อหยางคือหนึ่งในไม่กี่คนที่กล้าวิพากษ์การปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนในช่วงเวลาของประธานเหมา ซึ่งเติ้ง เสี่ยวผิงเองก็สนับสนุนให้เขาขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงเพราะ จ้าว จื่อหยาง คือคนที่เป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจตลอดทศวรรษ 1980 แต่อนาคตของ จ้าว จื่อหยาง พังทลายลงทั้งหมดภายหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน (1989 Tiananmen Square protests, the June Fourth Incident, 六四事件, liùsì shìjiàn) เนื่องจากก่อนหน้าที่บรรดาผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ว่าจะเป็น เติ้ง เสี่ยวผิง, หยาง สั้งคุน (ประธานาธิบดีในขณะนั้น) และ หลี่ เผิง (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) จะตัดสินใจแถลงการณ์ใช้กำลังทหารเข้าล้อมปราบกลุ่มผู้ประท้วงในนาทีสุดท้าย  จ้าว จื่อหยาง ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการกลางของพรรคฯ ได้เข้าไปเจรจากับกลุ่มนักศึกษาที่กำลังอดอาหารประท้วง ณ กลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อวิงวอนให้ทุกคนผละจากสถานการณ์ดังกล่าวก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ผลที่ตามมาคือจ้าว จื่อหยางถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดที่ดำรงอยู่ เขาถูกควบคุมบริเวณอยู่แต่ในบ้านพักในกรุงปักกิ่ง และถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลเป็นต้นมาจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2005

กลับมาที่ตัวผู้นำรุ่นที่ 3 เจียง เจ๋อหมิน นำเสนอแนวคิดทฤษฎีชี้นำ ที่เรียกว่า ทฤษฎีสามตัวแทน (The Three Represents, 三个代表, Sān gè dàibiǎo) ในวาระครึ่งศตวรรษการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนและการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ปี 1999-2000 โดยทฤษฎีสามตัวแทนเป็นการประมวลประสบการณ์รวบยอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคจนถึงต้นปี 2000 เพื่อแก้ปัญหาความรับรู้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเป็นพรรคบริหารประเทศอย่างยั่งยืนได้อย่างไร โดยเฉพาะหลังกระแสตกต่ำที่สุดในช่วงเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989

เจียงให้คำจำกัดความว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องปฏิรูปเพื่อ 1. เป็นตัวแทนความเรียกร้องต้องการการพัฒนาของพลังการผลิตที่ก้าวหน้า (Economic Production) 2. เป็นตัวแทนทิศทางการพัฒนาของวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า (Cultural Development ) และ 3. เป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน (Political Consensus) และนี่คือครั้งแรกที่มีการกล่าวถึง ‘ความฝันของจีน’ (The Chinese Dream, 中国梦, Zhōngguó Mèng)

เจียง เจ๋อหมิน ประกาศความฝันของจีน 3 ประการที่ต้องบรรลุให้ได้ในวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (1 กรกฎาคม 1921-2021) โดยความฝันทั้ง 3 ประการได้แก่

1. จีนต้องเป็น ‘สังคมกินดีอยู่ดี 2021’ ครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน (1/7/1921) ตั้งเป้าหมายให้ GDP Per Capita อยู่ที่ระดับ 10,000 RMB (จากระดับ 5,000 RMB ในปี 2000)

2. ‘สังคมเข้มแข็งและทันสมัย 2049’ ครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (1/10/1949) ตั้งเป้าหมาย จีนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

3. อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์ ‘นโยบายจีนเดียว’ (One China Policy, 一个中国政策, Yīgè zhōngguó zhèngcè)

ซึ่งแน่นอนสำหรับจีนแล้วความท้าทายมากที่สุดสำหรับนโยบายจีนเดียวน่าจะไม่ใช่ไต้หวันอีกต่อไป เพราะหลัง 1992 Consensus (九二共识) ซึ่งตัวแทนของพรรคก๊กมินตั๋งจากไต้หวันบางส่วนยอมประนีประนอมกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ และยอมรับว่าจีนมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น โดยไต้หวันมีท่าทีสำคัญคือ 1. ไม่แยกตัวออกจากจีน 2. ไม่ยอมรับอำนาจของสาธารณรัฐประชาชนจีน 3. ไม่สถาปนาตนเองเป็นประเทศใหม่

แต่ความท้าทายเรื่อง จีนเดียว กลับกลายเป็น ‘ฮ่องกง’ ดินแดนที่พึ่งกลับสู่มาตุภูมิในปี 1997 แต่ยังคงมี 1984 Sino-British Joint Declaration ที่กำหนดให้จีนยังคงต้องให้ฮ่องกงมี Basic Laws (รัฐธรรมนูญของตนเอง) มีระบบเศรษฐกิจ และระบบกฎหมายที่จีนไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ต่อไปอีก 50 ปี จนถึงปี 2047

ความกังวลนี้ทำให้จีนริเริ่มโครงการสะพานเชื่อมฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊า (Hong Kong–Zhuhai–Macau Bridge, 港珠澳大桥) ในปี 2001 ซึ่งเพิ่งจะเสร็จสมบูรณ์และเปิดตัวในเดือนตุลาคม 2018 พร้อมๆ กับการสร้างโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area ปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta, 珠江三角洲都會區, Zhūjiāng sānjiǎozhōu) ซึ่งกินพื้นที่ 39,380 ตารางกิโลเมตรและเป็นที่พำนักของประชากรมากกว่า 55 ล้านคน โดยต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกง (Hong Kong) มาเก๊า (Macau) กวางโจว (Guangzhou) เซินเจิ้น (Shenzhen) จูไห่ (Zhuhai) โฝซาน (Foshan) จงซาน (Zhongshan) ตงก่วน (Dongguan) ฮุ่ยโจว (Huizhou) เจียงเหมิน (Jiangmen) และ จ้าวฉิ่ง (Zhaoqing) เข้าไว้ด้วยกัน ตามแนวคิดแบบเดียวกับบริเวณเปราะบางทางความมั่นคงอื่นๆ ของจีน โดยเฉพาะทิเบต และซินเกียง ที่จีนต้องสร้างถนน สร้างรางรถไฟ ไปเชื่อมโยงเส้นทาง จากนั้นเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และการนำพาให้คนจีน (ชาวฮั่น) เข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณเหล่านี้ให้มากที่สุด

อย่างที่ได้เล่าไปในตอนที่แล้วว่าเมื่อฮ่องกงกลับสู่มาตุภูมิ เศรษฐกิจของจีนต้องพึ่งพาฮ่องกงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านจากผู้นำรุ่นที่ 3 เข้าสู่ยุคผู้นำรุ่นที่ 4 หู จิ่นเทา (Hu Jintao, 胡锦涛) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนระหว่างปี 2003 ถึง 2013 แนวคิดการพัฒนาด้วยหลักวิทยาศาสตร์ (The Scientific Outlook on Development, 科学发展观, Kēxué Fāzhǎn Guān) ของเขาที่เน้นความสำคัญเรื่องคน ถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง เน้นการพัฒนาอย่างรอบด้าน แม้การพัฒนาทางเศรษฐกิจจะยังเป็นภารกิจใจกลาง แต่การพัฒนาจะต้องคำนึงถึงทุกๆ ด้าน โดยถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ไม่วัดผลงานกันที่จีดีพี ถือจีดีพีเป็นฐาน แต่ไม่ถือเอาเป็นตัวตั้ง และการพัฒนาแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาแบบเก่าที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและทำลายสิ่งแวดล้อม กลับทำให้จีนยิ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจไปมากยิ่งขึ้น

หู จิ่นเทาเองก็เป็นอีกหนึ่งผู้นำที่ เติ้ง เสี่ยวผิงมีส่วนสำคัญในการเลือกขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 4 เติ้งพิจารณาถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เน้นการเปิดประเทศที่ไปถึงจุดสูงสุดในยุคสมัยของเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่ 3 ที่มีความเข้าใจระบบทุนนิยมดีที่สุด ปัญหาสังคมที่ตามมาพร้อมกับระบบทุนนิยม อาทิ คนจนเมือง คนว่างงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม จะเป็นเรื่องที่จีนต้องเผชิญหน้า ดังนั้นเติ้งจึงเลือก หู จิ่นเทา บัณฑิตทางด้านวิศวกรรรมศาสตร์ที่เสนอตัวออกไปทำงานเรื่องเขื่อนและการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1968 ที่มณฑลกานซู (Ganzu, 甘肃) หนึ่งมณฑลที่ยากจนที่สุดของจีน น่าจะเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาเหล่านี้ได้อย่างดีที่สุด

หู จิ่นเทาก็ทำได้สำเร็จจริงๆ เพราะหลังจากจีนรับเอากฎระเบียบการค้าการลงทุนระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลกในปี 2001 หลังจากนั้นอีกเพียง 5 ปี ในปี 2006 จีนก็มีขนาดเศรษฐกิจขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก แซงหน้าญี่ปุ่นได้สำเร็จหากวัดกันด้วยมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศแบบปรับภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (GDP PPP, purchasing power parity) และในช่วงปลายสมัยของผู้นำรุ่นที่ 4 จีนก็แซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกได้ในช่วงปี 2012/2013) และส่งไม้ต่อให้กับผู้นำรุ่นที่ 5 สี จิ้นผิง (Xi Jinping, 习近平) ผู้มาพร้อมกับทฤษฎีชี้นำ ความคิดสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนสำหรับยุคใหม่ของสี จิ้นผิง (Xi Jinping Thought on Socialism with Chinese Characteristics for a New Era, 习近平新时代中国特色社会主义思想, Zhōngguó tèsè shèhuìzhǔyì)

สี จิ้นผิง ได้ประกาศขยายความและตั้งเป้าหมาย ‘ความฝันของจีน’ และแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ในปี 2017 ดังนี้

1. ‘สังคมกินดีอยู่ดี 2021’ ครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน (1/7/1921) ตั้งเป้าหมายให้ GDP Per Capita อยู่ที่ระดับ 10,000 RMB (จากระดับ 5,000 RMB ในปี 2000)

2. ‘สังคมเข้มแข็งและทันสมัยขั้นพื้นฐาน 2035’ เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย (ไม่ใช้เกณฑ์วัดการพัฒนาแบบตะวันตกอีกต่อไป โดยเร่งพัฒนานโยบาย Made in China 2025 เน้น 5 พัฒนา 1) พัฒนานวัตกรรม 2) พัฒนาอย่างสมดุล 3) พัฒนาสีเขียว 4) พัฒนาอย่างเปิดกว้าง 5) พัฒนาแบบแบ่งปันร่วมกัน (Made in China 2025 นี้เองที่เป็นหนึ่งในข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกาต่อจีนเรื่องการค้าอย่างไม่เป็นธรรม)

3. ‘ประเทศสังคมนิยมที่เข้มแข็งและทันสมัยอย่างเต็มที่ 2049’ ครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (1/10/1949) เป้าหมาย 2050 จีนเข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตย มีอารยธรรม กลมเกลียว และ สวยงาม ‘Community with Shared Future for Mankind’

4. อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์ ‘นโยบายจีนเดียว’

จะเห็นได้ว่าเรื่อง จีนเดียว คือประเด็นสำคัญ และถือเป็นหนึ่งใน 3 ลัทธิที่จีนจะไม่มีวันเจรจาต่อรองหรือประนีประนอมด้วยอย่างเด็ดขาด โดย 3 ลัทธินี้ได้แก่ 1. ลัทธิคลั่งศาสนา (Religious fanaticism) 2. ลัทธิสุดโต่ง (Extremism) และ 3. ลัทธิแบ่งแยกดินแดน (Separatism)

ดังนั้นสำหรับ ฮ่องกง หากกลุ่มผู้ชุมนุมมีแนวโน้มที่จะพัฒนาการเรียกร้องไปสู่การแบ่งแยกดินแดน หรือการไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์ของแผ่นดินแม่เมื่อไหร่ จีนก็พร้อมที่จะเข้ามาจัดการขั้นเด็ดขาด (ดูกรณีจ้าว จื่อหยาง และเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น)

จีน ณ ปี 2019/2020 มีภาวะพึ่งพิงต่อฮ่องกงในทางเศรษฐกิจลดลงจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีนัยสำคัญเหมือนก่อน ในปี 1993 ที่จีนเริ่มเปิดประเทศภายใต้นโยบาย Kaifang ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของฮ่องกงเมื่อเทียบกับจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ที่ 27% หรือสูงกว่า 1 ใน 4 ของระบบเศรษฐกิจจีน แต่พอถึงปี 2017 สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือน้อยกว่า 3%

ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การเดินเรือของฮ่องกงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากท่าเรืออื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในแผ่นดินใหญ่ของจีน จากเดิมที่สินค้าการค้าของจีนกว่า 50% ถูกส่งผ่านฮ่องกงในปี 1997 ตัวเลขดังกล่าวลดลงไปเหลือเพียงประมาณ 13% เท่านั้น ภายในปี 2015

แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับภาวะพึ่งพิงที่ฮ่องกงต้องพึ่งพิงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตจากจีน อาทิ โครงข่ายระบบไฟฟ้าของฮ่องกงที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบไฟฟ้าของจีนตอนใต้ โดยฮ่องกงนำเข้า 23% ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดจากแผ่นดินใหญ่ เช่นเดียวกับการซื้อน้ำของฮ่องกงที่ต้องซื้อจากมณฑลกวางตุ้งของจีน แหล่งน้ำสำคัญคือแม่น้ำตงเจียง (Dongjiang) ซึ่งส่งน้ำกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณที่คนฮ่องกงต้องบริโภคอุปโภคทุกวันเข้าไป โดยฮ่องกงต้องจ่ายราคาค่าน้ำในอัตราที่สูงอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของสิงคโปร์ที่ต้องซื้อน้ำจากมาเลเซีย โดยฮ่องกงต้องจ่ายค่าน้ำในอัตรา 5.8 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 180 บาท) ต่อน้ำ 1,000 แกลลอนอิมพีเรียล (4,500 ลิตร) เมื่อเทียบกับราคา 3 เซ็นต์มาเลเซีย (ราว 20 สตางค์) ที่สิงคโปร์ต้องจ่ายค่าน้ำให้มาเลเซีย จะเห็นได้ว่าเพียงแค่จีนตัดน้ำตัดไฟ ฮ่องกงก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขแล้ว

มิหนำซ้ำ ในปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นที่เคยมีฮ่องกงเป็นต้นแบบในการพัฒนา ก็ดูเหมือนว่าในปัจจุบันจะพัฒนาจนแซงหน้าต้นแบบไปแล้ว โดย ณ สิ้นปี 2017 เซินเจิ้นมี GDP มูลค่ากว่า 2.87 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งแซงหน้า GDP ของฮ่องกงที่ระดับ 2.85 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกงไปแล้ว โดยในปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของเซินเจิ้นถือเป็นอันดับสามของประเทศจีน ตามหลังเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง

นอกจากนี้การเติบโตของจีดีพีของเซินเจิ้นระหว่างปี 2016/2017 ก็อยู่ที่อัตรา 8.8% ซึ่งสูงกว่าของฮ่องกงที่ อัตรา 3.7% ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นเองก็มีมูลค่าตลาดที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 นั่นทำให้ Shenzhen Stock Exchange (SZSE) เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก

เซินเจิ้นได้รับการขนานนามว่าเป็น Silicon Valley ของจีน เพราะในปี 2017 กว่า 1 ใน 3 ของ GDP ของเซินเจิ้นเกิดขึ้นจากผลผลิตของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (มูลค่ารวมกันสูงกว่า 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเซินเจิ้นเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน ไม่ว่าจะเป็น Huawei, Tencent, DJI และ ZTE

ในขณะที่ภาคการเงินการธนาคารเอง ก็นิยมใช้เซินเจิ้นเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม Ping An สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของจีน หรือสถาบันการเงินของต่างชาติ อาทิ Citibank, HSBC และ Standard Chartered ก็ล้วนแต่มาตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคที่เซินเจิ้น ทำให้ปัจจุบัน 14.5% ของ GDP ของเซินเจิ้นมากภาคบริการทางการเงิน

สำหรับท่าเรือและโลจิสติกส์ จากที่จีนต้องพึ่งพาท่าเรือในฮ่องกงสำหรับการส่งออกและนำเข้า ปัจจุบัน Port of Shenzhen ซึ่งประกอบไปด้วย Yantian International Container Terminals, Chiwan Container Terminals, Shekou Container Terminals, China Merchants Port และ Shenzhen Haixing (Mawan port) กลายเป็นท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านเข้า-ออกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก เซี่ยงไฮ้ และ หนิงโป และอยู่ในระดับเดียวกันกับท่าเรือสิงคโปร์ที่คุมการค้าในช่องแคบมะละกา และกิจการโลจิสติกส์นี้ก็สร้างร้อยละ 10.1 ให้กับ GDP ของเซินเจิ้น

จะเห็นได้ว่า ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่จีนที่ต้องง้องอนฮ่องกง แต่กลายเป็นฮ่องกงเสียมากกว่าที่ต้องง้องอนจีน จีนเองได้สร้างฮ่องกงของตนเองขึ้นมาแล้วภายใต้ชื่อ เซินเจิ้น การแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องการแยกตัวเป็นอิสระ หรือการเรียกร้องให้ฮ่องกงกลับไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หรือการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเข้าแทรกแซงกิจการภายในของจีน รวมทั้งการที่สหรัฐผ่านทางประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาเจ้ากี้เจ้าการแนะนำให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงควรไปพูดคุยกับผู้ชุมนุมหรือแม้แต่พูดคุยกับทรัมป์ในเรื่องฮ่องกง หรือการเอาเรื่องฮ่องกงมาผูกกับเรื่องสงครามการค้า รังแต่จะเป็นการยั่วยุให้จีนยิ่งจำเป็นต้องใช้ความเด็ดขาดในการจัดการปัญหา เพราะต้องอย่าลืมว่าตั้งแต่ปี 1997 จีนก็มีอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงอยู่แล้ว คงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในทุกประเทศ ที่ผู้บริหารระดับท้องถิ่นที่ต่อให้มาจากการเลือกตั้งแบบ Universal Suffrage แล้วกระทำการหรือทำนโยบายที่ไม่ฟังเสียง หรือขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลกลาง ลองนึกภาพดูว่า ถ้าผู้ว่าการรัฐของรัฐๆหนึ่งในสหรัฐ ลุกขึ้นมาทำเรื่องที่ขัดแย้งกับแนวนโยบายของประธานาธิบดีและรัฐบาลกลางสหรัฐอะไรจะเกิดขึ้น

ดังนั้นถ้าจีนจะใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการปัญหาในฮ่องกง จีนก็อาจจะสูญเสียตลาดเงินตลาดทุนที่สำคัญไปหนึ่งตลาดซึ่งก็มีความสำคัญ แต่ก็ไม่ได้สำคัญขนาดชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจจีนอีกต่อไป แต่ที่แน่ๆ สัญลักษณ์แห่งการล้างอายจากศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู และการกระชับพื้นที่เพื่อเติมเต็มความฝันของจีนเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนจีนอย่างสมบูรณ์ก็จะยิ่งได้รับการเติมเต็ม ถึงฮ่องกงจะกลับกลายไปเป็นเพียงเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งที่ไม่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจเหมือนเดิมก็ตาม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save