fbpx
ฮ่องกง: จากจุดเริ่มต้นศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ความฝันของจีน (1)

ฮ่องกง: จากจุดเริ่มต้นศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ความฝันของจีน (1)

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ณ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้เราต้องมาทบทวนในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น นั่นคือ นัยสำคัญของฮ่องกงต่อจีน และนัยสำคัญของจีนต่อฮ่องกง

ขอเริ่มต้นจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ 1 ตุลาคม 1949 คือวันแห่งประวัติศาสตร์เพราะในวันนี้จีนถูกเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็น สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศจีนที่อยู่ภายใต้ระบบสังคมนิยม ประเทศที่ต้องสร้างตัวขึ้นมาใหม่จาก ‘ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู’ (Century of Humiliation, 百年国耻, bǎinián guóchǐ)

พรรคคอมมิวนิสต์จีนถือว่าการพ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 คือจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวทั้งปวง โดยสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (First Opium War, 第一次鴉片戰爭, Dìyīcì Yāpiàn Zhànzhēng) เกิดขึ้นในระหว่างปี 1839-1842 ในรัชสมัยของจักรพรรดิเต้ากวง (Daoguang) แห่งราชวงศ์ชิง นี่คือหมุดหมายสำคัญเพราะนี่คือครั้งแรกที่จีนต้องพ่ายแพ้อย่างย่อยยับให้กับชาติตะวันตก กลุ่มคนที่ราชวงศ์จีนไม่เคยเห็นอยู่ในสายตา และเป็นครั้งแรกที่จีนสูญเสียอย่างหมดทางสู้ต่อลัทธิล่าอาณานิคม

ฝิ่นถูกนำเข้ามาขายในจีนโดยอังกฤษเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า เมื่ออังกฤษสูญเสียเงินทองจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ จากจีนมาตลอดหลายร้อยปี ชาติตะวันตกนำเอาฝิ่นมาขายในจีนเพื่อหวังกำไรมหาศาลจากการเสพติด ในขณะเดียวกันฝิ่นก็มอมเมาให้ชาวจีนหมดทางที่จะกลับมาคิดทำการผลิต หมดสติปัญญาที่จะทำการค้าขายและทำกำไรได้เหมือนดังเดิม จักรพรรดิเต้ากวงประกาศห้ามการค้าฝิ่นอย่างเด็ดขาด แน่นอนว่านี่คือการขัดผลประโยชน์มหาศาลกับพ่อค้าจากโลกตะวันตก ดังนั้นพ่อค้าตะวันตกก็ยังคงลักลอบค้าฝิ่นกันต่อไป ทำให้ในที่สุดทางการจีนต้องยึดและทำลายฝิ่นจำนวน 20,283 ลังหรือกว่า 1,210 ตันที่จับยึดได้ ฝ่ายอังกฤษตอบโต้โดยการทิ้งเมืองท่ากวางโจว และออกไปตั้งสถานีการค้าใหม่บนเกาะที่อยู่ในทะเล เกาะแห่งนี้คือ ฮ่องกง พร้อมกับเรียกเรือปืนอีก 28 ลำเดินหน้าเข้าไปยังเมืองหลวงทางตอนใต้ของจีน นครนานกิง

สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ดำเนินไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับที่จีนพ่ายแพ้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจีนต้องยอมลงนามใน ‘สนธิสัญญานานกิง’ (Treaty of Nanking) ซึ่งฝ่ายจีนเรียกว่า ‘สนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม’ (Unequal Treaties) สนธิสัญญาฉบับนี้บังคับให้จีนต้องยกเลิกระบบกวางโจว หรือระบบการค้าผูกขาดที่อนุญาตให้ต่างชาติซื้อขายสินค้าได้เฉพาะกับทางการจีนที่เมืองกวางตุ้ง (Canton) เท่านั้น จีนถูกบังคับให้เปิดเมืองท่า เซียงไฮ้ (Shanghai), กวางโจว (Guanzhou หรือ Canton), หนิงปอ (Ningbo หรือ Ningpo), ฟูโจว (Fuzhou หรือ Fuchow), เซี้ยเหมิน (Xiamen หรือ Amoy) เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทำให้ฝรั่งไม่ต้องเกรงกลัวและเคารพกฎหมายจีน รวมทั้งเสียเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษ และนี่คือจุดเริ่มต้นของศตวรรษแห่งความอัปยศอดสูที่มีการสูญเสียอำนาจอธิปไตยของจีนบนเกาะฮ่องกงเป็นสัญลักษณ์สำคัญ

ฝรั่งยังคงขายฝิ่นต่อไป คนจีนโดยเฉพาะขุนนางและนายทุนผู้กุมเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติก็ยังคงติดฝิ่นงอมแงมต่อไป (อย่างน้อยก็จนถึงต้นศตวรรษที่ 20) และนั่นก็เป็นการเปิดทางให้มหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายเริ่มเข้ามาทำสงครามและเรียกร้องเอากับจีนเหมือนกับที่อังกฤษทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมัน รัสเซีย แม้แต่ญี่ปุ่น ชนชาติที่จีนมองว่าเป็นพวกป่าเถื่อนด้อยพัฒนาที่อยู่ตรงสุดปลายทวีปก็ยังสามารถเอาชนะจีนได้ในสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่ 1 (1894-1895) ทำให้จีนต้องเสียดินแดนบนคาบสมุทรเกาหลี เกาะไต้หวัน และต้องเปิดเมืองท่าค้าขายอย่างไม่เป็นธรรมกับญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Treaty of Shimonoseki)

กับอังกฤษเอง จีนก็พ่ายแพ้อีกครั้งในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (Second Opium War 1856-1860) ทำให้จีนต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาปักกิ่ง (Convention of Peking) และสูญเสียเอกราชบนคาบสมุทรเกาลูน อังกฤษได้พื้นที่จีนบนผืนแผ่นดินใหญ่แล้ว และเริ่มต้นโครงการพัฒนาให้ทั้งฮ่องกงและเกาลูนไม่ใช่เพียงเมืองสำหรับเก็บและค้าฝิ่นอีกต่อไป หากแต่อังกฤษต้องการพัฒนาในพื้นที่นี้กลายเป็น Transshipment Port ท่าเรือแบบถ่ายลำ สำหรับเป็นศูนย์รวมในการเก็บและกระจายสินค้าของจักรวรรดิอังกฤษในภูมิภาคตะวันออกไกล

ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของแผ่นดินแม่ ทำให้คนจีนจำนวนมากลุกฮือขึ้นก่อกบฏต่อราชวงศ์ชิง เราเรียกกบฏในรอบนี้ว่า กบฏไท่ผิง (Taiping Rebellion 1850-1864) ซึ่งแน่นอนว่าความไม่สงบเช่นนี้ก็ทำให้พ่อค้าจีน นายทุนจีน ช่างฝีมือและแรงงานฝีมือชาวจีนหนีไปอยู่ฮ่องกงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยความเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการทำมาหากิน

พอถึงปี 1898 ฮ่องกงและเกาลูนก็แออัดเกินไปสำหรับการทำมาหากินและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจเสียแล้ว นั่นทำให้ต้องมีการเจรจาซึ่งนำไปสู่ Extension of Hong Kong Territory Convention สัญญาเช่าของอังกฤษต่อจีนที่จะเช่า ฮ่องกง เกาลูน และ เขตดินแดนใหม่ (New Territories) เป็นระยะเวลา 99 ปี ตั้งแต่ปี 1898 จนถึงปี1997

ในแผ่นดินใหญ่เอง ความไม่สงบก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกบฏนักมวย (Boxer Uprising 1899-1901) ซึ่งจุดเชื้อไว้ให้กับการเรียกร้องครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งของประวัติศาสตร์จีนนั่นคือ การปฏิวัติชิงไห่ (Xinhai Revolution, 辛亥革命, Xīnhài Gémìng 1911-1912) ซึ่งนำไปสู่จุดจบของระบบจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง และการสถาปนาสาธารณรัฐจีน เช่นเดียวกับกับที่เกิดขึ้นในอดีต ทุกครั้งที่แผ่นดินใหญ่ไม่สงบชาวจีนจำนวนมหาศาลก็ทิ้งถิ่นฐานและอพยพออกนอกประเทศ โดยหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญที่หลายคนมุ่งหน้าไปสร้างอนาคตใหม่ คือ เกาะฮ่องกง ซึ่งในปี 1911 บนเกาะฮ่องกงก็มีการพัฒนาไปอย่างมากจนถึงกับมีการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งแรก นั่นคือ The University of Hong Kong

สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่ ความอัปยศอดสูดูเหมือนจะยังไม่สิ้นสุดลง เพราะเมื่อพรรคก๊กมินตั๋งขึ้นมามีอำนาจ ปัญหาปากท้องคุณภาพชีวิตของชาวจีนก็ยังไม่ได้มีทีท่าว่าจะพัฒนาขึ้น ในขณะเดียวกันภัยคุกคามจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งประกาศตนเป็นจักรวรรดิญี่ปุ่นก็เริ่มขึ้น กองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเริ่มบุกเข้ายึดครองดินแดน แมนจูเรีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เพื่อสถาปนาประเทศใหม่ที่จะให้อดีตจักรพรรดิปูยีแห่งราชวงศ์ชิงหรือราชวงศ์แมนจู จักรพรรดิหุ่นเชิดของรัฐบาลญี่ปุ่นกลับมาครองอำนาจเพื่อเอื้อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติมูลค่ามหาศาลให้ญี่ปุ่นสามารถสร้างจักรวรรดิของตนเองต่อไป

สงครามระหว่างจีนญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพาในระหว่างปี 1937-1945 ซึ่งสงครามเริ่มเปิดฉากจากความพินาศอย่างย่อยยับของจีนจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นานกิง กองทัพญี่ปุ่นสังหารและทรมานชาวจีนกว่า 300,000 คนอย่างบ้าคลั่งภายในช่วงเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ในเดือนธันวาคม 1937 ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความร่วมมือชั่วคราวระหว่าง พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น แต่ความขัดแย้งระหว่าง 2 แนวคิดทางการเมืองจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในประเทศจีนก็ยังคงเกิดขึ้นตลอดตั้งแต่ปี 1927 จนถึงปี 1949 และแน่นอนว่า สถานการณ์รุนแรงเหล่านี้ก็ล้วนผลักดันให้คนดีมีฝีมือย้ายตัวเองออกนอกประเทศจีนมากยิ่งขึ้นๆ โดยเฉพาะการย้ายไปอยู่ฮ่องกงก็กลายเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของผู้มีอันจะกินชาวจีน

ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ฮ่องกงจะประกาศตัวเป็นกลาง แต่กองทัพญี่ปุ่นก็บุกยึดฮ่องกงได้ในวันที่ 8 เมษายน 1941 ญี่ปุ่นยึดฮ่องกงไว้จนสิ้นสุดสงคราม และอังกฤษก็กลับมาตั้งรัฐบาลใหม่ให้ฮ่องกงอีกครั้งในปี 1946 พอดีกับช่วงของการปะทะกันอย่างรุนแรงของสงครามกลางเมืองในประเทศจีน

1 ตุลาคม 1949 แม้เหมา เจ๋อตุง จะสามารถขึ้นไปอ่านประกาศชัยชนะและจัดตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จบนประตูเทียนอันเหมิน พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่านี่คือจุดจบศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู ที่ยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1839 จีนถึง 1949 แต่หลังจากนั้นเอง การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ The Great Leap Forward ที่ผิดพลาดของประธานเหมา ร่วมกับการปฏิวัติวัฒนธรรม (Great Cultural Revolution, 文化大革命) ที่เกิดขึ้นยาวนาน 10 ปี (1966-1976) ก็ทำให้ประชาชนจีนอดตายไปราว 1 ใน 3 และที่เหลือก็อดอยากยากจน จนทำให้ยุคสมัยของเหมาจบลงอย่างไม่สวยงามนัก และแน่นอนว่าตลอดช่วงของความรุนแรงทั้งหมด คนจีนอีกจำนวนมหาศาลก็ยังคงอพยพออกจากประเทศ โดยเฉพาะการหนีไปฮ่องกง

จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้วตลอดการสร้างชาติของฮ่องกงที่พอถึงปลายทศวรรษ 1970 ฮ่องกงก็กลายเป็น 1 ใน 4 เสือแห่งเอเชีย กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่คู่กับ ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่ด้วยก็เกิดขึ้นจากการที่มีคนจีนที่อพยพหนีไปจากแผ่นดินใหญ่ที่เข้าไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ

ดูเหมือนกับว่าตลอดตั้งแต่ 1839 จนถึงขณะนี้ตอนปลายของทศวรรษ 1970 เราสามารถพูดได้เต็มปากว่ายิ่งจีนตกต่ำลงมากแค่ไหน ฮ่องกงก็ยิ่งพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น นั่นทำให้ผู้นำรุ่นที่ 2 ของจีน อย่างเติ้ง เสี่ยวผิง เลือกที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยมองฮ่องกงเป็นหนึ่งในต้นแบบการพัฒนา อันนำไปสู่การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกขึ้นที่เมืองเสิ่นเจิ้น ซึ่งติดอยู่กับชายแดนเกาลูนนั่นเอง เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ให้กลไกตลาดเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากร รัฐบาลไม่ต้องวางแผนจากส่วนกลางอีกต่อไป แต่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก และนั่นนำไปสู่วิธีคิดแบบ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ นั่นคือ 1 ประเทศที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่สำหรับระบบเศรษฐกิจ บางส่วนก็ยังคงเป็นสังคมนิยมวางแผนจากส่วนกลาง บางส่วน (ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ก็ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จนกลายเป็นทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิงอันโด่งดัง และพวกเราเคยได้ยินกันบ่อยๆ ในการเปรียบเปรยในประเด็นหนึ่งที่ว่า “จะเป็นแมวสีขาว หรือแมวสีดำ ถ้าจับหนูได้ ก็เป็นแมวที่ดี”

ในทศวรรษ 1980 การส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนเกือบทั้งหมดต้องทำผ่านท่าเรือที่ฮ่องกง เมื่อจีนเปิดประเทศในทศวรรษ 1990 ฮ่องกงคือส่วนสำคัญที่สุดต่อการค้าระหว่างประเทศของจีน เสิ่นเจิ้นและอีกหลายๆ เมืองเศรษฐกิจของจีนที่เกิดขึ้นและรุ่งเรืองก็มีฮ่องกงเป็นต้นแบบไม่มากก็น้อย ในวันที่ฮ่องกงกลับสู่มาตุภูมิ ขนาดเศรษฐกิจฮ่องกงซึ่งมีพื้นที่เพียง 1,108 ตารางกิโลเมตร และมีประชาชนเพียง 6.49 ล้านคน (ในขณะนั้น) กลับมีขนาดเศรษฐกิจถึงกว่าร้อยละ 18.4 หรือเกือบ 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับจีนที่มีประชาชนมากกว่า 1.23 พันล้านคน (ในปี 1997) และมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าถึง 9,400 เท่า (จีนมีพื้นที่มากกว่า 9.5 ล้านตารางกิโลเมตร)

ดังนั้นในวันที่สัญญาเช่าครบกำหนด 99 ปี ฮ่องกงกลับคืนสู่มาตุภูมิอย่างสมเกียรติเมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 นี่จึงเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่นักวิชาการหลายคนพิจารณาว่า นี่คือจุดจบอย่างแท้จริงของศตวรรษแห่งความอัปยศอดสูซึ่งจริงแท้ยิ่งกว่าชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสงครามกลางเมืองกับพรรคก๊กมินตั๋งเสียอีก ฮ่องกงที่เป็นดินแดนแห่งแรกที่จีนสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนให้กับตะวันตกกลับเป็นของจีนอีกครั้ง นี่คือการล้างอาย ดินแดนฮ่องกงคือสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดที่หมายถึงอำนาจอธิปไตยบนแผ่นดินที่กลับมาเป็นของจีน และแน่นอนว่านี่คืออีกหนึ่งความกังวลสำหรับจีนที่ว่า ข้อตกลงกับอังกฤษ 1984 Sino-British Joint Declaration ที่จะให้ฮ่องกงยังคงมีอิสระในการมีกฎหมายและระบบเศรษฐกิจเป็นของตนเองต่อไปอีก 50 ปีตั้งแต่ 1997 จนถึง 2047 จะทำให้ฮ่องกงมีความเสี่ยงต่อนโยบายจีนเดียวที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2049 หรือไม่ เพียงใด

และความหวั่นใจในวันนั้นก็มาแสดงออกในวันนี้ที่ประชาชนฮ่องกงเรือนล้านออกมาเดินขบวนประท้วงแสดงพลังต่อต้านระบอบที่จะผสมผสานฮ่องกงให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างสมบูรณ์ในปี 2047 2 ปี ก่อนความฝันของจีนในปี 2049

บทความตอนหน้า ผมจะมาเล่าเรื่องราวเหตุการณ์หลังปี 1997 รับรองว่าหนังคนละม้วนครับ นัยสำคัญของจีนต่อฮ่องกงและนัยสำคัญของฮ่องกงต่อจีน จะกลายเป็นอีกเรื่องราว หลังปี 1997

อ่านบทความ ฮ่องกง: จากจุดเริ่มต้นศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ความฝันของจีน ตอนที่ 2 ได้ที่นี่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save