fbpx

ซอฟต์พาวเวอร์สู่การเซนเซอร์: ย้อนมองพัฒนาการสื่อบันเทิงสไตล์พรรคคอมมิวนิสต์จีน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ กลายเป็นคำยอดฮิตติดปากแห่งยุคสมัย และเป็นกลายสิ่งนามธรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำสื่อบันเทิงมาใช้ในฐานะเครื่องมือเผยแพร่มรดกทางสังคมวัฒนธรรม สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นตัวช่วยในการสร้างฐานการลงทุนระหว่างประเทศ และกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ

จนถึงวันนี้ เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลหลายประเทศให้ความสำคัญกับการใช้วัฒนธรรมบริโภคสื่อบันเทิงมาทำงานในทางการทูตมากขึ้น ทั้งใช้เป็นสื่อกลางสำหรับการสื่อสารระหว่างประเทศ หรือแม้แต่นำมาเป็นเครื่องมือในการสร้าง ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ เผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งคือรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ให้ความสำคัญกับการทูตเชิงวัฒนธรรมจนนำมาสู่การสร้าง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของประเทศ หลายปีมานี้การขยายอิทธิพลของอุตสาหกรรมบันเทิงจีนจึงปรากฏให้เห็นมากขึ้นในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคสื่อบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ หรือบทเพลงที่สอดแทรกเนื้อหาชาตินิยม

ยิ่งในยุคที่ประชาชนเข้าถึงสื่อออนไลน์เพื่อเสพสิ่งบันเทิงต่างๆ ได้ตามต้องการ สื่อบันเทิงจึงเป็นได้ทั้งช่องทางหล่อหลอมความคิดของคนเสมือนการศึกษา และในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางเปลี่ยนแปลงความคิดผู้คนโดยการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องและเกี่ยวพันกับอุดมการณ์ของชาติได้ การปล่อยให้อุตสาหกรรมบันเทิงเดินตามกลไกตลาดและกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกจึงไม่ใช่ทางเลือกของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะในยามที่จีนมุ่งมั่นจะเติมเต็มเป้าหมายให้สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ในฐานะประเทศระดับแนวหน้าของโลกในทุกๆ ด้าน

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงให้เป็นหนึ่งในเสาหลักทางเศรษฐกิจแทนที่จะมุ่งเป้าเฉพาะอุตสาหกรรมหนักหรือการเกษตรเหมือนที่เคยทำมาในอดีต เฉกเช่นในปี  2016 ยุคสมัยที่สี จิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กลุ่มดิจิทัลถูกนำมารวมอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ของจีน ล่วงมาถึงปี 2020 การร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน รัฐบาลจีนก็ยังคงมุ่งสร้างความก้าวหน้าให้แก่อุตสาหกรรมบันเทิงภายในประเทศเช่นเดิม  

เมื่อหนังที่ดีคือหนังที่ถูกใจท่านผู้นำ

หากมองการผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงของจีนจากอดีตมาจนถึงวันนี้ สื่อบันเทิงในฐานะซอฟต์พาวเวอร์มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศจีนด้วยเหตุผลหลักสองประการ

ประการแรก เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศจีนในสายตาของประชาคมโลกในมุมมองที่เป็นมิตร สง่างาม และน่าเกรงขามมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น

ประการที่สอง สื่อบันเทิงถูกนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสนับสนุนเสถียรภาพภายในประเทศ เพราะหากสื่อบันเทิงที่สร้างขึ้นมาได้รับความนิยมจนสร้างแรงขับเคลื่อนหรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่คนในประเทศได้ รัฐบาลจีนก็จะยิ่งมีความน่าเชื่อถือและมีความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

จากการดำเนินนโยบายผลักดันสื่อบันเทิงภายในประเทศให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนจึงถูกเปลี่ยนรูปแบบเป็นการดำเนินงานภายใต้อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผลิตสื่อตามความต้องการของตลาดภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด ทั้งยังมีกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน และมีการเซนเซอร์เนื้อหาที่เข้าข่ายเป็น ‘ภัยความมั่นคงของจีน’ อยู่เนืองๆ การเซนเซอร์สื่อบันเทิงอย่างเข้มข้นของจีนทำให้ละครและภาพยนตร์ทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะสามารถนำออกมาเผยแพร่ได้ จึงกล่าวได้ว่าสื่อบันเทิงที่ผลิตและส่งต่อให้ชาวต่างชาติได้จึงล้วนแล้วแต่เป็นสื่อบันเทิงที่ทางการจีนตรวจสอบเนื้อหามาแล้วทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Founding of a Republic (2009) หรือชื่อภาษาไทยคือ มังกรสร้างชาติ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากทางการจีนให้จัดทำขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือการที่นักแสดงชาวจีนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น แจ็กกี้ ชาน, เจ็ท ลี, หลิว เต๋อหัว, จาง จื่ออี๋ ถูกเลือกให้รับบทเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนชาวจีนจะให้ความสนใจและพากันไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่เฉียบขาดและได้ผลเกินคาด ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากคนจีนและคนต่างชาติ และสามารถเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองไปจนถึงโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างมีประสิทธิภาพสมความตั้งใจของรัฐบาลจีน

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง The Founding of a Republic 
ที่มาภาพ: IsaacMao

จากตัวอย่างดังกล่าว เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงจีนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งการผลักดัน ทุ่มทุน เพิ่มงบประมาณ สนับสนุนวงการสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ภายในประเทศ รวมถึงปรับเปลี่ยนนโยบายตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย หน้าที่หลักของภาพยนตร์ในประเทศจีนจึงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งจรรโลงใจประชาชนอีกต่อไป แต่ยังเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง และใช้เป็นกลไกรักษาอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อีกด้วย

จากปรากฏการณ์สะเทือนวงการสู่การปราบปรามซีรีส์วาย

เมื่อสื่อบันเทิงทั่วโลกก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ จนพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับในช่วงที่อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงจีนก้าวหน้าจนได้รับความนิยมจากผู้ชมในระดับนานาชาติ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสของสื่อบันเทิงที่ตามมาในยุคสมัยใหม่นี้คือสื่อบันเทิงประเภทวาย (Yaoi) หรือที่รู้จักในชื่อ Boys’ Love (BL) เรื่องราวความสัมพันธ์ชายรักชายซึ่งมีฐานผู้ชมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จนถึงปัจจุบันชัดเจนว่าสื่อบันเทิงประเภทวายได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ชมเพศหญิง

สื่อบันเทิงวายมีการผลิตและปรากฏครั้งแรกในประเทศจีนด้วยการเผยแพร่ผ่านแวดวงนิยายออนไลน์ในประเทศ และกลายเป็นหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมที่สุดในแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์สำหรับผู้หญิง ด้วยอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นและได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างรวดเร็ว นิยายวายจึงถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ทำให้กลุ่มแฟนคลับนิยายและซีรีส์วายขยายตัวและกลายเป็นการแรงขับเคลื่อนให้ซีรีส์วายเป็นสื่อบันเทิงกระแสหลักที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั้งจากผู้ชมภายในและภายนอกประเทศจีน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าซีรีส์วายจะสร้างกระแสนิยมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงของจีน ทว่าทางการจีนกลับออกคำสั่งระงับการฉายซีรีส์วายที่มีการเผยแพร่ฉากที่เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของตัวละครชายในเรื่องทั้งหมด เนื่องจากทางการจีนพิจารณาว่าซีรีส์วายเป็นประเภทสื่อบันเทิงที่เข้าข่าย ‘ภัยความมั่นคงของจีน’ ทั้งยังไม่อนุญาตให้ประชาชนในประเทศเขียนและอ่านนิยายวาย จากเดิมที่ซีรีส์วายเคยเป็นสื่อบันเทิงกระแสหลักที่ดึงรายได้เข้าประเทศได้มหาศาลในช่วงหนึ่ง ในปัจจุบันซีรีส์วายจึงถูกลบให้หายไปจากอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงจีนในชั่วพริบตา

ตัวอย่างที่ชัดเจนและโจ่งแจ้งที่สุดในการปิดกั้นและปราบปรามซีรีส์วายคือกรณีที่ทางการจีนสั่งแบนซีรีส์เรื่อง ร้ายนักรักเสพติด (Addicted) ละครโทรทัศน์สัญชาติจีนที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจนกลายเป็นปรากฏการณ์ ‘ไวรัล’ ทั้งในจีนและไทย

ด้วยความที่ ร้ายนักรักเสพติด เป็นซีรีส์วายที่มี ‘ฉากเลิฟซีน’ ทั้งฉากจูบและฉากมีสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างตัวละครชายอย่างโจ่งแจ้ง ต่อมาฉากเหล่านี้ถูกลบออกจากแพลตฟอร์มสื่อบันเทิงออนไลน์ของจีนทั้งหมดอย่างกะทันหันหลังจากซีรีส์ออกอากาศไปแล้วกว่า 12 ตอน หลังจากนั้นไม่นาน ทางการจีนสั่งห้ามผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ไม่ให้สร้างสื่อบันเทิงที่ ‘แสดงความสัมพันธ์และพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ’ เช่น การร่วมรัก ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน การเบี่ยงเบนทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงทางเพศ หลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้ แน่นอนว่าละครทุกเรื่องที่จะฉายผ่านสื่อกระแสหลักในประเทศจีนต้องถูกตรวจสอบโดยทางการจีนทั้งสิ้น

มากไปกว่านั้น แม้ว่าทางการจีนจะออกกฎหมายสั่งแบนสื่อบันเทิงประเภทวาย แต่เนื่องด้วยสื่อบันเทิงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ชายรักชายยังคงเรียกกระแสจากผู้ชมทั้งในและนอกประเทศได้เสมอมา องค์ประกอบในสื่อบันเทิงที่แสดงถึงความเป็นวายจึงถูกดัดแปลงเป็นความสัมพันธ์แบบ ‘bromance’ หรือที่เรียกว่า ‘มิตรภาพลูกผู้ชาย’ แทน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ซีรีส์จีนเรื่อง ปรมาจารย์ลัทธิมาร (The Untamed) ที่สร้างปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแม้ว่าซีรีส์จะจบไปนานแล้วก็ตาม

ซีรีส์ ปรมาจารย์ลัทธิมาร สร้างจากนิยายวายของจีน มีเนื้อหาดั้งเดิมฉบับนิยายเป็นการดำเนินเรื่องราวความสัมพันธ์ชายรักชาย แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่รัฐบาลจีนออกมาเพื่อปิดกั้นและปราบปรามการผลิตสื่อบันเทิงวายในประเทศ ทำให้ผู้สร้างต้องปรับเปลี่ยนเป็นจากความสัมพันธ์ของคู่รักเป็นเรื่องราวของมิตรภาพลูกผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึกรักใคร่ลึกซึ้งต่อกันแทน แต่ถึงอย่างนั้น สาววายทั้งหลายก็ยังไม่วายจับตัวละครชายในเรื่องมา ‘จิ้น’ กันได้อยู่ดี และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมจิ้นที่มาคู่กับซีรีส์วายนี่เองที่สร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับประเทศจีน

แน่นอนว่าเหตุผลที่ซีรีส์ ปรมาจารย์ลัทธิมาร  ดังเป็นพลุแตกจนสร้างปรากฏการณ์ไวรัลทั้งไทยและจีนได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเข้มข้นน่าติดตามของการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันของตัวละครหลักในเรื่อง รวมทั้งฉากบู๊และบุ๋นที่ถ่ายทอดออกมาอย่างสวยงามและสมจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าวัฒนธรรมจิ้นที่ไม่อาจแยกขาดจากซีรีส์ที่มีตัวละครหลักเป็นผู้ชายก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ดึงดูดให้ผู้ชมติดตามซีรีส์เรื่องนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ

จะบอกรัฐบาลจีนย้อนแย้งในตัวเองในตัวเองก็คงไม่ผิดนัก เพราะแม้จะพยายามเซนเซอร์ซีรีส์และนิวายวายทุกวิธีทาง แม้กระทั่งออกกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนผลิตสื่อวาย แต่ก็เป็นรัฐบาลจีนอีกเช่นเดียวกันที่สนับสนุนการสร้างสื่อสไตล์มิตรภาพลูกผู้ชายเพื่อเรียกกระแสความสนใจจากผู้เสพสื่อวายทั้งในและนอกประเทศ เพราะวัฒนธรรมการ ‘จิ้น’ ยังคงมีอิทธิพลต่อสื่อบันเทิงจีนเสมอมาและยังคงเป็นเช่นนั้นจนถึงตอนนี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยการปิดกั้นและปราบปรามซีรีส์วายอย่างเข้มงวดในจีน ทำให้ประชาชนชาวจีนที่ชื่นชอบซีรีส์วายต้องเพียรหาหนทางในการเสพสื่อบันเทิงชนิดนี้จากช่องทางอื่นแทน และเนื่องด้วยมีหลายประเทศที่ไม่ได้มีกฎหมายปิดกั้นและปราบปรามซีรีส์วาย ทั้งยังสนับสนุนการผลิตซีรีส์วายในอุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่ในแต่ละปีมีการผลิตซีรีส์วายอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นแรงดึงดูดให้คนจีนจำนวนมหาศาลพยายามหาช่องทางเข้ามาเสพซีรีส์วายไทย จนกลายเป็นว่าปัจจุบันซีรีส์วายไทยส่วนมากมีฐานแฟนคลับขนาดใหญ่และทรงอิทธิพลมาจากประเทศจีน

เพราะนโยบายคือกระจกสะท้อนตัวตนผู้ใช้อำนาจ

จากเหตุผลในการปิดกั้นและปราบปรามซีรีส์วายของทางการจีนที่อ้างว่าเป็นภัยความมั่นคงจีนด้วยเนื้อหาที่แสดงความสัมพันธ์และพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ ซึ่งรัฐบาลจีนเกรงว่าอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ชมในอนาคต ในความเป็นจริงเราอาจมองได้ว่าเหตุผลที่แท้จริงมีมากกว่านั้น

ประการแรก แท้จริงแล้ววัฒนธรรมวายเป็นวัฒนธรรมสื่อบันเทิงที่มีจุดกำเนิดมาจากญี่ปุ่น ก่อนจะได้รับการเผยแพร่มาสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเนื่องด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลจากสงครามที่จีนและญี่ปุ่นมีร่วมกัน เป็นไปได้ว่าทางการจีนไม่ต้องการให้วัฒนธรรมของญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทและทรงอิทธิพลต่อประชาชนชาวจีนมากจนเกินไป เพื่อรักษาอุดมการณ์ชาตินิยมอันเข้มข้นของจีนไว้

ประการที่สอง เนื่องด้วยฐานผู้เสพซีรีส์วายส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้หญิงที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘สาววาย’ การที่ผู้หญิงจำนวนมหาศาลในประเทศชื่นชอบสื่อบันเทิงประเภทชายรักชาย อาจทำให้รัฐบาลจีนกังวลว่ากลุ่มสาววายเหล่านี้จะเบี่ยงเบนความต้องการทางเพศ และไม่ประสงค์จะแต่งงาน สร้างครอบครัวหรือมีลูก ซึ่งจะนำมาสู่วิกฤตขาดแคลนประชากรที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงสภาวะจำนวนประชากรลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการในการขับเคลื่อนประเทศที่จีนกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน

ประการที่สาม การแบนสื่อบันเทิงวายอาจเกิดขึ้นจากความคิดเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) ซึ่งสะท้อนการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมกระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่มีรากฐานแบบปิตาธิปไตยจากแนวคิดเก่าแก่ของขงจื๊ออย่างประเทศจีน 

ตั้งแต่การสร้างโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อบันเทิง จนถึงการแบนซีรีส์วายในฐานะภัยความมั่นคงของชาติ ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าพัฒนาการอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงของจีนได้เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมผสมผสานเป็นอุตสาหกรรมแบบรวมศูนย์ คือการจัดทำและเผยแพร่สื่อบันเทิงภายใต้อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสร้างสรรค์สื่อบันเทิงตามความต้องการของตลาดภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่เข้มงวด

แม้ว่าทางการจีนจะสนับสนุนกำลังการผลิตอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงจีนให้ส่งออกสู่ระดับนานาชาติได้ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังคงพยายามสอดแทรกวัฒนธรรมชาตินิยมของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ตรงกันข้ามกับประเทศอื่นๆ ที่ให้การสนับสนุนและให้เสรีภาพในการสร้างสรรค์สื่อบันเทิงเพื่อให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ขับเคลื่อนประเทศได้อย่างแท้จริง

อ้างอิง

Why is China banning Boys’ Love (BL) and why should we care?

China moves to kill romantic gay-themed ‘boys’ love’ dramas amid wider crackdown on entertainment industry

Film Policy, the Chinese Government and Soft Power. New Cinemas: Journal of Contemporary Film

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save