fbpx

ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีน: วิกฤตพิสดาร

วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนเป็นวิกฤตที่แปลกประหลาด เพราะเดิมไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น ครั้นพอเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้ลุกลามใหญ่โตอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แตกต่างจากวิกฤตลักษณะใกล้เคียงกันในตะวันตก จนถึงตอนนี้นักวิเคราะห์หลายคนก็ยังสงสัยอยู่ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจีนคิดอะไร และวิกฤตนี้สุดท้ายยังจะกลับมาหลอกหลอนเกิดเชื้อไฟปะทุลุกลามใหญ่โตได้ไหม

ก่อนหน้านี้ หลายคนนึกเข้าข้างตัวเองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนคงไม่เกิดวิกฤตหรอก เข้าทำนองแนวคิด ‘Too big to fail’ ในวงนโยบายของจีนเคยพูดกันมาตลอดว่า ฟองสบู่ก้อนนี้ห้ามแตะ เพราะถ้าแตกโพละเมื่อไหร่ อภิมหาซูเปอร์ฟองสบู่ก้อนนี้ (ฝรั่งเรียกว่าเป็น ‘Mother of all bubbles’) จะพาเศรษฐกิจจีนลงเหวได้เลยทีเดียว

เหตุผลที่ก่อนหน้านี้ ‘ห้ามแตะภาคอสังหาริมทรัพย์’ ยังมาจากความจริงที่ว่า ความร่ำรวยของชนชั้นกลางของจีนล้วนสะสมอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นเช่นในประเทศอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่น มีการประเมินว่ารายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากมาจากการประมูลขายสิทธิในการใช้ที่ดิน เพราะในระบบของจีน รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินในเขตเมือง เหตุผลหนึ่งที่ผลักราคาที่ดินในจีนให้พุ่งไม่หยุด ก็เพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนแข่งกันประมูลที่ดินของรัฐบาลด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาด

เพิ่งเมื่อต้นปีที่แล้ว ผมยังฟังนักวิเคราะห์จีนบอกอยู่เลยว่า การลงทุนที่ปลอดภัยที่สุดคือ ลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีแต่จะพุ่ง ไม่มีขาลง เพราะขาลงเมื่อใด เศรษฐกิจจีนพินาศแน่ เพราะชนชั้นกลางจีนจะรวยลดลงทันที ซึ่งย่อมกระทบกับการบริโภค รายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่น้อยลงก็ย่อมกระทบกับการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีการจ้างงานและเกี่ยวข้องกับอีกหลายภาคเศรษฐกิจผูกกันเป็นลูกโซ่

แต่แล้วสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดก็คือในเดือนสิงหาคม มีข่าวใหญ่สะเทือนขวัญเรื่องวิกฤตหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ที่แปลกพิสดารกว่านั้นก็คือ วิกฤตดังกล่าวแท้จริงแล้วเกิดจากกฎเกณฑ์เรื่องเพดานหนี้ของรัฐบาลจีนเอง ทำให้เอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถกู้หนี้ก้อนใหม่มาโปะก้อนเก่าได้แบบที่ทำมาตลอด จึงเกิดเป็นวิกฤตชำระหนี้ก้อนมหึมาไม่ได้ มีคำถามตามมามากมายว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพังระเนระนาดของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีนแห่งอื่นๆ หรือไม่ หลายคนพยายามค้นข้อมูลว่ายังมีบริษัทซอมบี้แบบเอเวอร์แกรนด์ในจีนอีกกี่บริษัท

หากเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมเสรีของตะวันตก ย่อมมีความเสี่ยงมหาศาลที่ฟองสบู่ก้อนมหึมาจะแตกโพละและลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จีนมีอาวุธลับสำคัญข้อหนึ่งคือ การควบคุมข่าวสาร ตอนที่เริ่มเกิดความตื่นตระหนกเรื่องเอเวอร์แกรนด์ ส่วนใหญ่เป็นความตื่นตระหนกในต่างประเทศ แต่ภายในจีนแทบไม่มีใครรู้สึกว่ามีวิกฤตอะไร รัฐบาลจีนออกมาให้คำมั่นว่าควบคุมได้ จึงไม่ได้เกิดความตื่นตระหนกในการเทขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะทำให้ราคาตกอย่างรวดเร็ว ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของประเทศอื่นๆ

ดร.เซี่ยกั๋วจง นักวิเคราะห์เศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงของจีน เรียกติดตลกว่ากรณีนี้เป็นฟองสบู่ที่แตกแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่แตกโพละ เสมือนหนึ่งค่อยๆ ปล่อยลมออกจากลูกโป่ง ฝรั่งอาจฟังแล้วงงว่าฟองสบู่แตกแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นไปได้อย่างไร แต่ ดร.เซี่ยกั๋วจง มองว่ารัฐบาลจีนมีทั้งเครื่องมือข่าวสารที่พยุงความรู้สึกของตลาด และเครื่องมือทางนโยบายที่ป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามหรือขยายไปยังบริษัทอื่นหรือภาคเศรษฐกิจอื่นได้

พอรัฐบาลจีนป้องกันความตื่นตระหนกของตลาดได้ ทุกคนก็ยังไม่เทขายอสังหาริมทรัพย์ แม้สุดท้ายแล้วราคาอสังหาริมทรัพย์จะหยุดพุ่งและค่อยๆ ซบเซา แต่จะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากเปรียบเทียบก็เสมือนพอคนรู้ตัวอีกที ปาร์ตี้ก็เลิกไปแล้ว แต่สามารถเลิกได้แบบไม่หักดิบ

ในงานเสวนาเรื่องวิกฤตเอเวอร์แกรนด์ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮ่องกง ศ.เฉินจื่ออู่ อดีตศาสตราจารย์ด้านการเงินและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนของมหาวิทยาลัยเยลล์ได้ตอบผู้ฟังอย่างมั่นใจว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนจะไม่ดิ่งเหวเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตใกล้เคียงกันในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

สาเหตุเพราะความพิเศษของระบบของจีนที่รัฐบาลควบคุมตลาดได้เต็มที่ หากเกิดความตื่นตระหนก และทุกคนเทขายอสังหาริมทรัพย์ในราคาที่ต่ำเตี้ยติดดิน รัฐบาลจีนก็เพียงห้ามการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่ากำหนด คล้ายๆ กับเวลาเกิดความตื่นตระหนกในตลาดหุ้น แล้วรัฐบาลหยุดพักการซื้อขายหุ้น ซึ่งประเทศอื่นไม่มีเครื่องมือที่จะทำอย่างนี้ได้ในภาคอสังหาริมทรัพย์

มีเหตุผลสำคัญทางนโยบายที่รัฐบาลจีนเลือกเจาะฟองสบู่ของตัวเองในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นจากโควิด หลักใหญ่ก็คือ เพื่อแก้ปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่สูงทะลุเพดานชนิดไม่สมเหตุสมผล ซึ่งเป็นปัญหาดันค่าครองชีพในเมืองของจีนให้สูงจนอยู่ลำบาก ทำให้คนจีนไม่ยอมแต่งงาน ไม่ยอมมีลูก จนเกิดวิกฤตประชากรหด

ส่วนที่คนเคยคิดว่าเมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นจะไม่มีเงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อีกฝั่งก็เห็นว่า จีนหมดยุคที่ต้องการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบมหึมาแล้ว เพราะถนนสะพานรถไฟที่ควรสร้างก็สร้างไปหมดแล้ว ขืนยังจะสร้างต่อนั่นแหละจะมีแต่ปัญหาหนี้กับปัญหาการลงทุนไม่คุ้มค่า ส่วนประเด็นชนชั้นกลางที่จะจนลงจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก อีกฝั่งก็แย้งว่าจะมีชนชั้นล่างที่รวยขึ้นและบริโภคมากขึ้น เพราะคนชนบทจะย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำมาหากินในเมืองได้ เพราะราคาบ้านในเมืองจะค่อยๆ ตกลง

นี่จึงเป็นการเปลี่ยนทิศทางนโยบายครั้งใหญ่ของรัฐบาลจีนที่จากเดิม ‘ไม่แตะภาคอสังหาริมทรัพย์’ มาเป็น ‘เจาะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์’ ด้วยตัวเอง ปัญหาความซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนในปีใหม่นี้ และเศรษฐกิจการเมืองโลกในช่วง 5 ปี ต่อจากนี้

ประการแรกที่ยืนยันได้แน่นอนคือ จะไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจระทึกขวัญหรือ ‘วิกฤตเป็ดปักกิ่ง’ ในแบบเดียวกับ ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ ของสหรัฐฯ ในปี 2008 หรือ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ของไทยในปี 1997 เพราะดังที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลจีนควบคุมได้ทั้งความรู้สึกของตลาดและยังมีเครื่องมืออีกมากหากตลาดเกิดตื่นตระหนกขึ้นมาจริงๆ

แต่ประการที่สอง เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวอย่างมากแน่นอน บางคนประเมินว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จีนอาจคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30 ของ GDP จีนเลยทีเดียว เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์สะดุดและหยุดเติบโต ย่อมกระทบกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ

จึงนำมาสู่ผลประการที่สาม คือ ในปีใหม่นี้ รัฐบาลจีนจะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจ ธนาคารกลางของจีนแถลงตอนสิ้นปีว่าปีใหม่จะมีการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินแบบเชิงรุกและจะมีการใช้นโยบายเชิงปริมาณมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราส่วนความต้องการสำรองและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง

ปีใหม่นี้ ทิศทางนโยบายของธนาคารกลางของจีนและสหรัฐฯ จะตรงข้ามกัน ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อในสหรัฐฯ แต่ในจีน ธนาคารกลางของจีนจะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่จะซึมยาวจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2022 ไว้ที่ 5.5% ซึ่งจะเป็นตัวเลขการเติบโตที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์จีน แต่รัฐบาลจีนมองว่าไม่แย่ หากสิ่งที่แลกมาคือการเอาลมออกจากลูกโป่งฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของการพังพินาศของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว

ดร.เซี่ยกั๋วจงเองได้ให้ความเห็นชวนคิดไว้ว่า แม้ในระยะสั้น จีนจะดูเจ็บตัว แต่ในระยะกลาง การเจาะฟองสบู่ของจีนด้วยตัวเองตั้งแต่วันนี้ จะทำให้จีนได้เปรียบสหรัฐฯ ในศึกเศรษฐกิจ เพราะเขาประเมินว่า ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะหนักขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากจีนลอยตัวค่าเงินให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ยิ่งจะซ้ำเติมวิกฤตเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ให้หนักขึ้นอีก

ก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่าจีนจะไม่ลอยตัวค่าเงินและไม่ปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ สาเหตุเพราะหากเงินหยวนแข็ง ไม่ใช่สหรัฐฯ จะพังคนเดียว แต่จะพังกันทั้งคู่ เพราะฟองสบู่ในจีนเองก็จะแตกและทำให้เกิดวิกฤตได้ แต่ ดร.เซี่ยกั๋วจงชวนคิดว่า ถ้าฟองสบู่ในจีนแฟบหมดแล้ว จีนเองก็น่าจะทนรับความเจ็บได้มากขึ้นจากเงินหยวนที่แข็งค่า ขณะที่ในฝั่งสหรัฐฯ จะเกิดวิกฤตเงินเฟ้อหนักขึ้น ซึ่งจะดันให้ฟองสบู่ในสหรัฐฯ ที่มโหฬารทั้งในตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์ และตลาดคริปโตแตกโพละเอาได้

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความถึกและความอดทนของคนจีน เมื่อปลายปี 2019 ตอนที่จีนประสบเงินเฟ้อเพราะราคาหมูแพง คนจีนก็อดทนบริโภคหมูน้อยลง ไม่ได้เกิดวิกฤตสังคมอะไร ขณะที่ในสหรัฐฯ วิกฤตเงินเฟ้ออาจนำไปสู่วิกฤตการเมืองเอาได้ง่ายๆ

ผมคิดว่าความเห็นของ ดร.เซี่ยกั๋วจง อาจแหวกแนวไปหน่อย แต่ก็ชวนคิดไม่น้อย ผมเองไม่คิดว่า รัฐบาลจีนจะเลือกนโยบายอะไรที่ทำให้จีนเองก็เจ็บตัวหนักไปด้วย แต่ประเด็นใหญ่ก็คือ รัฐบาลจีนอาจมีทางเลือกมากกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีในระยะกลาง เพราะในขณะที่สหรัฐฯ จะต้องกลัวฟองสบู่แตกโพละ จีนอาจไม่กลัวเพราะฟองสบู่ได้แตกอย่างค่อยเป็นค่อยไปเรียบร้อยไปแล้ว

และในกรณีที่ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น ทางเลือกทางนโยบายบางอย่างที่จีนไม่สามารถทำได้ในอดีต แต่ในวันข้างหน้าจีนอาจทำได้ก็เป็นได้ นั่นคือยอมทิ้ง ‘ระเบิดเศรษฐกิจ’ ยอมพังไปด้วยกัน ด้วยความเชื่อว่าจีนเจ็บน้อยกว่าสหรัฐฯ เพราะฟองสบู่แฟบมาก่อนแล้ว และคนจีนถึกและทนกว่าสหรัฐฯ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save