fbpx
การค้าสามผสม: จีนกับโลกหลังโควิด

การค้าสามผสม: จีนกับโลกหลังโควิด

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

ณัฐพล อุปฮาด ภาพประกอบ

 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามที่จะแยกห่วงโซ่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกจากจีน ศัพท์วิชาการเก๋ๆ เรียกว่า การแตกแกนครั้งใหญ่ (The Great Decoupling) อันเป็นการสวนกระแสหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนเคยเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ทุนจากสหรัฐฯ ไหลเข้ามาใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกในจีนเพื่อทำการผลิตสินค้านานาชนิดส่งออกไปขายทั่วโลก

นักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ มักอธิบายว่า สาเหตุที่ต้องแตกคอกัน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่เคยเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากนั้น ทำให้จีนมีอำนาจต่อรองสูงเกินไปจนจีนเริ่มไม่เกรงใจสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงยังนำไปสู่ภัยคุกคามด้านความมั่นคง หากในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงทั้งหลายต้องมีชิ้นส่วนจากจีน ต้องผลิตที่จีน หรือสุดท้ายบริษัทจีนกลายเป็นผู้เลียนรู้จากสหรัฐฯ และยึดครองตลาด นอกจากนั้น ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้ช่วยผลักดันให้จีนเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณค่าหรือระบบการเมืองตามแนวทางที่สหรัฐฯ คาดหวัง

ฟังเหตุผลจากฝั่งสหรัฐฯ แล้ว คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้ามองจากฝั่งจีน จีนมองความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศอย่างไร จีนเองก็อยากแยกวงเพื่อความมั่นคงของตนด้วยหรือไม่? หรือจีนยังอยากให้โลกกลับไปเป็นแบบเดิมที่สองฝ่ายคบค้ากันอย่างใกล้ชิด?

ความคิดเชิงยุทธศาสตร์แบบจีนมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ มักไม่มองอะไรแบบขาวกับดำ ทุกทางเลือกต่างมีข้อดีข้อเสีย หัวใจหลักของการวางยุทธศาสตร์จึงไม่ใช่การเลือกเดินทัพทางใดทางหนึ่งเพียงทางเดียว แต่เป็นการเดินทัพพร้อมกันหลายทาง แยกตีแต่ละเส้นทางอย่างสมดุล

จีนมองการเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ ว่ามีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีที่ชัดเจนที่สุดคือ ทำให้จีนมีการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจชนิดน่าอัศจรรย์ เพราะการเคลื่อนย้ายของทุนจากสหรัฐฯ เข้าจีน การอาศัยประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการแบ่งงานกันผลิตและค้าขาย ทำให้เกิดประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ จีนยังสามารถนำเข้าเทคโนโลยี พร้อม “เลียนรู้” และยกระดับเทคโนโลยีของตนอย่างต่อเนื่อง เราอาจกล่าวได้ว่า มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีนในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา ก็คือผลลัพธ์โดยตรงจากการเปิดประเทศและผนวกเศรษฐกิจเชื่อมเข้ากับสหรัฐฯ และโลกนั่นเอง

ข้อดีถัดมาที่ลืมไม่ได้คือ การเชื่อมโยงทำให้จีนมีอำนาจต่อรอง สาเหตุที่วันนี้จีนกลายเป็นมหาอำนาจไม่ใช่เพราะพลังสรรพอาวุธทางทหารที่ยังคงห่างชั้นสหรัฐฯ อยู่หลายขุม แต่เพราะพลังและอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่จีนมีมหาศาล ตอนนี้ จีนได้ผงาดขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และการคาดการณ์ของทุกสำนักบอกว่า ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะขึ้นมาแซงหน้าสหรัฐฯ ในเวลาไม่เกิน 10 ปี ทุกคนย่อมต้องเกรงใจจีนมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจของทุกคนต่างเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนทั้งนั้น

แต่ท่ามกลางข้อดีของการเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ และโลกก็ยังมีข้อเสียสำคัญคือ ความเสี่ยงด้านความมั่นคง เพราะสหรัฐฯ เองก็ย่อมจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นเช่นกัน และสหรัฐฯ อาจบีบให้จีนเจ็บตัวหรือบีบจนเศรษฐกิจจีนพัง (ดังที่พยายามทำอยู่ แม้หลายคนบอกว่า ควรทำก่อนหน้านี้ เพราะบัดนี้สายเสียแล้ว)

นอกจากนั้น หากความเชื่อมโยงสูงเกินไป โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนด้วยแล้ว ก็จะกลายเป็นภัยต่อการอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ตั้งแต่เริ่มต้นที่จีนรับอินเทอร์เน็ตเข้ามา จีนปฏิเสธการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ และโลก จนเกิดเป็น ‘สองโลกอินเทอร์เน็ต’ ดังทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตในจีนเป็นผู้เล่นบริษัทจีน และมี ‘The Great Firewall’ ทำให้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมและจัดการเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนในทางการเมืองได้

นักวิชาการบางคนกล่าวติดตลกว่า สหรัฐฯ ในวันนี้เริ่มจะวิตกจริตแบบจีนเสียเอง โดยแต่เดิม วงนโยบายของสหรัฐฯ จะเน้นข้อดีของการเชื่อมโยงว่า ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โต ตลาดหุ้นพุ่ง บริษัทสหรัฐฯ รวยวันรวยคืน และในเชิงยุทธศาสตร์ การเชื่อมโยงยังเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับสหรัฐฯ ในการกดดันจีนให้เปลี่ยนระบบการเมือง แต่ปรากฎว่า ผลด้านหนึ่งคือ เศรษฐกิจจีนโตแข่งกับสหรัฐฯ บริษัทจีนเองก็รวยวันรวยคืน ส่วนในอีกด้าน จีนกลับไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนระบบการเมือง แถมยังแสดงพลังอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ในเรื่องความมั่นคงนั้น สหรัฐฯ เริ่มหวาดระแวงจีนในเรื่องเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม และในขณะที่จีนเคยกลัวการใช้อินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ บัดนี้สหรัฐฯ ก็กลัวการใช้สัญญาณ 5G ของหัวเว่ย (Huawei) เช่นกัน

แล้วโควิดจะทำให้เกิดอะไร? จากฝั่งของสหรัฐฯ นักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ออกมาส่งเสริมแนวคิดรีเซ็ทซัพพลายเชน คือให้เร่งเครื่องแยกเศรษฐกิจสองประเทศออกจากกัน โดยเฉพาะการแยกห่วงโซ่การผลิตด้านเทคโนโลยียุคใหม่ วิกฤตโควิดกลายเป็นโอกาสให้บริษัทสหรัฐฯ อาศัยช่วงความเหน็บหนาวของการค้าโลกในการเร่งปรับตัวระยะยาว เพราะในเมื่อตอนนี้ ตัวเลขระยะสั้นทุกอย่างดูไม่ดีอยู่แล้ว จึงน่าจะกัดฟันทนเจ็บอีกสักหน่อย ให้บริษัทสหรัฐฯ ค่อยๆ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อลดความเสี่ยงระยะยาวจากการพิพาททางการค้ารวมทั้งการเริ่มต้นของสงครามเย็นยุคใหม่ที่หลายฝ่ายเห็นว่าหลีกเลี่ยงได้ยาก

ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเลือกเดินทางแตกห่วงโซ่ (decoupling) อย่างชัดเจน ภายในจีนกลับมองภาพโควิดและทางเลือกซับซ้อนกว่านั้น ผมเรียกว่าเป็น ‘ยุทธศาสตร์การค้าสามผสม’ ซึ่งสะท้อนแนวทางการเดินทัพพร้อมกันหลายเส้นทางของจีน และใช้วิกฤตโควิดเป็นตัวเร่งการจัดความสัมพันธ์สามเส้นทางผสมผสานกัน

หนึ่ง เร่งการผนวกเข้ากับสหรัฐฯ ในภาคเศรษฐกิจที่ยังเชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในเชิงยุทธศาสตร์ เป้าหมายอยู่ที่ข้อดีของการเชื่อมโยงสองข้อที่กล่าวมา นั่นคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาอำนาจต่อรองที่จะเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยง

ในการประชุมสภาประชาชนจีนที่ผ่านมา นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ได้กล่าวถึงการลงทุนก้อนมหาศาลของ Honeywell บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากสหรัฐฯ ที่จะลงทุนสร้างฐานการผลิตและการวิจัยที่อู่ฮั่น ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด ภายในจีนตอนนี้ มีกระแสแพร่หลายว่ารัฐบาลท้องถิ่นของจีนพยายามเต็มที่ในการชักจูงไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ และบริษัทต่างชาติย้ายฐานการลงทุนออกจากจีน ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ สะท้อนให้เห็นว่าจีนเองไม่ได้ต้องการแยกตัวจากสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด

สอง จีนจำต้องลดความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ ในบางภาคอุตสาหกรรม และพยายามยืนด้วยลำแข้งตัวเองให้มากขึ้น มิติแรกคือ พึ่งพาตนเองให้มากขึ้นในด้านเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ แต่เดิมนั้น จีนหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ ในเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อเลียนรู้และต่อยอดเทคโนโลยีของจีน แต่ในวันที่สหรัฐฯ พยายามแยกทางจากจีนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงที่อาจมีผลต่อความมั่นคง ทำให้จีนต้องเร่งเครื่องพึ่งตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการส่งเสริมการวิจัยพื้นฐานและสร้างเทคโนโลยีฐานรากของตน ซึ่งจีนยังอ่อนด้อยในเรื่องเทคโนโลยีฐานรากอยู่ เช่น แม้ว่าหัวเว่ยจะมีความแข็งแกร่งและก้าวหน้าในเทคโนโลยีโทรคมนาคมในชั้นที่ต่อยอดขึ้นไป แต่ในชั้นพื้นฐาน หัวเว่ยก็ยังต้องอาศัยเทคโนโลยีสหรัฐฯ อยู่ ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงพุ่งเป้าออกกฎเกณฑ์ห้ามบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ค้าขายกับหัวเว่ย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการอยู่รอดของหัวเว่ย เพราะบริษัทผลิตชิปทั้งหลายในโลกล้วนยังต้องใช้ซอฟแวร์ของสหรัฐฯ ในการออกแบบชิป

มิติที่สองคือ พึ่งพาตลาดภายในประเทศให้มากขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ จีนควรจะเร่งขยายกำลังการบริโภคภายในประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆ ของโลก รวมทั้งจากสงครามการค้าที่ยาวนานต่อเนื่อง โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ย้ำเน้นแนวทางนี้ในที่ประชุมกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า จีนต้องใช้ข้อได้เปรียบของการเป็นตลาดขนาดใหญ่ เดินหน้ากระตุ้นศักยภาพการบริโภคภายในประเทศให้เต็มแรงสูบในยามที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะงักงัน

สาม จีนต้องเร่งผนวกเข้ากับเศรษฐกิจประเทศอื่น นอกเหนือจากสหรัฐฯ เพื่อกระจายความเสี่ยงและแรงกดดันจากสหรัฐฯ พร้อมกับยังยืนหยัดในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเปิดประเทศ และแนวทางการสร้างพลังอำนาจต่อรองกับประเทศอื่นๆ โดยอาศัยการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ

จีนมักสร้างภาพในเชิงยุทธศาสตร์ว่า สหรัฐฯ กำลังทำผิดพลาดมหันต์ เพราะการแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกจากจีน แท้จริงแล้วคือ การแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกจากเศรษฐกิจโลกต่างหาก เพราะห่วงโซ่การผลิตของจีนได้เชื่อมเข้ากับประเทศอื่นๆ ในโลกเรียบร้อยแล้ว หรือนับวันจะยิ่งทวีความเชื่อมโยงมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และการรุกตลาดภายนอกในประเทศใหม่ๆ ของจีน

ศาสตราจารย์จางจุน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟูตั้น กล่าวว่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามตีตัวออกห่างจากจีน ประเทศอื่นก็คงไม่ทำตามสหรัฐฯ  “เพราะโลกอาจจะต้องพึ่งพาจีนมากกว่าที่จีนจะต้องพึ่งพาโลก” การระบาดของโควิด-19 จะทำให้นานาชาติต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น เพราะจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก่อน และเศรษฐกิจของจีนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตได้ก่อนหน้าประเทศอื่น ท่านยังเห็นว่า โลกหลังโควิด 19 เป็นเสมือนโอกาสทองของจีนในการรีเซ็ตความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน โดยกระจายความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ มาส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น และโดดเดี่ยวสหรัฐฯ ออกจากห่วงโซ่การผลิตโลกที่ยังคงมีจีนเป็นแกนกลางอยู่ในหลายภาคอุตสาหกรรม

ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า จีนอาจกลับหลังหันจากที่เคยเปิดประเทศ เปลี่ยนมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในของตนเป็นหลัก แต่จากการวิเคราะห์ ‘ยุทธศาสตร์การค้าสามผสม’ ของจีน จะพบว่า จีนยังคงเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจอยู่ แต่เป็นการเปิดที่มีเป้าหมายและเงื่อนไขในเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้น นั่นคือ ยังคงเดินหน้าเชื่อมกับสหรัฐฯ ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่ขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็พึ่งพาตนเองมากขึ้นในภาคเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ และส่งเสริมตลาดภายในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากภายนอก พร้อมไปกับการเดินหน้าเชื่อมโยงกับประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ เพื่อสร้าง ‘ห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก’ สู้กับ ‘ห่วงโซ่สหรัฐฯ เชื่อมโลก’ เดินหน้าแข่งขันกันโดดเดี่ยวอีกฝ่ายจากห่วงโซ่การผลิตหลักของโลก แน่นอนว่า ห่วงโซ่เศรษฐกิจและห่วงโซ่การผลิตโลกที่เคยเชื่อมโยงร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยมีสหรัฐฯ และจีนเป็นแกนกลางกำลังพังทลายลง แต่โลกใบใหม่จะมีหน้าตาเป็นเช่นไรยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอยู่

ณ ขณะนี้ เรากำลังอยู่ในยุคสมัยของการเขย่าห่วงโซ่เศรษฐกิจโลกและการจัดเรียงใหม่ ซึ่งจะซับซ้อนขึ้นกว่าโลกใบเก่า และต้องอาศัยการวิเคราะห์ที่ลงรายละเอียดมากขึ้น เพราะแต่ละภาคอุตสาหกรรมอาจมีลักษณะห่วงโซ่ที่แตกต่างกันตามเกมยุทธศาสตร์หลายสูตรผสมของสองมหาอำนาจ ซึ่งบัดนี้แม้ไม่อาจกลับมาร่วมหอเดียวกัน แต่ก็หย่ากันไม่ขาดทั้งหมดอยู่ดี

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save