fbpx
2035: จีนกับเกมเดิมพัน 15 ปี

2035: จีนกับเกมเดิมพัน 15 ปี

จีนกับสหรัฐฯ ต่างมีเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ไว้ปลุกความฮึกเหิมคนในชาติ ลองดูนะครับว่าท่านผู้อ่านเชื่อเรื่องเล่าไหน?

ประวัติศาสตร์จีนสรุปสั้นๆ ได้ว่า จีนเป็นเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลกมายาวนานหลายพันปี (ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ) จนช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อเกิดสงครามฝิ่น จีนพบว่าเขาแพ้ภัยตะวันตก กลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียไปราว 100 ปี และวันนี้จีนกำลังกลับมาทวงคืนบัลลังก์ จีนจึงไม่เรียกตัวเองว่าเป็นมหาอำนาจใหม่ แต่เรียกว่าเป็นการฟื้นความยิ่งใหญ่ของชนชาติจีน

ส่วนสหรัฐฯ ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ชาติยาวนานเหมือนจีน จึงขอดูเพียง 100 ปีที่ผ่านมาก็พอ เราจะพบว่าในรอบ 100 ปี สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกได้เผชิญผู้ท้าชิงมาแล้วอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ เยอรมนีของฮิตเลอร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตยุคสงครามเย็น ญี่ปุ่นยุคทศวรรษ 1980 และมาถึงคู่ท้าชิงล่าสุดคือจีน สามรายก่อนหน้าโดนสหรัฐฯ สอยร่วงหมดแล้ว วันนี้ก็ถึงคิวจัดการจีน

มีเรื่องพูดกันทีเล่นทีจริงว่า ปัญหาที่น่าจะทำให้ผู้นำจีนตื่นขึ้นกลางดึก ก็คือความกลัวว่าจีนจะซ้ำรอยญี่ปุ่นหรือไม่? 

ในเมืองจีนมีคำพูดว่าต้องระวัง ‘คำสาป 70%’ ความหมายคือ เมื่อญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงปี ค.ศ. 1995 ที่ขนาดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วน 70% ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ จุดนั้นใครๆ ก็เชียร์ให้ญี่ปุ่นวิ่งให้เร็วในโค้งสุดท้ายเพื่อจะแซงหน้าสหรัฐฯ แต่อนิจจา เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับหยุดชะงักอยู่ตรงนั้น ตามมาด้วย ‘ทศวรรษที่หายไป’ ของญี่ปุ่น ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ญี่ปุ่นหยุดวิ่งนิ่งลง จนปัจจุบันเชื่อไหมครับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่เพียง 25% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เท่านั้นเอง  

ในประวัติศาสตร์ 100 ปี ที่ผ่านมา ในด้านเศรษฐกิจ มีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่ก้าวขึ้นมาสู่จุด 70% ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั่นก็คือ ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1995 กับจีนในปี ค.ศ. 2020 ปัญหาที่หนักใจผู้นำจีนวันนี้ก็คือ จีนดูเหมือนเริ่มจะเผชิญสรรพโรคสรรพภัย คล้ายคลึงกับญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1995

ไม่ว่าจะเป็นการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น รวมทั้งปัญหาความเสี่ยงในระบบการเงินที่ก่อตัว อย่าลืมนะครับว่าระเบิดก้อนใหญ่ที่ดับฝันญี่ปุ่นก็คือ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ที่สำคัญ จีนยังเผชิญสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ เคยเล่นงานญี่ปุ่นอย่างจริงจังในยุคประธานาธิบดีเรแกน จนตอนนั้นส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องปรับค่าเงิน การลงทุนไหลออกจากประเทศ นำไปสู่การหยุดชะงักในการพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อโลกปรับจากยุค 3.0 ไปสู่ยุค 4.0 และ 5.0 บริษัทเทคโนโลยีญี่ปุ่นก็ตกขบวนอย่างชัดเจน

ในจีนเวลานี้ มีคำกล่าวแพร่หลายในวงเศรษฐกิจว่า โจทย์ใหญ่ที่สุดของแผนพัฒนา 5 ปีฉบับใหม่ของจีน (ค.ศ. 2021-2025) คือ จะทำอย่างไรให้ไม่ซ้ำรอยญี่ปุ่น? 

พร้อมกับการประกาศแผน 5 ปีฉบับใหม่ จีนยังตั้งหมุดหมายสำคัญไว้ที่ปี ค.ศ. 2035 สิ่งที่จีนน่าจะคิดแต่ไม่ได้พูดออกมาอย่างเป็นทางการก็คือ จีนหวังจะก้าวขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ให้ได้อย่างช้าที่สุดภายในปี ค.ศ. 2035 

นักวิเคราะห์ต่างชาติบางรายถึงกับบอกว่าเดิมพันครั้งนี้สำคัญนัก บริษัทวิจัยข้อมูลเศรษฐกิจชื่อ Capital Economics ที่กรุงลอนดอนออกบทวิเคราะห์ว่า ถ้าปี ค.ศ. 2035 จีนยังไม่สามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ จีนจะไม่มีทางแซงหน้าสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป ดังนั้น เวลา 15 ปีนี้จึงเป็นเดิมพันสำคัญว่าจีนจะรุ่งโรจน์ต่อไปหรือจะถูกสอยร่วงเสียก่อน

ความโดดเด่นที่สุดของแผนพัฒนา 5 ปีฉบับใหม่ของจีนคือ การยอมเติบโตต่ำลงในช่วง ค.ศ. 2021-2025 เพราะจีนต้องการหันมาทุ่มให้กับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการสร้างบุญใหม่ เป้าหมายเพื่อให้ในช่วงปี ค.ศ. 2025-2035 จีนยังสามารถเติบโตต่อไปได้ หลีกเลี่ยงการโตสูงในช่วงสั้น แต่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว

ตรงนี้แตกต่างจากแผนพัฒนาฉบับก่อนๆ ที่หัวใจของแผนเคยอยู่ที่การทำทุกอย่างเพื่อปั๊มตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่แผนฉบับใหม่ของจีนไม่มีการตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบ 5 ปี  

นักวิเคราะห์จีนเคยคำนวณว่า ถ้าจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ให้ได้ในปี ค.ศ. 2030 จีนจะต้องโตให้ได้มากกว่าสหรัฐฯ ปีละ 3.7% เมื่อเกิดสงครามการค้าขึ้นในปี ค.ศ. 2017 ส่งผลกดการเติบโตของจีน พร้อมๆ กับที่เป็นยุคการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายคนมองว่า ช่องว่าง 3.7% นี้ทำยากขึ้นทุกปี ฝันของจีนที่เคยดูใกล้ก็อาจไปไม่ถึง 

แต่สุดท้าย วิกฤตโควิดมาช่วยพยุงฝันของจีนไว้ เมื่อปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ โตติดลบ ขณะที่จีนโตได้ถึง 2% ทำให้นักวิเคราะห์บางสำนักบวกลบคูณหารแล้วบอกว่า จีนมีโอกาสที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ เร็วขึ้นมาเป็นปี ค.ศ. 2028 ด้วยซ้ำ เพราะวิกฤตโควิดในสหรัฐฯ ทำให้ช่องว่างการเติบโตระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ถ่างขึ้น

แต่ดูเหมือนจีนจะไม่รีบร้อน เพราะคำแถลงของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนชัดเจนว่า จีนไม่เน้นการเติบโตที่สูงดังที่หลายฝ่ายเคยคาดไว้ โดยนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ประกาศตัวเลขการเติบโตปี ค.ศ. 2021 ที่ 6% ซึ่งจริงๆ เป็นอัตราที่ต่ำ เมื่อพิจารณาจากการที่ธนาคารโลกมองว่าจีนมีศักยภาพจะเติบโตได้สูงถึง 8% รวมทั้งเมื่อพิจารณาว่านี่เป็น 6% จากฐานปีที่แล้วซึ่งจีนเติบโตต่ำเพราะโควิด มีการวิเคราะห์ว่ามูลค่าจริงของ 6% อาจเทียบได้กับการโตที่ 3% ในปีปกติ

นายกฯ หลี่บอกว่าตัวเลข 6% จะทำให้จีนสามารถเน้นไปที่คุณภาพของการเติบโต นโยบายชี้เป็นชี้ตายของจีน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปไปสู่ภาคเศรษฐกิจใหม่ การแก้ปัญหาการผลิตเกินตัวในภาคอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาหนี้ การพยายามพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเอง โดยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ การจำกัดความร้อนแรงของตลาดทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงิน นโยบายต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่จะทำให้จีนเจ็บตัวในช่วงที่ต้องทนปรับตัว และย่อมจะส่งผลกดตัวเลขการเติบโตของจีนให้ต่ำลงในระยะสั้น แต่ล้วนเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำเพื่อเป็นหลักประกันว่าจีนจะไม่ได้โตได้เพียง 5 ปีแล้วหยุดชะงัก แต่ต้องโตต่อเนื่องให้ได้ 15 ปีในโค้งสุดท้ายของสนามแข่งขัน

หากเรากลับไปทบทวนประวัติศาสตร์จะเห็นว่า จริงๆ แล้ว ไม่แปลกที่จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจเป็นเบอร์ 1 ของโลกมาหลายพันปี เพราะในยุคเศรษฐกิจ 1.0 หรือสังคมเกษตร ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกก็คือประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกใหญ่ที่สุดและประชากรมากที่สุด นั่นก็คือจีน

ไม่แปลกที่จีนจะแพ้ตะวันตกในช่วงสงครามฝิ่น เพราะตอนนั้นตะวันตกมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และก้าวเข้าสู่โลก 2.0 เรียบร้อยแล้ว เมื่อโลก 2.0 เอาเรือรบมาปิดอ่าวของโลก 1.0 แล้วจีนจะสู้อะไรได้

แต่วันนี้จีนบอกว่า จีนกำลังวิ่งอยู่ในสนามโลกเศรษฐกิจ 4.0 และ 5.0 ไล่กวดกับสหรัฐฯ หากจีนสามารถชนะในเกมเทคโนโลยี ทำให้มีพลังวิ่งต่อไปเรื่อยๆ และไม่เกิดวิกฤตการเงิน ไม่สะดุดขาตัวเองล้มลงเสียก่อน จีนมีโอกาสจะเป็นรายแรกในรอบ 100 ปี ที่แซงหน้าสหรัฐฯ ได้สำเร็จ

จีนจึงมองการวิ่งโค้งสุดท้ายนี้เป็นเหมือนมาราธอนระยะทาง 15 ปี แผนพัฒนาฉบับใหม่ 5 ปีแรกคือการออมกำลัง และวางก้าวให้ถูกต้องสำหรับสร้างพลังระยะยาว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save