fbpx

ความทรงจำของลมหายใจที่ถูกเนรเทศ

มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เราเลือกอ่านหนังสือแต่ละเล่มในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง นี่เป็นเพียงบางเหตุผลที่สามารถเล่าสู่กันฟัง


Why read?

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 ผมเข้าร่วมรับฟังงานประชุมเสวนา Between Geo-Bodies and the Unforgetting ซึ่งเป็นบทสรุปของโครงการ The Breathing of Maps ในระหว่างที่การประชุมเสวนาดำเนินไป ถ้าความทรงจำไม่ทรยศ ผมคิดว่า อ. ธงชัย วินิจจะกูล เป็นคนเอ่ยถึง “จีนเป็ง” แม้จะเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เรื่องราวบางเบาในอากาศของวัยเยาว์หวนย้อนเข้ามาในจิตใจ ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาค้นอะไรบางอย่างและพบว่าเรื่องราวบางเบานั้นมีความเกี่ยวเนื่องไปถึง อ. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ผมพบ อ. สุธาชัยในระยะประชิดแบบพูดคุยเป็นการส่วนตัวครั้งแรกในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2017 วันนั้น อ. สุธาชัย มีบรรยายเรื่อง “1917: 100 ปี ก่อนจะถึงบอลเชวิก การปฏิวัติรัสเซียเดือนกุมภาพันธ์” ก่อนจะเริ่มงาน ผมมีโอกาสได้เดินคุยกับ อ.สุธาชัย และพูดว่า “อาจารย์ครับ ผมมีอะไรคาใจอยู่นานจะถามอาจารย์อย่างนึง” แต่ไม่ทันจะได้คำตอบ นิสิตที่ประสานงานก็เข้ามาพูดคุยกับอาจารย์เรื่องความเรียบร้อย จากนั้นก็เหมือนกับว่าโอกาสในการได้รับคำตอบของผมหายไปโดยปริยายเพราะมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าเฉพาะหน้ามาคั่นจังหวะ

แต่ก่อนที่งานจะเริ่มจริงๆ ผมได้กลับมานั่งข้างๆ อ. สุธาชัยอีกครั้ง ขณะที่เรานั่งกันเงียบๆ อ. สุธาชัยก็หันมาถามผมว่า “เอ๊ะ เมื่อกี้คุณจะถามอะไรผมนะ?” สิ่งที่ผมอยากถามในวันนั้นคือเรื่องโครงการชุดหนังสือหายากหลายเล่มที่นำกลับมาพิมพ์ใหม่ เช่น หนังสือกฤดาการบนที่ราบสูง วัตรนารีวงศ์ สมุดราชบุรี และปาฐกถาของผู้แทนราษฎรเรื่องจังหวัดต่างๆ ฯลฯ โดยสมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย ว่ามีทั้งหมดกี่เล่ม เพราะผมยังตามเก็บไม่ครบสักที ด้วยความเข้าใจผิดว่า อ. สุธาชัยเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดทำ

หลังจากหยุดคิดตามคำถามชั่วครู่ อ. สุธาชัย ก็ตอบว่า “ผมไม่ได้ทำหนังสือชุดนี้ คุณต้องไปถามฉลองนะ (อ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์) ลองไปถามดูนะ” หลังจากนั้น งานบรรยายก็เริ่มไปจนจบตามกำหนดการ และนั่นเป็นครั้งเดียวที่ผมได้พูดคุยกับ อ. สุธาชัย

วันที่ 27 กันยายน 2017 อ. สุธาชัยจากไปด้วยโรคมะเร็ง ผมเข้าร่วมงานฌาปนกิจศพในวันที่ 1 ตุลาคม 2017 ระหว่างยืนดูผู้คนมากมายและพิธีการที่ดำเนินไป ผมคิดในใจว่าต้องมีสักวันที่เขียนเรื่องราวความประทับใจในการพบกับ อ. สุธาชัยครั้งนั้นออกมา แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะเป็นเวลาที่เหมาะสม

สิ่งที่ผมค้นพบในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 ก็คือ อ. สุธาชัยเป็นบรรณาธิการของหนังสือ จีนเป็ง ประวัติศาสตร์คู่ขนาน เรื่องเล่าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ที่แปลและเรียบเรียงมาจาก Alias Chin Peng – My Side of History โดย ธันว์รวี ผมพยายามหาทางสั่งซื้อเล่มนี้ตั้งแต่เย็นวันนั้น แต่ก็เหมือนกับหนังสือเล่มอื่นๆ ของสำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก ที่หาซื้อยากเหลือเกินแม้มันอาจจะเคยหาซื้อง่ายหรือขายออกยากในช่วงขณะหนึ่ง (ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง อันลือลั่นก็เป็นหนึ่งในนั้น)


จีนเป็ง ประวัติศาสตร์คู่ขนาน เรื่องเล่าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา


อันที่จริงแล้ว ถ้าอยากหาเรื่องของจีนเป็งมาอ่านก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะหนังสือฉบับภาษาอังกฤษยังมีวางขายอยู่ทั่วไป แต่ด้วยความที่อยากอ่านฉบับที่ อ. สุธาชัยมีส่วนร่วมลงแรงมากกว่า ผมเลยลองเสาะหาไปเรื่อยโดยคิดว่าเป็นการละเล่นเล็กๆ น้อยๆ อย่างหนึ่งไม่ให้ชีวิตอับเฉา แต่ความปรารถนาในการละเล่นนั้นกลับรุนแรงกว่าที่คิด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องราวที่เคยรับรู้มาบ้างในวัยเยาว์ปลุกเร้า จนทำให้ผมต้องติดต่อ อ. บาหยัน อิ่มสำราญ ไปในวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา (ทั้งที่ไม่เคยรู้จักหรือพูดคุยกับ อ. บาหยันมาก่อน) ว่าจะหาซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ไหนบ้าง คำตอบที่ได้คือตอนนี้ไม่มีขายตามร้านทั่วไปแล้ว ในคลังหนังสือของ อ. สุธาชัยก็ไม่แน่ใจว่าจะมีเหลือหรือไม่ การจะไปดูก็ลำบากเพราะขณะนี้อยู่ในภาวะโรคระบาดอันรุนแรง แล้วแถวนั้นมีคนติดเชื้อเยอะ อ. บาหยันยังถามต่ออย่างเอื้อเฟื้อว่ารีบใช้หรือไม่ จะดูที่ท้ายรถว่าถ้ายังมีเหลือจะรีบส่งข่าว ผมตอบไปว่าไม่รีบเลยครับ แค่นี้ก็ขอบคุณมากแล้ว ผมแค่อยากได้มาอ่านและเขียนถึงเพื่อระลึกถึง อ. สุธาชัย

ผมไม่ได้รับการติดต่อกลับจาก อ. บาหยัน นั่นก็หมายความว่าโอกาสยังมาไม่ถึง จนกระทั่งผมได้รับความช่วยเหลือในการยืมหนังสือเล่มนี้และเล่มเกี่ยวเนื่องอย่าง Dialogues with Chin Peng: New Light on the Malayan Communist Party ที่หาซื้อยากมากแม้ในตลาดต่างประเทศจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยศิลปากรมาช่วยทำให้เรื่องราวของจีนเป็งมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น

ในที่สุด เวลาที่เหมาะสมในการเลือกและอ่านหนังสือเล่มนี้ก็มาถึง เดือนกันยายน เดือนที่ทั้งเจ้าของความทรงจำและบรรณาธิการจากโลกนี้ไป


Dialogues with Chin Peng: New Light on the Malayan Communist Party


Why write?

จีนเป็ง หรือ เฉินผิง (ในการออกเสียงแบบจีนกลาง 陳平) เป็นชื่อจัดตั้งของ อ๋องบุนหัว (王文華) ในพรรคคอมมิวนิสต์มลายา พื้นเพครอบครัวของเขาเป็นชาวฮกเกี้ยนที่อาศัยอยู่ในเมืองสิเตียวัน รัฐเปรัก ข้อความรายงานด้านการทหารของอังกฤษในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพากล่าวถึงเขาว่า

“ชื่อ: เฉินผิง (จีนเป็ง) จีนฮกเกี้ยน อายุประมาณ 25 ปี การศึกษาโรงเรียนจีนระดับมัธยม รู้ภาษาอังกฤษเล็กน้อย ฟังภาษาอังกฤษได้ดีกว่าพูด

ครอบครัวไม่รู้ – อาจจะเป็นคนชั้นกลางหรือคนมีฐานะ ร่างกายแข็งแรง ใบหน้ากลมเหมือนเด็กๆ มีความกล้าหาญโดดเด่นและได้รับความนับถือจากคน ไม่จุกจิก หรือเคร่งพิธีรีตอง บุคลิกเงียบ สติปัญญาเฉียบแหลม มีความสามารถไม่ธรรมดา ตรงไปตรงมา วางใจได้ เป็นที่นิยมชมชอบมาก เนื่องจากอายุยังน้อย และอ่อนต่อโลก เขาจึงไม่ใช่คนช่างพูดจาและยังไม่มีบารมีนัก”

แต่ในอีกไม่ถึงสองปีหลังจากนั้น จีนเป็งก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของขบวนการ

จีนเป็งเริ่มสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการเมืองและมีส่วนร่วมกับขบวนการรักชาติจีนในสิเตียวันตั้งแต่อายุราว 15-16 ปี จุดเริ่มต้นทางความคิดด้านการเมืองของเขามาจากนิสัยรักการอ่านซึ่งนำพาไปสู่ความเป็นห่วงเป็นใยประเทศจีนที่ถูกประเทศญี่ปุ่นรุกราน

เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองในจีนเริ่มดุเดือดขึ้น ชาวจีนในมลายาก็แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง อีกฝ่ายสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จุดประสงค์โดยรวมของชาวจีนมลายาในตอนนั้นคือต้องการช่วยเหลือการกู้ชาติผ่านการเรี่ยไรเงิน และการส่งนายทหารมาเกณฑ์เยาวชนจีนไปร่วมสู้รบของรัฐบาลเจียงไคเช็ค

ทางการอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในขณะนั้นไหวตัวถึงแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นในกลุ่มชาวจีน และเริ่มจับกุมเนรเทศนักเคลื่อนไหว ในช่วงนี้เองที่จีนเป็งค่อยๆ เกิดความศรัทธาในอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับเขาคือนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงเรื่อง “ว่าด้วยสงครามยืดเยื้อ” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปลุกระดมมวลชนและยุทธวิธีสงครามกองโจร ความคิดของเหมาเจ๋อตุงทำให้เขาสิ้นเลื่อมใสในฝ่ายก๊กมินตั๋ง ต่อมาเขาจึงเริ่มศึกษาหนังสือปรัชญาลัทธิมาร์กซ์จนยึดถือแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นอุดมการณ์ของชีวิต ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็หนีออกจากบ้านเพื่อเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว

เรื่องราวหนึ่งที่ควรเอ่ยถึงเกี่ยวกับการหนีออกจากบ้านเพื่อเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ทางการเมืองคือความรักของแม่ที่มีต่อลูกชายนักปฏิวัติ กล่าวคือ ในขณะที่จีนเป็งหนีออกจากบ้าน แม่ของเขาเพิ่งคลอดน้องสาวและต้องพักฟื้นในสถานผดุงครรภ์ หลังจากร่างกายแข็งแรงขึ้น แม่ของจีนเป็งก็ออกตามหาเขาด้วยความร้อนอกร้อนใจ จนกระทั่งมีโอกาสได้พบกัน ผู้เป็นแม่ซึ่งมีแต่ความห่วงใยได้วิงวอนให้ลูกกลับบ้าน หากลูกชายที่ในใจมีแต่อุดมการณ์ก็ยืนยันว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เมื่อการหว่านล้อมเป็นไปอย่างไร้ผล แม่ของเขาเอ่ยคำทั้งน้ำตาว่า “แกช่างใจเด็ดเหลือเกิน” แล้วค่อยๆ พูดถึงนกน้อยปีกกล้าในสำนวนจีนอันมีความหมายที่ทั้งสองฝ่ายต่างรับรู้แล้วว่าการเจรจาไม่มีประโยชน์อันใด

ก่อนแยกจากกัน แม่ของจีนเป็งยัดเงิน 300 เหรียญใส่มือของเขา พร้อมกำชับว่า “ระวังอย่าให้ถูกจับนะ”

เขารับปากกับแม่ และรักษาสัญญานั้นไว้ได้ตลอดชีวิต แม้หลายครั้งตัวเขาเองจะเคยคิดว่าคงไม่อาจรักษาสัญญาเอาไว้ได้

ในทางกลับกัน ถ้ามองในเชิงอุดมการณ์ย้อนหลังกลับไปจากบั้นปลายของชีวิต สิ่งที่จับกุมใจเขาไว้ตลอดมาคือศรัทธาที่มีต่อการต่อสู้ด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้ (หนานหยาง) เริ่มก่อตั้งที่สิงคโปร์ในช่วงปี 1927 โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน จุดประสงค์หลักในตอนนั้นคือเพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในบริเวณบริติชมลายาและสยาม ต่อมา พรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 1930 เมื่อโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นตัวแทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลหรือโคมินเทิร์น (Comintern) เดินทางมาถึงสิงคโปร์และเรียกประชุมองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จีนเป็งมีบทบาทสำคัญในภายหลังเรื่องการระบุวันที่ที่แน่นอนของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ซึ่งเป็นผลมาจากการรื้อฟื้นความทรงจำกับโฮจิมินห์

แต่เดิม พรรคคอมมิวนิสต์มลายามีบทบาทหลักคือการต่อต้านญี่ปุ่นและสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน แต่การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานได้กระตุ้นให้เกิดการกวาดล้างจากตำรวจในสิงคโปร์ จนนำไปสู่การสูญเสียและการเปลี่ยนแปลงแกนนำในพรรคหลายครั้ง

ตอนที่จีนเป็งเริ่มเคลื่อนไหวทำงานใต้ดินนั้น เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคือไหลเต๋อ ผู้มีประวัติที่มาอันลึกลับและชวนให้เกิดความสับสนจนถึงปัจจุบันจากหลายมุมมองทางประวัติศาสตร์ สำหรับผมแล้ว ไม่มีคำจำกัดความใดจะเหมาะเจาะสำหรับไหลเต๋อมากไปกว่า “There’s a mole, right at the top of the Circus. And he’s been there for years.” จากนวนิยายจารชนเรื่อง Tinker Tailor Soldier Spy ของ John le Carre และบทบาทของไหลเต๋อกับจีนเป็งในพรรคคอมมิวนิสต์นั้นไม่ต่างจากการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่าง  George Smiley และ Bill Haydon หรือแม้แต่ระหว่าง George Smiley และ Karla ในเรื่องเลย จุดนี้คือประโยชน์สำคัญอีกประการในบันทึกความทรงจำของจีนเป็งที่เปิดเผยให้เห็นเครือข่ายโยงใยอันซับซ้อนของงานสายลับ หรืออาจกล่าวได้ว่าเราสามารถอ่านบันทึกความทรงจำฉบับนี้ได้ในรูปแบบของนวนิยายจารชน (ซึ่งผมอยากชวนให้ทุกท่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้ลิ้มลองการอ่านในรสนั้น)

ไหลเต๋อสร้างความสับสนให้ผู้คนเชื่อถือว่าเขาเป็นคนจีนหรือมีเชื้อสายของคนจีนโพ้นทะเล แต่แท้จริงแล้วเขาคือคนเวียดนาม การสืบสวนภายหลังเปิดเผยให้รู้ว่าเขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ในไซ่ง่อน เขาถูกฝรั่งเศสจับตัวได้ และเชื่อกันว่าหน่วยข่าวกรองของฝรั่งเศสกับอังกฤษส่งตัวให้มาปฏิบัติงานที่สิงคโปร์ โดยเริ่มต้นจากการเป็นกรรมกรท่าเรือก่อนจะเข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์มลายา ผลจากการกวาดล้างสมาชิกของขบวนการอย่างหนักเปิดโอกาสให้ไหลเต๋อได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของพรรคในปี 1938 สิ่งหนึ่งที่ไหลเต๋อใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูดและบงการผู้คนในขบวนการคือการเอ่ยอ้างว่าเขาเป็นหรือมีความเกี่ยวเนื่องกับการเป็นสมาชิกของโคมินเทิร์น

ต่อมาในปี 1941 กองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดบริติชมลายา ฝ่ายอังกฤษซึ่งเคยปฏิเสธความช่วยเหลือของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาผ่านการติดต่อของไหลเต๋อได้กลับมาขอจับมือเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยจัดให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษเอสโออีรับอาสาสมัครคอมมิวนิสต์เข้าฝึกการสู้รบแบบกองโจร ในการจับมือกันครั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์จากอังกฤษเพื่อใช้ในงานจรยุทธ์ ซึ่งถือได้ว่านี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับความเข้มแข็งในด้านพลังการสู้รบของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา

ความเข้มแข็งของกองทัพญี่ปุ่นทำให้แนวรบฝ่ายอังกฤษถอยร่น อาวุธในการสู้รบถูกทิ้งอย่างไม่ใยดี แต่จีนเป็งในขณะนั้นได้ให้อาสาสมัครท้องถิ่นเก็บรวบรวมเอาไว้ เขาเอ่ยถึงอาวุธเหล่านั้นว่า “เมื่อใดก็ตามที่ต้องการอาวุธ ก็จะมีอาวุธจำนวนมากพร้อมสำหรับเราเสมอ”

ในช่วงที่จับมือต่อสู้กับญี่ปุ่น จีนเป็งรับหน้าที่ในการประสานงานใต้ดินเพื่อตีตลบแนวหลังของญี่ปุ่น การรบเป็นไปอย่างดุเดือด ฝ่ายคอมมิวนิสต์มลายาเพลี่ยงพล้ำอย่างแทบไม่น่าเชื่อหลายต่อหลายครั้งทั้งที่วางแผนไว้อย่างดี สมาชิกระดับแกนนำหลายคนของพรรคถูกสังหาร แม้จะเกิดความสงสัยและสืบหาเรื่องสายลับญี่ปุ่นในพรรค แต่ไม่มีเบาะแสใดนำไปสู่ความสำเร็จ เพราะผู้ที่เป็นสายลับให้แก่ญี่ปุ่นในขณะนั้นคือผู้กำหนดนโยบายสูงสุดของพรรคเอง

เงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ไหลเต๋อวางไว้ในการร่วมมือกับอังกฤษคือการเล่นบทสองหน้าของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา โฉมหน้าเปิดเผยคือการสร้าง ‘กองทัพเปิด’ เพื่อร่วมงานกับกองกำลังอังกฤษ ส่วนใบหน้าซ่อนเร้นคือ ‘กองทัพปิดลับ’ เพื่อต่อสู้กับอังกฤษเมื่อเวลามาถึง เวลาที่ว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงจากกองทัพต่อต้านญี่ปุ่นมาเป็นกองทัพปลดแอกแห่งชาติที่มีเป้าหมายอยู่ที่เจ้าอาณานิคม

เหตุผลหลักประการหนึ่งในการเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของดินแดนมลายาคือความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพาราหลักของตลาดโลก ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกแหล่งใหญ่ ทรัพยากรทั้งสองคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อังกฤษต้องรักษาความเป็นบริติชมลายาไว้ให้ได้ เพราะนั่นหมายถึงแหล่งที่มาของรายได้มหาศาลที่แทบจะไม่มีวันหมดสิ้น

ขณะที่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและอักษะกำลังเข้าสู่จุดจบ ไหลเต๋อได้ออกนโยบายที่ทำให้ทุกคนในระดับแกนนำของพรรคประหลาดใจ โดยกลับลำจากการต่อสู้ด้วยกองกำลังปลดแอกมาเป็นการต่อสู้ด้วยนโยบายทางการเมือง ในแง่หนึ่ง นั่นคือการยอมกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าอาณานิคมอย่างกลายๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว จีนเป็งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกลางของพรรค

พลังของระเบิดปรมาณูสองลูกทำให้อังกฤษกลับเข้ามามีอำนาจเหนือบริติชมลายาอีกครั้ง นั่นคือจุดเริ่มต้นของความคลางแคลงใจต่อนโยบายที่จะมีต่อพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และปัญหาสืบเนื่องที่นำไปสู่การต่อต้านเจ้าอาณานิคมของประชาชน การกำหนดมาตรการควบคุมฝูงชนอย่างป่าเถื่อนของอังกฤษได้นำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งมลายาในเดือนมิถุนายน 1948 โดยเหตุผลสำคัญที่ยกมากล่าวอ้างคือการที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาสังหารผู้จัดการสวนยางพาราชาวยุโรปสามคนที่รัฐเปรัก ทางการอังกฤษโต้ตอบด้วยการตั้งใจกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่กำลังขยายตัวใหญ่ขึ้นจากการสนับสนุนของฝูงชน การปราบปรามครั้งนี้นำไปสู่สงครามการเมืองที่ทำให้ภาวะฉุกเฉินแห่งมลายามีระยะเวลายาวนานถึงสิบสองปี

ก่อนหน้าการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งมลายา มีสองเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นกับจีนเป็ง เหตุการณ์แรกคือรัฐบาลอังกฤษได้มอบเหรียญกล้าหาญสองเหรียญให้กับจีนเป็งเพื่อยกย่องการให้ความร่วมมือกับกองทัพอังกฤษสำหรับการต่อสู้กับญี่ปุ่น เหตุการณ์ที่สองคือการที่เขาได้เปิดโปงใบหน้าที่แท้จริงของไหลเต๋อผู้เล่นบทบาทสายลับสามหน้ามาตลอด แต่ไหลเต๋อก็ไหวตัวทันและเชิดเงินจำนวนมากของพรรคหนีมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะถูกไล่ล่าและสังหารจากความร่วมมือของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและพรรคคอมมิวนิสต์สยาม จากเหตุการณ์นี้ จีนเป็งได้ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ของพรรคในปี 1947 ขณะนั้นเขาอายุ 23 ปี (สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวโดยละเอียดของไหลเต๋อ สายลับสามหน้า ขณะนี้ผมกำลังค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเขียนถึงประวัติของเขาแยกเป็นอีกบทความโดยเฉพาะ ขอให้ทุกท่านที่สนใจโปรดรอแต่อย่าคอย)

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้าว่านิพนธ์เหมาเจ๋อตุงเรื่อง “ว่าด้วยสงครามยืดเยื้อ” มีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดของจีนเป็ง สงครามจรยุทธ์จึงเป็นกลยุทธ์การต่อสู้อันดุเดือดต่อเจ้าอาณานิคมเมื่อความขัดแย้งสุกงอมเต็มที่

การทำสงครามอย่างตาต่อตาฟันต่อฟันระหว่างเจ้าอาณานิคมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาอันมีแนวคิดเรื่องชาตินิยมเป็นสมรภูมิแห่งอุดมการณ์ดำเนินไปอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความผิดพลาดของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเริ่มต้นจากการไม่ใช้จุดประสงค์ว่า “เอกราชของมลายาและชาวมลายาทุกคนที่ต้องการเอกราช” อย่างเต็มที่ จึงเปรียบเหมือนการลดพลังการเคลื่อนไหวของตัวเอง ฝ่ายอังกฤษก็ใช้คำว่า “โจรจีน” ซ้ำเข้าไปเพื่อสร้างการแบ่งแยก ปราบปราม และปกครอง

การยุทธ์ของอังกฤษรุกคืบหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญด้วยแผนตัดกำลังข่าวสารและการลำเลียงเสบียงอาหารจากเมืองสู่เขตป่าเขา โฆษณาชวนเชื่อให้ภาพของคอมมิวนิสต์เป็นปีศาจร้าย พร้อมทั้งให้โอกาสกลับใจผ่านนิรโทษกรรมทำงานควบคู่กันไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็ใช้ความสยองขวัญในการปราบเข้าข่มขู่ ไม่ว่าจะเป็นการล้อมฆ่า การใช้ภาพทหารอังกฤษยืนถือหัวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ จีนเป็งถูกประกาศค่าหัวสูงถึง 250,000 เหรียญ ในกรณีจับเป็นได้

ช่วงท้ายของการต่อสู้กับอังกฤษ การบีบพื้นที่ทำให้การรบแบบกองโจรของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาไม่สามารถรักษาที่มั่นในมลายาได้ จนท้ายที่สุดต้องถอยร่นเคลื่อนย้ายศูนย์กลางพรรคมาอยู่ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ด้วยเหตุผลทั้งเชิงยุทธศาสตร์การรบที่ผิดพลาดจากการละทิ้งเขตเมือง เปิดโอกาสให้ขบวนการชาตินิยมมาเลเซียที่เน้นเกมรุกเชิงการเมืองเข้าใส่ระบอบอาณานิคมซึ่งถึงจุดเสื่อมสลายลงพร้อมๆ กันทั่วโลก พรรคพันธมิตรอัมโนขณะนั้นอยู่ในกระแสสูง ทำให้การต่อรองเพื่อเอกราชของสหพันธรัฐมลายาเริ่มมีพลังมากขึ้น จีนเป็งเข้าร่วมการเจรจาเพื่อสันติภาพแต่ประสบความล้มเหลว หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือเงื่อนไขในการเข้ามอบตัวและยอมรับการถูกควบคุมตัวชั่วคราวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาถือเป็นการไม่ให้เกียรติต่อศักดิ์ศรีในการต่อสู้ และถือว่าเป็นการมอบความอัปยศให้เป็นตราบาปติดตัว

สหพันธรัฐมลายาได้เอกราชโดยสมบูรณ์ในปี 1957 พรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่อยู่ในสถานะนอกกฎหมายถูกรุกไล่จนเข้าตาอับถึงขั้นต้องยอมแพ้วางอาวุธ ในช่วงนั้น เครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและจีนได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการสู้รบอีกครั้ง หนึ่งในยุทธวิธีสำคัญที่มาพร้อมกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ คือการประชาสัมพันธ์เรื่องแนวคิดและอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์มลายาผ่านการตั้งวิทยุกระจายเสียงจากประเทศจีนในช่วงปี 1969

ถึงแม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีน ความเป็นปึกแผ่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาก็ไม่เหมือนเดิมด้วยผลจากการดำเนินนโยบายอันผิดพลาดจนพรรคแตกออกเป็นสามฝ่าย รอยร้าวที่เกิดขึ้นไม่สามารถประสานกลับเข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวได้ นั่นหมายถึงจุดอ่อนที่เปิดให้กับการโจมตีเรื่องความชอบธรรมในการต่อสู้ทั้งจากภายในและภายนอก

การจากไปของเหมาเจ๋อตุงและการขึ้นสู่อำนาจของเติ้งเสี่ยวผิงทำให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจากจีนลดน้อยถอยลง เริ่มตั้งแต่การขอให้ปิดวิทยุกระจายเสียงเพื่อการปฏิวัติ เพื่อเป็นการสานมิตรไมตรีกับรัฐบาลมาเลเซีย พลพรรคที่แตกแยกกันในพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเริ่มยอมจำนนต่อนโยบายสันติภาพที่ไทยมีส่วนในการเจรจาจนกระทั่งข้อตกลงในการสร้างสันติภาพร่วมกันลุล่วงในปลายปี 1989

ท้ายที่สุด รัฐบาลมาเลเซียก็ละเมิดข้อตกลงเรื่องการคืนศักดิ์ศรีให้แก่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาอย่างตรงไปตรงมา โดยการเพิ่มข้อแม้ว่าต้องยอมลงนามสำนึกผิดเพื่อกลับตัวกลับใจ จีนเป็งและตัวแทนพรรคส่วนใหญ่ไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ พวกเขาจึงไม่สามารถเดินทางกลับไปเป็นประชาชนของประเทศมาเลเซียได้อย่างสมบูรณ์และถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ สมาชิกพรรคเหล่านี้ต้องพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยตามความช่วยเหลือเพื่อขจัดปัญหาของรัฐบาลไทย โดยทางการไทยอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดยะลาและนราธิวาส จีนเป็งกลายเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาของรัฐบาลมาเลเซีย จนกระทั่งเสียชีวิตในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2013

สิ่งที่บันทึกความทรงจำหรืออัตชีวประวัติมอบให้เราอย่างชัดเจนเสมอคือการเปิดเผยโลกทัศน์ของผู้เขียนต่อโลกในสายตาผู้อ่าน เสน่ห์ของงานเขียนประเภทนี้คือการเปิดเผยอย่างปกปิด และปกปิดอย่างเปิดเผย

ศิลปะแห่งการเปิดเผยและปกปิดของจีนเป็งในหนังสือเล่มนี้วางอยู่บนประสบการณ์ส่วนตัวตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการก่อเกิดอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในตัวตน ไปจนถึงการต่อสู้เพื่อยืนยันถึงศักดิ์ศรีและความคิดทั้งในด้านนโยบายและการสู้รบด้วยอาวุธในเขตป่าเขา สิ่งที่เพิ่มความน่าเชื่อถือให้เรื่องเล่าของจีนเป็งคือการที่เขาได้เข้าถึงเอกสารลับทั้งด้านการเมืองและการทหารของอังกฤษที่เกี่ยวกับช่วงภาวะฉุกเฉินแห่งมลายา เพราะภาพชีวิตส่วนหนึ่งของเขาที่โลกมองเห็นนั้นเป็นผลมาจากการวาดขึ้นด้วยโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตรงข้าม การได้เห็นแผนการตอบโต้ของฝ่ายตรงข้ามทำให้ภูมิทัศน์ด้านความคิดของเขาที่มีต่อตัวเองและเหตุการณ์มีมิติที่หลากหลายและชัดเจนยิ่งขึ้น

ในกรณีนี้ สิ่งที่ถูกปกปิดและเปิดเผยไปพร้อมๆ กันคือ การยุทธ์ที่ไม่เคยหน่ายกลอุบายไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายไหน และความในใจอันหนักอึ้งของผู้แพ้ที่เลือกจะยืนหยัดอยู่บนความทุกข์ยากอย่างมีกระดูกสันหลังมากกว่าเลื้อยคลานอย่างสุขสบายอยู่บนความอัปยศ

สิ่งที่บันทึกความทรงจำหรืออาจจะเรียกว่าอัตชีวประวัติของจีนเป็งมอบให้แก่เรานั้นมีหลายด้าน ตั้งแต่ประวัติของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ภาพของสงครามมหาเอเชียบูรพา ผลประโยชน์ที่ระบอบอาณานิคมแสวงหา เงื่อนไขในการตัดสินใจต่อการวางนโยบายและการสู้รบแบบจรยุทธ์ การทำงานของเครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียต ตลอดจนบทบาทของไทยในการยุติข้อขัดแย้งในเขตชายแดนภาคใต้ ซึ่งสามารถนำมาใช้พิจารณาเป็นบทเรียนได้หลากหลายมุมมองในประวัติศาสตร์การต่อสู้

ในตำแหน่งที่แสงและเงากระทบกันอย่างเหมาะเจาะพอดี สิ่งที่สะท้อนเข้าสู่สายตาผู้อ่านคือการเคลื่อนไหวอย่างมีพลวัตของอุดมการณ์สามแบบ (จักรวรรดินิยม คอมมิวนิสต์ เสรีนิยมประชาธิปไตย) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างคิดว่าลงตัว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแสงและเงาจะเหมาะเจาะเพียงใด ภาพก็ยังมีความบกพร่องจากระยะสายตาและความเชื่อของผู้มองเสมอ


หมายเหตุ

  1. ก่อนเสียชีวิต จีนเป็งเคยพยายามดำเนินเรื่องขอกลับเข้ามาเลเซียหลายครั้งเพื่อไปสักการะหลุมฝังศพของพ่อแม่ที่เมืองสิเตียวัน อันเป็นการแสดงความกตัญญูตามธรรมเนียมประเพณีของชาวจีน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น สถานะการเป็นผู้ถูกเนรเทศของจีนเป็งยังมีผลถึงอัฐิของเขาที่รัฐบาลมาเลเซียไม่ยินยอมให้นำกลับเข้าประเทศหลังงานฌาปนกิจศพในปี 2013 อีกด้วย ในที่สุด อัฐิของเขาก็ได้กลับบ้านเกิดอย่างเงียบๆ ในเดือนกันยายน 2019 และต้องใช้เวลาถึงสองเดือนหลังจากพิธีกรรมโปรยอัฐิสิ้นสุดลงจึงมีการประกาศอย่างเป็นทางการ โดยเหตุผลสำคัญคือรัฐบาลมาเลเซียไม่ต้องการให้เรื่องนี้ถูกนำมาใช้เป็นประเด็นหรือเครื่องมือทางการเมือง
  2. ในปี 1998 ทาง BBC ได้จัดทำสารคดีที่เกี่ยวข้องกับภาวะฉุกเฉินแห่งมลายาชื่อ Malaya  the Undeclared War (Malayan Emergency) ในสารคดีมีบทสัมภาษณ์จีนเป็ง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา รวมไปถึงความคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์จากฝั่งอังกฤษ
  3. ในงานศพจีนเป็งที่วัดธาตุทองมีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความความอัปยศและศรัทธาของสหายร่วมรบของจีนเป็งจากพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ผู้ที่สนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ Chin Peng’s comrade feeling a mix of betrayal and loyalty
  4. สำหรับผู้ที่สนใจภาพบรรยากาศการลาจากในงานศพของจีนเป็ง สามารถดูเพิ่มเติมได้จาก CPM comrades Thai Princess and retired generals pay last respects to Chin Peng  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save