fbpx

‘เติมความฝันเด็กและครอบครัวภายใต้รัฐบาลใหม่’ สานจินตนาการและอนาคตของเยาวชนไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 ผ่านพ้น ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนผ่าน ประเด็นว่าด้วยเด็กและเยาวชนคือหนึ่งในประเด็นหลักๆ ที่พรรคการเมืองพากันชูนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่สิทธิเสรีภาพทางการแสดงออก หรือในแง่การใช้อำนาจนิยมในรั้วการศึกษา 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้น เยาวชนเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่หลายประการ ไม่ว่าจะระบบสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำตามความฝันหรือมีจินตนาการถึงอนาคตอันกว้างใหญ่, ปัญหาความเครียดแต่ไม่อาจเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต ตลอดจนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งในครอบครัวและในโรงเรียน 

สังคมไทยจะหาทางออกให้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ หลังการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลใหม่จะเติมเต็มความฝันและขยายขอบเขตของจินตนาการเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติได้อย่างไร 

คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ 101 PUB ชวนร่วมหาคำตอบผ่านงานเสวนา ‘ตั้งทิศก้าวผ่านสองทางแพร่ง: เสวนาทางเลือกนโยบายเติมความฝันเด็กและครอบครัวภายใต้รัฐบาลใหม่’ โดย กชกร บัวล้ำล้ำ Video Creator, The Isaan Record และเจ้าของเพจ แก้วใส: Daily Life Story, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า, ดร.ธีราภา ไพโรหกุล ผู้แทนพรรคเพื่อไทย และ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เสียงจากผลผลิตของการศึกษาไทยที่ฝันใหญ่เกินตัว

กชกรออกตัวว่า เธอเป็นหนึ่งในคนที่เพิ่งเรียนจบจากคณะครุศาสตร์และจบออกมาทำงานไม่ตรงสายด้วยการเป็นวิดีโอครีเอเตอร์ และการเกิดในครอบครัวข้าราชการชนชั้นกลางในจังหวัดสกลนคร เรียนในโรงเรียนรัฐ ทำให้ชีวิตที่ผ่านมาของเธอได้เห็นปัญหาของระบบการศึกษา รวมทั้งเผชิญกับปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง 

“เราเป็นหนึ่งในผลผลิตจากการศึกษาในแถบต่างจังหวัด เป็นคนมีฝันเกินตัว เราเห็นเพื่อนๆ หลุดจากระบบการศึกษาไปเรื่อยๆ จนในที่สุด มีเพื่อนๆ จากชั้นมัธยมที่ได้เรียนในระดับปริญญาตรีไม่ถึง 15 คน นั่นเป็นเพราะว่าการเรียนจำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อนๆ กลุ่มที่เหลือจึงหลุดไปเป็นแรงงานกัน” เธอเล่า

“แม้คนจะบอกว่า ปัจจุบันเรามีสวัสดิการเรียนฟรี แต่เราคิดว่ามันไม่ได้ฟรีจริงๆ เพราะเปิดเทอมทีหนึ่ง พ่อแม่ของหลายๆ ครอบครัวก็ต้องไปกู้ ไปเป็นหนี้เพื่อหาเงินมาซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ดังนั้น จึงมองว่านโยบายเกี่ยวกับการศึกษาหลายอย่างนั้นต้องได้รับการปรับปรุงเยอะมาก และควรให้เยาวชนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงจริงๆ เสียที” กชกรบอก และพูดต่อว่า แม้ตัวเธอเองจะโชคดีที่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางชนบท กระนั้น ก็พบว่าปัญหาหนึ่งของการเติบโตในต่างจังหวัดคือเธอไม่มีพื้นที่การเรียนรู้เหมือนเด็กในเมือง แม้จังหวัดสกลนครจะมีห้องสมุดประชาชน แต่ก็อยู่ไกลจากหมู่บ้านที่เธออยู่มาก ทั้งยังแทบไม่มีหนังสือใหม่ๆ มาให้อ่าน ดังนั้น การเกิดและโตที่ต่างจังหวัดในพื้นที่นอกตัวเมืองจึงมีข้อจำกัดในแง่การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้อย่างมาก

กชกร บัวล้ำล้ำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กชกรคิดว่าควรต้องเพิ่มเติมในระบบการศึกษาไทยคือ หลักสูตรที่ว่าด้วยการวิพากษ์เนื้อหาบทเรียนและอำนาจนิยม การที่เธอเรียนคณะครุศาสตร์ทำให้เธอเคยได้มีโอกาสไปฝึกสอนวิชาภาษาไทยในโรงเรียน โดยหนึ่งในหลักสูตรคือต้องสอนวิชาวรรณคดีด้วย “เรารู้สึกว่าขณะที่สอนเด็ก เรายังไม่เชื่อบทเรียนของกระทรวงเลย จะไปสอนให้เด็กเชื่อได้อย่างไร เคยสงสัยว่าทำไมถึงไม่เพิ่มเนื้อหาด้านวรรณกรรมโลกไปในหลักสูตรด้วย ทำไมเด็กไทยจึงไม่มีสิทธิอ่านงานของ เออร์เนส เฮมมิงเวย์ (นักเขียนชาวอเมริกัน) บ้าง” เธอชวนตั้งคำถาม

นอกจากนี้ กชกรยังชี้ให้เห็นประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ช่วงที่เธอไปฝึกสอนนั้นเป็นช่วงราวปี 2563 ซึ่งถือเป็นช่วงที่เยาวชนตื่นตัวเรื่องการเมืองอย่างมาก ทำให้เธอได้เป็นประจักษ์พยานปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในโรงเรียน “เราเห็นการท้าทายขั้วอำนาจในโรงเรียนหลายอย่าง ครูที่เชื่อเรื่องอำนาจนิยมมากๆ ก็จับตาดูการเคลื่อนไหวของนักเรียน หรือจับตาดูคุณครูที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเด็ก ขณะเดียวกัน เราก็พบว่าทัศนคติของเด็กหลายคนก็ไปไกลกว่าครูมากแล้ว ส่วนตัวจึงคิดว่าควรมีหลักสูตรที่อบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนของครูด้วย” เธอปิดท้าย

ต้องสร้าสังคมที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและเข้าใจตรงกัน

ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า -ซึ่งพรรคก้าวไกลเพิ่งจะชนะการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา- และจากการรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2023 โดยคิด for คิดส์ กุลธิดาพบว่า มีเรื่องเร่งด่วนที่ทางพรรคอาจไม่ได้พูดถึงในช่วงหาเสียง เช่น กลุ่มเด็กเปราะบาง และภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ แม้ว่าสมัยประชุมสภาฯ มีการทักท้วงรัฐบาลว่าไม่มีงบในการดูแลสถานการณ์หลังโควิด-19 แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม 

“อีกส่วนที่เห็นจากรายงานคือ สถานการณ์ความรุนแรงและปัญหาเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของเยาวชน ทางพรรคมองว่าเราอาจไม่ได้ต้องใช้จิตแพทย์ในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่ต้องใช้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาที่ปรึกษา เช่น ถ้าให้มีนักจิตวิทยาคลินิกวนเข้าไปอยู่ในโรงเรียนสัปดาห์ละหนึ่งวัน เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงบริการ หรือให้เยาวชนเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตโดยไม่ต้องขอผู้ปกครอง ก็น่าจะเป็นตัวช่วยเชิงระบบประมาณหนึ่ง” กุลธิดากล่าว และพูดต่อว่า พร้อมกันนี้ก็ต้องดำเนินนโยบายในภาคใหญ่กว่าด้วย เช่น การมีส่วนร่วมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งสามารถเจอปัญหาเกี่ยวกับเยาวชนในท้องที่ได้เร็วกว่าส่วนกลาง แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้เพราะไม่มีงบประมาณและบุคลากร ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ทางพรรคต้องเดินหน้าแก้ไขต่อไป

“นอกจากนี้ ก้าวไกลก็มีนโยบายเรื่องเด็ก มีนโยบายของขวัญแรกเกิด 3,000 บาทที่พบว่าช่วยแบ่งเบาภาระช่วงแรกๆ ของคุณแม่ ทำให้ผู้ปกครองมีเงินไปใช้ซื้อของที่จำเป็นได้ นอกจากนี้ยังมีนโยบายขยายสิทธิลาคลอด มีการดูแลเด็กภายใต้ระบบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่รองรับกับนโยบายลาคลอด เพื่อให้คุณแม่ได้ออกไปทำงาน มีรายได้ และสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งซึ่งจะลดปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาในอนาคต” เธอสาธยาย

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

สำหรับเป้าหมายในหนึ่งร้อยวันแรกของพรรคก้าวไกล กุลธิดาระบุว่าพรรคหวังแก้ไขปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน ทั้งนี้ มองว่าการจะแก้ปัญหานี้ได้นั้น จำเป็นต้องให้ทุกบริบทในสังคมมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงห้องเรียน “เรามองเรื่องการมีส่วนร่วมที่ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน มองเห็นอนาคตของการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่การมีส่วนร่วมในเชิงพิธีกรรมอย่างที่มีมาโดยตลอด ทั้งโรงเรียนและครอบครัวจึงเป็นหน่วยที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“นอกจากนี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องให้มีการรับผิดรับชอบด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก ก็จะมีกระบวนการทำให้เรื่องยุติลงไปเงียบๆ จนทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกซุกไว้ใต้พรมในที่สุด” กุลธิดาบอก และย้ำว่าในระยะเวลาหนึ่งร้อยวันแรกของการดำรงตำแหน่งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล หนึ่งในเป้าหมายที่จะทำให้ได้คือการทำให้เยาวชนทุกคนได้รับความเป็นธรรมในคดีทางการเมือง รวมทั้งยื่นนิรโทษกรรมให้คนที่ต้องคดีทางการเมืองด้วย

อย่าให้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจกลายเป็นข้อผูกมัดเยาวชน

ด้านธีราภาระบุว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลนั้นไปด้วยกันได้ เนื่องจากทางพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า นักเรียนและเยาวชนมีสิทธิในการเข้าถึงความรู้ การศึกษาและโอกาสที่เท่าเทียมกัน เพื่อจะได้โตไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต 

“แต่อุปสรรคสำคัญคือ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจกลายเป็นข้อผูกมัดให้เยาวชนไปต่อไม่ได้ หลายคนต้องเข้าตลาดแรงงานโดยไม่มีทักษะ พรรคเพื่อไทยจึงมักเสนอเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นหลักเพื่อปลดล็อกประเด็นนี้” ธีราภาว่า

“ประเด็นต่อมาคือเรื่องเสรีภาพของเด็กและเยาวชนในการแสดงออก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการศึกษาไทยไม่สอนให้เด็กคิดและตั้งคำถาม แต่สอนให้เด็กท่องจำเป็นหุ่นยนต์ เป็นไปตามตัวระบบที่ถูกวางไว้หรือเป็นไปตามความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครอง” ธีราภากล่าว และพูดต่อว่าหากนโยบายของพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นได้จริงก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนอย่างแน่นอน เพียงแต่อยากเสริมประเด็นว่าด้วยยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาหนักมากๆ ตนเคยลงพื้นที่หลายแห่งและพบว่า เด็กนักเรียนในโรงเรียนหลายแห่งซื้อขายยาเสพติดกันตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองมีนโยบายจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อันเป็นหนึ่งในการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาว่าด้วยเยาวชนอีกหลายประการ

ดร.ธีราภา ไพโรหกุล

สำหรับเรื่องหลักสูตรการศึกษาและเรื่องอำนาจนิยม ส่วนตัวธีราภาเคยสอนวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมาก่อน เป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะอนุญาตให้เด็กคิด ตั้งคำถามบนสิ่งที่อาจารย์สอน “ผู้สอนต้องเปิดให้เด็กได้คิดและวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสร้างสรรค์ และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จากการที่ครู อาจารย์หรือคนในครอบครัวค่อยๆ ปลูกฝังสิ่งนี้ในเด็ก เพื่อจะทำให้เกิดการพูดคุยกันในท้ายที่สุด” ธีราภากล่าว ก่อนจะปิดท้ายว่า ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ทางพรรคเองก็พยายามผลักดันประเด็นนี้โดยตลอด โดยเฉพาะการคืนความเป็นธรรมให้ผู้ที่ต้องคดีทางการเมือง 

ต้องให้เยาวชนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตนเองเสียก่อน

“ผมขอเป็นตัวแทนคนเจเนอเรชันเอ็กซ์และเจเนอเรชันอื่นๆ ที่แก่กว่าผม เพื่อขอโทษคนเจเนอเรชันที่อายุน้อยกว่า ในฐานะที่สร้างปัญหาและความเดือดร้อนมาเยอะมาก” อดิศรกล่าว และพูดต่อว่า ทั้งที่สร้างปัญหาเยอะ อัตตาสูง แต่คนรุ่นตนก็ไม่ค่อยออกมาขอโทษคนอื่นเท่าไหร่ จึงถือโอกาสนี้เป็นตัวแทนในการกล่าวขอโทษคนรุ่นอื่นๆ 

ทั้งนี้ จากรายงานของ 101 PUB ในประเด็นที่ว่า เยาวชนหลายคนไม่เพิ่มพูนทักษะให้ตัวเอง ผศ.ดร.อดิศรชวนตั้งคำถามเพื่อหาสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว “เป็นไปได้ไหมที่พวกเขาอาจไม่เห็นอนาคต ไม่เห็นความหวัง หรือไม่ได้รับโอกาส ส่วนตัวคิดว่ายังมีคำถามที่ต้องถามเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง” อดิศรกล่าว และย้ำว่า สังคมไทยติดกับกับวิธีคิดหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำในเยาวชนกับครอบครัว ที่ผ่านมา สังคมไทยมักมองการแก้ปัญหานี้ในแง่สังคมสงเคราะห์ มองว่าผู้ช่วยเหลือมีอำนาจมากกว่า เป็นการช่วยเหลือด้วยการลงไปเกื้อกูลเป็นหลัก

“แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิธี เปลี่ยนเป็นมองว่าเขาเป็นเยาวชนที่มีสิทธิเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมต่อคนอื่นๆ วิธีมองเช่นนี้ก็จะทำให้เราช่วยแก้ไขปัญหา ให้เยาวชนเหล่านี้มีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีอย่างเต็มรูปแบบ สามารถเลือกจะใช้ชีวิตของตัวได้” อดิศรกล่าว ก่อนขยายความว่า สังคมไทยติดกับมายาคติหลายประการ เช่น อาชีพครูต้องเสียสละ เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่กดดันวิชาชีพครูอย่างมาก “ทั้งนี้ นี่ก็เป็นวิธีคิดที่ทำให้ครูไม่สามารถเป็นมนุษย์หรือมีความเปราะบางได้ ซึ่งจะส่งผลให้ครูเอาความเป็นมนุษย์ไปทำงานกับความเป็นมนุษย์ของเด็กเองไม่ได้ในที่สุด เพราะต้องเป็นคนดีตลอดเวลา” 

ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข

ต่อคำถามที่ว่า คิดว่าข้อเสนอที่มีต่อเด็กและเยาวชนเพียงพอหรือไม่ อดิศรมองว่านโยบายที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนำเสนอเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก สังคมไทยต้องการเริ่มต้นและทำงานจริงๆ ไม่ใช่การให้นโยบายลอยๆ สิ่งสำคัญที่อยากเน้นคือ ยังมีประชาชนมีลักษณะอัตลักษณ์ทับซ้อนอยู่มาก ซึ่งก็ทำให้กลุ่มประชากรเหล่านี้แตกต่างกัน เช่น คนยากจนที่อยู่ในเขตเมืองกับคนยากจนในเขตชนบท ก็มีความแตกต่างกันในแง่อัตลักษณ์และความต้องการ หรือเยาวชนที่พิการและเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ต่างไปจากเยาวชนที่พิการและไม่ได้เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบาย “เราสามารถมีนโยบายที่กว้างและให้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ก็จำเป็นต้องมีนโยบายบางอย่างที่มุ่งเป้าไปสู่กลุ่มที่เปราะบางและทับซ้อน ไม่เช่นนั้น นโยบายบางอย่างก็อาจไม่ทำงานกับประชากรบางกลุ่มในที่สุด” อดิศรกล่าว และย้ำว่า ที่ผ่านมา สังคมไทยไม่ค่อยได้ฟังเสียงของเยาวชนด้วยความจริงใจ สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือการสร้างความจริงใจต่อกัน 

“สังคมไทยต้องค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างให้เยาวชนเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองเสียก่อน จากนั้น พวกเขาก็จะค่อยๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเมื่อความสัมพันธ์ที่ดีเกิดขึ้นแล้ว สังคมก็จะเดินหน้าต่อไปได้ในที่สุด” อดิศรปิดท้าย


ดาวน์โหลดเอกสารประกอบงานเสวนา : ที่นี่

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save