fbpx

ความหวังใหม่ในการเมืองท้องถิ่น? คุยกับว่าที่ อบต. หน้าใหม่ ผู้ล้มแชมป์เก่าและตระกูลใหญ่ในการเลือกตั้งสมัยล่าสุด

หลังผ่านช่วงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไปเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2564 ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ผู้สมัครหน้าใหม่เข้ามาโค่นตำแหน่งจากคนเก่าในหลายพื้นที่ โดยในสนามเลือกตั้ง 5,300 แห่ง มีผู้สมัครหน้าเก่าที่ยังคงลงเลือกตั้งในครั้งนี้ 2,811 คน คิดเป็น 53% ซึ่งปีนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจัดการเลือกตั้ง อบต. พร้อมกันครั้งใหญ่ที่สุด เพราะที่ผ่านมา อบต. แต่ละพื้นที่ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน จึงไม่ได้มีวาระในการเลือกตั้งในช่วงเวลาเดียวกัน 

นี่อาจเป็นเพราะสุญญากาศทางการเมืองกว่า 8 ปี นับแต่การยึดอำนาจของ คสช. ที่ทำให้คนในท้องถิ่น ‘ลงคะแนนเสียง’ เพื่อความเปลี่ยนแปลงในการเมืองที่ตัวเองใกล้ชิดมากที่สุด ความหลากหลายของว่าที่นายก อบต. และสมาชิก อบต. จึงปรากฏขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่หากดูในรายละเอียด  ‘ผู้สมัครหน้าใหม่’ เกือบทั้งหมดไม่ใช่คนที่เพิ่งลงสนาม อบต. ครั้งแรก บางคนเป็นอดีตนายก อบต. ที่เคยดำรงตำแหน่งเมื่อหลายปีก่อน แต่ไม่ใช่สมัยล่าสุด บางคนเคยทำงานการเมืองใน อบต. หรือสนามอื่นๆ โดยภาพรวมทั้งหมดจึงเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของคนในพื้นที่ไม่น้อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงคะแนนเสียงในสนาม อบต. 

ถึงอย่างนั้น ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นเกณฑ์สำคัญในการเลือกของคนในท้องถิ่น ทั้งระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน กลยุทธ์หาเสียง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งทำให้ผู้ลงสมัครบางคนที่อาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนักสามารถเรียกคะแนนจากคนในท้องถิ่นได้

ความเคลื่อนไหวของว่าที่นายก อบต. และว่าที่สมาชิก อบต. ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาสะท้อนให้เราเห็นความคิด พลวัตของชุมชน และสะท้อนการเมืองภาพใหญ่อย่างไร 101 พูดคุยกับพิชญา โพชราษฎร ว่าที่นายก อบต.ท่าค้อ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และสกล สิทธิกัน ว่าที่สมาชิก อบต.พระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผู้สมัครหน้าใหม่ที่โกยคะแนนเสียงจากคนในชุมชนเพื่อให้ทำงานการเมืองในพื้นที่

การเมืองท้องถิ่น

จากอดีตสารวัตรกำนัน-อดีตผู้ช่วยนักวิจัยการเมือง
สู่ผู้สมัครหน้าใหม่ในสนาม อบต.

การเมืองท้องถิ่น

พิชญา โพชราษฎร กลายเป็นว่าที่นายก อบต. ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนชั่วข้ามคืน เพราะเธอเป็นทรานส์เจนเดอร์คนแรกที่ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ตำบลท่าค้อ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม มากไปกว่านั้น คะแนนเสียงที่เธอกวาดมาได้อย่างท่วมท้นถึง 2,945 คะแนน ยังล้มเดือนเพ็ญ กุลศรีเมฆ แชมป์เก่า ด้วยคะแนนที่มากกว่าถึง 1,300 คะแนน

ย้อนกลับไปก่อนที่พิชญาจะกลายเป็นผู้สมัคร อบต. เธอเริ่มต้นเข้ามาทำงานชุมชนในพื้นที่ตำบลท่าค้อตั้งแต่ปี 2547 ในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภารกิจหลักคือดูแลสุขภาพพื้นฐานของคนในชุมชน ทำให้เธอได้พบปะกับชาวบ้านบ่อยครั้ง จนกระทั่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธาน อสม. ก่อนพิชญาจะได้รับเลือกให้เป็นสารวัตรกำนันในปี 2561 คอยลงพื้นที่อำนวยความสะดวกประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่น ไฟไหม้ ทะเลาะวิวาท ไฟดับ อุบัติเหตุ ฯลฯ จึงถือได้ว่ามีประสบการณ์และความใกล้ชิดกับชาวบ้านอย่างมาก

“เหตุผลที่ลงสมัครนายก อบต. เพราะมีคนเก่าเขาลงอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ลง เขาจะไม่มีคู่แข่ง ไม่มีจุดเปลี่ยน หลายๆ คนมาวิเคราะห์แล้วก็สนับสนุนเรา เพราะตั้งแต่สมัยเป็น อสม. เราก็เป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน ช่วยประสานเรื่องขาดเหลือต่างๆ เช่น ช่วยประสานหน่วยงานหรือโครงการที่เข้าไม่ถึงกลุ่มผู้ป้วยติดเตียง ผู้ด้อยโอกาส ผู้เปราะบาง ผู้ยากไร้” 

การหาเสียงของพิชญาจึงเน้นการลงพื้นที่เข้าถึงชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ เธอใช้สโลแกนว่า ‘เข้าถึง พึ่งได้ ใกล้ชิดประชาชน’ เพื่ออธิบายจุดเด่นของตัวเอง และก่อนหน้านี้ในฐานะสารวัตรกำนัน เธอใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวรายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ นำเสนอภาพการร่วมงานพิธีสำคัญกับชาวบ้าน เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานศพ ฯลฯ  ทำให้คนในพื้นที่ที่ใช้งานสังคมออนไลน์อยู่แล้วเห็นผลงานและการมีส่วนร่วมในชุมชนของพิชญาอย่างกว้างขวางมากขึ้น 

“ช่วงนับคะแนนอยู่ พอเห็นคะแนนตัวเองเริ่มห่างจากคนอื่นมากขึ้น รู้สึกดีใจ เหมือนเราได้ทุบกำแพงของชีวิต ของคำดูถูกต่างๆ ที่รุนแรงในตอนหาเสียง ไม่ว่าจะพูดว่าเราเป็นเพศที่สาม เราจะบริหารได้ไหม เราจะพาตำบลเดินหน้าได้ไหม พอผลเลือกตั้งชนะเหมือนเป็นพลังบวกให้เราลุกขึ้นมาสู้ ฉันต้องมีบทบาทใหม่แล้วนะ นอกจากบทบาท อสม. นอกจากบทบาทของสารวัตรกำนัน”

การเมืองท้องถิ่น

ในขณะที่สกล สิทธิกันเลือกลงสมัครสมาชิก อบต.พระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ด้วยเป้าหมายที่อยากทำงานการเมืองตั้งแต่เด็ก เขาจบการศึกษาจากสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผ่านการทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่สถาบันพระปกเกล้า เคยเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาและร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ก่อนจะลาออกและกลับบ้านมาทำงานที่กรมทางหลวง หลังจากนั้นเขาลงสมัครสมาชิก อบต.พระธาตุผาแดง โดยได้รับคะแนนเสียงทั้งหมด 454 คะแนน เอาชนะศุภพิพัฒน์ ตาละสา ผู้ลงสมัครซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ในพื้นที่ไป 144 คะแนน 

“พอจังหวะเปิดเลือกตั้ง เราเลยคิดว่าต้องลอง ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ แล้ว อบต. เป็นสนามที่เราคิดว่าศักยภาพเราพอไหว เราประเมินตลอดว่าจะต้องเปิดหน้าไพ่ให้คนท้องถิ่นรู้จักเรา ถ้าไม่ได้รอบนี้ รอบหน้าเราก็น่าจะมีแต้มต่อ เมื่อวันที่เปิดรับสมัครผมตัดสินใจเดินเข้าไปสมัครคนเดียวเลย” 

ข้อเสียเปรียบของสกลคือการเป็นคนในท้องถิ่นที่เข้าไปเรียนในพื้นที่ต่างบ้านเกิดและทำงานในกรุงเทพฯ มาก่อน ทำให้คนในพื้นที่ไม่คุ้นชินกับเขามากนัก นี่จึงเป็นเหตุผลให้เขาต้องคอยประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งตลอดเวลา 

“จะว่ายากก็ไม่ยาก จะว่าง่ายก็ไม่ง่ายครับ วันที่สมัครเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสมาชิกท่านเก่าจะลงแข่งหรือเปล่า เพราะถ้าลงแข่งเขาจะมีแต้มต่อ แต่สุดท้ายก็รู้มาว่าเขาไม่ลง จนกระทั่งมีผู้สมัครคนอื่นๆ เข้ามา เราจะศึกษาและประเมินว่าเขาเป็นใครบ้าง ทีนี้สุดท้ายมีคนสมัครที่เป็นตระกูลใหญ่ในหมู่บ้านมาลงด้วย เราก็ต้องปรับวิธีการ พยายามประเมินวันต่อวันว่าใครทำอะไร ใครปล่อยอะไรออกไป แล้วค่อยๆ ทำกิจกรรมของเราไป”

สกลคิดกลยุทธ์หาเสียงออกมาหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือวิธีการที่เขาเรียกว่า ‘การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส’ เช่น ไม่ใช้รถขยายเสียงวิ่งในชุมชน เพื่อลดเสียงรบกวนเด็กที่กำลังเรียนออนไลน์ ช่วงพบปะคนตามบ้านจะมีทีมงานเดินด้วยไม่เยอะมาก เพื่อรักษามาตรการโควิด-19 และเลือกลงพื้นที่ในช่วงเวลาที่ชาวบ้านไม่ได้ไปทำการเกษตรหรือทำงานประจำ แต่ไม่เกินเวลาพักผ่อนช่วงหลัง 6 โมงเย็น

“เราจะทำแผ่นพับแจกผู้ใหญ่ที่อาจจะไม่ได้ถนัดกับออนไลน์ด้วย และเราพยายามนำเสนอประสบการณ์การทำงาน การศึกษา และภารกิจที่เราจะเข้าไปทำมีอะไรบ้าง ซึ่งอันนี้ไม่ใช่นโยบายนะครับ เพราะเราไม่ใช่ฝ่ายบริหาร เวลาเจอชาวบ้านผมจะบอกว่าช่วยพิจารณาด้วย คือไม่ได้บอกให้เขาเลือกผม แต่ให้เขาพิจารณาเอาเลยว่าอยากเลือกใคร” 

สกลจึงมองว่าการวางแผน ประเมินสถานการณ์ และคิดกลยุทธ์นำเสนอเหล่านี้ตลอดเวลาน่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 

ความหวังในการบริหารงานของ อบต. หน้าใหม่ ภายใต้อำนาจอันจำกัด

ในจำนวน อบต. กว่า 5,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ แต่ละพื้นที่มีจุดเด่นและปัญหาเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจจะต้องอาศัยความเข้าใจจากคนในพื้นที่เองในการแก้ปัญหานั้นๆ แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการบริหารงานที่ไม่ได้รับการกระจายอำนาจจากส่วนกลางอย่างเต็มที่ ทำให้ อบต. อาจดูแลช่วยเหลือประชาชนได้เพียงไม่กี่อย่าง เช่น จัดการขยะ ดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จัดงานสำคัญในพื้นที่ ในขณะที่ปัญหาอื่นๆ อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขจากต้นตอจริงๆ เช่น ปัญหาไฟป่า ขาดแคลนน้ำหน้าแล้ง ฯลฯ

ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เคยสรุปอำนาจและข้อจำกัดร่วมกันของ อบต. เอาไว้ว่า อบต. มีพื้นที่รับผิดชอบดูแลขนาดใหญ่ เป็นเขตชนบท หลายแห่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าหรืออุทยาน บางแห่งทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ได้ 

อีกทั้งยังมีงบประมาณน้อย เนื่องจากรัฐบาลจัดงบตามจำนวนประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ บางพื้นที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีตามกำหนดของกฎหมายได้ เพราะบริบทของพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ในฐานะว่าที่นายก อบต. และว่าที่สมาชิก อบต. ทั้งสองคนประเมินบทบาทและอำนาจของ อบต. ตรงกับณัฐกรเช่นกัน โดยทั้งสองมองว่ายังมีจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ที่จะต้องนำมาดูแลและสามารถเชื่อมต่อไปถึงการจัดการของส่วนกลางได้

พิชญามองว่าในพื้นที่ตำบลท่าค้อมีแหล่งโบราณสถานของท้องถิ่น เช่น พระธาตุเก่า พระธาตุแต้ม พระใหญ่ ศาลเจ้าพ่อพระชัย ซึ่งเป็นตำนานความสัมพันธ์ของลาวและไทย ในตำบลท่าค้อเป็นจุดที่ตรงกับพระธาตุศรีโคตรบองของลาว จึงทำให้เธออยากผลักดันการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมให้มากขึ้น

“นอกนั้นจะมีเรื่องไฟฟ้า ถนน ชีวิตความเป็นอยู่ที่ชาวบ้านบอกช่วงลงพื้นที่ว่าอยากให้ช่วยดูแล เราก็บอกว่าถ้าได้ไปทำจริงๆ เราคงไปประสานหน่วยงานต่างๆ ที่จะนำงบประมาณต่างๆ มาสู่ตำบล จะเป็นปากเสียงให้ประชาชน

“ส่วนถ้าเชื่อมโยงกับการเมืองภาพใหญ่ คงเป็นเรื่องโครงการต่างๆ ที่เราจะหาหน่วยงานสนับสนุนในชุมชน เพราะงบประมาณทาง อบต. เขามีพระราชบัญญัติเรื่องการใช้จ่ายอยู่แล้ว งบดุลต่างๆ ที่อยู่ในระเบียบต่างๆ จะได้นิดเดียว เราก็พยายามเข้าใจ งบอะไรมาเราก็ต้องศึกษาแล้วก็ตามหาส่วนอื่นๆ จะไม่รอให้โอกาสวิ่งมาหาเรา แต่เราจะวิ่งเข้าหาโอกาส”

ฝั่งสกล ในฐานะว่าที่สมาชิก อบต. อาจจะไม่ได้มีอำนาจในการบริหารเท่ากับตำแหน่งนายก อบต. แต่จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ทำให้เขาวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน รวมถึงโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ตัวเองไว้หลายด้านเช่นกัน

“ผมจะมองตั้งแต่ตัว อบต. จนถึงความเป็นเขตหมู่บ้านต่างๆ โดยรวมคือ ลักษณะพื้นที่ภูมิสังคมแต่ละหมู่บ้านแตกต่างกันค่อนข้างสูง อย่างเขตหมู่บ้านที่ผมลงสมัคร ลักษณะทางกายภาพติดกับเขตเทศบาลแม่สอด มีความสะดวก กำลังพัฒนาเป็นชุมชนเมือง ส่วนที่อื่นๆ พื้นที่อยู่ในเขตป่า อยู่ในพื้นที่กรมป่าไม้บ้าง ป่าสงวนบ้าง พื้นที่ทับซ้อนบ้าง

เราจะเห็นว่าโซนหนึ่งถูกพัฒนาเป็นเมือง อีกโซนเป็นเขตอุตสาหกรรม แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะเหมือนชุมชนชายขอบ ในแต่ละโซนยังมีปัญหาแตกต่างกัน เช่น ปัญหาสารแคตเมียมที่เป็นปัญหาใหญ่ ไม่เคยได้รับการแก้ไข แล้วเหมือนว่าเรื่องก็จะเงียบๆ ไป

สิ่งที่เราพยายามเสนอคือ ถ้าเราไม่สร้างตัวตนหรืออัตลักษณ์ของท้องถิ่น งบประมาณไม่น่าจะลงมาหาเราแน่ๆ ฉะนั้น จุดที่จะชูตัวตนเราได้ก็คือการเป็นปอดของแม่สอด เพราะเมืองแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจจะต้องใช้น้ำจากของเรา ซึ่งมีสองอ่างเก็บน้ำใหญ่ ถ้าแหล่งน้ำหรือป่าต้นน้ำไม่สมบูรณ์ เราก็จะมีปัญหาในระยะยาวแน่ๆ เราจึงต้องชูเรื่องพวกนี้เป็นจุดขาย” 

แต่ด้วยงบประมาณจำกัดของ อบต. เขาจึงมองการทำงานคล้ายกันกับพิชญา คือการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ โดยมองว่า อบต. เป็นหน่วยงานต้นไอเดียที่ดึงให้หลายๆ ส่วนได้มาทำงานร่วมกัน

“การเชื่อมกับส่วนกลางก็เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะว่าถ้าตัวสมาชิกไม่แอ็กทีฟ ไม่เข้าหา หรือไม่คิดจะทำอะไร ก็จะไม่เกิดขึ้น มันก็จะอยู่แค่ว่าคุณเป็นแค่สมาชิกตัวเล็กๆ ที่อยู่ใน อบต. แต่ถ้าคุณบ้าพลัง คุณก็ต้องวิ่งไปหาคนอื่น ไปแตะคนอื่น ชวนคนอื่นมา”

ในมุมมองการกระจายอำนาจ สกลยังมองว่าเป็นเรื่องที่ส่วนกลางและท้องถิ่นต้องทำงานไปด้วยกัน นั่นคือเมื่อรัฐบาลส่งเรื่องหรืออำนาจมาที่ท้องถิ่น ท้องถิ่นจะต้องสะท้อนการทำงานกลับไปให้ส่วนกลางด้วย

จากสิ่งที่สมาชิกและนายก อบต. บอกกับเราทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีปรากฏการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นกับการเลือกตั้ง อบต. ในรอบ 8 ปี แต่ภายใต้อำนาจอันจำกัด ทำให้ความหวังที่จะเห็นการพัฒนาในท้องถิ่นเป็นไปได้ยาก แต่หากเกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง อาจเป็นกุญแจปลดล็อกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงในท้องถิ่นได้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save